จอห์น เวสลีย์เป็นนักบวชและนักเทววิทยาชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นผู้เชื่อในการพ้นทุกข์ด้วยศรัทธาหรือเป็นพวกอีแวนเจลิสต์ (evangelist) เขาได้รับยกย่องว่าเป็นผู้จัดตั้งขบวนการเมทอดิสต์ (Methodist Movement) ร่วมกับชาลส์ เวสลีย์ (Charles Wesley) น้องชายและจอร์จ ไวต์ฟีลด์ (George Whitefield) ซึ่งต่อมาได้ก่อรูปเป็นนิกายเมทอดิสต์ (Methodism) ที่เป็นนิกายสายโปรเตสเเตนต์ที่สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และได้รับการยอมรับและเผยแผ่ไปทั่ว โดยเน้นในเรื่องความรักและความศรัทธาในพระคริสต์ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากบ่วงบาป ปัจจุบันนับว่าเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ที่มีผู้นับถือจำนวนมากทั่วโลก
เวสลีย์เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๐๓ ณ เมืองเอปเวิร์ท (Epworth) ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในมณฑลลินคอล์นเชียร์ (Lincolnshire) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ เป็นบุตรคนที่ ๑๕ ในบรรดาทั้งหมด ๑๘–๑๙ คน แต่เติบใหญ่เพียง ๑๐ คนของแซมวล เวสลีย์ (Samuel Wesley) และซูซานนา แอนส์ลีย์ (Susanna Annesley) บิดาของแซมวลคือจอห์น เวสลีย์ (John Wesley) เป็นพวกพิวริตัน (Puritan) ที่ให้การสนับสนุนรัฐสภาและถูกขับออกจากดอร์เซต (Dorset) เมื่อมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ (Restoration) ค.ศ. ๑๖๖๐ และการสืบราชบัลลังก์ของพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ (Charles II ค.ศ. ๑๖๖๐–๑๖๘๘) ปู่เลี้ยงดูบิดาของเขาในแบบฉบับของผู้ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามแนวทางของนิกายแองกลิคันหรือพวกนอนคอนฟอร์มิสต์ (Nonconformist) แต่เมื่อแซมวลได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เขากลับมีแนวคิดที่แคลงใจในคำสอนและศรัทธาของพวกโปรเตสแตนต์นอกกระแสหลัก (dissenter) ที่ปฏิเสธแนวทางของนิกายแองกลิคัน ต่อมาหลังจบการศึกษาแซมวลได้ทำงานเป็นนักบวชผู้ช่วยในนิกายแองกลิคันในกรุงลอนดอน เขาได้พบรักและสมรสกับซูซานนา บุตรสาวคนหนึ่งในบรรดาลูก ๒๕ คนของสาวกคนสำคัญของพวกพิวริตัน (Puritan divina) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “เซนต์ปอลของพวกนอนคอนฟอร์มิสต์” (St. Paul of Nonconformists) แต่ซูซานนากลับมีแนวคิดเช่นเดียวกับแซมวลคือหันหลังให้พวกพิวริตันและมีศรัทธาในนิกายแองกลิคัน
ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๙๕–๑๗๓๕ แซมวลได้รับหน้าที่เป็นอธิการของโบสถ์ในเมืองเอปเวิร์ทซึ่งล้อมรอบด้วยแม่น้ำลำธารต่าง ๆ และเป็นดินแดนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ประชากรส่วนใหญ่เป็นพวกโปรเตสแตนต์นอกกระแสหลัก หลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution ค.ศ. ๑๖๘๘) แซมวลและซูซานนาก็เริ่มมีแนวคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน โดยแซมวลให้การสนับสนุนเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ (William of Orange) ให้ครองบัลลังก์อังกฤษ ส่วนซูซานนาเป็นพวกจาโคไบต์ (Jacobite) ที่สนับสนุนการครองบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ (James II ค.ศ. ๑๖๘๕–๑๖๘๘) และรัชทายาท
ต่อมา ซูซานนาปฏิเสธที่จะกล่าวคำอาเมน (amen) เพื่อแสดงอนุโมทนาจิตกับการสวดมนต์ของแซมวลเพื่อถวายพระพรแด่พระเจ้าวิลเลียมซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ (William II) แห่งอังกฤษ การปฏิเสธดังกล่าวทำให้แซมวลโกรธภรรยามากและถึงขั้นคุกเข่าสาบานจะไม่ถูกตัวเธอหรือร่วมหลับนอนด้วยกันอีก ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๐๒ บ้านพักอธิการโบสถ์ถูกไฟไหม้ซึ่งทำให้ทั้งสองกลับมาคืนดีกัน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๐๓ ซูซานนาก็ให้กำเนิดจอห์น เวสลีย์ บุตรคนที่ ๑๕ และเป็นบุตรชายคนที่ ๒ ที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น ซึ่งทั้งพ่อแม่เห็นว่าจอห์นเป็นพรจากพระเป็นเจ้า
จอห์น เวสลีย์ ซึ่งเรียกกันในครอบครัวว่า “แจ็กกี” (Jackie) ได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตเป็นโปรเตสแตนต์ในสายนิกายแองกลิคันที่เคร่งครัด โดยมารดาทำหน้าที่เป็นครูสอนลูก ๆ ของเธอทุกคนที่บ้านเพื่อปลูกฝังศรัทธาในพระเป็นเจ้า จอห์นและพี่ ๆ น้อง ๆ ต้องเรียนหนังสือกับแม่วันละ ๖ ชั่วโมง และใช้เวลาสวดมนต์ต่อพระเป็นเจ้าทุกเช้าและทุกคืน จอห์นสามารถท่องนิทานในคัมภีร์ไบเบิลได้ขึ้นใจก่อนที่จะอ่านหนังสือออกด้วย เมื่ออายุ ๕ ขวบ จอห์นเริ่มอ่านคำสอนในบทปฐมกาล (Genesis) ซึ่งเป็นคำสอนบทแรกในคัมภีร์ไบเบิลในภาคพันธสัญญาเดิม (Old Testament) ในช่วงอายุเดียวกันนี้เองบ้านพักของอธิการโบสถ์ที่สร้างใหม่และครอบครัวเวสลีย์อาศัยก็ถูกไฟไหม้อีกครั้ง แซมวลช่วยภรรยาที่ตั้งครรภ์และลูกคนอื่น ๆ หนีออกจากกองเพลิงได้ โดยลืมที่จะช่วยจอห์นที่นอนอยู่ในห้องชั้นบน เมื่อรู้ตัวบิดาพยายามจะกลับไปช่วยเขาแต่ไฟก็โหมไหม้บ้านอย่างรุนแรงจนไม่สามารถกลับไปช่วยบุตรชายได้ จนเขาตัดใจและได้แต่คุกเข่าภาวนาให้พระเป็นเจ้ารับดวงวิญญาณของจอห์นไปด้วย ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านก็ช่วยกันต่อตัวจนขึ้นไปถึงหน้าต่างชั้นบนและสามารถดึงตัวจอห์นที่ตื่นตระหนกตกใจเป็นที่สุดออกทางหน้าต่างได้ทันเวลาก่อนที่หลังคาจะถล่มลงมา จากประสบการณ์รอดชีวิตที่เฉียดตายดังกล่าวในเวลาต่อมาได้กลายเป็นพลังศรัทธาให้จอห์นในการปวารณาตนรับใช้พระเป็นเจ้ามากขึ้น รวมทั้งมารดาก็พยายามย้ำเตือนเขาว่าที่พระเป็นเจ้าช่วยให้เขารอดตายได้เพราะพระองค์ทรงมี “งานที่สำคัญบางอย่าง” รอให้เขาทำในภายภาคหน้า นับเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญของจอห์นแม้เขาจะอยู่ในวัยเพียง ๕ ขวบก็ตาม
ใน ค.ศ. ๑๗๑๓ ขณะอายุได้ ๑๐ ขวบ จอห์น เวสลีย์ได้ถูกส่งตัวไปเป็นนักเรียนทุนยากจนที่ชาร์เตอร์เฮาส์ (Charterhouse) ในกรุงลอนดอน เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องนอนเบียดกับเพื่อนนักเรียนเตียงละ ๒ คนในหอนอนที่หนาวเย็นและไม่มีเตาผิงในฤดูหนาว ทุกเช้าและเย็นเขาไม่เคยขาดที่จะสวดมนต์ขณะที่คนอื่น ๆ เร่งรีบไปกินอาหารกันและเลือกกินอาหารดี ๆ เมื่ออายุ ๑๗ ปี เขาได้รับทุนจากชาร์เตอร์เฮาส์ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช (Christchurch College) ณ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใน ค.ศ. ๑๗๒๔ และ ค.ศ. ๑๗๒๗ จอห์นก็สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทตามลำดับต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๒๘ จอห์นได้บวชเป็นบาทหลวงในนิกายแองกลิคันเพื่อดำเนินรอยตามบิดา
ใน ค.ศ. ๑๗๒๙ จอห์น เวสลีย์ได้เป็นผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เขาและเพื่อน ๆ รวมทั้งชาลส์ เวสลีย์ น้องชายและจอร์จ ไวต์ฟีลด์ได้ร่วมกันจัดตั้งสโมสรเพื่อสวดมนต์ ศึกษาคัมภีร์และร่วมในพิธีรับศีลมหาสนิทอย่างเคร่งครัด กลุ่มศึกษาศาสนาของจอห์นถูกเรียกชื่ออย่างล้อเลียนว่า “สโมสรศักดิ์สิทธิ์” (Holy Club) รวมทั้งชื่อ “พวกคัมภีร์ดันทุรัง” (Bible bigot) และ “พวกจัดระเบียบ” (Methodist) ที่กลุ่มเน้นการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ในการควบคุมวินัยทางจิตวิญญาณ ซึ่งต่อมาคำว่า “เมทอดิสต์” จะกลายเป็นชื่อเรียกของชาวคริสต์กลุ่มนี้ที่เน้นเรื่องการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ในการควบคุมวินัยทางจิตวิญญาณอันหมายถึงความศักดิ์สิทธิ์ (sanctification) ผลของการมีศรัทธาความเชื่อ (faith) การหลุดพ้น (salvation) ความชอบธรรม (righteousness) ความสมบูรณ์แบบในการให้ความรักแก่พระเป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์ (perfection in love) และการยึดถือพระคริสตธรรมสูงสุด (primacy of scripture) เป็นต้น
ใน ค.ศ. ๑๗๓๕ จอห์น เวสลีย์ได้เดินทางทางเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อไปเป็นนักบวชประจำเขต (parish pastor) ในเมืองซาแวนนาห์ (Savannah) ในอาณานิคมจอร์เจียทวีปอเมริกาเหนือโดยจะมีหน้าที่ในการเผยแผ่ศาสนาและทำงานมิชชันนารีในหมู่ชาวพื้นเมือง แต่ระหว่างเดินทางได้เกิดลมพายุขนาดใหญ่ เวสลีย์และชาวอังกฤษคนอื่น ๆ ตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกและกลัวความตายที่กำลังมาเยือนขณะเดียวกันเขาก็แลเห็นกลุ่มของพวกโมเรเวีย (Moravian) ซึ่งนับถือนิกายโปรเตสแตนต์มีท่าทางสงบเฉยและไม่กลัวภัยอันตรายหรือความตาย และต่างพากันร้องเพลงสวดมนต์ (hymn) สรรเสริญพระเป็นเจ้า จึงทำให้เขาตระหนักถึงภาวะทางจิตใจที่เขามีแต่ความอ่อนแอ ขณะที่พวกโมเรเวียมีความเข้มแข็งกว่ามาก เวสลีย์ได้ทำงานเผยแผ่พระศาสนาที่ซาแวนนาห์เป็นเวลา ๒ ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จรวมทั้งยังเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการปฏิเสธที่จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้แก่คนรักเก่าและในที่สุดต้องเดินทางกลับอังกฤษ
หลังกลับจากการทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาที่ซาแวนนาห์ เวสลีย์ก็ค้นพบว่าประสบการณ์ความกลัวกับความตายและความล้มเหลวในการเผยแผ่ศาสนาเกิดจากเขาไม่มีความเชื่อและศรัทธาในพระคริสต์อย่างแท้จริง ในวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๓๗ เขาได้อธิบายความรู้สึกนี้ในบันทึกรายวัน (journal entry) เล่มหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไปอเมริกาเพื่อเปลี่ยนศาสนาของพวกอินเดียนและใครเล่าจะช่วยเปลี่ยนข้าพเจ้าได้” เขาตระหนักว่าการควบคุมวินัยทางจิตวิญญาณ เช่น การสวดมนต์ การอ่านพระคัมภีร์ การทดสอบศรัทธาความเชื่อเพื่อเพิ่มพลังความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระคริสต์เป็นวิธีการที่จะช่วยได้ แต่หากคริสต์ศาสนิกชนผู้นั้นไม่มีความศรัทธาความเชื่อในพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม แม้ให้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง การมีวินัยทางจิตวิญญาณก็ไม่สามารถช่วยกับการยกระดับจิตวิญญาณของตนได้
หลังจากกลับมาพำนักในอังกฤษ เวสลีย์ก็เริ่มตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักบวชโมเรเวียผู้หนึ่งซึ่งสอนให้เขารู้จัก “การสร้างความชอบธรรมด้วยศรัทธา” (Justification by Faith) และการรับประกันการหลุดพ้นจากบ่วงบาป (assurance of salvation) ในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๓๘ เวสลีย์ได้เขียนบันทึกรายวันซึ่งต่อมาเป็นที่มาของหนังสือชื่อ The Journal of John Wesley ที่มีชื่อเสียง เขาได้บรรยายถึงประสบการณ์อันล้ำค่าของเขาไว้ว่า “ขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังอธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนความเชื่อ (conversion) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระเป็นเจ้าในหัวใจของเขา ผ่านความศรัทธาในพระคริสต์ ข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงหัวใจที่รู้สึกอบอุ่นได้อย่างประหลาด ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเชื่อมั่นในพระคริสต์พระคริสต์เท่านั้นที่จะพาหลุดออกจากบ่วงบาปได้และการค้ำประกันการหลุดออกจากบ่วงบาปนี้มอบให้แก่ข้าพเจ้าเมื่อพระองค์ทรงเอาบาปที่ติดตัวของข้าพเจ้าออกไป และช่วยข้าพเจ้าหลุดพ้นจากกฎของบาปและความตาย”
หลังจากการเปลี่ยนความเชื่อด้วยการสร้างศรัทธาใหม่ จอห์นกับชาลส์น้องชายก็เริ่มเผยแผ่ศรัทธาที่แท้จริงในพระคริสต์ของเขาให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง โดยการเผยแพร่แนวคิดและการเทศน์นอกโบสถ์ในที่เปิดโล่ง แม้ว่าจอห์นจะไม่ได้เป็นนักเทววิทยาที่คิดอย่างมีระบบ(systematic theologian) แต่เขาก็เห็นแย้งเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบของความเป็นคริสต์ที่สมบูรณ์และไม่เห็นด้วยกับหลักการของนิกายกัลแวง (Calvinism) ที่พูดถึงเรื่องของชะตากรรมของมนุษย์ที่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยพระเป็นเจ้าตั้งแต่ก่อนเกิด (predestination) จอห์นยืนหยัดว่าคริสตชนสามารถเข้าสู่ภาวะที่ว่าความรักของพระเป็นเจ้าสามารถครองหัวใจของพวกเขาทุกคนได้และทำให้เขาประสบความสำเร็จในการมุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ได้ การพ้นทุกข์ด้วยศรัทธาหรือที่เรียกว่า “Evangelicalism” เป็นหนทางไปสู่พระคุณ (grace) ซึ่งเป็นวิธีการที่พระเป็นเจ้าจะประทานความศักดิ์สิทธิ์และการทำให้ผู้มีศรัทธาได้รับประสบการณ์โดยตรงกับพระคริสต์ได้
ตลอดชีวิตของเวสลีย์เขาดำรงสถานภาพเป็นนักบวชในนิกายแองกลิคันและเชื่อว่าคริสตชนทุกคนสามารถเป็นเมทอดิสต์ได้และยังสังกัดนิกายเดิมที่ตนนับถือได้ ทั้งเขายังยืนยันในขบวนการเมทอดิสต์ว่าสามารถนำมาปฏิบัติในแนวทางของขนบเดิมได้ ในช่วงแรก ๆ เวสลีย์ถูกห้ามเทศน์ในโบสถ์หลายแห่ง ส่วนพวกเมทอดิสต์ที่ปฏิบัติตามแนวทางของเขาก็ถูกลงโทษ
เวสลีย์มีมุมมองต่อพื้นที่โลกที่กว้างใหญ่ว่าเป็นเสมือนโบสถ์ของเขา เขาและชาลส์และโดยเฉพาะไวต์ฟีลด์ได้ช่วยกันเผยแผ่หลักความเชื่อและแนวปฏิบัติของพวกเขาหรือความเป็นเมทอดิสต์หรือการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ในการควบคุมวินัยทางจิตวิญญาณไปยัง “โลกใหม่” (New World) หรือทวีปอเมริกา ประมาณว่าในห้วงเวลาที่เวสลีย์มีชีวิตอยู่เขาได้เดินทางมากกว่า ๓๖๐,๐๐๐ กิโลเมตรบนหลังม้าไปทั่วอังกฤษ ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ จัดให้มีการเทศน์ (sermon) ถึง ๔๐,๐๐๐ ครั้ง อย่างไรก็ดีนักบวชจำนวนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับการจัดการในเรื่องการเทศน์และเผยแผ่ศาสนาในแนวทางนี้ เวสลีย์จึงได้ฝึกฆราวาสจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่นี้ไปทั่วเกาะอังกฤษ นอกจากเผยแผ่พระวจนะ (gospel) ในพันธสัญญาใหม่ (New Testament) แล้ว เวสลีย์ยังสนใจในการปฏิรูปต่าง ๆ เช่น ปฏิรูปทัณฑสถาน การศึกษา ความเหลื่อมล้ำในสังคมรวมถึงการยกเลิกระบบทาส และพิมพ์หนังสือเรื่อง Thoughts of Slavery ออกเผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๗๗๔ ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติอเมริกา (American Revolution) ใน ค.ศ. ๑๗๗๖
อย่างไรก็ดี แม้เวสลีย์จะประสบความสำเร็จในการเผยแผ่แนวคิดเมทอดิสต์ของเขา แต่ก็ไม่เคยคิดจัดตั้งนิกายใหม่ ขณะเดียวกันผู้ที่รับแนวคิดของเขาก็เริ่มจัดตั้งองค์กรของตัวเองเพื่อใช้ชีวิตแบบศักดิ์สิทธิ์ (living a holy life) และใช้การเดินทางเผยแผ่แนวคิดเมทอดิสต์ตามอย่างเวสลีย์ ขณะเดียวกันกลุ่มฆราวาสที่รับแนวคิดของเขาและเป็นนักเทศน์ที่มีสตรีร่วมในกลุ่มด้วยทำให้นักบวชในนิกายแองกลิคันตามขนบเดิมต่อต้านอย่างรุนแรง
ใน ค.ศ. ๑๗๕๒ เวสลีย์ได้สมรสกับสตรีม่ายนามว่า แมรี (Mary) หรือเป็นที่รู้จักกันว่า มอลลี (Molly) แต่ชีวิตสมรสไม่ราบรื่น ทั้งสองไม่มีบุตรธิดาร่วมกันและแยกทางกันใน ค.ศ. ๑๗๗๖ ขณะเดียวกันเวสลีย์ยังคงเดินทางไปทั่วอังกฤษเพื่อเผยแผ่แนวคิดเมทอดิสต์ซึ่งทำให้ขบวนการเมทอดิสต์ประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังสงครามประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน (American War of Independence) ในปลายทศวรรษ ๑๗๗๐ แนวคิดเมทอดิสต์ก็แพร่หลายไปทั่ว รวมทั้งในหมู่ทาสผิวดำซึ่งต่อมาได้จัดตั้งโบสถ์คนผิวดำขึ้นหลายแห่งตามแนวทางของพวกเมทอดิสต์
จอห์น เวสลีย์ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๑ ขณะอายุ ๘๗ ปี หลังจากเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution 1789)* ได้ ๒ ปี ศพของเขาได้รับการฝังไว้ที่สุสานในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม หลังจากเขามรณภาพไม่นาน กลุ่มหรือขบวนการเมทอดิสต์ก็ก่อตัวแยกจากนิกายแองกลิคันและขยายเติบโตไปทั่วโลกและจัดตั้งเป็นนิกายเมทอดิสต์ ปัจจุบันมีผู้นับถือนิกายนี้กว่า ๘๐ ล้านคนทั่วโลก นับว่าเขาเป็นบุคคลที่คนทั่วโลกให้การนับถืออย่างกว้างขวาง ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ จอห์น เวสลีย์ได้รับการยกย่องให้อยู่ในลำดับที่ ๕๐ จากจำนวนชาวบริเตน ๑๐๐ คนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ จากผลการสำรวจ The 100 Greatest Britons ของบรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (British Broadcasting Corporation–BBC)*
ความสำเร็จของนิกายเมทอดิสต์ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกเกิดจากหลักการหรือแนวคิดต่าง ๆ ที่เวสลีย์วางไว้ ที่สำคัญคือการสอนว่าพระเยซูคริสต์บุตรของพระเป็นเจ้ายอมตายเพื่อมนุษยชาติ และการหลุดจากบ่วงบาปเป็นสิทธิของทุกคน ซึ่งผิดจากนิกายกัลแวงที่เชื่อในชะตากรรมของมนุษย์ที่กำหนดไว้แล้วโดยพระเป็นเจ้า ทั้งนิกายเมทอดิสต์ยังมีหลักการเน้นในการสร้างกุศลการช่วยเหลือคนยากจนคนป่วยแนวทางในการสร้างคนและคริสตจักร รวมทั้งจิตวิญญาณของผู้เผยแผ่ศาสนาหรือมิชชันนารี แนวคิดนี้ถูกนำไปปฏิบัติในการจัดสร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า การจัดตั้งโรงพยาบาล โรงทาน โรงเรียนเพื่อเผยแผ่พระวจนะตามคำสั่งของพระคริสต์ และการให้บริการประชาชนทั่วไป รวมทั้งให้ความสำคัญแก่อาชญากรเพื่อให้เข้าถึงการหลุดพ้นจากบ่วงบาปซึ่งขณะนั้นเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความสนใจในสังคม และการใช้เพลงสวดมนต์สรรเสริญพระเป็นเจ้าในโบสถ์ซึ่งชาลส์น้องชายของเขาได้แต่งไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการยกระดับชีวิตของพวกชนชั้นแรงงานที่มีจำนวนมากขึ้นในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อีกด้วย.