Saint Germain, Treaty of (1919)

สนธิสัญญาแซงแชร์แมง (พ.ศ. ๒๔๖๒)

สนธิสัญญาแซงแชร์แมงเป็นสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศสัมพันธมิตรกับออสเตรียหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ยุติลงโดยยึดหลักกติกาสัญญาสันนิบาตชาติ (Covenant of the League of Nations) เช่นเดียวกับสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ที่ประเทศสัมพันธมิตรทำกับเยอรมนี ทั้งยังมีลักษณะเป็นการลงโทษประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน ออสเตรียสูญเสียสถานภาพความเป็นจักรวรรดิและดินแดนจำนวนกว้างใหญ่ไพศาลจนกลายเป็นประเทศขนาดเล็ก ทั้งถูกลิดรอนอำนาจและสิทธิการกำหนดการปกครองด้วยตนเองโดยเฉพาะความต้องการที่จะรวมตัวกับเยอรมนีเพราะประชากรที่เหลือหลังจากจักรวรรดิถูกแบ่งแยกพูดภาษาเยอรมันเหมือนกัน สนธิสัญญาแซงแชร์แมงได้ถูกอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซี (Nazi Party)* แห่งจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ละเมิดโดยส่งกองทัพเข้ารุกราน อันนำไปสู่การลงประชามติเพื่อรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๓๘ นับเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งสำคัญก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)*

 ความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy)* หรือความตกลงประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี ค.ศ. ๑๘๖๗ (Ausgleich; Austro-Hungarian Compromise of 1867)* ที่ดำเนินมาเกือบ ๔๐ ปีสิ้นสุดลง จักรพรรดิชาลส์ (Charles ค.ศ. ๑๘๖๖-๑๙๑๘)* พระประมุขของออสเตรีย-ฮังการีทรงสละพระราชอำนาจเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๙ นับว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ที่มีบทบาทในการปกครองออสเตรียเป็นเวลากว่า ๖๐๐ ปี ในวันเดียวกันออสเตรียก็ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ โดยมีชื่อเรียกว่าสาธารณรัฐออสเตรียเยอรมัน (Deutschösterreich - Republic of German Austria) และมีคาร์ล เรนเนอร์ (Karl Renner)* นักสังคมนิยมเป็นนายกรัฐมนตรี และจักรพรรดิชาลส์ก็ทรงจำต้องสละบทบาทประมุขของราชอาณาจักรฮังการีด้วย รัฐบาลออสเตรียพยายามเรียกร้องที่จะรวมตัวกับเยอรมนีซึ่งในขณะนั้นเปลี่ยนระบอบการปกครองและจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ สภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศมีมติให้ออสเตรียรวมเข้ากับ เยอรมนี แต่ฝรั่งเศสกับอิตาลีต่างคัดค้าน ทั้งยังนำไปสู่การทำสนธิสัญญาสันติภาพกับออสเตรียในเวลาต่อมา เพื่อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ออสเตรียในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามปฏิบัติตามที่ฝรั่งเศสและอิตาลีต้องการ รวมทั้งการป้องกันมิให้ออสเตรียรวมตัวเข้ากับเยอรมนีในอนาคตด้วย

 สนธิสัญญาแซงแชร์แมงมีชื่อเรียกตามชื่อปราสาทแซงแชร์แมงอองเล (Château de Saint Germain-en-Laye) ใกล้กรุงปารีส ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมและลงนามสนธิสัญญาเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ประเทศที่ร่วมลงนาม ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และออสเตรีย สนธิสัญญาแซงแชร์แมงประกอบด้วยมาตราต่าง ๆ ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ การยุบจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีอย่างเป็นทางการ ทำให้ฮังการีสามารถแยกตัวออกจากออสเตรียและได้รับอำนาจอธิปไตย ทั้งออสเตรียต้องยอมรับเอกราชของเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* โปแลนด์ และยูโกสลาเวีย [ (Yugoslavia) ต่อมาเรียกว่า ราชอาณาจักร แห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of the Serbs, Croats and Slovenes)] ซึ่งล้วนเป็น “ที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์” (Crown Lands) ของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก นอกจากนี้ ยังต้องสูญเสียดินแดนครึ่งหนึ่งทางใต้ของทิโรล [ (Tyrol) ปัจจุบัน คือ จังหวัดเตรนติโน (Trentino) และเซาท์ทิโรล (South Tyrol)] ตรีเอสเต (Trieste) อิสเตรีย (Istria) หมู่เกาะดัลเมเชีย (Dalmatian Islands) และฟรีอูลี (Friuli) แก่อิตาลีตามสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London ค.ศ. ๑๙๑๖) ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรเคยตกลงไว้กับอิตาลีในการชักชวนให้อิตาลีเข้าร่วมรบเป็นฝ่ายตน รวมทั้งต้องยกบูโกวีนา (Bukovina) ให้แก่โรมาเนียด้วย จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่กว้างใหญ่ไพศาลซึ่งมีพื้นที่กว่า ๓๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรต้องหดหายไปเหลือเพียง ๘๓,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร คือ เหลือแต่บริเวณที่ตั้งของอดีตจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* เป็นสำคัญเท่านั้น ส่วนจำนวนประชากรลดลงจาก ๓๐ ล้านคนเหลือประมาณ ๖ ล้านคน แต่ก็เป็นประชากรที่พูดภาษาเยอรมันทั้งหมด ทั้งยังกลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ขณะเดียวกัน ข้อตกลงในสนธิสัญญาแซงแชร์แมงก็ทำให้ออสเตรียเป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามเพียงประเทศเดียวที่ได้ดินแดนเพิ่มเติมจากการปรับเส้นเขตแดนใหม่โดยได้รับพื้นที่ขนาดเล็กทางตะวันออกของฮังการี

 ส่วนในด้านการทหาร สนธิสัญญาแซงแชร์แมงกำหนดให้กองทัพออสเตรียเหลือกองกำลังซึ่งเป็นทหารอาสาสมัครเพียง ๓๐,๐๐๐ คน เท่านั้น กองทัพเรือถูกยุบเพราะเส้นเขตแดนใหม่ไม่มีพรมแดนด้านใดติดทะเล และต้องยกเรือรบรวมทั้งเครื่องบินรบให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งยังถูกบังคับให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย แต่ไม่ได้มีการกำหนดจำนวนที่แน่นอน (ในทางปฏิบัติไม่มีการบังคับให้จ่าย เพราะในเวลาต่อมาคณะกรรมาธิการฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่าออสเตรียไม่อยู่ในฐานะที่จะจ่ายได้)

 มาตราที่สำคัญ ได้แก่ มาตรา ๘๘ ว่าด้วยการห้ามความตกลงประนีประนอมในการเป็นเอกราชของออสเตรีย (compromise of Austrian independence) หรืออีกนัยหนึ่งการห้ามการรวมตัวทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจกับเยอรมนี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐออสเตรียเยอรมันเป็นสาธารณรัฐออสเตรีย (Republic of Austria) ดังนั้น การลงมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญของออสเตรียก่อนหน้านี้ที่จะรวมตัวกับเยอรมนีจึงเป็นโมฆะ ซึ่งทำให้ทั้งชาวออสเตรียและเยอรมันจำนวนมากโกรธแค้นและเห็นว่าพวกตนถูกฝ่ายสัมพันธมิตรหลอกลวง เพราะพิมพ์เขียวของแผนการสันติภาพหรือหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้สิทธิการกำหนดการปกครองด้วยตนเองแก่พลเมืองชาติต่าง ๆ นอกจากนี้ กติกาสัญญา สันนิบาตชาติที่ยึดหลักความเสมอภาคของรัฐต่าง ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแซงแชร์แมง รวมทั้งสนธิสัญญาสันติภาพทุกฉบับที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทำกับประเทศผู้แพ้สงคราม อย่างไรก็ดี ออสเตรียก็ไม่อยูในภาวะที่จะขัดขืนได้และต้องยินยอมลงนามในสนธิสัญญาแซงแชร์แมงที่ละเมิดสิทธิต่าง ๆ ของออสเตรีย ทั้งยังเป็นการแบ่งแยก ดินแดนของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่ยิ่งใหญ่ออกเป็นรัฐอิสระเล็ก ๆ หลายรัฐ ประกอบกับในวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๐ ฮังการีก็ถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาตรียานง (Treaty of Trianon)* ในลักษณะเดียวกันกับฝ่ายสัมพันธมิตร ฮังการีต้องสูญเสียดินแดนที่ครอบครองร้อยละ ๗๒ แก่เชโกสโลวะเกีย โรมาเนีย และยูโกสลาเวียรวมทั้งประชากรอีกร้อยละ ๖๔ เพื่อแลกกับการมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ การแยกสลายอดีตจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีจึงได้จบสิ้นลงอย่างเบ็ดเสร็จ

 สนธิสัญญาแซงแชร์แมงได้ถูกอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีละเมิดอย่างรุนแรง โดยดำเนินนโยบายที่จะผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีหรือจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ที่เขาสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์ได้ส่งกองทหารนาซีเข้ายึดครองออสเตรียอาทูร์ ไซส์ซิงควาร์ท (Arthur Seyss-lnquart)* ซึ่งนิยมฮิตเลอร์และลัทธินาซีและเพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้จัดให้มีการลงประชามติเรื่องการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ขึ้นในวันที่ ๑๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ชาวออสเตรีย ร้อยละ ๙๙.๗๕ เห็นชอบกับการรวมเข้ากับเยอรมนี ออสเตรียจึงตกเป็นแคว้นหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ จนถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ มหาอำนาจยุโรปและนานาประเทศต่างเพิกเฉยต่อการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี โดยยึดถือนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและข้อขัดแย้งกับเยอรมนีซึ่งอาจนำไปสู่สงครามได้ มีแต่เม็กซิโกเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่คัดค้านการผนวกออสเตรียและเรียกร้องให้องค์การสันนิบาตชาติพิจารณาปัญหาดังกล่าวด้วยข้ออ้างว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแซงแชร์แมงและเป็นการคุกคามสันติภาพของยุโรป แต่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติใด ๆ ความสำเร็จในการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแซงแชร์แมงและการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีจึงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สร้างความฮึกเหิมให้แก่ฮิตเลอร์และนำยุโรปเข้าสู่มหาสงครามอีกครั้ง.



คำตั้ง
Saint Germain, Treaty of
คำเทียบ
สนธิสัญญาแซงแชร์แมง
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาสันนิบาตชาติ
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- ความตกลงประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี ค.ศ. ๑๘๖๗
- เชโกสโลวะเกีย
- ตรีเอสเต
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- บูโกวีนา
- พรรคนาซี
- มหาสงคราม
- ยูโกสลาเวีย
- ระบอบราชาธิปไตยคู่
- เรนเนอร์, คาร์ล
- โรมาเนีย
- ลัทธินาซี
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแซงแชร์แมง
- สนธิสัญญาตรียานง
- สนธิสัญญาลอนดอน
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- สันนิบาตชาติ
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อิสเตรีย
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1919
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ขัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-