Paris, Louis Philippe, Count of (1838-1894)

เจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป เคานต์แห่งปารีส (พ.ศ. ๒๓๘๑-๒๔๓๗)

 เจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป เคานต์แห่งปารีสทรงได้รับการยกย่องจากพวกออร์เลอองนิสต์ (Orléanist) และพวกกษัตริย์นิยม (royalist) ให้เป็นกษัตริย์นอกับลลังก์ของฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๘๙๔ ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์มกุฎ ราชกุมารหรือเจ้าชายรัชทายาท (Prince Royal) ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution) หรือการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ซึ่งมีผลให้ราชวงศ์ออร์เลออง (Orleans) ต้องสูญสิ้นอำนาจและลี้ภัยออกนอกประเทศ ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ หลังจากเจ้าชายเฮนรี เคานต์แห่งชองบอร์ (Henry, Count of Chambord) แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ซึ่งพวกลิจิติมิสต์ (legitimist) หรือพวกที่สนับสนุนราชวงศ์บูร์บงและพวกกษัตริย์นิยม รวมทั้งพวกออร์เลอองนิสต์ยินยอมประนีประนอมให้เป็นกษัตริย์นอกับลลังก์ในพระนามพระเจ้าเฮนรีที่ ๕ (Henry V) สิ้นพระชนม์ลง เคานต์แห่งปารีสทรงได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์นอกับลลังก์สืบแทนในนามพระเจ้าฟิลิปที่ ๗ (Philippe VII) พวกที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์พยายามเคลื่อนไหวที่จะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นในสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เคานต์แห่งปารีสทรงเป็น“สมมุติราชา” (pretender) ที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นครองบัลลังก์ฝรั่งเศสจนกระทั่งสิ้นพระชนม์

 เจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป เคานต์แห่งปารีสเป็นพระโอรสองค์โตในเจ้าชายแฟร์ดีนอง ฟิลิปแห่งออร์เลออง (Ferdinand Philippe of Orléans) และเจ้าหญิงเฮเลเนอแห่งเมคเคลนบูร์ก-ชเวริน (Helene of Mecklenburg-Schwerin) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๓๘ ณ กรุงปารีสทรงเป็นพระราชนัดดาองค์โตในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)* กษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์ เดียวของราชวงศ์ออร์เลอองที่ได้ปกครองฝรั่งเศสเมื่อเจ้าชายแฟร์ดีนอง ฟิลิป พระบิดาสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันในอุบัติเหตุรถม้าพระที่นั่งใน ค.ศ. ๑๘๔๒ พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงสถาปนาเจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป พระราชนัดดาเป็นเจ้าชายรัชทายาทและพระราชทานพระอิสริยยศ “เคานต์แห่งปารีส” ซึ่งเป็นพระอิสริยยศใหม่ที่ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่กรุงปารีสในฐานะนครสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์กาเป (Capet) ซึ่งเป็นมหาสาขาของราชวงศ์ออร์เลอองที่บรรพชนได้สืบเชื้อสายมาและเป็นราชวงศ์ที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ฝรั่งเศสโดยการแผ่พระราชอำนาจจากกรุงปารีสที่เป็นเขตปกครองในพระราชอำนาจ (royal domain) จนทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสในเวลาต่อมาสามารถสร้างรัฐชาติ (nation state) ได้ในที่สุด

 เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ ที่เริ่มจากชนชั้นแรงงานรวมพลังกันต่อต้านพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปที่มีนโยบายเอาใจชนชั้นกลางระดับสูง และการรวมตัวของพวกที่สนับสนุนราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* ที่ต่อต้านรัฐบาล จนต่อมาลุกลามกลายเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ทั่วไปในยุโรป พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป พร้อมด้วยสมาชิกของราชวงศ์ออร์เลออง รวมทั้งเคานต์แห่งปารีสขณะมีพระชันษา ๑๐ ปี จึงต้องเสด็จลี้ภัยไปพำนักในอังกฤษซึ่งต่อมามีผลให้พวกปฏิวัติประกาศล้มล้างระบอบกษัตริย์และจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ (Second French Republic)* ขึ้นอย่างไรก็ดี ก่อนที่ราชวงศ์ออร์เลอองจะสูญเสียอำนาจ พวกที่สนับสนุนราชวงศ์ออร์เลอองหรือพวกออร์เลอองนิสต์พยายามที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้โดยให้มีการสถาปนาเคานต์แห่งปารีสขึ้นเป็นพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปที่ ๒ (Louis Philippe II) และให้พระมารดาทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระนั้นเคานต์แห่งปารีสก็ยังคงได้รับการถวายพระเกียรติจากทั้งพวกออร์เลอองนิสต์และพวกกษัตริย์นิยมในฐานะรัชทายาทของราชบัลลังก์ ฝรั่งเศสต่อไป รวมทั้งในรัชสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* เมื่อมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในฝรั่งเศส

 ระหว่างสงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๕) เคานต์แห่งปารีสพร้อมด้วยเจ้าชายโรแบร์ ดุ๊กแห่งชาตร์ (Robert, Duke of Chartres) พระอนุชาได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีเอบราแฮม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln) โดยเป็นทหารอาสาสมัครในกองกำลังฝ่ายเหนือที่มีนายพลจอร์จ บรินตันแมกเคลแลน (George Brinton McClellan) เป็นผู้บัญชาการ อย่างไรก็ตามเคานต์แห่งปารีสได้เสด็จกลับอังกฤษก่อนที่สงครามกลางเมืองอเมริกันจะสิ้นสุดลง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิชาเบลแห่งออร์เลออง-มงปองซีเย (Isabelle of Orléans-Montpensier) พระธิดาในดุ๊กแห่งมงปองซีเย (Duke of Montpensier) พระราชโอรสองค์เล็กในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป และทรงมีศักดิ์เป็นพระปิตุลา (อา) ชองพระองค์ทรงมีพระโอรสและพระธิดาร่วมกัน๘ พระองค์โดยเป็นพระโอรส๔ พระองค์และพระธิดา ๔ พระองค์

 เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ สิ้นพระราชอำนาจจากผล ของการพ่ายแพ้ของกองทัพฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* และฝรั่งเศสได้สถาปนาระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐนิยมอีกครั้ง เคานต์แห่งปารีสได้เสด็จกลับฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในฐานะพลเมืองฝรั่งเศสต่อมา ณ เมืองโฟรสดอร์ฟ (Frohsdorf) ในออสเตรีย พระองค์ทรงยอมรับรองสิทธิในการสืบราชสมบัติฝรั่งเศสของเจ้าชายเฮนรี เคานต์แห่ง ชองบอร์ พระราชนัดดาในพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๓๐)* กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์บูร์บงที่ถูกขับออกจากราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๓๐ โดยมีการให้คำมั่นสัญญาต่อกันว่า เมื่อดุ๊กแห่งชองบอร์ซึ่งมีพระชนมายุกว่า ๕๐ พรรษา และปราศจากรัชทายาทสิ้นพระชนม์ลง เคานต์แห่งปารีสจะได้สืบต่อราชสันตติวงศ์นับเป็นการปรองดองระหว่างกลุ่มลิจิติมิสต์หรือพวกที่สนับสนุนราชวงศ์บูร์บงกับพวกออร์เลอองนิสต์ที่สนับสนุนราชวงศ์ออร์เลออง ฝรั่งเศสเองก็มีทีท่าว่าจะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ได้อีกครั้ง ทั้งนี้โดยเคานต์แห่งชองบอร์จะได้รับการถวายพระอิสริยยศ “พระเจ้าเฮนรีที่ ๕”

 อย่างไรก็ดี เรื่องการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์จำต้องยุติลงเมื่อเคานต์แห่งชองบอร์ทรงปฏิเสธที่จะขึ้นครองราชสมบัติจนกว่าฝรั่งเศสจะยกเลิกการใช้ธงชาติสามสีที่เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ใช้กันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๙ และใช้ธงสีขาวที่มีดอกลิลลีของราชวงศ์บูร์บงแทนเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ยอมรับกันได้ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงทัศนคติอันคับแคบของดุ๊กแห่งชองบอร์ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองได้ในอนาคต สำหรับประชาชนและผู้รักชาติทั่วไป ธงสามสีของฝรั่งเศสคือสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของประเทศที่เคยโบกพลิ้วในสมรภูมิต่าง ๆ ที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวฝรั่งเศสทุกหมู่เหล่าดังนั้นข้อเรียกร้องของดุ๊กแห่งชองบอร์จึงเท่ากับเป็นการทำลายพระองค์เอง และเป็นการปิดโอกาสให้ทั้งราชวงศ์บูร์บงและราชวงศ์ออร์เลอองกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ทั้งยังนำไปสู่การสิ้นสุดของการดำเนินการที่จะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นในฝรั่งเศสด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ เมื่อเคานต์แห่งชองบอร์สิ้นพระชนม์พวกลิจิดิมิสต์บางกลุ่มได้หันไปให้การสนับสนุนเจ้าชายควนเคานต์แห่งมอนตีซอน (Juan, Count of Montižon) สมาชิกของราชวงศ์บูร์บงสายสเปนที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ (Philippe V ค.ศ. ๑๗๐๐-๑๗๒๔) พระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกที่อาวุโสที่สุดของราชวงศ์บูร์บงและอาวุโสกว่าเคานต์แห่งปารีสแห่งราชวงศ์ออร์เลอองที่เป็นจุลสาขา (cadet line) ของราชวงศ์บูร์บงโดยบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากพระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พวกลิจิดิมิสต์กลุ่มดังกล่าวได้มองข้ามข้อตกลงของสนธิสัญญายูเทรกต์ (Treaty of Utrecht ค.ศ. ๑๗๑๓) ที่กระทำขึ้นก่อนที่สงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๑๔) จะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ โดยมีการห้ามสมาชิกของราชวงศ์บูร์บงสายสเปน (หรือผู้สืบทอดสายพระโลหิตของพระเจ้าฟิลิปที่ ๕) มีสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและให้แยกสาแหรกระหว่างราชวงศ์บูร์บงสายฝรั่งเศสกับสายสเปนอย่างเด็ดขาด ดังนั้นพวกลิจิดิมิสต์โดยทั่วไปจึงให้การสนับสนุนเคานต์แห่งปารีสและถวายพระอิสริยยศ “พระเจ้าฟิลิปที่ ๗” นับว่าทรงเป็น“สมมุติราชา” ต่อจาก “พระเจ้าเฮนรีที่ ๕” หรือเคานต์แห่งชองบอร์ การเคลื่อนไหวดังกล่าวอันมีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของฝรั่งเศสจึงสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ และรัฐสภาเป็นอันมาก ในเวลาไม่ช้าได้มีการออกกฎหมายกำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีเป็น๗ ปี (Septennate Law) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการคํ้าประกันอำนาจของประธานาธิบดีและระบบสาธารณรัฐให้มั่นคงสืบไป

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๖ เมื่อเกิดเหตุการณ์การเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในโอกาสที่เจ้าหญิงมารี-อาเมลี (Marie-Amélie) พระธิดาองค์โตในเคานต์แห่งปารีสอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกมารแห่งโปรตุเกส[ต่อมาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพระนามพระเจ้าการ์โลสที่ ๑ (Carlos I ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๐๘)] ขึ้นในกรุงปารีสและมีผู้ชื่นชมเป็นจำนวนมาก รัฐบาลฝรั่งเศสจึงถือว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้เป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของระบอบสาธารณรัฐอีกครั้ง ในเวลาไม่ช้าก็มีการออกกฎหมายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๖ เพื่อขับบรรดาประมุขของราชวงศ์ต่าง ๆ ที่เคยมีอำนาจปกครอง (sovereign house) ออกนอกประเทศ รวมทั้งเคานต์แห่งปารีสประมุขของราชวงศ์ ออร์เลอองด้วย ต่อมา ความหวังของพวกออร์เลอองที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของฝรั่งเศสต้องสิ้นสุดลงอีกเมื่อนายพลชอร์ช บูลองเช (Georges Boulanger)* ประสบความล้มเหลวในการก่อรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓

 เคานต์แห่งปารีสทรงใช้ชีวิตในบั้นปลาย ณ พระตำหนักชีน (Sheen House) ในเมืองชีน (Sheen) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) ประเทศอังกฤษที่พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป พระอัยกาเคยประทับ ต่อมาสิ้นพระชนม์ ณ พระตำหนักสโตว์ (Stowe House) เมืองบักกิงแฮม (Buckingham) เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๔ ขณะมีพระชนมายุ ๕๖ ปี ทรงเป็น“สมมุติราชา” ของพวกออร์เลอองนิสต์และพวกกษัตริย์นิยมเป็นเวลา ๑๑ ปี ๑๕ วัน (๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๓-๘ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๔) ปัจจุบันพวกออร์เล อองนิสต์และพวกลิจิดิมิสต์ได้ยกย่องให้เฮนรี เคานต์แห่งปารีสและดุ๊กแห่งฝรั่งเศส (Henry, Count of Paris, Duke of France ประสูติ ค.ศ. ๑๙๓๓) ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป เคานต์แห่งปารีสเป็นประมุขของราชวงศ์ออร์เลอองและรัชทายาทนอกราชบัลลังก์ฝรั่งเศส.



คำตั้ง
Paris, Louis Philippe, Count of
คำเทียบ
เจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป เคานต์แห่งปารีส
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘
- บูลองเช, ชอร์ช
- พวกกษัตริย์นิยม
- พวกลิจิติมิสต์
- พวกออร์เลอองนิสต์
- สงครามกลางเมืองอเมริกัน
- สงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สนธิสัญญายูเทรกต์
- ออร์เลออง, ราชวงศ์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1838-1894
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๘๑-๒๔๓๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-