Monnet, Jean Omer Marie Gabriel (1888-1979)

นายชอง โอแมร์ มารี กาบรีเอล มอนเน (๒๔๓๑-๒๕๒๒)

​​​​​

     ชอง โอแมร์ มารี กาบรีเอล มอนเน เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองและรัฐบุรุษชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียง และมีบทบาทโดดเด่นในการเคลื่อนไหวเพื่อการรวมยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ซึ่งทำให้เกิดการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community - ECSC)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๒ อันเป็นพื้นฐานของความสำเร็จในการจัดตั้งประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Communities - EC)* และสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union - EU)* ในเวลาต่อมา เป็นประธานคนแรกของคณะกรรมาธิการ (High Authority) ของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรประหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๕๕ มอนเนมีประสบการณ์ในการทำงานด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศหลายตำแหน่ง เช่น เป็นผู้แทนฝรั่งเศสในคณะกรรมการของฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* หลายคณะ และในช่วงหลังสงครามเขาเป็นรองเลขาธิการ(Deputy Secretary - General) องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ระหว่าง ค.ศ.๑๙๒๐-๑๙๒๒ รวมทั้งทำงานด้านการธนาคารและเป็นที่ปรึกษาอิสระทางด้านเศรษฐกิจการคลังระหว่างประเทศอีก ๑๑ ปี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขายังได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการประสานงานร่วมระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมมือกับขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ที่แอลจีเรีย (Algeria) จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังสงครามโลกยุติลงมอนเนเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานวางแผนและพัฒนาประเทศ (General Planning Commission) ของฝรั่งเศสซึ่งเขาเป็นต้นคิดจัดตั้งขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๕๐ และให้การสนับสนุนกระบวนการรวมยุโรปตลอดมา
     มอนเนเกิดเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๘๘๘ ที่เมืองคอนญัก (Cognac) เป็นบุตรคนโตของชองกาบรีเอล (Jean-Gabriel) และมาเรีย เดอแมล (Maria Demelle) เจ้าของบริษัท เจ.จี.มอนเน (J.G. Monnet & Co.) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตบรั่นดีรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส เนื่องจากบิดาเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัย ชีวิตในวัยเด็กของมอนเนจึงค่อนข้างเคร่งครัดและมีระเบียบวินัยตามที่บิดาวางไว้ เขาจึงใกล้ชิดกับมารดาซึ่งมีอายุอ่อนกว่าบิดา ๑๐ กว่าปีมากกว่า มอนเนเป็นคนเฉลียวฉลาดมาก มีความทะเยอทะยานสูง มนุษยสัมพันธ์ดีและชอบใช้ความคิดมาตั้งแต่ยังเด็ก คอนญักแม้จะเป็นเมืองเล็ก ๆ ในชนบทแต่ก็เป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการค้าไวน์และบรั่นดีของยุโรป จึงมีพ่อค้าและนักธุรกิจจากอังกฤษ เยอรมนี กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและสหรัฐอเมริกาเดินทางมาติดต่อซื้อขายไวน์และบรั่นดีตลอดเวลา มอนเนจึงมีโอกาสรับรู้เรื่องราวจากโลกภายนอกตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งยังได้รู้จักสนิทสนมกับผู้ที่มาติดต่อและเพื่อนชาวต่างชาติในเครือข่ายการค้าของบิดาซึ่งหลายคนได้ให้ความช่วยเหลือแก่เขาในเวลาต่อมา
     มอนเนได้รับการศึกษาเบื้องต้นจนจบมัธยมศึกษาตอนปลายในฝรั่งเศสเมื่อมีอายุ ๑๖ ปี หลังจากนั้น เขาก็ได้ไปศึกษาต่อในอังกฤษโดยพำนักอยู่กับครอบครัวตัวแทนการค้าของบิดาในกรุงลอนดอนเป็นเวลา ๒ ปี โดยศึกษาภาษาอังกฤษและวิชาการทางด้านธุรกิจการค้ารวมทั้งการดูงานทางด้านธุรกิจด้วย เนื่องจากบิดาต้องการให้เขาสืบทอดธุรกิจการค้าบรั่นดีต่อไปใน ค.ศ.๑๙๐๖ เมื่ออายุ ๑๘ ปี มอนเนเป็นตัวแทนของบริษัทบรั่นดีของบิดาเดินทางไปค้าขายในอเมริกาเหนืออังกฤษ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อียิปต์ รัสเซีย และจีน เขาใช้ชีวิตในการเดินทางระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศเหล่านี้เป็นเวลากว่า ๗ ปี นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะทำให้เขาได้รับประสบการณ์ความรู้และมีวิสัยทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้เรียนรู้นิสัยใจคอของชนชาติต่าง ๆ ที่เขาไปติดต่อค้าขายด้วยตลอดจนได้สั่งสมคุณสมบัติความเป็นนานาชาตินิยมมาตั้งแต่บัดนั้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงสามารถรักษาความเป็นคนฝรั่งเศสชาตินิยมไว้ได้อย่างเคร่งครัด มอนเนมีความสามารถพิเศษในการเจรจาต่อรองทางการค้ามาตั้งแต่ยังหนุ่ม ใน ค.ศ.๑๙๑๑ เขาประสบความสำเร็จในการเจรจาทำสัญญากับบริษัทฮัดสันเบย์ (Hudson Bay Company) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าที่ใหญ่มากบริษัทหนึ่งของอเมริกาเหนือและมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอนทำให้บริษัทบรั่นดีของบิดาได้สิทธิผูกขาดการส่งบรั่นดีไปขายในแถบแคนาดาตะวันตกแต่เพียงผู้เดียว ความสำเร็จครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะเขาได้อาศัยมิตรภาพแต่ครั้งนั้นในการติดต่อซื้อวัสดุให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรและช่วยส่งเสริมธุรกิจการค้าของเขาในเวลาต่อมา
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ มอนเนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่เนื่องจากมีปัญหาทางด้านสุขภาพ จึงได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ดี เขาก็ยังต้องการทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการในยามสงคราม ในกลางเดือนกันยายน ค.ศ.๑๙๑๔ มอนเนจึงได้ไปพบนายกรัฐมนตรีเรอเน รีวีอานี (René Riviani) ที่เมืองบอร์โด (Bordeaux) โดยความช่วยเหลือของ แฟร์นอง เบอนง (Fernand Benon) ทนายความผู้เป็นเพื่อนของนายกรัฐมนตรีและรู้จักกับครอบครัวของเขาเป็นอย่างดี ต่อมาริวิอานีส่งเขาไปพบอะเล็กซองดร์มีลเลอรอง (Alexandre Millerand) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ซึ่งได้มอบหมายให้เขาทำหน้าที่ เป็นผู้ติดต่อของหน่วยจัดซื้อวัสดุทางด้านพลเรือนให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส (French Civil Supplies) ประจำอยู่ ณ กรุงลอนดอน และด้วยความสามารถของมอนเนบริษัทฮัดสันเบย์ได้ให้เครดิตในจำนวนสูงแก่รัฐบาลฝรั่งเศสในการจัดซื้อข้าวสาลีเพื่อใช้ในกิจการพลเรือน
     นอกจากนี้มอนเนยังได้เสนอตัวเป็นผู้ประสานงานจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษขึ้นเพื่อทำหน้าที่จัดซื้ออาวุธยุทโปกรณ์สินค้าและวัสดุที่จำเป็นในการสงคราม เพราะเขาเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะสามารถได้ชัยชนะในสงคราม เขาจึงได้รับการเชื่อถือจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ช่วยดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นหลายคณะ และเมื่อมีการจัดตั้งสภาขนส่งทางเรือของฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Maritime Transport Council) ซึ่งเป็นองค์การควบคุมการขนส่งอาหารและวัสดุอุปกรณ์ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรร่วมกัน มอนเนก็ได้เป็นกรรมการผู้หนึ่งระหว่าง ค.ศ.๑๙๑๔-๑๙๑๘ มอนเนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสเข้าร่วมประชุมเจรจาระหว่างประเทศเรื่องอาหารและการขนส่งทางเรือหลายครั้งและรับผิดชอบการจัดซื้ออาหารและวัสดุที่จำเป็นให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสตลอดช่วงสงคราม
     หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ มอนเนก็เดินทางกลับฝรั่งเศสและได้เข้าร่วมประชุมสันติภาพเพื่อจัดทำสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยอยู่ในคณะผู้แทนฝ่ายเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ทั้งยังได้ร่วมทำงานเพื่อจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติด้วย และเมื่อมีการจัดตั้งองค์การดังกล่าวขึ้นที่นครเจนีวา ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยมีเซอร์เอริก ดรัมมอนด์ (Sir Eric Drummond) นักการทูตชาวอังกฤษเป็นเลขาธิการ มอนเนขณะมีอายุเพียง ๓๒ ปี ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการและที่ ปรึกษาฝ่ายการคลังขององค์การ ทั้งยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิอังกฤษ (Order of the British Empire) จากรัฐบาลอังกฤษซึ่งมักให้แก่ข้าราชการพลเรือนเมื่อสิ้นสุดวาระการทำงาน
     งานสำคัญของมอนเนในขณะที่เป็นรองเลขาธิการสันนิบาตชาติคือการทำหน้าที่ แก้ปัญหากรณีพิพาทอัปเปอร์ไซลีเซีย (Upper Silesia) ดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวโปลอาศัยอยู่ และมีถ่านหินเป็นจำนวนมาก ทั้งเยอรมนีและโปแลนด์ต่างก็อ้างสิทธิครอบครองดินแดนดังกล่าว ฝรั่งเศสสนับสนุนโปแลนด์ในขณะที่อังกฤษสนับสนุนเยอรมนี และเมื่อเกิดการสู้รบระหว่างชน ๒ กลุ่มขึ้นในไซลีเซีย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ อังกฤษและฝรั่งเศสจึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นสู่การตัดสินของคณะกรรมาธิการของสันนิบาตชาติซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นประธานและมอนเนเป็นผู้จัดทำรายงาน มอนเนจัดทำรายงานเสร็จภายในเวลา ๓สัปดาห์ซึ่งตัดสินให้ดินแดนดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการร่วม ระหว่างเยอรมนี-โปแลนด์เป็นเวลา ๑๕ ปี หลังจากนั้นก็จะคืนให้แก่เจ้าของเดิมโดยการแสดงประชามติและเสนอให้มีการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้ง ๒ ซึ่งมีการลงนามในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ปัญหาจึงยุติลง นอกจากนี้ ในเดือนกันยายนปีเดียวกันมอนเนยังได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจการคลังคนอื่น ๆ  เสนอให้สันนิบาตชาติให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจของออสเตรีย นับเป็นครั้งแรกที่องค์การระหว่างประเทศได้มีบทบาทในการจัดตั้งโครงการในลักษณะดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ดีหลังจากทำงานในตำแหน่งรองเลขาธิการไม่นาน มอนเนก็เริ่มรู้สึกผิดหวังต่อการทำงานของสันนิบาตชาติในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเขาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการตัดสินใจที่ใช้ระบบการออกเสียงโดยมติเอกฉันท์ในคณะมนตรีของสันนิบาตชาติ (Council of the League of Nations) ซึ่งมักเป็นอุปสรรคต่อการทำงานด้านการรักษาสันติภาพ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ เขาจึงถือโอกาสลาออกจากองค์การเพื่อกลับไปช่วยกอบกู้ฐานะของบริษัทเจ. จี. มอนเนซึ่งกำลังตกต่ำลง และมีหนี้สินถึง ๙,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์
     มอนเนแก้ปัญหาของบริษัทโดยขายสต๊อกเหล้าที่มีออกไปทั้งหมดเพื่อลดภาระหนี้ และนำทรัพย์สินส่วนตัวรวมทั้งเงินกู้ยืมจากบริษัทฮัดสันเบย์มาใช้หนี้จนเกือบ หมด นอกจากนี้ เขายังปฏิรูปการบริหารงานของบริษัทใหม่ทั้งหมด ประกอบกับความต้องการบรั่นดีในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในขณะที่ปริมาณการผลิตในคอนญักลดน้อยลงบริษัทจึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและสามารถทำกำไรได้ภายในเวลา ๓ ปีใน ค.ศ. ๑๙๒๖ มอนเนจึงได้ส่งมอบบริษัทให้แก่กาสตง (Gaston) น้องชาย เพื่อออกมาทำงานส่วนตัวด้านการธนาคารและเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลังให้แก่รัฐบาลและเอกชนในประเทศต่าง ๆ ในปีเดียวกันเขาได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการลงทุนในนครนิวยอร์กชื่อ Blair and Company จัดตั้งสาขาในยุโรปขึ้นที่กรุงปารีสโดยเขาเป็นหุ้นส่วนบริหารและรองประธาน มอนเนยังได้เข้าไปช่วยเจรจาขอกู้เงินจากธนาคารเอกชนของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เพื่อการพัฒนาประเทศและสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้แก่โปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ และแก่โรมาเนียใน ค.ศ. ๑๙๒๘ รวมทั้งให้แก่ยูโกสลาเวียและบัลแกเรียในช่วงเดียวกันต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๙ มอนเนร่วมมือกับนายทุนชาวอเมริกันที่นครนิวยอร์กจัดตั้งธนาคารบองคาเมริกา-แบลร์ (Bancamerica-Blair) ในนครแซนแฟรนซิสโก ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาโดยตัวเขาเองได้เป็นผู้บริหารร่วมของธนาคารนี้ด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ หลังการอัตวินิบาตกรรมของอิวาร์ ครูเกอร์ (Ivar Kreuger) นายธนาคารชาวสวีเดนที่ ล้มละลายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* มอนเนก็ได้เข้าไปเป็นกรรมการจัดการเลิกบริษัทครูเกอร์และทอลล์ (Kreuger and Toll) บริษัทผลิตไม้ขีดไฟยักษ์ใหญ่ของสวีเดนที่ผูกขาดอุตสาหกรรมไม้ขีดไฟถึง ๓ ใน ๔ ของอุตสาหกรรมไม้ขีดไฟทั่วโลก การเลิกบริษัทดังกล่าวใช้ เวลาหลายปีกว่าจะเสร็จสิ้น นอกจากนี้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๓๘ มอนเนยังได้เป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างเครือข่ายทางรถไฟและการบริหารกิจการรถไฟของรัฐบาลจีนในสมัยนายพลเจียง ไคเช็ก (Chiang Kaishek) ในช่วงนี้มอนเนมีรายได้เป็นจำนวนมากทั้งจากเงินปันผลของบริษัท เจ.จี. มอนเน และค่าจ้างจากธนาคารและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เขาทำงานให้
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ในช่วงที่มีการประชุมที่เมืองมิวนิก (Munich Conference) มอนเนเดินทางกลับมากรุงปารีสพอดีและเมื่อได้รับทราบข่าวผลการประชุมเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* ของอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าการกระทำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีสมควรได้รับการหยุดยั้งก่อนที่จะสายเกินไป ต่อมาในวันที่ ๓ ตุลาคม มอนเนก็ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเอดูอาร์ ดาลาดิเยร์ (Edouard Daladier) ให้เดินทางไปราชการลับที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเจรจาขอซื้อเครื่องบินรบให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส เพราะเห็นว่ามอนเนมีความรู้เรื่องสหรัฐอเมริกาดี และรู้จักคุ้นเคยกับผู้บริหารหลายคน ทำให้เขาได้กลับสู่วงการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ มอนเนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาถึง ๓ ครั้งโดยได้พยายามเจรจาติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ลดเงื่อนไขต่าง ๆ ลง และหาวิธีให้ฝรั่งเศสได้เครื่องบินมาใช้ในกองทัพอากาศโดยเร็ว แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัดเครื่องบินงวดแรกจึงถูกส่งมาถึงฝรั่งเศสก่อนการถูกยึดครองในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ มอนเน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการประสานงานทางเศรษฐกิจระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ (Franco-British Economic Committee) และไปประจำอยู่ ณ สำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ใน ต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เมื่อฝรั่งเศสมีท่าทีว่าจะพ่ายแพ้แก่กองทัพนาซีของเยอรมนี มอนเนได้เสนอแผนจัดตั้งสหภาพอังกฤษ-ฝรั่งเศส (Anglo-French Union) เพื่อร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของเยอรมนีอย่างมีประสิทธิภาพต่อรัฐบาลอังกฤษที่มีเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Chirchill)* เป็นนายกรัฐมนตรีสหภาพดังกล่าวจะเป็นสหภาพศุลกากรที่มีระบบเงินตราเดียวกัน มีกองทัพร่วมและประชากรจะได้รับสิทธิในความเป็นพลเมืองร่วมกันด้วย ข้อเสนอนี้ได้รับความ เห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษและถูกส่งผ่านนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีปอล เรโน (Paul Reynaud)* ซึ่งลี้ภัยจากกรุงปารีสไปจัดประชุมคณะรัฐมนตรีที่ เมืองบอร์โด แต่ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ รัฐบาลเรโนก็ต้อง ลาออกทั้งคณะเพื่อเปิดทางให้จอมพล อองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri-Philippe Pétain)* เข้ามาบริหารประเทศและต่อมาในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ฝรั่งเศสก็ต้องยอมแพ้ต่อกองทัพนาซี ข้อเสนอของมอนเนจึงถูกทอดทิ้งโดยปริยาย อย่างไรก็ดีหลังจากที่ฝรั่งเศสถูกยึดครองแล้วมอนเนก็ยังคงทำงานในฐานะนักการทูตฝรั่งเศสให้กับฝ่ายพันธมิตรในประเทศอังกฤษต่อไป ต่อมารัฐบาล อังกฤษส่งเขาไปประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของสภาส่งกำลังบำรุงของกองทัพอังกฤษ (British Supply Council) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อทำหน้าที่จัดซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาไม่นานเขาก็ได้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวทางด้านกิจการยุโรปของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาที่ ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง
     เมื่อมาถึงสหรัฐอเมริกาใหม่ ๆ มอนเนตื่นตระหนกที่เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้เตรียมตัวเข้าสู่สงครามแต่ประการใด เขาจึงพยายามสนับสนุนให้ประธานาธิบดีรูสเวลต์จัดตั้งโครงการผลิตอาวุธในปริมาณมากเพื่อจัดส่งให้แก่ฝ่ายพันธมิตรในสมรภูมิสงครามโลก เพราะมั่นใจว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถทำหน้าที่เป็น "คลังแสงที่ยิ่งใหญ่ของประชาธิปไตย" และเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาจะถูกดึงเข้าสู่สงครามในไม่ช้าฉะนั้นด้วยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์แห่งอังกฤษ สหรัฐอเมริกาจึงจัดตั้ง "โครงการวิกตอรี" (Victory Program) ซึ่งเป็นโครงการระดมกำลังทางเศรษฐกิจและผลิตอาวุธในปริมาณมากเพื่อใช้ในกองทัพขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๑ และต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ (Axis Powers)* หลังญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ โครงการดังกล่าวก็สามารถเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที
     ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๓ ประธานาธิบดีรูสเวลต์ส่งมอนเนไปประจำ ณ กรุงแอลเจียร์ (Algiers) เมืองหลวงของแอลจีเรียเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ระหว่างนายพลเดอ โกล หัวหน้ารัฐบาลพลัดถิ่นฝรั่งเศสกับนายพลอองรี จีโร (Henri Giraud) ผู้บัญชาการกองทัพในแอลจีเรียให้แก่ฝ่ายพันธมิตรเพื่อให้เตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการปลดปล่อยฝรั่งเศส มอนเนจึงได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการปลดปล่อยแห่งชาติฝรั่งเศสหรือซีเอฟแอลเอ็น (French National Liberation Committee - CFLN) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๓ คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลกลางของขบวนการฝรั่งเศสเสรี โดยประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี (Commissionners) ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งต่าง ๆ ส่วนมอนเนทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ และยังได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระจากคำสั่งของสหรัฐอเมริกา มอนเนเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทั้งก่อนและหลังการปลดปล่อยฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๔๔ และในระหว่างนั้น เขายังได้วางแผนสำหรับอนาคตของยุโรปหลังสงครามไว้ด้วยโดยเสนอต่อที่ ประชุมคณะกรรมการปลดปล่อยแห่งชาติเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรวมตัวกันในระบบสหพันธ์ โดยย้ำว่า จะไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นในยุโรปหากประเทศต่าง ๆ ยังคงยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของการรักษาอธิปไตยของตนไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะประเทศในยุโรปส่วนใหญ่เล็กเกินกว่าที่จะค้ำประกันความปลอดภัยและสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจรวมทั้งพัฒนาสังคมโดยลำพังได้ แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติในขณะนั้น แต่ก็ได้กลายเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของการบูรณาการยุโรปในภายหลัง
     หลังการยกพลขึ้นบกที่นอร์มองดี (Normandy) ในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ แล้ว มอนเนยังคงอยู่ในสหรัฐอเมริกาต่อไปเพื่อเจรจาขอยืมเงินจากสหรัฐอเมริกาตามกฎหมายการกู้ยืม (Lend-Lease Act) เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศหลังสงคราม และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการนำเข้าสินค้า (Imports Committee) ของฝรั่งเศสด้วย แต่เขาลาออกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เพื่อมุ่งหน้าทำงานในการเจรจากู้ยืมเงินแต่เพียงอย่างเดียว แม้ว่าเขาจะถูกลบชื่อออกจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกาลที่เดอโกลจัดตั้งขึ้นและไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการเศรษฐกิจ (Economic Committee) ของฝรั่งเศสแล้วแต่มอนเนก็ยังคงได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ สหรัฐอเมริกาก็อนุมัติให้ฝรั่งเศสกู้ยืมเงิน และนับเป็นโชคดีของฝรั่งเศสที่ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S Truman)ยกเลิกกฎหมายการกู้ยืมในวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังอนุมัติให้ฝรั่งเศสกู้ยืมไปแล้ว ๖ เดือน
     มอนเนเดินทางกลับฝรั่งเศสในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ และต่อมาเขายังได้เสนอ "แผนมอนเน" (Monnet Plan) ต่อรัฐบาลเดอโกลเพื่อให้มีการวางแผนทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวสำหรับใช้ในการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจและปรับปรุงประเทศในช่วงหลังสงครามอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ รัฐบาลรับข้อเสนอดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ แต่เพิ่งมาจัดตั้งสำนักงานกลางที่รับผิดชอบการดำเนินงานด้านการวางแผนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในเดือนมกราคม ค.ศ.๑๙๔๗ โดยแต่งตั้งให้มอนเนเป็นผู้อำนวยการคนแรก การดำเนินงานด้านการวางแผนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของเขาเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มอนเนได้รับการยกย่องและมีอิทธิพลอย่างมากในวงการเศรษฐกิจการเมืองของฝรั่งเศสในช่วงต้นของสมัยสาธารณรัฐที่ ๔ (Fourth French Republic) และสำนักวางแผนที่เขาเป็นต้นคิดก็ได้กลายเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่ประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ด้วยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๔๘ มอนเนยังมีบทบาทอยู่เบี้องหลังการเจรจาขอรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ให้แก่ฝรั่งเศสด้วย และเป็นผู้เสนอชื่อโรแบร์ มาร์โชแลง (Robert Marjolin) เป็นเลขาธิการคนแรกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือโออีอีซี(Organization for European Economic Cooperation - OEEC)* ซึ่งตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๘ เพื่อบริหารการใช้เงินของประเทศต่าง ๆ ที่รับความช่วยเหลือภายใต้แผนมาร์แชลล์
     ในปลายทศวรรษ ๑๙๔๐ มอนเนหันมาดำเนินงานในด้านการบูรณาการยุโรปเพื่อทำให้แนวคิดในการจัดตั้งสหพันธ์หรือสหรัฐแห่งยุโรป (United States of Europe) บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม เขาเห็นว่ายุโรปไม่อาจฟื้นตัวและยืนหยัดอยู่ได้โดยลำพังหากประเทศต่าง ๆ ไม่รวมตัวกันในระบบสหพันธ์ โดยมีองค์การเหนือรัฐ (supranational organization) ทำหน้าที่บริหารงานและมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ มอนเนยังเห็นว่ายุโรปควรรวมกันในทางเศรษฐกิจก่อนเพื่อนำไปสู่ผลทางการเมืองในบั้นปลายและควรเริ่มที่ "จุด" หรือ "ภาคส่วน" เล็ก ๆ ทว่ามีความสำคัญก่อนแล้วจึงค่อย ๆ ขยายออกไปให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทฤษฎีการรวมยุโรปของมอนเนดังกล่าวนี้ได้ชื่อว่าทฤษฎีภาคส่วน (Sectoral Integration) ซึ่งต่อมานักวิชาการชาว อเมริกันเรียกทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีหน้าที่นิยมใหม่ (Neo- Functionalism) และเขายังเห็นว่าองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป และสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) เป็นต้น ยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการบูรณาการยุโรปได้ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๐ มอนเนได้ยื่นข้อเสนอต่อโรแบร์ ชูมอง (Robert Schuman)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ฝรั่งเศสเชิญชวน เยอรมนีตะวันตกเป็นแกนนำจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปขึ้นโดยรวมอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กกล้าของ ๒ ประเทศเข้าด้วยกันในลักษณะตลาดร่วม และให้ประเทศอื่นๆที่สนใจเข้าร่วมในตลาดนี้ได้ มอนเนให้เหตุผลว่าการจัดตั้งตลาดร่วมดังกล่าวนอกจากจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของประเทศต่าง ๆ ให้เจริญขึ้นได้อย่างรวดเร็วแล้วยังจะช่วยป้องกันการรุกรานจากเยอรมนีเพื่อนบ้านซึ่งเป็นอริกันมาเป็นเวลานาน ทั้งยังจะเป็นหนทางให้สามารถรวมยุโรปเข้าด้วยกันได้ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับความสนใจจากชูมองเป็นอย่างมาก เพราะเขาเห็นว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเข้าไปดูแลแคว้นรูร์ (Ruhr) แทนคณะกรรมาธิการนานาชาติ (International Ruhr Authority) และยังจะเป็นหนทางให้ฝรั่งเศสสามารถแก้ไข ปัญหาการครอบครองแคว้นซาร์ (Saar) ของเยอรมนีที่ยังตกลงกันไม่ได้ เขาจึงมอบหมายให้มอนเนจัดทำรายละเอียดของแผนเพื่อนำเสนอต่อประเทศต่าง ๆ ต่อไป
     ในตอนเย็นวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ในนามของรัฐบาลฝรั่งเศสชูมองก็ประกาศแผนจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามแผนชูมอง (Schuman Plan) ต่อที่ประชุมผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงปารีส การประกาศนี้ก่อให้เกิดความสนใจโดยทั่วไปทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก อิตาลี และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* การเจรจาระหว่างประเทศทั้งหกจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ โดยมีมอนเนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝรั่งเศสซึ่งประกอบด้วยนักวางแผนจากสำนักงานวางแผนของเขาเป็นส่วนใหญ่ ในการดำเนินการเจรจามอนเนมีบทบาทโดดเด่น เขาไม่ชอบการประชุมใหญ่ที่ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากแต่ชอบการประชุมกลุ่มเล็ก ๆ กับหัวหน้าคณะผู้แทนในลักษณะเป็นมิตรมากกว่าการโต้แย้ง และเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งชูมองก็จะเข้ามาช่วย การเจรจาเพื่อจัดตั้งอีซีเอสซียุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๑ และต่อมาในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ เมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยมีมอนเนเป็นประธานคนแรกของคณะกรรมาธิการของประชาคม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ลักเซมเบิร์ก ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของยุโรป ๖ ประเทศที่สามารถจัดตั้งองค์การเหนือรัฐขึ้นมาได้วันที่ ๙ พฤษภาคมของทุกปีจึงถือเป็น "วันยุโรป" (Europe Day) หรือวันเริ่มต้นของสหภาพยุโรปที่มีมอนเนเป็นสถาปนิกคนแรก
     ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๕๐ มอนเนยังได้ร่างแผนจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปหรือประชาคมป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community EDC)* เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเรอเน เปลอวอง (René Pleven)* เพื่อแก้ไขปัญหาการติดอาวุธให้แก่เยอรมนีตะวันตก และการนำเยอรมนีตะวันตกเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* อีดีซีที่มอนเนเสนอนี้จะเป็นหน่วยงานเหนือรัฐทำหน้าที่บังคับบัญชา กองทัพร่วมตามแบบเดียวกับอีซีเอสซีซึ่งกำลังดำเนินการเจรจาอยู่ในขณะนั้น แม้ว่าเมื่อเปลอวองประกาศแผนดังกล่าวซึ่งรู้จักกันในนามแผนเปลอวอง (Pleven Plan) ต่อที่ประชุมชาติสมาชิกที่จะประกอบขึ้นเป็นอีซีเอสซีในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ เยอรมนีตะวันตกภายใต้การนำของคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* จะไม่เห็นด้วย แต่หลังการประสานงานกับสหรัฐอเมริกาและปรับปรุงแผนก็ทำให้เยอรมนีตะวันตกยอมรับ เพราะต้องการให้เยอรมนีตะวันตกได้รับอธิปไตยอย่างสมบูรณ์จากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติที่สำคัญกว่า ทั้งยังจะทำให้การจัดตั้งอีซีเอสซีเกิดขึ้นได้ ส่วนชาติสมาชิกอีก ๔ ประเทศก็เห็นด้วยแม้ว่าบางประเทศจะยังลังเลก็ตาม ประเทศทั้งหกจึงเปิดการประชุมเจรจาเพื่อจัดตั้งอีดีซีตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๕๑ โดยมีมอนเนเป็นผู้ประสานงานกับสหรัฐอเมริกาอย่างแข็งขันแต่เขาไม่ได้มีส่วนในการเจรจาครั้งนี้ การเจรจายุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาปารีส เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ สนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับการให้สัตยาบันจากประเทศภาคีสมาชิกทั้ง ๕ ประเทศภายในเวลา ๖ เดือน แต่ในฝรั่งเศสกลับมีปัญหาเพราะถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มโกลลิสต์ (Gaullist) และกลุ่มคอมมิวนิสต์และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ชูมองต้องพ้นจาก ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปลาย ค.ศ. ๑๙๕๒ โดยชอร์ช บีโดลต์ (Georges Bidault)* ซึ่งไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาฉบับนี้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน และใน ค.ศ. ๑๙๕๓ มอนเนยังถูกโจมตีจากเดอ โกลในที่ประชุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่าเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังของการจัดทำสนธิสัญญาอีดีซีด้วย
     อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ ในสมัยปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์ (Pierre Mendès- France)* เป็นนายกรัฐมนตรี สนธิสัญญาจัดตั้งอีดีซีก็ไม่ผ่านการให้สัตยาบันในรัฐสภาฝรั่งเศส การล้มของอีดีซีถือเป็นวิกฤตครั้งสำคัญในกระบวนการรวมยุโรป และเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของมอนเนซึ่งทำให้เขาผิดหวังเป็นอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ ฝรั่งเศสยังต้องยอมรับการติดอาวุธให้แก่กองทัพเยอรมนีตะวันตกในกรอบของนาโตซึ่งเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสพยายาม ต่อต้านมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๐ ในขณะเดียวกันมองแดสฟรองซ์ยังพยายามลดอำนาจเหนือรัฐในคณะกรรมาธิการอีซีเอสซีด้วย ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๔ มอนเน จึงประกาศว่าเมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๕ แล้วเขาจะไม่ดำรงตำแหน่งในวาระที่ ๒ เพื่ออุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการบูรณาการยุโรป อย่างไรก็ดี ในต้นเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๕ รัฐบาลมองแดส-ฟรองซ์ต้องลาออกทั้งคณะ ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุมรัฐมนตรี ต่างประเทศเพื่อแต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการคนใหม่ตามที่กำหนดไว้ในเดือนเดียวกันได้ มอนเนจึงดำรงตำแหน่งต่อมาจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๕
     ในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๕๕ มอนเนยังได้ร่วมมือกับปอล-อองรี สปาก (Paul-Henri Spaak)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมจัดทำแผนจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community - EURATOM)* ในลักษณะองค์การเหนือรัฐ เพื่อนำพลังงานมาใช้ ประโยชน์ในทางสันติ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและแวดวงอุตสาหกรรมในฝรั่งเศส แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจากเยอรมนีตะวันตกและ ภาคีสมาชิกอีก ๔ ประเทศของอีซีเอสซี ซึ่งต้องการให้ขยายการบูรณาการทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนในลักษณะตลาดร่วม (Common Market) ตาม ข้อเสนอของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์มากกว่า สปากจึงทำหน้าที่เป็นผู้แทนของมอนเนดำเนินการเจรจากับเยอรมนีตะวันตกและกลุ่มเบเนลักซ์เพื่อรวมข้อเสนอเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community - EEC)* เข้าในชุดเดียวกันกับข้อเสนอเพื่อจัดตั้งยูราตอม และนำเข้าสู่วาระการประชุมที่เมืองเมสซีนา (Messina Conference)* ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๕
     ในการประชุมครั้งนี้มอนเนไม่ได้เข้าร่วมด้วยเพราะเป็นการประชุมเพื่อแต่งตั้งผู้ที่ จะมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการอีซีเอสซีแทนเขา และแม้ว่าผลของการประชุมในส่วนที่เกี่ยวกับการบูรณาการยุโรปจะเป็นไปตามที่มอนเนต้องการ แต่เขาก็ไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในคณะทำงานเพื่อจัดทำรายละเอียดในการเจรจาเพื่อจัดตั้งอีอีซีและยูราตอมตามมติที่ประชุมแต่อย่างใด มอนเนจึงไม่มีบทบาทอย่างเป็นทางการในการจัดตั้งประชาคมทั้งสองในเวลาต่อมาการประชุมที่เมืองเมสซีนานับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตการทำงานของเขา เพราะในสมัยที่มอนเนเป็นประธานคณะกรรมาธิการของอีซีเอสซี เขามีอิทธิพลมากและสามารถเจรจาติดต่อกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั้ง ๒ ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกได้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นอาเดเนาวร์ ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) หรือผู้นำประเทศยุโรปคนอื่น ๆ ทำให้การทำงานประสบผลสำเร็จและคณะกรรมาธิการก็เป็นหน่วยงานที่เข้มแข็งมาก แต่หลังการประชุมที่เมืองเมสซีนาแล้วอิทธิพลในวงการเมืองระหว่างประเทศของมอนเนลดลงไปมาก แม้ว่าเขาจะยังสามารถติดต่อกับบรรดาผู้นำเหล่านี้ได้ แต่ก็เป็นการติดต่อส่วนตัวเท่านั้นและการที่มอนเนมีอิทธิพลในคณะกรรมาธิการอย่างมากนี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ของอีอีซีไม่ได้ใช้ชื่อ High Authority ดังเช่นอีซีเอสซี
     อย่างไรก็ดี หลังมอนเนเดินทางกลับกรุงปารีสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๕ แล้ว เขาก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อการบูรณาการยุโรปต่อไป แม้ว่าเขาจะเริ่มมีอายุมากแล้ว ในเดือนตุลาคมมอนเนได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อสหรัฐแห่งยุโรป (Action Committee for the United States of Europe - ACUSE) ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและยูราตอมโดยเขา เป็นประธาน คณะกรรมการดำเนินงานนี้เป็นองค์การเอกชนอิสระที่ไม่ผูกพันกับพรรคการเมืองใด ๆ แต่ประกอบด้วยผู้แทนพรรคและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ จาก ประเทศสมาชิกอีซีเอสซีถึง ๒๐ พรรค [ยกเว้นพวกคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยมเนนนีแห่งอิตาลี (Socialist Nenni of Italy) และพรรคโกลลิสต์ฝรั่งเศส] และผู้แทนสหภาพแรงงานและสหพันธ์ทางการค้ากว่า ๑๐ สหภาพนอกจากนี้ยังมีสมาชิกที่เป็นนักวิชาการ นักธุรกิจอุตสาหกร และบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ ทุกสาขาจากประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปซึ่งในเวลาต่อมารวมอังกฤษด้วย นับเป็นองค์กรที่ใหญ่มาก ในช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๕๐ คณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและยูราตอมโดยมีการจัดตั้งคณะทำงานชุดต่าง ๆ และ จัดการประชุมอย่างสม่ำเสมอพร้อมทั้งจัดส่งมติให้คณะทำงานของทางราชการตลอดเวลาเพื่อให้การจัดตั้งประชาคมทั้งสองตอบสนองความต้องการของกลุ่มธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในช่วงนี้มอนเนทำงานอย่างหนัก ในตอนแรกเขาต้องการให้สมาชิกของคณะกรรมการดังกล่าวสนับสนุนการจัดตั้งยูราตอมซึ่งเป็นผลิตผลทางความคิดของเขามากกว่าอีอีซี แต่ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่กลับให้การสนับสนุนอีอี ซีมากกว่า ในที่สุดมอนเนจึงหันมาสนับสนุนอีอีซีอย่างเต็มที่ และนับเป็นโชคดีของมอนเนที่เหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๕๖ โดยเฉพาะวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Cisis) และนโยบายของนายกรัฐมนตรีกี มอลเล (Guy Mollet)* ที่สนับสนุนการรวมยุโรปได้มีส่วนช่วยให้การทำงานของ เขาประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากทางราชการ และคณะทำงานระหว่างประเทศภายใต้การนำของสปาก
     อย่างไรก็ดี ในพิธีลงนามสนธิสัญญาโรม (Treaties of Rome)* ทั้ง ๒ ฉบับเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ มอนเนไม่ได้ไปร่วมด้วย เขายังคงช่วยประชาคมยุโรปทางอ้อม โดยผ่านทางคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อสหรัฐแห่งยุโรปเท่านั้น และต่อมาในต้น ค.ศ. ๑๙๕๘ เมื่อประชาคมทั้งสองเริ่มปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการมอนเนก็ได้ช่วยราชการอีกครั้ง โดยเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเจรจาขอให้สหรัฐอเมริกาจัดทำกำหนดเวลาคืนเงินที่ฝรั่งเศสกู้ยืมมาในช่วงการปลดปล่อยประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๔๕ ใหม่ซึ่งได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี
     หลังการกลับคืนสู่อำนาจของเดอ โกล ในเดือน มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๘ มอนเนถอยห่างออกมาจากประชาคมยุโรป เพราะไม่ลงรอยกับเดอ โกลทั้งในด้านความคิดเห็นส่วนตัวและวิสัยทัศน์ในด้านการรวมยุโรปเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเดอ โกลที่ไม่ยอมรับอังกฤษเข้าร่วมประชาคมยุโรป ในขณะที่เดอ โกลก็มักเห็นว่าเขาเข้าข้างพวกแองโกล-แซกซันอยู่เสมอ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ มอนเนยังใช้คณะกรรมการดำเนินงานเพื่อสหรัฐแห่งยุโรปเป็นศูนย์กลางต่อต้านนโยบายของเดอ โกลด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้งและได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ที่ทำเนียบขาวซึ่งให้การต้อนรับเขาอย่างสมเกียรติ ในช่วงเวลา ๒๐ ปีนับแต่ ค.ศ. ๑๙๕๕ เป็นต้นมา นอกจากการทำงานเพื่อสนับสนุนการรวมยุโรปมาโดยตลอดแล้ว มอนเนยังเดินทางไปพบกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ของยุโรปหลายประเทศ ซึ่งเขาก็ได้รับการตอบรับและสนับสนุนด้วยดีใน ค.ศ. ๑๙๗๕ มอนเนก็ได้ยุบเลิกคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อสหรัฐแห่งยุโรปลง และยุติบทบาททางการเมืองของเขาอย่างถาวร โดยกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักในชนบทที่เมืองอูจาร์เร (Houjarray) ใกล้กรุงปารีสจนถึงแก่อสัญกรรม
     ในด้านชีวิตส่วนตัว ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ขณะมีอายุ ๔๑ ปี มอนเนได้พบกับซิลเวีย เดอ บงดินี (Silvia de Bondini) จิตรกรชาวอิตาลีที่มีอายุอ่อนกว่าเขาถึง ๒๐ ปี ซิลเวียเป็นคนสวยมาก และเมื่อทั้งสองพบกันก็รักกันโดยทันที แต่กว่าจะสมรสกันได้ก็ต้องใช้เวลาหลายปีเพราะซิลเวียเพิ่งแต่งงานกับฟรันซิสโก จันนีนี (Francisco Giannini) ซึ่งเป็นผู้แทนของธนาคาร Blair and Company ในกรุงโรมที่มอนเนเป็นผู้บริหารอยู่ได้ไม่นานนัก และการหย่าในประเทศคาทอลิกอย่างเช่นอิตาลีและฝรั่งเศส เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ลุดวิก รัจช์มัน (Ludwig Rajchman) เพื่อนของมอนเนในสมัยทำงานที่สันนิบาตชาติ และเอกอัครราชทูตอเมริกันและฝรั่งเศสประจำกรุงมอสโก ก็ได้จัดการให้ซิลเวียเดินทางมาพบกับมอนเนที่กรุงมอสโกและหลังจากการเปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซียแล้วซิลเวียก็ได้หย่าสามีเก่าและสมรสกับมอนเนโดยทันที อย่างไรก็ดีสิทธิในการเลี้ยงดูอานนา (Anna) บุตรสาวของซิลเวียกับสามีเก่าก็ยังเป็นปัญหา ซิลเวียกับอานนาจึงต้องลี้ภัยอยู่ในสถานกงสุลโซเวียตที่ช่างไห่จน ค.ศ. ๑๙๓๕ และในที่สุดปัญหาการแย่งบุตรก็ยุติลงที่นครนิวยอร์กใน ค.ศ. ๑๙๓๗ โดยซิลเวียได้ชัยชนะ ครอบครัวมอนเนเดินทางกลับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๔๕ และใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เขาทั้งสองก็มีบุตรสาวเพิ่มขึ้นอีก ๑ คน คือมาเรียนน์ (Marienne) หลังการเสียชีวิตของจันนีนีใน ค.ศ. ๑๙๗๔ มอนเนและซิลเวียก็ได้ทำพิธีสมรสตามแบบคาทอลิกอีกครั้งที่วิหารเมืองลูร์ด (Lourdes) ทั้งสองเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดและรักกันมาก ในยามที่อยู่ห่างไกลกันมอนเนจะเขียนจดหมายถึงเธอแทบทุกวันและรับฟังความคิดเห็นของเธอในเรื่องต่าง ๆ เสมอ
     มอนเนใช้ชีวิตบั้นปลายในการเขียนบันทึกความทรงจำ (Memoirs) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ หนังสือเรื่องนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของเขาและการจัดตั้งประชาคมยุโรปเป็นส่วนใหญ่จึงกลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่ง ในระหว่างที่ใช้ชีวิตที่อูจาร์เร มอนเนมักให้คำแนะนำแก่มิตรสหายและเพื่อนร่วมงานที่มาเยี่ยมเยือนให้มุ่งหน้าทำงานเพื่อการรวมยุโรปต่อไปเสมอ เขามักกล่าวว่าจะไม่มีอนาคตสำหรับชาวยุโรปหากไม่มีการจัดตั้งสหภาพขึ้น
     ชอง โอแมร์ มารี กาบรีเอล มอนเน หรือที่คนทั่วไปเรียกเขาว่า ชอง มอนเน ถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านพักที่เมืองอูจาร์เร เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ ขณะมีอายุ ๙๐ ปี ๔ เดือน พิธีศพของเขาถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติที่วิหารคาทอลิกเมืองมงต์ฟอร์ลาโมรี (Montfort l’ Amaury) ใกล้เมืองอูจาร์เรในวันที่ ๒๐ มีนาคม โดยมีประมุขผู้นำรัฐบาลและผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ในประชาคมยุโรป โดยเฉพาะผู้แทนของชาติสมาชิกเริ่มแรกทั้ง ๖ ประเทศ มิตรสหายและเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันหลายคนมาร่วมพิธีอย่างคับคั่ง จนทำให้วิหารแห่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ดูเล็กลงไปถนัด ในวันนั้นได้มีการบรรเลงเพลงคลาสสิกชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงของแต่ละชาติสมาชิกทั้ง ๖ ประเทศ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา และมีการบรรเลงเพลง "Battle Hymn of the Republic" ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเพลงโปรดของมอนเนคั่นกลางด้วย ร่างของมอนเนได้รับการบรรจุไว้ ณ สุสาน เมืองอูจาร์เร และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๘ ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งชาตกาลของเขาประธานาธิบดีฟรองซัว มิตแตร์รอง (François Mitterrand)* ได้สั่งให้ย้ายร่างของมอนเนมาประกอบพิธีบรรจุไว้ที่วิหารแห่งชาติปงเตอง (Panthéon) ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นเกียรติสูงสุดที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้แก่บุคคลที่ทำคุณประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ
     ชอง มอนเนได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์การรวมยุโรปและนักนิยมยุโรป (Europeanist) ว่าเป็น "บิดาแห่งยุโรป" (Father of Europe) หรือ"บิดาแห่งประชาคมยุโรป" (Father of European Community) เพราะเขาเป็นผู้ที่ได้นำความคิดในการรวมยุโรป ซึ่งแม้ว่าจะมีมาก่อนหน้านั้นแล้วเป็นเวลานานมาจำกัดวงให้แคบเข้า และมุ่งมั่นในการทำงานจนทำให้ประชาคมยุโรปประชาคมแรกเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ยุโรปที่เคยแตกแยกกันมาเป็นเวลานานรวมกันได้เท่านั้น หากแต่ยังทำให้ความเป็นศัตรูระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีซึ่งมี มาเป็นเวลานับศตวรรษยุติลงได้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ แนวความคิดในการรวมยุโรปของเขาซึ่งถือเป็นมรดกสำคัญที่มอนเนทิ้งไว้ให้แก่ยุโรปยังได้ถูกนำไปใช้ในกระบวนการรวมยุโรปในหลายเรื่อง ๆ จนบรรลุผลเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน
     มอนเนได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติมากมายอาทิใน ค.ศ. ๑๙๕๓ เขาได้รับรางวัลคาร์ล (Karlpreis) จากนครอาร์เคิน (City of Aachen) ของเยอรมนีซึ่งให้แก่บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ยุโรป ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ได้รับเหรียญ Presidential Medal of Freedom จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเหรียญชั้นสูงสุดที่ให้แก่ พลเรือน ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ (Lausanne) สวิตเซอร์แลนด์ และต่อมายังได้มีการจัดตั้งมูลนิธิชองมอนเนสำหรับยุโรป (Jean Monnet Foundation for Europe) ที่เมืองโลซานน์ด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ ที่ประชุมสุดยอดยุโรป (European Council) ของประชาคมยุโรปที่ลักเซมเบิร์กได้มีมติแต่งตั้งเขาเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของยุโรป (Honorary Citizen of Europe) ซึ่งมอนเนไดรับเกียรตินี้แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ชื่อของเขายังได้รับเกียรติให้เป็นชื่อสถาบันของประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรปหลายแห่งทั้งในกรุงบรัสเซลล์และลักเซมเบิร์ก และเป็นชื่อของมูลนิธิเงินทุนตลอดจนสถาบันการศึกษาและการวิจัยในระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวกับยุโรปศึกษาและสหภาพยุโรปในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้รัฐสภายุโรป (European Parliament)ยังได้ซื้อบ้านพักของมอนเนที่อูจาร์เรและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาของอนุชนรุ่นหลังด้วย.



คำตั้ง
Monnet, Jean Omer Marie Gabriel
คำเทียบ
นายชอง โอแมร์ มารี กาบรีเอล มอนเน
คำสำคัญ
- อูจาร์เร, เมือง
- ลูร์ด, เมือง
- อาเดเนาร์, คอนราด
- การประชุมที่เมืองเมสซีนา
- รัจช์มัน, ลุดวิก
- มิตแตร์รอง, ฟรองซัว
- สนธิสัญญาปารีส
- รูร์, แคว้น
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- แผนเปลอวอง
- แผนชูมอง
- กลุ่มประเทศเบเนลักซ์
- ซาร์, แคว้น
- ประชาคมป้องกันยุโรป
- เปลอวอง, เรอเน
- กลุ่มโกลลิสต์
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป
- สมัยสาธารณรัฐที่ ๔
- แผนมอนเน
- มาร์โชแลง, โรแบร์
- สภาแห่งยุโรป
- แผนมาร์แชลล์
- วันดี-เดย์
- แอลเจียร์, กรุง
- อักษะ, ฝ่าย
- ชูมอง, โรแบร์
- ทรูแมน, แฮร์รี เอส
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน ดี.
- นอร์มองดี
- เพิร์ลฮาร์เบอร์
- จีโร, อองรี
- โครงการวิกตอรี
- คณะกรรมการปลดปล่อยแห่งชาติฝรั่งเศสหรือซีเอฟแอลเอ็น
- กฎหมายการกู้ยืม
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- สหภาพอังกฤษ-ฝรั่งเศส
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- เปแตง, อองรี ฟิลิป
- เรโน, ปอล
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- ดาลาดีเย, เอดูอาร์
- ดรัมมอนด์, เซอร์เอริก
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ครูเกอร์, อิวาร์
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เบอนง, แฟร์นอง
- รีวีอานี, เรอเน
- กรณีพิพาทอัปเปอร์ไซลีเซีย
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- มีลเลอรอง, อะเล็กซองดร์
- สหภาพยุโรป
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- องค์การสันนิบาตชาติ
- บอร์โด, เมือง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ประชาคมยุโรป
- มอนเน, ชอง โอแมร์ มารี กาบรีเอล
- ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป
- เดอแมล, มาเรีย
- ชองกาบรีเอล
- รัฐสภายุโรป
- คอนญัก, เมือง
- ขบวนการฝรั่งเศสเสรี
- ดัลเลส, จอห์น ฟอสเตอร์
- ประชาคมพลังงานปรมาณูแห่งยุโรปหรือยูราตอม
- บีโดลต์, ชอร์ช
- ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
- มองแดส-ฟรองซ์, ปีแยร์
- สปาก, ปอล-อองรี
- คณะกรรมาธิการยุโรป
- ไอเซนฮาวร์, ดไวต์ ดี.
- พรรคสังคมนิยมเนนนีแห่งอิตาลี
- เคนเนดี, จอห์น เอฟ.
- มอลเล, กี
- สนธิสัญญาโรม
- บงดินี, ซิลเวีย เดอ
- จันนีนี, ฟรันซิสโก
- มงต์ฟอร์ลาโมรี, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1888-1979
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๑-๒๕๒๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf