สหพันธรัฐรัสเซียหรืออดีตสหภาพโซเวียตเคยเป็นประเทศแกนนำของโลกคอมมิวนิสต์และในปัจจุบันยังมีแสนยานุภาพด้านนิวเคลียร์ เป็นประเทศที่มีดินแดนกว้างใหญ่มากที่สุดในโลกพื้นที่ ๒ ใน ๓อยู่ในทวีปเอเชีย แต่ประชากรร้อยละ ๗๕อาศัยอยู่ในทวีปยุโรป รัสเซียโดยพื้นฐานจึงถือเป็นชาติตะวันตก ความกว้างใหญ่ของดินแดนที่ครอบคลุม ๒ ทวีปดังกล่าวทำให้มีชนชาติต่าง ๆ มากมายกว่า ๑๖๐เชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่อยู่กระจัดกระจายตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศก็มีวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกันมาก แต่ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ในปัจจุบันสืบสายมาจากชนเผ่าสลาฟตะวันออก (Eastern Slav) ซึ่งตั้งถิ่นฐานในบริเวณตอนกลางของประเทศมาตั้งแต่ ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช
จากหลักฐานทางโบราณคดี เขตทางตอนใต้ของรัสเซียคือที่ราบสเต็ปป์(Steppe) เป็นดินแดนแห่งแรกที่พวกเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนจากทวีปเอเชียอพยพเข้ามาอยู่ในยุคหินใหม่ (New Stone Age หรือ Neolithic Age) เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยเข้ามาอยู่ในบริเวณแถบหุบเขาของแม่น้ำนีเปอร์(Dnieper) และแม่น้ำบัก (Bug) นอกจากรู้จักการเลี้ยงสัตว์แล้ว พวกเร่ร่อนดังกล่าวนี้ยังทำกสิกรรม ทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา ตลอดจนรู้จักทองแดง ทองคำ เงินและสัมฤทธิ์ ใน ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชพวกซิมเมอเรียน (Cimmerian) ซึ่งเป็นชนเผ่าอินโด-ยูโรเปียนจากทวีปเอเชียได้เข้ารุกรานชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในที่ราบสเต็ปป์และสามารถปกครองชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ได้ พวกซิมเมอเรียนตั้งบ้านเรือนอยู่ทางตอนเหนือของทะเลดำและเป็นชนเผ่าแรกในรัสเซียที่รู้จักนำเหล็กมาใช้เป็นอาวุธแต่ใน ๗๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชชนเผ่าซิมเมอเรียนต้องสูญเสียอำนาจให้แก่พวกซิเทียน(Scythian) ที่อพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชียซึ่งมีความสามารถในการรบบนหลังม้าและถนัดในการใช้ธนู และดาบสั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวกรีกก็อพยพมาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรไครเมีย (Crimea) โดยจัดตั้งเมืองอาณานิคมและสถานีการค้าทางตอนเหนือของทะเลดำ ใน ๖๔๔ ปีก่อนคริสต์ศักราชพวกกรีกได้สร้างเมืองออลเบีย (Olbia) ที่ปากแม่น้ำบักเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้ากับพวกซิเทียนและประชากรที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำบัก การเปิดสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างชาวกรีกกับชาวซิเทียนดังกล่าวจึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้อารยธรรมของกรีกถูกถ่ายทอดและเข้าไปมีอิทธิพลในดินแดนรัสเซียในเวลาต่อมา
ใน ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชพวกซาร์เมเทียน (Sarmatian) ซึ่งเป็นพวกเร่ร่อนเชื้อสายอิหร่านและเป็นชนเผ่านักรบที่ชำนาญการใช้หอกและดาบยาวจากตอนกลางของทวีปเอเชียได้ยกกองทัพเข้ารุกรานพวกซิเทียน พวกซาร์เมเทียนมีอำนาจปกครองดินแดนภาคใต้ของรัสเซียเป็นเวลาหลายร้อยปีจนถึงประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๓ พวกซาร์เมเทียนเป็นพวกนิยมเลี้ยงฝูงสัตว์ เช่น วัวและม้า ชอบเดินทางเร่ร่อนและอาศัยอยู่บนเกวียน ในไม่ช้าพวกซาร์เมเทียนได้ยอมรับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกซิเทียนและเริ่มติดต่อค้าขายกับชาวกรีกในเมืองอาณานิคมและสถานีการค้าต่าง ๆ ในดินแดนรัสเซีย พวกซาร์เมเทียนประกอบด้วยชนหลายเผ่าพันธุ์ เผ่าพันธุ์ที่สำคัญได้แก่พวกแอแลน (Alan) ซึ่งเป็นเชื้อสายพวกซาร์เมเทียนเผ่าสุดท้ายที่อพยพเข้ามาในรัสเซีย พวกแอแลนนี้ยังแยกออกเป็นพวกรุกส์-แอส(Rukhs-As) หรือพวกแอสผมสีอ่อน (fair-hair As) ซึ่งสันนิษฐานกันว่า คำว่า“รุกส์-แอส”ต่อมาได้เพี้ยนเสียงเป็น “รัสเซียน”(Russian) หรือ “รัสเซีย”(Russia)
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑อนารยชนเผ่ากอท (Goth) จากสแกนดิเนเวียได้เริ่มอพยพเข้ามาทางตอนใต้ของประเทศในแถบที่เรียกว่าที่ราบยูเรเชีย (Eurasia) โดยผ่านเข้ามาทางแม่น้ำวิสตูลา (Vistula) และจัดตั้งอาณาจักรเฮอร์มานิก (Hermanic)ขึ้น ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมตั้งแต่ทะเลดำจนถึงทะเลบอลติก แต่ใน ค.ศ. ๓๗๐อาณาจักรเฮอร์มานิกก็ถูกพวกฮั่น (Hun) ซึ่งเป็นชนเผ่ามองโกล (Mongol) จากภาคกลางของทวีปเอเชียเข้าโจมตีจนพวกกอทต้องอพยพหนีข้ามเขตเข้าไปในจักรวรรดิโรมัน พวกฮั่นมีอำนาจสูงสุดในยุโรปในสมัยของพระเจ้าอัตติลา (Attilaค.ศ. ๔๓๓-๔๕๓) ซึ่งกองทัพฮั่นได้เข้ารุกรานจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก (Eastern Roman Empire) และแคว้นกอล (Gaul) หรือบริเวณที่เป็นประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี ปัจจุบันได้สำเร็จใน ค.ศ. ๔๔๗ และ ค.ศ. ๔๕๒ ตามลำดับ
ต่อมาพวกเอวาร์ (Avar) เชื้อสายมองโกลและพวกเติร์ก (Turk) ซึ่งเป็นชาวเอเชียอีกกลุ่มหนึ่งได้เข้ารุกรานรัสเซียในกึ่งกลางของคริสต์ศตวรรษที่ ๖ พวกเอวาร์ได้สร้างอาณาจักรซึ่งครอบคลุมบริเวณตั้งแต่แม่น้ำวอลกา (Volga) จนถึงแม่น้ำเอลเบ (Elbe) และใน ค.ศ. ๕๘๑ สามารถใช้อำนาจบังคับให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ส่งเครื่องบรรณาการให้แก่ตนได้ อย่างไรก็ตาม ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๗ กองทัพของจักรวรรดิไบแซนไทน์สามารถเอาชนะพวกเอวาร์และมีผลให้อาณาจักรเอวาร์เสื่อมสลายลงในที่สุด ในคริสต์ศตวรรษที่ ๘พวกคาซาร์ (Khazar) เชื้อสายเติร์กได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนในบริเวณทางตอนเหนือของทะเลดำและทะเลสาบแคสเปียน(Caspian) พวกคาซาร์ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าขายระหว่างจักรวรรดิไบแซนไทน์กับอาณาจักรของพวกอาหรับ ยิ่งไปกว่านั้น ดินแดนของพวกคาซาร์ยังเป็นสื่อกลางในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ อิสลาม และยูดาห์ (Judaism) ในรัสเซียในไม่ช้าพวกคาซาร์ก็แผ่อำนาจเข้าปกครองดินแดนแถบแม่น้ำนีเปอร์ที่พวกสลาฟตะวันออกอาศัยอยู่และบังคับให้พวกสลาฟตะวันออกส่งเครื่องบรรณาการให้แก่ตน
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ พวกสลาฟตะวันออกได้รวมตัวกันอย่างแข็งขันและสามารถจัดตั้งเมืองขึ้นหลายแห่ง เช่น เคียฟ (Kiev) และนอฟโกรอด (Novgorod)ตลอดจนเมืองท่าตามชายฝั่งทางตอนเหนือของทะเลดำเพื่อติดต่อค้าขายกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ แต่อาณาจักรของพวกสลาฟตะวันออกเจริญรุ่งเรืองในช่วงระยะเวลาอันสั้นเพราะถูกพวกวาแรนเจียน (Varangian) ซึ่งเป็นชนเผ่าไวกิงจากสแกนดิเนเวียเข้ารุกราน โดยมีรูิรค (Rurik) เป็นผู้นำ พวกวาแรนเจียนสามารถยึดครองเมืองต่าง ๆ ของพวกสลาฟตะวันออกได้ ใน ค.ศ. ๘๖๒ รูิรคได้สถาปนาราชวงศ์วาแรนเจียนขึ้นปกครองพวกสลาฟตะวันออกที่เมืองนอฟโกรอด ต่อมา ในค.ศ. ๘๘๒ โอเลก (Oleg)พระญาติและผู้สืบทอดราชบัลลังก์และเจ้าชายอีกอร์ (Igor)โอรสของโอเลก ราชวงศ์วาแรนเจียนก็สามารถขยายอาณาเขตและอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง จนสามารถจัดตั้งอาณาจักรขึ้นเป็นปึกแผ่นเรียกว่าอาณาจักรเคียฟ(Kiev) เพื่อปกครองชนเผ่าสลาฟและชนเผ่าต่าง ๆ ในรัสเซียโดยมีกรุงเคียฟเป็นราชธานีและศูนย์กลางแห่งอำนาจอีกทั้งยังมีชัยชนะเหนือพวกกรีกจนเกือบยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ได้ นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๙๘๘ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของเจ้าชายวลาดีมีร์ (Vladimir) ราชวงศ์วาแรนเจียนยังหันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ทอดอกซ์แทนการนับถือเทพเจ้าและผี การนับถือคริสต์ศาสนาดังกล่าวนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาในรัสเซียอาณาจักรเคียฟจึงมีความมั่นคงและเป็นที่ยอมรับในอำนาจอธิปไตยจากอาณาจักรเพื่อนบ้านต่าง ๆ กรุงเคียฟที่เคยเป็นเพียงเมืองศูนย์กลางการค้าของพวกสลาฟแปรสภาพเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม และศาสนาในรัสเซีย อาณาจักรเคียฟมีอายุยึนยาวจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ก่อนจะถูกพวกมองโกลจากทวีปเอเชียเข้ารุกราน
กล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์อันแท้จริงของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นเมื่อพวกสแกนดิเนเวียได้เข้าปกครองเมืองต่าง ๆ ของพวกสลาฟตะวันออก และนับตั้งแต่ค.ศ. ๘๘๒ เป็นต้นมา เชื้อสายของรูิรคได้ปกครองอาณาจักรเคียฟเป็นเวลาติดต่อกันกว่า ๓ศตวรรษ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้อาณาจักรเคียฟได้ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางจนมีพรมแดนจากทะเลดำจดทะเลบอลติกและจากทะเลแคสเปียนจรดเทือกเขาคาร์เพเทียน (Carpathian) เจ้าผู้ครองอาณาจักรเคียฟ (GrandPrince of Kiev) ซึ่งมีฐานะเป็นเสมือนประมุขของรัสเซียในขณะนั้นทรงเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตและการค้ากับจักรวรรดิไบแซนไทน์และอาณาจักรอื่น ๆ ในเอเชียและยุโรปตะวันตก และทรงสร้างความเจริญให้แก่รัสเซียเป็นอันมาก กรุงเคียฟกลายเป็นนครที่มีรูปแบบของศิลปกรรมแบบกรีกที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ได้รับถ่ายทอดมา เป็นศูนย์กลางของระบอบการปกครองแบบฟิวดัลในยุโรปตะวันออกและความเจริญทางด้านวัฒนธรรมและศูนย์กลางอีกแห่งของคริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ พระประยูรญาติของเจ้าผู้ครองอาณาจักรเคียฟได้เสกสมรสกับสมาชิกในราชวงศ์ของดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป เช่น จักรวรรดิไบแซนไทน์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฮังการี นอร์เวย์ และโปแลนด์ อันมีผลทำให้อาณาจักรเคียฟมีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้น
อาณาจักรเคียฟมีความสำคัญและอิทธิพลสูงสุดในรัชสมัยของเจ้าชายยาโรสลาฟผู้ชาญฉลาด (Yaroslav the Wise ค.ศ. ๑๐๑๙-๑๐๕๔) ได้ทรงพัฒนาอาณาจักรเคียฟให้เจริญรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้กรุงเคียฟเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและเป็นคู่แข่งที่สำคัญของกรุงคอนสแตนติโนเปิลนครหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ เจ้าชายยาโรสลาฟทรงให้จัดตั้งโรงเรียนและห้องสมุดขึ้นในราชอาณาจักร อีกทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม มีการสร้างมหาวิหารเซนต์โซเฟีย (Saint Sophia) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๐๓๗ซึ่งเป็นปีที่เคียฟได้รับการจัดตั้งเป็นเขตอัครมุขมณฑล (Metropolitan See) โดยเลียนแบบมหาวิหารเซนต์โซเฟียที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลซึ่งเป็นศิลปะกรีก โดยมีอาคารรูปเหลี่ยมหลังคาโค้งเป็นรูปโดม แต่พวกสลาฟก็ได้ประดับประดาใหม่ให้มีสีสันงดงามเจิดจ้าอันเกิดจากจินตนาการของตนเอง มหาวิหารเซนต์โซเฟียดังกล่าวนี้จึงได้กลายเป็นแม่แบบของศิลปะรัสเซียในสมัยต่อมา ขณะเดียวกันก็มีการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๐๓๖ เรียกว่าความยุติธรรมของรัสเซีย(Russian Justice)ด้วย
อย่างไรก็ดีหลังจากที่เจ้าชายยาโรสลาฟสิ้นพระชนม์ บรรดาเจ้านครต่าง ๆพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรเคียฟ ทั้งพวกเร่ร่อนกลุ่มต่าง ๆ ก็เข้ารุกรานอาณาจักรเคียฟที่รุ่งเรืองจึงเริ่มเสื่อมลง ใน ค.ศ. ๑๑๖๙ เจ้าชายอันเดรย์ โบกอลยุบสกี(Andrei Bogolyubsky) แห่งรอสตอฟ-ซูซดัล (Rostov-Suzdal) เจ้าผู้ครองนครวลาดีมีร์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครมอสโกไปทางตะวันออกประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตรสามารถยึดกรุงเคียฟได้ และทรงประกาศให้นครวลาดีมีร์เป็นนครหลวงของรัสเซียแทนกรุงเคียฟ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ บรรดาเจ้านครต่าง ๆ ในรัสเซียต่างแตกแยกและแย่งชิงกันเป็นใหญ่ รัสเซียจึงกลายเป็นอาณาจักรที่อ่อนแอและไม่สามารถต่อต้านการรุกรานของพวกมองโกลซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนซึ่งอาศัยอยู่ในเขตทุ่งราบทางตอนเหนือของทวีปเอเชียได้ และต่อมาระหว่าง ค.ศ. ๑๒๓๗-๑๒๘๐ พวกมองโกลก็สามารถพิชิตดินแดนต่าง ๆ ของรัสเซียได้ทั้งหมด
การรุกรานของพวกมองโกลทำให้รัสเซียถูกตัดขาดจากจักรวรรดิไบแซนไทน์และโลกตะวันตกโดยสิ้นเชิงเป็นเวลากว่า ๒ศตวรรษ รัสเซียต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและมีวัฒนธรรมล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ทั้งในด้านสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ ชาวนาและขุนนางต่างยากจน ทาสติดที่ดินและชาวนาถูกบังคับให้ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูกองทัพของมองโกล ส่วนขุนนางก็ขาดการเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมจนกลายเป็นผู้ไม่รู้หนังสือและขาดระเบียบวินัย อย่างไรก็ดี พวกมองโกลก็ไม่ได้ก้าวก่ายกับการดำเนินชีวิตของชาวรัสเซียตราบเท่าที่สภาพทางการเมืองและสังคมอยู่ในภาวะปรกติ ทั้งยังมีขันติธรรมทางศาสนาโดยอนุญาตให้ชาวรัสเซียนับถือและปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อในคริสต์ศาสนาได้เหมือนเดิมซึ่งทำให้รัสเซียสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาที่พวกมองโกลปกครองกว่า ๒ ศตวรรษนั้น แม้รัสเซียต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการถูกตัดขาดจากโลกตะวันตก แต่การปกครอง ที่รวมศูนย์อำนาจที่มีประสิทธิภาพของมองโกลก็ช่วยทำให้นครรัฐต่างๆ ในรัสเซียดำรงอยู่ต่อไปได้โดยไม่ทำศึกสงครามแย่งชิงอำนาจกันจนต้องประสบกับภาวะล่มสลาย ในทางตรงกันข้าม การปกครองของพวกมองโกลทำให้พวกนครรัฐต่าง ๆรวมตัวและสามัคคีกันในการต่อต้านอำนาจพวกมองโกล จนสามารถเป็นไทและพัฒนาเป็นรัฐที่เข้มแข็งได้ในที่สุด
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เจ้าผู้ครองนครมอสโกได้รับสิทธิพิเศษจากข่านแห่งคาซานให้มีอำนาจในการพิพากษากรณีพิพาทระหว่างเจ้าผู้ครองนครรัสเซียต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นอำนาจและหน้าที่ของข่าน สิทธิดังกล่าวนี้กอปรกับอำนาจในการรวบรวมบรรณาการจึงทำให้นครมอสโกมีฐานะทางการเมืองและการเงินมั่นคงที่เจ้าผู้ครองนครรัฐอื่น ๆ ต่างเกรงขามและเข้าไปสวามิภักดิ์ด้วย เจ้าชายอีวานที่ ๑ หรืออีวาน (จอห์น) กาลิตา [(lvan (John) Kalita ค.ศ. ๑๓๒๕-๑๓๔๑] ได้รับการยอมรับจากพวกมองโกลเป็นอันมาก จนได้รับตำแหน่งใหม่ว่าเจ้าผู้ครองนครแห่งวลาดีมีร์และรัสทั้งปวง (Grand Prince of Vladimir and All Rus) ต่อมา ในรัชสมัยพระเจ้าอีวานที่ ๓ [Ivan III ค.ศ. ๑๔๖๒-๑๕๐๕ หรือซาร์อีวานมหาราช (Ivan theGreat)] หลังจากปราบปรามนครอื่น ๆ ได้สำเร็จ นครมอสโกได้ประกาศตนเป็นเอกราชจากมองโกลและรวมนครอื่น ๆ เข้ากับมอสโกจัดตั้งเป็นอาณาจักรมัสโควี(Muscovy) นครมอสโกก็ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงใน ค.ศ. ๑๔๘๐อาณาจักรมัสโควีจึงเป็นเสมือนจักรวรรดิโรมันที่ ๓ (The Third Rome) เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของการปกครองและศาสนาของยุโรปตะวันออก โดยสืบทอดเจตนารมณ์ทางด้านการเมืองและศาสนาของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก) ซึ่งใน ค.ศ. ๑๔๕๓ ได้สูญเสียอำนาจแก่พวกออตโตมันเติร์ก(Ottoman Turks) พระเจ้าอีวานที่ ๓ จึงทรงเป็นผู้นำฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรตามทฤษฎี “สันตะปาปาราชันย์” (Caesaropapism) อีกทั้งในบางโอกาสยังทรงใช้พระอิสริยยศนำหน้าพระนามว่า “ซาร์” (Tsar) ซึ่งเป็นคำย่อมาจากคำว่า “ซีซาร์”(Caesar) ที่นิยมเรียกจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอีกด้วย นอกจากนี้ ก่อนที่จะสถาปนาอำนาจสูงสุดในฐานะ “ซาร์”พระองค์ยังทรงสร้างความชอบธรรมในฐานะ“พระญาติ” กับจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์องค์สุดท้ายด้วยการอภิเษกสมรสกับโซเฟีย เพลีออโลกัส (Sophia Palaeologus) พระภาติยะ (หลานลุง) ในจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ ๑๑ (Constantine XI ค.ศ. ๑๔๔๙-๑๔๕๓) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ และมีการนำเอาตรานกอินทรีสองเศียรซึ่งเป็นตราแผ่นดินของจักรวรรดิไบแซนไทน์มาใช้เป็นเครื่องประกอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์และสัญลักษณ์ของอาณาจักรมัสโควีด้วย นอกจากนี้ เพื่อให้สมพระเกียรติยศขององค์ประมุขของ “จักรวรรดิโรมันที่ ๓”มากยิ่งขึ้นจึงมีการขยายและสร้างพระราชวังเครมลิน (Kremlin) ให้ใหญ่โตโออ่า รวมทั้งสร้างมหาวิหารหลวงสำคัญ ๆ หลายแห่งเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญและเป็นที่ฝังพระศพของซาร์และพระราชวงศ์ อย่างไรก็ตามอาณาจักรมัสโควีก็ยังไม่อาจรวมตัวเป็นปึกแผ่นอย่างมั่นคงได้ในสมัยซาร์อีวานที่ ๓ เพราะดินแดนหลายแห่ง รวมทั้งคาซาน (Kazan)อัสตราฮัน (Astrakhan) และดินแดนบริเวณรอบคาบสมุทรไครเมียยังคงตกอยู่ใต้อำนาจของพวกมองโกล แต่ต่อมาในรัชสมัยของซาร์วาซีีลที่ ๓ (Vasily III ค.ศ. ๑๕๐๕-๑๕๓๓) และซาร์อีวานที่ ๔[Ivan IV ค.ศ. ๑๕๓๓-๑๕๘๔ หรืออีวานผู้โหดเหี้ยม (Ivan the Terrible)]พระราชโอรสรัสเซียจึงสามารถผนวกดินแดนส่วนใหญ่ดังกล่าวนี้ได้
ในรัชสมัยซาร์อีวานที่ ๔ พระองค์ทรงเป็นประมุของค์แรกของรัสเซียที่ได้รับคำประกาศพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการว่า “ซาร์แห่งรัสทั้งปวง”(Tsar of AllRus) และโปรดใช้พระสหายสนิทที่เยาว์วัยและบุคคลที่มีความสามารถระดับต่าง ๆทางสังคมมาช่วยบริหารราชการ ใน ค.ศ. ๑๕๕๒ และ ค.ศ. ๑๕๕๖ ทรงประสบความสำเร็จในการกำจัดอำนาจของพวกมองโกลออกจากรัสเซีย และทำให้ลุ่มแม่น้ำวอลกาทั้งหมดรวมอยู่ในพรมแดนของรัสเซียตลอดจนขยายอำนาจเข้าปกครองไซบีเรียได้ใน ค.ศ. ๑๕๘๑ รัสเซียจึงสามารถสถาปนาขึ้นเป็นจักรวรรดิได้ ในช่วงครึ่งหลังของรัชกาล ซาร์อีวานที่ ๔ ทรงมีพฤติกรรมที่โหดร้ายจนได้รับสมญาว่า“ผู้เหี้ยมโหด” เพราะใครที่ขัดพระทัยจะถูกลงทัณฑ์ทันทีด้วยธารพระกรเหล็กที่ทรงถือติดพระหัตถ์ และแม้แต่พระราชโอรสก็ทรงถูกลงทัณฑ์ด้วยธารพระกรเหล็กจนบาดเจ็บและสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา เมื่อนครนอฟโกรอดก่อกบฏต่อพระองค์ก็ทรงส่งกองทัพไปปราบปรามและสังหารชาวเมืองอย่างทารุณ รวมทั้งจับชนชั้นผู้นำและครอบครัวมาประหารอย่างเหี้ยมโหด ณ จตุรัสแดง อย่างไรก็ตาม แม้จะปกครองรัสเซียอย่างกดขี่ทารุณ แต่ก็ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงรัสเซียให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศตะวันตกด้วยการพยายามขยายการค้ากับต่างประเทศมากขึ้นตามลัทธิพาณิชยนิยม (mercantilism) ที่เริ่มแพร่หลายในยุโรปขณะนั้นรวมทั้งพยายามเข้ายึดครองทะเลบอลติกเพื่อให้รัสเซียสามารถ “เปิดหน้าต่างแลยุโรป”(a window looking on Europe) ได้แต่ประสบความล้มเหลว นอกจากนี้รัสเซียก็สร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับอังกฤษด้วย
หลังซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหดเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๕๘๔ ราชบัลลังก์เป็นของซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ (Feodor I ค.ศ. ๑๕๘๔-๑๕๙๘)พระราชโอรสที่ทรงอ่อนแอและไร้ความสามารถ พระองค์ปกครองประเทศเพียงช่วงเวลาอันสั้นและสวรรคตโดยปราศจากองค์รัชทายาท อัครบิดรแห่งมอสโก (Patriarch of Moscow) จึงสนับสนุนสภาแผ่นดินหรือสภาเซมสกีโซบอร์ (Zemskii Sobor) และสภาโบยาร์(Boyars Council) หรือสภาขุนนางให้เลือกบอริส โกดูนอฟ (Boris Godunov)พระเชษฐาของซารีนาอีีรนา (Irina) พระมเหสีในซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ เป็นซาร์(ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๕๙๘-๑๖๐๕) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัสเซียเลือกซาร์ด้วยวิีธดังกล่าว การเถลิงอำนาจของซาร์บอริสใน ค.ศ. ๑๕๙๘ นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยแห่งความยุ่งยาก (Time of Troubles) ครั้งที่ ๑ ในประวัติศาสตร์รัสเซียเพราะมีผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์มากมายซึ่งรวมทั้งตระกูลโรมานอฟ (Romanov)ที่เป็นราชินิกุลในสายซารีนาอะนัสตาเซีย (Anastasia) พระราชมารดาของซาร์เฟโอดอร์ที่ ๑ด้วย
ปัญหาการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของฝ่ายต่าง ๆ หลังจากซาร์บอริสโกดูนอฟสิ้นอำนาจทำให้ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๐๕-๑๖๑๐ รัสเซียต้องเผชิญกับการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของดมีตรีตัวปลอม (False Dmitri) และความปั่นป่วนทางสังคมและการเมือง ทั้งยังเกิดสงครามกลางเมืองและการจลาจลวุ่นวายไปทั่วประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๖๑๐-๑๖๑๓ ประเทศยังตกอยู่ในภาวะขาดผู้นำหรือช่วงว่างระหว่างรัชกาล (interregnum) ด้วย ภาวะการขาดผู้นำซึ่งบ้านเมืองต้องเผชิญกับการรุกรานจากสวีเดน และโปแลนด์ และความไม่สงบภายในจึงทำให้สภาแผ่นดินซึ่งประกอบด้วยนักบวช ขุนนาง คหบดีพ่อค้า ชาวเมืองและชาวนาพร้อมใจกันเลือกซาร์พระองค์ใหม่ขึ้น และต่างตกลงเลือกไมเคิล โรมานอฟ (Michael Romanov)เป็นซาร์เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๖๑๓ โดยเฉลิมพระนามซาร์ไมเคิลและนับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โรมานอฟ
ในช่วง ๗๐ ปี แรก (ค.ศ. ๑๖๑๓-๑๖๘๒) ของการประดิษฐานราชวงศ์โรมานอฟรัสเซียได้เข้าสู่ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ระหว่าง “ยุคเก่า”กับ “ยุคใหม่”ความวุ่นวายภายในและสงครามในสมัยแห่งความยุ่งยากในระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ มีผลกระทบต่อทัศนคติและค่านิยมเก่า ๆ ของชาวรัสเซียเป็นอันมาก ชาวรัสเซียต้องยอมรับความเจริญก้าวหน้าทางด้านยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของยุโรปตะวันตก ในรัชสมัยซาร์ไมเคิล (ค.ศ. ๑๖๑๓-๑๖๔๕) ซาร์อะเล็กเซย์ (Alexei ค.ศ. ๑๖๔๕-๑๖๗๖) และซาร์เฟโอดอร์ที่ ๓ (Feodor III ค.ศ. ๑๖๗๖-๑๖๘๒) รัสเซียได้เข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ซาร์สามารถรวบอำนาจการปกครองไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกันซาร์ก็ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบตะวันตกโดยดัดแปลงความเจริญของยุโรปตะวันตกให้เข้ากับสังคมรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่น ปรับปรุงยุทธวิธีการรบและอาวุธ และส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยต้อนรับพ่อค้าช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ ที่ีล้ภัยทางการเมืองและศาสนาซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปศาสนาและสงครามศาสนาในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัสเซีย ตลอดจนเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีที่กดขี่สตรีตามความนิยมของตะวันออก อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงประเทศให้ก้าวหน้าก็ยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก เพราะการยอมรับอิทธิพลตะวันตกเกิดขึ้นเฉพาะในพวกชนชั้นสูงที่เป็นคนกลุ่มน้อย ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงผูกพันกับความเชื่อและค่านิยมแบบเก่าในด้านสังคม รัสเซียก็ยังล้าหลังประเทศตะวันตกมาก เพราะมีการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพชาวนาและทาสติดที่ดิน รวมทั้งห้ามชาวเมืองเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ระบบทาสติดที่ดินจึงขยายตัวกว้างและหยั่งรากลึกในสังคมจนเป็นอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นและปัญหาทางสังคมและการเมืองซึ่งก่อให้เกิดการลุกฮือและการแย่งชิงอำนาจกันอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การรับความเจริญของยุโรปตะวันตกเข้ามาในรัสเซียในสมัยต้นราชวงศ์โรมานอฟ นับว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์รัสเซียสมัยใหม่อย่างมาก เพราะเป็นการเริ่มต้นของการปฏิรูปจักรวรรดิรัสเซียให้พัฒนาขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจตะวันตก ซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช (Peter I the Great ค.ศ.๑๖๘๒-๑๗๒๕) และซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช (Catherine II the Great ค.ศ.๑๗๖๒-๑๗๙๖) ได้เป็นผู้สร้างฐานอำนาจให้รัสเซียในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และทำให้รัสเซีย มีอารยธรรมแบบยุโรปตะวันตกอย่างสมบูรณ์
ในรัชสมัยของซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ นอกจากการสร้างรัสเซียให้เป็นรัฐทันสมัยตามแบบตะวันตกด้วยนโยบายการปฏิรูปด้านต่าง ๆ แล้ว นโยบายสำคัญของพระองค์คือ การขยายอำนาจทางทหารและทำให้รัสเซียซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเลในด้านตะวันตกให้มีเมืองท่าออกสู่ทะเลทั้งด้านทะเลบอลติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรัสเซียจึงก่อสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) และสวีเดน เพื่อสร้างเมืองท่าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบอลติกตามลำดับ อย่างไรก็ดี การขยายอำนาจทางตอนใต้เพื่อควบคุมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไม่ประสบความสำเร็จเพราะอังกฤษกับเนเธอร์แลนด์ ขัดขวางและรัสเซียพ่ายแพ้สงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน รัสเซียจึงต้องยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกกับออตโตมันใน ค.ศ. ๑๗๗๑และสูญเสียอำนาจการควบคุมเมืองอาซอฟ (Azov) ตากันรอก (Taganrog) และป้อมปราการต่าง ๆ บนแม่น้ำนีเปอร์ซึ่งทำให้ต้องปิด “หน้าต่างสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน”ส่วนในการทำสงครามกับสวีเดน ที่เรียกว่า “สงครามเหนือครั้งยิ่งใหญ่” (GreatNorthern War) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๐๙-๑๗๒๑ รัสเซียมีชัยชนะและได้ครองชายฝั่งทะเลบอลติกซึ่งทำให้สามารถควบคุมอ่าวฟินแลนด์ ได้ ชัยชนะในสงครามเหนือครั้งยิ่งใหญ่ได้ทำให้รัสเซียเป็นจักรวรรดิที่น่าเกรงขามที่มีส่วนคุมโชคชะตาของยุโรปในเวลาต่อมาซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ จึงทรงได้รับสถาปนาเป็น “จักรพรรดิแห่งชาวรัสเซียทั้งปวง” (Emperor of all the Russians) ทั้งได้รับถวายพระราชสมัญญานาม“มหาราช”ด้วย พระองค์ได้ใช้ดินแดนต่าง ๆ บนชายฝั่งทะเลบอลติกติดต่อกับประเทศยุโรปและโปรดให้สร้างทัพเรือที่ทะเลบอลติกเพื่อป้องกันกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) นครหลวงใหม่ที่โปรดให้สร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๐๒กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจึงเป็นสัญลักษณ์ของซาร์ปีเตอร์มหาราชในการสร้างรัสเซียให้เป็นชาติตะวันตกและเจริญทัดเทียมอารยประเทศตะวันตก ประมุของค์ต่อ ๆ มาก็สร้างและพัฒนาปรับปรุงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้กลายเป็น “มหานคร”ที่งดงามแห่งหนึ่งของยุโรปจนได้ชื่อว่าเป็น “อัญมณีประดับยอดมหามงกุฎ”(topcrown jewelry) ของราชวงศ์โรมานอฟ นอกจากนี้ ซาร์ปีเตอร์ยังทรงคิดประดิษฐ์ธงชาติตามแบบอย่างชาติตะวันตกขึ้นด้วยโดยประกอบด้วยแถบสีขาวน้ำเงิน และแดงในแนวนอน ธงชาติสามสีได้ใช้กันสืบมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๙๙ จนถึงปัจจุบันยกเว้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๙๑ เท่านั้นที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม โดยช่วงเวลาดังกล่าวใช้ธงแดงที่มีรูปสัญลักษณ์ฆ้อนกับเคียวและดาวบริเวณมุมขวาของธงเป็นธงชาติ
เมื่อซาร์ปีเตอร์มหาราชเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๗๒๕ โดยมิได้ทรงกำหนดองค์รัชทายาทตามที่ระบุไว้ในพระราชโองการ ค.ศ. ๑๗๒๒ (Decree of 1722)ที่ให้อำนาจแก่ซาร์ในการเลือกรัชทายาท รัสเซียได้เข้าสู่ “สมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒”หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “ยุคปฏิวัติวังหลวง”(Era of Palace Revolutions)ซึ่งกินระยะเวลาทั้งสิ้น ๓๗ ปี (ค.ศ. ๑๗๒๕-๑๗๖๒) สิ้นสุดลงเมื่อซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราชเสด็จขึ้นครองบัลลังก์ใน ค.ศ. ๑๗๖๒ ในช่วงเวลาดังกล่าว รัสเซียประสบกับความวุ่นวายทางการเมืองอันเนื่องจากการไร้เสถียรภาพในระบบการสืบสันตติวงศ์และการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างเจ้านายในราชวงศ์โรมานอฟซึ่งทำให้กลุ่มนายทหารองครักษ์กลายเป็นกลไกสำคัญในการเลือกองค์ประมุข ขณะเดียวกันพวกขุนนางตระกูลสำคัญ ๆ และข้าราชสำนักที่เป็นคนโปรดและชู้รักก็ผลัดกันเข้ามามีอำนาจในการบริหารปกครองประเทศและอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ องค์ประมุขที่ผลัดกันขึ้นปกครองด้วยการสนับสนุนของกลุ่มขุนนางที่มีอำนาจมีจำนวนทั้งสิ้น ๖พระองค์ ประกอบด้วยซารีนาแคเทอรีนที่ ๑ (Catherine I ค.ศ. ๑๗๒๕-๑๗๒๗)ซาร์ปีเตอร์ที่ ๒ (Peter II ค.ศ. ๑๗๒๗-๑๗๓๐) ซารีนาแอนนา (Anna ค.ศ.๑๗๓๐-๑๗๔๐) ซาร์อีวานที่ ๖ (Ivan VI ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๑) ซึ่งขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียง ๒ เดือนเท่านั้น โดยมีเจ้าหญิงแอนนา เลโอโปลดอฟนา(Anna Leopoldovna) พระราชมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการ ซารีนาเอลิซาเบท(Elizabeth ค.ศ. ๑๗๔๑-๑๗๖๑) และซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ (Peter III ค.ศ. ๑๗๖๑-๑๗๖๒)ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ รัชสมัยของซารีนาเอลิซาเบทซึ่งมีความมั่นคงและยาวนานที่สุดถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญระหว่างรัชสมัยซาร์ปีเตอร์มหาราชกับซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช ดังจะเห็นได้ว่าในรัชกาลที่ยาวนาน ๒๐ ปีนี้รัสเซียได้มุ่งกลับไปสนใจความเจริญของชาติยุโรปตะวันตกอย่างจริงจังอีกครั้ง และนำแนวคิดต่าง ๆ ทั้งในด้านศิลปวิทยาการ สังคมและวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเจริญให้แก่รัสเซีย ทั้งรัสเซียยังเข้าไปมีบทบาทสำคัญในสงครามเจ็ดปี (Seven Yearsû War ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๖๓) โดยเข้าร่วมกับออสเตรีย และฝรั่งเศส ทำสงครามกับปรัสเซียและอังกฤษอีกด้วย
สมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๗๖๒ พร้อมกับการขึ้นครองราชสมบัติของซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช แม้การขึ้นครองราชย์ของพระนางจะเกิดขึ้นจากการก่อการปฏิวัติรัฐประหารและช่วงชิงอำนาจจากซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ พระราชสวามี แต่รัชสมัยของพระองค์ก็เป็นช่วงที่รัสเซียเริ่มเข้าสู่ “ยุคทอง”เพราะต่อมารัสเซียได้กลายเป็นมหาอำนาจอันดับ ๑ ของยุโรปที่มีบทบาทสูงเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศอย่างแท้จริง ซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ ทรงดำเนินนโยบายสร้างรัสเซียให้เป็นชาติตะวันตกและขยายพรมแดนตามแนวทางของซาร์ปีเตอร์มหาราชจนสามารถเปิด “หน้าต่างสู่ทะเล”ทางด้านทะเลดำและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้สำเร็จอีกทั้งยังครอบครองดินแดนถึง ๒ ใน ๓ ของโปแลนด์ ซึ่งเป็นศัตรูเก่าและทำให้โปแลนด์ ถูกยุบและหายไปจากแผนที่ของยุโรประหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๕-๑๙๑๘นอกจากนี้ ซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ ยังนำแนวความคิดของนักปรัชญาเมธีของยุโรปในยุคภูมิธรรม (Age of Enlightenment) มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางปฏิรูประบอบการปกครองและสังคมจนทำให้รัสเซียเจริญก้าวหน้าทัดเทียมมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆพระองค์จึงได้รับสมัญญาว่า “กษัตริย์ภูมิธรรม” (Enlightened Despot) และได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น “มหาราช” ซึ่งทรงเป็นราชนารีเพียงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์รัสเซียที่ได้รับการถวายพระเกียรติสูงสุด
ในรัชสมัยซาร์ปอล (Paul ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๘๐๑) พระราชโอรส พระองค์ทรงออกพระราชโองการ ค.ศ. ๑๗๙๗ (Decree of 1797) ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์โดยให้สิทธิเฉพาะแก่พระราชวงศ์ฝ่ายชายที่เป็นพระราชโอรสองค์โตและให้ตัดสิทธิของพระราชธิดาและเชื้อสายของพระราชธิดาทั้งหมด กฎหมายดังกล่าวทำให้รัสเซียมีระบบการสืบสันตติวงศ์ที่มั่นคงและทำให้ประเทศปลอดจากภาวะการช่วงชิงบัลลังก์ที่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลจนถึงสมัยที่ราชวงศ์ิส้นอำนาจเพราะการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution ค.ศ. ๑๙๑๗) ส่วนในด้านการต่างประเทศในระยะแรกซาร์ปอลทรงพยายามหลีกเลี่ยงการเข้ายุ่งเกี่ยวในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒) แต่ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๘-๑๗๙๙ก็เข้าเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ต่อต้านฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonarparte)ยึดอำนาจการปกครองในฝรั่งเศส ได้และปกครองในระบบกงสุล (Consulate System) ซาร์ปอลซึ่งทรงชื่นชมนโปเลียนอย่างมากในฐานะนายทหารในอุดมคติจึงทรงหันมาฟื้นสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และต่อต้านอังกฤษแทน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๑พระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ และแกรนด์ดุ็กอะเล็กซานเดอร์พระราชโอรสองค์โตก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นซาร์องค์ใหม่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชโองการ ค.ศ. ๑๗๙๗ เฉลิมพระนามเป็นซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)
เมื่อซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ รัสเซียกำลังเผชิญกับการขยายอำนาจของฝรั่งเศส และต้องรบกับฝรั่งเศส ในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) แต่ก็ไม่อาจต่อต้านอิทธิพลของฝรั่งเศส ได้จนต้องยอมทำสนธิสัญญาสันติภาพแห่งทิลซิท (Treaty of Tilsit) เพื่อให้ความร่วมมือและเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๘๐๗ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัสเซียถอนตัวจากการปฏิบัติตามระบบภาคพื้นทวีป (Continental System) ของฝรั่งเศส ในการต่อต้านอังกฤษ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงยกกำลังบุกโจมตีนครมอสโกใน ค.ศ. ๑๘๑๒ แต่ประสบความล้มเหลว ต่อมากองทัพมหาอำนาจยุโรปได้รวมตัวกันทำสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (Fourth Coalition War) โดยมีรัสเซียเป็นแกนนำยาตราทัพเข้ากรุงปารีส จักรพรรดินโปเลียนจำต้องยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ ชัยชนะครั้งนี้ทำให้รัสเซียได้รับการยกย่องและยอมรับเป็นประเทศมหาอำนาจของยุโรป ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา(Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕) รัสเซียก็มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมที่ต่อต้านแนวความคิดเสรีนิยมและชาตินิยมเพื่อพยายามรักษาสถานะเดิมของยุโรปก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolutionof 1789) ไว้ รัสเซียให้การสนับสนุนแนวนโยบายของเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอนเมทเทอร์นิช (Klemens Fürst von Metternich) เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศออสเตรีย (ต่อมาดำรงตำแหน่งอัครเสนาบดี) ในการปราบปรามพวกเสรีนิยมในประเทศต่างๆ ขณะเดียวกันก็เพิกเฉยที่จะปฏิรูปการเมืองและสังคมรัสเซียตามข้อเรียกร้องของปัญญาชน ทั้งมุ่งขยายอำนาจและสร้างความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในต่างแดนโดยเฉพาะในจักรวรรดิออตโตมัน ความพยายามของรัสเซียในการเข้ายึดครองคาบสมุทรบอลข่านจึงนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ในปัญหาตะวันออก (Eastern Question) ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์หลังซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ สวรรคตในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๒๕ ได้นำไปสู่การเกิดกบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกกันต่อมาว่ากบฏเดือนธันวาคม (Decembrist Revolt) กบฏที่เกิดขึ้นมีจุดมุ่งหมายหลักที่จะล้มเลิกระบบทาสติดที่ดินและการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย แต่ประสบความล้มเหลว ผลกระทบที่สำคัญของกบฏเดือนธันวาคมคือ ซาร์นิโคลัสที่ ๑(Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๕) ทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการจลาจลและการกบฏขึ้นในรัสเซียได้อีก พระองค์ทรงจัดตั้งกองตำรวจลับสอดส่องและควบคุมประชาชน และต่อต้านการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมทุกประการ รวมทั้งสร้างรัสเซียให้เป็นรัฐวินัยเพื่อบังคับประชาชนให้ปฏิบัติตามระเบียบและเชื่อมั่นในผู้มีอำนาจสูงกว่า ขณะเดียวกันรัสเซียก็ร่วมมือกับออสเตรีย และปรัสเซียในการเข้าแทรกแซงเพื่อปราบปรามการกบฏและการปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปในปลายรัชสมัยของนิโคลัสที่ ๑ รัสเซียได้ก่อสงครามกับตุรกีหรือสงครามไครเมีย(Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖) ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรปหลังจากว่างเว้นการสงครามมาเป็นเวลาเกือบ ๔๐ปี รัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องหมดบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ในช่วงที่ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงมุ่งขยายอำนาจของรัสเซียในต่างประเทศและควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดนั้น กลุ่มปัญญาชนก็เริ่มรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐและระบบซาร์มากขึ้นโดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่คือกลุ่มสลาฟนิยม(Slavophiles) กับกลุ่มตะวันตกนิยม (Westernizers) ปัญญาชนทั้ง ๒ กลุ่มต่างเรียกร้องการปฏิรูปสังคมเพื่อปลดปล่อยทาสติดที่ดินให้เป็นอิสระและการทอนอำนาจอัตตาธิปไตยของซาร์ รวมทั้งการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น แม้การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะประสบความสำเร็จไม่มากนัก แต่แนวความคิดของปัญญาชนทั้ง ๒ กลุ่มก็มีอิทธิพลต่อขบวนการปฏิวัติรัสเซียที่ก่อตัวขึ้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)นักคิดคนสำคัญของกลุ่มตะวันตกนิยมได้ปรับแนวความคิดของพวกสลาฟนิยมเข้ากับแนวทางการปฏิวัติเป็นแนวความคิดสังคมนิยมรัสเซียที่เรียกกันว่า นารอดนิค(Narodnik) หรือรัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populism) ต่อมา ีนโคไลเชียร์นีเชฟสกี (Nikolai Chernyshevsky) มีฮาอิล บาคูนิน (Mikhail Bakunin)และปัญญาชนปฏิวัติคนอื่น ๆ ก็นำแนวความคิดสังคมนิยมของเฮอร์เซนไปเผยแพร่และพัฒนาต่อจนกลายเป็นแนวความคิดที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่ปัญญาชนรัสเซียที่ฝักใฝ่ในการปฏิวัติในช่วงทศวรรษ ๑๘๖๐-๑๘๗๐
ความพ่ายแพ้ในสงครามไครเมีย ค.ศ. ๑๘๕๖ ทำให้รัสเซียหันมาพัฒนาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมประเทศตะวันตก ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒(Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๑) ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติก่อนสงครามไครเมียสิ้นสุดลง จึงทรงเริ่มปฏิรูปสังคมด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาปลดปล่อยทาสติดที่ดิน (Edict of Emanicipation of Serfs) ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ และทรงปฏิรูปทางด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศาล กองทัพ การคลังและอื่น ๆ ซึ่งทำให้รัชสมัยของพระองค์ได้ชื่อว่า “ยุคแห่งเสรีนิยม”อย่างไรก็ตาม ผลการปฏิรูปก็เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจอัตตาธิปไตยให้มั่นคงเพราะสถาบันซาร์ยังคงมีอำนาจเด็ดขาด ีชิวตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปยังคงยากจนแร้นแค้นและขุนนางเจ้าของที่ดินก็ยังครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศทั้งมีชีวิตที่สุขสบาย นอกจากนี้ รัสเซียยังคงล้าหลังด้านเกษตรกรรมเพราะชาวนาขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี และไม่มีทุนทรัพย์ที่จะปรับปรุงผืนดินและวิีธการผลิตให้ดีขึ้น ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ รัสเซียยังถูกคุกคามด้วยทุพภิกขภัยอย่างต่อเนื่อง จำนวนผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี รัฐบาลยังเก็บภาษีชาวนาอย่างหนักทั้งขึ้นภาษีสุราซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนในอัตราที่สูง ความไม่พอใจของประชาชนจึงเกิดขึ้นทั่วไป กลุ่มปัญญาชนที่ต่อต้านรัฐบาลและซาร์จึงเคลื่อนไหวปลุกระดมทางการเมืองทุกรูปแบบเพื่อผลักดันการปฏิวัติให้เกิดขึ้น และในท้ายที่สุดก็หันมาใช้วิธีการรุนแรงและการก่อการร้ายมีการลอบสังหารบุคคลสำคัญในแวดวงรัฐบาลและลอบปลงพระชนม์ซาร์หลายครั้งจนสามารถปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ ได้สำเร็จเมื่อวันที่๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๑
การสวรรคตอย่างน่าอเน็จอนาจของพระราชบิดาทำให้ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๙๔) ทรงดำเนินนโยบายที่เข้มงวดในการปกครองและยกเลิกการปฏิรูปต่าง ๆ ตลอดจนนำแนวความคิดการสร้างรัสเซียให้เป็นรัฐวินัยกลับมาใช้ีอกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎเฉพาะกาลเกี่ยวกับมาตรการความมั่นคงของรัฐ ให้อำนาจรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการปราบปรามการลุกฮือของประชาชนและการรักษาความสงบ กฎเฉพาะกาลทำให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติหยุดนิ่งและนักปฏิวัติจำนวนหนึ่งหนีออกนอกประเทศ กลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้ซึ่งมีเกออร์กีเปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov) เป็นผู้นำได้หันไปรับแนวความคิดลัทธิมากซ์ (Marxism) ซึ่งมีอิทธิพลต่อขบวนการสังคมนิยมยุโรปในขณะนั้นและนำกลับมาเผยแพร่ในประเทศ ลัทธิมากซ์จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นในขบวนการปฏิวัติรัสเซีย และการเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคปฏิวัติแนวทางลัทธิมากซ์ก็ขยายตัวและเติบโตขึ้นในรัสเซียจนสามารถจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Workersû Party - RSDLP) หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่าพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks) ขึ้นได้สำเร็จในต้นทศวรรษ ๑๙๐๐
ในด้านการต่างประเทศ รัสเซียสนับสนุนแนวนโยบายของเจ้าชายออทโทฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมัน(German Empire)ด้วยการร่วมลงนามในสันนิบาตสามจักรพรรดิ(Dreikaiserbund -League of the Three Emperors) กับจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี (Austro-Hungarian Empire) เพื่อกีดกันให้ฝรั่งเศส อยู่อย่างโดดเดี่ยวและป้องกันไม่ให้แสวงหาพันธมิตรเพื่อแก้แค้นเยอรมนี ในการทำลายเกียรติภูมิของชาติในสงครามฝรั่งเศส -ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)ความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจทั้งสามในรูปของสันนิบาตสามจักรพรรดิเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๘๗๘ และ ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๘๗ หลัง ค.ศ. ๑๘๘๗ รัสเซียขัดแย้งกับออสเตรีย -ฮังการี ในปัญหาตะวันออกจึงไม่ต่ออายุสัญญา แต่กระนั้นรัสเซียก็ร่วมมือกับเยอรมนี ทำสนธิสัญญาลับคือสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี(Reinsurance Treaty) ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ แต่ต่อมาเมื่อรัสเซียทราบว่าเยอรมนี ทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาค ค.ศ. ๑๘๗๙ (Dual Alliance 1879) กับออสเตรีย -ฮังการี โดยเยอรมนี จะไม่รักษาความเป็นกลางในกรณีที่รัสเซียก่อสงครามกับออสเตรีย -ฮังการี รัสเซียจึงผูกไมตรีกับฝรั่งเศส และร่วมกันทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคีค.ศ. ๑๘๙๔ (Dual Alliance 1894) เพื่อคานอำนาจเยอรมนี และออสเตรีย -ฮังการี และเพื่อตอบโต้การรวมตัวระหว่างเยอรมนี ออสเตรีย -ฮังการี กับอิตาลี ในสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance ค.ศ. ๑๘๘๒) ต่อมาอังกฤษก็ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัสเซียและฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวของภาคีสมาชิกสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ เป็นกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (TripleEntente) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มหาอำนาจยุโรปจึงแบ่งออกเป็น ๒ ค่าย
เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗) เสด็จขึ้นครองบัลลังก์ใน ค.ศ. ๑๘๙๔พระองค์ทรงดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามรอยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓พระบิดาด้วยการปกครองประเทศอย่างเข้มงวด และปกป้องรักษาอำนาจอธิปไตยของซาร์รวมทั้งปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างเด็ดขาด นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดการต่อต้านพระองค์อย่างมาก และยิ่งเมื่อรัสเซียพ่ายแพ้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕) ความไม่พอใจของประชาชนก็ยิ่งขยายตัวในวงกว้าง กลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมหัวก้าวหน้าที่มีปาเวลนีโคลาเยวิช มิลยูคอฟ (Pavel Nikolayevich Milyukov) เป็นผู้นำก็ร่วมมือกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ เรียกร้องการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายก็เคลื่อนไหวปลุกระดมการต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕มีการชุมนุมนัดหยุดงานทั่วไปและมีการเดินขบวนอย่างสันติในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อถวายฎีกาต่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ให้ทรงปฏิรูปการเมืองและสังคมแต่ล้มเหลวทหารระดมยิงใส่กลุ่มผู้เดินขบวนจนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่าวันอาทิตย์นองเลือด(Bloody Sunday) บาทหลวงเกออร์กี กาปอน (Georgi Gapon) ผู้นำการเดินขบวนประกาศว่าไม่มีซาร์อีกต่อไป การจลาจลและการต่อต้านรัฐบาลได้ขยายตัวไปทั่วประเทศจนเกิดการปฏิวัติค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905) ในเดือนตุลาคมการปฏิวัติที่เกิดขึ้นทำให้แกนนำนักปฏิวัติที่ีล้ภัยนอกประเทศเป็นต้นว่าวลาดีมีร์อิลยิช เลนิน (Vladimir Illyich Lenin)ยูีล มาร์ตอฟ (Yuly Martov) และเลออนตรอตสกี(Leon Trotsky) เดินทางกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงหาทางควบคุมสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองตามคำทูลแนะนำของเคานต์เซียร์เกย์ยูลเยวิช วิตเต (Sergey Yulyevich Witte) เสนาบดีด้วยการประกาศ “คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม” (October Manifesto) เมื่อวันที่๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ โดยสัญญาจะให้มีการเลือกตั้งและให้จัดตั้งสภาดูมา(Duma) ขึ้นเพื่อปกครองในระบอบประชาธิปไตย นับเป็นการเริ่มต้นสมัยการปกครองแบบประชาธิปไตยของจักรวรรดิรัสเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๗ และทำให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติหมดบทบาทและอิทธิพลทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War) ในค.ศ. ๑๙๑๔ และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่สืบเนื่องจากนักบวชเกรกอรีรัสปู ติน (Gregory Rasputin) ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของซารีนาอะเล็กซานดราเฟโอดรอฟนา (Alexandra Feodrovna) พระมเหสีในซาร์นิโคลัสที่ ๒ เข้าก้าวก่ายในงานบริหารราชการแผ่นดินทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์โจมตีอย่างมาก สงครามที่ยึดเยื้อและความพ่ายแพ้ของกองทัพรัสเซียอย่างต่อเนื่องได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม และการเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)ในกรุงเปโตรกราด (Petrograd) ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองไว้ได้และพระองค์จำต้องยอมประกาศสละราชบัลลังก์แก่พระอนุชาแกรนด์ดุ็กไมเคิล อะเล็กซานโดวิช (MichaelAlexsandovich) แต่ทรงปฏิเสธและมอบอำนาจการปกครองให้กับเจ้าชายเกรกอรีลวอฟ (Gregory Lvov) นายกรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกาล การปฏิเสธราชบัลลังก์ดังกล่าวมีผลให้ราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปีถึงกาลอวสานพระราชวงศ์ทั้งหมดถูกควบคุมตัวและกักบริเวณที่พระราชวังลิเดียที่ซาร์สโกเอเซโล(Tsarskoe Selo) และต่อมาที่เมืองเยคาเตรินบุร์ก (Yekaterinburg) ในไซบีเรียตามลำดับ
หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ รัสเซียปกครองแบบทวิอำนาจระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียตซึ่งต่างคุมเชิงและแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันวลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำบอลเชวิคที่กลับเข้าประเทศในเดือนเมษายนพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองให้โค่นรัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งนำไปสู่การลุกฮือในเดือนกรกฎาคมแต่ประสบความล้มเหลว อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)นายกรัฐมนตรีคนใหม่ประกาศดำเนินนโยบายสงครามต่อไปและแต่งตั้งนายพลลาฟร์คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ความนิยมต่อคอร์นีลอฟที่มีมากขึ้นทำให้เคเรนสกีหาทางกำจัดเขาและนำไปสู่กรณีคอร์นีลอฟ(Kornilov Affair) ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ หลังเหตุการณ์ครั้งนี้บอลเชวิคซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านคอร์นีลอฟมีอิทธิพลมากขึ้นในสภาโซเวียต เลนินจึงเรียกร้องให้ยึดอำนาจทางการเมือง แต่เลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev) และกรีกอรีซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev) พยายามคัดค้านโดยอ้างว่าเงื่อนไขการยึดอำนาจยังไม่สุกงอมพอ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการกลางบอลเชวิคมีมติให้ยึดอำนาจและนำไปสู่การเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) ในกรุงเปโตรกราดในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ รัฐบาลเฉพาะกาลถูกโค่นอำนาจและรัสเซียเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์และเรียกชื่อประเทศว่าสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative SocialistRepublic - REFSR)
ชัยชนะของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ทำให้รัสเซียเป็นประเทศสังคมนิยมประเทศแรกของโลก และเป็นประเทศแม่แบบของการปฏิวัติที่สร้างแรงบันดาลใจแก่นักปฏิวัติและประชาชาติต่าง ๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นแบบรัสเซีย ความสำเร็จของเลนินผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต(Soviet Communist Party) ในการวางรากฐานของระบอบสังคมนิยมระหว่าง ค.ศ.๑๙๑๗-๑๙๒๔ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเชื่อมั่นว่า ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่าง ๆ จะก่อการปฏิวัติขึ้นในดินแดนส่วนต่าง ๆ ของโลก รัสเซียซึ่งเรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตหรือสหภาพโซเวียต (Unionof the Soviet Socialist Republics - USSR) จึงพยายามผลักดันการก่อการปฏิวัติโลกและขยายอิทธิพลทางการเมืองไปยังนานาประเทศ การขยายอำนาจของสหภาพโซเวียตมีส่วนทำให้โลกในเวลาต่อมาถูกแบ่งออกเป็น ๒ ค่ายอำนาจคือฝ่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและนำไปสู่การเกิดสภาวะสงครามเย็น (ColdWar) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๙๑ นอกจากนี้ สหภาพโซเวียตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War) ได้กลายเป็นประเทศอภิมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองโลก และแนวความคิดลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) ของโซเวียตก็เป็นแนวความคิดทางการเมืองที่โดดเด่นในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
ในการสร้างระบอบสังคมนิยมตามแนวความคิดลัทธิมากซ์ เลนินได้นำระบบเผด็จการมาใช้โดยจัดตั้งเชกา (Cheka) หรือตำรวจลับเพื่อปราบปรามกวาดล้างฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติและควบคุมประชาชน และสร้างค่ายกักกันแรงงาน(Collective Labour Camp) ขึ้นเพื่อใช้กำจัดศัตรูทางเมืองและกวาดล้างประชาชนที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติเลนินยังประกาศถอนตัวจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ด้วยการทำสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litvosk Treaty) กับเยอรมนี เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ขณะเดียวกันเลนินก็สั่งให้ปลงพระชนม์หมู่พระราชวงศ์เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของกลุ่มกษัตริย์นิยมที่จะคืนอำนาจแก่สถาบันซาร์ เขายังสนับสนุนให้องค์การโคมินเทิร์น (Comintern) หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International) ผลักดันพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ให้ก่อการปฏิวัติขึ้นในยุโรปแต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก นโยบายการปกครองประเทศดังกล่าวได้นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (RussianCivil War) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑ ซึ่งฝ่ายปฏิวัติมีชัยชนะ หลังสงครามกลางเมือง รัฐบาลโซเวียตประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (NewEconomic Policy - NEP) เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงจากเหตุการณ์กบฏครอนชตัดท์ (Krontstadt Revolt) นอกจากนี้ รัฐบาลโซเวียตยังให้ความสำคัญกับการสร้างงานศิลปวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์ตามแนวความคิดสัจสังคมนิยม (Socialist Realism)และรณรงค์การขจัดความไม่รู้หนังสือให้หมดไปจากสังคมโซเวียต อะนาโตลี ลูนาชาร์สกี (Anotoly Lunacharsky) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันนโยบายดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ และในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ มีการยกเลิกปฏิทินจูเลียนแบบเก่ามาใช้ปฏิทินเกรเกอเรียนตามแบบประเทศตะวันตก ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๙ ก็ได้ชื่อว่าเป็นสมัยทองของศิลปวัฒนธรรมโซเวียต
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๓ เลนินล้มป่วยและต้องถอนตัวจากงานการเมือง โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) เลขาธิการใหญ่ของพรรคจึงเห็นเป็นโอกาสดำเนินการปรับกลไกการบริหารเพื่อรวบอำนาจการปกครอง แม้เลนินจะตระหนักถึงแผนการสร้างอำนาจของสตาลินแต่เขาก็ไม่สามารถขัดขวางได้เพราะตรอตสกีสหายสนิทที่เขาต้องการให้เป็นผู้นำการต่อต้านสตาลินปฏิเสธที่จะร่วมมือและเลนินก็ป่วยหนักจนถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ระหว่างค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๗ เป็นช่วงความขัดแย้งภายในพรรคและการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างแกนนำพรรคกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดสตาลินสามารถกำจัดฝ่ายตรงข้ามได้หมดและเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจสูงสุด สตาลินปกครองประเทศอย่างเข้มงวดและผลักดันการเปลี่ยนสังคมโซเวียตให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยโดยเสนอแนวความคิด “สังคมนิยมในประเทศเดียว”(Socialism in One Country)เพื่อสร้างระบอบสังคมนิยมให้เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการปฏิวัติจากประเทศในยุโรปมาหนุนช่วย เขาล้มเลิกนโยบายเศรษฐกิจใหม่ และประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ๕ ปี (Five Year Plan) เพื่อปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นระบบสังคมนิยมความสำเร็จของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปีฉบับแรก (ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๓) ทำให้สหภาพโซเวียตในเวลาต่อมากำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ฉบับต่าง ๆอีกหลายฉบับจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๑ โดยเกือบทุกฉบับเน้นความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมนอกจากนี้สตาลินยังจัดตั้งสหภาพนักเขียนโซเวียต (The Union of Soviet Writers)ขึ้น เพื่อเป็นองค์การแห่งรัฐเพื่อชี้นำแนวทางการสร้างงานศิลปวรรณกรรมและการสร้างความเป็นเอกภาพของนโยบายด้านวัฒนธรรมสหภาพนักเขียนโซเวียตจึงเป็นเครื่องมือของพรรคในการควบคุมศิลปินนักเขียนและการผูกขาดการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรม
ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๔ เซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergey MironovichKirov) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาเลนินกราดซึ่งเป็นคู่แข่งของสตาลินถูกลอบสังหาร สตาลินจึงใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของเขา และนำไปสู่สมัยแห่งความเหี้ยมโหดทางการเมืองหรือการกวาดล้างครั้งใหญ่(Great Purges) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ ประมาณว่าสมาชิกพรรคและประชาชนที่ถูกสังหารมีจำนวนกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน นีโคไล เยจอฟ (Nikolai Yezhov)หัวหน้าตำรวจลับที่สืบอำนาจจากเกนรีฮ์ ยาโกดา (Genrikh Yagoda) มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการกวาดล้างอย่างรุนแรงทั่วประเทศจนสตาลินเริ่มวิตกว่าจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เพราะการกวาดล้างเกินขอบเขตที่เขาต้องการจะมีส่วนทำลายภาพลักษณ์ของพรรค สตาลินจึงหาทางกำจัดเยจอฟและแต่งตั้งลัฟเรนตีเบเรีย (Lavrenty Beria) ให้ดำรงตำแหน่งแทน สตาลินยังพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นซึ่งเรียกกันต่อมาว่ารัฐธรรมนูญฉบับสตาลิน ค.ศ. ๑๙๓๖ และขณะเดียวกันก็สนับสนุนเรื่องการลดกำลังอาวุธขององค์การสันนิบาติชาติ (League of Nations)รวมทั้งถอนตัวออกจากการแทรกแซงในสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish CivilWar ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙) มัคซิม ลิวินอฟ (Maksim Litvinov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโซเวียตยังเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกร่วมมือกันต่อต้านเยอรมนี ซึ่งมีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เป็นผู้นำแต่ประเทศตะวันตกซึ่งยังคงหวาดระแวงสหภาพโซเวียตไม่สนใจต่อข้อเรียกร้องของลิวินอฟและดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)ด้วยการโอนอ่อนต่อความต้องการของเยอรมนี เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่จะนำไปสู่การเกิดสงคราม
ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกบีบบังคับให้เชโกสโลวะเกียยกซู เดเทนลันด์ (Sudeten Land) ให้แก่เยอรมนี ตามความตกลงมิวนิก (MunichAgreement ค.ศ. ๑๙๓๖) สตาลินจึงเห็นว่าระบบการประกันความมั่นคงร่วมกัน(Collective Security) ล้มเหลวและไม่เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของอังกฤษกับฝรั่งเศส สหภาพโซเวียตจึงลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต(Nazi-Soviet Nonaggression Pact) หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ(Ribbentrop-Molotov Pact) เป็นเวลา ๑๐ ปีเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙นอกจากนี้ยังมีพิธีสารลับพ่วงท้ายซึ่งแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างโซเวียตกับเยอรมนี ในยุโรป สหภาพโซเวียตในเวลาต่อมาจึงอ้างข้อตกลงลับนี้ในการเข้ายึดครองสามรัฐบอลติก (Baltic States) และฟินแลนด์ หนึ่งสัปดาห์หลังการทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน เยอรมนี ก็บุกโจมตีโปแลนด์ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เยอรมนี มีชัยชนะอย่างรวดเร็วและในกลางค.ศ. ๑๙๔๐ ประเทศในยุโรปเกือบทั้งหมดยกเว้นอังกฤษก็ตกอยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนี แต่ความล้มเหลวของการโจมตีในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battleof Britain) ค.ศ. ๑๙๔๐ ทำให้เยอรมนี เปิดแนวรบด้านตะวันออกด้วยการบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อหวังชัยชนะและเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของเยอรมนี อังกฤษประกาศสนับสนุนสหภาพโซเวียตทันทีและตามด้วยสหรัฐอเมริกาในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งนำไปสู่สมัยการเป็นพันธมิตรอันยิ่งใหญ่(Grand Alliances) ระหว่าง ๓ ประเทศมหาอำนาจระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๕สหภาพโซเวียตยืนหยัดต่อสู้การบุกหนักของเยอรมนี อย่างทรหดและสามารถป้องกันการปิดล้อมเมืองเลนินกราด (Siege of Leningrad) และต่อมามีชัยชนะต่อเยอรมนี ในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad) และยุทธการที่เมืองคุรสค์ (Battle of Kursk) ได้ตามลำดับ การพ่ายแพ้อย่างยับเยินของเยอรมนี ที่เมืองคุรสค์ทำให้เยอรมนี ต้องล่าถอยออกจากแนวรบตะวันออก และขณะเดียวกันก็นำไปสู่การประชุมสำคัญครั้งแรกของฝ่ายพันธมิตรที่กรุงมอสโกเพื่อหารือเกี่ยวกับการเอาชนะเยอรมนี และตกลงกันว่าด้วยความมั่นคงทั่วไปของยุโรปเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ความสำเร็จของการประชุมที่กรุงมอสโก (Moscow Conference ค.ศ.๑๙๔๓) จึงนำไปสู่การเกิดประชุมครั้งสำคัญอีกหลายครั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายสงครามและอนาคตของยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะสิ้นสุดลงกล่าวคือ การประชุมที่เตหะราน (Teharan Cenference ค.ศ. ๑๙๔๓) การประชุมที่ไคโร (Cairo Conference ค.ศ. ๑๙๔๓) การประชุมที่ยัลตา (Yalta Conferenceค.ศ. ๑๙๔๕) และการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference ค.ศ. ๑๙๔๕)
เมื่อประเทศพันธมิตรยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ (D-Day) ที่หาดนอร์มองดีเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ และสามารถปลดปล่อยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ได้สำเร็จ กองทัพเยอรมนี เริ่มเป็นฝ่ายล่าถอยอย่างต่อเนื่อง และหลังยุทธการที่เบอร์ลิน (Battle of Berlin) ค.ศ. ๑๙๔๕ เยอรมนี ก็ยอมแพ้ สงครามในยุโรปจึงสิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich) ชัยชนะในสงครามโลกทำให้สหภาพโซเวียตมีฐานะเป็นประเทศอภิมหาอำนาจและเริ่มขยายอิทธิพลและอำนาจเข้าครอบงำประเทศยุโรปตะวันออก นโยบายดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งและการแข่งขันกันทางการเมืองกับสหรัฐอเมริกา สงครามเย็น (ColdWar) จึงก่อตัวขึ้นในยุโรปช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๕ และในเวลาอันสั้นก็ขยายขอบเขตออกไปทั่วโลก
หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตหันมาปกครองประเทศอย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่งและประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ฉบับที่ ๔ และ ๕เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๙ มีการจัดตั้งองค์การโคเมคอน(Comecon) ขึ้นเพื่อตอบโต้แผนมาร์แชล (Marshall Plan) ของสหรัฐอเมริกาและเพื่อร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform) หรือสำนักงานข่าวสารคอมมิวนิสต์ (Communist Information Bureau) ขึ้นเพื่อควบคุมประเทศยุโรปตะวันออกและเพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข่าวสารลัทธิคอมมิวนิสต์ ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ มีการเปิดประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๑๙ ขึ้นที่กรุงมอสโกเพื่อสรุปบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ และกำหนดแนวนโยบายของประเทศหลังสงคราม มีการเปลี่ยนชื่อพรรคคอมมิวนิสต์จากพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งมวลแห่งบอลเชวิค (All Union Communist Party of Bolsheviks) เป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (Communist Party of the Soviet Union - CPSU) หลังการประชุมใหญ่ครั้งนี้ไม่นานนัก มีการสืบพบแผนฆาตกรรมผู้นำพรรคและบุคคลสำคัญของประเทศที่เรียกว่า แผนฆาตกรรมของคณะแพทย์ (Doctorsû Plot) ใน ค.ศ.๑๙๕๓ การกวาดล้างอย่างรุนแรงจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ดำเนินไปเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพราะสตาลินถึงแก่อสัญกรรมในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓
หลังอสัญกรรมของสตาลิน เป็นที่คาดหมายกันว่าเกออร์กี มาเลนคอฟ(Georgi Malenkov) จะได้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค แต่นีกีตา ครุชชอฟ (NikitaKhrushchev) ร่วมมือกับเบเรียหัวหน้าตำรวจลับ และเวียเชสลัฟ โมโลตอฟ(Vyasheslav Molotov) แกนนำพรรคอาวุโสขัดขวางและในท้ายที่สุดครุชชอฟก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตครั้งที่ ๒๐ (Twentieth Congress of the Communist Party of the Soviet)ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ ครุชชอฟได้ประกาศนโยบายต่างประเทศด้วยหลักการการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (peaceful coexistence) กับประเทศที่มีระบบการเมืองการปกครองแตกต่างกัน และการยอมรับแนวทางอันหลากหลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกในการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมที่แตกต่างจากสหภาพโซเวียต เขาประกาศยุบค่ายกักกันแรงงานและยกเลิกการทารุณหฤโหดต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือของพรรครวมทั้งผ่อนคลายความเข้มงวดทางสังคมและการเมือง นอกจากนี้ ครุชชอฟยังกล่าวสุนทรพจน์ลับโจมตีสตาลินและแนวความคิดลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality) ที่สตาลินสร้างขึ้นเพื่อทำลายแนวความคิดและอิทธิพลของลัทธิสตาลิน (Stalinism) การประชุมใหญ่ ค.ศ. ๑๙๕๖จึงเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-stalinization) และนำไปสู่บรรยากาศเสรีที่เป็นประชาธิปไตยทั้งในสหภาพโซเวียตและประเทศบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) ครุชชอฟจึงมีบทบาทโดดเด่นในฐานะผู้นำนักปฏิรูป
นโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลินทำให้ประเทศยุโรปตะวันออกเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง แม้สหภาพโซเวียตจะสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปในโปแลนด์ ที่มีวลาดิสลัฟ โกมุลกา (Wladyslav Gomulka)เป็นผู้นำ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปของอิมเร นอจ (Imre Nagy) ในฮังการี ซึ่งต้องการแยกตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw TreatyOrganization - WTO) และให้สหภาพโซเวียตถอนกำลังออกจากประเทศ สหภาพโซเวียตจึงส่งกำลังทหารปราบปราบการลุกฮือของชาวฮังการี (HungarianUprising) ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ และสนับสนุนให้ยานอช คาดาร์ (János Kádar) เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี สืบต่อจากนอจ ในการบุกปราบปรามฮังการี ครั้งนี้ยอซิป บรอซ หรือตีโต (Josip Broz; Tito) ผู้นำยูโกสลาเวียที่เพิ่งปรับฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียตใหม่ก็สนับสนุนครุชชอฟอย่างมาก
ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสปุตนิค(Sputnik) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จ อีก ๔ ปีต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๑ ก็ส่งยานอวกาศวอสตอค ๑ (Vostok I)พร้อมกับมนุษย์คนแรกไปโคจรรอบโลกอยู่ในอวกาศครบหนึ่งรอบเป็นเวลา ๑๐๘ นาทียูีรกาการิน (Yuri Gagarin) มนุษย์อวกาศคนแรกของโลกกลายเป็นวีรบุรุษของสหภาพโซเวียต ความสำเร็จทางอวกาศดังกล่าวทำให้สหภาพโซเวียตสามารถพัฒนาระบบการส่งหัวรบนิวเคลียร์ในรูปขีปนาวุธไปโจมตีในระยะไกลได้และมีศักยภาพทางนิวเคลียร์เท่าเทียมสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ต่อมาครุชชอฟก็ตระหนักถึงภัยของสงครามนิวเคลียร์และไม่ต้องการผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐอเมริกา ครุชชอฟจึงเปิดทางที่จะให้มีการเจรจาลดกำลังอาวุธและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ทั้งกับสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปตะวันตกจนท้ายที่สุดได้นำไปสู่การลงนามร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตที่กรุงมอสโกในสนธิสัญญา ห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Test Ban Treaty) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๓
ในต้นทศวรรษ ๑๙๖๐ บรรยากาศความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศได้เปราะบางขึ้นเมื่อสหภาพโซเวียตได้สร้างกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ในค.ศ. ๑๙๖๑ ปิดกั้นพรมแดนในนครเบอร์ลินระหว่างเบอร์ลินตะวันตกกับเบอร์ลินตะวันออกเพื่อป้องกันการหลบหนีของชาวเยอรมันในเยอรมนี ตะวันออกมาเยอรมนี ตะวันตก ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ สหภาพโซเวียตก็จุดชนวนความตึงเครียดของสงครามเย็นในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบา (Cuba Missile Crisis)วิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบาส่งผลกระทบต่อสถานภาพความเป็นผู้นำของครุชชอฟไม่น้อยเพราะฝ่ายกองทัพไม่พอใจการดำเนินนโยบายของครุชชอฟอย่างมาก และสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งขุ่นเคืองการวิพากษ์โจมตีสตาลินของของครุชชอฟมาก่อนก็โจมตีสหภาพโซเวียตอย่างหนักโดยกล่าวหาว่าสหภาพโซเวียตอ่อนข้อต่อสหรัฐอเมริกาและเป็นฝ่ายลัทธิแก้ที่ไม่ยึดมั่นในหลักการลัทธิมากซ์-เลนิน ความเพลี่ยงพล้ำทางการทูตของครุชชอฟดังกล่าวจึงนำไปสู่การคบคิดของกลุ่มแกนนำพรรคที่มีเลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) สหายสนิทที่ครุชชอฟไว้วางใจเป็นผู้นำ ครุชชอฟจึงถูกบีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคและผู้นำประเทศในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ด้วยข้ออ้างปัญหาสุขภาพ
การสิ้นอำนาจของครุชชอฟไม่เพียงเป็นการสิ้นสุดของบรรยากาศเสรีทางประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่มต้นสมัยของความอับเฉาทางปัญญาและการควบคุมทางสังคมที่เข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง เบรจเนฟผู้นำคนใหม่เป็นคนหัวเก่าและผู้นิยมสตาลิน เขานำระบอบสตาลินกลับมาใช้ปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่งและสนับสนุนให้ยูีรอันโดรปอฟ (Yuri Andropov) หัวหน้าคณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐหรือเคจีบี(Committee for State Security - KGB) มีอำนาจมากขึ้นในการควบคุมและปราบปรามประชาชน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๖๙ และค.ศ. ๑๙๗๒-๑๙๗๓ รัฐบาลเพิ่มมาตรการเข้มงวดทางสังคมและปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างหนัก โดยเฉพาะการกวาดล้างซามิซดัต(Samizdat) สิ่งพิมพ์ใต้ดินที่เป็นสื่อแสดงออกทางความคิดเห็นและเป็นรูปแบบของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการประชาชน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘สหภาพโซเวียตยังส่งกองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกียซึ่งมีอะเล็กซานเดอร์ดูบเชก (Alexander Dubcek)เป็นผู้นำ ต่อมาในปลายเดือนกันยายน เบรจเนฟก็ประกาศหลักการเบรจเนฟ(Brezhnev Doctrine) โดยย้ำความมีอธิปไตยจำกัดของประเทศสังคมนิยมและการยึนยันสิทธิและพันธะหน้าที่ของสหภาพโซเวียตที่จะพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงของระบอบสังคมนิยมในประเทศยุโรปตะวันออกและการจะเข้าแทรกแซงทางทหารในประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อปราบปรามศัตรูของระบอบสังคมนิยม หลักการเบรจเนฟไม่เพียงเป็นการประกาศเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียตเท่านั้น แต่ยังเป็นมาตรการควบคุมประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสหภาพโซเวียตด้วย
ในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ สหรัฐอเมริกาได้ปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีนดำเนินนโยบายที่เรียกว่าการเมืองสามเส้าโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายถ่วงดุลในการเจรจาติดต่อกับ ๒ ประเทศมหาอำนาจ นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้บรรยากาศอันตึงเครียดของสงครามเย็นในยุโรปและดินแดนส่วนอื่น ๆ ของโลกผ่อนคลายลง และนำไปสู่ยุคแห่งการผ่อนคลายความตึงเครียด (D”tente) สหภาพโซเวียตได้ประชุมหารือร่วมกับสหรัฐอเมริกาหลายครั้งเพื่อควบคุมการสะสมยุทโธปกรณ์และการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ จนมีการลงนามร่วมกันในข้อตกลงการเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ครั้งที่ ๑ (Strategic Arms Limitation Talks - SALT I) ที่กรุงมอสโกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ ในขณะเดียวกันอันเดรย์ โกรมีโค (Andrei Gromyko)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียตก็หันมาปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมนี ตะวันตก และนำไปสู่การตกลงเกี่ยวกับปัญหาสถานภาพนครเบอร์ลินและเส้นเขตแดนระหว่างเยอรมนี ตะวันตกกับโปแลนด์ ความตกลงดังกล่าวมีส่วนทำให้นโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik) ของวิลลีบรันดท์ (Willy Brandt) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ตะวันตกประสบความสำเร็จมากขึ้น ทั้งทำให้เกิดการประชุมครั้งสำคัญระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ในการประชุมเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือกันในยุโรปหรือซีเอสซีอี(Conference on Security and Cooperation in Europe -CSCE) ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ ผลที่สำคัญของการประชุมคือ ข้อตกลงเฮลซิงกิ(HelsinkiAgreement) ซึ่งยอมรับการแบ่งเขตแดนระหว่างยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออกและความร่วมมือกันทางด้านต่าง ๆ แต่ที่สำคัญที่สุดคือข้อตกลงในหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ข้อตกลงดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในประเทศยุโรปตะวันออกและการก่อตัวของขบวนการประชาธิปไตย เช่น กลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77) ในเชโกสโลวะเกียและขบวนการโซลิดาริตี (Solidarity) ในโปแลนด์ ซึ่งรัฐบาลโซเวียตไม่อาจปราบปรามได้
ในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ เบรจเนฟล้มป่วยและแทบจะไม่มีบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจใด ๆ ในเรื่องนโยบายการปกครองทั้งภายในและภายนอกประเทศแกนนำโปลิตบูโรได้พยายามปกปิ ดอาการป่วยของเบรจเนฟต่อสาธารณชนและโหมสดุดีความเป็นผู้นำของเบรจเนฟอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ตระหนักถึงการชักใยอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง ในช่วงเวลาเดียวกัน สหภาพโซเวียตได้ส่งกองทหารเข้าแทรกแซงในอัฟกานิสถานซึ่งทำให้บรรยากาศการเมืองโลกตึงเครียดและสงครามอัฟกานิสถานในเวลาต่อมาได้กลายเป็น “สงครามเวียดนามของสหภาพโซเวียต”ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ นานาประเทศต่อต้านการแทรกแซงทางทหารครั้งนี้ด้วยการไม่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ค.ศ. ๑๙๘๐ ที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ สหรัฐอเมริกาก็ปฏิเสธไม่ให้สัตยาบันการเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ครั้งที่ ๒ ด้วย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๑-๑๙๘๒ อาการเจ็บป่วยของเบรจเนฟก็ไม่สามารถปกปิดได้อีกต่อไปและต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๒ เบรจเนฟก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจ
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๒-๑๙๘๕ สหภาพโซเวียตมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ๒ คน คือยูีรอันโดรปอฟ และคอนสตันติน เชียร์เนนโค (Konstantin Chernenko)ซึ่งยังคงสานต่อแนวนโยบายของเบรจเนฟและต่างก็เสียชีวิตลงด้วยปัญหาสุขภาพและวัยสูงอายุ ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) คอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปในวัย ๕๔ ปีได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศ เขาประกาศที่จะผลักดันสหภาพโซเวียตให้ก้าวไปข้างหน้าในระบอบสังคมนิยมที่เป็นประชาธิปไตยทุก ๆ ด้านตามแนวความคิดกลาสนอสต์ (Glasnost) และเปเรสตรอยกา (Perestroika) หรือนโยบายเปิด-ปรับ ซึ่งหมายถึงการปรับและเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นไปในแนวทางประชาธิปไตย กอร์บาชอฟยังประกาศนโยบายที่จะยุติการแข่งขันด้านสะสมกำลังอาวุธ และเน้นการร่วมมือแก้ไขปัญหาระดับโลกกับนานาประเทศเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติโดยส่วนรวม การก้าวสู่อำนาจของกอร์บาชอฟจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โซเวียตและเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา
เมื่อเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุเชียร์โนบิล (Chernobyl Accident) ซึ่งโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์ระเบิดขึ้นที่เมืองเชียร์โนบิลใกล้กรุงเคียฟ (Kiev) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๘๖ รัฐบาลโซเวียตในระยะแรกพยายามปิดข่าว แต่สารกัมมันตรังสีที่แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง รวมทั้งไฟที่ลุกไหม้นานกว่าสัปดาห์ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถปิดข่าวได้อีกและต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายกัมมันตรังสีอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้รัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายกลาสนอสต์อย่างจริงจังโดยยกเลิกการควบคุมสื่อมวลชนและไม่ให้มีการปิดบังข่าวสารอีกต่อไป ทั้งเปิดทางให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลด้วย ระหว่างค.ศ. ๑๙๘๖-๑๙๘๘ จึงเป็นช่วงของการเกิดบรรยากาศเสรีทางความคิดเห็นและความเป็นประชาธิปไตยในสังคม สหภาพโซเวียตยังหันมาเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยเพื่อสร้างบรรยากาศการเมืองโลกที่สงบอันจะเอื้อประโยชน์ต่อการปฏิรูปภายในประเทศ เอดูอาร์ด เชวาร์ดนาดเซ (Eduard Shevardnadze)รัฐมนตรีต่างประเทศได้ปรับนโยบายต่างประเทศให้มีลักษณะยืดหยุ่นและผ่อนคลายมากขึ้น จนนำไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาที่นครเจนีวา (ค.ศ. ๑๙๘๕) กรุงเรกยะวิก (Reykjavik) สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ (ค.ศ. ๑๙๘๘) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (ค.ศ. ๑๙๘๗) และกรุงมอสโก (ค.ศ. ๑๙๘๘)นอกจากนี้สหภาพโซเวียตยังปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ดีขึ้นและประกาศจะถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานซึ่งยึดครองนานถึง ๙ ปีให้หมดสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๙ด้วย
การปฏิรูปทางการเมืองและสังคมในสหภาพโซเวียตเปิดโอกาสให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและเริ่มเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตด้วยจนนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutionsof 1989) สหภาพโซเวียตปฏิเสธที่จะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงและสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีตามระบอบประชาธิปไตย นโยบายดังกล่าวจึงนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี ตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี และเชโกสโลวะเกียในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๘๙-๑๙๙๐ และในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๙ สหภาพโซเวียต กับสหรัฐอเมริกาซึ่งประชุมกันที่มอลตา (Malta) ก็ประกาศการสิ้นสุดของสงครามเย็นอย่างเป็นทางการ การประกาศดังกล่าวมีส่วนทำให้กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงในต้น ค.ศ. ๑๙๙๐ ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๙๐ กอร์บาชอฟก็ยอมให้เยอรมนี ตะวันออกรวมเข้ากับเยอรมนี ตะวันตกและไม่ขัดขวางที่ประเทศเยอรมนี ใหม่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic TreatyOrganization - NATO) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตะวันออกได้ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมและความขัดแย้งทางการเมืองภายในสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆและทำให้รัฐบอลติก (Baltic States) ซึ่งประกอบด้วย เอสโตเนีย (Estonia) ลัตเวีย (Latvia) และลิทัวเนีย (Lithuania) เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตด้วย บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) คู่แข่งทางการเมืองของกอร์บาชอฟและเป็นประธานาธิบดีของสหพันธรัฐรัสเซียก็สนับสนุนการแยกตัวของสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ กอร์บาชอฟพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการยอมให้สาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ มีอำนาจอธิปไตยภายในมากขึ้น และเสนอการจัดทำสนธิสัญญาสหภาพใหม่ (New Treaty of the Union) แต่ก็ประสบความล้มเหลวนอกจากนี้ ความล้มเหลวของการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นตลาดเสรีก็ทำให้กอร์บาชอฟยิ่งถูกต่อต้านมากขึ้นจากฝ่ายต่าง ๆ และความนิยมของประชาชนต่อเขาก็เริ่มลดน้อยลงมากขึ้น
ต่อมา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ กองทัพและกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์ได้ก่อรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจกอร์บาชอฟ แต่ล้มเหลวเพราะประชาชนซึ่งมีเยลต์ซินเป็นผู้นำรวมพลังกันต่อต้านจนได้รับชัยชนะ หลังรัฐประหารเดือนสิงหาคมเยลต์ซินมีบทบาทและอำนาจมากขึ้นจนมีฐานะเป็นเสมือนผู้นำประเทศแทนกอร์บาชอฟเขาออกกฤษฎีกาหลายฉบับจำกัดบทบาทและอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในสหพันธรัฐรัสเซีย และต่อมาก็เจรจาตกลงกับผู้นำของยูเครน และเบลารุส (Belarus) และร่วมกันลงนามจัดตั้งเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States - CIS)ขึ้นที่กรุงมินสก์ (Minsk) นครหลวงของเบลารุส เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ตลอดจนโน้มน้าวให้สาธารณรัฐโซเวียตอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย ในวันที่ ๒๑ ธันวาคมบรรดาสาธารณรัฐโซเวียตได้ออกคำประกาศอัลมา-อาตา (Alma-Ata Declaration) ว่าทั้ง ๑๑ ประเทศมีฐานะเท่าเทียมกันในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งเครือรัฐเอกราชทั้งเป็นผู้สืบสิทธิของสหภาพโซเวียต คำประกาศอัลมา-อาตาจึงทำให้สหภาพโซเวียตสลายตัวลงและอีก ๔ วันต่อมา กอร์บาชอฟก็ประกาศลาออกจากการเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตธงแดงซึ่งมีสัญลักษณ์ดวงดาวเหนือค้อนกับเคียวที่เคยโบกสะบัดเหนือเครมลินเป็นเวลา ๔ ปี ได้ถูกลดลงจากเสาและแทนที่ด้วยธงชาติสามสีของสหพันธรัฐรัสเซียที่เคยใช้ในสมัยซาร์ และเป็นการเริ่มต้นของชาติรัสเซียใหม่บนเส้นทางประชาธิปไตย
หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย เยลต์ซินซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๙ ได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการลอยตัวราคาสินค้าต่าง ๆ และเน้นความเข้มงวดนโยบายการเงินและการคลังเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อ แต่ราคาสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกขณะจากร้อยละ ๒๕๐ ในเดือนมกราคมค.ศ. ๑๙๙๒ เป็นร้อยละ ๙๐๐ ในเดือนมีนาคมและในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๒ ราคาสินค้าทั่วไปที่ตำท่ ี่สุดก็มีราคาโดยเฉลี่ยสูงถึง ๓๐ เท่าของราคาต้นปี ได้ทำให้ความเดือดร้อนขยายตัวไปทั่วเพราะประชาชนส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพยากจน การต่อต้านรัฐบาลจึงก่อตัวขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งความนิยมต่อเยลต์ชินก็ลดลงอย่างมากรัฐสภาพยายามเรียกร้องให้มีการควบคุมราคาสินค้า และให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งพยายามทอนอำนาจประธานาธิบดีลงซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง เยลต์ซินจึงประกาศใช้อำนาจบริหารพิเศษโดยถือว่าคำสั่งของประธานาธิบดีคืออำนาจสูงสุดของประเทศและรัฐสภาไม่มีอำนาจล้มล้างอำนาจประธานาธิบดี ความขัดแย้งดังกล่าวได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏเดือนตุลาคม(October Putsch) ค.ศ. ๑๙๙๓ และรัฐสภาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ในปลายปี เดียวกันเยลต์ซินประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีมากขึ้น
ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๔ เชชเนีย (Chechnya) ซึ่งเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเอง ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากรัสเซีย แต่เยลต์ซินไม่เห็นด้วยและใช้กำลังเข้าปราบปรามซึ่งนำไปสู่สงครามเชชเนียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๔-๑๙๙๖ สงครามเชชเนียและสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ความนิยมต่อเยลต์ซินลดลง เขาจึงพยายามหาทางยุติปัญหาเชชเนียด้วยการเจรจายุติการสู้รบและให้ชะลอเวลาเรื่องการแยกตัวออกไปอีก ๕ ปี ความสำเร็จในการแก้ปัญหาดังกล่าวมีส่วนทำให้เยลต์ซินได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ โดยชนะคู่แข่งจากพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเฉียดฉิว ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๖-๑๙๙๙ รัสเซียพยายามแสดงบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในวิกฤตการณ์คอซอวอ (KosovoCrisis) และเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชและประเทศยุโรปตะวันตก เมื่อเยลต์ซินลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ได้สืบทอดตำแหน่งแทน ในปีที่ปูตินขึ้นสู่อำนาจ คริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ก็สถาปนาซาร์นิโคลัส พระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดารวม ๗ พระองค์ เป็นนักบุญในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ ด้วยเหตุผลที่ว่าทุกพระองค์ทรงยืนหยัดอย่างองอาจในความทุกข์ทรมานในการต่อสู้กับปิศาจแห่งความชั่วร้าย การสถาปนาดังกล่าวจึงเป็นเสมือนการฟื้นฟูพระเกียรติยศอันสูงสุดของราชวงศ์โรมานอฟ และมีส่วนทำให้ความชื่นชมซาร์กลับมาเป็นกระแสสำคัญในการเมืองและสังคมรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง
ในการแก้ปัญหาการเมืองภายในปูตินประกาศใช้มาตรการเด็ดขาดในการแก้ปัญหาเชชเนียโดยถือว่ากลุ่มกบฏเชชเนียเป็นเสมือนกลุ่มก่อการร้าย ขณะเดียวกันเขาก็มีนโยบายปราบปรามกลุ่มมาเฟียในวงการธุรกิจต่าง ๆ ในด้านต่างประเทศปูตินสนับสนุนประธานาธิบดีจอร์จดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) แห่งสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการก่อการร้ายรวมทั้งการทำสงครามในอัฟกานิสถานเพื่อตามจับอุซามะห์บิน ลาดิน (Usama bin Laden) ผู้นำองค์การก่อการร้ายที่มีเครือข่ายทั่วโลกรัสเซียจึงเริ่มมีบทบาทในวงการเมืองโลกอีกครั้งหนึ่ง และพยายามสร้างความร่วมมือกับยุโรปมากขึ้น โดยสนับสนุนการขยายสมาชิกของสหภาพยุโรปตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและอินเดียใน ค.ศ. ๒๐๐๑ ปูตินประกาศยุติข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเก็บรักษาศพของเลนินซึ่งประชาชนจำนวนมากต้องการให้นำไปฝังด้วยการให้ เก็บศพไว้ ต่อไปเพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของประเทศในช่วงการปกครองสังคมนิยมระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๒-๒๐๐๓ ปู ตินสนับสนุนให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีบทบาทมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาในประเทศอิรักและมีส่วนเข้าร่วมรักษาสันติภาพและฟื้นฟูอิรักร่วมกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ เขาจึงได้รับการยกย่องอย่างมากว่าเป็นนักการเมืองดีเด่นของรัสเซียและได้รับความนิยมจากประชาชนในความสำเร็จของการสร้างรัสเซียให้มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจรวมทั้งการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ปูตินจึงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ และชาวรัสเซียส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าเขาจะนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นในทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ นี้.