Wilberforce, William (1759–1833)

นายวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ (พ.ศ. ๒๓๐๒–๒๓๗๖)

 วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซเป็นนักการเมืองและนักปฏิรูปสังคมชาวอังกฤษ เขามีชื่อเสียงโดดเด่นจากการรณรงค์ให้อังกฤษยุติการค้าทาสและการมีทาสในดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เขาเป็นแกนกลางของมิตรสหายผู้ใจบุญ (philanthropist) ที่นับถือนิกายอีแวนเจลิคัล (Evangelicalism) ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบแคลปอัม (Clapham) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน จนต่อมามีผู้ขนานนามว่ากลุ่มนิกายแคลปอัม (Clapham Sect)

 วิลเบอร์ฟอร์ซเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๕๙ ที่เมืองฮัลล์ (Hull) ในเขตอีสต์ไรดิง (East Riding)ของมณฑลยอร์กเชียร์ (Yorkshire) เป็นบุตรชายคนเดียวในบรรดาพี่น้อง ๓ คนของรอเบิร์ต วิลเบอร์-ฟอร์ซ (Robert Wilberforce) พ่อค้าที่มั่งคั่ง กับเอลิซาเบท เบิร์ด (Elizabeth Bird) วิลเลียม (William) ปู่ของเขาซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองฮัลล์ ๒ ครั้งได้สร้างความร่ำรวยให้แก่ตระกูลโดยการค้าทางทะเลกับประเทศแถบริมทะเลบอลติก (Baltic) วิลเบอร์ฟอร์ซเข้าเรียนขั้นต้นในโรงเรียนแกรมมาร์สกูลของเมืองฮัลล์ เมื่อบิดาเสียชีวิตขณะที่เขามีอายุเพียง ๙ ขวบ มารดาได้ส่งเขาไปอยู่กับลุงซึ่งร่ำรวยและมีถิ่นพำนักทั้งในย่านเซนต์เจมส์เพลซ (St. James’ Place) กรุงลอนดอน และที่วิมเบิลดัน (Wimbledon) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๑ กิโลเมตร วิลเบอร์ฟอร์ซได้เข้าโรงเรียนประจำในเขตพัตนีย์ (Putney) และใช้เวลาวันหยุดพักอยู่ที่วิมเบิลดันกับพวกญาติที่เป็นโปรเตสแตนต์ แต่เป็นพวกนอนคอนฟอร์มิสต์ (nonconformist) วิลเบอร์ฟอร์ซได้เริ่มรับรู้เกี่ยวกับนิกายอีแวนเจลิคัล ครั้นอายุ ๑๒ ปี มารดาพาเขากลับไปอยู่ที่ฮัลล์เพราะต้องการให้บุตรชายเติบโตในจารีตของนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) กระแสหลักมากกว่า ใน ค.ศ. ๑๗๗๖ วิลเบอร์ฟอร์ซเข้าศึกษาที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น (St. John’s College) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ทำให้เขามีโอกาสสนิทสนมกับวิลเลียม พิตต์ (บุตร) [William Pitt (the Younger)* ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๗๘๓–๑๘๐๑ และ ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๐๖] วิลเบอร์ฟอร์ซได้รับมรดกก้อนใหญ่จากปู่และลุงซึ่งไม่มีบุตรใน ค.ศ. ๑๗๗๖ และ ค.ศ. ๑๗๗๗ ตามลำดับ เขาจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะศึกษาอย่างจริงจังและเล่าเรียนอย่างสบาย ๆ ทั้งดำเนินชีวิตแบบสรวลเสเฮฮา เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูงอย่างไรก็ดีเขาก็สามารถผ่านการสอบต่าง ๆ ได้ จนจบปริญญาตรีใน ค.ศ. ๑๗๘๑และปริญญาโทใน ค.ศ. ๑๗๘๘

 ก่อนหน้านั้นใน ค.ศ. ๑๗๘๐ ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ วิลเบอร์ฟอร์ซและพิตต์ซึ่งขยันขันแข็งในการเรียนก็ได้ชักชวนกันเข้าสู่การเมืองอังกฤษ วิลเบอร์ฟอร์ซในวัย ๒๑ ปีได้เป็นผู้แทนจากเขตคิงสตันอัพเพินฮัลล์ (Kingston upon Hull ค.ศ. ๑๗๘๐–๑๗๘๔) ในการเลือกตั้งครั้งแรก โดยใช้เงินประมาณ ๙,๐๐๐ ปอนด์ เอาชนะชาลส์ วัตสัน-เวนต์เวิร์ท (Charles Watson-Wentworth) ซึ่งมาจากตระกูลผู้ดีมั่งคั่ง หลังจากการเลือกตั้งครั้งนั้นแล้วเขาเป็นผู้แทนจากมณฑลยอร์กเชียร์ (ค.ศ. ๑๗๘๔–๑๘๑๒) และสุดท้ายจากเมืองแบรมเบอร์ (Bramber) มณฑลซัสเซกซ์ (Sussex ค.ศ. ๑๘๑๒–๑๘๒๕) แม้เป็นสมาชิกสภาสามัญที่ไม่สังกัดกลุ่มการเมืองใดเพราะมีฐานะการเงินดีอยู่แล้ววิลเบอร์ฟอร์ซก็มักโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนหรืออยู่ฝ่ายพิตต์ในการอภิปรายในสภาโดยตลอด เช่น การสนับสนุนนโยบายการปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาและการเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกทางการเมือง อย่างไรก็ดี เมื่อพิตต์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๗๘๓ ก็ไม่ปรากฏว่าพิตต์เสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้เพื่อนสนิทคนนี้แต่อย่างใด

 ใน ค.ศ. ๑๗๘๓วิลเบอร์ฟอร์ซได้ไปร่วมรับประทานอาหารกับกลุ่มเพื่อนนักเรียนเก่ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ซึ่งมีเซอร์ชาลส์ มิดเดิลตัน (Charles Middleton) ร่วมอยู่ด้วย เขาได้มีโอกาสพบกับศาสนาจารย์เจมส์ แรมเซย์ (James Ramsay) ซึ่งเป็นแพทย์ประจำเรือและต่อมาไปเป็นนักบวชปกครองเขตวัดที่เกาะเซนต์คริสโตเฟอร์ [St.Christopher ต่อมาคือเกาะเซนต์คิตส์ (St.Kitts)] ในหมู่เกาะลีเวิร์ด (Leeward) และเป็นผู้ดูแลด้านการแพทย์ให้แก่ไร่ต่าง ๆ บนเกาะนั้น แรมเซย์เล่าว่าเขาตกใจเมื่อพบเห็นสภาพที่น่าสมเพชของทาสระหว่างเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลและในการทำงานที่ไร่ เขาใช้เวลา ๓ ปีเขียนหนังสือเรื่อง An Essay on the Treatment and Conversion of African Slaves in the British Sugar Colonies ซึ่งวิพากษ์เรื่องราวของการใช้ทาสในหมู่เกาะเวสต์อินดีส (West Indies) วิลเบอร์ฟอร์ซและกลุ่มเพื่อนจึงสนับสนุนและช่วยแรมเซย์พิมพ์เผยแพร่หนังสือนี้ใน ค.ศ. ๑๗๘๔

 ใน ค.ศ. ๑๗๘๗ มิดเดิลตันและภรรยาเสนอให้วิลเบอร์ฟอร์ซนำประเด็นการเลิกการค้าทาสเข้าสู่สภา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เขาหันมาสนใจการปฏิรูปเพื่อมนุษยธรรมมากขึ้นอันเนื่องมาจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจากนิกายอีแวนเจลิคัลที่เขาหันมานับถือตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๔ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของวิลเบอร์ฟอร์ซ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงการเดินทางท่องยุโรปกับมารดาและน้องสาว เขาได้มีโอกาสอ่านหนังสือของนิกายนี้เรื่อง Rise and Progress of Religion in the Soul ข้อเขียนในหนังสือทำให้เขาอยากดำเนินชีวิตที่ยึดติดจิตใจอยู่กับศาสนา เช่นตื่นแต่เช้ามาอ่านคัมภีร์ไบเบิล เลิกเล่นไพ่และการดื่มของมึนเมา เมื่อเขากลับมาอังกฤษ วิลเบอร์ฟอร์ซได้ไปพบจอห์น นิวตัน (John Newton) นักบวชคนสำคัญซึ่งนับถือนิกายอีแวนเจลิคัลก่อนเข้าบวชเป็นพระในนิกายแองกลิคันและเป็นผู้แต่งเนื้อเพลง Amazing Grace สรรเสริญพระเป็นเจ้า นิวตันแนะนำให้เขาอยู่ในแวดวงการเมืองต่อไปเพื่อจะได้มีวิถีทางในการปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้นเพื่อความผาสุกของมวลมนุษย์ อิทธิพลจากความเชื่อในศาสนานี้ทำให้วิลเบอร์ฟอร์ซนึกคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคมไปตลอดชีวิต เขารู้สึกเสียดายที่ใช้ชีวิตที่ผ่านมาอย่างเปล่าประโยชน์จึงเลิกการไปสนามม้า เล่นการพนัน และการไปสังสันทน์หย่อนใจตามสโมสรต่าง ๆ อีกทั้งตั้งปณิธานว่าจะอุทิศชีวิตและการทำงานในภายภาคหน้าเพื่อรับใช้พระเป็นเจ้า นอกจากแรงกระตุ้นจากคู่สามีภรรยาตระกูลมิดเดิลตัน ทอมัส คลาร์กสัน (Thomas Clarkson) ซึ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เช่นเดียวกับเขาก็ได้นำผลงานความเรียงภาษาละตินในหัวข้อ “Anne liceat invitos in servitutem dare (Is it lawful to enslave the unconsenting)” ที่เขาเสนอให้เลิกการค้าทาสจนได้รับรางวัลที่ ๑ ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ใน ค.ศ. ๑๗๘๕ มาให้วิลเบอร์ฟอร์ซด้วยคลาร์กสันมาพบปะกับวิลเบอร์ฟอร์ซทุกสัปดาห์เพื่อนำข้อมูลชั้นต้นเกี่ยวกับการค้าทาสที่เขาไปรวบรวมมาเพื่อวิลเบอร์ฟอร์ซจะได้นำไปใช้ดำเนินการในสภา การร่วมงานกันของ ๒ คนนี้ได้ดำเนินไปอีกเกือบ ๕๐ ปี

 วิลเบอร์ฟอร์ซซึ่งเช่าบ้านในเขตโอลด์พาเลซยาร์ด (Old Palace Yard) เพื่อจะได้อยู่ใกล้รัฐสภาเวสต์-มินสเตอร์มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๖ กลายเป็นสมาชิกสภาที่ใช้ทั้งวาทศิลป์ในสภาและร่วมกิจกรรมนอกสภารณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยให้อังกฤษเลิกการค้าทาสเพราะขัดต่อมนุษยธรรม และสนับสนุนทุนรอนในการดำเนินการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ทั้งในรูปการออกแผ่นพับ หนังสือ การชุมนุม (rallies) และการยื่นข้อเรียกร้องต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น เส้นทางการค้าทาสของอังกฤษเป็นรูปสามเหลี่ยม กล่าวคืออังกฤษนำสินค้าของตนไปขายให้ดินแดนในทวีปแอฟริกา จากนั้นนำเงินที่ได้ไปจัดซื้อคนพื้นเมืองที่ถูกจับเป็นทาสที่นั่นและส่งขึ้นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังหมู่เกาะเวสต์อินดีส เพื่อไปเป็นแรงงานในไร่ผลิตน้ำตาล ยาสูบและฝ้ายส่งกลับมายังอังกฤษ นอกจากนี้เรือของอังกฤษมีบทบาทหลักในการค้าทาสโดยเป็นผู้นำส่งทาสไปแจกจ่ายยังอาณานิคมของฝรั่งเศสสเปนดัตช์โปรตุเกสและอาณานิคมของอังกฤษเองในทวีปอเมริกา บางปีขนส่งทาสชาย หญิง และเด็กจำนวนถึง ๔๐,๐๐๐ คน ลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งความเป็นอยู่ในเรือมีสภาพเลวร้ายมากดังที่มีผู้บรรยายว่ามือและเท้าถูกมัดและถูกเรียงเหมือนปลาเฮริงในถังหมักประมาณกันว่าในจำนวนทาส ๑๑ ล้านคนจากแอฟริกา มีผู้เสียชีวิตระหว่างเดินทางทางเรือถึง ๑.๔ ล้านคน

 ใน ค.ศ. ๑๗๙๑ วิลเบอร์ฟอร์ซเข้าร่วมเป็นกรรมการสมาคมเพื่อการยกเลิกการค้าทาส (Society for Effecting the Abolition of the Slave Trade) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๗ สมาคมนี้ซึ่งมักเรียกกันว่าสมาคมต่อต้านการมีทาส (Anti-Slavery Society) ทำสัญลักษณ์เป็นเหรียญที่มีรูปทาสผิวดำถูกพันธนาการด้วยโซ่ทั้งมือและเท้าคุกเข่าอยู่เหนือประโยคที่เขียนว่า “ข้าไม่ได้เป็นคนและเป็นพี่น้องของท่านหรือ” (Am I not a Man and a Brother?) เหรียญนี้ออกแบบโดยโจไซอาห์ เวดจ์วูด (Josiah Wedgwood) ผู้ผลิตเครื่องถ้วยชามลือชื่อ ซึ่งต่อมาเขาจัดทำจี้สีขาวหลายร้อยชิ้นที่มีรูปดังกล่าวให้สมาคมนำไปแจกจ่ายด้วย สตรีบางคนนำไปประดับสร้อยข้อมือหรือเป็นปิ่นปักผมเกิดเป็นแฟชั่นประดับเหรียญเพื่อแสดงการสนับสนุนความยุติธรรม มนุษยธรรม และอิสรภาพ

 วิลเบอร์ฟอร์ซดำเนินการเคลื่อนไหวในสภาสามัญเป็นเวลาหลายปี และเสนอร่างกฎหมายยกเลิกการค้าทาสฉบับแรกตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๙ แต่บรรยากาศของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ทำให้พิตต์เสนอให้วิลเบอร์ฟอร์ซชะลอเรื่องนี้ไปก่อน การเคลื่อนไหวจึงสะดุดหยุดชะงักและวิลเบอร์ฟอร์ซก็ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองหัวรุนแรงซึ่งเป็นการเรียกขานที่ทำให้เขารู้สึกกระอักกระอ่วนยิ่งเมื่อได้รับการประกาศให้เป็นพลเมืองฝรั่งเศสกิตติมศักดิ์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ ด้วย เขาก็ยิ่งลำบากใจเพราะโดยแท้จริงแล้วเขามีความคิดในเชิงอนุรักษนิยม ดังเช่นในภายหลังใน ค.ศ. ๑๘๑๕ วิลเบอร์ฟอร์ซปกป้องการบังคับใช้กฎหมายข้าว (Corn Laws)* ซึ่งตั้งกำแพงภาษีสำหรับธัญพืชจากนอกประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นขุนนางเจ้าของที่ดิน และยังสนับสนุนให้รัฐใช้มาตรการรุนแรงสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานที่มุ่งสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย เขาไม่สนับสนุนสหภาพแรงงานหรือการให้สิทธิทางการเมืองแก่สตรีแต่อย่างใดด้วย

 วิลเบอร์ฟอร์ซมาเริ่มประสบความสำเร็จเมื่อรัฐสภาอังกฤษผ่านกฎหมายห้ามเจ้าของทาสค้าทาสกับดินแดนอาณานิคมฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๐๖ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกรุยทางให้พระราชบัญญัติการค้าทาส ค.ศ. ๑๘๐๗ (Slave Trade Act of 1807) ซึ่งยกเลิกการค้าทาสในอาณานิคมเวสต์อินดีสของอังกฤษได้รับความเห็นชอบจากสภาในปีต่อมาและมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ ความสำเร็จครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิลเลียมเกรนวิลล์ บารอนเกรนวิลล์ที่ 1 (William Grenville, 1ˢᵗ Baron Grenville) ผู้นำพรรควิก (Whig Party) แต่ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับวิลเลียมพิตต์ (บุตร) และเป็นปฏิปักษ์ต่อการค้าทาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๘๐๖ ภายหลังการอสัญกรรมของพิตต์ ลอร์ดเกรนวิลล์รณรงค์ประเด็นนี้ในสภาขุนนาง (House of Lords) และให้ชาลส์ เจมส์ ฟอกซ์ (Charles James Fox)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำการเรียกร้องในสภาสามัญให้ยุติการค้าทาสในอาณานิคมต่าง ๆ ร่างกฎหมายนี้จึงผ่านทั้งสองสภาได้ในที่สุดหลังจากถูกกลุ่มผลประโยชน์จากการค้าทาสในกรุงลอนดอน กลาสโกว์ (Glasgow) บริสทอล (Bristol) และลิเวอร์พูล (Liverpool) ซึ่งเป็นเมืองท่าส่งออกทาสและมีดุ๊กแห่งแคลเรนซ์ (Duke of Clarence) เป็นผู้นำกลุ่มพยายามคัดค้านอยู่นาน

 ตามกฎหมายนี้ หากกัปตันเรืออังกฤษผู้ใดยังคงฝ่าฝืนดำเนินการค้าทาสจะถูกปรับ ๑๐๐ ปอนด์ต่อจำนวนทาส ๑ คนที่อยู่ในเรือ อย่างไรก็ดี ในช่วงแรก ๆ กฎหมายก็ไม่สามารถหยุดยั้งการค้าทาสได้อย่างเด็ดขาด เพราะหากกัปตันเรือคาดว่าจะถูกทางการจับก็จะหาทางลดค่าปรับด้วยการสั่งให้โยนทาสทิ้งลงทะเลแต่ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ สมาชิกสมาคมเพื่อการยกเลิกการค้าทาสได้จัดตั้งสถาบันแอฟริกา (African Institution) ขึ้นทำหน้าที่เป็นหน่วยงานติดตามการบังคับใช้กฎหมายและหาวิธีหยุดยั้งการค้าทาสของชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความเป็นอยู่แบบอารยะและการบันดาลความสุขให้แก่ชาวแอฟริกัน สถาบันนี้มีดุ๊กแห่งกลอสเตอร์ (Duke of Gloucester) เป็นประธานคนแรก กรรมการ ได้แก่ วิลเบอร์ฟอร์ซ คลาร์กสัน เฮนรี โบรแฮม (Henry Brougham) เจมส์สตีเวน (JamesStephen) แกรนวิลล์ ชาร์ป (Granville Sharp) และแซคารี แมกคอลีย์ (Zachary Macaulay)

 การดำเนินการขั้นต่อไปของวิลเบอร์ฟอร์ซคือการเรียกร้องให้ชาวแอฟริกันที่ถูกซื้อเป็นทาสก่อนการออกพระราชบัญญัติ ค.ศ. ๑๘๐๗ ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ เขาจึงให้ทุนอุดหนุนการจัดตั้งสมาคมเพื่อการลดและการค่อย ๆ ยกเลิกการมีทาสทั่วอาณาจักรต่าง ๆ ของอังกฤษ (Society for the Mitigation and Gradual Abolition of Slavery Throughout the British Dominions) ใน ค.ศ. ๑๘๒๓ ซึ่งสมาคมนี้ก็มักเรียกขานกันว่าสมาคมต่อต้านการมีทาสเช่นกัน แต่เมื่อสุขภาพของวิลเบอร์ฟอร์ซเสื่อมโทรมลง เขาจึงจำต้องยกตำแหน่งผู้นำการรณรงค์ในรัฐสภาเพื่อการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระให้แก่เซอร์ทอมัส โฟเวลล์ บักซ์ตัน (Thomas Fowell Buxton) ใน ค.ศ. ๑๘๒๕ ซึ่งเป็นปีที่วิลเบอร์ฟอร์ซลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาสามัญ

 วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ชายร่างเล็กที่สูงประมาณ ๑๕๗ เซนติเมตร และมีปัญหาด้านสายตาและสุขภาพมาตั้งแต่วัยเยาว์ มีบุตรชาย ๔ คน และบุตรสาว ๒ คน กับบาร์บารา แอนน์ สปูเนอร์ (Barbara Ann Spooner) สตรีที่เขาตัดสินใจสมรสด้วยในวัย ๓๐ ปลาย ๆ หลังได้รู้จักเธอเพียงเวลาสั้น ๆ และมีชีวิตคู่ที่ราบรื่น เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๓ ที่กรุงลอนดอนขณะอายุ ๗๓ ปี เพียง ๑ เดือนก่ อนพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาส ค.ศ. ๑๘๓๓ (Slavery Abolition Act of 1833) ทั่วจักรวรรดิอังกฤษนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๓๔ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา พระราชบัญญัติฉบับนี้ทำให้เด็ กอายุต่ำกว่า ๖ ขวบได้รับอิสรภาพทันที และสภาอนุมัติเงินจำนวน ๒๐ ล้านปอนด์เพื่อจ่ายชดเชยให้เจ้าของ ไร่ต่าง ๆ และจัดระบบลูกมือฝึกงานที่ปล่อยให้ทาส ทำงานกับนายจ้างเก่าต่อไปอีกประมาณ ๔–๖ ปี ในเขตเวสต์อินดีสของอังกฤษ แอฟริกาใต้ มอริเชียส บริติชฮอนดูรัส และแคนาดา กฎหมายนี้ทำให้ทาสจำนวนเกือบ ๘๐๐,๐๐๐ คนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตแคริบเบียนได้รับอิสรภาพ

 นอกจากการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันกฎหมายยกเลิกการค้าทาสและการมีทาสในจักรวรรดิอังกฤษแล้ว วิลเบอร์ฟอร์ซยังเป็นแกนกลางของกลุ่มนักปฏิรูปสังคมที่มีผลงานในช่วง ค.ศ. ๑๗๙๐–๑๘๓๐ ซึ่งภายหลังมีผู้เรียกว่ากลุ่มนิกายแคลปอัม อันเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม มีฐานะ ใจบุญสุนทาน นับถือนิกายอีแวนเจลิคัล และไปโบสถ์โฮลีทรินิตี (Holy Trinity) ที่แคลปอัมคอมมอน (Clapham Common) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้ถูกคนร่วมสมัยเรียกในเชิงเสียดสีด้วยว่า กลุ่มนักบุญ (the Saints) สมาชิกได้แก่ จอห์น เวนน์ (John Venn) จอห์น ชอร์ บารอนทินมัทที่ ๑ (John Shore, 1ˢᵗ Baron Teignmouth) เฮนรี ทอร์นตัน (Henry Thornton) ชาลส์ แกรนต์ (Charles Grant) เอดเวิร์ด เจมส์ เอเลียต (Edward James Eliot) คลาร์กสัน ชาร์ป แมกคอลีย์ และสตีเวน วิลเบอร์ฟอร์ซเป็นกรรมการในสมาคมอาสาต่าง ๆ เกือบ ๗๐ แห่ง เช่น องค์กรเพื่อการปฏิรูปเรือนจำ สมาคมเพื่อการสกัดกั้นความชั่ว (Society for the Suppression of Vice) และใน ค.ศ. ๑๘๐๒ เขาร่วมมือกับฮันนาห์มอร์ (HannahMore) เพื่อนร่วมนิกายและร่วมกลุ่มแคลปอัมดำเนินงานของสมาคมเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจให้ดีขึ้นในวันอาทิตย์ (Association for the Better Observance of Sunday) สมาคมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาอย่างสม่ำเสมอแก่เด็กในด้านการอ่าน การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล และการนับถือศาสนา นอกจากนั้นเขายังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับราชสมาคมเพื่อการป้องกันการทารุณสัตว์ (Royal Society for the Prevention of Cruelty to Animals) และให้การสนับสนุนการจัดส่งมิชชันนารีไปยังอินเดียซึ่งเป็นดินแดนที่เขาเห็นว่าชาวพื้นเมืองต้องทุกข์ยากกับค่านิยมที่ฝังลึกและจารีตที่แตกต่างจากที่อื่น

 หลังการอนิจกรรมของเขา สมาชิกสภาอังกฤษเห็นชอบที่จะให้เกียรติเขาด้วยการฝังร่างของวิลเบอร์ฟอร์ซที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ใกล้กับหลุมศพของพิตต์ เพื่อนสนิทของเขา นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ที่เมืองยอร์ก (York) มีการจัดตั้งโรงเรียนคนตาบอดวิลเบอร์ฟอร์ซอนุสรณ์ (Wilberforce Memorial School for the Blind) ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ส่วนที่เมืองฮัลล์บ้านเกิด ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ มีการสร้างเสากรีกแบบดอริก (Doric) สูง ๓๑ เมตร ซึ่งบนหัวเสามีรูปปั้นวิลเบอร์ฟอร์ซในท่ายืน ปัจจุบันอนุสาวรีย์นี้อยู่ในที่ดินของวิทยาลัยฮัลล์ (Hull College) ส่วนบ้านที่เขาเกิดซึ่งตกเป็นทรัพย์สินของเมืองใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ก็ได้รับการบูรณะและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ทาสแห่งแรกของอังกฤษ อีก ๑๐๐ ปีต่อมา ใน ค.ศ. ๒๐๐๖ มหาวิทยาลัยฮัลล์ (University of Hull) ก็ได้จัดตั้งสถาบันวิลเบอร์ฟอร์ซเพื่อการศึกษาเรื่องทาสและการปลดปล่อยทาส (Wilberforce Institute for the study of Slavery and Emancipation) ที่อาคารซึ่งสร้างเชื่อมต่อกับสถานที่เกิดของเขา ในส่วนดินแดนนอกเกาะอังกฤษมีการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเป็นเจ้าของที่รัฐโอไฮโอ (Ohio) สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๘๕๖ซึ่งได้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิลเบอร์ฟอร์ซ และใน ค.ศ. ๒๐๐๗ มีการจัดฉายภาพยนตร์ที่เป็นผลงานร่วมระหว่างผู้สร้างชาวอังกฤษกับชาวอเมริกันเรื่อง Amazing Grace เกี่ยวกับชีวประวัติของวิลเบอร์ฟอร์ซและการรณรงค์ต่อต้านการค้าทาสซึ่งเป็นการครบรอบ ๒๐๐ ปีที่กฎหมายยกเลิกการค้าทาสได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ วิลเบอร์ฟอร์ซมีผลงานประพันธ์ ๒ เรื่องคือ A Practical View of the Prevailing Religious System of Professed Christians (ค.ศ. ๑๗๙๗) และ Appeal to the Religion, Justice and Humanity of the Inhabitants of the British Empire on Behalf of the Negro Slaves in the West Indies (ค.ศ. ๑๘๒๓)



คำตั้ง
Wilberforce, William
คำเทียบ
นายวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ
คำสำคัญ
- กฎหมายข้าว
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- พรรควิก
- วิลเบอร์ฟอร์ซ, วิลเลียม
- สหภาพแรงงาน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1759–1833
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๐๒–๒๓๗๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-