Romania

โรมาเนีย




     โรมาเนียตั้งอยู่ในคาบสมุทรบอลข่านหรือเหนือสุดของภูมิภาคยุโรปตะวันออกโดยมีแม่น้ำดานูบเป็นเส้นแบ่งเขตแดนธรรมชาติทางตอนใต้ เป็นประเทศใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนหน้านั้นเป็นดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของจักวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) เป็นเวลาหลายร้อยปี และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในภูมิภาคตลอดมา
     โรมาเนียเป็นดินแดนที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานมาแต่โบราณเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ มีสาขาของแม่น้ำหลายสาย ซึ่งส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาคาร์เพเทียนที่ทอดยาวจากเหนือไปใต้และเทือกเขาทรานซิลเวเนียจากตะวันออกไปตะวันตกลงสู่แม่น้ำดานูบทางตอนใต้และออกสู่ทะเลดำ หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นการตั้งถิ่นฐานของชาวกรีกเผ่าเทรเซียนในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำดานูบราวศตวรรษที่ ๗ก่อนคริสต์ศักราช ลูกหลานของชนเผ่านี้ต่อมารู้จักกันในนามพวกเกตาเอ (Getae)หลังจากนั้นอีกประมาณ ๒ ศตวรรษก็มีชนเผ่าที่ใกล้ชิดกันคือเผ่าดาเซีย (Dacia)เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตเทือกเขาคาร์เพเทียนและทรานซิลเวเนีย ชนทั้ง ๒ กลุ่มนี้เป็นผู้บุกเบิกและสร้างอารยธรรมยุคแรกให้กับโรมาเนีย ภายในศตวรรษที่ ๔ก่อนคริสต์ศักราชปรากฏว่ามีชุมชนที่เข้มแข็งกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก
     โรมาเนียเป็นเป้าหมายของการขยายอำนาจของโรมันในยุโรปตะวันออกมาตั้งแต่ครั้งจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ในปลายสมัยสาธารณรัฐเพียงแต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังจนถึงสมัยจักรวรรดิในรัชกาลจักรพรรดิทราจัน (Trajan)โดยกองทัพโรมันสามารถยึดครองดินแดนของพวกเกตาเอและดาเซียไว้ได้ทั้งหมดใน ค.ศ. ๑๐๖ และได้ปกครองดินแดนแถบนี้อยู่ประมาณ ๑๕๐ ปี จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๓ แม้จะไม่ยาวนานนัก แต่โรมันก็ได้นำภาษาโรแมนซ์ (Romance)มาสู่โรมาเนีย ตลอดจนระบบการปกครองและการทหารที่มีประสิทธิภาพ ชาวโรมาเนียได้รู้จักการสร้างบ้านแปลงเมืองที่เป็นระบบระเบียบ มีความเจริญ มีการสร้างถนนสะพาน ระบบส่งน้ำ กำแพงเมืองพร้อมป้อมปราการเพื่อใช้เป็นแนวป้องกันข้าศึกนอกจากนั้น ชาวเกตาเอ-ดาเซียยังมีโอกาสได้ติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยการไปร่วมรบกับกองทัพโรมัน และบางครั้งก็ได้ไปร่วมสร้างทาง สร้างแนวป้องกัน สร้างระบบส่งน้ำและอื่น ๆ ทั่วทั้งจักรวรรดิอย่างไรก็ดีเมื่อจักรวรรดิโรมันขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเกินไป ก็ทำให้ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองดินแดนบางส่วนของจักรวรรดิได้เต็มที่ ใน ค.ศ. ๒๕๖ ตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิกัลลีเอนุส (Gallienusค.ศ. ๒๕๓-๒๖๘)พวกอนารยชนเผ่ากอท (Goth) สามารถขับไล่กองทัพโรมันออกไปจากโรมาเนียได้เกือบทั้งหมด และหลังจากนั้นไม่นานในรัชสมัยของจักรพรรดิออเรเลียน(Aurelian ค.ศ. ๒๗๐-๒๗๕) ก็ไม่ปรากฏว่ามีกองทัพโรมันหลงเหลืออยู่ในโรมาเนียเลย จึงนับเป็นการสิ้นสุดการปกครองของจักรวรรดิโรมันในโรมาเนีย
     ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๓-๑๓ ประวัติศาสตร์โรมาเนียมีลักษณะคล้ายกับประวัติศาสตร์สมัยกลางในส่วนอื่น ๆ ของยุโรป กล่าวคือ เป็นยุคที่มีชนเผ่าต่าง ๆเข้ามารุกราน เริ่มด้วยพวกกอทระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๓-๔ พวกฮั่น (Hun) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ พวกเกพิด (Gepid)พวกเอวาร์ (Avar) และพวกสลาฟ (Slav)ในคริสต์ศตวรรษที่ ๖ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๗-๑๓ ก็มีพวกบัลการ์หรือบัลแกเรีย (Bulgar; Bulgarian) แมกยาร์ (Magyar) คูมัน (Cuman) และพวกตาตหรือตาร์ตาร์(Tartar) การรุกรานของชนเผ่าเหล่านี้ทำให้โรมาเนียต้องหาทางพึ่งพาและป้องกันตนเองด้วยการจัดตั้งรัฐที่มีเจ้านายปกครองกระจายอยู่ทั่วไป ระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (feudalism) จึงถือกำเนิดขึ้นมา โรมาเนียถูกแบ่งแยกเป็นรัฐหรือแว่นแคว้นต่าง ๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง บางแว่นแคว้นก็เป็นที่หมายปองของประเทศเพื่อนบ้านระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๘-๑๐ พวกบัลการ์ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดตั้งจักรวรรดิบัลแกเรีย สามารถยึดครองดินแดนลุ่มแม่น้ำดานูบของโรมาเนียรวมทั้งแคว้นดอบรูจา (Dobruja) ไว้ได้ และโดยผ่านพวกบัลการ์นี้เองที่ศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในโรมาเนียจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงและกลายเป็นนิกายอิสระ เป็นออร์ทอดอกซ์สายโรมาเนีย (Romanian Orthodox Church) โดยเฉพาะ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑พวกแมกยาร์ในฮังการี ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของโรมาเนียก็สามารถยึดครองแคว้นทรานซิลเวเนีย (Transylvania) ไว้ได้ ทำให้มีชาวแมกยาร์เข้ามาตั้งถิ่นฐานและนำเอาศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาสู่ภูมิภาคนั้นด้วย
     ในช่วงปลายสมัยกลางระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ได้มีการรุกรานระลอกใหม่ในคาบสมุทรบอลข่านโดยพวกเซลจูกเติร์ก (Seljuk Turk) ทำให้เกิดการรวมตัวกันของรัฐเล็ก ๆ ให้กลายเป็นรัฐใหญ่ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในโรมาเนียได้เกิดรัฐวัลเลเคีย (Wallachia) ทางตอนใต้ของเทือกเขาคาร์เพเทียน ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ต่อมาก็เกิดรัฐมอลเดเวีย (Moldavia) ขึ้นทางด้านตะวันออกของเทือกเขาคาร์เพเทียน อย่างไรก็ดี หลังจากพวกเติร์กตีกรุงคอนสแตนติโนเปิ ล(Constantinople) และสามารถยึดครองคาบสมุทรบอลข่านและดินแดนบางส่วนของฮังการี ได้ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ วัลเลเคีย มอลเดเวีย และทรานซิลเวเนียก็พลอยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันไปด้วย แม้จักรวรรดิออตโตมันจะปกครองดินแดนเหล่านี้ (ยกเว้นทรานซิลเวเนีย) มายาวนานจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่เนื่องจากเป็นรัฐชายขอบของจักรวรรดิจึงมีความเป็นอิสระอย่างมากในกิจการภายในรัฐและการป้องกันตนเอง
     ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) แห่งออสเตรีย ซึ่งพยายามสถาปนาอำนาจในแถบลุ่มน้ำดานูบตอนบนรวมทั้งฮังการี ประสบชัยชนะในการรบกับพวกเติร์กและสามารถผนวกแคว้นทรานซิลเวเนียไว้ในจักรวรรดิฮับส์บูร์ก(Habsburg Empire) และใน ค.ศ. ๑๗๑๘ ก็สามารถผนวกดินแดนสำคัญของแคว้นวัลเลเคียที่เรียกว่าออลทีเนีย (Oltenia) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๗๕ออสเตรีย ได้เข้ายึดครองดินแดนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นมอลเดเวียที่เรียกว่า บูโกวีนา(Bukovina) ขณะที่ในเวลาต่อมา (ค.ศ. ๑๘๑๒) จักรวรรดิรัสเซีย ก็สามารถยึดครองดินแดนภาคตะวันออกของแคว้นมอลเดเวียที่เรียกว่า เบสซาราเบีย (Bessarabia)บางส่วนไว้ได้เช่นกัน
     หลังสงครามรัสเซีย -ตุรกี (Russo-Turkish War ค.ศ. ๑๘๒๘-๑๘๒๙)มอลเดเวียและวัลเลเคียซึ่งขณะนั้นเรียกรวมกันว่า ราชรัฐดานูบ (DanubianPrincipalities) ก็ตกเป็นรัฐในอารักขาของรัสเซีย แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นรัฐบรรณาการของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดสงครามไครเมีย (CrimeanWar) ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ระหว่างจักรวรรดิออตโตมันอังกฤษและฝรั่งเศส กับรัสเซีย รัสเซีย ได้เข้ายึดครองมอลเดเวียและวัลเลเคีย แต่ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๕๔รัสเซีย ได้ยินยอมถอนกองทัพออกจากดินแดนดังกล่าว เพื่อต้องการการสนับสนุนจากออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรที่รัสเซีย เคยส่งกองทัพไปช่วยปราบปรามการปฏิวัติในฮังการี ระหว่างการปฏิวัติค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)อย่างไรก็ีดเมื่อรัสเซีย เป็นฝ่ายปราชัยในสงครามและต้องลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Treaty ofParis) เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๖ มอลเดเวียและวัลเลเคียได้รับสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้การดู แลของจักรวรรดิออตโตมันรวมทั้งส่วนที่เหลือของเบสซาราเบียจากรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ ประชาชนในแคว้นมอลเดเวียและวัลเลเคียได้ร่วมใจกันเลือกเจ้าชายอะเล็กซานดรู ยอน คูซา (Alexandru Ion Cuza) เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งสอง ต่อมาในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ มอลเดเวียและวัลเลเคียได้รวมตัวกันเป็นรัฐเดียวเรียกว่า ราชรัฐโรมาเนีย (Principality ofRomania) มีกรุงบูคาเรสต์ (Bucharest) เป็นเมืองหลวงพร้อมกันนั้นยังจัดให้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครองที่จะนำไปสู่การรวมประเทศอย่างแท้จริง
     ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ เจ้าชายคาร์ล (Karl) แห่งราชวงค์โฮเฮนซอลเลิร์น-ซิกมาริงเงิน(Hohenzollern-Sigmaringen) ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งโรมาเนีย(ค.ศ. ๑๘๖๖-๑๘๘๑) และประมุขของราชรัฐ ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ โรมาเนียร่วมกับรัสเซีย ทำสงครามกับตุรกีและในปีต่อมาในการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congressof Berlin) ซึ่งประกอบด้วยมหาอำนาจต่าง ๆ ได้ร่วมกันค้ำประกันเอกราชอย่างสมบูรณ์ของโรมาเนีย แต่โรมาเนียต้องยกเบสซาราเบียให้แก่รัสเซีย และได้รับดอบรูจาตอนเหนือเป็นเครื่องตอบแทน โรมาเนียจึงเป็นประเทศแรก ๆ ในยุโรปตะวันออกที่เป็นอิสระจากการปกครองอันยาวนานของจักรวรรดิออตโตมัน ในวันที่ ๒๖ มีนาคมค.ศ. ๑๘๘๑ เจ้าชายคาร์ลได้เข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ของราชอาณาจักรโรมาเนีย มีพระนามว่า พระเจ้าคารอลที่ ๑ (Carol I ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๑๔) แต่อาณาจักรใหม่นี้ยังต้องตกอยู่ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจของมหาอำนาจและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาตะวันออก (Eastern Question) ต่อไป
     ในทศวรรษ ๑๙๑๐ คาบสมุทรบอลข่านเกิดวิกฤตการณ์หลายอย่างที่บานปลายกลายเป็นสงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๒) สงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๑๓) และสงครามโลกครั้งที่ ๑ โรมาเนียเข้าไปมีส่วนในสงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ โดยทำสงครามกับบัลแกเรีย ซึ่งกำลังทำสงครามอยู่กับเซอร์เบีย และกรีซ และทั้ง ๒ ประเทศก็กำลังทำสงครามอยู่กับออตโตมัน เมื่อสงครามสิ้นสุดลงโดยการทำสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (Treaties of Bucharest) ครั้งที่ ๓ ในส่วนของโรมาเนียก็ได้รับแคว้นดอบรูจาตอนใต้คืนจากบัลแกเรีย (แต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๐บัลแกเรีย ได้แคว้นดอบรูจาตอนใต้คืนไปอีก)
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น รัฐบาลโรมาเนียตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโดยอยู่ข้างฝ่ายความตกลงไตรภาคี(Triple Entente)อันประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ด้วยความหวังว่าหากได้ชัยชนะก็จะสามารถเรียกร้องดินแดนทรานซิลเวเนียคืนจากออสเตรีย -ฮังการี ได้ แต่ภายในเวลาอันรวดเร็วก็ปรากฏว่าโรมาเนียเกือบทั้งประเทศรวมทั้งเมืองหลวงต้องถูกกองกำลังของฝ่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี(Triple Alliances) เข้ายึดครอง ทั้งยังถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งชาวโรมาเนียถือว่าเป็นฉบับที่ “น่าอับอาย”อย่างไรก็ดีก่อนสงครามจะยุติลงสถานการณ์ก็พลิกผันทำให้โรมาเนียกลับเข้าสู่สงครามกับฝ่ายความตกลงไตรภาคีได้อีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่ครั้งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในรัสเซีย ที่สืบเนื่องจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov) ล่มสลาย และทำให้รัสเซีย ต้องถอนตัวไปก่อนสงครามจะสิ้นสุด เบสซาราเบียจึงถือโอกาสประกาศตนเป็นอิสระจากการยึดครองของรัสเซีย พร้อมทั้งขอให้กองกำลังรัฐบาลโรมาเนียเข้าคุ้มครองด้วยเกรงจะถูกดึงเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติบอลเชวิค
     สงครามโลกครั้งที่ ๑ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศส และพันธมิตรเป็นฝ่ายมีชัย โรมาเนียประสบความสำเร็จในการรวมชาติเป็นโรมาเนียใหญ่(Great Romania) โดยครั้งนี้ราชอาณาจักรโรมาเนียไม่ได้มีเฉพาะแคว้นมอลเดเวียวัลเลเคีย และดอบรูจาเท่านั้น หากยังรวมแคว้นทรานซิลเวเนีย มารามู เรส(Maramures) คริซานา (Crisana) และบานัต (Banat) ซึ่งได้มีการให้สัตยาบันในค.ศ. ๑๙๒๐ โดยสนธิสัญญาตรีอานง (Trianon) และในปี เดียวกัน สนธิสัญญาแวร์ซาย(Treaty of Versailles) ก็ให้สัตยาบันแก่บูโกวีนาและเบสซาราเบียในการรวมกับราชอาณาจักรโรมาเนีย การรวมประเทศโรมาเนียในครั้งนี้ทำให้มีชนกลุ่มน้อยเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นต้นว่ามีพวกแมกยาร์ เยอรมันยูเครน บัลแกเรีย ยิปซีและยิวซึ่งรัฐธรรมนูญก็ให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพของชนเผ่า รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองและการสมัครเข้ารับเลือกตั้งในรัฐสภาได้ (แต่สหภาพโซเวียตไม่ยอมรับการรวมตัวดังกล่าวและยังคงอ้างสิทธิในการปกครองเบสซาราเบีย)
     ราชอาณาจักรโรมาเนียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๘ มีการปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นเสรีนิยม แต่ด้วยปัญหามากมายหลังสงครามซึ่งมีทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การขยายตัวของลัทธิฟาสซิสต์(Fascism) ในหลายส่วนของยุโรปได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านเสรีนิยม ในโรมาเนียเองก็เกิดขบวนการฟาสซิสต์ที่เรียกว่า กองกำลังเหล็ก (Iron Guard) ซึ่งมีความเป็นชาตินิยมสูงและมีแนวทางต่อต้านนายทุนโดยเฉพาะพวกยิว สถานการณ์ภายในประเทศจึงเลวร้ายลงทุกขณะ ทำให้การปกครองของโรมาเนียในช่วงปลายทศวรรษ๑๙๓๐ ถึง ค.ศ. ๑๙๔๔ คือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เปลี่ยนจากเสรีนิยมเป็นเผด็จการ และผู้ที่เป็นเผด็จการหมายเลขหนึ่งคือพระเจ้าคารอลที่ ๒ (Carol IIค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๔๐) เนื่องจากพระองค์ทรงปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐสภาและไม่คำนึงถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๙๔๐พระองค์ก็ถูกทหารบังคับให้ทรงสละพระราชอำนาจด้วยข้อกล่าวหาว่าได้ทรงทำให้ประเทศต้องเสียดินแดนจำนวนมาก เพราะสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองเบสซาราเบีย แล้วรวมเข้ากับดินแดนบริเวณฝั่งตะวันออกของโซเวียตตั้งเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวีย(Moldavian Soviet Socialist Repulbic) นอกจากนั้น โซเวียตยังเข้ายึดครองบูโกวีนาตอนเหนือ บุดจัค (Budjak) และเบสซาราเบียตอนใต้ จัดตั้งเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (Ukrainian Soviet Soicialist Republic) ทางทิศตะวันตกพระเจ้าคารอลที่ ๒ ยังเปิดโอกาสให้เยอรมนี และอิตาลี ตกลงร่วมกันยกทรานซิลเวเนียตอนเหนือคืนให้ฮังการี ขณะที่ทางทิศใต้โรมาเนียก็ต้องสูญเสียดอบรูจาตอนใต้คืนให้กับบัลแกเรีย ด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เจ้าชายไมเคิลหรือมีไฮ (Michael; Mihai ค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๓๐, ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๗) โอรสของพระเจ้าคารอลที่ ๒ ได้รับการทูลเชิญให้ครองราชย์เป็นครั้งที่ ๒ แต่ภายในระยะเวลาอันสั้นพระองค์ก็ถูกแย่งชิงอำนาจโดยเผด็จการทหารซึ่งมีนายพลยอนอันตอเนสกู (Ion Antonescu) เป็นผู้นำ ในระหว่างค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๔ ที่นายพลอันตอเนสกูปกครองประเทศ เขาเห็นความสำคัญของการรักษาอธิปไตยของชาติจึงร่วมมือกับกลุ่มประเทศอักษะอันประกอบด้วยเยอรมนี ออสเตรีย -ฮังการี และอิตาลี ด้วยหวังว่าประเทศเหล่านั้นโดยเฉพาะเยอรมนี จะช่วยป้องกันโรมาเนียให้พ้นจากการถูกสหภาพโซเวียตยึดครอง ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนี ส่งกองกำลังจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ คนเข้ามาในโรมาเนียเพื่อเตรียมการร่วมกับกองทัพโรมาเนียในการบุกโซเวียต แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ กองทัพแดง (RedArmy) ของโซเวียตสามารถยึดครองโรมาเนียไว้ได้ทั้งหมดใน ค.ศ. ๑๙๔๔ พระเจ้ามีไฮซึ่งเพิ่งช่วงชิงอำนาจกลับคืนจากนายพลอันตอเนสกูต้องกลายเป็นรัฐบาลหุ่นให้โซเวียตจนถึงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๗ จึงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในโรมาเนีย แต่ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๘พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียก็สามารถจัดตั้งระบอบการปกครองตามแบบโซเวียตโดยสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย (Romanian Peopleûs Republic) ขึ้นมาแทนที่
     สาธารณรัฐประชาชนโรมาเนียเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตตั้งแต่เริ่มแรก ระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียตได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศ โดยเฉพาะการปกครองที่เข้มงวดซึ่งมีทั้งการจับกุมคุมขังศัตรูทางการเมืองจำนวนเป็นหมื่น ๆ คน สถาบันศาสนาถูกทำลาย ธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ถูกรัฐควบคุม มีการนำระบบนารวม (collective farm) และระบบแรงงานภาคบังคับ(forced labor) มาใช้อย่างกว้างขวาง โรมาเนียในยุคที่สงครามโลกเสร็จสิ้นใหม่ ๆ จึงเป็นยุคของการสร้างชาติตามอุดมการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและไม่คำนึงถึงความเป็นรัฐชาติมากนัก
     ระหว่างทศวรรษ ๑๙๕๐ และ ๑๙๖๐ พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียได้ผ่านประสบการณ์และได้รับบทเรียนหลากหลายทำให้การบริหารและการดำเนินงานของพรรคเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองและเริ่มเบี่ยงเบนจากระบบโซเวียต ผู้นำพรรคซึ่งก็คือผู้นำประเทศต้องมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะกีออร์เก ีกออร์กิว-เด(Gheorghe Gheorghiu-Dej) ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ชาตินิยมซึ่งเคยต่อต้านโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำโซเวียตมาก่อน แม้เขาจะต้องร่วมกับโซเวียตแต่ก็มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โรมาเนียเป็นอิสระกว่าเดิม โดยเฉพาะในด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการวางแผนพัฒนาประเทศโดยกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Years Plan) หลายฉบับเพื่อเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising ค.ศ. ๑๙๕๖)โรมาเนียวางตัวเป็นกลาง ทั้งปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามนโยบายของสหภาพโซเวียตในประเด็นความขัดแย้งกับจีนและตามข้อกำหนดทางเศรษฐกิจของโคเมคอน(Comecon) แต่หันไปสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศตะวันตกมากขึ้นกีออร์กิว-เดเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจใน ค.ศ. ๑๙๖๕ ที่กรุงบูคาเรสต์ นีคอไล เชาเชสกู(Nicolae Ceausescu ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๘๙) สหายสนิทก็ได้รับเลือกให้สืบทอดอำนาจต่อมา เชาเชสกูได้สืบทอดนโยบายของกีออร์กิว-เดโดยปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยและให้เห็นความเป็นตัวตนของโรมาเนียมากขึ้น เขาได้เปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐประชาชนโรมาเนียมาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย (SocialistRepublic of Romania) เพื่อให้เห็นว่าสังคมนิยมแบบโรมาเนียคือคำตอบในการนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัยและเจริญรุ่งเรือง ในปี แรก ๆ ของการครองอำนาจเชาเชสกูได้รับความนิยมและชื่นชอบทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประชาชนเริ่มรู้สึกมีกินมีใช้มีงานทำ มีการขยายตัวของผลผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมขณะเดียวกัน เชาเชสกูก็ชอบที่จะแสดงตนให้มีบทบาทในกิจการระหว่างประเทศใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เขาต่อต้านสหภาพโซเวียตในการบุกปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกีย นอกจากนั้น เขาพยายามเจริญสัมพันธไมตรีกับเยอรมนี ตะวันตกอิสราเอลจีน แอลเบเนีย เกาหลีเหนือ รวมทั้งกับองค์การระหว่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการเจรจาขอกู้เงินมาพัฒนาประเทศ
     ระหว่างทศวรรษ ๑๙๗๐ เชาเชสกูพยายามพัฒนาประเทศให้ทันสมัยโดยอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศจำนวนมหาศาล เขาลอกเลียนแบบการพัฒนาของเกาหลีเหนือและสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เขาชื่นชอบ โดยวางแผนงานอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอนที่จะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศโดยเฉพาะเมืองหลวงและเมืองใหญ่ือ่น ๆ ให้มีอาคารสถานที่ ถนนหนทางกว้างขวางใหญ่โตและโอ่อ่าจนถึงขั้นสั่งให้ทุบทิ้งอาคารที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งแม้จะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อจะได้สร้างของใหม่ขึ้นมาแทนที่ ในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงบูคาเรสต์ เท่ากับเป็นการช่วยให้งานสร้างเมืองใหม่ของเชาเชสกูรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จากการประเมินโครงการของสหภาพสถาปนิกแห่งโรมาเนียใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ระบุว่าเชาเชสกูได้ทุบทิ้งอาคารต่าง ๆ ถึง ๒,๐๐๐ แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มี ๗๗ แห่งที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ ทั้งบางแห่งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมของชนชาติโรมาเนียด้วย
     ในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการพัฒนาประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก ความเจริญทางกายภาพ และความใหญ่โตโอ่อ่าของอาคารสถานที่โดยไม่คำนึงถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพการผลิตที่จะก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืนและก่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ทำให้การพัฒนาขาดความสมดุล ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะเป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาล ทั้งยังไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการชำระคืนหนี้ โครงการพัฒนาอื่น ๆ จึงดำเนินต่อไปได้ยากยิ่ง เชาเชสกูใช้ระบบเครือญาติเข้ามาบริหารประเทศ ความนิยมต่อรัฐบาลก็ยิ่งเสื่อมลง ในท้ายที่สุด รัฐบาลต้องหันมาใช้นโยบายประหยัดและนโยบายแบ่งปันอาหารและพลังงานอย่างจริงจัง ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดเกี่ยวกับพลังงานขึ้น แม้โรมาเนียจะเป็นประเทศผลิตน้ำมันและมีโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่มีขีดความสามารถเพียงพอ แต่ประชาชนกลับต้องเผชิญวิกฤติพลังงานที่ต้องมีตารางแบ่งปันกันใช้ เป็นต้นว่าในวันอาทิตย์รถแท็กซี่และรถโดยสารประจำทางต้องใช้ก๊าซมีเทนแทนน้ำมัน ไฟฟ้าก็ถูกแบ่งปันให้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมหนักเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ครัวเรือนมีสิทธิใช้ไฟฟ้าได้เดือนละไม่เกิน ๒๐ กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อครอบครัวนอกจากนี้ ยังต้องมีการดับไฟวันละ ๑-๒ ชั่วโมง มีการสั่งห้ามเปิดไฟถนนและห้ามสถานีโทรทัศน์ออกอากาศเกินวันละ ๒ ชั่วโมง ขณะที่ร้านค้าต้องปิดทำการภายในเวลา ๑๗.๓๐ น. นอกจากนั้น การใช้แก๊ สหุงต้มและระบบส่งความร้อนไปยังอาคารสถานที่ต่าง ๆ ก็มีความเข้มงวด ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ มีการออกกฤษฎีกาควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารสาธารณะทุกแห่ง (ยกเว้นโรงเรียนอนุบาลและโรงพยาบาล) ให้ไม่เกิน๑๖ องศาเซลเซียสในระหว่างฤดูหนาว นโยบายแบ่งปันอาหารและยาก็มีผลต่อสุขภาพในครัวเรือนและมีผลต่อการให้สวัสดิการด้านสุขอนามัยแก่ประชาชนทำให้มาตรฐานด้านนี้ลดลงอย่างมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าโรมาเนียมีอัตราการตายในเด็กสูงที่สุด และความคาดหวังที่จะมีอายุยึนยาวในประชากรโรมาเนียมีต่ำสุดในยุโรป
     สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนซึ่งทำให้รัฐยิ่งต้องเพิ่มมาตรการควบคุมสังคมให้เข้มงวดและได้ผลยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยที่เรียกว่าซิกูิรเตต (Securitate) ทำหน้าที่ด้านการข่าวและการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม มีการนำเอาระบบการดักฟังโทรศัพท์ตามแบบที่ใช้ในเยอรมนี ตะวันออกมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง มีการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสาธารณะอื่น ๆ มีการคัดเลือกคนเป็นสายลับหรือผู้หาข่าวให้กับรัฐเป็นจำนวนมาก ภายใน ค.ศ. ๑๙๘๙ มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีชาวโรมาเนียจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ เป็นสายให้กับรัฐบาลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรมาเนียกลายเป็นดินแดนแห่งความน่าสะพรึงกลัวอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตกตำลง่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีตัวเลขแสดงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศว่าลดลงถึงร้อยละ ๗๕ ซึ่งมีผลให้รายได้ของประเทศตกต่ำลงไปด้วย แม้รัฐบาลจะพยายามเร่งรัดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แต่ก็ไม่ได้ผลตามเป้าเพราะกระบวนการผลิตล้าสมัยเกินไป ทำให้มีต้นทุนสูงและผลที่ได้ก็มีคุณภาพต่ำสินค้าหลายประเภทจึงขายไม่ออก รายได้ของรัฐจึงยิ่งตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย
     เมื่อการปฏิวัติในยุโรปตะวันออกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๘๙ โดยโรมาเนียเป็นประเทศสุดท้ายและเป็นประเทศที่เผชิญกับวิกฤติอย่างรุนแรงและมีการสูญเสียมากที่สุด ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ประชาชนในเมืองตีมีชวารา (Timi¸sara)ทางภาคตะวันตกของประเทศได้ชุมนุมต่อต้านเมื่อรัฐบาลสั่งย้ายบาทหลวงลาซโลเตอเกซ (Lazslo Tokes) ซึ่งต่อต้านนโยบายของเชาเชสกูโดยเฉพาะการทำลายล้างหมู่บ้านฮังการี ๘,๐๐๐ หมู่บ้าน รัฐบาลได้สั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุมแบบเด็ดขาดเหตุการณ์จึงบานปลายเป็นการก่อการจลาจล มีผู้เสียชีวิตจำนวนถึง ๑๕๐ คน ในวันที่๒๐ ธันวาคมปี เดียวกัน เชาเชสกูซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากอิหร่านได้ออกโทรทัศน์ประณามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและในวันที่ ๒๑ ธันวาคมก็ได้จัดให้มีการชุมนุมครั้งใหญ่สนับสนุนรัฐบาลขึ้นในกรุงบูคาเรสต์ แต่ผู้ชุมนุมกลับลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลการประท้วงขยายตัวไปตามเมืองใหญ่ ๆอีกหลายแห่งภายในเวลาอันรวดเร็ว การปราบปรามของฝ่ายรัฐนำไปสู่การจลาจลนองเลือด มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑,๐๐๐ คนทั้งยังปรากฏว่าผู้ที่เคยสนับสนุนเชาเชสกู เช่นกองทัพและหน่วยความมั่นคงไม่ให้ความร่วมมืออีกต่อไป ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม เชาเชสกูพร้อมครอบครัวจึงหนีจากอาคารที่ทำการของรัฐบาลโดยเฮลิคอปเตอร์ จนมีผู้ไปพบเขาที่เมืองติร์โกวีชเต(Tîrgovi¸ste; T้rgovi¸ste) เชาเชสกูและภรรยาถูกนำตัวขึ้นศาลประชาชน (kangaroocourt) และศาลตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙
     ในวันที่เชาเชสกูหนีออกจากเมืองหลวง ยอน อีีลเอสกู (Ion Iliescu)ผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับเชิญให้ขึ้นเป็นผู้นำแทนเชาเชสกู เป็นการชั่วคราวเขาได้จัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้ชื่อแนวร่วมช่วยชาติ (National Salvation Front -FSN) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำรัฐบาลอีีลเอสกูได้ประกาศยุบพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียยกเลิกนโยบายและโครงการที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็เตรียมการนำประเทศสู่การปกครองระบอบสาธารณรัฐแบบเสรีนิยมโดยให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว รัฐบาลก็จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกันในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ มีพรรคการเมืองเข้าร่วมชิงชัยหลายพรรค แต่ีอีลเอสกูชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึงร้อยละ ๘๕และพรรคแนวร่วมช่วยชาติของเขาก็กวาดที่นั่งในสภาได้ถึง ๒ ใน ๓อีีลเอสกูได้แต่งตั้งให้ปีเตอร์ โรมัน (Petre Roman) เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลชุดแรกเช่นเดียวกัน
     เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศยังไม่มั่นคง มีความขัดแย้งทางความคิดและมีความไม่เข้าใจในภาคประชาชนต่อการปกครองแบบใหม่ ประกอบกับรัฐบาลเองก็ยังไม่มีเวลาพอที่จะแก้ไขขจัดปัดเป่าปั ญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้เท่าที่ควร จึงเกิดมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลด้วยเหตุผลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลตัดสินใจนำคนงานจากเหมืองแห่งหนึ่งมาสลายการชุมนุมและบุกโจมตีแกนนำฝ่ายตรงข้ามถึงบ้านพัก เมื่อเสร็จภารกิจพวกคนงานก็เริ่มเรียกร้องให้ตนเองด้วยการขอค่าแรงเพิ่ม รัฐบาลจึงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความไม่พอใจของคนกลุ่มต่าง ๆ ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออก ประธานาธิบดีอีีลเอสกูจึงแต่งตั้งทีโอดอร์ สโตโลจัน (Theodor Stolojan) เป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่
     ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยการแสดงประชามติ แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่องและถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักจนมีผู้เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้ทำจนถึง ค.ศ. ๒๐๐๓ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็ใช้เป็นบรรทัดฐานในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๙๒ และในการบริหารประเทศในเวลาต่อมา ในเดือนมีนาคมค.ศ. ๑๙๙๒ พรรคแนวร่วมช่วยชาติแตกออกเป็น ๒ พรรค คือพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ(Democratic National Front - FDSN) ภายใต้การนำของอีีลเอสกู และพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party - PD) มีปีเตอร์ โรมันอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ นอกจากนั้นยังมีพรรคการเมืองเล็ก ๆ เกิดขึ้นมาอีกหลายพรรคในการเลือกตั้งเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ปรากฏว่าอีีลเอสกูได้ชัยชนะกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีดังเดิม และพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติของเขาก็ได้รับชัยชนะในสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน โดยนีคอไล วาคารอย (Nicolae Vacaroiv) ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและทำการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
     สาธารณรัฐโรมาเนียมีการเลือกตั้งทั่วไปอีก ๓ ครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ได้เอมิล คอนสแตนติเนสกู (Emil Constantinescu) แห่งพรรคสภาประชาธิปไตย(Democratic Convention Party - CDR) เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๒ ในการเลือกตั้งค.ศ. ๒๐๐๐อีีลเอสกูได้รับเลือกให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งและในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๒๐๐๔ ตรายาน บาเชสกู (Traian Basescu) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๓ แม้ในการเลือกประธานาธิบดีจะเห็นชัยชนะอย่างชัดเจนแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก ค.ศ. ๑๙๙๖ ยังก้ำกึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก จึงต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายฝ่ายทำให้สถานการณ์การเมืองยังคงมีความอ่อนไหว และต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้งพรรคการเมืองก็มีการยุบรวมและเปลี่ยนชื่อตลอดเวลา โรมาเนียตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๙๐เป็นต้นมา จึงผ่านกระบวนการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ระบบพรรคการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลภายในระยะเวลาอันสั้น
     แม้การเมืองในโรมาเนียจะยังไม่นิ่ง รัฐบาลก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่รุมเร้าประเทศได้ในระดับหนึ่ง ได้มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบบการค้าเสรีภายในกรอบของระบบเศรษฐกิจยุโรป มีการปฏิรูปการศึกษา การให้สวัสดิการประชาชน ระบบกฎหมายและระบบความยุติธรรม มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ทั้งนี้ เพื่อให้โรมาเนียก้าวทันโลกและเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ปัญหาที่ยังท้าทายประเทศในต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ คือการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการปฏิรูปศาลเพื่อการจรรโลงความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ โรมาเนียได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic TreatyOrganization - NATO) และตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๔ โรมาเนียก็พยายามพัฒนาประเทศให้ได้เกณฑ์มาตรฐานที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ โรมาเนียก็เป็นประเทศสมาชิกล่าสุดของสหภาพยุโรป.
     


     

ชื่อทางการ
โรมาเนีย (Romania)
เมืองหลวง
บูคาเรสต์ (Bucharest)
เมืองสำคัญ
ยาช (Iasi) คลูช-นาโปกา (Cluj-Napoca) ตีมีชวารา (Timisoara) คอนสตันชา (Constanta) คราโยวา (Craiova) กาลัตซี(Galati) บราโชฟ (Brasov)
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐ
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๒๓๗,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศยูเครน ทิศตะวันออก : ประเทศมอลโดวายูเครน และทะเลดำ ทิศใต้ : ประเทศบัลแกเรีย ทิศตะวันตก : ประเทศเซอร์เบีย และประเทศฮังการี
จำนวนประชากร
๒๒,๒๗๖,๐๕๖ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
โรมาเนียร้อยละ ๘๙.๕ ฮังการีร้อยละ ๖.๖ โรมาร้อยละ ๒.๕ และอื่น ๆ ร้อยละ ๑.๔
ภาษา
โรมาเนีย
ศาสนา
คริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๘๖.๘ นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ ๗.๕ นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๔.๗ และอื่น ๆ ร้อยละ ๑
เงินตรา
ลิว (leu)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุิจตรา วุฒิเสถียร
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป