อันโตนีโอ เดโอลีเวย์รา ซาลาซาร์เป็นนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๖๘ ซึ่งเป็นช่วงหลังสิ้นสุดสมัยสาธารณรัฐที่ ๑ (First Republic ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๒๖) เขาบริหารประเทศด้วยอำนาจเผด็จการในรูปแบบ “รัฐใหม่” (Estado Novo - New state) ที่เขาสถาปนาขึ้นเพื่อสร้าง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง และปกป้องประเทศจากภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม และเสรีนิยม ในด้านการต่างประเทศ แม้ซาลาซาร์จะยังคงเป็นพันธมิตรกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* แต่หลายประเทศก็ไม่พอใจที่เขาพยายามปราบปรามขบวนการชาตินิยมในดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกสเพื่อเหนี่ยวรั้งไม่ให้เป็นเอกราชกล่าวกันว่า ผลของการบริหารประเทศอย่างยาวนานของซาลาซาร์ทำให้โปรตุเกสมีความมั่นคงขึ้นในช่วงแรก ๆ แต่การพัฒนาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงหลังค่อนข้างหยุดนิ่ง จึงมีส่วนทำให้โปรตุเกสกลายเป็นประเทศยากจนและมีผลจนถึงปัจจุบัน
ซาลาซาร์เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๘๘๙ ที่หมู่บ้านวีมีเอย์โร (Vimieiro) ใกล้เมืองซานตากอมบาเดา [Santa Comba Dão หรือตำบลวีเซว (Viseu)] จังหวัดเบย์ราอัลตา (Beira Alta) เป็นบุตรชายคนสุดท้องของอันโตนิโอ เด โอลีเวย์รา (António de Oliveira) กับมารีอา โด เรสกาเต ซาลาซาร์ (María do Resgate Salazar) เขามีพี่สาว ๔ คน บิดาเป็นเจ้าของที่ดินแปลงเล็ก ๆ และทำงานเป็นผู้จัดการผลประโยชน์และอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ตระกูลเปเรสเตรโลส (Perestrelos) ซึ่งครอบครองที่ดินจำนวนมากที่กระจัดกระจายระหว่างตำบลวีเซวกับเมืองโกอิมบรา (Coimbra) ในวัยเด็กเขาเรียนที่โรงเรียนในหมู่บ้านก่อนเข้าเรียนที่สามเณราลัยแห่งวีเซวระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๘ และเคยคิดจะถืออาชีพนักบวชแต่ก็เปลี่ยนใจ ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ ซาลาซาร์จึงย้ายไปอยู่ที่เมืองโกอิมบราเพื่อเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโกอิมบรา ระหว่างเรียนกฎหมาย เขาสนใจวิชาทางด้านการเงินมาก แม้เขาจบวิชากฎหมายอย่างโดดเด่นแต่ก็มีความเชี่ยวชาญด้านการคลังและนโยบายเศรษฐกิจ ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เขาจึงได้เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนนโยบายเศรษฐกิจที่คณะนิติศาสตร์ และ ๔ ปีต่อมาเขาก็ได้รับปริญญาเอกและได้เป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง ซาลาซาร์เป็นที่รู้จักดีจากการมีผลงานเขียนเกี่ยวกับการเงินและเศรษฐกิจ และบทความที่ปกบ้องสิทธิและผลประโยชน์ของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นสถาบันที่นักการเมืองในสาธารณรัฐที่ ๑ ต่อต้าน
ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ซาลาซาร์ซึ่งเคร่งครัดในศาสนามีส่วนในการจัดตั้งพรรคคาทอลิกเซนเตอร์ (Catholic Centre Party) ขึ้น และในเดือนมกราคมได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Cortes) ในนามพรรคนี้พร้อมด้วยสมาชิกพรรคอีก ๒ คน แต่หลังสมัยประชุมเดียวเขารู้สึกไม่พอใจกับการถกเถียงโต้แย้งและความวุ่นวายในวงการเมืองซึ่งทำให้เขาทำงานลำบาก เขาจึงลาออกและกลับไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดังเดิม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ เมื่อฝ่ายทหารโค่นล้มรัฐบาลในระบอบรัฐสภาและสถาปนาระบอบเผด็จการทหารขึ้น ซาลาซาร์ได้รับการทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อจัดระบบการคลังของชาติที่ยุ่งเหยิงเสียใหม่ แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมรับเงื่อนไขที่เขาเสนอขออำนาจจัดการเต็มที่ เขาจึงลาออกหลังจากอยู่ในตำแหน่งเพียง ๕ วัน และกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยโกอิมบราอีกครั้ง สองปีต่อมา นายพลอันโตนีโอ ออสการ์ เด ฟราโกโซ การ์โมนา (António Óscar de Fragoso Carmona) ซึ่งก่อรัฐประหารยืดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยใน ค.ศ. ๑๙๒๖ และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีวิตโดยการลงประชามติใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ก็ยื่นข้อเสนอตำแหน่งเดิมให้แก่เขาอีกครั้งพร้อมทั้งสัญญาว่าจะให้ซาลาซาร์มีอำนาจบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เขาจึงยอมรับข้อเสนอที่จะให้จัดระบบของประเทศใหม่ เพราะในขณะนั้นโปรตุเกสมีความผันผวนทางการเมืองมากภายหลังสาธารณรัฐที่ ๑ มีการเปลี่ยนประธานาธิบดีถึง ๘ ครั้ง รัฐบาลถึง ๔๔ ชุด และการลุกฮืออีก ๒๐ ครั้ง เมื่อรับหน้าที่แล้ว ซาลาซาร์กลายเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในรัฐบาลจากการรีบเร่งแก้ไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เขาห้ามการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ตัดงบประมาณ และใช้ระบบใหม่ในการจัดเก็บภาษี ในปีแรกเขาสามารถจัดทำงบประมาณที่สมดุลแม้จะต้องใช้มาตรการรีดภาษีจากประชาชนอย่างมากเท่ากับเขาสามารถเปลี่ยนรูปแบบอันยาวนานของประเทศในการมีงบประมาณขาดดุลมาเป็นการมีงบประมาณเกินดุลหลังจากนั้นเป็นต้นมา งบประมาณของรัฐก็แสดงรายรับมากกว่ารายจ่าย ส่วนที่เกินดุลนั้นเขาก็ได้นำไปลงทุนในโครงการพัฒนาต่าง ๆ
เมื่อทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประธานาธิบดีการ์โมนาจึงแต่งตั้งซาลาซาร์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ พร้อมทั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression)* เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๐ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้ซาลาซาร์กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ เขาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นซึ่งสะท้อนความคิดของเขาในการจัดการบริหารประเทศตามแนวทางอำนาจนิยมและหลักจริยธรรมตามที่ปรากฏในสาส์น Rerum Novarum ของสันตะปาปาเลโอที่ ๑๓ (Leo XIII)* ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ และ Quadragesima Anno ของสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ (Pius XI)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ร่างรัฐธรรมนูญของเขาซึ่งได้รับการลงประชามติเห็นชอบในวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เปิดโอกาสให้เขาจัดตั้งระบบการปกครองที่เขาเรียกว่า “รัฐใหม่” ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐอำนาจนิยมของฝ่ายขวาซึ่งดำเนินไปถึง ๔ ทศวรรษ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นประกอบด้วยผู้สนับสนุนรัฐบาลเท่านั้น คณะรัฐมนตรีนั้นซาลาชาร์ก็เป็นผู้เลือกและกำกับการทำงานของรัฐมนตรีทั้งหมดอย่างใกล้ชิด เสรีภาพทางการเมืองของประชาชนถูกตัดทอนลงเพื่อให้ประเทศมุ่งสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ซาลาซาร์บริหารประเทศโดยอาศัยพรรคสหภาพแห่งชาติ (National Union) ที่เขาจัดตั้งขึ้นเพียงพรรคเดียวโดยไม่ยอมให้มีพรรคการเมืองอื่น ๆ คติพจน์ของเขาคือ “การควบคุมด้วยการสร้างเสถียรภาพ” (control by stability) นอกจากนี้ เขายังใช้องค์กรตำรวจลับ (PIDE-Polícia Internacional e de Defesa do Estado) ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ตามแนวทางเกสตาโป (Gestapo)* ของนาซีเยอรมนีเป็นกลไกในการบริหาร ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ ยังปราบปรามศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์หรือพวกที่เกี่ยวข้องกับโซเวียตซึ่งซาลาซาร์ถือว่าเป็นภัยคุกคามโปรตุเกส อีกทั้งมีการสร้างสถานที่จองจำสำหรับกักขังคนที่เป็นศัตรูต่อระบบรัฐใหม่ เช่น ที่เกาะตาร์ราฟัล (Tarrafal) ในหมู่เกาะเคปเวิร์ด (Cape Verde) ทำให้พวกนิยมระบอบอนาธิปไตย (Anarchism) คอมมิวนิสต์ และบรรดาสมาชิกขบวนการกองโจรที่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอาณานิคมในแอฟริกาและศัตรูอื่น ๆ ของรัฐบาลซาลาซาร์ต้องจบชีวิต หรือถูกจำขังหลายปีในสถานที่จองจำเหล่านั้น
การบริหารประเทศอย่างเข้มงวดของซาลาซาร์และการใช้ระบบเซนเซอร์สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เกิดการลุกฮือขึ้นในกองทัพ และ ๒ ปี ต่อมามีผู้พยายามลอบสังหารเขาขณะที่เดินทางไปประกอบพิธีรับศีลมหาสนิทในโบสถ์ที่อยู่ในเขตพำนักส่วนตัวของเพื่อนในกรุงลิสบอน เมื่อเขาออกจากพาหนะที่นั่งซึ่งเป็นรถบูอิก ได้เกิดระเบิดขึ้นซึ่งห่างจากรถเพียง ๓ เมตร ซาลาซาร์ปลอดภัยแต่พลขับของเขากลายเป็นคนหูหนวก หลังจากนั้นซาลาซาร์จึงเปลี่ยนไปใช้รถกันกระสุน
เมื่อโปรตุเกสต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์อันเนื่องมาจากการเกิดสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเวลาต่อมา ซาลาซาร์เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสงครามระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๔๔ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๔๗ ความเคร่งครัดในศาสนาคริสต์และการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงทำให้เขามีสัมพันธ์ที่ดีกับนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* ผู้นำกลุ่มชาตินิยมของสเปนซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลแนวร่วมประชาชน (Popular Front)* ซึ่งเป็นพวกฝ่ายซ้าย ซาลาซาร์อนุญาตให้มีการส่งต่อความช่วยเหลือจากต่างชาติผ่านโปรตุเกสในการจัดส่งให้กองกำลังฝ่ายชาตินิยมของฟรังโกจนฝ่ายหลังขนานนามกรุงลิสบอน (Lisbon) เมืองหลวงของโปรตุเกสว่าเป็น “เมืองท่าแห่งกาสตีล” (Castile เป็นชื่ออาณาจักรเก่าในดินแดนสเปน) โปรตุเกสยินยอมให้เยอรมนีช่วยเหลือฝ่ายนายพลฟรังโกในการส่งทหาร เครื่องบิน รถถัง และอาวุธต่าง ๆ ผ่านทางกรุงลิสบอนและยังจับกุมผู้สนับสนุนรัฐบาลแนวร่วมประชาชนที่อาศัยอยู่ในโปรตุเกสด้วย แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ซาลาซาร์ก็ไม่ยินยอมให้คณะผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าไปประจำตามพรมแดนโปรตุเกสกับสเปน เพราะเกรงว่าจะล่วงรู้การช่วยเหลือจำนวนมหาศาลที่ส่งข้ามพรมแดนไปยังสเปน ซาลาซาร์ประเมินว่าถ้าฝ่ายซ้ายในสเปนมีชัยชนะ การปกครองแบบเผด็จการของเขาเองก็จะถูกสั่นคลอนได้ ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เขาก็ประกาศรับรอง รัฐบาลของฝ่ายชาตินิยมของนายพลฟรังโก และในปีต่อมาสเปนและโปรตุเกสได้ลงนามเป็นพันธมิตรในกติกาสัญญาไอบีเรีย (Iberian Pact) เพื่อมิตรภาพในการร่วมปกป้องคาบสมุทรไอบีเรียและการไม่รุกรานกัน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น ซาลาชาร์ดำเนินนโยบายเป็นกลาง เพราะหากโปรตุเกสเข้าข้างฝ่ายนาซีก็เท่ากับเป็นการเปิดภาวะสงครามกับอังกฤษและอาณานิคมโปรตุเกสในทวีปแอฟริกาจะตกอยู่ในอันตราย แต่หากเข้าข้างฝ่ายอังกฤษ โปรตุเกสก็จะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นกันโปรตุเกสส่งทังสเตนและสินค้าอื่น ๆ ให้แก่กลุ่มประเทศอักษะ (บางส่วนผ่านทางสวิตเซอร์แลนด์) และกลุ่มประเทศพันธมิตร อย่างไรก็ดี ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดติมอร์ตะวันออก (East Timor) ซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสในมหาสมุทรแปซิฟิก แม้โปรตุเกสไม่ได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นตามที่ได้ประกาศนโยบายเป็นกลาง แต่ในปีต่อมาก็อนุญาตให้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาใช้เกาะเตร์เซย์รา (Terceira Island) ในหมู่เกาะอะโซร์ส (Azores) เป็นฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศได้ นอกจากนั้น โปรตุเกสยังเป็นดินแดนที่รองรับผู้หนีภัยสงครามจำนวนมากรวมทั้งชาวยิวและยังเป็นประตูทางออกสุดท้ายแห่งหนึ่งของยุโรปในการเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ผู้คนจำนวนมากได้รับการออกหนังสือตรวจลงตราจากกงสุลใหญ่โปรตุเกสประจำเมืองบอร์โด (Bordeaux) ประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามการเข้าเมืองถูกเข้มงวดกวดขันมากขึ้นตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๔๒
เมื่อสิ้นสงครามโลก โปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยเป็นประเทศร่วมก่อตั้งประเทศเดียวที่ไม่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยการเข้าเป็นสมาชิกเท่ากับว่าโปรตุเกสแสดงตนร่วมเป็นพันธมิตรต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น (Cold War)* ด้วยเหตุนี้ โปรตุเกสจึงได้รับเชิญเข้าร่วมในแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ที่สหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามโลก ขณะเดียวกันโปรตุเกสได้พัฒนางานทางด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีการตัดถนนหนทาง สร้างทางรถไฟ เสริมกำลังพาณิชย์นาวี และเปิดสายการบินแห่งชาติ อีกทั้งมีการวางแผนติดตั้งไฟฟ้าทั่วประเทศและพัฒนาโรงเรียนในชนบท หลังจากนั้น โปรตุเกสก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ (United Nations)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ ซึ่งรัฐบาลซาลาซาร์ยื่นสมัครมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๖
หลังสงครามโลก อาณานิคมโปรตุเกสในที่ต่าง ๆ ตกอยู่ในภาวะสับสน ดินแดนเหล่านั้น ได้แก่ หมู่เกาะเคปเวิร์ด เซาตูเมและปรินซิปี (São Tomé e Príncipe) แองโกลา (Angola) กินีโปรตุเกส [ปัจจุบันคือ กินี-บิสเซา (Guinea-Bissau)] และโมซัมบิก (Mozambique) ในแอฟริกา กัว (Goa) ดาเมา (Damão) และดิว (Diu) ในอินเดียมาเก๊าในเอเชียตะวันออก และติมอร์ตะวันออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซาลาซาร์มีนโยบายที่จะรักษาอาณานิคมทั้งหมดไว้และพร้อมที่จะใช้มาตรการทำงทหารปราบปรามกระแสการเรียกร้องเอกราช ชาวโปรตุเกสหลายพันคนจึงอพยพไปอยู่ประเทศยุโรปอื่นโดยเฉพาะไปฝรั่งเศสเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ทหารและการถูกส่งไปสู้รบกับชาวอาณานิคมชาตินิยมในแอฟริกา หลายคนเต็มใจที่จะไปเป็นแรงงานรับใช้ ทำให้พลเมืองโปรตุเกสกลายเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกของยุโรป
หลังจากอินเดียประกาศเอกราชในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ อังกฤษและฝรั่งเศสก็ค่อย ๆ ให้เอกราชแก่อาณานิคมของตนในอินเดีย นักชาตินิยมอินเดียในเมืองกัวก็เคลื่อนไหวให้โปรตุเกสทำตามอังกฤษและฝรั่งเศส เมื่อซาลาซาร์ปฏิเสธคำเรียกร้องซํ้าแล้วซํ้าเล่า ในชั้นแรกนักชาตินิยมใช้วิธีนัดหยุดงานและการขัดขืนโดยใช้หลักอหิงสาซึ่งก็ถูกรัฐบาลโปรตุเกสปราบปรามอย่างรุนแรง ต่อมา เมื่อมีข่าวว่าชาวอินเดียจะหันไปใช้กำลังทหารเช้าสู้ ข้าหลวงใหญ่มานูเอล อันโตนีโอ วาสซาโล อี ชิลวา (Manuel António Vassalo e Silva) ประจำเมืองกัวก็ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลซาลาซาร์ให้สู้จนถึงที่สุดและให้ใช้นโยบายเผาเมือง (scorched earth policy) แต่ในที่สุด โปรตุเกสก็สูญเสียเมืองกัว ดาเมา และดิวภายหลังปฏิบัติการชัยชนะ (Operation Vijay) ของฝ่ายอินเดียในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ ทหารโปรตุเกสจำนวน ๓๑ คนถูกสังหาร เรือฟรีเกตเอนอาร์พี อาฟอนโซ เด อัลบูเกร์เกอ (NRP Afonso de Albuquerque) ถูกทำลาย และนายพลวาสซาโล อี ซิลวาจำต้องประกาศยอมแพ้ ซาลาซาร์จึงเนรเทศนายพลผู้นี้ในฐานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งว่าให้ต่อสู้แม้เหลือทหารเพียงคนเดียว และการไปยอมจำนนต่อฝ่ายกองทัพอินเดีย
ในทศวรรษ ๑๙๖๐ ขณะที่ดินแดนอาณานิคมของชาติยุโรปอื่น ๆ ต่างทยอยกันเป็นอิสระ ขบวนการปลดแอกและขบวนการต่อสู้แบบกองโจรก็แพร่สู่เขตโมซัมบิก แองโกลา และกินีโปรตุเกส นานาชาติหันมาเพ่งเล็งและต่อต้านนโยบายอาณานิคมของซาลาซาร์ที่ยืนยันว่าจะคงรักษาอาณานิคมของโปรตุเกสในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นทั้งบ่อเกิดของรายได้และเป็นภาระอันหนักหน่วงให้อยู่ต่อไป บางประเทศลงมติใช้นโยบายควํ่าบาตรต่อโปรตุเกสโดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ในทวีปแอฟริกา ซาลาซาร์ส่งทหารจำนวนมากเข้าไปปราบปรามบรรดาขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชที่เรียกว่า สงครามอาณานิคม (Colonial War) ซึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๖๑
ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๘ ซาลาซาร์เกิดอาการเลือดตกในสมองซึ่งว่ากันว่าเป็นเพราะพลัดตกจากเก้าอี้ที่บ้านพักฤดูร้อนหรือลื่นล้มในอ่างอาบนํ้า จนทำให้เขาไม่สามารถทำงานใด ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง เมื่อประธานาธิบดีอเมริโก โตมัซ (Américo Thomaz) ได้รับการรายงานว่าซาลาซาร์จะไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้อีกจึงแต่งตั้งให้ มาร์เซโล ไกตาโน (Marcelo Caetano) เพื่อนสนิทผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐใหม่กับซาลาซาร์ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยลิสบอนอยู่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนโดยไม่มีการแจ้งให้ซาลาซาร์รับรู้ สองปีต่อมา อันโตนีโอ เด โอลีเวย์รา ซาลาซาร์ คริสตชนคาทอลิกที่เคร่งครัดและครองชีวิตโสดมาโดยตลอด ผู้ดำเนินชีวิตเรียบง่าย แต่ห่างเหินจากประชาชนและหลีกเลี่ยงการปรากฏตัวในที่สาธารณะ อีกทั้งไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศ ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ ที่กรุงลิสบอน ขณะอายุ ๘๘ ปี ประชาชนหลายหมื่นคนไปร่วมงานพิธีศพที่จัดขึ้นที่วัดเจโรนีโมส (Jerónimos Monastery) และร่วมส่งศพเขาขึ้นรถไฟขบวนพิเศษไปยังบ้านเกิดที่หมู่บ้านวีมีเอโรทางเหนือของกรุงลิสบอนเพื่อฝังอย่างเรียบง่ายตามความประสงค์ของเขา หลังการอสัญกรรมระบอบรัฐใหม่ของซาลาซาร์ยังคงดำเนินต่อไปโดยการบริหารของโตมัซและไกตาโนจนกระทั้งวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๔ ซึ่งเกิดการปฏิวัติคาร์เนชัน (Carnation Revolution) ขึ้นและโค่นล้มระบอบเผด็จการหรือ “รัฐใหม่”
ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ หลังซาลาชาร์ถึงแก่อสัญกรรมมีจำนวนทหารโปรตุเกสกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ป้องกันการแตกสลายของจักรวรรดิโปรตุเกสตามนโยบายของซาลาซาร์ ภาวะสงครามซึ่งยืดเยื้อและสิ้นค่าใช้จ่ายมหาศาลจนกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากดำเนินไปจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติยึดอำนาจโดยฝ่ายกองทัพใน ค.ศ. ๑๙๗๔ เพื่อยุติระบอบรัฐใหม่ที่ซาลาซาร์สถาปนาขึ้น สงครามอาณานิคมจึงยุติลง นอกจากนี้ เมื่อโปรตุเกสยอมปล่อยให้โมซัมบิกและแองโกลาเป็นอิสระคลื่นพลเมืองโปรตุเกสจากแอฟริกาก็อพยพเข้าโปรตุเกสจนก่อปัญหาผู้อพยพกว่าล้านคนที่มีฐานะยากจนในประเทศขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ มีการสถาปนาประชาคมประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (Community of Portuguese Language Countries) เพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างกัน สมาชิกประกอบด้วยบรรดาชาติอาณานิคมโปรตุเกสเดิมแต่ยกเว้นประเทศโปรตุเกสเองเท่านั้น อย่างไรก็ดี มาเก๊ากลายเป็นดินแดนของจีน (Chinese Territory) แต่คงอยู่ภายใต้การบริหารของโปรตุเกสจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๙๙ จึงกลายเป็นเขตบริหารพิเศษ (Special Administrative Region) ของจีน ส่วนดินแดนติมอร์ตะวันออกหลังโปรตุเกสหมดอิทธิพลลง อินโดนีเซียถือโอกาสส่งกำลังเข้ายึดครองเป็นจังหวัดที่ ๒๗ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ทำให้ชาวพื้นเมืองต้องต่อสู้กับทางการอินโดนีเซียจนกระทั่งได้เอกราชสมบูรณ์ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ และเปลี่ยนชื่อเป็นติมอร์-เลสเต (Timor-Leste)
ซาลาซาร์นับเป็นผู้เผด็จการของยุโรปที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุด แม้ระบอบรัฐใหม่ของเขาจะนำเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระเบียบสังคมคืนสู่ประเทศโดยมีรายได้หล่อเลี้ยงจากการค้าและความมั่งคั่งของอาณานิคมในแอฟริกา และประชาชนจำนวนมากก็พอใจที่เขาสามารถกันโปรตุเกสออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้แต่ชื่อเสียงของเขาก็มัวหมองจากการใช้องค์กรตำรวจลับที่กดขี่ฝ่ายตรงข้าม การใช้ระบบตรวจตราสิ่งพิมพ์อย่างเข้มงวดจนสกัดกั้นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรม และการพยายามยื้อยุดอาณานิคมเดิมทั้งหมดไว้จากการที่ซาลาชาร์เชื่อว่าเป็นหนทางที่จะรักษาบทบาท โปรตุเกสให้คงอยู่ในเวทีโลก นอกจากนี้ ระบบรัฐใหม่ของเขายังทำให้เกิดการหยุดนิ่งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม จนชาวโปรตุเกสที่มีความสามารถจำนวนมากพากันอพยพไปอยู่ที่อื่น
นิตยสาร Life Magazine เคยเรียกซาลาซาร์ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ว่า “ชาวโปรตุเกสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เจ้าชายเฮนรี นักเดินเรือ” (Prince Henry the Navigator) ของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ผลสำรวจเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ ก็ยังระบุว่าซาลาซาร์คือชาวโปรตุเกสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คะแนนของเขาแซงหน้าบรรดาบุคคลต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศ ทั้งกษัตริย์ กวี และนักสำรวจอย่างวาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) ผู้พบเส้นทางเดินเรือไปอินเดีย หรือนักการทูตอย่างอารีสตีเดส เด โซซา เมนเดส (Aristides de Sousa Mendes) ซึ่งช่วยชีวิตชาวยิวหลายร้อยคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้การปกครองของเขามีลักษณะปราบปรามและควบคุมประชาชน นโยบายอาณานิคมก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซาลาซาร์ ยังเป็นผู้ที่ชาวโปรตุเกสจดจำได้มากที่สุดตลอดมา.