Morrison, Herbert Stanley (1888-1965)

เฮอร์เบิร์ต สแตนลีย์ มอร์ริสัน (๒๔๓๑-๒๕๐๘)

​​​​

     เฮอร์เบิร์ต สแตนลีย์ มอร์ริสันเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคแรงงาน (Labour Party)* ของอังกฤษที่มีบทบาทโดดเด่นจนได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมหลายชุดเช่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาร่วมก่อตั้งพรรคแรงงานแห่งกรุงลอนดอนและเป็นรองหัวหน้าพรรคแรงงานระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๑-๑๙๕๕ เมื่อยุติบทบาททางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๕๙ ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นบารอนแห่งแลมเบท
     มอร์ริสันเกิดเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๘๘ ที่แลมเบท (Lambeth) กรุงลอนดอน บิดาเป็นนายตำรวจ เขามีปัญหาสายตาข้างขวาเนื่องจากติดเชื้ออักเสบตั้งแต่เด็ก มอร์ริสันเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำท้องถิ่นแต่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา เขาออกจากโรงเรียนเมื่ออายุพียง ๑๔ ปีและทำงานหาเลี้ยงชีพหลากหลายประเภท เช่น เป็นเด็กส่งหนังสือ พนักงานรับโทรศัพท์ ผู้ช่วยในร้านขายของ และผู้จัดการฝ่ายจัดส่งหนังสือพิมพ์ Daily Citizen ของพรรคแรงงาน เป็นต้น ในหนังสืออัตชีวประวัติซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ เขาเล่าว่าทำงานในเวลากลางวันและกลางคืนก็ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะเขาศึกษาแนวความคิดของนักคิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจแนวความคิดสังคมนิยม
     มอร์ริสันสนใจการเมืองมาก เขาสมัครเป็นสมาชิกพรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party-ILP) ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เขามีทัศนะทางการเมืองที่ รุนแรงและในช่วงแรก ๆ เห็นว่าพรรคแรงงานไม่ได้เป็นพรรคการเมืองตามอุดมคติของเขา จึงหันไปสนใจพรรคสหพันธ์สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Federation) แทน แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ และในที่สุดก็กลับมาร่วมกับพรรคแรงงานตามเดิม เขาเป็นนักการเมืองรุ่นบุกเบิกที่มีบทบาทโดดเด่นมาโดยตลอดเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ มอร์ริสันและสมาชิกพรรคแรงงานหลายคนไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงครามและรณรงค์ต่อต้านการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลด้วย เขากล่าวหาว่ารัฐบาลเสรีนิยมใช้อิทธิพลทุกทางเพื่อโน้มน้าวจูงใจให้ชาวอังกฤษส่วนใหญ่เห็นชอบกับการเข้าร่วมสงคราม
     ในการเลือกตั้งหลังสงคราม ค.ศ. ๑๙๑๙ มอร์ริสันได้รับเลือกเป็นสมาชิกเทศบาลของเขตแฮกนีย (Hackney) ซึ่งเป็นเขตที่พรรคแรงงานมีอิทธิพลอยู่ และในปีต่อมา ก็ได้เป็นนายกเทศมนตรีของเขตจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๑ ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสภาเทศบาลกรุงลอนดอน (London County Council-LCC) และใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เป็นสมาชิกสภาสามัญของเขตเลือกตั้งแฮกนีย์ใต้ (South Hackney) แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ มอร์ริสันและผู้สมัครจากพรรคแรงงานจำนวนมากพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจาก จดหมายของกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigory Zinoviev)* ประธานองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ของสหภาพโซเวียตที่มาถึงพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษยุยงให้ ก่อวินาศกรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติ เวอร์นอน เคลล์ (Vernon Kell) หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับอังกฤษ หรือเอ็มไอ ๕ (MI 5) และเซอร์บาซิล ทอมสัน (Basil Thomson) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการพิเศษเชื่อว่าจดหมายดังกล่าวเป็นของจริงและเสนอให้แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (Ramsay MacDonald)* นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากพรรคแรงงานในขณะนั้นพิจารณา พวกเขาเห็นตรงกันว่าควรเก็บจดหมายฉบับนี้เป็นความลับ มอร์ริสันยืนยันว่าแมกดอนัลด์ ไม่ได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีและผู้นำของพรรคแรงงานคนอื่น ๆ ทราบแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตาม ข่าวเรื่องจดหมายได้รั่วไหลไปถึงหนังสือพิมพ์ Times และ Daily Mail หนังสือพิมพ์ทั้ง ๒ ฉบับได้ตีพิมพ์จดหมายของซีโนเวียฟในวันเสาร์เพียง ๔ วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันพุธถัดมา พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคที่ให้การรับรองรัฐบาลโซเวียตของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* จึงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมคิดวางแผนปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนอังกฤษให้เป็นคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ พรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* มีชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นถึง ๔๑๙ ที่นั่ง ในขณะที่ พรรคแรงงานได้ที่นั่งเพียง ๑๕๑ ที่นั่งลดลงจากเดิมที่เคยมี ๑๙๑ ที่นั่ง
     ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๒๙ มอร์ริสันได้เป็นสมาชิกสภาสามัญอีกครั้งหนึ่งและเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่พรรคแรงงานได้ครองเสียงมากที่สุดในสภาสามัญคือ ๒๘๗ เสียง พรรคแรงงานจึงได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีแมกดอนัลด์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งมอร์ริสันได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมผลงานสำคัญของมอร์ริสันคือ การออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการจราจรบนท้องถนน (Road Traffic Act) และ การจัดตั้งคณะกรรมการขนส่งผู้โดยสารแห่งกรุงลอนดอน (London Passenger Transport Board) ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมารัฐจัดระบบบริการรถเมล์สาธารณะและบริการรถไฟใต้ดิน มอร์ริสันได้อธิบายความคิดเกี่ยวกับที่มาของเรื่องเหล่านี้ไว้ในหนังสือของเขาชื่อ Socialization and Transport ( ค.ศ. ๑๙๓๓) ทั้งยังให้ความเห็นว่าเมื่ออังกฤษเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ทั่วโลก ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ แมกดอนัลด์ต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ซึ่งมีสมาชิกจากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* เสรีนิยมและพรรคแรงงานบางคนเข้าร่วมโดยพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)* ทรงให้การสนับสนุน มอร์ริสันซึ่งไม่ยอมรับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติของแมกดอนัลด์และกล่าวหาว่าแมกดอนัลด์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากพรรคแรงงานให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เขายังกล่าวโจมตีพระเจ้าจอร์จที่ ๕ ว่าทรงแทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยให้แมกดอนัลด์เป็นหัวหน้ารัฐบาลเพื่อให้สมาชิกพรรค แรงงานแตกแยกกัน ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงสามารถขอให้ แสตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเสรีนิยมสนับสนุนก็ได้ พรรคแรงงานจึงมีมติให้ขับแมกดอนัลด์และกลุ่มสนับสนุนเขาออกจากพรรค ดังนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๓๑ พรรคแรงงานจึงพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงและพรรคอนุรักษนิยมมีชัยชนะอย่างถล่มทลาย
     แม้ว่ามอร์ริสันจะไม่ได้เข้าไปนั่งในสภาสามัญแต่เขาก็ยังคงเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นกรุงลอนดอนอยู่และใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าของสมาชิกพรรคแรงงานในสภานี้ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เมื่อพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นกรุงลอนดอนอย่างไม่คาดคิด มอร์ริสันได้เป็นประธานสภาท้องถิ่นซึ่งเปิดโอกาสให้เขามีอำนาจในการบริหารงานทุกด้านของกรุงลอนดอนซึ่งรวมถึงเรื่องที่อยู่อาศัย สุขอนามัย การศึกษา และการคมนาคมขนส่ง ผลงานสำคัญของเขาคือการรวมระบบการขนส่งของกรุงลอนดอนให้เป็นระบบเดียวกัน และการสร้าง "ถนนวงแหวนสีเขียว" (Green Belt) รอบเขตชานเมืองกรุงลอนดอน นอกจากนี้ เขายังสามารถกดดันให้รัฐบาลกลางจ่ายเงินชดเชยค่าสร้างสะพานใหม่ที่สร้างแทนสะพานวอเตอร์ลูที่รื้อทิ้งไปได้สำเร็จ เป็นจำนวนเงินร้อยละ ๖๐ ของค่าก่อสร้างทั้งหมด
     ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๓๕ มอร์ริสันได้เป็นสมาชิกสภาสามัญอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็สมัครชิงชัยเป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน แต่ต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยินแก่เคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* สาเหตุการพ่ายแพ้เข้าใจกันว่ามาจากการที่เขาไม่คุ้นเคยกับสมาชิกสภาสามัญของพรรคแรงงานที่ทำหน้าที่ในรัฐสภาชุดที่ผ่านมา มอร์ริสันยังไม่เห็นด้วย กับนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่ ไม่เข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War)* เขาเขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวว่าโอกาสที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามครั้งนี้แทบจะไม่มีเลย ดังนั้น อังกฤษควรจะยืนหยัดต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์ที่ต้องการเข้าครอบครองสเปน นักสังคมนิยมมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องช่วยเหลือรัฐบาลสังคมนิยมแห่งชาติของสเปนซึ่งได้รับเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพราะเป็นเรื่องของหลักการไม่ใช่เรื่องของสันติภาพ แต่ความคิดเห็นของมอร์ริสันก็เป็นเพียงเสียงข้างน้อยในพรรคแรงงาน
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ดำรงตำแหน่งสืบต่อจากเนวิลล์ แชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain)* ได้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นเพื่อบริหารประเทศ มอร์ริสันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธ (Minister of Supply) และต่อมา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแทนจอห์นแอนเดอร์สัน (John Anderson) ประสบการณ์ที่มอร์ริสันเคยบริหารงานระดับท้องถิ่นมาก่อนมีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานในตำแหน่งนี้โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ เยอรมนีโหมโจมตีทางอากาศและระดมทิ้งระเบิดเมืองต่าง ๆ ของอังกฤษอย่างหนักและต่อเนื่องในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* การถล่มกรุงลอนดอนอย่างต่อเนื่องหนักหน่วงถึง ๕๗ วันส่งผลให้พลเรือนจำนวนมากเสียชีวิตและอาคารสถานที่พังพินาศ มอร์ริสันได้จัดตั้งระบบเตือนภัยทางอากาศ (Air Raid Precautions) และจัดตั้งหน่วยดับเพลิงแห่งชาติ (National Fire Service) ขึ้นซึ่งชื่อของเขาได้ใช้เป็นชื่อของสถานที่หลบภัยทางอากาศด้วย อย่างไรก็ตาม การทำงานในช่วงสงครามก็ทำให้มอร์ริสันต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
     ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ หนังสือพิมพ์ Daily Mirror ได้ตีพิมพ์การ์ตูนซึ่งวาดโดยฟิลิป เซก (Philip Zec) เป็นภาพของทหารตอร์ปิโดที่ใบหน้าเลอะด้วยน้ำมันนอนเสียชีวิตอยู่บนแพ และมีข้อความว่า "อย่าใช้น้ำมันเปลืองเพราะทหารต้องเอาชีวิตเข้าแลก" เพื่อเสียดสีการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาล เชอร์ชิลล์และมอร์ริสันเชื่อว่า ศิลปินต้องการสื่อว่ารัฐบาลส่งทหารไปรบเพื่อเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัทน้ำมัน มอร์ริสันสั่งให้หน่วยสืบราชการลับสอบค้นภูมิหลังของเซก แม้ผลปรากฏว่าเซกเพียง ต้องการสะท้อนความคิดนิยมซ้ายเท่านั้นและไม่มุ่งหวังจะบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐบาล แต่มอร์ริสันยังไม่ยอมยุติ เขาสั่งให้เอช. จี. บาร์โทโลมิว (H. G. Bartholomew) บรรณาธิการบริหารและซีซิล ทอมัส (Cecil Thomas) บรรณาธิการของ Daily Mirror เข้าพบและตำหนิทั้งคู่อย่างรุนแรง เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณาสั่งปิดหนังสือพิมพ์ด้วยสาเหตุดังกล่าว อะไนริน เบวัน (Aneurin Bevan) สมาชิกสภาสามัญซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลได้กดดันให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ในสภาเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ มอร์ริสันพยายามโต้แย้งว่า Daily Mirror อาจเป็นเครื่องมือของพวกนิยมฟาสซิสต์เพื่อบ่อนทำลายรัฐบาล แต่สมาชิกหลายคนก็ยืนยันว่าหนังสือพิมพ์ ฉบับนี้ต่อต้านระบบฟาสซิสต์ในยุโรปมาตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๓๐ แล้ว ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ มอร์ริสันได้สั่งให้ปล่อยตัวเซอร์ออสวาลด์ มอสลีย์ (Oswald Mosley)* ผู้นำกลุ่มสหภาพฟาสซิสต์แห่งอังกฤษซึ่งถูกขังคุกจากการบังคับใช้ระเบียบป้องกันประเทศ ๑๘ บี (Defence Regulation 18B) ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านเขาและรัฐบาลอย่างกว้างขวางแต่มอร์ริสันยืนยันว่ารัฐบาลต้องปล่อยตัวมอสลีย์เพราะเขาป่วยเป็นโรคหลอดเลือดดำอักเสบ (Phlebitis) และแพทย์ให้ความเห็นว่าอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนเสียชีวิตได้ ตำรวจก็เห็นว่าหากเกิดการเสียชีวิต รัฐบาลก็จะถูกโจมตีได้เพราะจะมีการโยงไปถึงการจับกุมที่ไม่มีการไต่สวนใน ค.ศ. ๑๙๔๐
     ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๔๕ มอร์ริสันเป็นผู้ร่างนโยบายของพรรคแรงงานในชื่อ "Let Us Face the Future" และร่างพิมพ์เขียวสำหรับโครงการแปรรูปสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นของรัฐ เขายังเป็นผู้จัดการการรณรงค์หาเสียงของพรรคด้วย ผลปรากฏว่าพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างขาดลอยโดยได้ทั้งหมด ๓๙๓ ที่นั่ง ในขณะที่พรรคอนุรักษนิยมได้ ๑๘๙ ที่นั่ง พรรคเสรีนิยมได้ ๑๒ ที่นั่ง และพรรคเล็กอื่น ๆ รวมถึงผู้สมัครอิสระได้ ๔๖ ที่นั่ง มอร์ริสันได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาสามัญ ต่อมา เมื่อเออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin)* ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพราะปัญหาสุขภาพ มอร์ริสันก็ได้ดำรงตำแหน่งแทน อย่างไรก็ตาม เขามีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศน้อย จึงค่อนข้างมีปัญหาในการทำงานซึ่งส่งผลต่อชื่อเสียงของเขาด้วย อังกฤษในขณะนั้นกำลังเผชิญปัญหาที่รัฐบาลโมฮัมเหม็ดโมซอดดิก (Mohammed Mosaddeq) ของอิหร่านโอนกิจการของบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่าน (Anglo-Iranian Oil Company - AIOC) ซึ่งรัฐบาลอังกฤษถือหุ้นใหญ่มาเป็นของรัฐบาลอิหร่านซึ่งทำให้อังกฤษสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล รัฐบาลพรรคแรงงานไม่พอใจการกระทำของรัฐบาลอิหร่านมาก มอร์ริสันสนับสนุนให้รัฐบาลส่งกองทัพไปยึดกิจการคืนและโค่นล้มอำนาจของโมซอดดิก เขาเห็นว่าหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติการใด ๆ เพื่อลงโทษอิหร่านอย่างเด็ดขาดก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อประเทศอื่นและเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์อื่น ๆ ของอังกฤษในตะวันออกกลางด้วย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของอังกฤษต่ออิหร่าน อังกฤษจึงต้องยกเลิกแผนปฏิบัติการทางทหารไป
     ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๕๑ พรรคแรงงานพ่ายแพ้แก่พรรคอนุรักษนิยม และเกิดความแตกแยกในพรรคแรงงานอีกครั้งเกี่ยวกับแนวนโยบายและอุดมการณ์ ของพรรค เมื่อแอตต์ลีแสดงท่าทีว่าจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค มีการคาดหมายกันว่ามอร์ริสันจะขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่แอตต์ลีเปลี่ยนใจในท้ายที่สุดต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ แอตต์ลีก็ลาออกเนื่องจากพรรคแรงงานพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในปีนั้น สมาชิกจำนวนไม่น้อยเห็นว่ามอร์ริสันซึ่งอายุ ๖๗ ปีไม่เหมาะที่ จะเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้ฮิว เกตสเกลล์ (Hugh Gaitskell) ซึ่งมีอายุน้อยกว่ามากมีชัยชนะในการชิงชัยหัวหน้าพรรค มอร์ริสันจึงลาออกจากการเป็นรองหัวหน้าพรรคแรงงาน
     หลังการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๕๙ มอร์ริสันได้ประกาศยุติบทบาทการเป็นนักการเมือง หลังจากนั้นเขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์บารอนมอร์ริสันแห่งแลมเบท (Baron Morrison of Lambeth) ต่อมา ได้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์แห่งอังกฤษ (British Board of Film Censors) เฮอร์เบิร์ต มอร์ริสันถึงแก่อนิจกรรมใน ค.ศ. ๑๙๖๕ รวมอายุได้ ๗๗ ปี.



คำตั้ง
Morrison, Herbert Stanley
คำเทียบ
เฮอร์เบิร์ต สแตนลีย์ มอร์ริสัน
คำสำคัญ
- โมฮัมเม็ด โมซอดดิก
- มอร์ริสันแห่งแลมเบท, บารอน
- เกตสเกลล์, ฮิว
- มอสลีย์, เซอร์ออสวาลด์
- เบวิน, เออร์เนสต์
- เบวัน, อะไนริน
- เซก, ฟิลิป
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- แอตต์ลี, เคลเมนต์
- สงครามกลางเมืองสเปน
- ซีซิล ทอมัส
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการจราจรบนท้องถนน
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- จอร์จที่ ๕, พระเจ้า
- เชมเบอร์เลน, เนวิลล์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- แฮกนีย์, เขต
- องค์การโคมินเทิร์น
- เลนิน, วลาดีมีร์
- แมกดอนัลด์, แรมเซย์
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคแรงงาน
- ทอมสัน, เซอร์บาซิล
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- เคลล์, เวอร์นอน
- มอร์ริสัน, เฮอร์เบิร์ต สแตนลีย์
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ระเบียบป้องกันประเทศ ๑๘ บี
- เอช. จี. บาร์โทโลมิว
- แอนเดอร์สัน, จอห์น
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1888-1965
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๑-๒๕๐๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf