Norway, Kingdom of

ราชอาณาจักรนอร์เวย์




     ราชอาณาจักรนอร์เวย์เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (Scandinavia)เป็นดินแดนของพวกไวกิ้ง (Viking) มีประวัติศาสตร์อันยาวนานควบคู่กับเดนมาร์ก กว่า ๔๐๐ ปี จนถึงสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) หลังจากนั้นใน ค.ศ. ๑๘๑๔ได้ถูกรวมเข้ากับสวีเดน จนถึง ค.ศ. ๑๙๐๕ จึงแยกตัวเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์และอัญเชิญพระราชวงศ์เดนมาร์ก มาปกครอง ปัจจุบันเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และมีชื่อเสียงในด้านสวัสดิการและมาตรฐานการครองชีพของประชาชนว่าสูงที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวดูพระอาทิตย์ในเวลาเที่ยงคืน
     หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่านอร์เวย์เป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยแล้วตั้งแต่๑๒,๐๐๐ ปีเป็นอย่างน้อย โดยชนเหล่านี้ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และจับปลาและมีวัฒนธรรมของมนุษย์ในยุคหินเก่าที่สืบทอดมาจากยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันตกสันนิษฐานว่าบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวนอร์เวย์คงเดินทางอพยพมาจากตอนเหนือของเยอรมนี โดยผ่านชายฝั่งทะเลนอร์เวย์ ต่อมาในราว ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ปีที่แล้วได้เกิดชุมชนเกษตรขึ้น มีการค้นพบเนินฝังศพขนาดใหญ่ที่มีอายุในยุคสัมฤทธิ์ (BronzeAge ประมาณ ๑,๕๐๐-๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่แสดงให้เห็นถึงการจัดระเบียบสังคมในยุคแรก ๆ ของนอร์เวย์ ในสมัยจักรวรรดิโรมันได้มีการติดต่อกับดินแดนทางตอนใต้ที่เจริญกว่าและมีการรับภาษาเขียนในรูปของอักษรรูน (runic letters)หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงใน ค.ศ. ๔๗๖ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๙ นอร์เวย์มีการปกครองแยกเป็นเผ่าหรือกลุ่มต่าง ๆ ต่อมาได้พัฒนาเป็นอาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อยประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๙ มีด้วยกัน ๒๙ อาณาจักร (fylker)ใน ค.ศ. ๘๗๒ พระเจ้าฮารัลด์พระเกศาสีอ่อน (Harald the Fairhaired) แห่งอาณาจักรเวสต์โฟลด์ (Vestfold) ทรงทำสงครามปราบปรามอาณาจักรต่าง ๆ และรวมเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน ทรงเป็นต้นราชวงศ์ีองลิง (Yngling) ที่ปกครองราชอาณาจักรนอร์เวย์ แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของอาณาจักรก็เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากพระเจ้าฮารัลด์สวรรคตใน ค.ศ. ๙๓๓อาณาจักรก็ถูกแบ่งให้บรรดาพระราชโอรส ต่อมาได้เกิดสงครามแย่งชิงอาณาจักรกันระหว่างพระราชวงศ์สายต่าง ๆอยู่เนือง ๆ รวมทั้งการต่อต้านของขุนนางหรือหัวหน้าเผ่าอื่น ๆ ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์อีกต่อไป ส่วนพวกเดนและสวีเดน ก็พยายามเข้ายึดครองดินแดนนอร์เวย์
     ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ซึ่งจัดอยู่ในสมัยไวกิ้ง (Viking Age)พวกไวกิ้งในนอร์เวย์ (ไวกิ้งเป็นชื่อเรียกรวมพวกที่อาศัยในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะพวกสวีเดน และนอร์เวย์ที่เข้ารุกรานดินแดนต่าง ๆ ในยุโรประหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๙-๑๑) ก็เดินทางออกแสวงโชค ปล้นสะดม และตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ หมู่เกาะแฟโร (Faroe) กรีนแลนด์และบางส่วนของหมู่เกาะอังกฤษ [เมืองดับลิน(Dublin) คอร์ก (Cork) ลิเมอริก (Limerick) และ วอเตอร์ฟอร์ด (Waterford)) ในไอร์แลนด์ ล้วนเป็นเมืองที่พวกไวกิ้งจากนอร์เวย์เป็นผู้จัดตั้งทั้งสิ้น] รวมทั้งนอร์มองดี(Normandy) ในฝรั่งเศส ด้วยพวกไวกิ้งจากนอร์เวย์เป็นนักเดินเรือที่มีความสามารถในนิยายซากา (saga) ของพวกเขาที่เล่าปากต่อปากกันถึงเลฟ เอริกสัน (Leif Eriksson)ชาวไวกิ้งจากนอร์เวย์เดินทางจากทะเลเหนือจนค้นพบทวีปอเมริกาซึ่งเขาเรียกว่า“Wineland the Good”ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๐๐๑ หรือเกือบ ๕๐๐ปีก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ชาวเจนัว (Genoa)จะเดินทางไปค้นพบทวีปอเมริกาใน ค.ศ. ๑๔๙๒ ขณะเดียวกันในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ พระเจ้าโอลาฟที่ ๒ [Olaf II ค.ศ. ๑๐๑๖-๑๐๓๐ หรือโอลาฟ ฮารัลด์สัน (Olaf Haraldsson)]เชื้อสายพระเจ้าฮารัลด์พระเกศาสีอ่อนก็สามารถรวมราชอาณาจักรนอร์เวย์ทั้งหมดเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ทรงจัดให้มีการเปลี่ยนลัทธิความเชื่อจากการนับถือผีและเทวดาเป็นคริสต์ศาสนาที่พระเจ้าโอลาฟที่ ๑ (ค.ศ. ๙๙๕-๑๐๐๐) ทรงนำเข้ามาเผยแผ่ในรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าโอลาฟที่ ๒ โปรดให้มีการสร้างวัดตามคำแนะนำของบิชอปกริมเคลล์ (Grimkell) ชาวแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxon)จากอังกฤษและร่างกฎหมายวัดขึ้น ซึ่งพวกเสรีชนเจ้าที่ดิน (Yeomen) ได้ให้สัตยาบันในสมัชชา (assembly หรือ thing) นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์ตัวอักษร(calligraphy) และวิีธการเขียนโดยอิงแบบของพวกแองโกล-แซกซันอีกด้วย ต่อมาพระเจ้าโอลาฟที่ ๒ ทรงถูกพระเจ้าคนุตมหาราช (Canute the Great ค.ศ. ๑๐๑๘-๑๐๓๕) แห่งอังกฤษและเดนมาร์ก ซึ่งร่วมมือกับขุนนางขับพระองค์ออกจากบัลลังก์จนต้องเสด็จหนีไปยังรัสเซีย ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างทางที่เสด็จกลับ กองทัพของพระเจ้าโอลาฟที่ ๒ ปะทะกับกองทัพของพระเจ้าคนุตมหาราชที่สติเกิลสตา(Stiklestad ค.ศ. ๑๐๓๐) แม้พระเจ้าโอลาฟที่ ๒ จะทรงพ่ายแพ้และสวรรคตแต่รายงานของสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นหลังการยุทธก็ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นนักบุญและนับเป็นนักบุญในคริสต์ศาสนาพระองค์แรกของนอร์เวย์ด้วย มีศาสนิกชนจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกนอร์เวย์เคารพบูชา ทั้งยังทรงได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “ผู้มอบกฎหมาย” ให้แก่ทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรซึ่งต่างก็เป็นสถาบันที่เข้มแข็งในการสถาปนาสันติภาพและระเบียบวินัยในสังคมนอร์เวย์ขณะนั้น
     แม้ว่านอร์เวย์จะเสียอิสรภาพและต้องรวมตัวกับอังกฤษและเดนมาร์ก ภายใต้การปกครองของพระเจ้าคนุตมหาราช แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น หลังพระเจ้าคนุตมหาราชสวรรคตใน ค.ศ. ๑๐๓๕ จักรวรรดิของพระองค์ก็ล่มสลายลงเชื้อสายของพระเจ้าฮารัลด์พระเกศาสีอ่อนชาวนอร์เวย์ได้ปกครองนอร์เวย์ต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๓๑๙ จนสิ้นรัชทายาทชาย ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ ซึ่งอยู่ในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์ (High Middle Ages) นั้น แม้นอร์เวย์จะประสบกับความขัดแย้งภายในและสงครามกลางเมืองแต่ก็มีประสบการณ์เช่นเดียวกับนานาประเทศในยุโรป กล่าวคือ จำนวนประชากรได้เพิ่มมากขึ้นและเกิดเมืองใหม่ ๆ สถาบันกษัตริย์และองค์กรคริสต์ศาสนาสามารถขยายอำนาจเข้าควบคุมเขตปกครองต่าง ๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกัน อำนาจของกษัตริย์ก็เพิ่มพูนมากขึ้นจนในที่สุดมีอำนาจเหนือทั้งคริสตจักรและพวกขุนนาง บทบาทของพวกขุนนางเก่าถูกแทนที่ด้วยขุนนางรับราชการ ส่วนในด้านสังคมสถานภาพของชาวนาเปลี่ยนแปลงจากเจ้าของที่ดินเป็นผู้เช่าที่ดิน แต่มีสิทธิในการเช่าตลอดชีพและยังมีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าชาวนาในดินแดนยุโรปอื่น ๆ ที่ในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกทาสติดที่ดิน(serf) ส่วนระบบทาสที่เกิดขึ้นในสมัยไวกิ้งก็ค่อย ๆ สูญหายไป ในช่วงระยะเวลานี้ศูนย์กลางของนอร์เวย์ได้ย้ายจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังดินแดนรอบ ๆออสโลฟ-ยอร์ด (Oslofjord) ในรัชกาลพระเจ้าฮากอนที่ ๕ (Haakon V ค.ศ. ๑๒๙๙-๑๓๑๙)กรุงออสโลได้กลายเป็นนครหลวงของนอร์เวย์ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเพียงเมืองขนาดเล็กที่ไม่มีความสำคัญ
     เมื่อพระเจ้าฮากอนที่ ๕ สวรรคตใน ค.ศ. ๑๓๑๙ โดยปราศจากรัชทายาทชาย ราชบัลลังก์นอร์เวย์ตกเป็นของสายพระราชธิดา ซึ่งพระเจ้าแมกนัสหรือมองนุสที่ ๒ (Magnus II) แห่งสวีเดน พระราชนัดดา (หลานตา) ของพระเจ้าฮากอนที่ ๕ ได้เสด็จขึ้นครองบัลลังก์นอร์เวย์ นอกจากนี้ สายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์นอร์เวย์กับสวีเดน และเดนมาร์ก ที่เกิดจากการอภิเษกสมรสในเวลาต่อมาทำให้ราชอาณาจักรทั้งสามดังกล่าวรวมอยู่ในสหภาพแห่งคาลมาร์ (Union of the Kalmar) ใน ค.ศ. ๑๓๑๙จนถึง ค.ศ. ๑๕๒๓ เมื่อสวีเดน ประสบความสำเร็จในการแยกตัว ส่วนนอร์เวย์ยังคงรวมตัวกับเดนมาร์ก ต่อไปอีกเกือบ ๓๐๐ ปีจนถึง ค.ศ. ๑๘๑๔ เมื่อเกิดการจัดระเบียบใหม่ในยุโรปหลังสงครามนโปเลียนสิ้นสุดลง
     ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ นอร์เวย์ยังประสบกับการระบาดของกาฬโรคที่เรียกว่า “ความตายสีดำ” (Black Death ค.ศ. ๑๓๔๙-๑๓๕๐) ที่คร่าชีวิตของชาวนอร์เวย์มากกว่าครึ่งหนึ่งหรืออาจถึง ๒ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด และเป็นต้นเหตุของการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของนอร์เวย์พวกขุนนางต่างแสวงหารายได้เพิ่มขึ้นจากที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ (พร้อมชาวนา) รวมทั้งฟิฟ [fief ที่ดินในระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (feudalism)] โดยไม่คำนึงเฉพาะดินแดนในนอร์เวย์เท่านั้นดังนั้น เมื่อมีการรวมตัวเข้ากับเดนมาร์ก และสวีเดน ในปลายศตวรรษพวกขุนนางจึงไม่คิดที่จะต่อต้านเพราะคิดว่าจะสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้มากขึ้น
     อย่างไรก็ดีการรวมตัวในสหภาพคาลมาร์มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่นอร์เวย์อำนาจทางการเมืองภายในของนอร์เวย์ถูกลิดรอนโดยเดนมาร์ก ซึ่งในขณะนั้นเป็นชาติที่แข็งแกร่งที่สุดในดินแดนนอร์ดิก (Nordicland) ได้แต่งตั้งขุนนางเดนและเยอรมันมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในการปกครอง ส่วนพวกขุนนางเชื้อสายนอร์เวย์ก็ลดจำนวนลงรวมทั้งบทบาทที่เคยมีในระยะเวลาอันยาวนาน นอกจากนี้ กองเรือของนอร์เวย์ก็ตกอยู่ในสภาพเสื่อมถอย และภาษาเขียนของเดนมาร์ก ก็ถูกนำมาใช้แทนภาษาเขียนของนอร์เวย์ ใน ค.ศ. ๑๕๓๙พระเจ้าคริสเตียนที่ ๓ (Christian IIIค.ศ. ๑๕๓๔-๑๕๕๙) แห่งเดนมาร์ก ทรงแถลงต่อขุนนางเดนว่านอร์เวย์มีสถานะเป็นรัฐที่อยู่ใต้บังคับของกษัตริย์แห่งเดนมาร์ก เช่นเดียวกับดินแดนต่าง ๆ ในราช-อาณาจักรเดนมาร์ก ดังนั้น สภาแห่งชาติ(Council of the Realm) ของนอร์เวย์ต้องถูกยุบลงและวัดในนอร์เวย์ไม่มีอำนาจปกครองตนเองต่อไป อีกทั้งขุนนางเดนสามารถครองตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายต่าง ๆ ในนอร์เวย์ได้ นอกจากนี้ยังสามารถแสวงหารายได้ในนอร์เวย์ได้อย่างอิสระอีกด้วย คำแถลงดังกล่าวจึงมีผลให้นอร์เวย์สูญเสียเอกราชอย่างแท้จริง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๓๗ ขณะที่เหตุการณ์การปฏิรูปศาสนา (Reformation) กำลังดำเนินอยู่ เดนมาร์ก ก็เห็นเป็นโอกาสออกประกาศพระราชกฤษฎีกาบังคับให้พวกคาทอลิกในนอร์เวย์หันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ และเข้ายึดทรัพย์สินของวัดและอารามของนิกายคาทอลิกอีกทั้งยังแต่งตั้งนักเทศน์ (pastor) โปรเตสแตนต์ให้ทำหน้าที่สอนศาสนาแทนนักบวชการเปลี่ยนแปลงนิกายศาสนาดังกล่าวนี้นับว่ามีผลกระทบอย่างยิ่งต่อสังคมนอร์เวย์เพราะทำให้ผู้แสวงบุญคาทอลิกจากส่วนต่าง ๆ ของยุโรปจำนวนมากที่เคยเดินทางมายังนอร์เวย์เพื่อสักการะอัฐิของนักบุญโอลาฟหรืออดีตพระเจ้าโอลาฟที่ ๒ที่โบสถ์นีดาโรส (Nidaros) ต้องยุติการเดินทาง นอร์เวย์จึงถูกตัดขาดทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจจากส่วนอื่น ๆ ของยุโรปด้วย นอกจากนี้ การรวมตัวกับเดนมาร์ก ยังทำให้นอร์เวย์ต้องเข้าสู่สงครามกับสวีเดน และมหาอำนาจบอลติกอื่น ๆในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งมีผลให้นอร์เวย์ต้องสูญเสียดินแดนของตนให้แก่สวีเดน คือ มณฑลเกมต์แลนด์ (Gemtland) และเฮร์เยเดเลิน (Herjedelen) ใน ค.ศ. ๑๖๔๕บาฮุสเลิน (Bahuslen) และทรอนด์เฮม (Trondheim) ใน ค.ศ. ๑๖๕๘ (อีก ๒ ปีต่อมาได้ทรอนด์เฮมคืน) ส่วนพลเมืองนอร์เวย์ก็ลดจำนวนลงเหลือเพียง ๔๕๐,๐๐๐ คน
     เมื่อเกิดสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียได้ดำเนินนโยบายเป็นกลางในระยะแรก และนอร์เวย์ได้รับประโยชน์เป็นอันมาก ในการเดินเรือค้าขายกับคู่สงคราม ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสชาตินิยมขึ้น โดยมีการเรียกร้องการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมและเป็นอิสระจากการควบคุมทางด้านการเงินจากเดนมาร์ก และการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของตนเองขึ้น แต่ถูกเดนมาร์ก ปฏิเสธ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๐๗ อังกฤษซึ่งมีจอร์จ แคนนิง (GeorgeCanning) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้วางแผนเพื่อยั่วยุให้เดนมาร์ก -นอร์เวย์เข้าสู่สงคราม โดยส่งเรือรบอังกฤษไปโจมตีกองเรือของเดนมาร์ก จนต้องประกาศสงครามและร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส หลังจากนั้นอังกฤษได้ดำเนินแผนแยกนอร์เวย์ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวทั้งจากเดนมาร์ก และตลาดการค้า เรือขนส่งท่อนซุงของนอร์เวย์ต้องหยุดชะงักลง อีกทั้งชาวนอร์เวย์ต้องเผชิญกับทุพภิกขภัยและความอดอยากไปทั่วทั้งประเทศ ส่วนในด้านการเมืองการปกครอง นอร์เวย์ซึ่งไม่สามารถจะบริหารโดยตรงจากกรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen) ดังที่ปฏิบัติกันก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการการปกครองซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสขึ้นมาทำหน้าที่แทนอีกทั้งพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๖ (Frederick VI ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๓๙)ยังทรงโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องของชาวนอร์เวย์ โดยพระราชทานอนุญาตให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นได้ใน ค.ศ. ๑๘๑๑ นับเป็นการจุดประกายความหวังให้นอร์เวย์ที่จะสืบสานวัฒนธรรมของตนเองและมีเอกราชในการปกครองประเทศ
     ในยุทธการที่ไลพ์ซิก (Battle of Leipzig) ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ทรงพ่ายแพ้อย่างยับเยิน คู่สงครามที่สำคัญประเทศหนึ่ง ได้แก่ สวีเดน ซึ่งเพิ่งสูญเสียฟินแลนด์ ให้แก่รัสเซีย จึงต้องการได้นอร์เวย์เป็นสิ่งชดเชยและเพื่อเป็นรัฐหน้าด่านทางพรมแดนตะวันตก ในเวลาอันรวดเร็วฝ่ายพันธมิตรก็บีบให้พระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๖ ทรงลงนามในสนธิสัญญาคีล(Treaty of Kiel) ยกเลิกระบอบราชาธิปไตยร่วมระหว่างเดนมาร์ก กับนอร์เวย์ และยกนอร์เวย์ให้แก่สวีเดน แต่เดนมาร์ก ยังคงครอบครองไอซ์แลนด์ กรีนแลนด์ และหมู่เกาะแฟโรต่อไป กระนั้นก็นับว่าเป็นการยุติความสัมพันธ์และบทบาทของเดนมาร์ก ที่ปกครองนอร์เวย์เป็นระยะเวลา ๔๑๘ ปี นับตั้งแต่การจัดตั้งสหภาพแห่งคาลมาร์ใน ค.ศ. ๑๓๙๖
     อย่างไรก็ดีเดนมาร์ก ก็พยายามยับยั้งการรวมตัวของนอร์เวย์กับเดนมาร์ก โดยเจ้าชายคริสเตียน เฟรเดอริก (Christian Frederick) ซึ่งทรงเป็นพระภาติยะในพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๖ และอุปราชแห่งนอร์เวย์ได้ผลักดันให้ผู้แทนของกลุ่มสังคมและการเมืองต่าง ๆ ไปประชุมกันที่เมืองเอดส์วอลล์ (Eidsvoll) ประมาณ ๗๐กิโลเมตรทางตอนเหนือของกรุงออสโลเมื่อวันที่ ๑๗พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ เพื่อรับรองรัฐธรรมนูญและประกาศเอกราช ที่ประชุมได้ตกลงเลือกเจ้าชายคริสเตียนเฟรเดอริกเป็นกษัตริย์ของประเทศที่จัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย (ปัจจุบันชาวนอร์เวย์ยังฉลองวันชาติในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม) สวีเดน จึงตอบโต้ด้วยการเคลื่อนทัพเข้าไปในนอร์เวย์ ในเดือนสิงหาคมได้มีการเจรจาสงบศึกกัน ณ เมืองมอสส์ (Moss) โดยสวีเดน ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับเมืองเอดส์วอลล์และการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆระหว่างนอร์เวย์กับสวีเดน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่พระเจ้าคริสเตียนเฟรเดอริกทรงกำหนดไว้หลังจากการเจรจาสงบศึกยุติลง พระเจ้าคริสเตียน เฟรเดอริกก็ทรงสละราชย์ต่อมาในวันที่ ๔พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๔ รัฐสภานอร์เวย์ก็ดำเนินการเลือกพระเจ้าชาลส์ที่๑๓ (Charles XIII ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๑๘) กษัตริย์แห่งสวีเดน เป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ โดยสวีเดน แต่งตั้งขุนนางเป็นข้าหลวงใหญ่หรือในกรณีที่เป็นมกุฎราชกุมารก็ให้เป็นอุปราชเพื่อเป็นตัวแทนของรัฐบาลสวีเดน ในการกำกับดูแลการปกครองในนอร์เวย์
     การรวมตัวของนอร์เวย์กับสวีเดน เป็นการสวนกระแสชาตินิยมที่แพร่หลายไปทั่วยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และได้รับการต่อต้านจากชาวนอร์เวย์โดยทั่วไปมีการเรียกร้องสิทธิให้นอร์เวย์สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการทูตได้เอง โดยไม่ต้องรับคำสั่งจากกรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) มีสถานภาพเท่าเทียมกันในสหภาพ และนอร์เวย์สามารถใช้ธงพาณิชย์ของตนเอง นอกจากนี้ รัฐสภานอร์เวย์ยังมีความขัดแย้งกับสถาบันกษัตริย์อยู่เนือง ๆ ด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นหลักการของรัฐธรรมนูญโดยทั่วไปที่ให้อำนาจรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้และการดำรงอยู่ของคณะรัฐบาลก็ต้องขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐสภา ได้มีการผ่านร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. ๑๘๗๔, ค.ศ. ๑๘๗๙ และ ค.ศ. ๑๘๘๐ แต่ถูกกษัตริย์สวีเดน ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นชอบ ความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงสถานภาพของสหภาพมีมากยิ่งขึ้นเมื่อสวีเดน เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพต้องเป็นชาวสวีเดน เท่านั้น ส่วนนอร์เวย์ก็ต้องการมีสถานกงสุลของตนเอง ซึ่งเท่ากับเรียกร้องอำนาจอธิปไตยในระดับหนึ่งแต่กำลังทหารที่เหนือกว่าของสวีเดน ทำให้ข้อเรียกร้องของนอร์เวย์ต้องตกไปขณะเดียวกันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นอร์เวย์ได้พยายามเสริมสร้างกำลังกองทัพของตนให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
     ประเด็นการจัดตั้งสถานกงสุลได้กลายเป็นชนวนเหตุของการแตกแยกระหว่างนอร์เวย์กับสวีเดน ในวันที่ ๗ มิถุนายน รัฐบาลนอร์เวย์ที่มีนายกรัฐมนตรีคริสเตียน มิกเกลเซิน (Christian Michelsen) เป็นผู้นำได้ยกอำนาจบริหารของตนให้แก่รัฐสภาในการตัดสินปัญหาเรื่องสถานกงสุล แต่รัฐสภานอร์เวย์ให้รัฐบาลดำเนินการต่อไปชั่วคราวตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและให้ยกเลิกการรวมตัวของนอร์เวย์กับสวีเดน โดยมีกษัตริย์ร่วมกัน สวีเดน ได้เรียกร้องให้มีการลงประชามติเพื่อให้ชาวนอร์เวย์เลือกว่าจะอยู่กับสวีเดน ต่อไปหรือไม่ ผลของการลงประชามติในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ปรากฏว่าชาวนอร์เวย์จำนวน ๓๖๘,๓๙๒ คนปฏิเสธและมีเพียง ๑๘๔ คนเท่านั้นที่ต้องการให้นอร์เวย์รวมตัวกับสวีเดน ต่อไป
     ในการสถาปนาราชอาณาจักรนอร์เวย์ รัฐสภานอร์เวย์ได้ลงมติเลือกเจ้าชายคริสเตียน เฟรเดอริก คาร์ล เกออร์ก วาลเดอมาร์ อากเซล (ChristianFrederik Carl Georg Valdemar Axel) จากราชวงศ์ออลเดนบูร์ก (Oldenburg)แห่งเดนมาร์ก หรือเรียกขานกันทั่วไปว่าเจ้าชายคาร์ลให้เสด็จมาเป็นกษัตริย์ของนอร์เวย์ ทรงตอบรับแต่ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องให้ชาวนอร์เวย์ลงประชามติเห็นชอบกับการเสด็จขึ้นครองราชสมบัตินอร์เวย์ก่อน ในวันที่ ๑๒พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๕ชาวนอร์เวย์ร้อยละ ๘๐ ลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ ต่อมาในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน รัฐสภานอร์เวย์ก็ลงมติเป็นเอกฉันท์เลือกพระองค์เป็นกษัตริย์ เจ้าชายคาร์ลแห่งเดนมาร์ก ทรงประกอบพระราชพิธีบรม-ราชาภิเษก ณ วิหารทรอนด์เฮมเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๖ เฉลิมพระนามพระเจ้าฮากอนที่ ๗ (Haakon VII ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๕๗) นับเป็นการสืบพระนามต่อจากกษัตริย์นอร์เวย์องค์สุดท้าย (พระเจ้าฮากอนที่ ๖) ที่สวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๓๐ก่อนที่นอร์เวย์จะรวมตัวกับเดนมาร์ก และสวีเดน ในสหภาพแห่งคาลมาร์
     หลังแยกตัวจากสวีเดน เศรษฐกิจของนอร์เวย์ก็เติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GNP) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๔ ต่อปี ติดต่อกันจนถึง
     ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ การปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกสองในนอร์เวย์ทำให้อัตราการว่างงานลดจำนวนลง มีการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ของประเทศและการนำไฟฟ้าพลังน้ำ (hydro-electricity) มาใช้ นอกจากนี้ยังมีการทำอุตสาหกรรมประเภทเคมีไฟฟ้า (Electrochemical) และโลหะไฟฟ้า(Electrometallurgical) ขึ้นเป็นครั้งแรก ในทศวรรษ ๑๙๑๐ สังคมเกษตรของนอร์เวย์เริ่มเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรม จำนวนของแรงงานร้อยละ ๔๒ ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมเริ่มลดลงเหลือร้อยละ ๓๗ ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ และลดลงเป็นลำดับจนในปัจจุบันมีประมาณร้อยละ ๖ เท่านั้น
     ส่วนในเรื่องการต่างประเทศซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของความขัดแย้งกับสวีเดน นั้น นอร์เวย์ได้สร้างเครือข่ายสถานทูตและสถานกงสุลขึ้นในนานาประเทศแต่ขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวัง โดยยึดหลักความเป็นกลางและไม่ผูกพันกับประเทศใดโดยหลีกเลี่ยงการทำสนธิสัญญาพันธมิตรที่จะนำประเทศเข้าไปพัวพันกับสงคราม นโยบายเป็นกลางดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ส่วนภายในประเทศ สตรีนอร์เวย์ได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๑๓ (ผู้ชายได้รับสิทธิใน ค.ศ. ๑๘๙๘) นับว่าเร็วกว่าประเทศตะวันตกอื่น ๆ
     ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นอร์เวย์ดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลนอร์เวย์ก็ถูกแรงกดดันจากอังกฤษและการต่อต้านเยอรมนี ของประชาชนภายในประเทศให้ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร เรือสินค้านอร์เวย์ส่งเสบียงจำนวนมากให้แก่อังกฤษและได้รับถ่านหินเป็นเครื่องตอบแทน การติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรดังกล่าวทำให้เรือสินค้าของนอร์เวย์ถูกเรืออู (U-boat) ของฝ่ายเยอรมนี โจมตีและสูญหาย รวมทั้งชีวิตของทหารเรืออีกประมาณ ๒,๐๐๐ คนอย่างไรก็ดีการดำเนินนโยบายเป็นกลางที่ถูกเรียกว่า “พันธมิตรเป็นกลาง”(Neutral Ally)และการค้าขายในยามสงครามของนอร์เวย์ทำให้สถานะทางการเงินของประเทศมั่นคงขึ้นอย่างมาก จนทำให้ชาวนอร์เวย์สามารถซื้อทรัพย์สินรวมทั้งบริษัทสำคัญ ๆที่ตกอยู่ในมือของต่างชาติ เช่น บอร์เรการ์ (Borregaard) เหมืองถ่านหินที่สปิตส์-เบอร์เกิน (Spitsbergen) สฟาลบาร์ และอื่น ๆ
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ นอร์เวย์ได้ยกเลิกนโยบายโดดเดี่ยวและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ (League of Nations) อีกทั้งยังให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศนอร์ดิก แต่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกที่เริ่มปรากฏให้เห็นในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ เป็นต้นมาทำให้การค้าและการขนส่งสินค้าทางเรือของนอร์เวย์ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ธนาคารจำนวนมากล้มละลาย ค่าเงินโครน (krone)ลดลงและเงินตราต่างประเทศขาดแคลน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมมาก พวกคนงานซึ่งได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติสังคมนิยมที่เกิดขึ้นในรัสเซีย ได้ก่อการประท้วงแต่ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็เริ่มคลี่คลาย และระหว่างค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๙ รายรับของประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นและมีมากกว่า ๑,๔๐๐ ล้านโครน
     ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอร์เวย์พยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางเช่นเดียวกับในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่สภาพที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในทะเลเหนือทำให้เยอรมนี บุกเข้าโจมตีนอร์เวย์ในรุ่งเช้าของวันที่ ๙ เมษายน ค.ศ.๑๙๔๐ ตามแผนปฏิบัติการเวเซรือบุง (Operation Weserübung) ก่อให้เกิดยุทธการที่นอร์เวย์ (Battle of Norway) ขึ้น กองกำลังเยอรมันได้โจมตีกรุงออสโลและเมืองท่าสำคัญ ๆ และสามารถเข้ายึดที่มั่นได้ในเวลาอันรวดเร็วอย่างไรก็ดีกองทัพนอร์เวย์ก็ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ โดยมีกำลังของอังกฤษ ฝรั่งเศส และโปแลนด์ ให้การสนับสนุนนอร์เวย์สามารถต่อต้านการรุกรานของเยอรมนี เป็นเวลาเกือบ ๒เดือน นับว่ายาวนานที่สุด (ยกเว้นในรัสเซีย ) ในการยกกองกำลังเข้ายึดครองประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของกองทัพเยอรมัน ในวันที่ ๗ มิถุนายน นอร์เวย์ซึ่งมีกำลังน้อยกว่าและขาดการสนับสนุนทางอากาศยานจำต้องประกาศยอมแพ้ พระเจ้าฮากอนที่ ๗และสมเด็จพระราชินีมอด (Maud) พระราชธิดาองค์สุดท้องของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐) แห่งอังกฤษจึงเสด็จหนีออกจากนอร์เวย์พร้อมด้วยคณะรัฐบาลไปยังอังกฤษและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น
     ขณะเดียวกันวิดคุน อับราฮัม เลาริตซ์ จอห์นสัน ควิสลิง (VidkunAbraham Lauritz Johnson Quisling) นักการเมืองนอร์เวย์ผู้ฝักใฝ่ลัทธิฟาสซิสต์(Fascism) และชื่นชมในอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำของเยอรมันนาซีก็ได้ยึดอำนาจปกครอง แต่ถูกประชาชนต่อต้านจนกองทัพเยอรมนี ต้องปลดเขาออกจากตำแหน่งผู้นำ อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ารัฐบาลหุ่นเรียกว่า “ประธานรัฐมนตรี”(minister president) ของเยอรมนี ในนอร์เวย์ควิสลิงดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งกองกำลังเยอรมันในนอร์เวย์ซึ่งมีจำนวนประมาณ๔๐๐,๐๐๐ คน (ขณะนั้นประชากรนอร์เวย์มีประมาณ ๔ ล้านคน) ยอมแพ้แก่ฝ่ายพันธมิตรใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาถูกจับดำเนินคดีในข้อหาทรยศต่อชาติและถูกประหารชีวิตและชื่อสกุล “ควิสลิง” ของเขาก็กลายเป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่หมายถึงผู้ทรยศหรือนักการเมืองที่สนับสนุนผู้รุกรานประเทศของตน
     ตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่เยอรมนี เข้ายึดครองประเทศนั้น ชาวนอร์เวย์จัดตั้งขบวนการต่อต้านเยอรมนี อย่างแข็งขันและร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับกองกำลังเยอรมันทั้งด้วยอาวุธและการขัดขืนของพลเมืองที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของทหารเยอรมันทั้งยังได้รับการช่วยเหลือในการปฏิบัติการต่าง ๆอย่างลับ ๆ จากอังกฤษ นอกจากนี้เรือพาณิชย์ของนอร์เวย์ก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับกองกำลังเยอรมันในช่วงที่ก่อนเกิดสงครามนั้น นอร์เวย์มีกองกำลังเรือพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับ ๓ของโลก ทั้งยังเป็นเรือเดินสมุทรที่มีความเร็วสูงที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในโลกอีกด้วย เมื่อนอร์เวย์ถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครอง กองเรือพาณิชย์ของนอร์เวย์กว่า๑,๐๐๐ ลำได้รับคำสั่งและการเกณฑ์จากรัฐบาลพลัดถิ่นของนอร์เวย์ในกรุงลอนดอนให้ขนถ่ายเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ และลำเลียงกำลัง รวมทั้งให้ร่วมปฏิบัติการกับฝ่ายพันธมิตรในยุทธนาวีที่มหาสมุทรแอตแลนติก (Battle of the Atlantic) และการถอนทัพที่ดันเคิร์ค (Evacaution of Dunkirk ค.ศ. ๑๙๔๐) รวมทั้งการยกพลขึ้นบกที่นอร์มองดี (Normandy) ในปฏิบัติการวันดี-เดย์ (D-Day ๖ มิถุนายนค.ศ. ๑๙๔๔) ที่ฝ่ายพันธมิตรสามารถปลดปล่อยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส จากการยึดครองของเยอรมนี ได้สำเร็จซึ่งมีผลให้ในเวลาต่อมาฝ่ายพันธมิตรสามารถเผด็จศึกเยอรมนี ได้สำเร็จ
     หลังสงครามสิ้นสุดลง นอร์เวย์เป็น ๑ ใน ๕๑ ประเทศที่เป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และทริกฟ์ ลี (Trygve Lie) ชาวนอร์เวย์ยังได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการคนแรกด้วย นอร์เวย์จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕พรรคแรงงานเป็นฝ่ายได้รับความนิยมสูงสุดและยังมีชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปจนมีอำนาจการบริหารติดต่อกันเป็นเวลา๒๐ ปีพันธกิจแรกของรัฐบาลแรงงานคือการบูรณะฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลเสียหายจากการทำลายล้างของฝ่ายนาซีเยอรมันและการก่อวินาศกรรมของชาวนอร์เวย์เองที่ต่อต้านการยึดครองของกองทัพเยอรมัน มีการวางแผนการฟื้นฟู เศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นระบบและมีนโยบายให้นอร์เวย์เข้าสู่ตลาดการค้าในระดับนานาชาติการกระจายรายได้และความมั่งคั่งของประเทศสู่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆอย่างทัดเทียมกัน ภายในเวลา ๓ ปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติก็ไต่ขึ้นสู่ระดับก่อนสงครามใน ค.ศ. ๑๙๔๙ นอร์เวย์ก็ยกเลิกนโยบายอยู่โดดเดี่ยวอย่างเป็นรูปธรรม โดยเข้าร่วมในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic TreatyOrganization - NATO) ที่เป็นการร่วมมือทางทหารของกลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตกในการป้องกันตนเอง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภานอร์ดิก (Nordic Council) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีสวีเดน เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์ เป็นสมาชิกและใน ค.ศ. ๑๙๖๐ ได้เป็น ๑ ใน ๗ สมาชิกก่อตั้งสมาคมการค้าเสรียุโรปหรือเอฟตา (European Free Association - EFTA) ประกอบด้วยออสเตรีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจและพัฒนาระบบการค้าโลกที่สอดคล้องและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
     ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ พรรคแรงงานได้สูญเสียอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคสายกลาง (Center Party) โดยมีปีเตอร์ บอร์เทน (Peter Borten) เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นคณะรัฐบาลที่ปราศจากพรรคร่วมที่สังกัดพรรคการเมืองที่มีแนวคิดสังคมนิยม แต่นโยบายเศรษฐกิจก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงและยังคงยึดนโยบายสมภาคนิยม (egalitarianism) และการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่ชาวนอร์เวย์อย่างทัดเทียมทุกคน จนนอร์เวย์ได้ชื่อว่าเป็น “สังคมสมภาค”(egalitariansociety) มากกว่าชาติตะวันตกอื่น ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ นอร์เวย์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปหรืออีซี[(European Community - EC) ปัจจุบันคือสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union - EU)] ซึ่งก่อให้เกิดการแตกแยกขึ้นในคณะรัฐบาลจนในที่สุดบอร์เทนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากถูกข้อกล่าวหาว่าเปิดเผยข้อมูลลับ เมื่อทริกฟ์แบรตเทลี(Trygve Bratteli) หัวหน้าพรรคแรงงานได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เขาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปตามพันธสัญญาต่อไป โดยจัดให้มีการลงประชามติในค.ศ. ๑๙๗๑ ผลของการลงคะแนนปรากฏว่าประชาชนร้อยละ ๔๗ ให้การสนับสนุนและร้อยละ ๕๓ ปฏิเสธที่จะให้นอร์เวย์เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย ทั้งยังทำให้พรรคแรงงานเสื่อมความนิยมลงอย่างไรก็ดีในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๗๓พรรคแรงงานสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้อีกและบริหารต่อไปจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๑
     นับแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ เศรษฐกิจของนอร์เวย์ได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วจากการค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือ ทะเลนอร์เวย์และทะเลแบเรนส์ ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมานอร์เวย์ซึ่งไม่ใช่กลุ่มประเทศโอเปก (OPEC)ในต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ กลายเป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจำนวนมากเป็นลำดับ ๓ รองจากซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย (ค.ศ. ๒๐๐๕) นำรายได้เข้าประเทศประมาณร้อยละ ๕๐ ของมูลค่าสินค้าส่งออก นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังเป็นประเทศที่มีการประมงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย การประมงทำรายได้ให้ประเทศมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านโครน ปลาที่ทำรายได้สำคัญได้แก่ ปลาเฮร์ิรง(herring) ปลาคอด (cod) ปลาแมกเคอเรลบลู (mackerel blue) และอื่น ๆ ทั้งยังมีอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลามากกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง ปลาสำคัญที่เลี้ยงได้แก่ ปลาแซลมอน(salmon) และปลาเทราต์ (trout)
     ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ นอร์เวย์ได้จัดให้มีการลงประชามติเป็นครั้งที่ ๒ ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปที่ขยายตัวจากประชาคมยุโรป ผลปรากฏใกล้เคียงกับเดิม คือ ผู้สนับสนุนร้อยละ ๔๗.๕ และผู้คัดค้านร้อยละ ๕๒.๕ อย่างไรก็ดีแม้นอร์เวย์จะไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยตรง แต่ก็ใช้เวทีของเอฟตาในการร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรปและกับกลุ่มสมาชิกที่ปัจจุบันเหลือ ๔ ประเทศคือ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ นอร์เวย์ได้เข้าร่วมในเขตเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีเอ (European Economic Area - EEA) ซึ่งมีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้สินค้าของนอร์เวย์สามารถส่งขายในตลาดสหภาพยุโรปได้ในระดับหนึ่งจัดว่านอร์เวย์เป็นประเทศที่ไม่สังกัดสหภาพยุโรปที่นำเข้าและส่งออกสินค้าแก่ีอยูและประเทศยุโรปอื่น ๆ โดยนอร์เวย์ส่งสินค้าออกของประเทศไปยังอียูเป็นจำนวนร้อยละ ๗๕ และนำเข้าร้อยละ ๖๖
     ปั จจุบันนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ หลายประเทศ และได้รับการจัดลำดับจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงที่สุดในโลกด้วย โดยการศึกษาเปรียบเทียบกับระดับการศึกษา รายได้ของประชาชน และเกณฑ์เฉลี่ยอายุขัย นอกจากนี้ชาวนอร์เวย์ยังมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดในโลกด้วย กษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงพระนามว่าพระเจ้าฮารัลด์ที่ ๕ (Harald V ค.ศ. ๑๙๙๑-) ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ รัฐสภานอร์เวย์ได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ โดยให้พระราชโอรสหรือพระราชธิดาที่ประสูติเป็นพระองค์แรกมีสิทธิในการสืบราชบังลังก์โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นสิทธิของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ดังที่ปฏิบัติเป็นประเพณีอีกต่อไป.
     





     










     

ชื่อทางการ
ราชอาณาจักรนอร์เวย์ (Kingdom of Norway)
เมืองหลวง
ออสโล (Oslo)
เมืองสำคัญ
เบอร์เกน (Bergen) สตาวังเงร์ (Stavanger) และทรอนด์เฮม (Trondheim)
ระบอบการปกครอง
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ประมุขของประเทศ
กษัตริย์
เนื้อที่
๓๒๔,๒๒๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ทะเลแบเรนส์ทิศตะวันออก : ประเทศรัสเซีย ฟินแลนด์ และสวีเดน ทิศใต้ : ทะเลเหนือ ทิศตะวันตก : ทะเลนอร์เวย์
จำนวนประชากร
๔,๖๒๗,๙๒๖ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
นอร์เวย์
ภาษา
นอร์เวย์
ศาสนา
คริสต์นิกายนอร์เวย์ร้อยละ ๘๕.๗ และอื่น ๆ ร้อยละ ๑๔.๓
เงินตรา
โครน (krone)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป