ริชาร์ด คอลลีย์ เวลส์ลีย์ [เดิม เวสลีย์ (Wesley) เปลี่ยนตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๙] เป็นขุนนางไอริชเชื้อสายอังกฤษซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๙–๑๘๑๒ ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษกำลังพัวพันในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* เขายังมีบทบาทสำคัญในการขยายและสร้างความเข้มแข็งให้แก่จักรวรรดิอังกฤษในอินเดียระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๗–๑๘๐๕ โดยเป็นทั้งผู้ว่าการมัทราส (Governor of Madras) และข้าหลวงใหญ่แห่งเบงกอล [Governor-General of Bengal หรือ ชื่อตำแหน่งเต็มว่า Governor-General of the Presidency of Fort William ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ เปลี่ยนเป็นเรียกว่าข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดีย (Governor-General of India) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะผู้บริหาร (Court of Directors) ของบริษัทอินเดียตะวันออก(East India Company–EIC)] ช่วงปลายชีวิตการเมือง เวลส์ลีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นอุปราชแห่งไอร์แลนด์ (Lord Lieutenant of Ireland ค.ศ. ๑๘๒๑–๑๘๒๘, ๑๘๓๓–๑๘๓๔) ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งสูงระหว่างผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์กับนิกายโรมันคาทอลิก แม้เขาจะดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานสำคัญๆแต่การที่น้องชาย อาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington)* มีบทบาทโดดเด่นทั้งด้านสังคมและการเมืองทำให้เขารู้สึกด้อยกว่ามาตลอด
เวลส์ลีย์เกิดในตระกูลขุนนางไอริชเชื้อสายอังกฤษเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๖๐ ที่ปราสาทดันกัน (Dangan Castle) เคาน์ตีมีท (Meath) เป็นบุตรชายคนโตในจำนวน ๖ คนของการ์เร็ต เวสลีย์ เอิร์ลแห่งมอร์นิงตันที่ ๑ (Garret Wesley, 1ˢᵗ Earl of Mornington) กับแอนน์ (Anne) บุตรสาวคนโตของอาร์เทอร์ ฮิลล์-เทรเวอร์ ไวส์เคานต์ดันแกนนอนที่ ๑ (Arthur Hill-Trevor, 1ˢᵗ Viscount Dungannon) ไวส์เคานต์เวลส์ลีย์ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนหลวงแห่งอาร์มาห์ (Royal School, Armah) ซึ่งก่อตั้งโดยพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ (James I) จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) และวิทยาลัยอีตัน (Eton College) ก่อนย้ายไปเข้าเรียนที่วิทยาลัยไครส์เชิร์ชแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Christ Church, University of Oxford) เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ใน ค.ศ. ๑๗๘๐ เขาได้เข้านั่งในสภาสามัญแห่งไอร์แลนด์ในฐานะผู้แทนจากเมืองทริม (Trim) เคาน์ตีมีท แต่เพียงปีเดียวต่อมาบิดาเสียชีวิตลง เขาจึงเปลี่ยนไปนั่งในสภาขุนนางแห่งไอร์แลนด์ในฐานะเอิร์ลแห่งมอร์นิงตันที่ ๒ โดยที่ยังเรียนไม่จบ เขาพบว่าการใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยของปู่และบิดาทำให้ต้องรับภาระหนี้สินมากจนเขาต้องขายทรัพย์สินในไอร์แลนด์แทบทั้งหมด รวมทั้งปราสาทดันกันสถานที่กำเนิดซึ่งมีเนื้อที่กว่า ๑,๕๐๐ ไร่ด้วย
ใน ค.ศ. ๑๗๘๔ เขาได้เป็นสมาชิกสภาสามัญอังกฤษในฐานะผู้แทนจากหมู่บ้านเบียร์อัลสตัน (Bere Alston) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในมณฑลเดวอนเชียร์ (Devonshire) แต่มีสิทธิส่งผู้แทนเข้านั่งในสภาสามัญได้ ๒ คน เวลส์ลีย์มีทัศนะแบบนักเสรีนิยมสายกลางซึ่งสนับสนุนนายกรัฐมนตรีวิลเลียม พิตต์ (บุตร) (William Pitt the Younger)* ในด้านนโยบายต่าง ๆ เช่น การค้าเสรี การประนีประนอมกับชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์ซึ่งทำให้เขาแตกต่างกับอาร์เทอร์ น้องชายไม่นานต่อมาพิตต์ก็สนับสนุนให้เวลส์ลีย์ได้รับแต่งตั้งให้ร่วมดูแลด้านการคลังของประเทศ ใน ค.ศ. ๑๗๙๓ เขาเข้าอยู่ในคณะกรรมการกำกับกิจการเกี่ยวกับอินเดีย (India Board of Control) และเริ่มรับรู้เรื่องของอังกฤษในโลกตะวันออก ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๗ เวลส์ลีย์ซึ่งได้รับสถาปนาเป็นขุนนางชั้นบารอนของอังกฤษก็ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษกำลังร่วมมือกับชาติยุโรปอื่น ๆ ในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒–๑๘๐๒)* เพื่อจะเอาชนะฝรั่งเศสในสมรภูมิต่าง ๆ รวมทั้งในอินเดียซึ่งทั้ง ๒ ประเทศมีผลประโยชน์อยู่ ดังนั้นช่วงที่เวลส์ลีย์ประจำการในอินเดียจึงเป็นช่วงสำคัญในการขยายอำนาจและอิทธิพลของอังกฤษ ทั้งด้วยการต่อต้านฝรั่งเศสและปราบปรามเจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ ในอินเดีย เมื่อเขาเดินทางไปถึงนั้นการที่สถานะของอังกฤษในอินเดียยังไม่มั่นคง เขาต้องเผชิญกับภาวะความไม่สงบและท่าทีที่เป็นศัตรูต่ออังกฤษในเขตภาคใต้ของอินเดีย แต่ในท้ายที่สุดเป็นที่รับรู้กันว่าผลงานของเวลส์ลีย์และข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียก่อนหน้าเขา ๒ คน คือ รอเบิร์ต ไคลฟ์ (Robert Clive ค.ศ. ๑๗๕๗–๑๗๖๐) และวอร์เรน เฮสติงส์ (Warren Hastings ค.ศ. ๑๗๗๓–๑๗๘๕) ทำให้อังกฤษสามารถสร้างจักรวรรดิขึ้นในอินเดียสำเร็จ ตั้งแต่ก่อนเดินทางไปรับตำแหน่ง เวลส์ลีย์ได้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวแล้วว่าจะกำจัดอิทธิพลของฝรั่งเศสในคาบสมุทรเดกกัน (Deccan) และให้เจ้าผู้ครองรัฐในอินเดียยอมรับอำนาจของอังกฤษให้จงได้
ในการขยายอำนาจของอังกฤษในอินเดีย เวลส์ลีย์ใช้ทั้งกำลังทหารและวิถีทางการทูตในการขยายอำนาจของอังกฤษ เขาผนวกดินแดนจากหลายรัฐโดยเฉพาะหลังจากอาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ และนายพลเจอราร์ด เลก (Gerard Lake ต่อมาเป็นไวส์เคานต์เลก) รบชนะรัฐต่าง ๆ ในสหพันธ์มราฐา (Maratha Confederacy) ในคาบสมุทรเดกกัน หรือที่ฝ่ายอินเดียเรียกว่า จักรวรรดิมราฐา (Maratha Empire) หรือไม่ก็เป็นพันธมิตรกับบางรัฐที่ยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าของอังกฤษ ดังมีการลงนามในสนธิสัญญากับนิซามแห่งไฮเดอราบาด (Nizam of Hyderabad) เจ้าผู้ครองรัฐที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียที่ยอมรับการอยู่ใต้ประมุขของอังกฤษและตกลงยินยอมปลดทหารจ้างชาวฝรั่งเศสที่ฝึกทหารของไฮเดอราบาดอยู่ และให้ทหารอังกฤษเข้าแทนที่ในช่วงที่ประจำการในอินเดียนี้ น้องชายของเขา ๒ คนนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการบริหารงาน โดยอาร์เทอร์เป็นที่ปรึกษาทางทหาร และเฮนรี ริชาร์ด ชาลส์ เวลส์ลีย์ [ต่อมาเป็นลอร์ดเคาลีย์ (Lord Cowley)] เป็นเลขานุการส่วนตัว
ในสงครามไมซอร์ครั้งที่ ๔ (4ᵗʰ Mysore War) ค.ศ. ๑๗๙๙ เมื่อกองกำลังของบริษัทอินเดียตะวันออกสามารถสังหารสุลต่านติปู (Tipu Sultan) ประมุขชาวมุสลิมของแคว้นไมซอร์ (Mysore) ทางใต้ของอินเดียซึ่งสนับสนุนฝรั่งเศส และเชื่อกันว่าเขาเขียนจดหมายโต้ตอบกับนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ด้วย หลังจากนั้น เวลส์ลีย์ก็นำราชวงศ์ฮินดูที่ถูกบิดาของสุลต่านติปูขับไล่กลับมาปกครองดังเดิม ชัยชนะในสงครามไมซอร์ครั้งนี้ทำให้เขาได้รับสถาปนาเป็นมาร์ควิสเวลส์ลีย์ที่ ๑ ในระบบขุนนางไอริช เวลส์ลีย์ยังจัดตั้งวิทยาลัยฝึกข้าราชการพลเรือนในท้องถิ่นที่ฟอร์ตวิลเลียม (Fort William) ณ นครกัลกัตตา (Calcutta) เพื่อจัดเตรียมคนท้องถิ่นเข้าทำงานให้แก่จักรวรรดิอังกฤษในอินเดียด้วยอย่างไรก็ดีต่อมาเมื่อเขาได้รับคำสั่งจากรัฐบาลที่กรุงลอนดอนให้คืนดินแดนเดิมของฝรั่งเศสให้ฝรั่งเศสไป เขาไม่ยอมปฏิบัติตามและเดินหน้าผนวกดินแดนต่อไป ค่าใช้จ่ายทางการทหารที่เพิ่มขึ้นมากจากนโยบายของเวลส์ลีย์ทำให้คณะผู้บริหารของบริษัทอีสต์อินเดียที่ได้รับสิทธิจากรัฐบาลที่ลอนดอนในการปกครองอินเดียตื่นตกใจเวลส์ลีย์จึงถูกเรียกตัวกลับกรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๘๐๕ และถูกขู่ว่าจะถูกถอดจากตำแหน่งด้วย เขาเดินทางถึงกรุงลอนดอนก่อนที่พิตต์ซึ่งสนับสนุนเขามาตลอดจะถึงแก่อสัญกรรม สองปีต่อมาเขาได้รับข้อเสนอให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่เขาปฏิเสธและใน ค.ศ. ๑๘๐๙ เขาเดินทางไปสเปนด้วยพันธกิจทางการทูตที่เมืองเซวิลล์ (Seville) เพื่อเตรียมทำสงครามคาบสมุทร (Peninsular War)* กับฝรั่งเศสโดยจะประสานกับอาร์เทอร์ น้องชายที่รับผิดชอบพันธกิจทางทหาร อย่างไรก็ดี ปลายปีนั้นเขาก็รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลสเปนเซอร์ เพอร์ซีวัล (Spencer Perceval) ช่วงที่ดูแลกิจการต่างประเทศนี้เวลส์ลีย์ทำให้ผู้คนแวดล้อมอึดอัดกับการโอ้อวดความยิ่งใหญ่ของตนทุกคนจึงโล่งใจเมื่อเขาลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๑๒
ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๒๐ เวลส์ลีย์ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปราชแห่งไอร์แลนด์ การบริหารงาน ๘ ปีของเขาไม่เป็นที่สบพระทัยของพระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV)* เพราะทรงมีทัศนะต่อต้านคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกในขณะที่เวลส์ลีย์ต้องการประนีประนอมคนที่นับถือนิกายต่างกันในไอร์แลนด์ให้อยู่ร่วมกันได้ แต่ก่อนที่เขาจะถูกถอดจากตำแหน่ง อาร์เทอร์น้องชายของเขาซึ่งได้รับสถาปนาเป็นดุ๊กแห่งเวลลิงตันก็ได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๒๘ เวลส์ลีย์จึงลาออกจากตำแหน่งเองเพราะไม่เห็นด้วยกับท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวคาทอลิกของเวลลิงตัน และเชื่อว่าการออกพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก (Catholic Emancipation Act)* ก็เป็นไปด้วยความจำเป็นทางการเมืองของเวลลิงตันเท่านั้น แต่บ้างก็ว่าเขาลาออกเพราะไม่พอใจที่น้องชายไม่สามารถหาตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีให้เขาได้อย่างไรก็ดี เวลส์ลีย์เป็นอุปราชแห่งไอร์แลนด์อีกครั้งเป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๓–๑๘๓๔ ช่วงรัฐบาลพรรควิก (Whig) ที่มีชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ ๒ (Charles Grey, 2ᶰᵈ Earl Grey)* เป็นผู้นำ วาระการดำรงตำแหน่งของเขาสิ้นสุดลงพร้อมรัฐบาลนี้ แต่เมื่อพรรควิกได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลอีกในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๕ เขาไม่ได้รับเชิญให้กลับสู่ตำแหน่งเดิมและตำแหน่งตกไปอยู่กับลอร์ดมัลเกรฟ (Lord Mulgrave) เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมุรธาธร (Lord Chamberlain) แทนซึ่งทำให้เวลส์ลีย์ขุ่นแค้นใจและลาออกภายใน ๑ เดือนต่อมา บ้างก็ว่าเขาถึงกับขู่ยิงวิลเลียม แลมบ์ ไวส์เคานต์ เมลเบิร์นที่ ๒ (William Lamb, 2ᶰᵈ Viscount Melbourne)* นายกรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้เวลส์ลีย์ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้รับการสถาปนาเป็นขุนนางระดับดุ๊กในตำแหน่งดุ๊กแห่งฮินดูสถาน (Duke of Hindustan) เพื่อให้สถานะทางสังคมของเขาทัดเทียมดุ๊กแห่งเวลลิงตัน น้องชายแต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองแล้วแม้เวลส์ลีย์จะผิดหวังในทางการเมืองแต่เขาก็ใช้ชีวิตสุขสบายกับเพื่อนฝูงในการอ่านเขียนงานเรื่องราวสมัยคลาสสิกที่เขาสนใจมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ
ในด้านชีวิตส่วนตัวเขาใช้ชีวิตร่วมกับไฮยาซินท์ กาเบรียล โรลอง (Hyacinthe Gabrielle Roland) สตรีฝรั่งเศสซึ่งเป็นนักแสดงประจำโรงละครปาเลโรยัล (Palais Royal) เป็นเวลาหลายปี จนมีบุตรชาย ๓ คนและบุตรสาว ๒ คน จึงได้สมรสกับเธอเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๓ ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สะดวกจะพาเธอไปอยู่ด้วยที่อินเดีย ต่อมาเวลส์ลีย์พาเธอไปพำนักที่กรุงลอนดอนซึ่งทำให้เธอไม่พบความสุขอีกเลยเพราะเธอไม่รู้และไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษ สังคมชั้นสูงก็ดูแคลน โรลองเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๑๖ ต่อมาในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๕ เขาสมรสครั้งที่ ๒ กับแมรีแอนน์ เคตัน แพตเตอร์สัน (Marianne Caton Patterson) สตรีชาวอเมริกันคาทอลิกซึ่งงดงามและมั่งคั่ง เธอเป็นหลานสาวของชาลส์ แคร์รอลล์ (Charles Carroll) ผู้ลงนามในเอกสารประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกาที่เสียชีวิตเป็นคนสุดท้าย ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน
ริชาร์ด คอลลีย์ เวลส์ลีย์ มาร์ควิสเวลส์ลีย์แห่งนอร์ราถึงแก่อนิจกรรมที่คิงสตันเฮาส์ (Kingston House) ย่านไนต์สบริดจ์ (Knightsbridge) กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๒ ขณะอายุ ๘๒ ปี ร่างของเขาฝังอยู่ที่โบสถ์ของวิทยาลัยอีตัน แม้เวลส์ลีย์จะมีบุตร ๓ คนแต่ก็เป็นบุตรนอกสมรส ดังนั้นสถานะขุนนางชั้นมาร์ควิสของเขาจึงไม่มีผู้สืบทอดเมื่อเขาถึงแก่อนิจกรรม แต่สถานะเอิร์ลแห่งมอร์นิงตันที่บ่งบอกความเป็นขุนนางไอริชได้สืบต่อโดยวิลเลียม เวลส์ลีย์-โพล ลอร์ดแมรีบะระ (William Wellesley-Pole, Lord Maryborough) น้องชายของเขา.