อัลเฟรด มิลเนอร์ เป็นผู้บริหารอาณานิคมอังกฤษที่มีความสามารถ เป็นคนที่แน่วแน่ในความคิดของตนจนมีส่วนผลักดันให้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับพวกบัวร์ในแอฟริกาใต้ครั้งที่ ๒ ( ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๒) ชัยชนะในสงครามนี้ทำให้อังกฤษขยายอิทธิพลมากขึ้นในดินแดนที่อุดมด้วยแร่ทองคำและทำให้มิลเนอร์ได้รับบรรดาศักดิ์ไวส์เคานต์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาได้ร่วมในรัฐบาลของเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* และได้เป็นผู้แทนอังกฤษไปร่วมลงนามในการทำสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)
มิลเนอร์เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๔ ที่เมืองกีสเซิน (Giessen) ราชรัฐเฮสส์-ดาร์มชตัดท์ (Hesse-Darmstadt) ในสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (North German Confederation)* เขามีเชื้อสายเยอรมันเพราะปู่ซึ่งเป็นชาวอังกฤษได้ไปตั้งรกรากในดินแดน เยอรมันและสมรสกับหญิงสาวชาวเยอรมัน บิดาคือนายแพทย์ชาลส์ มิลเนอร์ (Charles Milner) ผู้เคยประกอบวิชาชีพในกรุงลอนดอนก่อนที่จะไปเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน (Tübingen) ส่วนมารดาเป็นบุตรสาวของพลตรีเรดดี (Ready) ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการเกาะแมน (Isle of Man) ดินแดนในปกครองของอังกฤษที่ตั้งอยู่ในทะเลไอริช มิลเนอร์เริ่มการศึกษาที่เมืองทือบิงเงินก่อนที่จะไปศึกษาต่อในกรุงลอนดอน เขาเป็นคนที่เรียนเก่ง เฉลียวฉลาดจึงได้รับทุนเล่าเรียนหลายทุนเมื่อไปเรียนที่บัลเยิลคอลเลจ (Balliol College) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๘๗๖ มิลเนอร์จบการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๗๗ โดยได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ สาขาวิชาคลาสสิก และได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์สอนที่นิวคอลเลจ (New College) ของมหาวิทยาลัยนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ เขาเริ่มทำงานทางด้านกฎหมายหลังจากได้เป็นเนติบัณฑิตจากสำนักอินเนอร์เทมเปิล (Inner Temple) แต่ต่อมาไม่นานก็หันสู่งานหนังสือพิมพ์ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Pall Mall Gazette ของจอห์น มอร์ลีย์ (John Morley)๑ ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญสังกัด พรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ของเขตแฮร์โรว์ (Harrow) ในมณฑลมิดเดิลเซกซ์ (Middlesex) มิลเนอร์ก็ไปเป็นเลขานุการส่วนตัวของจอร์จ โจอาคิม โกเชน (George Joachim Goschen)๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โกเชนสนับสนุนให้เขาได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังของอียิปต์ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ เพราะขณะนั้นอังกฤษได้รับสิทธิจากสุลต่านออตโตมันให้ควบคุมดูแลการคลังของอียิปต์ เขาทำงานอยู่ที่อียิปต์จนถึง ค.ศ. ๑๘๙๒ และประสบความสำเร็จอย่างดีในการกอบกู้ฐานะการเงินของอียิปต์ที่อยู่ใกล้ภาวะล้มละลายด้วยการปฏิรูปการคลังครั้งใหญ่ ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสรรพากรของอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๒-๑๘๙๗ ซึ่งในช่วงนี้ เขาได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานที่อียิปต์พิมพ์หนังสือเรื่อง England in Egypt ซึ่งสนับสนุนให้อังกฤษเพิ่มบทบาทในอียิปต์ หนังสือเล่มนี้กลายเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของอังกฤษในอียิปต์ นอกจากนี้ มิลเนอร์ยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนนางด้วยใน ค.ศ. ๑๘๙๕
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๗ โจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมได้เลือกมิลเนอร์ซึ่งมีทัศนะสนับสนุนนโยบายจักรวรรดินิยมอังกฤษอย่างแรงกล้าให้รับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ของแอฟริกาใต้และผู้ว่าราชการเคปโคโลนี (Cape Colony)* แทนลอร์ดโรสมีด (LordRosemead) ซึ่งลาออกจากทั้ง ๒ ตำแหน่ง มิลเนอร์ซึ่งใฝ่รู้ก็เตรียมความพร้อมในการรับหน้าที่ใหม่ของตนด้วยการเรียนภาษาดัตช์ เพราะที่ แอฟริกาใต้มีพวกบัวร (Boer) ซึ่งมีเชื้อสายดัตช์อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเรียนภาษาตาล (Taal) ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของที่นั่นด้วยในช่วงเวลาที่มิลเนอร์ไปรับตำแหน่งนั้น ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับสาธารณรัฐทรานสวาล (Transvaal) ในแอฟริกาใต้ใกล้จะปะทุเป็นเหตุการณ์รุนแรงอยู่แล้วเพราะประธานาธิบดีพอล ครูเกอร์ (Paul Kruger)๓ ของทรานสวาลไม่วางใจในท่าทีของอังกฤษนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การจู่โจมของเจมสัน (Jameson Raid)* เมื่อ ๒ ปีก่อน ครูเกอร์เชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษต้องรับรู้เป็นนัย ๆ อย่างแน่นอนก่อนที่ลีนเดอร์ เจมสัน (Leander Jameson) ผู้บริหารบริษัทบริติชแอฟริกาใต้ (British South Africa Company) ของเซซิล โรดส์ (Cecil Rhodes)* ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการเคปโคโลนีจะนำกำลังทหารม้ารับจ้าง ๕๐๐ คนจากเบชัวนาแลนด [ (Bechuanaland) ปัจจุบันคือ บอตสวานา (Botswana)] บุกเข้าสู่ทรานสวาลซึ่งได้เปลี่ยนจากรัฐที่ยากจนที่สุดมาเป็นรัฐมั่งคั่งที่สุดในแอฟริกาใต้ภายในเวลา ๑๐ ปี เพราะการพบแร่ทองคำใน ค.ศ. ๑๘๘๕ การจู่โจมล้มเหลวเพราะขาดการประสานงานภายในกับชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษในทรานสวาลที่เรียกว่าพวกออยต์ลันเดอร์ (Uitlanders; foreigners) ให้ลุกฮือขึ้นพร้อมกัน
เมื่อครูเกอร์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๘ มิลเนอร์จึงสรุปว่าปัญหายุ่งยากทางการเมืองในแอฟริกาใต้ที่พวกออยต์ลันเดอร์ถูกพวกบัวร์กีดกันไม่ให้สัญชาติคงจะไม่มีทางแก้ไขสงครามกลางเมืองจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเว้นเสียแต่จะมีการปฏิรูปในทรานสวาลขึ้นก่อน มิลเนอร์เห็นว่าพวกบัวร์จะต้องปฏิบัติต่อพวกออยต์ลันเดอร์ใน ทรานสวาลอย่างเป็นธรรมมากขึ้นหรือให้สิทธิพวกออยต์ลันเดอร์เท่าเทียมกับคนท้องถิ่น มิลเนอร์เสนอว่ารัฐบาลของครูเกอร์ควรให้สิทธิพลเมืองเต็มขั้นแก่ออยต์ลันเดอร์ที่ เข้าไปตั้งถิ่นฐานครบ ๕ ปี ทั้ง ๒ ฝ่ายได้เจรจากันที่บลูมฟอนเทน (Bloemfontein) ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม -๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๙ แม้ครูเกอร์จะมีท่าทีโอนอ่อนแต่มิลเนอร์ค่อนข้างแข็งกร้าวและยืนหยัดในข้อเรียกร้อง การเจรจาจึงไม่เป็นผลใด ๆ มิลเนอร์เชื่อว่าวิถีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาคืออังกฤษจะ ต้องใช้กำลังในการยืนยันสถานะของตนที่เหนือกว่าสาธารณรัฐใด ๆ ในแอฟริกาใต้ เขารายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษว่าแม้จะเป็นเรื่องที่แย้งกันอยู่ในที แต่การที่จะช่วยชาวอังกฤษในทรานสวาลก็คือ ต้องให้พวกเขายุติการเป็นพลเมืองอังกฤษและได้สิทธิของการเป็นพลเมืองทรานสวาล เมื่อมิลเนอร์ไม่ได้มีท่าทีพร้อมจะประนีประนอมในระหว่างการเจรจาวันที่ ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ พวกบัวร์จึงยื่นคำขาดให้อังกฤษถอนกำลังออกไปจากพรมแดนทรานสวาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง เมื่อฝ่ายอังกฤษไม่ยอมถอนกำลัง เสรีรัฐออเรนจ์ (Orange Free State) ซึ่งลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับทรานสวาลแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๖ ก็ร่วมกับทรานสวาลประกาศสงครามต่ออังกฤษในวันที่ ๑๑ ตุลาคม โดยส่งกำลังบุกเข้าไปในเคปโคโลนีและนาตาล ครูเกอร์เองก็เตรียมพร้อมมานานพอควรโดยสั่งซื้ออาวุธจากเยอรมนีจึงเกิดสงครามบัวร์ (Boer War)* ครั้งที่ ๒ หรือเป็นที่รู้จักกันว่า สงครามแอฟริกาใต้ (South African War) ขึ้น
ระหว่างสงครามดำเนินไป ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๑ อังกฤษก็ได้ผนวกเสรีรัฐออเรนจ์และทรานสวาลเข้ามาเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของตนมิลเนอร์จึงได้สละตำแหน่งผู้ว่าราชการเคปโคโลนี และเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้บริหาร (administrator) ดินแดนของพวกบัวร์ทั้ง ๒ แห่งดังกล่าว ขณะที่ยังคงดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ของแอฟริกาใต้อยู่ด้วย มิลเนอร์ และลอร์ดฮอเรชีโอ เฮอร์เบิร์ต คิชเนอร์ (Lord Horatio Herbert Kitchener)* ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เจรจาทำความตกลงสันติภาพที่กรุงพริทอเรีย (Pretoria) จนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเวเรนิกิง (Treaty of Vereeniging)* ที่มิลเนอร์เป็นผู้ร่างในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ สนธิสัญญานี้ยุติทั้งสงครามบัวร์และความเป็นเอกราชของสาธารณรัฐบัวร์ทั้ง ๒ แห่งแต่อังกฤษจะส่งเสริมให้รัฐทั้งสองมีการปกครองตนเองในเวลาที่เหมาะสมต่อไป การปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของมิลเนอร์ในแอฟริกาให้แก่รัฐบาลอังกฤษส่งผลให้เขาได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นบารอนใน ค.ศ. ๑๙๐๑ และไวส์เคานต์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๒
หลังจากนั้นไม่นาน มิลเนอร์ได้เสนอแนวทางการปกครองอาณานิคม ๒ แห่งที่ได้มาใหม่และเปลี่ยนตำแหน่งตนเองจากผู้บริหารเป็นผู้ว่าราชการ (governor) หลังสงครามเขาทุ่มเทตนเองให้แก่การฟื้นฟูดินแดน ๒ แห่งซึ่งเป็นภารกิจที่เหน็ดเหนื่อยมากพอควรมิลเนอร์เก็บภาษีร้อยละ ๑๐ จากปริมาณทองคำสุทธิที่ผลิตในแต่ละปี และมุ่งมั่นที่จะจัดส่งพวกชาวนาบัวร์กลับสู่ที่ดินทำกิน ปรับปรุงการศาล การตำรวจ และเส้นทางรถไฟ ขณะเดียวกันก็ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมทำเหมืองทองคำนอกจากนี้ มิลเนอร์หวังจะดึงดูดชาวอังกฤษให้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นจะได้กลายเป็นชนส่วนใหญ่ใน แอฟริกาใต้ เขาจึงปฏิรูประบบการศึกษาโดยให้สอนวิชาต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ แต่โครงการของเขาล้มเหลวเพราะแม้ว่าพวกบัวร์จะกลับเข้าไปทำมาหากินดังเดิมแต่ต่อต้านการปฏิรูปการศึกษาของมิลเนอร์ ชาวอังกฤษในแอฟริกาใต้หลายคนก็ละทิ้งถิ่นฐานเพราะเศรษฐกิจเสื่อมถอยมานานอันเนื่องมาจากภาวะสงคราม จำนวนชาวอังกฤษรุ่นใหม่ที่มิลเนอร์คาดหวังว่าจะย้ายเข้าไปก็น้อยมาก มิลเนอร์จึงหว่านล้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษให้อนุญาตให้มีการนำแรงงานชาวจีนเข้าไปในแอฟริกาใต้เพื่อเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมเหมืองทองคำที่ขาดแคลนกำลังคนโดยทำสัญญาจ้าง ๓ ปี แรงงานกลุ่มแรกไปถึงเขตแร่ทองคำที่ เรียกว่าเขต "แรนด์" (Rand ย่อมาจาก Witwatersrand) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๔ แต่นโยบายส่งแรงงานชาวจีนเข้าไปในแอฟริกาใต้ทำให้สาธารณชนในอังกฤษไม่พอใจอย่างยิ่ง
เมื่อพรรคอนุรักษนิยมที่มีอาเทอร์ บัลฟอร์ (Arthur Balfour)* เป็นผู้นำพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๖ และรัฐบาลชุดใหม่จากพรรคเสรีนิยมก็ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอแนะของมิลเนอร์ที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ทรานสวาลมีรัฐบาลที่ เป็นตัวแทนของประชาชนแทนที่จะให้เพียงสิทธิปกครองตนเอง มิลเนอร์ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจาก ความเครียดกับงานในแอฟริกาใต้มาได้ชั่วระยะหนึ่ง จึงตัดสินใจกลับอังกฤษในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๕ ก่อนหน้าวันเดินทางกลับ ๑ วัน มิลเนอร์ได้ไปปราศรัยที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันจรรโลงความมั่งคั่งให้แก่แอฟริกาใต้ ให้ชาวดัตช์และชาวอังกฤษได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน มิลเนอร์กล่าวด้วยว่าเขาปรารถนาให้ผู้คนระลึกถึงว่าเขาเป็นผู้ร่วมสร้างอาณานิคมแอฟริกาใต้ให้ไปสู่ระดับความเจริญที่สูงขึ้น ไม่ใช่แต่เพียงผู้นำในการฟื้นฟูดินแดนนี้หลังภาวะสงคราม
เมื่อกลับไปอังกฤษ มิลเนอร์หันไปสนใจดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขาในกรุงลอนดอน โดยเป็นประธานบริษัททำเหมืองสังกะสีรีโอตินโต (Rio Tinto Zinc Mining Company) แต่เขาก็ยังคงร่วมรณรงค์นโยบายการค้าเสรีในหมู่ประเทศในจักรวรรดิอย่างแข็งขัน และเริ่มเขียนหนังสือเรื่อง The Nation and the Empire ( ค.ศ. ๑๙๑๓) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๑ มิลเนอร์โจมตีร่างกฎหมายงบประมาณของเดวิดลอยด์ จอร์จและความพยายามของรัฐบาลเสรีนิยมที่จะทอนอำนาจของสภาขุนนาง มิลเนอร์กลายเป็นสมาชิกสภาขุนนางที่มีบทบาทสำคัญ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ หลังจากที่ลอยด์ จอร์จสามารถโค่นเฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท(Herbert Henry Asquith)* จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ มิลเนอร์ก็ได้เข้าร่วมคณะมนตรีสงคราม (War cabinet) ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรี ๔ คนที่มีลอยด์ จอร์จเป็นผู้นำ มิลเนอร์เชื่อในการร่วมมือระหว่างประเทศพันธมิตร ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาจึงไปประชุมกับกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) และใน เดือนมีนาคมปีต่อมา ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามก็เป็นผู้แทนอังกฤษไปฝรั่งเศสในช่วงที่เยอรมนีกำลังบุกหนักในยุโรป มิลเนอร์มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจรวมการบัญชาการรบของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าด้วยกัน โดยให้มีการแต่งตั้งนายพลแฟร์ดินอง ฟอช (Ferdinand Foch)* ของฝรั่งเศสเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Generallissimo)
ภายหลังสงครามโลก มิลเนอร์ก็ยังได้ร่วมอยู่ในรัฐบาลโดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมมิลเนอร์จึงได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซายโดยเป็นผู้ลงนามคนสำคัญคนหนึ่งการรับใช้ชาติหนสุดท้ายของมิลเนอร์คือ การไปอียิปต์ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ - เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอียิปต์หลังจากเกิดการจลาจลอย่างรุนแรง รายงานของมิลเนอร์ได้เป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อตกลงระหว่าง ๒ ฝ่ายซึ่งใช้ปฏิบัติเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไม่สนใจข้อเสนอของมิลเนอร์ที่ว่าอียิปต์ควรจะได้เอกราชในรูปแบบที่ดัดแปลงไปบ้าง เขาจึงลาออกจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๑ ในปีเดียวกันนี้ มิลเนอร์ในวัย ๖๗ ปีได้เข้าพิธีสมรสกับเลดีไวโอเลต จอร์เจียนา กาสคอยน์-เซซิล (Lady Violet Georgiana Gascoyne-Cecil) อดีตภรรยาของลอร์ดเอดเวิร์ด เซซิล (Lord Edward Cecil) ภายหลังการลาออกจากรัฐบาล เขายังคงทำงานให้กับกองทุนโรดส์ (Rhodes Trust) และรับเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องอัตราภาษีศุลกากรพิเศษสำหรับประเทศในจักรวรรดิตามที่นายกรัฐมนตรีแสตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* เชื้อเชิญ แต่ข้อเสนอแนะของมิลเนอร์ไม่ได้มีโอกาสนำไปปฏิบัติ เพราะบอลด์วินและ พรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา
ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ มิลเนอร์จัดพิมพ์ผลงานเรื่อง Questions of the Hour ส่วนเอกสารของเขาที่มีชื่อว่า The Milner Papers ซึ่งได้รวบรวมภายหลังเขากลับมาจากแอฟริกาใต้ก็ได้ ซี. เฮดแลม (C. Headlam) มาทำหน้าที่บรรณาธิการระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๓ นอกจากนี้มีหนังสือที่เกี่ยวกับชีวประวัติของเขา ได้แก่ Lord Milner and the Empire ( ค.ศ. ๑๙๕๒) โดยวลาดีมีร์ ฮอลเพอริน (Vladimir Halperin) Milner ( ค.ศ. ๑๙๗๖) โดยจอห์น มาร์โลว์ (John Marlowe) และ Milner ( ค.ศ. ๑๙๗๙) โดยเทอเรนซ์ เอช. โอไบรอัน (Terence H. O’ Brien)
อัลเฟรด มิลเนอร์ ไวส์เคานต์มิลเนอร์แห่งเซนต์เจมส์และเคปทาวน์ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหลับ (sleeping sickness) เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ ที่เมืองแคนเทอร์บิวรี (Canterbury) มณฑลเคนต์ (Kent) ขณะอายุ ๗๑ ปี โดยไม่มีทายาท จึงไม่มีผู้สืบต่อบรรดาศักดิ์ไวส์เคานต์ของเขา.