Montenegro, Republic of

สาธารณรัฐมอนเตเนโกร




     สาธารณรัฐมอนเตเนโกรเป็นประเทศใหม่ล่าสุดที่เข้าเป็นสมาชิกอันดับที่ ๑๙๒ขององค์การสหประชาชาติ(United Nations) เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๖ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ในอดีตเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) และใน ค.ศ. ๒๐๐๓ รวมตัวกับเซอร์เบีย เป็นสหภาพเซอร์เบีย และมอนเตเนโกร (State Union of Serbia and Montenegro) แต่ในค.ศ. ๒๐๐๖ ชาวมอนเตเนโกรได้ลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพเซอร์เบีย และมอนเตเนโกร และประกาศเป็นประเทศเอกราชเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๖
     ประวัติศาสตร์ระยะแรกของชนเผ่ามอนเตเนโกรซึ่งมีเชื้อชาติผสมระหว่างพวกสลาฟ (Slav) กับอิลลิเรีย (Illyria) อัลวาร์ (Avar) และโรมัน (Roman)เริ่มปรากฏชัดเจนในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ในฐานะเป็นรัฐกึ่งอิสระที่เรียกว่าดูเคลีย(Dukedom of Duklja) ต่อมาได้มีการสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้น ปรากฏหลักฐานว่า ใน ค.ศ. ๑๐๗๗ สันตะปาปาเกรกอรีที่ ๗ (Greory VII ค.ศ. ๑๐๗๓-๑๐๘๕) ได้ทรงมีประกาศรับรองความเป็นอิสระของรัฐดู เคลียและยอมรับพระเจ้ามีไฮโลแห่งดูเคลีย (Mihailo of Duklja)อย่างเป็นทางการพระเจ้ามีไฮโลทรงสืบเชื้อสายมาจากสเตฟาน วอยิสลาฟ (Stefan Vojislav) ซึ่งในเวลาต่อมาผู้สืบเชื้อสายได้แยกไปก่อตั้งรัฐเซอร์เบีย (Serbia) มอนเตเนโกรจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเซอร์เบีย เป็นพิเศษ ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ มอนเตเนโกรตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) เช่นเดียวกับเซอร์เบีย และรัฐอื่น ๆ ในคาบสมุทรบอลข่าน แต่เนื่องจากมอนเตเนโกรเป็นรัฐชายขอบทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร อำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันจึงแผ่ขยายไปไม่ได้เต็มที่นักกษัตริย์ของมอนเตเนโกรตั้งแต่ปลายสมัยกลางเป็นต้นมาจึงปกครองประเทศด้วยความเป็นอิสระพอควรจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
     ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙พระเจ้านิโคลัสที่ ๑ (Nicholas Iค.ศ. ๑๘๖๐-๑๙๑๘) แห่งราชวงศ์นีเยกอช (Njegosˇ) ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งทรงพยายามปลดปล่อยประเทศจากแอกการปกครองของจักรวรรดิออตโตมันหลายครั้ง ใน ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๒ มอนเตเนโกรก่อสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันแต่ไม่สำเร็จ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเซอร์เบีย และระหว่างค.ศ. ๑๘๗๗-๑๘๗๘ ก็สนับสนุนรัสเซีย ในการทำสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งรัสเซีย เป็นฝ่ายชนะ สนธิสัญญาซานสตีฟาโน (Treaty of San Stefano) ที่รัสเซีย ทำกับตุรกีใน ค.ศ. ๑๘๗๘ เปิดโอกาสให้รัสเซีย เข้าไปมีอิทธิพลมากขึ้นในดินแดนส่วนใหญ่ของคาบสมุทรบอลข่านอังกฤษและออสเตรีย -ฮังการี (Austria-Hungary) จึงคัดค้านและนำไปสู่การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin) ใน ค.ศ. ๑๘๗๘เพื่อทบทวนสนธิสัญญาซานสตีฟาโน ผลการประชุมที่สำคัญคือ มีการยกเลิกสนธิสัญญาซานสตีฟาโนและจัดทำสนธิสัญญาเบอร์ลิน (Treaty of Berlin) ขึ้นแทนสนธิสัญญาเบอร์ลิน ค.ศ. ๑๘๗๘ ได้ทำให้มอนเตเนโกรเป็นเอกราชจากออตโตมันรวมทั้งได้ดินแดนเพิ่มเติม ประเทศมหาอำนาจค้ำประกันที่จะทำให้เขตน่านน้ำตามชายฝั่งทะเลเอเดรียติก (Adriatic) ของมอนเตเนโกรเป็นเขตน่านน้ำปิดอย่างไรก็ดีมอนเตเนโกรต้องยินยอมให้ออสเตรีย -ฮังการี เข้ามาบริหารจัดการระบบการรักษาความปลอดภัยของน่านน้ำซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ออสเตรีย -ฮังการี มีส่วนได้เสียในฐานที่มั่นริมฝั่งทะเลเอเดรียติก
     ความผันผวนทางการเมืองในคาบสมุทรบอลข่านที่สืบเนื่องจากปัญหาตะวันออก (Eastern Question) และกระแสลัทธิชาตินิยมจากการเคลื่อนไหวของขบวนการอุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ (Pan-Slavism) ได้นำไปสู่การเกิดสงครามบอลข่าน (Balkan Wars) สองครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๑๓ ในสงครามบอลข่านครั้งแรกมอนเตเนโกรซึ่งเป็นสมาชิกของสันนิบาตบอลข่าน (Balkan League)ซึ่งประกอบด้วย กรีซ บัลแกเรีย และเซอร์เบีย ได้ร่วมกันทำสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันและมีชัยชนะ ออตโตมันต้องสูญเสียดินแดนในยุโรปเกือบทั้งหมดและยอมให้มีการจัดตั้งประเทศแอลเบเนีย (Albania) ขึ้น แต่ทั้งเซอร์เบีย และมอนเตเนโกรไม่พอใจเพราะต้องการผนวกดินแดนทางชายฝั่งของแอลเบเนียเพื่อเป็นทางออกทะเลขณะเดียวกันบัลแกเรีย ก็ไม่พอใจในส่วนแบ่งดินแดนที่ได้รับทั้งขุ่นเคืองที่เซอร์เบีย ได้รับผลประโยชน์มากกว่า บัลแกเรีย จึงเปิดฉากก่อสงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ ขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๓ แต่พ่ายแพ้ ผลสำคัญของสงครามบอลข่านคือทั้งเซอร์เบีย และมอนเตเนโกรได้รับดินแดนเพิ่มเติมประมาณ ๑ เท่าของพื้นที่เดิมของประเทศ หลังวิกฤตการณ์สงครามบอลข่านไม่นานนัก มีการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ็กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand ค.ศ. ๑๘๖๓ - ๑๙๑๔)มกุฎราชกุมารออสเตรีย -ฮังการี และพระชายาขณะเสด็จเยือนกรุงซาราเยโว(Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนีย การปลงพระชนม์ครั้งนี้ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑
     มอนเตเนโกรสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers) แต่ด้วยขนาดกำลังพลประมาณ ๕,๐๐๐ คนกองกำลังของมอนเตเนโกรจึงพ่ายแพ้ต่อกองทัพออสเตรีย -ฮังการี และในต้น ค.ศ.๑๙๑๖ ก็ถูกออสเตรีย -ฮังการี เข้ายึดครองอย่างไรก็ตาม ในปลายสงครามใน ค.ศ.๑๙๑๘ มอนเตเนโกรได้เคลื่อนไหวที่จะปลดปล่อยประเทศจากการยึดครอง และรัฐสภาของมอนเตเนโกรมีมติที่จะให้รวมเข้ากับราชอาณาจักรเซอร์เบีย (Kingdom ofSerbia) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนชนชาติต่าง ๆ ในคาบสมุทรบอลข่านให้เป็นเอกราช เซอร์เบีย จึงกลายเป็นแกนนำสำคัญของการรวมชนชาติสลาฟใต้เข้าด้วยกันได้สำเร็จหลังสงครามสิ้นสุดลงโดยสถาปนาราชอาณาจักรเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of Serbs Croats and Slovenes) ซึ่งรวมมอนเตเนโกรด้วยขึ้นเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยมีพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I)แห่งราชวงศ์คาราจอร์เจวิช (Karageorgevic) ทรงเป็นประมุขอย่างไรก็ตามพลเมืองมอนเตเนโกรจำนวนไม่มากก็ต่อต้านการรวมตัวครั้งนี้และพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านเซอร์เบีย ตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาดใน ค.ศ. ๑๙๒๔การต่อต้านดังกล่าวมีส่วนทำให้พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ในเวลาต่อมาทรงอ้างปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในระหว่างชนชาติต่าง ๆยุบสภาและปกครองด้วยระบบเผด็จการ
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๙พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) ซึ่งหมายถึง ประเทศของชาวสลาฟใต้ และดำเนินนโยบายสลายความเป็นชาติของชนชาติต่าง ๆ ในประเทศ นโยบายดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจแก่ชนชาติต่าง ๆ ภายในประเทศและมีส่วนทำให้ชาวโครแอตชาตินิยมที่ต้องการแยกตัวออกลอบปลงพระชนม์พระองค์ได้สำเร็จขณะเสด็จเยือนฝรั่งเศส ในค.ศ. ๑๙๓๔ เจ้าชายปี เตอร์ที่ ๒ (Peter II)พระราชโอรสองค์โตพระชันษา ๑๑ ปี ได้เสด็จขึ้นครองบัลลังก์โดยมีเจ้าชายปอล (Paul)พระญาติผู้ใหญ่เป็นผู้สำเร็จราชการ
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ยูโกสลาเวียถูกเยอรมนี โจมตีและยึดครองดินแดนต่าง ๆ ของประเทศถูกแบ่งแยกและยึดครองระหว่างเยอรมนี บัลแกเรีย ฮังการี และอิตาลี ในช่วงระหว่างสงครามยอซีบ บรอซหรือตีโต (JosipBrozi; Tito) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียได้ก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ(National Liberation Army) ขึ้นเพื่อต่อต้านเยอรมนี และพันธมิตรที่ยึดครองประเทศตีโตได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากชาวเซิร์บและชนชาติต่าง ๆ และประสบความสำเร็จในการปลดปล่อยประเทศได้สำเร็จ
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตีโตได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้ได้อำนาจทางการเมืองและเป็นผู้นำประเทศ เขาเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามแบบรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ โดยเรียกชื่อประเทศว่าสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia)ประกอบด้วย ๖ สาธารณรัฐและ ๒ มณฑลอิสระ (autonomous province) กล่าวคือสาธารณรัฐเซอร์เบีย โครเอเชีย สโลวีเนีย บอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกรมาซิโดเนีย และมณฑลวอยวอดีนา (Vojvodina) และคอซอวอ (Kosova) ระหว่างค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๙๒ มอนเตเนโกรจึงเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมที่รวมอยู่กับสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย โดยมีอำนาจอธิปไตยภายในอย่างอิสระ และมีกรุงพอดกอรีตซา (Podgorica) เป็นเมืองหลวง แต่หลังอสัญกรรมของตีโตในค.ศ. ๑๙๘๐ มีการเปลี่ยนชื่อกรุงพอดกอรีตชา เป็นตีโตกราด (Titograd) เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่ตีโต
     เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ ในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งทำให้ระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายทั้งนำไปสู่การแตกสลายของสหภาพโซเวียต ใน ค.ศ. ๑๙๙๑สาธารณรัฐที่รวมอยู่ในสหพันธ์รัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียจึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นเอกราช ในกลาง ค.ศ. ๑๙๙๑ โครเอเชีย และสโลวีเนีย ประกาศแยกตัวจากสหพันธรัฐสาธารณรัฐยูโกสลาเวีย ตามมาด้วยมาซิโดเนีย ในเดือนธันวาคมค.ศ. ๑๙๙๑ และบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนาในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ คงเหลือเซอร์เบีย และมอนเตเนโกรซึ่งตกลงที่จะยังคงอยู่ร่วมกันต่อไป (ดู serbiaประกอบ) มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๒พร้อมกับการสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (Federal Republic ofYugoslavia) มีการปกครองแบบเสรีนิยมในระบบรัฐสภาขึ้น ประธานาธิบดีสลอบอดันมีโลเซวิช (Slobodan Milosevic) แห่งเซอร์เบีย ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสหพันธรัฐ แต่การดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อชนกลุ่มน้อยในคอซอวอทางตอนใต้ก็ทำให้มอนเตเนโกรพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
     หลังวิกฤตการณ์คอซอวอสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ได้มีการทบทวนโครงสร้างการบริหารสหพันธรัฐสาธารณรัฐยูโกสลาเวีย โดยเพิ่มอำนาจและความเป็นตัวของตัวเองในระดับสาธารณรัฐแต่ละแห่งให้มากขึ้น ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ค.ศ. ๒๐๐๓ สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพเซอร์เบีย และมอนเตเนโกร (State Union of Serbia and Montenegro) โดยรวมกันแบบสหภาพหรือแบบรัฐในเครือจักรภพ (Commonwealth) ที่แต่ละรัฐคงความเป็นอิสระเกือบทุกด้าน มอนเตเนโกรก็มีการแบ่งเขตการปกครองในรัฐของตนเป็นจังหวัด มีกรุงพอดกอรีตซาเป็นเมืองหลวง มีประธานาธิบดี คณะผู้บริหาร รัฐสภา ศาลธนาคารชาติเงินตรา ธงชาติและตราสัญลักษณ์ของประเทศเป็นของตนเองอย่างไรก็ตาม ในฐานะเป็นชาติทั้งรัฐบาลของเซอร์เบีย และมอนเตเนโกรจะดำเนินกิจการร่วมกันในด้านการทหารและการต่างประเทศเป็นหลัก และมีข้อตกลงว่าหากรัฐใดรัฐหนึ่งต้องการแยกตนเป็นอิสระก็สามารถกระทำได้ด้วยการแสดงประชามติ แต่ต้องอยู่ร่วมกันมาแล้วอย่างน้อย ๓ ปี นั่นคือนับจาก ค.ศ. ๒๐๐๖ เป็นต้นไป และการแสดงประชามติต้องมีผู้ออกเสียงอย่างน้อยร้อยละ ๕๕ ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
     ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ ชาวมอนเตเนโกรได้แสดงประชามติเพื่อยุติการรวมเป็นสหภาพกับเซอร์เบีย และร้อยละ ๕๕.๔ ของผู้ออกเสียงจากจำนวน ๔๑๙,๒๔๐ คนสนับสนุนให้มอนเตเนโกรแยกจากสหภาพและจัดตั้งประเทศใหม่ รัฐสภามอนเตเนโกรจึงประกาศเอกราชบนพื้นฐานของการแสดงประชามติของประชาชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๖ โดยมีฟิลิป วูยาโนวิช (Filip Vujanovic) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐมอนเตเนโกร สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ เป็นประเทศแรกที่ประกาศยอมรับสถานภาพความเป็นเอกราชของมอนเตเนโกรเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๖ และตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ (๙ มิถุนายน) และเอสโตเนีย (๑๑ มิถุนายน) ตามลำดับหลังจากนั้น ไม่นานนักนานาประเทศในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็ประกาศยอมรับความเป็นประเทศเอกราชของมอนเตเนโกรด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายนองค์การสหประชาชาติก็ยอมรับให้มอนเตเนโกรเข้าเป็นสมาชิกอันดับที่ ๑๙๒ และยึนยันสถานภาพการเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๖.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐมอนเตเนโกร (Republic of Montenegro)
เมืองหลวง
พอดกอรีตซา (Podgorica)
เมืองสำคัญ
เซตีเนีย (Cetinje) นิคชิค (Niki) โคตอร์ (Kotor)
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐ
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๑๔,๐๒๖ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และประเทศเซอร์เบีย ทิศตะวันออก : ประเทศเซอร์เบีย และประเทศแอลเบเนีย ทิศใต้ : ทะเลเอเดรียติก ทิศตะวันตก : ประเทศโครเอเชีย และประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
จำนวนประชากร
๖๘๔,๗๓๖ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
มอนเตเนโกรร้อยละ ๔๓ เซิร์บร้อยละ ๓๒ บอสเนียร้อยละ ๘ แอลเบเนียร้อยละ ๕ และอื่น ๆ ร้อยละ ๑๒
ภาษา
เซอร์เบีย
ศาสนา
คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ อิสลาม คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุิจตรา วุฒิเสถียร
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป