ซิดนีย์ เจมส์ เว็บบ์ เป็นนักปฏิรูปสังคม นักเศรษฐศาสตร์แนวสังคมนิยม และนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอังกฤษ เป็นสมาชิกรุ่นแรก ๆ ของสมาคมเฟเบียน (Fabian Society)* ที่ร่วมกันก่อตั้งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอนหรือแอลเอสอี (London School of Economics and Political Science–LSE) สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก เมื่อพรรคแรงงาน (Labour Party)* ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกเว็บบ์ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเว็บบ์และเบียทริซ เว็บบ์ (Beatrice Webb)* เป็นคู่สามีภรรยาที่มีความโดดเด่นร่วมกันในการผลิตผลงานการวิจัยค้นคว้าจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในประเทศซึ่งวางรากฐานให้แก่การสร้างรัฐสวัสดิการ (welfare state) ของอังกฤษในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ในบั้นปลายชีวิต เว็บบ์ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นบารอนพาสฟีลด์แห่งพาสฟีลด์ คอร์เนอร์ (Baron Passfield of Passfield Corner) และได้สิทธิเข้านั่งในสภาขุนนาง (House of Lords)
ซิดนีย์ เว็บบ์เกิดที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๕๙ ในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง บิดาเป็นนักบัญชีอิสระ ส่วนมารดาเป็นเจ้าของร้านค้าเล็ก ๆ เขาจบชั้นมัธยมปลายตั้งแต่ก่อนอายุครบ ๑๖ ปี และเริ่มชีวิตทำงาน เขาใช้เวลายามว่างเรียนวิชากฎหมายที่วิทยาลัยเบิร์กเบก [Birkbeck College ปัจจุบันรวมอยู่กับมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London)] จนทำให้มีคุณสมบัติสามารถเข้ารับราชการได้ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ และใน ค.ศ. ๑๘๘๔ เขาก็สอบได้เป็นเนติบัณฑิต เว็บบ์สอนหนังสือที่วิทยาลัยผู้ใช้แรงงานแห่งกรุงลอนดอน (London Working Men’s College) และเขียนบทความลงในวารสาร Christian Socialist เมื่อเขามีโอกาสสนิทสนมกับจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักหนังสือพิมพ์หนุ่มเชื้อสายไอริชซึ่งต่อมาเป็นนักแต่งบทละครชื่อดัง เขาก็ได้รับการชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกสมาคมเฟเบียนซึ่งเป็นสมาคมเล็ก ๆ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นโดยนักสังคมนิยมอังกฤษกลุ่มหนึ่ง ชอว์เห็นว่าความรอบรู้ข้อมูลอย่างกว้างขวางของเว็บบ์เหมาะสมกับการสร้างพื้นฐานของสมาคมที่สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมเป็นอย่างดี อีก ๓ ปีต่อมาความคาดหมายของชอว์ก็เป็นอันถูกต้องเมื่อเว็บบ์แต่ง Facts for Socialists ซึ่งเป็นจุลสารเล่มแรกของสมาคมใน ค.ศ. ๑๘๘๗ เนื้อหาสะท้อนความคิดเห็นของพวกเฟเบียนอย่างชัดเจนที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสังคมอุตสาหกรรมที่เอารัดเอาเปรียบ และเสนอว่าการปฏิรูปสังคมทุนนิยมเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะแก้ไขสาเหตุของความไม่เป็นธรรมในสังคม งานเขียนชิ้นนี้มีการปรับปรุงและตีพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้งจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมาเว็บบ์ก็ออกจุลสารเล่มอื่น ๆ ตามมาอีก เช่น Facts for Londonors, The Eight Hour Day
ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ เขาได้พบกับมาร์ทา เบียทริซ พอตเตอร์ (Martha Beatrice Potter) สตรีรูปงามจากครอบครัวผู้ค้าไม้และผู้ประกอบการบริษัทเดินรถไฟหลายสายที่มั่งคั่ง พอตเตอร์สนใจแนวคิดสังคมนิยม เธอประทับใจบทความ “Socialism in England” ที่เว็บบ์เขียนแจกแจงแนวคิดสังคมนิยมแบบค่อยเป็นค่อยไปใน Fabian Essays in Socialism ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความของสมาคมฯ ที่ชอว์เป็นบรรณาธิการเผยแพร่ในปีก่อนหน้า งานเขียนเรื่องนี้ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก ๑,๐๐๐ เล่มทำให้สมาคมนี้เป็นที่รู้จักของสังคมอย่างรวดเร็ว และภายใน ๒ ปีก็จำหน่ายได้กว่า ๒๗,๐๐๐ เล่ม เว็บบ์ตกหลุมรักพอตเตอร์ที่สง่างามและเฉลียวฉลาดตั้งแต่แรกพบ ขณะที่พอตเตอร์ซึ่งเคยหลงรักโจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* รัฐมนตรีผู้มีรูปลักษณ์งามสง่า ไม่ประทับใจกับชายร่างเตี้ยและขี้เหร่ในชุดสูทปอน ๆ ยับ ๆ และขึ้นเงาของเว็บบ์ และเห็นว่าเขาเหมือนลูกอ๊อดที่หัวโตและตัวลีบ ถึงแม้ตอนนั้นเว็บบ์จะเริ่มมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้สอนและผู้เขียนงานทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็ตาม ก่อนหน้าที่พอตเตอร์จะตกลงใจหมั้นหมายกับเว็บบ์นั้น เธอบอกเขาว่าเธอเชื่อมั่นในตัวเขาแต่ไม่ได้รัก ทั้งคู่สมรสกันใน ค.ศ. ๑๘๙๒ และใช้ช่วงเวลาฮันนีมูนด้วยการสำรวจเอกสารการประชุมของสหภาพแรงงานในนครกลาสโกว์ (Glasgow) และกรุงดับลิน (Dublin)
เมื่อกลับมากรุงลอนดอนไม่นาน ทั้งคู่หาที่พำนักถาวร ซิดนีย์ตัดสินใจลาออกจากราชการและดำรงชีพโดยอาศัยเงินมรดกของบิดาเบียทริซและรายได้จากการเขียนหนังสือและงานหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้เพื่อทั้งสองจะได้อุทิศเวลาให้แก่การค้นคว้าเกี่ยวกับสังคมและงานด้านการเมืองอย่างไรก็ตามซิดนีย์ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้บริหารเคาน์ตีลอนดอน (London County Council) ซึ่งเขาได้รับเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๘๙๒ จากเขตเดตฟอร์ด (Deptford) ซึ่งเป็นเขตท่าเรือเก่าแก่แห่งแรกของราชนาวี และดำรงตำแหน่งจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๑๐ เขายังคงเป็นสมาชิกสมาคมเฟเบียนต่อไป ซิดนีย์เสนอให้มีการปฏิรูปต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจนในกรุงลอนดอน ผลงานชิ้นแรก ๆ ของเขาและภรรยาซึ่งนับเป็นความสำเร็จร่วมกันครั้งแรก คือ The History of Trade Unionism (ค.ศ. ๑๘๙๔) และ Industrial Democracy (ค.ศ. ๑๘๙๗) ในงานใหญ่ ๒ ชิ้นนี้ ทั้ง ๒ คนต้องการให้นักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษซึ่งติดบ่วงทุนนิยมได้รู้จักแง่มุมของสังคมที่ไม่เคยได้รับรู้ โดยเสนอว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการต้านกระแสทุนนิยมอันเชี่ยวกราก คือการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชูธงสังคมนิยม ผลงานชิ้นต่อ ๆ มาของซิดนีย์ยังขยายขอบเขตไปสู่การค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์และสังคม การปฏิรูปการเมืองและการศึกษา และการหนังสือพิมพ์
ซิดนีย์เป็นที่รู้จักของสาธารณชนว่าเป็นคนสร้างระบบการจัดการศึกษาระดับมัธยมของรัฐและระบบการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนระดับประถมศึกษา เขายังมีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคสำหรับนักเรียนหลังจบชั้นมัธยมในกรุงลอนดอนด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ซิดนีย์และเบียทริซร่วมมือกับอาร์. บี. ฮัลเดน (R. B. Haldane) แห่งพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)*จัดตั้งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอนหรือแอลเอสอีขึ้น โดยอาศัยเงินบริจาคจำนวน ๑๐,๐๐๐ปอนด์ของเฮนรี ฮัตชินสัน (Henry Hutchinson) ทนายความผู้ร่ำรวยจากเมืองดาร์บี (Derby) เพราะซิดนีย์เห็นว่าควรใช้เงินไปในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ขึ้นแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน มหาวิทยาลัยใหม่ที่จัดตั้งขึ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสภาแห่งเคาน์ตีลอนดอนและคณะกรรมาธิการการศึกษาเฉพาะทาง (Technical Education Board) แอลเอสอีก็ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกทางด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ซิดนีย์ยังจัดรูปแบบของมหาวิทยาลัยแห่งกรุงลอนดอน (University of London) ให้อยู่ในรูปสหพันธ์สถาบันการศึกษาต่าง ๆ
ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ซิดนีย์และเบียทริซเดินทางไปทำวิจัย ๑ ปี ในอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เมื่อกลับมาอังกฤษก็ค้นคว้าด้านการจัดองค์กรและการดำเนินงานของหน่วยการปกครองท้องถิ่นต่อ ผลงานสำคัญคือ งานชุด ๑๑ เล่ม เรื่อง The History of Local Government in England ซึ่งใช้เวลาจัดพิมพ์เผยแพร่รวมทั้งสิ้นกว่า ๒๕ ปี หนังสือชุดนี้บ่งชี้ว่าทั้งคู่เป็นนักวิจัยประวัติศาสตร์ระดับแนวหน้า บุคคลทั้งสองยังช่วยกันเขียนหนังสือขนาดเล็กและใหญ่อีกหลายเล่มรวมทั้งจุลสารที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะไม่ว่าจะในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือถาวร นอกจากนี้ เว็บบ์ร่วมมือกับรอเบิร์ต โมแรนต์ (Robert Morant) นักการศึกษา ในการวางพิมพ์เขียวให้แก่ร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ซึ่งจัดวางระบบการศึกษาของอังกฤษให้แก่เด็ก ๆ อีกหลายรุ่นต่อมา ร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ และ ค.ศ. ๑๙๐๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยมนั้น ซิดนีย์และเบียทริซพยายามผลักดันหลักการของกลุ่มเฟเบียนโดยโน้มน้าวบุคคลที่มีอำนาจและอิทธิพลให้ยอมรับโดยไม่สนใจว่าจะเป็นสมาชิกสังกัดพรรคการเมืองใด ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๒ ทั้งคู่ได้ตั้งกลุ่มสโมสรรับประทานอาหารรายเดือนชื่อ The Coefficients ขึ้นเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะได้มาพบปะพูดคุยกัน กลุ่มนี้ดำรงอยู่จนกระทั่งยุบตัวใน ค.ศ. ๑๙๐๙ เพราะสมาชิกหลายคนทยอยถอนตัวออกบ้างก็พอใจกับการสนทนาเรื่องเบา ๆ ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของการตั้งกลุ่ม หรือสมาชิกกลุ่มอย่างเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) เห็นว่าความตกลงฉันมิตร (Entente Cordiale ค.ศ. ๑๙๐๔)* ที่เอดเวิร์ด เกรย์ (Edward Grey)* สมาชิกอีกคนผลักดันคงจะนำไปสู่สงคราม และบ้างก็ไม่พอใจกับนโยบายการปฏิรูปพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของเชมเบอร์เลน ในที่สุดคนที่เหลือได้รับการชักชวนกันไปตั้งกลุ่มใหม่ ชื่อ กลุ่มคอมแพทริออต (Compatriots)
การพยายามโน้มน้าวของเว็บบ์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการจะให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่นายกรัฐมนตรีอาร์เทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour)* แห่งพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* และเอิร์ลที่ ๕ แห่งโรสเบรี (5ᵗʰ Earl of Rosebery)* คู่แข่งของเขาแห่งพรรคเสรีนิยมไม่ประสบความสำเร็จเมื่อผลการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๐๖ พรรคเสรีนิยมได้เสียงข้างมาก ยุทธวิธีแลกเสียงสนับสนุนในสภาสามัญจึงใช้ไม่ได้ผล ทั้งสองจึงต้องหาทางผลักดันการปฏิรูปสังคมตามแนวสังคมนิยมด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งไม่นานในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๔ ทั้งคู่เริ่มมีบทบาทในพรรคอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะซิดนีย์ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคใน ค.ศ. ๑๙๑๖ จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๒๕ และเป็นผู้ร่างเนื้อหาธรรมนูญของพรรค ค.ศ. ๑๙๑๘ เป็นส่วนใหญ่ซึ่งเรียกร้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของวิถีการผลิตร่วมกัน อย่างไรก็ดีขณะที่เว็บบ์เข้าไปร่วมงานกับพรรคแรงงานนั้น บทบาทผู้นำในสมาคมเฟเบียนของทั้งคู่ก็ถูกสั่นคลอนจากฝ่ายตรงข้าม เริ่มต้นจาก เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) นักประพันธ์ใหญ่ที่เสียดสีสามีภรรยาคู่นี้ในนวนิยายเรื่อง The New Machiavelli โดยสร้างตัวละครที่เป็นคู่สามีภริยาที่มีทัศนวิสัยสั้นแต่เป็นชนชั้นกลางที่คอยชักใยต่าง ๆ และต่อมาเว็บบ์ก็ถูกต่อต้านจากนักสังคมนิยมแบบสมาคมอาชีพหรือกิลด์ (Guild Socialist) ซึ่งสนับสนุนให้คนงานมีอำนาจในการบริหารองค์กรในวงการอุตสาหกรรมและจากกลุ่มปีกซ้ายที่มีจี. ดี. เอช. โคล (G. D. H. Cole) นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้นำซิดนีย์และเบียทริซ เว็บบ์จึงต้องพึ่งพาเวทีของตนเองในการเสนอข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ โดยผ่าน New Statesman หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์แนวฝ่ายซ้ายที่ทั้งสองจัดทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๓ เป็นสำคัญ
การที่ซิดนีย์เป็นเพื่อนกับอาเทอร์ เฮนเดอร์สัน (Arthur Henderson) หัวหน้าพรรคแรงงาน และพร้อมที่จะให้คำแนะนำต่างๆโดยไม่หวังผลใดๆในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World Warค.ศ. ๑๙๑๔–๑๙๑๘)* ทำให้ซิดนีย์ได้เข้าร่วมในคณะกรรมการบริหารพรรคแรงงาน เขาจัดทำคำแถลงนโยบายของพรรคครั้งแรกเมื่อสงครามสิ้นสุดในชื่อเรื่อง Labour and the New Social Order (ค.ศ. ๑๙๑๘) ในปีต่อมาซิดนีย์ได้รับเลือกจากสหพันธ์คนงานเหมือง (Miners’ Federation) ให้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการแซนคีย์กิจการเหมืองถ่านหิน [Sankey Commission on the Coal Mines ประธานคือ เซอร์จอห์น แซนคีย์ (John Sankey) ผู้พิพากษา] ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เพื่อพิจารณาเรื่องการโอนกิจการเหมืองแร่เป็นของรัฐ สภาพแวดล้อมค่าแรงและชั่วโมงการทำงานของคนงานเหมืองใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ซิดนีย์ในวัยเกิน๖๐ปีได้รับเลือกตั้งด้วยชัยชนะที่ขาดลอยเป็นสมาชิกสภาสามัญเป็นครั้งแรกจากเขตซีแอมฮาร์เบอร์ (Seaham Harbour) แห่งเมืองเดอรัม (Durham) ทำให้เขาได้ร่วมในคณะรัฐมนตรีชุดแรกของพรรคแรงงานที่มีแรมเซย์ แมกดอนัลด์ (Ramsay MacDonald)* เป็นผู้นำ โดยใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อพรรคแรงงานได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เว็บบ์ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นบารอนพาสฟีลด์ในปีเดียวกันก็ได้เป็นรัฐมนตรีดูแลอาณานิคม (Secretary of State for the Colonies ค.ศ. ๑๙๒๙–๑๙๓๑) และรัฐมนตรีดูแลอาณาจักรในเครือจักรภพ (Secretary of State for Dominion Affairs ค.ศ. ๑๙๒๙–๑๙๓๐) ในเวลาเดียวกันเขาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลอาณาจักรในเครือจักรภพใน ค.ศ. ๑๙๓๐เพราะสุขภาพทรุดโทรมลง แต่ยังคงดูแลด้านอาณานิคมอยู่ต่อไปอีก ๑ ปี
เว็บบ์เข้าไปมีบทบาทในวงการเมืองในวัยสูงอายุและไม่ประสบความสำเร็จนัก โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคม เพราะในช่วงนั้นได้เกิดปัญหาปาเลสไตน์ (Palestine Question) ซึ่งพวกยิวต้องการหลั่งไหลเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ และการที่ซิดนีย์ต่อต้านข้อเรียกร้องของผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวในเคนยาที่ต้องการจะเข้าไปควบคุมการบริหารประเทศ ดังนั้น เมื่อแมกดอนัลด์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ซิดนีย์จึงปฏิเสธที่จะอยู่ในรัฐบาลต่อไป ครอบครัวเว็บบ์ที่มีกันอยู่เพียง ๒ คน เพราะไร้บุตรธิดาซึ่งละทิ้งถิ่นพำนักในกรุงลอนดอนและไปใช้ชีวิตเงียบ ๆ ที่มณฑลแฮมป์เชียร์ (Hampshire) มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๘ ก็ถอนตัวออกจากตำแหน่งทางการเมืองต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๓๒เมื่อประจักษ์แล้วว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศที่หาทางออกมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไม่ได้คืบหน้า ซิดนีย์และเบียทริซ เว็บบ์ซึ่งกังวลกับลู่ทางในอนาคตของพรรคแรงงานอยู่ด้วยจึงเดินทางไปสหภาพโซเวียตเพื่อศึกษาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และต่างชื่นชมกับสิ่งที่ได้พบเห็นโดยเฉพาะการสามารถแก้ไขปัญหาประชากรว่างงานของรัฐบาลโซเวียต การสามารถจัดบริการทางด้านสุขภาพและการจัดการศึกษา และการให้สถานะที่เท่าเทียมทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่สตรี ถึงแม้ว่าจะไม่พึงใจกับการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนนัก แต่ทั้งคู่เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโซเวียตจะแผ่ขยายไปทั่วโลกในที่สุด
สามปีต่อมาทั้งสองได้ร่วมกันเขียนผลงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายเรื่อง Soviet Communism: A New Civilization? (๒ เล่ม ค.ศ. ๑๙๓๕) ซึ่งดูเหมือนว่าทั้งคู่ได้สละแนวคิดดั้งเดิมของการพัฒนาสังคมและการเมืองที่ยึดถือมานานของกลุ่มเฟเบียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ร่วมกันเขียนเรื่องThe Truth About Soviet Russia ซึ่งยังคงให้ทัศนะสนับสนุนสหภาพโซเวียตและเชิดชูการวางแผนงานจากรัฐบาลกลางงานเขียนทั้ง๒เล่มทำให้นักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง ๆ วิจารณ์ว่า ซิดนีย์และเบียทริซ เว็บบ์ไม่ได้วิเคราะห์พฤติกรรมของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตแต่อย่างใด โดยเฉพาะในช่วงการบังคับใช้ระบบนารวมอย่างเข้มข้น การกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือการใช้ระบบบังคับใช้แรงงานในค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* หรือคูลัค (gulag) นักประวัติศาสตร์ อย่าง เอ. เจ. พี. เทย์เลอร์ (A. J. P. Taylor) กล่าวถึงเล่มแรกว่าเป็นงานเขียนเกี่ยวกับรัสเซียที่ไร้สาระที่สุดและอัล ริชาร์ดสัน (Al Richardson) นักประวัติศาสตร์สกุลมากซิสต์ (Marxist) ก็วิจารณ์งานเล่มเดียวกันนี้ว่า เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตพอ ๆ กับเป็นเรื่องโกหกพกลม เพราะทั้งคู่เคยยึดถือว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมจะไม่เกิดจากการทำลายล้างสถาบันที่มีอยู่อย่างรุนแรงแต่แล้วกลับมองข้ามการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จของสตาลินและสนับสนุนการปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๗
ซิดนีย์ เว็บบ์ บารอนพาสฟีลด์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ที่เมืองลิบฮุก (Liphook) มณฑลแฮมป์เชียร์ขณะอายุ๘๘ปีหลังจากเบียทริซเสียชีวิตไปแล้ว ๔ ปี ศพของเขาได้รับการประกอบพิธี ณ สถานที่เดียวกับภรรยา แต่ด้วยการร้องขอรัฐบาลของชอว์ กล่องบรรจุเถ้ากระดูกของสามีภรรยาคู่นี้จึงย้ายมาฝังอยู่ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ไม่ห่างจากของอดีตนายกรัฐมนตรีเคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดของสามีภรรยาคู่นี้ แม้ทั้งคู่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน เบียทริซเคยกล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๖ ว่าสำหรับเธอแล้วลูกหลานของเธอและสามีคงจะเป็นวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอนซึ่งได้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกในปัจจุบันและหนังสือพิมพ์ News Statesman ส่วนงานประพันธ์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นที่สามีภรรยาคู่นี้เขียนร่วมกัน ได้แก่ The Webb’s Australian Diary (ค.ศ. ๑๘๙๘) The Manor and the Borough (ค.ศ. ๑๙๐๘) The Break-up of the Poor Law (ค.ศ. ๑๙๐๙) English Poor-Law Policy (ค.ศ. ๑๙๑๐) The Cooperative Movement (ค.ศ. ๑๙๑๔) Works Manager Today (ค.ศ. ๑๙๑๗) The Consumer’s Cooperative Movement (ค.ศ. ๑๙๒๑) Decay of Capitalist Civilization (ค.ศ. ๑๙๒๓) และ Methods of Social Study (ค.ศ. ๑๙๓๒).