White Rose (1942–1943)

กลุ่มกุหลาบขาว (-)

กลุ่มกุหลาบขาวเป็นกลุ่มต่อต้านนาซีของนักศึกษาและอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซีมีเลียน มิวนิก (Ludwig Maximilian University Munich) หรือเรียกอย่างย่อว่า มหาวิทยาลัยมิวนิก ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ เป็นขบวนการต่อต้านของพลเรือนโดยไม่ใช้วิธีการรุนแรงที่โด่งดังที่สุดในเยอรมนีสมัยนาซี (Nazi Germany)* สมาชิกเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยการแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาเรียกร้องชาวเยอรมันให้ต่อต้านระบอบนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party; Nazi Party)* กลุ่มกุหลาบขาวมีเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกับองค์การนักศึกษาแห่งเมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) เมืองไฟรบูร์ก (Freiburg) กรุงเบอร์ลิน และกรุงเวียนนาในออสเตรีย กลุ่มกุหลาบขาวสลายตัวลงหลังจากสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มถูกจับกุมและถูกตัดสินประหารชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๓

 เมื่อฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ และเริ่มนโยบายสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ตามอุดมการณ์และความฝันของตน เขาตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนจึงได้จัดตั้งองค์การยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth)* และองค์การสันนิบาตเยาวชนหญิง (League of German Girls) เพื่อควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะถูกจัดขึ้นสำหรับเยาวชนเยอรมันในช่วงอายุ ๑๐–๑๘ ปี สมาชิกของกลุ่มกุหลาบขาวต่างเคยเป็นสมาชิกขององค์กรใดองค์กรหนึ่งมาก่อน แกนนำหลักคนสำคัญ ๖ คนของกลุ่มกุหลาบขาวคือ ฮันส์ โชลล์ (Hans Scholl) และโซฟี โชลล์ (Sophie Scholl) สองพี่น้องคริสทอฟ โพรบสท์ (Christoph Probst) อะเล็ก-ซานเดอร์ ชมอเรลล์ (Alexander Schmorell) วิลลี กราฟ (Willi Graf) และคูร์ท ฮูแบร์ท (Kurt Hubert) ศาสตราจารย์สาขาดนตรีและจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิก ในระยะแรกเยาวชนเยอรมันเหล่านี้ต่างซึมซับอุดมการณ์นาซี แต่เมื่อเติบโตขึ้นและเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย พวกเขาเริ่มเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อต่อระบอบนาซี ข่าวความโหดร้ายและนองเลือดของสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* และนโยบายรุนแรงของรัฐบาลนาซีต่อชาวยิว ผู้ป่วยทางจิตรวมถึงผู้ทุพพลภาพชาวเยอรมัน ซึ่งถูกสังหารหมู่ด้วยการรมแก๊สพิษยิ่งทำให้พวกเขาหันมาต่อต้านระบอบนาซีมากขึ้น เมื่อคาร์ดินัลเคลเมนส์ ออกุสท์ กราฟ ฟอน กาเลิน (Clemens August Graf von Galen) ประจำเมืองมึนสเตอร์ (Münster) ทางตอนกลางของประเทศเทศน์โจมตีพรรคนาซีและประณามนโยบายสังหารหมู่ผู้ป่วยทางจิตและผู้ทุพพลภาพชาวเยอรมัน เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ โซฟี โชลล์และครอบครัวซึ่งได้ฟังการเทศน์ดังกล่าวจึงนำเนื้อหามาทำเป็นใบปลิวเผยแพร่ ฮันส์พี่ชายซึ่งศึกษาในคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยมิวนิก จึงได้แรงบันดาลใจที่จะจัดตั้งกลุ่มต่อต้านนาซีขึ้น

 ชื่อของกลุ่มกุหลาบขาวได้มาจากนวนิยายการเมืองเรื่อง The White Rose (ค.ศ. ๑๙๒๙) ของบี. ทราเวิน (B. Traven) นักเขียนนวนิยายชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงเนื้อหาของนวนิยายนำมาจากข้อเท็จจริงว่าด้วยการโกงที่ดินของชาวพื้นเมืองเพื่อหาผลประโยชน์ในธุรกิจน้ำมัน และการต่อต้านของเจ้าของที่ดินที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ สมาชิกของกลุ่มได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำชื่อนวนิยายมาเป็นชื่อกลุ่ม เพราะกุหลาบขาวเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงความซื่อและความบริสุทธิ์ในการเผชิญกับความชั่วร้ายการจะหยุดยั้งความชั่วร้ายของฮิตเลอร์และการทำลายอำนาจทมิฬในสังคมเยอรมันจึงเป็นเสมือนการต่อสู้ของชาวเยอรมันที่ต้องการจะสร้างความสะอาดบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น

 เยอรมนีเปิดการรุกครั้งใหญ่เพื่อโจมตีคอเคซัส (Caucasus) ในฤดูร้อนค.ศ. ๑๙๔๒จนนำไปสู่ยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* อันเป็นยุทธการนองเลือดที่ใหญ่ที่สุดในแนวรบด้านตะวันออกเพราะทั้งฮิตเลอร์และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตมุ่งเอาชนะกันให้ได้โดยไม่คำนึงถึงความหายนะและการสูญเสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือน ในช่วงที่การรบกำลังเริ่มขึ้นฮันส์ โชลล์ ชมอเรลล์ และกราฟ นักศึกษาแพทย์ทั้งสามถูกส่งไปปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในแนวรบด้านตะวันออกและอยู่ในรัสเซีย ๓ เดือน พวกเขาได้เห็นความหายนะของสงครามและการเข่นฆ่าสังหารเชลยสงครามและชาวยิวที่ถูกยิงทิ้งลงหลุม เมื่อกลับมาเยอรมนีพวกเขาจึงเขียนและจัดทำใบปลิวเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับและความโหดเหี้ยมของการสังหารทำลายชีวิตอย่างไร้ค่ารวม ๔ แผ่นในชื่อ “ใบปลิวของกลุ่มกุหลาบขาว” (Leaflets of the White Rose) ฮันส์เขียนแผ่นที่ ๑ และ ๔ ส่วนชมอเรลล์เขียนแผ่นที่ ๒ และ ๓ ใบปลิวดังกล่าวจึงเป็นการเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีของกลุ่มกุหลาบขาว

 โซฟีซึ่งศึกษาปรัชญาและชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยมิวนิกมีโอกาสได้อ่านใบปลิวแผ่นหนึ่งของกลุ่มกุหลาบขาว และต่อมาเธอค้นพบว่าพี่ชายและเพื่อนของเขาอีก ๒ คนคือชมอแรลล์และกราฟมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มกุหลาบขาว โซฟีต้องการจะเข้าร่วมกลุ่มด้วย ฮันส์ซึ่งตระหนักถึงอันตรายของงานที่ทำอยู่พยายามปฏิเสธแต่ล้มเหลวและโซฟีก็ได้เข้าร่วมกลุ่มด้วย จากนั้นไม่นาน คริสทอฟ โพรบสท์เพื่อนสนิทของฮันส์และชมอแรลล์อีกคนหนึ่งก็เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตามการที่โพรบสท์แต่งงานแล้วและมีบุตรชาย ๒ คน ทำให้กลุ่มกุหลาบขาวให้โพรบสท์เคลื่อนไหวและปฏิบัติงานน้อยที่สุดเพราะต้องการปกป้องครอบครัวของเขา ในเวลาต่อมากลุ่มกุหลาบขาวได้เชิญชวนศาสตราจารย์คูร์ท ฮูแบร์ทซึ่งมักแสดงความคิดเห็นเป็นนัยให้นักศึกษาทราบว่าเขาเกลียดชังฮิตเลอร์และต่อต้านนาซีเข้าร่วมกลุ่มด้วย ฮันส์ ชมอเรลล์ และฮูแบร์ททำหน้าที่หลักเรื่องการเขียนใบปลิว โซฟีรับผิดชอบด้านการหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกระดาษและแสตมป์ รวมทั้งการเผยแพร่ใบปลิว กราฟรับหน้าที่หาสมาชิกและสร้างเครือข่ายรวมทั้งเผยแพร่เอกสารส่วนโพรบสท์ช่วยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาและประเด็นที่นำเสนอในใบปลิว

 เนื้อหาใบปลิวของกลุ่มกุหลาบขาวเรียกร้องให้ชาวเยอรมันร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนาซีโดยไม่ใช้วิธีการรุนแรง และให้เยอรมนีฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตยและความยุติธรรมทางสังคม ตลอดจนโจมตีระบอบนาซีและการเข่นฆ่าสังหารหมู่ชาวยิวและประชาชน มีการนำข้อความหรือเนื้อหาบางตอนของนักปรัชญาและปัญญาชนที่มีชื่อเสียงมาประกอบเนื้อหาด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ใบปลิวมุ่งสื่อสารและถ่ายทอดความคิดในกลุ่มปัญญาชนโดยเฉพาะนักศึกษาและคณาจารย์ กลุ่มกุหลาบขาวทิ้งใบปลิวไว้ตามห้องเรียนและสถานที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ช่องจดหมาย และตามสถานที่พักผ่อนสาธารณะ ตลอดจนส่งไปรษณีย์ไปให้คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเวลาอันรวดเร็วอุดมการณ์และแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มกุหลาบขาวก็เริ่มเป็นที่รับรู้กันทั่วไป เกสตาโป (Gestapo)* หน่วยตำรวจลับซึ่งได้รับใบปลิวจำนวนหนึ่งด้วยจึงเริ่มสืบหาแหล่งที่มา

 ข่าวความปราชัยอย่างยับเยินของเยอรมนีในยุทธการที่เมืองสตาลินกราดในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๓ ได้ทำลายขวัญและกำลังใจของชาวเยอรมันจำนวนไม่น้อย สมาชิกกลุ่มกุหลาบขาวตระหนักว่าเยอรมนีกำลังจะพ่ายแพ้สงครามและการรบที่ดำรงอยู่เป็นเพียงการประวิงเวลาของความพ่ายแพ้ไว้เท่านั้นประกอบกับก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ในวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ เพาล์ กีซเลอร์ (Paul Giesler) ข้าหลวงเขต (Gauleiter) แห่งบาวาเรียตอนบนได้เรียกประชุมพิเศษนักศึกษาเพื่อฟังคำปราศรัยของเขาเนื่องในวาระที่มหาวิทยาลัยมิวนิกครบรอบ ๔๗๐ ปี เขาเรียกร้องให้นักศึกษาหญิงลาออกจากการเป็นนักศึกษาเพื่อทำหน้าที่รับใช้ชาติด้วยการให้กำเนิดบุตรเพื่อฟือเรอร์ (Führer)* หากไม่สามารถหาคู่ได้เขายินดีจัดหาให้คำปราศรัยทำให้นักศึกษาหญิงจำนวนไม่น้อยประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม กีซเลอร์สั่งให้จับกุมและนำไปสู่การปะทะกันระหว่างตำรวจกับนักศึกษาชายที่ต้องการช่วยเพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับ จนท้ายที่สุดนักศึกษาหญิงได้รับการปล่อยตัว เรื่องราวที่เกิดขึ้นแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วเมืองมิวนิก ฮันส์และชมอเรลล์จึงเชื่อว่าเวลาของการปฏิบัติการได้มาถึงและประชาชนพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อต้าน ทั้งสองจึงจัดทำใบปลิวแผ่นที่ ๕ และขอให้ศาสตราจารย์ฮูแบร์ทช่วยแก้ไขขัดเกลา ใบปลิวฉบับนี้มีชื่อว่า “A Call to all Germans!” เรียกร้องให้ชาวเยอรมันปลดปล่อยตนเองจากเผด็จการนาซีและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนา การปกป้องพลเมืองแต่ละคนจากระบอบเผด็จการรุนแรง การต่อต้านดังกล่าวคือพื้นฐานของยุโรปใหม่ ใบปลิวฉบับนี้เผยแพร่ระหว่างวันที่ ๒๗–๒๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ไปทั่วตอนใต้ของเยอรมนีและเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น ฮัมบูร์กโคโลญ (Cologne) กรุงเบอร์ลินรวมถึงบางเมืองในออสเตรีย

 หลังจากใบปลิวแผ่นที่ ๕ ถูกแจกจ่ายเผยแพร่ได้ไม่นาน ในคืนวันที่ ๓, ๘ และ ๑๕ กุมภาพันธ์ กลุ่มกุหลาบขาวพ่นสีตามผนังกำแพงมหาวิทยาลัยมิวนิกและตึกอีกหลายแห่งในนครมิวนิกด้วยข้อความว่า “เสรีภาพ” และ “ฮิตเลอร์จงพินาศ” ในช่วงเวลาเดียวกันศาสตราจารย์ฮูแบร์ทเขียนใบปลิวแผ่นที่ ๖ โดยให้ชื่อว่า “Fellow Students!” เนื่องจากต้องการกระตุ้นให้กลุ่มนักศึกษาต่อต้านนาซีให้มากขึ้น ในคืนวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๓ กลุ่มกุหลาบขาวได้นำใบปลิวไปแจกตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองมิวนิก แต่เมื่อแจกไม่หมดอีก ๓ วันต่อมา ฮันส์และโซฟีจึงนำไปแจกต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ทั้งสองถูกจับเนื่องจากยาคอบชมิดท์ (Jakob Schmidt) ผู้ดูแลตึกเห็นคนทั้งสองขณะกำลังโปรยใบปลิวในห้องอาคารเรียนรวมของมหาวิทยาลัยจึงควบคุมตัวไว้และรายงานให้เกสตาโปทราบ

 ทั้งฮันส์และโซฟีถูกนำตัวไปที่ศูนย์บัญชาการเกสตาโปและถูกแยกกันสอบสวนติดต่อกัน ๓ คืน โซฟีไม่ได้ซัดทอดผู้ใด ส่วนฮันส์มีร่างใบปลิวแผ่นที่ ๗ ที่โพรบสท์เป็นผู้เขียนติดอยู่ในกระเป๋า โพรบสท์จึงถูกจับกุมและส่งตัวขึ้นศาลประชาชนหรือศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีกบฏต่อรัฐบาลนาซี พร้อมสองพี่น้องเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ผู้พิพากษาโรลันด์ ไฟรซ์เลอร์ (Roland Freisler) ซึ่งได้รับฉายาว่า “ผู้พิพากษากระหายเลือด” ตัดสินให้ทั้ง ๓ คนมีความผิดในข้อหาทรยศต่อชาติและให้ประหารด้วยเครื่องกิโยตีนนักโทษทั้ง ๓ คนถูกนำตัวไปยังเรือนจำชตาเดลส์ไฮม์ (Stadelsheim) ที่ขึ้นชื่อด้านการประหารด้วยกิโยตีนและเป็นหนึ่งในเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในนครมิวนิก ทั้ง ๓ คนถูกประหารในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ขณะฮันส์และโซฟีอายุเพียง ๒๕ และ ๒๒ ปี ส่วนโพรบสท์อายุ ๒๔ ปี แม้ทั้ง ๓ คนจะไม่ได้ซัดทอดผู้ใดระหว่างการสอบสวนแต่การขยายผลของเกสตาโปก็ทำให้ศาสตราจารย์ฮูแบร์ท กราฟ และชมอเรลล์ถูกจับเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ ฮูแบร์ทและชมอเรลล์ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยตีนเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ขณะอายุได้ ๕๐ และ ๒๖ ปี ส่วนกราฟซึ่งอายุน้อยกว่าชมอเรลล์๑ปีถูกประหารชีวิตอีก๓เดือนต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม หลังแกนนำหลักถูกประหารชีวิตแล้ว เกสตาโปได้จับกุมกวาดล้างสมาชิกกลุ่มกุหลาบขาวคนอื่น ๆ รวมทั้งแนวร่วมที่มีส่วนเกี่ยวข้องพวกเขาต่างได้รับโทษจำคุกแตกต่างกันตามหลักฐานที่มี โดยอยู่ระหว่าง ๖ เดือนถึง ๑๐ ปี กลุ่มกุหลาบขาวจึงสลายตัวโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๓ เฮลมุทฟอนมอลเคอ (Helmuth von Molke) นักหนังสือพิมพ์สมาชิกกลุ่มไครเซา (Kreisau Circle)* ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลนาซีด้วยเช่นกันได้ลักลอบนำใบปลิวแผ่นที่ ๖ ของกลุ่มกุหลาบขาวไปยังอังกฤษและกองทัพอากาศอังกฤษได้พิมพ์ใบปลิวดังกล่าวมาโปรยเผยแพร่ในเยอรมนีในตอนสิ้นปี

 หลังจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ล่มสลายลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เรื่องราวของกลุ่มกุหลาบขาวเป็นที่รับรู้กันทั่วไปและกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการในเยอรมนี ทั้งได้รับการยกย่องทั่วประเทศ บริเวณจัตุรัส ๒ แห่ง หน้าอาคารเรียนหลักของมหาวิทยาลัยมิวนิกที่ฮันส์และโซฟี โชลล์โปรยใบปลิวก่อนถูกจับกุม ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “จัตุรัสสองพี่น้องโชลล์” และ “จัตุรัสศาสตราจารย์ฮูแบร์ท” ส่วนอาคารด้านในมีรูปดอกกุหลาบสีขาวทำจากหินพร้อมภาพถ่ายและชื่อของสมาชิกหลักวางไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ นอกจากนี้ ถนน จัตุรัส และโรงเรียนอีกหลายแห่งทั่วทั้งเยอรมนีก็มีการตั้งชื่อตามชื่อของสมาชิกกลุ่มกุหลาบขาว ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ภาควิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมิวนิกได้ตั้งชื่อสถาบันวิจัยของภาควิชาว่า “สถาบันสองพี่น้องโชลล์” ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ สมาคมร้านหนังสือเยอรมันได้จัดตั้ง “รางวัลสองพี่น้องโชลล์” ขึ้นสำหรับหนังสือที่มีเนื้อหาส่งเสริมเสรีภาพในสังคม และอีก ๗ ปีต่อมาญาติของสมาชิกกลุ่มกุหลาบขาวที่ถูกตัดสินประหารชีวิตได้จัดตั้งมูลนิธิกุหลาบขาวขึ้นเพื่อให้ชนรุ่นหลังรำลึกถึงวีรกรรมของกลุ่มกุหลาบขาวและเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติคนรุ่นปัจจุบันให้ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ มูลนิธิมีสำนักงานหลักอยู่ในมหาวิทยาลัยมิวนิกและมีหน้าที่ดูแลอนุสรณ์สถานของกลุ่มกุหลาบขาวที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ทั่วประเทศ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ มูลนิธิได้ก่อตั้งสถาบันกุหลาบขาวขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางค้นคว้าวิจัยเรื่องของกลุ่มกุหลาบขาว วีรกรรมของกลุ่มกุหลาบขาวยังถูกดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง เช่น เรื่อง The White Rose (ค.ศ. ๑๙๘๒) Sophie Scholl-The Final Day (ค.ศ. ๒๐๐๕) รวมทั้งมีบทเพลง เช่น เพลง The White Rose ของคอนสตันติน เวคเคอร์ (Konstantin Wecker) นักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี ตลอดจนการนำเรื่องราวของพวกเขาไปเป็นละครเวที เช่น เรื่อง My Dark Sky ด้วย.



คำตั้ง
White Rose
คำเทียบ
กลุ่มกุหลาบขาว
คำสำคัญ
- เยอรมนีสมัยนาซี
- ยุวชนฮิตเลอร์
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ฟือเรอร์
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคแรงงาน
- พรรคนาซี
- นาซี
- เกสตาโป
- กลุ่มไครเซา
- กลุ่มกุหลาบขาว
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สหภาพโซเวียต
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1942–1943
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-