Milosevic, Slobodan (1941-2006)

นายสลอบอดัน มีโลเซวิช (๒๔๘๔-๒๕๔๙)

​​     สลอบอดัน มีโลเซวิช เป็นประธานาธิบดีเซอร์เบีย (Serbia) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๙-๑๙๙๗ และประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (Federal Republic of Yugoslavia) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๗-๒๐๐๐ เป็นผู้นำชาวเซิร์บชาตินิยมซึ่งมีนโยบายจะสร้างชาติเซอร์เบียใหญ่ด้วยการรวมชาวเซิร์บในดินแดนต่าง ๆ เข้าเป็นประเทศเดียวกันซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองในสาธารณรัฐสโลวีเนีย (Slovenia) โครเอเชีย (Croatia) บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Herzegovina) และคอซอวอ (Kosovo)* ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสิทธิปกครองตนเองของสาธารณรัฐเซอร์เบีย ปัญหาสงครามคอซอวอมีส่วนทำให้มีโลเซวิชถูกจับและถูกส่งตัวให้ศาลอาชญากรระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์พิจารณาคดีใน ค.ศ. ๒๐๐๑ แต่เขาถึงแก่อสัญกรรมก่อนที่การพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้นลง


     มีโลเซวิชเกิดเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ที่เมืองโปซาเรวัค (Pozarevac) เมืองเล็ก ๆ ใกล้กับกรุงเบลเกรด (Belgrade) เซอร์เบีย เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ของสเวโตซาร์ มีโลเซวิช (Svetozar Milosevic) และสตานิสลาวา (Stanislava) บิดาเป็นนักบวชนิกายออร์ทอดอกซ์จากมอนเตเนโกร (Montenegro) ส่วนมารดาเป็นครูสอนหนังสือในเมืองโปซาเรวัคและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ บิดาแยกทางกับมารดาตั้งแต่มีโลเซวิชยังเยาว์วัยและเดินทางกลับไปยังมอนเตเนโกร ต่อมาบิดายิงตัวตายใน ค.ศ. ๑๙๖๒ ส่วนมารดาก็แขวนคอตาย ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ นอกจากนี้ ลุงซึ่งเป็นพี่ชายของมารดาก็ก่ออัตวินิบาตกรรมเช่นเดียวกัน
     มีโลเซวิชเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในบ้านเกิดและเป็นนักเรียนดีเด่นแม้เขาจะเป็นเด็กที่เงียบขรึมแต่ก็สนใจและร่วมกิจกรรมทางการเมืองทั้งชอบเขียนบทความทางการเมืองและสังคมในวารสารของโรงเรียนอยู่เสมอ ขณะที่เรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมมีโลเซวิชได้รู้จักและพบรักกับมีร์ยานา มาร์โควิช (Mirjana Markovic) ทั้งคู่แต่งงานกันใน ค.ศ. ๑๙๖๕ และมีบุตรชายหญิงสองคนคือมารียา (Marija) และมาร์โก (Marko)
     ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ มีโลเซวิชเข้าศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเบลเกรด เขาเป็นนักศึกษาที่เรียนดีและได้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการฝ่ายอุดมการณ์ของสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียหรือพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียสาขามหาวิทยาลัย ความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) และความเฉียบคมด้านทฤษฏีการเมือง ทำให้เขาได้รับสมญาว่า "เลนินน้อย" ในระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยเขาได้รู้จักและเป็นสหายกับอีวาน สตัมโบลิช (Ivan Stambolic) หลานลุงของปีเตอร์ สตัมโบลิช (Peter Stambolic) ประธานคณะกรรมาธิการบริหารของเซอร์เบีย สตัมโบลิชมีส่วนสนับสนุนให้มีโลเซวิชมี อำนาจในสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย
     หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีใน ค.ศ. ๑๙๖๔ มีโลเซวิชทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกเทศมนตรีกรุงเบลเกรด ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัทเทคโนก๊าซ (Technogas) ซึ่งเป็นบริษัทก๊าซของรัฐบาลและสตัมโบลิชเป็นผู้อำนวยการอยู่ เมื่อสตัมโบลิชลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเซอร์เบียใน ค.ศ. ๑๙๗๓ มีโลเซวิชก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้อำนวยการสืบแทน อีก ๕ ปีต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๗๘ เขาเป็นประธานธนาคารเบโอบังคา (Beobanka) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีอิทธิพลมากของยูโกสลาเวียด้วยการสนับสนุนของสตัมโบลิชและดำรงตำแหน่งจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๓ ตำแหน่งนี้เปิดโอกาสให้เขาได้เดินทางไปเยือนเมืองสำคัญของประเทศต่าง ๆ เช่น กรุงปารีสและนครนิวยอร์ก เขาจึงเห็นความสำคัญของการเรียนภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานทั้งเป็นประโยชน์ต่องานการเมืองของเขาในเวลาต่อมา ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๘๖ มีโลเซวิชได้รับเลือกเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ของกรุงเบลเกรดสืบแทนสตัมโบลิชซึ่งไปดำรงตำแหน่งประธานสันนิบาตคอมมิวนิสต์เซอร์เบีย ต่อมา เมื่อสตัมโบลิชขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเซอร์เบีย เขาก็สนับสนุนให้มีโลเซวิชลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งเซอร์เบียสืบแทนใน ค.ศ. ๑๙๘๗ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ
     เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียใน ค.ศ. ๑๙๗๔ เพื่อกระจายอำนาจการบริหารจากกรุงเบลเกรดและกำหนดให้มีคณะประธานาธิบดีร่วมกัน (Collective State Presidency) โดยให้ประธานาธิบดีจากสาธารณรัฐ ๖ แห่งและมณฑลอิสระอีก ๒ แห่งในสหพันธ์หมุนเวียนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศวาระละ ๑ ปี ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างชนชาติต่าง ๆ การกระจายอำนาจบริหารดังกล่าวจึงทำให้ชาวเซิร์บที่อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย และคอซอวออ้างว่าพวกตนเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลยูโกสลาเวียเท่าที่ควร มีโลเซวิชซึ่งมุ่งมั่นต่อแนวคิดชาตินิยมเซอร์เบียจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยูโกสลาเวียรวมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเบลเกรดมากขึ้น และต้องการให้เซอร์เบียมีอำนาจมากขึ้นในการปกครองแคว้นวอยวอดีนา (Vojvodina) และคอซอวอซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายแอลเบเนีย ในช่วงนี้มีโลเซวิชได้แต่งตั้งผู้ที่สนับสนุนเขาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสันนิบาตฯ และในองค์การสื่อสารมวลชนของรัฐเพื่อใช้เป็นฐานเสียงในการสร้างอำนาจให้แข็งแกร่ง
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ มีโลเซวิชเดินทางไปยังเมืองคอซอวอโพลเย (Kosovo Polje) เมืองเล็ก ๆ ในมณฑลคอซอวอเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน เพื่อเยี่ยมเยือนและรับฟังปัญหาของชนกลุ่มน้อยชาวเซิร์บซึ่งอาศัยอยู่ในแถบนั้น ชาวเซิร์บร้องเรียนว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากชาวมุสลิมแอลเบเนียซึ่งเป็นประชากรร้อยละ ๙๐ ในคอซอวอ พวกเขาพยายามที่จะบุกเข้าไปในอาคารเพื่อพบปะกับมีโลเซวิชแต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นสกัดกั้นและทุบตี มีโลเซวิชได้ออกมาห้ามตำรวจและประกาศต่อฝูงชนชาวเซิร์บซึ่งออกอากาศผ่านสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ว่า "ไม่มีผู้ใดได้รับอนุญาตให้ทำร้ายพวกคุณ" (No one would ever be allowed to beat you) คำพูดประโยคนี้ทำให้มีโลเซวิชกลายเป็นวีรบุรุษของชาวเซิร์บทั่วยูโกสลาเวีย สื่อมวลชนที่สนับสนุนเขาได้เผยแพร่ถ้อยคำและความคิดชาตินิยมของเขาซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเซอร์เบีย ในการประชุมของสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งเซอร์เบียครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๗ ปัญหาคอซอวอเป็นประเด็นการถกเถียงโต้แย้งอันดุเดือดระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนมีโลเซวิชกับฝ่ายที่สนับสนุนสตัมโบลิช และมีโลเซวิชมีชัยชนะทั้งสามารถทำลายอำนาจทางการเมืองของสตัมโบลิชได้สำเร็จ สตัมโบลิชต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเซอร์เบียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๘
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ มีโลเซวิชได้รับเลือกเป็นผู้นำของสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งเซอร์เบียอีกสมัยหนึ่งเขาใช้สื่อมวลชนที่สนับสนุนเขาโฆษณาประชาสัมพันธ์แนวคิดชาตินิยมเซอร์เบีย โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาคอซอวอ มีโลเซวิชได้สร้างสถานการณ์ให้ชาวเซิร์บก่อการจลาจลประท้วงผู้นำชาวแอลเบเนียในวอยวอดีนาและคอซอวอจนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้และต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนตามลำดับ เหตุการณ์นี้ทำให้มีโลเซวิชได้รับความนิยมในหมู่ชาวเซิร์บเพิ่มมากขึ้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ รัฐบาลของยูโกสลาเวียก็ลาออกทั้งคณะเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองอันสืบเนื่องมาจากสาธารณรัฐต่าง ๆ ต้องการอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น ต่อมาที่ประชุมสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียจึงมีมติให้ยกเลิกระบบพรรคการเมืองเดียวและให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมืองขึ้นทั่วสหพันธรัฐในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๘๙
     ในการประชุมใหญ่แห่งชาติเซอร์เบียภายใต้การนำของมีโลเซวิชเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเซอร์เบียเพื่อลดอำนาจการปกครองตนเองของวอยวอดีนาและคอซอวอเพื่อให้เซอร์เบียสามารถควบคุมมณฑลทั้งสองได้อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรวมทั้งสหภาพยุโรป (European Union)* วิพากษ์วิจารณ์มีโลเซวิชอย่างหนัก ขณะเดียวกัน นักชาตินิยมในสาธารณรัฐอื่น ๆ เช่น สโลวีเนียและโครเอเชียก็กล่าวหาว่าเขาต้องการจะสร้างชาติเซอร์เบียให้ยิ่งใหญ่และมีอำนาจเหนือสาธารณรัฐอื่น ๆ ขบวนการต่อต้านชาวเซิร์บจึงขยายตัวมากขึ้นและความคิดที่จะแยกตัวเป็นอิสระของสาธารณรัฐต่าง ๆ ในสหพันธ์ฯก็รุนแรงมากขึ้น แต่มีโลเซวิชกลับได้รับความนิยมอย่างมากในเซอร์เบียและในหมู่ชาวเซิร์บที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสาธารณรัฐต่าง ๆ และทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ จนถึง ค.ศ. ๑๙๙๗ เขาไม่เห็นด้วยกับระบบหลายพรรคการเมืองและคัดค้านการเรียกร้องอิสรภาพในการปกครองตนเองของสาธารณรัฐต่าง ๆ
     หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์หมดอำนาจ สันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียจึงถูกยุบใน ค.ศ. ๑๙๙๐ และนำไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองต่าง ๆ ขึ้นในแต่ละสาธารณรัฐมีโลเซวิชได้เปลี่ยนชื่อสันนิบาตคอมมิวนิสต์เซอร์เบียเป็นพรรคสังคมนิยมเซอร์เบียในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเซอร์เบียซึ่งได้รับการรับรองในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๙๐ ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงและให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้น ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคมซึ่งเป็นการเลือกตั้งอิสระแบบหลายพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกของเซอร์เบียหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีโลเซวิชชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถล่มทลาย และใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ก็ได้ รับเลือกเป็นสมัยที่ ๒ ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภานั้นสมาชิกพรรคสังคมนิยมเซอร์เบียของมีโลเซวิชมีชัยชนะอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ ๘๐ ชาวมุสลิมแอลเบเนียในคอซอวอคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งทำให้แทบจะไม่มีฝ่ายค้านมีโลเซวิชในสภา ส่วนในสาธารณรัฐอื่น ๆ เช่น สโลวีเนียและโครเอเชียนั้น พรรคชาตินิยมที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระจากยูโกสลาเวียเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง สโลวีเนียได้รัฐบาลชาตินิยมนำโดยมิลาน คูคาน (Milan Kucan) ส่วนโครเอเชียนำโดยฟรานโจ ทัจมัน (Franjo Tudjman) พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเคยปกครองบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาเพียงพรรคเดียวถูกแทนที่โดยรัฐบาลผสมของพรรคที่เป็นตัวแทนของสามเชื้อชาติ
     เมื่อสโลวีเนียและโครเอเชียประกาศแยกตัวออกจากยูโกสลาเวียในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ รัฐบาลยูโกสลาเวียส่งกองทัพแห่งชาติยูโกสลาเวีย (Yugoslav National Army - JNA) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บเข้าไปปราบปรามฝ่ายที่สนับสนุนการแยกตัว แต่สงครามในสโลวีเนียดำเนินไปได้เพียง ๑๐ วัน กองทัพของยูโกสลาเวียก็ถอนกำลังออกจากสโลวีเนีย เนื่องจากมีโลเซวิชได้เจรจาตกลงลับกับผู้นำสโลวีเนียโดยยอมให้สโลวีเนียเป็นเอกราชและต้องไม่ต่อต้านแผนของเขาในการจะยึดครองดินแดนของโครเอเชียส่วนที่มีชาวเซิร์บอาศัยอยู่จำนวนมาก อีกประการหนึ่งที่มีโลเซวิชไม่คัดค้านการแยกตัวของสโลวีเนียเพราะสโลวีเนียมีความเป็นเอกภาพ ทางเชื้อชาติโดยส่วนใหญ่เป็นชาวสโลวีเนียน แต่ในโครเอเชียมีชาวเซิร์บอาศัยอยู่ถึงร้อยละ ๑๒ มีโลเซวิชจึงเห็นว่าไม่ควรแยกออกจากยูโกสลาเวีย สงครามกลางเมืองในโครเอเชียจึงเริ่มขึ้นในแถบวูโควาร์ (Vukovar) โดยกองทัพแห่งชาติยูโกสลาเวียสนับสนุนชาวเซิร์บทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ การส่งกำลังหนุนและชี้แนะการต่อสู้ ดินแดนโครเอเชีย ๑ ใน ๓ จึงตกอยู่ในการยึดครองของพวกเซิร์บในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม สงครามในโครเอเชียก็สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ในสงครามครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๒๐,๐๐๐ คนและไร้ที่อยู่อาศัยประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน ชาวโครแอต-เซิร์บประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คนต้องอพยพลี้ภัยจากเขตยึดครองคราจินา (Krajina) ของพวกเซิร์บไปอยู่ในบอสเนียและเซอร์เบีย
     ในระหว่างที่เกิดสงครามในโครเอเชีย มาซิโดเนียก็ประกาศอิสรภาพในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๙๑ส่วน บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาซึ่งเป็นสาธารณรัฐที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติมากที่สุดในยูโกสลาเวียก็แยกตัวออกจากยูโกสลาเวียเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ ทำให้สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียล่มสลายลงและเหลือเพียงเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเท่านั้น เซอร์เบียและมอนเตเนโกรจึงประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมกันเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๒
     ในสงครามบอสเนีย (Bosnian War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๒-๑๙๙๕ มีโลเซวิชสนับสนุนราดอวันคาราจิช (Radovan Karadzic) ประธานาธิบดีบอสเนียซึ่งเป็นชาวเซิร์บกลุ่มน้อย และนายพลรัตโก มลาดิช (Ratko Mladic) ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ethnic cleansing) ชาวมุสลิมบอสเนียโดยเฉพาะในเขตเซเรเบรนิกา (Srebrenica) ซึ่งผู้ชายและเด็กชายของหมู่บ้านกว่า ๗,๐๐๐ คนถูกฆ่าหมู่มีโลเซวิชและเซอร์เบียถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ครั้งนี้ด้วย องค์การสหประชาชาติ (United Nations)* จึงมีมติคว่ำบาตรเซอร์เบียทางเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ เนื่องจากสนับสนุนกองกำลังบอสเนีย-เซิร์บ เซอร์เบียได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจมาก ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ กองกำลังขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization NATO)* ก็ส่งกำลังไปช่วยชาวมุสลิมบอสเนียต่อสู้กับชาวเซิร์บและได้ทิ้งระเบิดหลายครั้งเพื่อโจมตีเป้าหมายสำคัญของกองกำลังบอสเนีย-เซิร์บ อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. ๑๙๙๕ สงครามบอสเนียก็สิ้นสุดลง มีโลเซวิชในนามของชาวบอสเนีย-เซิร์บ อิลิยา อิเซตเบโกวิช (Alija Izetbegovic) ประธานาธิบดีของบอสเนีย และฟรานโจ ทัจมัน ประธานาธิบดีโครเอเชีย ได้ให้สัตยาบันรับรองความตกลงเมืองเดย์ตัน (Dayton Accord) มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๕ เพื่อยุติสงคราม มีโลเซวิชปิดชายแดนของเซอร์เบียด้านที่ติดต่อกับบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาและเลิกสนับสนุนชาวบอสเนีย-เซิร์บ เขาจึงได้รับการยอมรับจากสหรัฐอเมริกาและชาติยุโรปตะวันตกว่าเป็นผู้มีส่วนช่วยสร้างสันติภาพในคาบสมุทรบอลข่าน
     การที่รัฐธรรมนูญของเซอร์เบียกำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ วาระ มีโลเซวิชซึ่งเป็นประธานาธิบดีเซอร์เบียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๙-๑๙๙๗ จึงเปลี่ยนไปรับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ ส่วนตำแหน่งประธานาธิบดีเซอร์เบียนั้นเป็นของมิลาน มีลูตีโนวิช (Milan Milutinovic) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของมีโลเซวิช ในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ปัญหาการแยกตัวของคอซอวอมีความสำคัญขึ้นอีกครั้งเมื่อชาวคอซอวอเชื้อสายแอลเบเนียจัดตั้งกองทัพปลดแอกคอซอวอ (Kosovo Liberation Army) ขึ้นและนำไปสู่สงครามในคอซอวอตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๖ เป็นต้นมา ความทารุณเหี้ยมโหดของผ่ายเซิร์บต่อชาวคอซอวาร์ทำให้กระแสการต่อต้านมีโลเซวิชเริ่มก่อตัวขึ้นทั้งในและนอกประเทศ มีโลเซวิชปฏิเสธที่จะให้นานาชาติเข้ามาช่วยแก้ปัญหาคอซอวอ และไม่สนใจคำขู่ขององค์การนาโตที่จะทิ้งระเบิดโจมตีเซอร์เบีย ในเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ องค์การนาโตเริ่มระดมทิ้งระเบิดเซอร์เบียอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสองเดือน ทำให้มีโลเซวิชในที่สุดต้องยอมจำนนและถอนทหารเซิร์บออกจากคอซอวอในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๙ กองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การนาโตเข้าไปดูแลความสงบแทน สงครามในคอซอวอจึงสงบลง
     ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ มีรายงานข่าวในนิตยสารต่างประเทศฉบับต่าง ๆ เช่น Times กล่าวว่าประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) แห่งสหรัฐอเมริกาได้สั่งให้สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาหรือซีไอเอ (The Central Intelligence Agency - CIA) วางแผนโค่นอำนาจของมีโลเซวิชซึ่งรวมถึงการตัดเส้นทางการเงินส่วนตัวของเขา และส่งเสริมขบวนการต่อต้านมีโลเซวิชในยูโกสลาเวียให้ขยายวงกว้างขึ้น มีการสนับสนุนด้านการเงินแก่ฝ่ายตรงข้ามและตั้งรางวัล ๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับข้อมูลที่จะนำไปสู่การจับกุมหรือฟ้องร้องผู้ที่ถูกศาลโลกตั้งข้อหาเป็นอาชญากรสงครามซึ่งรวมถึงมีโลเซวิชด้วย
     ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ มีโลเซวิชแก้ไขรัฐธรรมนูญยูโกสลาเวียเพื่อให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อได้อีก ๒ สมัยและกำหนดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนกันยายน ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน มีโลเซวิชพ่ายแพ้ต่อพันธมิตรฝ่ายค้านซึ่งเป็นการร่วมมือกันของ ๑๘ พรรคการเมืองนำโดยวอยิสลาฟ คอสตูนีตซา (Vojislav Kostunica) ผู้นำพรรคประชาธิปไตยแห่งเซอร์เบีย (Democratic Party of Serbia) มีโลเซวิชปฏิเสธที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งและเสนอให้มีการเลือกตั้งใหม่ฝ่ายค้านจึงเรียกร้องประชาชนให้กดดันมีโลเซวิชให้ยอมรับผลการเลือกตั้ง ส่งผลให้องค์การนักศึกษาโอตโปร (Otpor) นำประชาชนประท้วงครั้งใหญ่หลายครั้ง และคนงานเหมืองถ่านหินก็นำคนงานหยุดงานประท้วง ชาวเซิร์บจากทั่วประเทศรวมตัวกันประท้วงใหญ่ในกรุงเบลเกรดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม เมื่อเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนและตระหนักว่ารัสเซียก็สนับสนุนคอสตูนิซา มีโลเซวิชจึงยอมก้าวลงจากอำนาจ เปิดโอกาสให้คอสตูนีตซาขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนของเซอร์เบียในเดือนธันวาคม ต่อมา ปรากฏว่าสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งเซอร์เบียของมีโลเซวิชได้รับคะแนนเสียงเพียงร้อยละ ๑๔
     ต่อมา รัฐบาลเซอร์เบียได้จับกุมมีโลเซวิชเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๑ ด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม การใช้อำนาจโดยมิชอบและคอรัปชัน เขายังถูกกล่าวหาว่าลักลอบขนทองแท่งออกนอกประเทศและบงการลอบสังหารศัตรูทางการเมือง มีโลเซวิชถูกส่งตัวให้ศาลอาชญากรระหว่างประเทศที่กรุงเฮกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน เพื่อพิจารณาโทษเกี่ยวกับบทบาทของเขาในสงครามคอซอวอ เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการสังหารชาวคอซอวอ-แอลเบเนีย ๙๐๐ คน และเนรเทศพวกเขากว่า ๗๐๐,๐๐๐ คนจากที่อยู่อาศัย สงครามล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนียถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วยในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๑ มีโลเซวิชนับเป็นผู้นำ รัฐบาลคนแรกที่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่กรุงเฮก ในระหว่างที่ถูกคุมขัง เขาได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องได้ ๒ ห้องโดยห้องหนึ่งเป็นห้องนอนซึ่งมีระบบการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา และอีกห้องสำหรับรับแขกและสัมภาษณ์พยาน
     การพิจารณาคดีของมีโลเซวิชเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๒ เขาถูกพิจารณารวมทั้งหมด ๖๖ คดี ซึ่งประกอบด้วยข้อหาก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนมนุษย์ในสงครามคอซอวอ ค.ศ. ๑๙๙๙ และละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการทำสงครามในสงครามโครเอเชีย ค.ศ. ๑๙๙๑ และสงครามบอสเนีย ค.ศ. ๑๙๙๒-๙๕ นอกจากนี้ยังมีคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการสังหารหมู่ที่เซเรเบรนิคาด้วย ทุกคดีจะรวมอยู่ในการพิจารณาครั้งเดียวโดยเริ่มจากคดีสงครามคอซอวอ มีผู้พิพากษาร่วมพิจารณาคดีทั้งหมด ๓ คนและไม่มีคณะลูกขุน มีโลเซวิชปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด เขามีสิทธิที่จะตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดที่ใช้ในการพิจารณาคดีและยื่นอุทธรณ์บทลงโทษสูงสุดของแต่ละคดีคือติดคุกตลอดชีวิต แต่ไม่มีโทษประหารชีวิต แม้มิโลเซวิคจะไม่เคยทำหน้าที่ทนายความมาก่อนแต่ก็สำเร็จกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเบลเกรด เขาจึงเป็นทนายแก้ข้อกล่าวหาให้ตนเอง อย่างไรก็ตาม ศาลได้แต่งตั้งทนายความ ๓ คนเพื่อช่วยเหลือให้เขาได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมการพิจารณาคดีค่อนข้างจะล่าช้าเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพของมีโลเซวิชซึ่งป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคเบาหวาน
     แม้ว่าจะถูกคุมขังอยู่ที่กรุงเฮก มีโลเซวิชยังคงได้รับเลือกเป็นประธานพรรคสังคมนิยมแห่งเซอร์เบียอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๓ แต่ต้องให้ผู้อื่นดำรงตำแหน่งแทน ในเดือนเมษายนตำรวจเซอร์เบียได้ตั้งข้อหามีโลเซวิชเพิ่มเติมว่าเป็นผู้บงการสังหารอดีตประธานาธิบดีเซอร์เบีย อีวาน สตัมโบลิชซึ่งถูกลักพาตัวไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ และพบเป็นศพใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๖ ศาลฎีกาของเซอร์เบียตัดสินว่ามีโลเซวิชเป็นผู้บงการสังหารสตัมโบลิชรวมทั้งวุก ดราส์โกวิช (Vuk Draskovic) ซึ่งเป็นศัตรูทางการเมือง
     ในขณะที่ถูกสอบสวนอยู่นี้ มีโลเซวิชได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคสังคมนิยมแห่งเซอร์เบียในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ ผลปรากฏว่าพรรคของเขามีชัยชนะรวม ๒๒ ที่นั่ง แม้กฎหมายจะกำหนดว่าผู้ที่ต้องโทษไม่สามารถเป็นผู้แทนได้ แต่สำหรับผู้ต้องสงสัยหรือพ้นโทษแล้วสามารถนั่งในสภาได้ พรรคสังคมนิยมแห่งเซอร์เบียจึงได้สำรองที่นั่งในสภาไว้ให้มีโลเซวิชในกรณีที่เขาพ้นผิด ต่อมารัฐสภาเซอร์เบียซึ่งพวกชาตินิยมครองเสียงข้างมากได้ลงมติ ๑๔๑ ต่อ ๓๕ เสียงเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ ผ่านพระราชบัญญัติให้มีโลเซวิชและอาชญากรสงครามชาวเซิร์บคนอื่น ๆ ซึ่งกำลังถูกพิจารณาคดีที่กรุงเฮกได้รับผลประโยชน์ซึ่งรวมถึงค่าทนายความและเงินเดือนชดเชยที่ไม่ได้รับด้วย พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังช่วยเงินด้านอื่น ๆ เช่น ค่าพาหนะ ค่าที่พัก โทรศัพท์ ไปรษณีย์ วีซ่า และค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายแก่คู่สมรส พ่อแม่ และบุตรธิดาด้วย
     ฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นการสืบพยาน ๒๙๐ คนมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๔ หลังจากใช้เวลานานถึง ๓๐๐ วัน มีโลเซวิชยื่นรายชื่อพยานจำนวน ๑,๖๓๑ คนซึ่งรวมทั้งบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และโทนี แบลร์ (Tony Blair)* นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรต่อศาลในกลางเดือนเมษายน ต่อมาศาลอาชญากรสงครามได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ให้แยกคดีสังหารหมู่ที่เซเรเบรนีกาพิจารณาต่างหากมีโลเซวิชเริ่มแก้ข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม เขากล่าวหาว่าคณะกรรมการสอบสวนตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ ปกปิดความผิดพลาดของนโยบายตะวันตกที่ล้มเหลว การพิจารณาคดีใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ยังคงล่าช้าเนื่องจากปัญหาสุขภาพของมีโลเซวิชเขาติดคุกได้ ๕ ปีและเหลือเวลาในการไต่สวนอีกเพียง ๕๐ ชั่วโมงแต่การพิจารณาคดีต้องยุติลงเมื่อเขาเสียชีวิตในห้องขังด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ ระหว่างเวลา ๗.๐๐-๙.๐๐ น. ขณะอายุ ๖๔ ปี การพิจารณาคดีของเขาสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม รวมเวลาการไต่สวนทั้งหมด ๔๖๗ วันโดยไม่มีคำตัดสิน ศพของมีโลเซวิชถูกส่งกลับไปยังเซอร์เบียแต่ไม่มีการประกอบรัฐพิธีและถูกนำไปตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งการปฏิวัติในกรุงเบลเกรดเพื่อให้สาธารณชนได้เคารพไว้อาลัยก่อนจะนำไปฝังที่เมืองโปซาเรวัคบ้านเกิด เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ในวันที่มีการเคลื่อนย้ายศพมีการประกอบพิธีอย่างไม่เป็นทางการที่หน้าอาคารรัฐสภาใจกลางกรุงเบลเกรดโดยมีผู้เข้าร่วมพิธีประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน มีร์ยานาภรรยาและบุตรทั้ง ๒ คนของมีโลเซวิชไม่ได้เข้าร่วมในงานศพ เนื่องจากลี้ภัยอยู่ในสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๗ ศาลโลกตัดสินให้เซอร์เบียพ้นข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ระบุว่ามีโลเซวิชตระหนักดีเรื่องการสังหารหมู่ที่จะเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้พยายามหาทางป้องกัน.


มีร์ยานา มาร์โควิชเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ในเมืองโปซาเรวัคครอบครัวของเธอมีอิทธิพลในหมู่คอมมิวนิสต์เซอร์เบียบิดาคือโมมา มาร์โควิช (Moma Markovic) เป็นวีรบุรุษของคอมมิวนิสต์ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ลุงของเธอเป็นนักการเมืองที่ โดดเด่นป้าก็เป็นเลขานุการส่วนตัวของยอซิบ บรอซหรือตีโต (Josip Broz ; Tito)* ประธานาธิบดีของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia) ส่วนมารดา เวรา มีเลติก (Vera Miletic) ซึ่งเป็นสมาชิก partisan ถูกกองทัพนาซีจับใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เมื่อได้รับการปล่อยตัว เธอก็ถูกศาลยูโกสลาเวียตัดสินประหารชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๔๔ เพราะเชื่อกันว่า เธอได้เปิดเผยความลับบางประการของกลุ่ม partisan ในระหว่างที่ ถูกพวกนาซีทรมาน มาร์โควิชเป็นบุตรนอกสมรสจนกระทั่งบิดารับรอง เป็นบุตรอย่างถูกต้องเมื่อเธออายุได้๑๓ ปีเธอจึงเติบโตมากับตาและยายและห่างเหินกับบิดา มาร์โควิชพยายามพิสูจน์ตลอดมาว่ามารดา เป็นคอมมิวนิสต์ที่ ซื่อสัตย์และไม่ได้ทรยศต่อชาติเธอแสดงความรักและความภาคภูมิใจในมารดาโดยการนำชื่อจัดตั้ง “Mira” ของมารดา มาใช้และมักประดับผมด้วยดอกไม้ผ้าไหมเหมือนกับที่ มารดาเคยทำมาโดยตลอด เชื่อกันว่าการที่ มาร์โควิชและมีโลเซวิชเผชิญกับปัญหา ผู้ให้กำเนิดเหมือนกันมีส่วนทำให้ทั้งคู่เข้าใจกันและใกล้ชิดกันมาก ตลอดระยะเวลา ๓๕ ปีของชีวิตสมรสทั้งคู่จะเป็นที่ รู้จักในนามของ สลอบาและมีรา (Sloba and Mira) มาร์โควิชสนับสนุนสิทธิสตรีและเป็นผู้นำพรรคการเมืองนิยมซ้ายของยูโกสลาเวีย (Yugoslav Left Political Party - JUL) ทั้งยึดมั่นในระบอบคอมมิวนิสต์เธอมีอิทธิพลต่อมีโลเซวิชมากและเป็นบุคคลที่ เขาไว้ใจมากที่ สุดมาร์โควิชจบการ ศึกษาระดับปริญญาเอกและเป็นศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยกรุงเบลเกรด เมื่อรัฐบาลของเซอร์เบียออกหมายจับเธอ ในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบและฉ้อโกง เธอลี้ภัยไปอยู่ในสหพันธรัฐรัสเซียต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ ศาลของเซอร์เบียมี คำสั่งให้จับกุมเธอในข้อหาบงการสังหารสลาฟโก คูรูวียา (Slavko Curuvija) นักหนังสือพิมพ์แต่รัฐบาลของรัสเซียปฏิเสธที่ จะส่งตัวเธอ กลับมารับโทษในเซอร์เบีย

คำตั้ง
Milosevic, Slobodan
คำเทียบ
นายสลอบอดัน มีโลเซวิช
คำสำคัญ
- สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา
- คอสตูนีตซา, วอยิสลาฟ
- คลินตัน, บิลล์
- อิเซตเบโกวิช, อิลิยา
- องค์การสหประชาชาติ
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- สงครามบอสเนีย
- คอซอวอ
- เบลเกรด, กรุง
- โปซาเรวัค, เมือง
- มีโลเซวิช, สลอบอดัน
- ยูโกสลาเวีย, สหพันธ์สาธารณรัฐ
- คูรูวียา, สลาฟโก
- ตีโต
- บรอซ, ยอซีป หรือตีโต
- มาร์โควิช, มีร์ยานา
- มาร์โควิช, โมมา
- มีเลติก, เวรา
- ลัทธิมากซ์-เลนิน
- ยูโกสลาเวีย, สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยม
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตัมโบลิช, ปีเตอร์
- สตัมโบลิช, อีวาน
- คอซอวอโพลเย, เมือง
- วอยวอดีนา, แคว้น
- วูโควาร์, แถบ
- คูคาน, มิลาน
- กองทัพแห่งชาติยูโกสลาเวีย
- ทัจมัน, ฟรานโจ
- สหภาพยุโรป
- กองทัพปลดแอกคอซอวอ
- คราจินา, เขตยึดครอง
- ความตกลงเมืองเดย์ตัน
- คาราจิช, ราดอวัน
- มลาดิช, รัตโก
- เซเรเบรนิกา, เขต
- มีลูตีโนวิช, มิลาน
- ดราส์โกวิช, วุก
- แบลร์, โทนี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1941-2006
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๘๔-๒๕๔๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf