ปีแยร์ แวร์เน เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการธนาคาร นักการเมือง รัฐบุรุษ และนักยุโรปนิยมที่มีชื่อเสียงของราชรัฐลักเซมเบิร์ก (Grand Duchy of Luxembourg) เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ๖ วาระระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๙–๑๙๗๔ และ ค.ศ. ๑๙๗๙–๑๙๘๔ ทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายครั้ง แวร์เนมีบทบาทโดดเด่นในสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union–EU)* มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community–EC)* โดยเป็นผู้จัดทำการประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Compromise)* ค.ศ. ๑๙๖๖ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง (Empty Chair Crisis) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลาง ค.ศ. ๑๙๖๕ เขายังเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแวร์เน (Werner Plan) ค.ศ. ๑๙๗๐ ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำหรับการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรปหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union–EMU)* ฉบับแรก
แวร์เนเกิดในครอบครัวคาทอลิกที่ทั้งบิดาและมารดาเป็นชาวลักเซมเบิร์กเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ที่เมืองแซ็งอ็องเดรเลลิลล์ (Saint André-Les-Lille) ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส เขาสำเร็จการศึกษาสาขานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปารีส และสาขารัฐศาสตร์จาก Ecole Libre des Sciences Politiques ในกรุงปารีสเช่นเดียวกันในช่วง ค.ศ. ๑๙๓๕–๑๙๓๘ ที่เขาเป็นนักศึกษาอยู่นั้น แวร์เนซึ่งสนใจการเมืองเป็นอย่างมากได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองขององค์การนักศึกษาหลายแห่งทั้งในฝรั่งเศสและในระดับนานาชาติ ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เขาได้รับเลือกเป็นรองประธานขบวนการแพกซ์โรมานา (Pax Romana Movement) หรือขบวนการนานาชาติเพื่อกิจการทางด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรม (International Movement for intellectual and Cultural Affairs) ของยุโรป
หลังสำเร็จการศึกษา แวร์เนประกอบอาชีพเป็นนายธนาคารในลักเซมเบิร์ก ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อลักเซมเบิร์กตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพนาซีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐–๑๙๔๕ เขาได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านนาซี (Nazi Resistance Movement) ของลักเซมเบิร์กโดยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่เพื่อนร่วมชาติในการต่อต้านการยึดครองของเยอรมนีอย่างแข็งขันในขณะที่ยังคงทำงานให้กับธนาคารหลายแห่งในลักเซมเบิร์ก ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนกลุ่มธนาคารแห่งลักเซมเบิร์กเข้าร่วมการประชุมที่เมืองเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods Conference) รัฐนิวแฮมป์เชียร์ (New Hampshire) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาจัดตั้งระบบควบคุมการเงินระหว่างประเทศที่เรียกว่า “ระบบเบรตตันวูดส์” (Bretton Woods System) และจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund–IMF)* รวมทั้งธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development–IBRD) หรือธนาคารโลก (World Bank) ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศต่าง ๆในช่วงหลังสงคราม การเข้าร่วมประชุมดังกล่าวจึงเป็นการเปิดตัวแวร์เนให้เป็นที่รู้จักในแวดวงการเงินการธนาคารระหว่างประเทศมาตั้งแต่บัดนั้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง แวร์เนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาชนสังคมคริสเตียน (Christian Social People’s Party–CSV) ก็เข้าสู่วงการเมืองของลักเซมเบิร์กอย่างเต็มตัว ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ หลังพรรคของเขาได้เป็นรัฐบาลโดยมีโจเซฟ แบช (Joseph Bech) เป็นนายกรัฐมนตรี แวร์เนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงกลาโหม ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๙ พรรคของเขาได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง แวร์เนซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคจึงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ เขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน ๓ สมัยจนถึง ค.ศ. ๑๙๗๔ พร้อมกันนั้นเขายังได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ค.ศ. ๑๙๕๙–๑๙๗๔) กระทรวงยุติธรรม (ค.ศ. ๑๙๕๙–๑๙๖๗) และกระทรวงการต่างประเทศ (ค.ศ. ๑๙๖๔–๑๙๖๗) ด้วย
ในช่วงที่แวร์เนเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขามีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ราชรัฐเล็ก ๆแห่งนี้ในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนแทนการมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมและการทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวโดยส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และขยายธุรกิจภาคบริการทางด้านการเงินให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลักเซมเบิร์กเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินและการธนาคารของยุโรปในเวลาต่อมา รวมทั้งได้แก้ปัญหาทางด้านอุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย
ขณะเดียวกันแวร์เนยังเป็นนักยุโรปนิยมในยุคบุกเบิกที่สนับสนุนกระบวนการบูรณาการยุโรปตามแนวทางของระบบสหพันธ์นิยมมาแต่แรกพร้อม ๆกับนักยุโรปนิยมอื่น ๆ ได้แก่ แบช ชาวลักเซมเบิร์กปอล-อองรี สปาก (Paul-Henri Spaak)* ชาวเบลเยียม ชอง มอนเน (Jean Monnet)* และโรแบร์ ชูมอง (Robert Schuman)* ชาวฝรั่งเศสซึ่งล้วนเป็นเพื่อนสนิทที่เคยทำงานร่วมกับเขามาทั้งสิ้น ทั้งแบชและแวร์เนมีบทบาทสำคัญในการนำลักเซมเบิร์กเข้าร่วมในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community–ECSC)* ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community–EEC)* และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community–EURATOM)* ที่จัดตั้งขึ้นในทศวรรษ ๑๙๕๐ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเจรจากับผู้นำชาติสมาชิกอื่นๆให้ลักเซมเบิร์กได้เป็นสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของประชาคมยุโรปหลายแห่ง กรุงลักเซมเบิร์ก (Luxembourg City) จึงเป็นเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งของสหภาพยุโรปควบคู่กับกรุงบรัสเซลส์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้เมื่อแวร์เนได้เป็นนายกรัฐมนตรีเขายังได้กำหนดให้ความร่วมมือกับประชาคมยุโรปเป็นนโยบายหลักในนโยบายต่างประเทศของลักเซมเบิร์กด้วย
ในปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๕ ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* แห่งฝรั่งเศสประท้วงวัลเทอร์ ฮัลชไตน์ (Walter Hallstein)ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป(European Commission) โดยเรียกผู้แทนฝรั่งเศสในตำแหน่งสำคัญ ๆ ในอีซีกลับประเทศทั้งหมด และไม่เข้าร่วมประชุมในคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปและการประชุมอื่น ๆ ที่สำคัญทุกการประชุม เนื่องจากฮัลชไตน์เรียกร้องให้มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของรัฐสภายุโรป (European Parliament) และขยายขอบข่ายของการใช้วิธีการออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขหรือคิวเอ็มวี (Qualified Majority Voting–QMV) ในคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป (Council of Ministers of the EC)ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อให้ตอบรับกับเงื่อนไขเวลาการใช้คิวเอ็มวีตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาโรม (Treaty of Rome)* ค.ศ. ๑๙๕๗ เป็นผลให้เกิดวิกฤตการณ์ที่นั่งว่างขึ้นในประชาคมยุโรป แวร์เนซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลักเซมเบิร์กก็มีบทบาทสำคัญร่วมกับผู้นำชาติสมาชิกอื่นอีก ๔ประเทศดำเนินการแก้ปัญหา เพื่อทำให้ฝรั่งเศสซึ่งเป็นมหาอำนาจหลักของยุโรปและเป็นผู้นำการจัดตั้งอีซีกลับเข้าร่วมกิจกรรมของประชาคมต่อไป
ในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๖๕ แวร์เนได้ร่วมมือกับสปาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมจัดการประชุมวาระพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาหลายครั้ง ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งไม่มีประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนฝรั่งเศสซึ่งเป็นคู่กรณีเข้าร่วมประชุมด้วย และในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ เมื่อลักเซมเบิร์กได้เป็นประธาน (Presidency) ประชาคมยุโรป แวร์เนก็ได้จัดให้มีการประชุมวาระพิเศษระหว่างผู้นำชาติสมาชิกทั้ง ๖ ประเทศถึง ๒ ครั้งซึ่งปรากฏผลในการลงนามร่วมกันของผู้นำชาติสมาชิกทั้ง ๖ ประเทศของประชาคมยุโรปในความตกลงที่เรียกว่า “การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก” เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ โดยไม่ต้องมีการแก้ไขสนธิสัญญาโรมแต่ประการใด แม้ว่าความตกลงดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ก็ตาม เพราะเป็นเพียงการพบกันครึ่งทางระหว่างข้อเรียกร้องของคณะกรรมาธิการยุโรปกับความต้องการของฝรั่งเศสแต่ก็ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญของแวร์เนกับสปากร่วมกันที่สามารถรักษาเอกภาพของประชาคมยุโรปไว้ได้ โดยทำให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามาร่วมกิจกรรมของประชาคมยุโรปตามเดิมและประชาคมก็สามารถดำเนินงานต่อไปได้ วิกฤตการณ์ที่นั่งว่างจึงยุติลง
ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการธนาคาร แวร์เนสนับสนุนการบูรณาการทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของประชาคมยุโรปเป็นอย่างมาก ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๘ เขาเสนอให้ประชาคมยุโรปมีการบูรณาการทางด้านการเงินเพื่อให้มีเงินสกุลเดียวใช้ร่วมกัน แต่ในช่วงนั้นข้อเสนอของเขาไม่ได้รับความสนใจมากนัก ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ หลังการเปลี่ยนประธานาธิบดีฝรั่งเศสจากเดอ โกลมาเป็นชอร์ช ปงปีดู (Georges Pompidou)* แล้วเรมง บาร์ (Raymond Barre) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศสซึ่งได้เป็นกรรมาธิการ (Commissioner) ทางด้านเศรษฐกิจในคณะกรรมาธิการยุโรปก็ได้เสนอให้มีการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจการเงินขึ้นภายในประชาคมยุโรปเช่นเดียวกัน ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากปงปีดูเพราะเขาต้องการใช้อีเอ็มยูเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาวิกฤตเงินฟรังก์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ขณะเดียวกันข้อเสนอของบาร์ก็ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรปและชาติสมาชิกส่วนใหญ่ของอีซี จึงได้มีการบรรจุเรื่องการพิจารณาจัดตั้งอีเอ็มยูไว้เป็นหัวข้อหนึ่งในระเบียบวาระการประชุมสุดยอดที่กรุงเฮก (The Hague Summit) ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ เพื่อกระตุ้นการบูรณาการประชาคมยุโรปในรอบใหม่ ในการประชุมครั้งนั้นแวร์เนเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการผลักดันให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจการเงินขึ้นในประชาคมซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากชาติสมาชิกอื่น ๆ ในที่สุดที่ประชุมจึงได้ลงมติให้มีการจัดตั้งอีเอ็มยูซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การมีเงินสกุลเดียวร่วมกันขึ้นภายใน ค.ศ. ๑๙๘๐ นับเป็นการกำหนดเป้าหมายของการจัดตั้งอีเอ็มยูเป็นครั้งแรก
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ แวร์เนได้รับแต่งตั้งจากคณะมนตรีเศรษฐกิจการคลัง (Ecofin Council) ของคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปให้เป็นประธานคณะกรรมการพิเศษซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารหรือผู้แทนธนาคารชาติของประเทศสมาชิกอีซี และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินการธนาคารของประชาคมยุโรป เพื่อให้ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้และยกร่างแผนจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจการเงินขึ้นภายในประชาคมยุโรปตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้ในมติเฮกคณะกรรมการดังกล่าวเสนอผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “รายงานแวร์เน” (Werner Report) หรือแผนแวร์เนต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ รายงานฉบับนี้เป็นแผนจัดตั้งอีเอ็มยูอย่างเป็นทางการฉบับแรกที่กำหนดรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินงานจาก ค.ศ. ๑๙๗๑–๑๙๘๐ ไว้ ๓ ขั้นตอนด้วยกันคือ ขั้นตอนแรกเป็นระยะของการเตรียมการโดยการปรับระบบเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพทางการเงินของแต่ละชาติสมาชิกขั้นตอนที่๒เป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิกในระดับยุโรป รวมทั้งการเตรียมการภายในประชาคมยุโรปเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสถาบัน และขั้นตอนที่ ๓ เป็นการแก้ไขสนธิสัญญาโรมพร้อม ๆ กับการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินให้เป็นอัตราเดียวกันและประกาศใช้เงินสกุลเดียวกัน
อย่างไรก็ดี แผนแวร์เนก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะชาติสมาชิกหลักอย่างฝรั่งเศสและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกมีความเห็นต่างกันมาแต่ต้น ฝรั่งเศสนำโดยปงปีดูซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโกลลิสต์ใหม่ (Neo-Gaullist) จึงต่อต้านอย่างรุนแรงเพราะไม่ต้องการให้มีการบูรณาการเศรษฐกิจและการเงินของชาติสมาชิกให้ลึกมากเกินไปจนถึงขั้นใช้เงินสกุลเดียวกัน ทั้งยังไม่เห็นด้วยกับการโอนอำนาจทางด้านการเงินของชาติสมาชิกไปให้แก่สถาบันของประชาคมยุโรปอย่างเช่น รัฐสภายุโรป ส่วนชาติสมาชิกอื่นก็ยังลังเล ประกอบกับในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ยุโรปประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจการเงินอย่างรุนแรงหลายครั้งอันเป็นผลมาจากการล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์ในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๗๑ และการขึ้นราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปก (OPEC) หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ แผนแวร์เนที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มดำเนินการในขั้นตอนที่ ๑ ด้วยความไม่เต็มใจหรือไม่แน่ใจก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยายใน ค.ศ. ๑๙๗๔ โดยที่ประเทศต่าง ๆ หันไปแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงินด้วยตนเองแทนการพึ่งพิงกลไกของประชาคมยุโรป และในที่ประชุมสุดยอดยุโรปครั้งต่าง ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๕ ก็ไม่มีการกล่าวถึงแผนแวร์เนอีกเลย อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ เมื่อชาก เดอลอร์ (Jacques Delors)* ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรประหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๕–๑๙๙๕ จัดทำแผนจัดตั้งอีเอ็มยูครั้งใหม่เดอลอร์ก็ได้นำแผนแวร์เนฉบับ ค.ศ. ๑๙๗๐ มาศึกษาอีกครั้งและนำหลักการสำคัญ ๆ บางเรื่องที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงขยายเพิ่มเติมและบรรจุไว้ในรายงานเดอลอร์ (Delors Report) ฉบับ ค.ศ. ๑๙๘๘ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ในส่วนที่ว่าด้วยอีเอ็มยู แวร์เนจึงได้รับยกย่องว่าเป็นนักยุโรปนิยมคนสำคัญที่เป็นต้นความคิดของการใช้เงินสกุลเดียวของยุโรป
ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ พรรคประชาชนสังคมคริสเตียนแพ้การเลือกตั้งทั่วไป แต่แวร์เนยังคงเป็นผู้แทนราษฎรและทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรต่อมาอย่างแข็งขัน อีก ๕ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๙ พรรคประชาชนสังคมคริสเตียนชนะการเลือกตั้งทั่วไป เขาจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และในปีเดียวกันแวร์เนยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปซึ่งเป็นผลจากการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรกของประชาคมยุโรปแต่เขาสละสิทธิเพื่อทำงานทางการเมืองให้แก่ลักเซมเบิร์ก ในช่วงที่แวร์เนเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๙–๑๙๘๔ เขาได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแวร์เนมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านอุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงนั้นโดยใช้วิธีการเจรจา ๓ ฝ่าย ระหว่างเจ้าของอุตสาหกรรม แรงงาน และรัฐบาล จนลักเซมเบิร์กผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ นอกจากนี้แวร์เนซึ่งมีความรอบรู้ในด้านต่าง ๆ ได้ดำเนินการพัฒนาประเทศสืบต่อจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งด้านเศรษฐกิจการคลัง การธนาคาร การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสารในระบบดาวเทียมซึ่งทำให้ลักเซมเบิร์กเข้าไปอยู่ในแผนที่ระบบดาวเทียมของโลก
ตลอดเวลาที่แวร์เนเป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง ๒ ช่วงเขายังได้พัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ดนตรี และการกีฬาของลักเซมเบิร์กเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกิจกรรมในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกของชาติ แวร์เนได้จัดให้มีการฟื้นฟูบูรณะปราสาทหลายแห่งที่มีมาตั้งแต่ยุคกลาง (Middle Ages) ของยุโรป ทำให้ปราสาทเหล่านั้นกลายเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของยุโรปในปัจจุบัน แม้เมื่อเขาพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แวร์เนก็ยังอุทิศตนให้กับการทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการกีฬาของลักเซมเบิร์กต่อมาอย่างแข็งขัน
แวร์เนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๘๔ ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งสืบต่อจากเขาคือชอง ชาก ซองแตร์ (Jean Jacques Santer)* หลังจากนั้นเขาได้ยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิงและกลับเข้าสู่ธุรกิจภาคเอกชนในด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๕–๑๙๘๗ แวร์เนได้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารของบรรษัทวิทยุกระจายเสียงลักเซมเบิร์ก (Compagnie Luxembourgeoise de Télédiffusion–CLT, Radio Luxembourg) และใน ค.ศ. ๑๙๘๙–๑๙๙๖ เขาเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการของบรรษัทสมาคมดาวเทียมแห่งยุโรป (Société Européenne des Satellites) ของลักเซมเบิร์ก หลังครบวาระการดำรงตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๙๖ แล้ว เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการกิตติมศักดิ์ของบรรษัทนี้ต่อมา แวร์เนได้รับยกย่องอย่างมากว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสร้างความเจริญทางด้านกิจการสื่อสารทางดาวเทียมของลักเซมเบิร์กให้มีความทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป
ปีแยร์ แวร์เน ถึงแก่อสัญกรรม ณ บ้านพักในกรุงลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๒ ขณะอายุ ๘๙ ปี เขาได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของชาติและของยุโรป ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ได้มีการจัดตั้งสถาบันปีแยร์ แวร์เน (Pierre Werner Institute–IPW) ในกรุงลักเซมเบิร์กเพื่อให้เป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่เขา สถาบันดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของโดมีนีกเดอ วิลเลอแปง (Dominique de Villepin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ยอชคา ฟิชเชอร์ (Joschka Fischer) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี และลีดี ปอลแฟร์ (Lydie Polfer) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลักเซมเบิร์ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษา การวิจัย และสถานที่ประชุมสัมมนานานาชาติ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศผู้ก่อตั้งทั้งสามและของประเทศต่างๆทั่วยุโรป นอกจากนี้เขายังได้รับการเชิดชูเกียรติในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย.