ดรากอลยูบ มีไฮโลวิช เป็นผู้นำกองทัพยูโกสลาเวียใต้ดินที่นิยมกษัตริย์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กลุ่มเชตนิก (Chetniks)* ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เป็นนายทหารชาวเซอร์เบียชาตินิยมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลยูโกสลาเวียพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๔ เขาร่วมมือกับกลุ่มคอมมิวนิสต์พื้นเมืองซึ่งมียอซิป บรอซ หรือตีโต (Josip Broz; Tito)* เป็นผู้นำต่อต้านการยึดครองยูโกสลาเวียของเยอรมนี แต่ต่อมาเขาขัดแย้งกับตีโต หลังสงครามโลกยุติลง มีไฮโลวิชถูกพวกคอมมิวนิสต์จับด้วยข้อหาทรยศต่อชาติและร่วมมือกับเยอรมนี
มีไฮโลวิชหรือที่ เรียกกันทั่วไปว่า ดราชา (Draža) เกิดที่เมืองอีวานยิกา (Ivanjica) ในเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ เขาเป็นนายทหารอาชีพที่เข้าร่วมรบกับหน่วยเชตนิกซึ่งเป็นกองทหารนอกประจำการต่อสู้กับกองทัพของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีในสงครามบอลข่าน (Balkan War)*
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๑๓ และในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นพันโทและถูกส่งไปทำงานเป็นผู้ช่วยทูตทหาร ในต่างประเทศ ในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ เขากลับมา ประจำการที่กรุงเบลเกรด (Belgrade) เมืองหลวงของ ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (Kingdom of Yugoslavia) และรับผิดชอบด้านการศึกษาของกองทัพ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๐ เขาคัดค้านนโยบายของกองทัพที่จะร่วมมือสนับสนุนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi Party)* และไม่เห็นด้วยกับการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะใช้แคว้นสโลวีเนีย (Slovenia) เป็นแนวป้องกันหลักของการรบเพราะเห็นว่าแคว้นบอสเนีย (Bosnia) มีความเหมาะสมมากกว่า เมื่อเยอรมนีบุกยึดครองยูโกสลาเวียในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ มีไฮโลวิชซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ ๒ ของยูโกสลาเวียในบอสเนียพยายามต่อต้านการบุกของเยอรมนีแต่ล้มเหลว กองทัพของเขาแตกพ่ายอย่างยับเยินจนต้องถอยหนีเข้าไปในเซอร์เบียและหันมาใช้ยุทธวิธีรบแบบสงครามกองโจรโดยรวบรวมชาวเซิร์บชาตินิยมและที่นิยมกษัตริย์จัดตั้งเป็นกองทัพใต้ดินต่อต้านเยอรมนีที่เรียกว่า "เชตนิก" โดยนำชื่อมาจากหน่วยเชตนิกที่เขาเคยเข้าร่วมรบด้วยฝ่ายพันธมิตรได้ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธและการเงินโดยคาดหวังให้มีไฮโลวิชก่อการลุกฮือขึ้นในระดับชาติ
มีไฮโลวิชร่วมมือกับกลุ่มคอมมิวนิสต์พื้นเมืองซึ่งมีตีโตเป็นผู้นำต่อต้านกองทัพเยอรมนีและอิตาลีโดยตีโตเน้นการต่อต้านรัฐบาลหุ่นของโครเอเชีย (Croatia) ซึ่งมีอันเตปาเวลิช (Ante Pavelić)* เป็นผู้นำ ในระยะแรกความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี แต่ไม่ช้าก็เริ่มบาดหมางกันเพราะมีไฮโลวิชสนับสนุนระบอบกษัตริย์ซึ่งขณะนั้นพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ (Peter II ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๔๕) แห่งราชวงศ์คาราจอร์เจวิช (Karageorgevič) กษัตริย์ยูโกสลาเวียทรงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงลอนดอน มีไฮโลวิชยังต้องการชะลอการต่อต้านเยอรมนีไว้จนกว่าฝ่ายพันธมิตรจะให้การสนับสนุนที่เพียงพอ ส่วนตีโตต้องการรุกหนักเพื่อทำลายความเข้มแข็งของฝ่ายอักษะและเขาสนับสนุนการดำเนินนโยบายปกครองแบบสังคมนิยมภายหลังสงครามสิ้นสุดลงมีไฮโลวิชจึงเริ่มเห็นว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อยูโกสลาเวียมากกว่าเยอรมนี กองกำลังเชตนิกกับกำลังของตีโตจึงปะทะกันเองหลายครั้งและมีไฮโลวิชก็ยังให้ความร่วมมือกับอิตาลีในการทำสงครามกับกองกำลังของตีโตด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ พระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ ก็ทรงเลื่อนยศเขาเป็นพันเอก และในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ทรงแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม
นโยบายชะลอการต่อต้านฝ่ายอักษะของมีไฮโลวิชทำให้ฝ่ายพันธมิตรหันมาสนับสนุนตีโตแทน กองทัพของมีไฮโลวิชเริ่มเป็นฝ่ายเสียเปรียบและพ่ายแพ้ในการรบ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ ตีโตก็ประกาศจัดตั้งรัฐบาลคณะกรรมาธิการแห่งชาติยูโกสลาเวียขึ้นโดยเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ฝ่ายพันธมิตรจึงให้ความสนับสนุนรัฐบาลของตีโตแทนรัฐบาลพลัดถิ่นตีโตจึงมีบทบาทมากขึ้นในการเคลื่อนไหวปลดปล่อยยูโกสลาเวีย และในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ ก็สามารถยึดกรุงเบลเกรดคืนจากการยึดครองของเยอรมนีได้ รัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนจึงถูกบีบให้เลิกสนับสนุนมีไฮโลวิช และต่อมาก็ถูกยุบเลิก รวมทั้งพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ ก็ต้องทรงสละพระราชอำนาจ
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ยูโกสลาเวียเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นสังคมนิยมและเรียกชื่อประเทศว่า สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia) ในเวลาต่อมาฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถจับกุมมีไฮโลวิชได้ที่บอสเนียเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เขาถูกพิจารณาคดีด้วยข้อหาทรยศต่อชาติและร่วมมือกับเยอรมนีศัตรูของประเทศ แม้คณะกรรมาธิการไต่สวนของสหรัฐอเมริกาจะล้างมลทินให้แก่มีไฮโลวิชได้ว่าเขาไม่ได้ร่วมมือกับเยอรมนีและไม่ใช่อาชญากรสงครามแต่ประเด็นดังกล่าวก็ยังคงเป็นข้อโต้แย้งและเคลือบแคลงของนักประวัติศาสตร์ยูโกสลาเวียจำนวนหนึ่ง
ดรากอลยูบ มีไฮโลวิชถูกตัดสินประหารด้วยการยิงเป้าที่กรุงเบลเกรด เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ รวมอายุ ๕๓ ปี.