Westminster, Statute of (1931)

พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์ (พ.ศ. ๒๔๗๔)

พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์ (ค.ศ. ๑๙๓๑) เป็นกฎหมายที่กำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอาณาจักร (dominion) ต่าง ๆ ในเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)* ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ข้อความที่บัญญัติเป็นไปตามมติของที่ประชุมแห่งดินแดนในจักรวรรดิอังกฤษ (British Imperial Conference) ค.ศ. ๑๙๒๖ และ ค.ศ. ๑๙๓๐ ซึ่งระบุว่าบรรดาอาณาจักรในจักรวรรดิอังกฤษที่ได้สิทธิปกครองตนเองอยู่นั้น ถือเป็นดินแดนที่มีอำนาจอธิปไตยมีสถานะเท่าเทียมกัน ไม่ขึ้นต่ออังกฤษหรือขึ้นต่อกันมีความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศแต่ยังคงอยู่ร่วมกันในฐานะสมาชิกของเครือจักรภพอังกฤษ (British Commonwealth of Nations) และปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อประมุขของอังกฤษ

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* บรรดาอาณานิคมอังกฤษที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบจากการสนับสนุนประเทศแม่สู้รบในสมรภูมิต่าง ๆ ในภาคพื้นยุโรป ต่างเกิดสำนึกความเป็นชาติและปรารถนาที่จะเป็นอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น ในการเคลื่อนไหวผลักดันประเด็นนี้วิลเลียม ไลออน แม็กเคนซี คิง (William Lyon Mackenzie King) นายกรัฐมนตรีแคนาดา และ เจ.บี.เอ็ม.เฮิร์ตซ็อก (J. B. M. Hertzog) นายกรัฐมนตรีสหภาพแอฟริกาใต้ (Union of South Africa) มีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะแคนาดานั้นแสดงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ รัฐบาลคิงปฏิเสธพันธะที่จะต้องเข้าช่วยกองกำลังอังกฤษในการยึดครองตุรกีหลังสงครามโลกหากรัฐสภาแคนาดาไม่เห็นชอบ นอกจากนี้แคนาดายังลงนามอย่างเอกเทศในสนธิสัญญาว่าด้วยการประมงกับสหรัฐอเมริกาโดยไม่มีอังกฤษเข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งวางแผนที่จะจัดตั้งสถานทูตแคนาดาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ อังกฤษจัดการประชุมผู้แทนอาณาจักรในจักรวรรดิอังกฤษครั้งที่ ๗ ที่กรุงลอนดอนระหว่างวันที่ ๑๙ ตุลาคม ถึงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ผลการประชุมที่สำคัญคือ คำประกาศบัลฟอร์ ค.ศ. ๑๙๒๖ (Balfour Declaration of 1926)* ซึ่งเรียกตามชื่อของอาร์เทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour)* อดีตนายกรัฐมนตรี บัลฟอร์ซึ่งเป็นประธานองคมนตรี (Lord President of the Council) ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมจักรวรรดิให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนในจักรวรรดิ (Inter-Imperial Relations Committee) คำประกาศนี้กำหนดหลักการที่ว่าอาณาจักรต่าง ๆ อันได้แก่แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพแอฟริกาใต้เสรีรัฐไอร์แลนด์ (Irish Free State) และนิวฟันด์แลนด์ (Newfoundland) เป็นประชาคมที่ปกครองตนเองในจักรวรรดิอังกฤษ มีสถานะเท่าเทียมกัน สามารถดำเนินกิจการภายในหรือภายนอกโดยไม่ขึ้นต่อกันแต่มาผนึกกันเพราะมีความจงรักภักดีต่อประมุขอังกฤษร่วมกัน และเป็นอิสระในการเข้าเป็นสมาชิกเครือจักรภพอังกฤษ การระบุเช่นนี้ได้นำไปสู่การเริ่มใช้คำว่า “เครือจักรภพ” (Commonwealth) สำหรับเรียกประชาคมนี้อย่างเป็นทางการ

 คำประกาศบัลฟอร์รับรองความเป็นอิสระในการดำเนินการทางการทูตและการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของเหล่าอาณาจักร และเสนอว่าข้าหลวงใหญ่ (governor-general) ซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ของกษัตริย์อังกฤษไม่พึงทำหน้าที่ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษในด้านความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศด้วยอีกต่อไป ในปีต่อ ๆ มาหลังจากนั้นจึงเริ่มมีการแต่งตั้งผู้ว่าการ (High Commissioner) ซึ่งทำหน้าที่ทางการทูตแทนข้าหลวงใหญ่ คนแรกคือผู้ว่าการอังกฤษประจำกรุงออตตาวา (Ottawa) ใน ค.ศ. ๑๙๒๘

 คำประกาศบัลฟอร์จากที่ประชุมจักรวรรดิ ค.ศ. ๑๙๒๖ ซึ่งได้มีการกล่าวย้ำอีกในที่ประชุมจักรวรรดิ ค.ศ. ๑๙๓๐ ได้นำไปสู่การออกพระราชบัญญัติหรือกฎหมายเวสต์มินสเตอร์ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ซึ่งมีข้อความดังเช่น ข้อ ๑ อาณาจักร หมายถึง แคนาดา เครือรัฐออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพแอฟริกาใต้ เสรีรัฐไอร์แลนด์ และนิวฟันด์แลนด์ ข้อ ๔ กฎหมายใด ๆ ของสหราชอาณาจักรที่ออกหลังกฎหมายเวสต์มินสเตอร์ใช้บังคับจะไม่สามารถขยายไปครอบคลุมอาณาจักรหรือถือเป็นกฎหมายของอาณาจักรเว้นแต่ว่ามีการบัญญัติชัดเจนในกฎหมายว่าเป็นไปตามประสงค์และการยินยอมของอาณาจักรนั้น ๆ

 พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ รับรองว่าอาณาจักรต่าง ๆ สามารถแต่งตั้งคณะหรือผู้แทนทางการทูตของตนเอง และสามารถมีผู้แทนของแต่ละดินแดนในสันนิบาตชาติ (League of Nations)* (ยกเว้นนิวฟันด์แลนด์) อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายเวสต์มินสเตอร์จะระบุความเป็นดินแดนอธิปไตยของอาณาจักรในเครือจักรภพแต่ผูกมัดว่าแต่ละแห่งยังคงต้องให้ความเห็นชอบหากจะมีการเปลี่ยนคำนำหน้าพระนามของกษัตริย์อังกฤษที่ดำรงสถานะเป็นประมุขร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงลำดับการสืบราชสมบัติ เช่น การเสนอให้ยกเลิกการให้รัชทายาทชายมีสิทธิก่อนในการสืบราชบัลลังก์ (male-preference primogeniture) ก่อนกฎหมายนี้ผ่านสภา พระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐–๑๙๓๖)* แสดงพระราชประสงค์ว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ไม่พึงอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายที่จะผ่านสภานี้ แต่ที่ประชุมจักรวรรดิในเวลาต่อมาเห็นว่าพระราชประสงค์นี้เป็นการขัดต่อหลักการที่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันระหว่างอังกฤษกับดินแดนอื่นซึ่งเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของคำประกาศบัลฟอร์

 หลังการออกกฎหมายเวสต์มินสเตอร์ ค.ศ. ๑๙๓๑ เกิดวิกฤตการณ์สืบราชสมบัติ (Abdication Crisis)* ขึ้นในอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๓๖ สแตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้หารือกับนายกรัฐมนตรีของอาณาจักร ๕ แห่งในเครือจักรภพ ทั้งหมดได้ปฏิเสธข้อเสนอของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (Edward VIII ค.ศ. ๑๙๓๖)* ที่ทรงยืนยันจะอภิเษกสมรสกับนางวอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson)* ซึ่งหย่าร้างมา ๒ ครั้ง ในรูปแบบชายหญิงที่มีสถานะทางสังคมต่างกัน (morganatic marriage) ซึ่งเธอจะไม่ได้เป็นพระราชินี และในที่สุดอาณาจักรต่าง ๆ ได้ให้รัฐสภาของตนเห็นชอบพระราชบัญญัติประกาศสละราชสมบัติของกษัตริย์ ค.ศ. ๑๙๓๖ (His Majesty’s Declaration of Abdication Act 1936) นอกจากนี้รัฐสภาแอฟริกาใต้ยังออกกฎหมายการสละราชสมบัติของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (His Majesty King Edward the Eighth’s Abdication Act, 1937) เองด้วยในปีต่อมา เพื่อแสดงให้เห็นเชิงสัญลักษณ์ว่าแอฟริกาใต้เป็นเอกราชจากอังกฤษอย่างแท้จริง ขณะที่แคนาดาก็ได้ออกพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ ค.ศ. ๑๙๓๗ (Succession to the Throne Act 1937) เพื่อแสดงการเห็นชอบพระราชบัญญัติประกาศสละราชสมบัติของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่๘ค.ศ. ๑๙๓๖ สำหรับเสรีรัฐไอร์แลนด์นั้น นายกรัฐมนตรีเอมัน เดฟ เลอรา (Éamon de Valera)* เห็นโอกาสที่พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ ทรงสละราชสมบัติในการนำเสรีรัฐไอร์แลนด์พ้นจากอังกฤษด้วยการออกกฎหมายแก้ไขการปกครอง [Constitution (Amendment No. 27) Act 1936] เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ และในปีต่อมาก็จัดให้ชาวไอริชออกเสียงเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ระบุการเรียกเสรีรัฐไอร์แลนด์ เหลือเพียงไอร์แลนด์หรือแอรา (Eire) ในภาษาไอริช อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญไอร์แลนด์ปล่อยให้ประเด็นใครคือประมุขของประเทศคลุมเครือจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๔๙ ที่ไอร์แลนด์กลายเป็นสาธารณรัฐนอกเครือจักรภพโดยการออกพระราชบัญญัติสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๙๔๘ (Republic of Ireland Act 1948)

 อย่างไรก็ดี กฎหมายเวสต์มินสเตอร์ยังไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นทางกฎหมายหรือทางการปกครองสำคัญ ๆ บางอย่าง เช่น บทบาทขององค์ประมุขแห่งเครือจักรภพ และความเป็นไปได้หรือไม่หากยามสงครามอาณาจักรที่ปกครองตนเองเหล่านี้จะประกาศความเป็นกลาง แต่การหารือกันสม่ำเสมอระหว่างหน่วยต่าง ๆ ก็ทำให้การกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างอาณาจักรกับอังกฤษดำเนินไปอย่างได้ผลดี เพราะสาระที่สำคัญมากของกฎหมายนี้อยู่ที่การที่รัฐสภาอังกฤษจะไม่สามารถออกกฎหมายไปใช้บังคับกับอาณาจักรในเครือจักรภพซึ่งคืออดีตอาณานิคมที่ปกครองตนเองในจักรวรรดิอีกต่อไป จึงทำให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติความสมบูรณ์ตามกฎหมายอาณานิคม ค.ศ. ๑๘๖๕ (Colonial Laws Validity Act 1865) ด้วย

 กฎหมายเวสต์มินสเตอร์มีผลบังคับใช้ต่อแคนาดา เสรีรัฐไอร์แลนด์ และสหภาพแอฟริกาใต้โดยไม่ต้องมีการให้สัตยาบัน เพียงแต่รัฐบาลของดินแดนเหล่านั้นเห็นชอบการใช้กฎหมายในเขตอาณาของตนเท่านั้นแต่ในข้อ ๑๐ ของกฎหมายระบุว่าความในข้อ ๒ ถึงข้อ ๖ จะมีผลในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และนิวฟันด์แลนด์ก็ต่อเมื่อรัฐสภาของดินแดน ๓ แห่งนี้ออกกฎหมายรับรอง ดังนั้นรัฐสภาออสเตรเลียจึงออกพระราชบัญญัติบังคับใช้กฎหมายเวสต์มินสเตอร์ค.ศ. ๑๙๔๒ (Statute of Westminster Adoption Act 1942) แต่ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* รัฐสภานิวซีแลนด์ออกพระราชบัญญัติบังคับใช้กฎหมายเวสต์มินสเตอร์ ค.ศ. ๑๙๔๗ (Statute of Westminster Adoption Act 1947) แต่นิวฟันด์แลนด์นั้นไม่เคยรับรองกฎหมายเวสต์มินสเตอร์เพราะมีปัญหาการคลังภายในและการคอร์รัปชัน จนอังกฤษต้องกลับมาปกครองดินแดนนี้โดยตรงอีกครั้งตามที่นิวฟันด์แลนด์ร้องขอจนกระทั่งนิวฟันด์แลนด์เปลี่ยนสถานะเป็นจังหวัดหนึ่งของแคนาดาใน ค.ศ. ๑๙๔๙ [มีการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๒๐๐๑ เป็น นิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ (Newfoundland and Labrador)]

 พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์ ค.ศ. ๑๙๓๑ ซึ่งนำไปสู่การใช้คำว่า “เครือจักรภพอังกฤษ” แทนคำว่า “จักรวรรดิอังกฤษ” (และเหลือเพียง “เครือจักรภพ” ในปัจจุบันเนื่องมาจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือจักรภพของอินเดียซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขในเวลาต่อมา) เป็นการให้สถานะอิสระทางการทูต ทางกฎหมาย และทางการเมืองแก่ดินแดนอาณาจักรในจักรวรรดิอังกฤษ แต่นิวซีแลนด์และนิวฟันด์แลนด์เป็น ๒ เขตที่ไม่กระตือรือร้นต่อประเด็นดังกล่าวเหมือนที่อื่น ๆ นัก นิวซีแลนด์นั้นยังกังวลว่าจะไม่สามารถรับมือกับกิจการทหารและต่างประเทศเอง จึงชะลอเวลาการใช้บังคับกฎหมายนี้จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๔๗ จึงเป็นอาณาจักรสุดท้ายที่ให้กฎหมายนี้มีผลบังคับส่วนนิวฟันด์แลนด์นั้นไม่มีโอกาสนำกฎหมายนี้ไปใช้เลยเพราะปัญหาภายในที่รุมเร้าอยู่ จนต้องจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับอนาคตของตนเองใน ค.ศ. ๑๙๔๖ และ ค.ศ. ๑๙๔๘ ผลคือนิวฟันด์แลนด์ไปผนวกรวมกับแคนาดาในต้น ค.ศ. ๑๙๔๙.



คำตั้ง
Westminster, Statute of
คำเทียบ
พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์
คำสำคัญ
- คำประกาศบัลฟอร์ ค.ศ. ๑๙๒๖
- เครือจักรภพ
- ซิมป์สัน, วอลลิส
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- บัลฟอร์, อาร์เทอร์ เจมส์
- พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์
- เลอรา, เอมัน เดฟ
- วิกฤตการณ์สืบราชสมบัติ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สันนิบาตชาติ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1931
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๗๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-