ปีแยร์ ลาวาล เป็นนักการเมืองชาวฝรั่งเศส เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๙ และ ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๗ เป็นนายกรัฐมนตรี ๒ สมัย และเป็นรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ทั้งยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลวิชี (Vichy Government)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ฝรั่งเศสใช้นโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๕ โดยการทำกติกาสัญญาฮอร์-ลาวาล (Hoare-Laval Pact)* เพื่อเอาใจอิตาลีในการเรียกร้องดินแดนจากเอธิโอเปีย [ขณะนั้นเรียกอะบิสซิเนีย (Abyssinia)] และให้ความร่วมมือทุกวิถีทางกับนาซีเยอรมนีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องไม่ให้ฝรั่งเศสต้องทำสงครามกับเยอรมนี นโยบายนี้ทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาทรยศต่อชาติหลังสงครามยุติลง ใน ค.ศ. ๑๙๔๕
ลาวาลเกิดเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๓ ที่เมืองชาแตลดง (Châteldon) ในแคว้นปุยเดอโดม (Puy-de-Dôme) หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชากฎหมายแล้ว เขาประกอบอาชีพครู และเข้าสู่ชีวิตการเมืองโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (French Socialist Party - SFIO) ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ขณะมีอายุเพียง ๒๐ ปี เนื่องจากมีความประทับใจในอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยมและเคยเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวของนักการเมืองฝ่ายซ้ายกลุ่มซินดิคัล (Syndicalists) มาก่อน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ลาวาลเปลี่ยนอาชีพมาเป็นทนายความในกรุงปารีสและได้สร้างชื่อเสียงด้วยการอุทิศตนว่าความให้กับสหภาพแรงงานและพวกฝ่ายซ้ายเป็นส่วนใหญ่
ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ลาวาลได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตโอแบร์วีลีเยร์ (Aubervilliers) ซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรมชานกรุงปารีส และเนื่องจากเขาเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดในทางนิยมสันติและต่อต้านสงคราม เขาจึงเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในช่วงที่มีการระดมพลก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เล็กน้อย ทำให้เขาถูกตำรวจจับกุมในข้อหาต่อต้านกองทัพ แต่เขาก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี เมื่อฝรั่งเศสเข้าสู่สงครามในวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ลาวาลถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพบกและได้ออกไปรบในสมรภูมิด้วย ขณะเดียวกันเขาก็เรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามหาทางยุติสงครามโดยเร็ว แนวคิดของลาวาลเช่นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็น "ทัศนะของผู้แพ้" บุคคลสำคัญที่ต่อต้านลาวาล ได้แก่ โชแซฟ กาโย (Joseph Caillaux)* และ ลุย-ชอง มัลวี (Louis-Jean Malvy)
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ลาวาลหันเหแนวคิดทางการเมืองจากสังคมนิยมมาเป็นอนุรักษนิยมอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นหลังการพ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาจึงลาออกจากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสในปีถัดมา และหันมาประกอบอาชีพทนายความต่อไปพร้อม ๆ กับเริ่มทำธุรกิจด้านหนังสือพิมพ์ไปด้วย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ลาวาลได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโอแบร์วีลีเยร์ และได้รับเลือกตั้งซ้ำอีกหลายครั้งจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๔ รวมเวลาที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองนี้ถึง ๒๑ ปี นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ลาวาลยังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งในนามของพรรคริพับลิกัน (Republican Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา และได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๒๕ โดยได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ จากนั้นลาวาลก็มีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด กล่าวคือ ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลปอล แปงเลอเว (Paul Painlevé) ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลอารีสตีด บรียอง (Aristide Briand)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ทั้งยังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ด้วย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาผ่านกฎหมายประกันสังคม (Social Insurance Act) ได้เป็นผลสำเร็จ ขณะเดียวกันลาวาลก็ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจส่วนตัวจนมีฐานะในระดับมหาเศรษฐี
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๒ ลาวาลได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก และได้ว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย เขาประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากเขามีความสามารถในการเจรจาไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคและระหว่างพรรคต่าง ๆ รวมทั้งสามารถจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ในด้านการต่างประเทศนั้นลาวาลกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากเขาไม่สามารถใช้วิธีการแบบเดียวกันนี้ได้ ทั้งยังมักดำเนินนโยบายต่างประเทศและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยไม่ผ่านหรือหารือกับรัฐมนตรีคนอื่น ๆ บ่อยครั้ง งานที่ประสบความสำเร็จของลาวาลขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก คือ การเจรจาขอเลื่อนการชำระหนี้ของฝรั่งเศสกับประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) แห่งสหรัฐอเมริกาและการเดินทางไปเยือนกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีอย่างเป็นทางการพร้อมกับบรียองใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เพื่อเปิด "ศักราชใหม่" แห่งความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี นอกจากนี้ก็ไม่มีเรื่องใดทีโดดเด่น
อย่างไรก็ดี หลังรัฐบาลของเขาหมดอำนาจลง ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ แล้ว ลาวาลยังได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาอีก ๓ ครั้ง คือใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคม และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลกูสตง ดูแมร์ก (Guston Doumergue) และรัฐบาลปีแยร์ ฟลองแดง (Pierre Flandin) และใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ระหว่างที่ฟลองแดงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้นเขาก็ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสในการเจรจาทำกติกาสัญญาให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกับสหภาพโซเวียต (Franco-Soviet Mutual Assistance Pact) แต่เขาเองกลับเป็นผู้ถ่วงเวลาการให้สัตยาบันกติกาสัญญาฉบับนี้จนกระทั่งฟลองแดงหมดอำนาจลง
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๖ ลาวาลได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ สืบต่อจากฟลองแดง และได้ว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งนั้นฝรั่งเศสกำลังประสบวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจการคลังอย่างหนัก ลาวาลจึงตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการตัดทอนค่าใช้จ่ายของรัฐบาลลงแทนการลดค่าเงินฟรังก์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักส่วนในด้านการต่างประเทศนั้น ลาวาลซึ่งมีนโยบายสร้างเสถียรภาพและสันติภาพในยุโรปโดยพยายามหลีกเลี่ยงการทำสงครามในทุกกรณี จึงเริ่มดำเนินนโนบายเอาใจมหาอำนาจฝ่ายอักษะ (Axis Powers) และเมื่อเกิดสงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopia War)* ขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ ลาวาลก็ได้เสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยร่วมมือกับเซอร์แซมวล จอห์น กูร์นีย์ ฮอร์ (Samuel John Gurney Hoare)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษจัดทำกติกาสัญญาฮอร์-ลาวาลขึ้นที่กรุงปารีสในวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ กติกาสัญญาฉบับนี้เป็นความตกลงลับระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่เสนอให้อิตาลีได้ดินแดน ๒ ใน ๓ ของเอธิโอเปียเพื่อขยายอาณานิคมของอิตาลีในแอฟริกาตะวันออก ส่วนเอธิโอเปียจะได้รับพื้นที่แคบ ๆ เพื่อออกทะเลเท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการยินยอมอ่อนข้อให้กับอิตาลีซึ่งเป็นผู้รุกรานและยังเป็นการมองข้ามหลักการและบทบาทขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* อย่างสิ้นเชิงดังนั้นเมื่อสื่อมวลชนในฝรั่งเศสล่วงรู้ความลับนี้และนำความตกลงดังกล่าวไปเปิดเผยต่อสาธารณชน นานาชาติจึงมีปฏิกริยาคัดค้านทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษและฝรั่งเศส มีผลให้รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษต้องลาออกในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ปีเดียวกัน ส่วนลาวาลนั้นแม้ยังคงสามารถดำรงตำแหน่งต่อมาได้แต่เสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของเขาก็สั่นคลอน จนในที่สุดในต้น ค.ศ. ๑๙๓๖ รัฐบาลของเขาก็ต้องลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ เพราะถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากปัญหาการจัดทำกติกาสัญญาฉบับดังกล่าวและความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติ หลังจากนั้น ลาวาลก็หันกลับไปดำเนินธุรกิจทางด้านการพิมพ์และวิทยุกระจายเสียงต่อไป
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และฝรั่งเศสตกเป็นเขตยึดครองของนาซีเยอรมนีในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ แล้วลาวาลก็ได้กลับคืนสู่ชีวิตการเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลวิชีภายใต้การนำของจอมพลอองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri-Philippe Pétain)* ซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นของกองทัพนาซี เขามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้รัฐบาลวิชีและเกลี้ยกล่อมให้จอมพลเปแตงยอมรับเงื่อนไขของสนธิสัญญาว่าด้วยการสงบศึก(Armistice)* กับเยอรมนี ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลวิชีเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีอำนาจในการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพต่อไป นอกจากนี้เขายังใช้อิทธิพลทุกอย่างรวมทั้งใช้อาณาจักรสื่อมวลชนของเขาบีบบังคับรัฐสภาฝรั่งเศสให้ลงมติออกเสียงมอบอำนาจการบริหารประเทศอย่างเต็มที่แก่จอมพลเปแตงซึ่งนำไปสู่การยุบสภาในที่สุดและส่งผลให้สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic)* ต้องสิ้นสุดลงในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ต่อมาเขายังผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐบาลวิชีด้วย
ลาวาลมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าเยอรมนีจะเป็นฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในที่สุด เขาเห็นว่าการให้ความร่วมมือกับเยอรมนีเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับฝรั่งเศสในอันที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ได้ทั้งยังคงจะมีบทบาทสำคัญในช่วงหลังสงคราม ลาวาลจึงพยายามใช้วิธีประนีประนอมกับเยอรมนีโดยยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเยอรมนีแทบทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องการยอมจำนนและยอมปฏิบัติตามอุดมการณ์ของพรรคนาซี (Nazi)* เท่านั้น นอกจากนี้เขายังได้ริเริ่มเจรจาเพื่อทำความตกลงกับเยอรมนีในเรื่องต่าง ๆ อีกหลายเรื่อง ทั้งยังได้เดินทางไปพบกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีอย่างลับ ๆ ที่เมืองมงตัวร์ (Montoire) ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ โดยการจัดการของออทโท อาเบทซ์ (Otto Abetz) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศฝรั่งเศสซึ่งสนิทสนมกับลาวาลเป็นการส่วนตัว ในครั้งนั้นเขาได้เสนอฮิตเลอร์ว่าจะให้ความร่วมมือกับเยอรมนีอย่างใกล้ชิด และอีก ๒ วันต่อมาเขาก็จัดการให้เปแตงได้พบกับฮิตเลอร์ด้วย โดยที่เปแตงก็ได้ให้คำมั่นว่าฝรั่งเศสจะให้ความร่วมมือกับเยอรมนีเช่นเดียวกัน ในเดือนเดียวกันลาวาลยังได้เดินทางไปพบกับนายพลเฮอร์มันน์ เกอริง (Hermann Goering)* ผู้บัญชาการกองทัพบกเยอรมัน เพื่อเสนอแนะให้ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรทางทหารกับเยอรมนีด้วย
การที่ลาวาลมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างรวดเร็วทั้งยังมีความสนิทสนมกับบุคคลในระดับผู้นำของเยอรมนีและกองทัพนาซีก็ทำให้เปแตงและอีกหลายคนในรัฐบาลวิชีเริ่มมองเห็นความทะเยอทะยานของเขาและหวาดระแวงว่าลาวาลกำลังวางแผนโค่นล้มเปแตงในที่สุดในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ลาวาลก็ถูกจับกุมตัวและถูกปลดออกจากตำแหน่งต่าง ๆ ในรัฐบาลทุกตำแหน่ง แต่เขาถูกคุมขังอยู่ไม่นานก็ได้รับอิสรภาพโดยได้รับความช่วยเหลือจากเอเบทซ์ซึ่งส่งกองทหารเยอรมันมาบีบบังคับให้เปแตงปล่อยตัวเขา จากนั้นลาวาลก็ถูกส่งตัวไปพำนัก ณ กรุงปารีสภายใต้การอารักขาของกองทัพเยอรมัน แต่กระนั้นในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ขณะยืนดูการสวนสนามเพื่อส่งทหารอาสาสมัครฝรั่งเศสไปร่วมรบในปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)*
ของกองทัพนาซีลาวาลก็ถูกปอล โกแลต (Paul Collette) นักศึกษาหนุ่มยิงถึง ๔ นัด จนได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่ก็รอดชีวิตมาได้
อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๒ ลาวาลก็ได้กลับเข้ามามีอำนาจในรัฐบาลวิชีอีกครั้งหลังจากที่เยอรมนีได้ยื่นคำขาดต่อเปแตงให้นำเขากลับเข้าร่วมรัฐบาล ในครั้งนี้ลาวาลได้เป็นผู้นำรัฐบาลวิชีแทนที่เปแตง และเป็นหุ่นเชิดของเยอรมนีอย่างเต็มที่ ทั้งยังให้ความร่วมมือกับฮิตเลอร์ในทุกกรณี ในทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งลาวาลก็ได้ออกคำสั่งให้ตำรวจฝรั่งเศสเริ่มดำเนินการกวาดล้างและจับกุมชาวยิวในฝรั่งเศสอย่างกว้างขวางและเด็ดขาด และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันเขาก็ตัดสินใจส่งแรงงานชาวฝรั่งเศสไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมและช่วยงานด้านสงครามในเยอรมนีเพื่อแลกเปลี่ยนกับเชลยศึกชาวฝรั่งเศสที่ถูกคุมขังอยู่ในเยอรมนี พร้อมทั้งประกาศอย่างหนักแน่นในสุนทรพจน์ที่เรียกร้องอาสาสมัครให้ไปช่วยเยอรมนีทำสงครามว่าเขาต้องการให้เยอรมนีชนะสงครามครั้งนี้ นอกจากนั้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๒ ลาวาลยังอนุญาตให้หน่วยเกสตาโป(Gestapo)* ของเยอรมนีออกไล่ล่าชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านนาซี (French Resistance) ในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตยึดครองของกองทัพนาซีด้วยและในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ลาวาลก็ได้จัดตั้งหน่วยมีลีซ (Milice) ซึ่งเป็นกองกำลังตำรวจการเมืองระหว่างสงครามขึ้นในฝรั่งเศสโดยให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโชแซฟ ดาร์นาร์ (Joseph Darnard) ปรากฏว่าภายในเวลา ๖ เดือน กองกำลังดังกล่าวมีตำรวจประจำการกว่า ๓๕,๐๐๐ นาย และมีบทบาทสำคัญในการกวาดล้างยิว พวกก่อการฝ่ายซ้าย รวมทั้งบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นพวกต่อต้านรัฐบาลวิชีและนาซีเยอรมนีทั้งโดยวิธีการประหัตประหารและส่งตัวต่อไปยังค่ายกักกันในเยอรมนี การกระทำเหล่านี้ส่งผลให้ลาวาลถูกโจมตีและประณามอย่างรุนแรงว่าเขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่าง ๆ ที่รัฐบาลวิชีก่อขึ้นในระหว่างสงครามแม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มเข้าข้างเขาโดยกล่าวแก้ว่าการกระทำของเขาเป็นการปกป้องฝรั่งเศสเพื่อให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุดก็ตาม
อย่างไรก็ดี ในระยะใกล้สิ้นสุดสงครามอำนาจการควบคุมรัฐบาลของลาวาลก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้เป็นผลจากการเติบโตของขบวนการต่อต้านนาซีในฝรั่งเศส และการโจมตีของกลุ่มผู้สนับสนุนนาซีหัวรุนแรงในรัฐบาลวิชี เช่น มาร์แซล เดอา (Marcel Déat) ซึ่งเยอรมนีบีบบังคับให้เขาต้องร่วมงานด้วย เป็นต้น ตลอดจนท่าทีที่กำลังได้เปรียบของกองทัพฝ่ายพันธมิตรในสมรภูมิด้านต่าง ๆ ซึ่งทำให้ลาวาลไม่สามารถกำหนดทิศทางของรัฐบาลให้เป็นไปตามที่เขาต้องการได้
หลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรที่นอร์มองดี (Normandy) ในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ แล้วรัฐบาลวิชีก็ล่มสลายลง ในครั้งแรกลาวาลหนีไปเยอรมนี และในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาลี้ภัยต่อไปยังสเปนซึ่งลาวาลใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเตรียมตัวเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี ในเดือนกรกฎาคมเขาก็ถูกทางการสเปนจับตัวได้และถูกส่งตัวกลับยังกรุงปารีสเพื่อมอบให้รัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสซึ่งมีนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* เป็นผู้นำ จากนั้นลาวาลก็ถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษและถูกพิจารณาคดีในฐานะอาชญากรสงครามในข้อหาว่าให้ความช่วยเหลือศัตรู ทำลายความมั่นคงและทรยศต่อชาติศาลพิเศษที่ไต่สวนคดีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในความไม่ชอบธรรมเนื่องจากไม่ให้สิทธิจำเลยในการปกป้องตนเอง ประกอบกับผู้พิพากษาและคณะลูกขุนต่างก็อยู่ในอารมณ์รักชาติอย่างรุนแรงและประชาชนชาวฝรั่งเศสก็เกลียดชังในตัวเขาและรัฐบาลวีชี ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต หลังฟังคำตัดสินลาวาลพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการกินยาพิษแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
ปีแยร์ ลาวาลถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ในเรือนจำเฟรสเน (Fresnes) ที่กรุงปารีส ขณะมีอายุ ๖๒ ปี หลังจากนั้นโชเซ ลาวาล กงแตส เดอ ชองเบริง (Josée Laval, Comtesse de Chambrun) บุตรสาวของเขาได้นำบันทึกคำให้การของลาวาลซึ่งเขาได้เขียนปกป้องตนเองไว้อย่างชาญฉลาดมาทบทวนและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๙๔๘.