สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เหนือ เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของประเทศที่เกิดจากการรวมตัวทางการเมืองระหว่างอังกฤษ เวลส์(Wales) และสกอตแลนด์ (Scotland) กับดินแดนทางภาคเหนือของเกาะไอร์แลนด์ มีชื่อย่อเรียกว่าสหราชอาณาจักรหรือยูเค (United Kingdom - UK) โดยอังกฤษและเวลส์ได้รวมตัวกับสกอตแลนด์อย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๗๐๗ และเรียกว่าสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ (United Kingdom of Great Britain) ต่อมา ใน ค.ศ.๑๘๐๑ ก็ได้ผนวกดินแดนทั้งหมดของเกาะไอร์แลนด์ และจัดตั้งเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (United Kingdom of Great Britain and Ireland) การรวมตัวดังกล่าวก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างมากจากชาวไอริชชาตินิยม ในที่สุดชาวไอริชก็สามารถสถาปนาเสรีรัฐไอร์แลนด์ (Irish Free State) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๑ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตเกือบทั้งหมดของเกาะไอร์แลนด์ ยกเว้น ๖ มณฑลทางตอนเหนือ การสถาปนาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกตัวเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ของไอร์แลนด์ ใต้ ซึ่งต่อมาใน ค.ศ ๑๙๓๗ ไอร์แลนด์ ใต้ได้จัดตั้งเป็นรัฐเอกราชมีชื่อเรียกว่าแอรา (Eire) และใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ได้เปลี่ยนชื่อจากแอราเป็นไอร์แลนด์ และมีสถานภาพเป็นสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการ อีกทั้งไม่สังกัดในเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)อีกต่อไปอย่างไรก็ดี๖ มณฑลทางตอนเหนือในเขตอัลสเตอร์ (Ulster) หรือไอร์แลนด์ เหนือ (Northern Ireland)ก็มิได้รวมตัวกับสาธารณรัฐ และยังคงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ต่อไป โดยมีชื่อเรียกรวมกันใหม่ว่าสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เหนือ
ประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรคือเรื่องราวการสถาปนาอำนาจปกครองและการรวมตัวของดินแดนต่าง ๆ บนเกาะบริเตนใหญ่และเกาะไอร์แลนด์ อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ ชนเผ่าพื้นเมืองของเกาะบริเตนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มชนที่พูดภาษาเคลต์ (Celtic-speakingpeoples) ซึ่งรวมทั้งชนเผ่าบริทอน (Brython) ในเวลส์ พิกต์ (Pict) ในสกอตแลนด์และบริตัน (Briton) ในอังกฤษ นอกจากนั้นพวกเคลต์ยังตั้งหลักแหล่งในเกาะไอร์แลนด์ อีกด้วย เกาะบริเตนใหญ่ได้ถูกจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) แม่ทัพแห่งกองทัพโรมยกทัพเข้ารุกรานใน ๕๕-๕๔ ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่โรมก็มิได้จัดตั้งให้เกาะบริเตนใหญ่เป็นมณฑลบริแตนเนีย (Britannia) จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๕พวกอนารยชนเผ่านอร์ด (Nordic Tribes) ซึ่งประกอบด้วยพวกแองเกิล(Angle)พวกแซกซัน (Saxon) และพวกจูต (Jute) ได้เข้ารุกรานเกาะบริเตนใหญ่ และขับไล่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมคือพวกเคลต์จนต้องไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในเขตคอร์นวอลล์(Cornwall) และเวลส์ อย่างไรก็ดี การรุกรานดังกล่าวนี้ไม่มีผลกระทบต่อพวกเคลต์ที่ตั้งที่อยู่อาศัยแล้วในเวลส์และสกอตแลนด์ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๖-๗ คริสต์ศาสนาได้เข้ามาเผยแพร่ในดินแดนต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร และเป็นศาสนาที่ชนเผ่าต่าง ๆ นับถือ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๘ และ ๙พวกเดน (Dane) ซึ่งเป็นชนเผ่าไวกิ้ง (Viking) เผ่าหนึ่งได้เข้ารุกรานเกาะบริเตนใหญ่
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๙พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช (Alfred the Greatค.ศ. ๘๗๑-๘๙๙) แห่งเวสเซกซ์ (Wessex) ได้ขับพวกเดนออกจากเกาะบริเตนใหญ่ซึ่งต่อมามีผลให้พระเจ้าแอเทลสแตน (Athelstan ค.ศ. ๙๒๔-๙๓๙) สามารถรวมอังกฤษให้เป็นปึ กแผ่นได้ ขณะเดียวกันพระเจ้ามัลคอล์มที่ ๒ (Malcolm IIค.ศ. ๑๐๐๕-๑๐๓๔) ก็สามารถรวมสกอตแลนด์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย ในค.ศ. ๑๐๖๖ วิลเลียมดุ็กแห่งนอร์มองดี(William, Duke of Normandy) หรือต่อมาได้สมัญญานามว่า “พระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต”(William the Conqueror) ได้ยกกองทัพจากดินแดนในฝรั่งเศส เข้ายึดอังกฤษและประดิษฐานราชวงศ์นอร์มัน (Norman) ขึ้นปกครองอังกฤษ เฉลิมพระนามพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๐๖๖-๑๐๘๗)หลังจากนั้นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาพูดของพวกนอร์มันก็เริ่มผสมกลมกลืนกับภาษาแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxon) ที่นิยมพูดกันโดยทั่วไปและพัฒนาเป็นภาษาอังกฤษในที่สุด
นอกจากนี้ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงจัดตั้งระบบการปกครองแบบฟิวดัล(Feudalism) ขึ้น โดยมีพระองค์เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดของประเทศและยังขยายอิทธิพลเข้าไปในสกอตแลนด์ด้วย สำหรับภายในอังกฤษมีการสำรวจจำนวนที่ดินทรัพย์สินรวมทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น หมู วัว ม้า และอื่น ๆ ภายในราชอาณาจักรอย่างละเอียดเพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษีรวมทั้งข้อมูลเป็นเอกสารที่ต่อมาเรียกว่า “DomesdayBook” ต่อมา อังกฤษได้ประสบกับวิกฤตการณ์เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ ๑ (Henry Iค.ศ. ๑๑๐๐-๑๑๓๕) สวรรคตลงโดยปราศจากรัชทายาท ขุนนางอังกฤษได้แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายสนับสนุนสตีเฟนแห่งบลัว (Stephen of Blois)พระราชนัดดา(หลานตา) ในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ กับผู้ที่สนับสนุนมาทิลดา (Matilda)พระราชธิดาในพระเจ้าเฮนรีที่ ๑ ซึ่งทรงเสกสมรสกับเจฟฟรีย์แห่งอองชู (Geoffrey of Anjou)มาทิลดาทรงสละสิทธิ์ ในบัลลังก์อังกฤษให้แก่เฮนรี (Henry) พระโอรส สงครามระหว่างฝ่ายมาทิลดาและเฮนรีกับพระเจ้าสตีเฟนดำเนินเป็นเวลาหลายปี ใน ค.ศ.๑๑๕๗ เมื่อกองทัพของเฮนรีบุกเกาะอังกฤษ พระเจ้าสตีเฟนซึ่งทรงเหนื่อยหน่ายกับสงคราม กอปรกับพระราชโอรสพระองค์เดียวและเป็นรัชทายาทสิ้นพระชนม์ลงจึงทรงยอมสงบศึก และใน ค.ศ. ๑๑๕๓ ได้ทรงลงพระนามในสนธิสัญญาแห่งวอลลิงฟอร์ด (Treaty of Wallingford)ยอมรับเฮนรีเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษอีก ๑ ปีต่อมา เมื่อพระองค์สวรรคตใน ค.ศ. ๑๑๕๔ เฮนรีเสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนามพระเจ้าเฮนรีที่ ๒ (Henry II ค.ศ. ๑๑๕๗-๑๑๘๙) เป็นกษัตริย์พระองค์แรกในบรรดา ๘พระองค์ของราชวงศ์พลาตาจีเนต (Platagenet) ทรงปกครองดินแดนที่กว้างขวางซึ่งนอกจากในเกาะอังกฤษแล้ว ยังมีแคว้นอองชู โอแวร์ญ(Auverge) นอร์มองดี ตู แรน (Touraine) ไมน์ (Main) และอื่นๆ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกจากพระบิดาและพระมารดา รวมทั้งแคว้นอากีแตน (Aquitaine) ของเอลินอร์แห่งอากีแตน (Eleanor of Aquitaine) อดีตพระมเหสีในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๗(Louis VII ค.ศ. ๑๑๓๗-๑๑๘๐ ) แห่งฝรั่งเศส ที่ทรงอภิเษกสมรสด้วยใน ค.ศ. ๑๑๕๒การครองดินแดนต่าง ๆ ของอังกฤษในภาคพื้นทวีปซึ่งเรียกรวมกันดินแดนในเกาะอังกฤษว่าจักรวรรดิแอนจิิวน (Angevin Empire) การปกครองดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลของกษัตริย์อังกฤษซึ่งโดยนิตินัยมีฐานะเป็นวัสซัล (vassal) ของกษัตริย์ฝรั่งเศส นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ที่จะดำเนินต่อไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ใน ค.ศ. ๑๑๗๒พระเจ้าเฮนรีที่ ๒ ยังทรงเข้ายึดไอร์แลนด์ และบังคับให้ขุนนางไอริชถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ตามธรรมเนียมการปกครองแบบฟิวดัลด้วย ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งขุนนางอังกฤษเป็นอุปราช (lord-lieutenant) ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ในการปกครองไอร์แลนด์ ซึ่งตำแหน่งนี้ก็มีผู้ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งติดต่อกันเป็นเวลาอีก ๔๐๐ ปี
ส่วนภายในประเทศ พระเจ้าเฮนรีที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูประบบการปกครอง โดยลิดรอนอำนาจของขุนนาง ืร้อฟื้นกฎหมายในรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ที่ห้ามขุนนางสะสมกองกำลังและสร้างปราสาทโดยไม่ได้รับพระราชานุญาตปรับปรุงกองทัพให้แข็งแกร่ง ให้สภาที่ปรึกษาเรียกว่า curia regis ทำหน้าที่ตุลาการและทรงจัดทำกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษหรือกฎหมายคอมมอนลอว์(Common Law) ให้เป็นระบบ ปฏิรูประบบการเก็บภาษีมีการขยายการเก็บภาษีสกูเทจ(scutage) ตามระบอบการปกครองฟิวดัลแก่พวกขุนนางทุกคนที่มิได้เข้ารับใช้ในกองทัพของกษัตริย์ และเก็บภาษีรายได้และภาษีทรัพย์สินเรียกว่าภาษีซาลาดิน(Saladin Tithe) จากประชาชนโดยทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมในสงครามครูเสด (Crusades)ครั้งที่ ๒ เพื่อช่วงชิงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ คืนจากพวกมุสลิม ตลอดจนพยายามลดอำนาจและบทบาทของศาสนจักรในอังกฤษ จนทำให้พระองค์ต้องมีเรื่องพิพาทกับสันตะปาปาและทอมัส เบ็กเก็ต (Thomas Becket)อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี(Archbishop of Canterbury) และจบลงด้วยการฆาตกรรมเบ็กเก็ตจากฝีมือของขุนนางเพื่อเอาใจพระองค์ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในอังกฤษจนพระเจ้าเฮนรีที่ ๒ต้องทรงลดแรงกดดันจากพสกนิกรโดยยอมให้บาทหลวงที่มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีเขตสังฆมณฑลในปกครองของเบ็กเก็ตโบยพระองค์ต่อหน้าหลุมศพของเบ็กเก็ต แม้พระเจ้าเฮนรีที่ ๒ จะทรงพ่ายแพ้ในการขยายอำนาจของกษัตริย์เข้าควบคุมศาสนจักรในอังกฤษ แต่ผลงานในด้านอื่น ๆ ของพระองค์ได้สร้างรากฐานและความมั่นคงแก่อังกฤษเป็นอย่างมาก
ในรัชสมัยของพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionhearted ค.ศ.๑๑๘๙-๑๑๙๙) พระราชโอรส กองทัพอังกฤษภายใต้การนำของพระองค์ได้ร่วมกับนานาประเทศและผู้นำของยุโรปทำสงครามครู เสดครั้งที่ ๓ และต่อมาได้ทำสงครามกับฝรั่งเศส ที่มีพระเจ้าฟิลิปออกัสตัส (Philip Augustus ค.ศ. ๑๑๘๐-๑๒๒๓) เป็นประมุข โดยตลอดรัชกาลพระเจ้าริชาร์ดทรงประทับในอังกฤษเป็นเวลาเพียง ๑๐เดือน และปล่อยให้เจ้าชายจอห์น (John)พระอนุชาปกครองประเทศ มีการเก็บภาษีจำนวนมากเพื่อนำไปใช้จ่ายในสงคราม รวมทั้งสงครามที่เกิดขึ้นในรัชสมัยต่อมาเมื่อเจ้าชายจอห์นเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ อังกฤษต้องสูญเสียดินแดนในภาคพื้นทวีปส่วนใหญ่ที่เคยรวมตัวกันในจักรวรรดิแอนจิิวนให้แก่ฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งพสกนิกรก็ยังเสื่อมโทรมลงด้วย ในที่สุดใน ค.ศ. ๑๒๑๕ขุนนางได้บีบบังคับให้พระเจ้าจอห์น (ค.ศ. ๑๑๙๙-๑๒๑๖) ทรงยอมรับมหากฎบัตร(Great Charter) หรือแมกนาคาร์ตา (Magna Carta) ที่จำกัดพระราชอำนาจในการเก็บภาษีและสิทธิบางประการของกษัตริย์ รวมทั้งค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน กฎหมายดังกล่าวนี้คือจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบบรัฐสภาและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษในเวลาต่อมา
พระเจ้าเฮนรีที่ ๓ (Henry III ค.ศ. ๑๒๑๖-๑๒๗๒) พระราชโอรสในพระเจ้าจอห์นซึ่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติขณะมีพระชนมายุเพียง ๘ พรรษาเท่านั้นและทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษที่ครองสิิรราชสมบัติยาวนานที่สุดในสมัยกลาง ในระยะแรก พระองค์ก็ทรงทำตามข้อเรียกร้องของขุนนางทุกประการแต่ต่อมาก็ทรงขัดแย้งกับพวกขุนนางในเรื่องการดำเนินนโยบายต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการที่พระองค์ให้ชาวต่างชาติมาประจำที่ราชสำนักและก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของขุนนางอังกฤษจนเกิดเป็นการก่อกบฏขึ้นใน ค.ศ. ๑๒๖๔ โดยมีซีมง เดอ มงฟอร์ (Simonde Montfort) พระสวามีในพระขนิษฐาเป็นหัวหน้าและสามารถยึดอำนาจการปกครองได้เป็นเวลา ๑๔ เดือนอันเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบรัฐสภา(parliament) ของอังกฤษ โดยมงฟอร์ได้เรียกประชุมสภาหรือที่เรียกว่า “สภาใหญ่”หรือ “Great Council” (ต่อมาเรียกว่า parliamentum) เพื่อร่วมบริหารราชการแผ่นดินนี้ สมาชิกของสภานี้มาจากผู้แทน ๓ ระดับชั้นซึ่งต่อมามีบทบาทในการบริหารประเทศอังกฤษในปลายสมัยกลาง ผู้แทน ๓ ระดับชั้นนี้ได้แก่ (๑)พวกบารอน(baron) เป็นตัวแทนของกลุ่มนักรบหรืออัศวิน (knight) (๒) ตัวแทนจากเมืองใหญ่ซึ่งเรียกว่า “shire”และ (๓) ตัวแทนของชาวเมือง (burgher) จากเมืองเล็กคือ townการเรียกประชุมตัวแทนจากคนระดับชั้นต่างๆ ในสมัยของซีมง เดอ มงฟอร์นี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือเพื่อป้องกันการจลาจลหรือการปฏิวัติซ้อน เพราะซีมงเดอ มงฟอร์เป็นเผด็จการที่ยึดอำนาจการปกครองจากพระเจ้าเฮนรีที่ ๓ ดังนั้นด้วยความกลัวว่าคนอื่นจะคิดปฏิวัติล้มอำนาจการปกครองของตน ก็เลยต้องตั้งสภาและให้ผู้แทนจากระดับชั้นต่างๆ เป็นสมาชิกและเข้าร่วมบริหารประเทศด้วยแมกนาคาร์ตาก็ถูกนำมาใช้เป็นกลไกพื้นฐานของรัฐสภา ต่อมาสภาก็เริ่มทำหน้าที่ที่สำคัญคือเป็นเสมือนศาลสูงสุดของประเทศ ถวายคำปรึกษาแก่กษัตริย์ในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับนโยบายบริหารประเทศ ถวายคำแนะนำและช่วยเหลือกษัตริย์ยามที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างภาวะวิกฤติและประการสุดท้ายให้การสนับสนุนหรือทัดทานกษัตริย์ในกรณีที่พระองค์ต้องการจะเรียกเก็บภาษีอากรจากราษฎร
รัฐสภาของอังกฤษนี้สร้างขึ้นบนรากฐานของการปกครองระบอบท้องถิ่นคือบรรดาผู้แทนของรัฐสภาล้วนแต่เป็นผู้ที่มีภูมิหลังในการปกครองท้องถิ่น (local gov-ernment) พวกบารอน พวกชาวเมือง และโดยเฉพาะพวกอัศวินเป็นผู้ที่ชำชองใน่การปกครองระบอบท้องถิ่น เมื่อเข้ามาอยู่ในรัฐสภาก็นำเอาความรู้ความชำนาญของการปกครองท้องถิ่นเข้ามาช่วยวางรากฐานพัฒนารัฐสภาด้วย ผู้แทนของพวกชาวเมือง (burgher) เป็นพวกที่มีหน้าที่โดยตรงในการบริหารอยู่ใน town governmentพวกอัศวิน (shire knight) ก็เป็นพวกที่มีหน้าที่ปกครองท้องถิ่นภูมิภาค (county)และก็มีอำนาจในศาลด้วย พวกอัศวินนี้บางทีก็เรียกว่าคหบดีชนบทหรือ countrygentry เป็นชนชั้นที่อยู่ระหว่างพวกบารอนกับพวกชาวบ้าน
ใน ค.ศ. ๑๒๗๒พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๑ (Edward I ค.ศ. ๑๒๗๒-๑๓๐๗) ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเฮนรีที่ ๓พระราชบิดา ทรงปราดเปรื่องที่จะร่วมมือกับบรรดาพวกบารอนเพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง ในตอนแรกๆ นั้นพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ ทรงคิดว่ารัฐสภามีขึ้นก็เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษีอากรเท่านั้นเพราะว่าบรรดาพวกขุนนางในสมัยนั้นมีอำนาจมาก ถ้าหากว่าไม่ร่วมมือกับบรรดาพวกขุนนางแล้วกษัตริย์ก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ แต่ต่อมาพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของรัฐสภาเพื่อการอื่น ดังนั้นพระองค์จึงลองใช้รัฐสภาเพื่อการสงคราม การออกกฎหมายและอื่นๆ ในปลายรัชสมัย พวกอัศวินและพวกผู้แทนชาวเมืองก็เริ่มรวมกันเป็นพวกเดียวกันในสภา และในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ พวกอัศวินและชาวเมืองนี้ก็เริ่มประชุมแยกตัวออกจากพวกบารอน เกิดเป็นสภาสามัญ (House of Commons)และสภาขุนนาง (House of Lords) และสมาชิกผู้แทนสภาสามัญและสภาขุนนางอันเป็นที่มาของระบอบรัฐสภาและระบอบการปกครองของอังกฤษปัจจุบัน
ในรัชสมัยพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑อังกฤษได้ทำสงครามปราบปรามราชรัฐเวลส์(Principality of Wales) ซึ่งตกอยู่ในอำนาจปกครองของอังกฤษตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ ๒ ที่แข็งข้อและก่อกบฏขึ้น เจ้าชายเดวิดที่ ๓ (David III) ประมุขของราชรัฐได้ถูกสำเร็จโทษใน ค.ศ. ๑๒๘๓ ในปี ต่อมา พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ ทรงประกาศบทกฎหมายแห่งริดด์ลัน (Statute of Rhuddlan) จัดตั้งเวลส์เป็นราชรัฐแห่งหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ การรวมตัวระหว่างอังกฤษกับเวลส์สมบูรณ์มากขึ้นเมื่อพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเจ้าชายเอดเวิร์ด[ต่อมาทรงครองสิิรราชสมบัติเป็นพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๒ (Edward II ค.ศ. ๑๓๐๗-๑๓๒๗)]พระราชโอรสองค์ที่ ๔ และรัชทายาท (พระเชษฐาต่างสิ้นพระชนม์หมด) ซึ่งประสูติณ เมืองไคร์นาร์วอน (Caernarvon) ในเวลส์เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ (Princeof Wales) นับเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของอังกฤษที่ได้ดำรงพระอิสริยยศนี้และเป็นพระอิสริยยศของมกุฎราชกุมารอังกฤษที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๓๗-๑๔๕๓อังกฤษได้ทำสงครามร้อยปี (One HundredYearsû War) กับฝรั่งเศส เพื่ออ้างสิทธิในพระราชบัลลังก์ฝรั่งเศส และปกป้องดินแดนในภาคพื้นทวีป แต่ได้สูญเสียดินแดนทั้งหมดที่เหลือมาจากรัชสมัยพระเจ้าจอห์นยกเว้นเมืองกาเล (Calais ต่อมาก็ได้สูญเสียเมืองนี้ให้แก่ฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๕๕๘)กอปรกับการเกิดสงครามดอกกุหลาบ (War of the Roses ค.ศ. ๑๔๕๓-๑๔๘๕) ซึ่งเป็นการช่วงชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์แลงคาสเตอร์ (Lancaster) กับราชวงศ์ยอร์ก (York) จึงทำให้อังกฤษประสบกับหายนะทางเศรษฐกิจและสังคม หลังสงครามดอกกุหลาบสิ้นสุดลงพร้อมกับการเสียชีวิตจำนวนมากของพวกขุนนาง เฮนรีทิวดอร์ (Henry Tudor) เชื้อสายราชวงศ์แลงคาสเตอร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ ๗ (Henry VII ค.ศ. ๑๔๘๕-๑๕๐๙) และเป็นต้นราชวงศ์ทิวดอร์ทรงสร้างความปรองดองและสันติระหว่างราชวงศ์แลงคาสเตอร์กับราชวงศ์ยอร์กด้วยการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบทแห่งยอร์ก (Elizabeth of York)พระราชธิดาในพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๔ (Edward IV ค.ศ.๑๔๖๑-๑๔๗๐)พระเจ้าเฮนรีที่ ๗ ทรงนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อังกฤษ รัชสมัยของพระองค์ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการฟื้นตัว มีการปฏิรูประบบสังคม การปกครอง การคลัง การศาล และการค้า ตลอดจนการเสริมสร้างอำนาจทางทะเลและการแต่งตั้งขุนนางใหม่จำนวนมากที่ต่อมากลายเป็นฐานอำนาจให้แก่สถาบันกษัตริย์อังกฤษอีกด้วย ทั้งยังนำอังกฤษก้าวออกจากสมัยกลาง (Middle Ages)อีกด้วย
หลังจากการปฏิรูปศาสนาหรือเรียกว่า “การปฏิรูปศาสนาของเฮนรี”(Henrician Reformation) และการจัดตั้งนิกายอังกฤษ (Church of England)หรือนิกายแองกลิกัน (Anglicanism) ที่เกิดจากพระประสงค์ของพระเจ้าเฮนรีที่ ๘(Henry VIII ค.ศ. ๑๕๐๙-๑๕๔๗) ที่ต้องการจะหย่าขาดจากสมเด็จพระราชินีแคเทอรีนแห่งอาระกอน (Catherine of Aragon) พระมเหสีที่ปราศจากพระราชโอรสเพื่ออภิเษกสมรสใหม่กับแอนน์ โบลีน (Anne Bolyne) แต่ถูกสันตะปาปายับยั้งพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ ทรงตัดขาดจากสำนักสันตะปาปาแห่งกรุงโรมและรัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติอำนาจสูงสุดทางศาสนา (Act of Supremacy) ใน ค.ศ. ๑๕๓๔ สถาปนาพระองค์เป็น “องค์ศาสนูปถัมภก” (Supreme Head) ของนิกายใหม่ที่กษัตริย์ทรงอำนาจทางศาสนาสูงสุดในอังกฤษแทนสันตะปาปา อังกฤษจึงมีบทบาทสำคัญในด้านศาสนาและการเมืองยุโรป ใน ค.ศ. ๑๕๔๓ ได้มีการออกพระราชบัญญัติรวมเวลส์เข้ากับอังกฤษ และยังมีการขยายสิทธิในการเลือกตั้งไปยังเวลส์ โดยชาวเวลส์ได้รับสิทธิเลือกตั้งทัดเทียมกับชาวอังกฤษ ก่อนหน้านี้ใน ค.ศ. ๑๕๔๑ รัฐสภาไอร์แลนด์ ก็ได้ถวายพระอิสริยยศ “กษัตริย์แห่งไอร์แลนด์ ”แก่พระเจ้าเฮนรีที่ ๘อย่างเป็นทางการ โดยขุนนางในไอร์แลนด์ ยอมรับบรรดาศักดิ์ ของอังกฤษ ยกเลิกกองทัพส่วนตัวและอยู่ใต้กฎหมายอังกฤษ
ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ ๑ (Mary I ค.ศ. ๑๕๕๓-๑๕๕๘)พระราชธิดาในพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ กับสมเด็จพระราชินีแคเทอรีนแห่งอาระกอนซึ่งได้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๖ (Edward VI ค.ศ. ๑๕๔๗-๑๕๕๓)พระอนุชาต่างพระราชมารดาที่ประสู ติจากสมเด็จพระราชินีเจน ซีย์มัวร์ (JaneSeymour) พระมเหสีองค์ที่ ๓ อังกฤษได้ฟื้นฟูคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งสมเด็จพระราชินีนาถแมรียังทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ (Philip II ค.ศ. ๑๕๕๖-๑๕๙๘) แห่งสเปน ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้าในนิกายโรมันคาทอลิกและเป็นผู้นำรัฐคาทอลิกในการต่อต้านรัฐโปรเตสแตนต์ บุคคลสำคัญ ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนให้พระเจ้าเฮนรีที่ ๘ หย่าขาดจากสมเด็จพระราชินีแคเทอรีนแห่งอาระกอน และการจัดตั้งนิกายอังกฤษ รวมทั้งผู้ฝักใฝ่ในนิกายอังกฤษและนิกายโปรเตสแตนต์อื่น ๆ จำนวนมากถูกนำไปประหารชีวิตอย่างทารุณ ทั้งอังกฤษยังเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสเปน ในการทำสงครามกับฝรั่งเศส ที่ประเทศไม่มีผลประโยชน์ด้วย จนทำให้สูญเสียเมืองท่ากาเลซึ่งเป็นดินแดนในภาคพื้นทวีปแห่งสุดท้ายที่อังกฤษครอบครองให้แก่ฝรั่งเศส
ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ (Elizabeth I ค.ศ. ๑๕๕๘-๑๖๐๓) พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีแอนน์ โบลีน อังกฤษได้หันไปนับถือนิกายอังกฤษอีกและเป็นประเทศคู่แข่งขันที่สำคัญของสเปน จนในที่สุดหลังจากสมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งสกอต (Mary, Queen of Scots)พระราชปนัดดา (เหลน) ในพระเจ้าเฮนรีที่ ๗ ซึ่งนับถือนิกายโรมันคาทอลิกและมีสิทธิในการสืบบัลลังก์อังกฤษที่สเปน สนับสนุนอยู่เบื้องหลังให้ล้มบัลลังก์ถูกสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียรสเปน กับอังกฤษได้ก่อสงครามกันใน ค.ศ. ๑๕๘๘ กองทัพเรืออาร์มาดา (Armada) ที่เกรียงไกรของสเปน พ่ายแพ้และต้องยุติการบุกอังกฤษ ทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล ขณะเดียวกัน ก็เผชิญกับการก่อกบฏอย่างเนือง ๆ ในไอร์แลนด์ นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๕๖๐ ได้เกิดกบฏขึ้นหลายครั้งที่สำคัญ ได้แก่สงครามเก้าปี (The Nine Yearsû War ค.ศ. ๑๕๙๔-๑๖๐๓) ซึ่งกินระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน แต่ในปลายรัชกาล อุปราชแห่งไอร์แลนด์ ก็สามารถปราบกบฏได้อย่างราบคาบและทำให้อังกฤษสามารถปกครองดินแดนต่างๆ ทั่วทั้งไอร์แลนด์ ได้สำเร็จนอกจากนี้ อังกฤษในสมัยเอลิซาเบท (Elizabethan England) ยังก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะในด้านวรรณคดีและบทละคร นักเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon ค.ศ. ๑๕๖๑-๑๖๒๖) เอดมันด์ สเปน เซอร์ (Edmund Spenser ค.ศ. ๑๕๕๒-๑๕๙๙) และวิลเลียมเชกสเปี ยร์ (William Shakespeare ค.ศ. ๑๕๖๔-๑๖๑๖) ล้วนแต่มีชีวิตอยู่ใน“ยุคทอง”นี้ทั้งสิ้น
การรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอังกฤษและเวลส์กับสกอตแลนด์เริ่มขึ้นใน ค.ศ. ๑๖๐๓ เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ ๖ (James VI ค.ศ. ๑๕๖๗-๑๖๒๕) แห่งสกอตแลนด์ พระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถแมรีแห่งสกอตได้สืบราชสมบัติอังกฤษต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ และเฉลิมพระนามพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ (James I ค.ศ. ๑๖๐๓-๑๖๒๕) แห่งอังกฤษ ในปี ต่อมา ได้มีการนำคำศัพท์“บริเตนใหญ่” มาใช้ในความหมายที่ครอบคลุมดินแดนทั้งหมดของอังกฤษ เวลส์และสกอตแลนด์ อย่างไรก็ดี การรวมตัวของอังกฤษและสกอตแลนด์ในช่วงระยะเวลานี้ก็เป็นเพียงแต่มีพระประมุขร่วมกันเท่านั้น มีลักษณะเป็นรัฐ ๒ รัฐเพราะต่างมีระบบการบริหารประเทศและรัฐสภาที่แยกออกจากกันอย่างอิสระ ในช่วงระยะเวลานี้ สมาชิกสภาสามัญและประชาชนอังกฤษที่นับถือนิกายกัลแวง (Calvin-ism) หรือเรียกว่า “พวกพิวริตัน”(Puritan) ต้องการทำให้นิกายอังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายโปรเตสแตนต์บริสุทธิ์ จากนิกายโรมันคาทอลิกต่างเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปนิกายอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จพวกพิวริตันจำนวนหนึ่งจึงเดินทางไปตั้งหลักแหล่งในโลกใหม่ (New World) หรือทวีปอเมริกาเหนือเพื่อแสวงเสรีภาพทางศาสนานับเป็นบรรพบุรุษเชื้อสายแองโกล-แซกซันรุ่นแรกของชาวอเมริกันที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกและตั้งถิ่นฐานขึ้นในอเมริกา และเป็นผู้วางรากฐานแนวคิดเสรีภาพนิยมขึ้นด้วย
ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ กษัตริย์แห่งราชวงศ์สจวตเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับรัฐสภาในด้านนโยบายการปกครองและศาสนา และการทำสงครามกับสกอตแลนด์เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๖๒๕-๑๖๔๙)พระราชโอรสในพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ทรงพยายามบังคับให้ชาวสกอตซึ่งนับถือนิกายกัลแวงหรือเรียกว่านิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) ในสกอตแลนด์ใช้หนังสือสวดมนต์ฉบับที่ยึดแนวทางปฏิบัติของนิกายแองกลิกันของอังกฤษ ซึ่งมีผลให้ประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองระหว่าง ค.ศ. ๑๖๔๒-๑๖๔๙ และการสำเร็จโทษพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๖๔๙ ตลอดจนการจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ(Republic) และระบอบผู้พิทักษ์ (Protectorate) ขึ้น โดยมีทอมัส ครอมเวลล์(Thomas Cromwell ค.ศ. ๑๖๔๙-๑๖๕๘) เป็นผู้นำและดำรงตำแหน่งผู้พิทักษ์(Lord Protector) ในช่วงที่เขามีอำนาจปกครอง กองทัพอังกฤษได้ทำสงครามปราบปรามกบฏทั้งในสกอตแลนด์และโดยเฉพาะไอร์แลนด์ อย่างทารุณ เนื่องจากประชาชนต่างลุกฮือขึ้นเพื่อแยกตัวเป็นอิสระ แต่ใน ค.ศ. ๑๖๖๐ หลังอสัญกรรมของครอมเวลล์ อังกฤษก็ได้ฟื้นฟูราชวงศ์สจวต (Restoration) ขึ้นปกครองอังกฤษอีกครั้ง โดยอัญเชิญพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ (Charles II ค.ศ. ๑๖๖๐-๑๖๘๕)พระราชโอรสในพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ ให้มาปกครองอังกฤษ
เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในรัชสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ ซึ่งทรงไร้พระราชโอรสและพระราชธิดาในการสืบสันตติวงศ์คือการค้นพบการลอบวางแผนโพพิช (popish plot) ของฝ่ายคาทอลิกเพื่อปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์ที่ ๒ ในค.ศ. ๑๖๗๘ และยกเจ้าชายเจมส์ดุ็กแห่งยอร์ก ((James, Duke of York) ต่อมาคือพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ (James II ค.ศ. ๑๖๘๕-๑๖๘๘))พระราชอนุชาขึ้นเป็นกษัตริย์การค้นพบแผนดังกล่าวก่อให้เกิดการแตกแยกในกลุ่มสมาชิกรัฐสภาขึ้น ฝ่ายหนึ่งคือ“พวกชาวบ้าน” (Country Party) ที่ต้องการจะยกเลิกสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ของเจ้าชายเจมส์ที่เลื่อมใสในนิกายโรมันคาทอลิก จัดตั้งระบอบการปกครองกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งบางกลุ่มที่ต้องการให้ประเทศปกครองในระบอบสาธารณรัฐกับพวก “ราชสำนัก”(Court Party) ที่เคร่งครัดในประเพณีและสนับสนุนสิทธิการสืบราชบัลลังก์ของเจ้าชายเจมส์ การแตกแยกของสมาชิกรัฐสภาออกเป็น ๒ ฝ่ายจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดพรรควิก (Whig) และพรรคทอรี (Tory) ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็ได้พัฒนาเป็นพรรคอนุรักษนิยม (Conservative) และพรรคเสรีนิยม (Liberal) ตามลำดับ
ใน ค.ศ. ๑๖๘๘ ซึ่งเป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ หลังจากสมเด็จพระราชินีแมรีแห่งโมเดนา (Mary of Modena)พระมเหสีองค์ที่ ๒ ประสูติพระราชโอรสซึ่งมีสิทธิในราชบัลลังก์มากกว่าพระราชธิดาอีก ๒ พระองค์ของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ที่ประสูติจากพระมเหสีองค์แรกที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว และพระราชโอรสพระองค์ใหม่ได้เข้าพิธีรับศีลตามพิธีกรรมของนิกายโรมันคาทอลิกชาวอังกฤษจึงร่วมมือกันก่อการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution ค.ศ. ๑๖๘๘)ขึ้นเพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ โดยทูลเชิญวิลเลียมแห่งออร์เรนจ์(William of Orange) และเจ้าหญิงแมรี (Mary) พระชายาซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์โตในพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ให้เสด็จมาครองราชบัลลังก์อังกฤษพระเจ้าเจมส์ที่ ๒เสด็จหนีออกนอกประเทศพร้อมพระมเหสีและพระราชโอรส รัฐสภาประกาศว่าพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์ ดังนั้น วิลเลียมแห่งออร์เรนจ์และเจ้าหญิงแมรีจึงได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์คู่กัน โดยเฉลิมพระนามพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William IIIค.ศ. ๑๖๘๙-๑๗๐๒) และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ ๒ (Mary II ค.ศ. ๑๖๘๙-๑๖๙๔)
ต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๘๙ รัฐสภาได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights) เพื่อจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์และให้กษัตริย์ยอมรับอำนาจสูงสุดของรัฐสภาและกำหนดไม่ให้ผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกหรือมีคู่อภิเษกสมรสที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกมีสิทธิ์ ในการสืบสันตติวงศ์ ขณะเดียวกัน ในช่วงระยะเวลานี้ จอห์น ล็อก (John Locke)นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญของอังกฤษก็ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ Treatises: OfCivil Government (ค.ศ. ๑๖๙๐) แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการปฏิวัติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดนักคิดทางการเมืองหรือนักปรัชญาเมธี (philosphos) ที่มีบทบาทในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ หรือยุคภูมิธรรม(Enlightenment) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๐๒-๑๗๑๓ อังกฤษได้เข้าร่วมในสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession) เพื่อกีดกันไม่ให้ฟิลิป เคานต์แห่งอองชู (Philip, Count of Anjou) หรือในขณะนั้นทรงพระอิสริยยศพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ (Philip V ค.ศ. ๑๗๐๐-๑๗๔๖) แห่งสเปน พระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔(Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) แห่งฝรั่งเศส ครองราชบัลลังก์สเปน ต่อไป และเพื่อไม่ให้เกิดการรวมฝรั่งเศส กับสเปน และอาณานิคมอื่นๆ ให้อยู่ภายใต้ระบบการปกครองของกษัตริย์พระองค์เดียว (universal monarchy) แห่งราชวงศ์บูร์บง(Bourbon) ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่ ใน ค.ศ. ๑๗๐๗ ก็ได้มีการตกลงระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์ในการออกพระราชบัญญัติรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ(Act of Union) เพื่อผนวกสกอตแลนด์กับอังกฤษและเวลส์เข้าด้วยกันเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ รัฐสภาสกอตแลนด์ถูกยุบแต่สกอตแลนด์มีสิทธิในการส่งผู้แทนจำนวน ๔๕ คนไปเป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษได้ ทั้ง ๒ ดินแดนมีพระประมุของค์เดียวกัน มีการยกเลิกระบบการเก็บภาษีอากรที่ซ้ำซ้อนและหันมาใช้ระบบเดียวกันทั้งเกาะบริเตนใหญ่ ส่วนในด้านศาสนา สกอตแลนด์ได้รับสิทธิในการนับถือคริสต์ศาสนานิกายเพรสไบทีเรียนต่อไปได้
ใน ค.ศ. ๑๗๑๔ เมื่อประมุของค์สุดท้ายในราชวงศ์สจวตคือสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ (Anne ค.ศ. ๑๗๐๒-๑๗๑๔) เสด็จสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท การสืบราชสมบัติจึงตกเป็นของจอร์จ หลุยส์ อิเล็กเตอร์แห่งแฮโนเวอร์(George Louis, Elector of Hanover)พระราชปนัดดา (เหลน) ในพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ตามพระราชบัญญัติการสืบราชสันตติวงศ์ (The Act of Settlement) ค.ศ. ๑๗๐๑เฉลิมพระนามพระเจ้าจอร์จที่ ๑ (George I ค.ศ. ๑๗๑๔-๑๗๒๗) นับเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ที่ต่อมาได้รวมอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์ เข้าเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ แต่ราชรัฐแฮโนเวอร์ในดินแดนเยอรมันมิได้เป็นหน่วยปกครองเดียวกับอังกฤษ เพียงแต่มีประมุขร่วมกันเท่านั้น และกษัตริย์อังกฤษก็ได้ปกครองราชรัฐแฮโนเวอร์ติดต่อกันจนถึง ค.ศ. ๑๘๓๗ เมื่อสิ้นพระประมุขที่เป็นชายครองราชย์
อังกฤษในสมัย (ราชวงศ์) แฮโนเวอร์ (The Hanoverian England) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะด้านการเมือง กษัตริย์ ๒ พระองค์แรกคือพระเจ้าจอร์จที่ ๑ และพระเจ้าจอร์จที่ ๒ (George II ค.ศ. ๑๗๒๗-๑๗๖๐) ทรงมีพระทัยผูกพันกับราชรัฐแฮโนเวอร์มากกว่าอังกฤษ อีกทั้งไม่ทรงสันทัดในภาษาอังกฤษและไม่เข้าใจในระบบและกิจกรรมทางการเมืองของอังกฤษมากนัก การบริหารราชการแผ่นดินและการดำเนินงานกับรัฐสภาจึงต้องเป็นหน้าที่ของคณะเสนาบดี ก่อให้เกิดระบบคณะรัฐมนตรี (Cabinet System) และผู้นำของคณะเสนาบดีซึ่งต่อมาเรียกว่านายกรัฐมนตรี ทั้งนี้โดยมีเซอร์รอเบิร์ต วอลโพล (Robert Walpole) ได้รับยกย่องว่าเป็นรัฐมนตรีคนที่ ๑ หรือนายกรัฐมนตรี (prime minister) นอกจากนี้ระบบพรรคการเมือง ๒ พรรคคือพรรคทอรีหรือพรรคอนุรักษนิยมและพรรควิกหรือพรรคเสรีนิยมก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็นกลไกที่สำคัญทางการเมืองของอังกฤษส่วนในด้านเศรษฐกิจ อังกฤษเป็นผู้บุกเบิกในการปฏิวัติอุตสาหกรรม (IndustrialRevolution) และเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ แต่การแข่งขันในด้านการค้าอุตสาหกรรม และการแสวงหาอาณานิคมกับมหาอำนาจอื่น ๆในยุโรปก็นำประเทศเข้าสู่สงครามเจ็ดปี (Seven Yearsû War ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๖๓) ซึ่งทำให้ราชรัฐแฮโนเวอร์ที่เปรียบเสมือนเมืองหน้าด่านของอังกฤษในภาคพื้นทวีปเป็นสมรภูมิด้วย และในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ ๓ (George III ค.ศ. ๑๗๖๐-๑๘๒๐)อังกฤษก็ได้สูญเสียอาณานิคมอเมริกาที่ประกาศอิสรภาพแยกตัวออกจากการปกครองของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๗๖ แต่ขณะเดียวกัน อังกฤษก็เข้าครอบครองออสเตรเลียใน ค.ศ. ๑๗๘๘ เพื่อชดเชยกับการสูญเสียอเมริกาและใช้ออสเตรเลียเป็นแหล่งระบายนักโทษ
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ระหว่างสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (FrenchRevolutionary Wars) ชาวไอริชชาตินิยมได้พยายามจะแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษและแสวงหาความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส ให้ปลดแอกจากการปกครองของอังกฤษ วิลเลียม พิตต์ (บุตร) (William Pitt, the Younger) นายกรัฐมนตรีอังกฤษพยายามแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวโดยใช้เงินและอิทธิพลให้สมาชิกรัฐสภาไอร์แลนด์ ให้ความเห็นชอบกับพระราชบัญญัติรวมไอร์แลนด์ เข้ากับบริเตนใหญ่(Act of Union) ใน ค.ศ. ๑๘๐๐ ซึ่งมีสาระเดียวกันกับพระราชบัญญัติรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ ค.ศ. ๑๗๐๗พระราชบัญญัติรวมไอร์แลนด์ กับบริเตนใหญ่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๑ อันเป็นปี เริ่มต้นของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และทำให้เกิดการจัดตั้งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ชาวไอริชส่วนใหญ่ซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่มีเสรีภาพในทางศาสนาจนเกิดการต่อต้านรัฐบาลอังกฤษอย่างรุนแรง
ระหว่างสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑(Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ใช้ระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)ปิดล้อมเกาะอังกฤษเพื่อทำลายระบบการค้าและเศรษฐกิจแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในทางตรงกันข้าม กองทัพนาวีอังกฤษซึ่งมีพลเรือเอก ไวส์เคานต์ฮอเรชีโอ เนลสัน(Horatio Nelson) เป็นผู้บัญชาการสามารถทำลายกองทัพเรือฝรั่งเศส ในยุทธการที่ทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar ค.ศ. ๑๘๐๕) และได้เป็นมหาอำนาจทางทะเลที่ไม่มีผู้ใดจะท้าทายได้อีกต่อไป ต่อมาอังกฤษยังพิชิตกองทัพฝรั่งเศส ได้ในสงครามคาบสมุทร (Peninsula War ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๑๔) และโค่นอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ลงได้
หลังสงครามนโปเลียนและการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Viennaค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕) อังกฤษได้ปลีกตัวออกจากการเมืองระหว่างประเทศ จะเข้ายุ่งเกี่ยวก็เมื่อผลประโยชน์ของอังกฤษได้รับความกระทบกระเทือนมาก ซึ่งนโยบายนี้ต่อมาเรียกว่านโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว (Splendid Isolation) และทำการปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจ และการเมืองภายในประเทศ มีการออกกฎหมายและพระราชบัญญัติคุ้มครองคนยากจน คนชรา หญิงม่าย และเด็ก ส่วนความสัมพันธ์กับไอร์แลนด์ รัฐสภาอังกฤษยอมออกพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก(Catholic Emancipation Act) ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ เพื่อให้ผู้ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกมีสิทธิทางการเมืองทัดเทียมกับกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนอื่น ๆ อย่างไรก็ดีพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกดังกล่าวไม่สามารถยุติปัญหาศาสนาในไอร์แลนด์ ได้ เพราะผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกยังคงถูกบังคับให้จ่ายเงินค่าบำรุงโบสถ์นิกายอังกฤษในไอร์แลนด์ โดยการเรียกเก็บภาษีสิบชักหนึ่ง(tithe) จากพืชผลที่ทำได้ต่อไป จนในที่สุด ความไม่พอใจก็ได้ลุกลามเป็นการจลาจลที่เรียกว่าสงครามภาษี (Tithe War) นอกจากนี้ชาวไอริชยังได้รวมตัวกันเพื่อให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการรวมไอร์แลนด์ เข้ากับบริเตนใหญ่ ค.ศ. ๑๘๐๐ อีกด้วยมีการจัดตั้งสมาคมชาตินิยมต่าง ๆ รวมทั้งสมาคมริบบอน (Ribbon Society) ที่นิยมวิีธการรุนแรงเพื่อแยกไอร์แลนด์ ให้เป็นอิสระและมีอำนาจอธิปไตยอีกด้วย
ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ การต่อต้านรัฐบาลอังกฤษได้บรรเทาเบาบางลงหลังจากที่รัฐสภาอังกฤษยินยอมผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill) ซึ่งรัฐบาลพรรควิกเป็นผู้เสนอ ที่มีการปรับปรุงเขตเลือกตั้งใหม่และให้สิทธิชนชั้นกลางในอังกฤษในการออกเสียงเลือกตั้ง (ต่อมาได้ขยายสิทธิดังกล่าวนี้ให้แก่ชนชั้นแรงงานในการออกพระราชบัญญัติการปฏิรูป ค.ศ. ๑๘๖๗ และ ค.ศ. ๑๘๘๔) ซึ่งทำให้ระบบการปกครองของประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และยังครอบคลุมถึงพลเมืองไอริชในไอร์แลนด์ ด้วย โดยชนชั้นกลางมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้มากขึ้น ไอร์แลนด์ มีผู้แทนสภาสามัญเพิ่มขึ้นจาก ๑๐๐ คนเป็น ๑๐๕ คน ขณะเดียวกันก็ทำให้บทบาทของขุนนางที่สนับสนุนอังกฤษลดน้อยลงด้วย การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของชนชั้นกลางไอริชที่ส่วนใหญ่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกดังกล่าวนี้เป็นแรงผลักดันให้รัฐสภาต้องออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษีสิบชักหนึ่งเป็นการจ่ายค่าเช่าที่ดินทำการเกษตรแทนใน ค.ศ. ๑๘๓๘ ซึ่งมีผลให้ปัญหาระหว่างชาวไอริชคาทอลิกกับผู้ที่นับถือนิกายแองกลิกันบรรเทาลงไปชั่วขณะหนึ่ง แต่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๔๘ ได้เกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (Great Famine) ขึ้นในไอร์แลนด์ การเพาะปลูกมันฝรั่งที่เป็นอาหารหลักของชาวไอริชถูกโรคพืชทำลายจนสิ้น ประมาณว่าชาวไอริชเสียชีวิตจากทุพภิกขภัยครั้งนี้ถึง ๑ ล้านคนและอีก ๑ ล้านคนอพยพออกนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไปตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐอเมริกา การดำเนินการที่ล่าช้าของรัฐบาลอังกฤษทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไอร์แลนด์ กับอังกฤษตึงเครียดยิ่งขึ้น เกิดกลุ่มชาวไอริชนอกประเทศสนับสนุนให้ไอร์แลนด์ แยกตัวจากสหราชอาณาจักร โดยการส่งเงินมาช่วยเหลือขบวนการชาตินิยมในไอร์แลนด์ และกดดันรัฐบาลอังกฤษจากนอกประเทศ
ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)เศรษฐกิจและการค้าของประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในต้นรัชกาล ได้มีการจัดนิทรรศการสินค้าครั้งใหญ่ (Great Exhibition) ที่กรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๘๕๑เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของประเทศที่เหนือกว่านานาประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น อังกฤษสามารถสกัดกั้นการขยายอำนาจของจักรวรรดิรัสเซีย ในดินแดนยุโรปตะวันออกในสงครามไครเมีย (CrimeanWar ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖) และยังประสบความสำเร็จในด้านนโยบายการต่างประเทศที่มุ่งขยายอาณานิคม อำนาจและอิทธิพลในดินแดนต่าง ๆ ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกาอีกด้วย เช่น การครอบครองเกาะฮ่องกงจากการทำสงครามฝิ่น (Opium Warค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๒) กับจีน การเข้าไปปกครองอินเดียโดยตรงแทนการร่วมมือกับบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ นโยบายสร้างจักรวรรดิอังกฤษเด่นชัดยิ่งขึ้นในรัฐบาลซึ่งมีเบนจามิน ดิสเรลีบ [BenjaminDisraeli ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เอิร์ลที่ ๑ แห่งบีคอนส์ฟีลด์ (1st Earl ofBeaconsfield)] เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเขาสามารถปลุกจิตสำนึกของชาวอังกฤษให้เห็นว่าการมีอาณานิคมในดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นความจำเป็นที่จะนำเกียรติภูมิมาสู่ประเทศ ทั้งจะทำให้อังกฤษมีฐานะมั่นคงทางเศรษฐกิจและเป็นมหาอำนาจในโลกได้ ดิสเรลีสามารถชักจูงให้รัฐสภาออกกฎหมายสถาปนาสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดียใน ค.ศ. ๑๘๗๖ และดำเนินนโยบายสร้างอิทธิพลในอียิปต์และตะวันออกกลางจากการซื้อหุ้นในบริษัทคลองสุเอซ (Suez CanalCompany) ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ การขยายอิทธิพลของอังกฤษไปยังแอฟริกาใต้ทำให้อังกฤษต้องทำสงครามบัวร์ (Boer War ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๒) กับชาวดัตช์ในแอฟริกาใต้ซึ่งมีชื่อเรียกว่าพวกบัวร์ เพื่อครอบครองรัฐทรานสวาล (Transvaal) และเสรีรัฐออเรนจ์ (Orange Free State)
ขณะเดียวกัน ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ การเรียกร้องเพื่อแยกตนเองเป็นอิสระของชาวไอริชจากบริเตนใหญ่ก็คงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีการจัดตั้งสมาคมลับชาตินิยมมากขึ้นอีกหลายสมาคมและมีการลอบสังหารบุคคลสำคัญและนักการเมืองอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๘๘๖วิลเลียมอีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone) นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคเสรีนิยมพยายามแก้ไขปัญหาไอร์แลนด์ (Irish Question) นี้ด้วยสันติิวีธมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติปกครองตนเอง (Home Rule Bill) ฉบับแรกเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา โดยจะให้อำนาจแก่รัฐสภาไอร์แลนด์ ในการเลือกและแต่งตั้งผู้มีอำนาจบริหารเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ แกลดสโตนได้เสนอร่างพระราชบัญญัติปกครองตนเองอีก สภาสามัญให้ความเห็นชอบ แต่ก็ถูกสภาขุนนางยับยั้ง
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐อังกฤษได้ยกเลิกนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว และหันมาปรับความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับฝรั่งเศส และรัสเซีย ซึ่งเคยขัดแย้งกันมาในการแสวงหาอาณานิคม ในรัชสมัยพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VIIค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)อังกฤษประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการกระชับไมตรีกับฝรั่งเศส ในการทำความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส หรือความตกลงฉันมิตร (Anglo-French Entente; Entente Cordiale) ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ และกับรัสเซีย ในความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย (Anglo-Russian Entente) ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งค่ายความตกลงไตรภาคี (Triple Entente) เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับค่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี(Triple Alliance) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเยอรมนี ออสเตรีย -ฮังการี และอิตาลี
ในที่สุด ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สืบเนื่องมาเป็นเวลานานนับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทำให้มหาอำนาจทั้ง ๒ ค่ายที่ดำเนินนโยบายตามลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ (New Imperialism) ต้องเข้าสู้รบกันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) โดยอังกฤษได้ประกาศสงครามกับเยอรมนี เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ หลังจากที่ฝ่ายเยอรมนี เคลื่อนกองทัพเข้าบุกเบลเยียม ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางและเป็นเมืองหน้าด่านไปสู่ทะเลเหนือที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงปลอดภัยของอังกฤษโดยตรง ผลของสงครามแม้ฝ่ายอังกฤษมีชัยชนะแต่ก็ต้องสูญเสียชีวิตทหารและพลเมืองจำนวนนับล้านคน อีกทั้งประสบความหายนะทางเศรษฐกิจและการเสียขวัญของประชาชน
ก่อนเกิดสงคราม เฮอร์เบิร์ต เฮนรีแอสควิท ((Herbert Henry Asquith)ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เอิร์ลที่ ๑ แห่งออกซฟอร์ดและแอสควิท (1stEarl of Oxford And Asquith) ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๙๒๘) นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคเสรีนิยมประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบรัฐสภาของอังกฤษ โดยสามารถผลักดันพระราชบัญญัติรัฐสภา (Parliament Act) เป็นกฎหมายได้ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ทำให้สภาขุนนางหมดอำนาจในการระงับกฎหมายต่าง ๆ ที่สภาสามัญพิจารณาเห็นชอบแล้วเหลือเพียงอำนาจถ่วงเวลาการออกประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปได้ไม่เกิน๒ ปีเท่านั้น ระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษจึงสมบูรณ์มากขึ้นโดยสภาสามัญเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ สภาสามัญยังผ่านร่างพระราชบัญญัติการปกครองตนเองของไอร์แลนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกสภาสามัญไม่ให้ความเห็นชอบในสมัยแกลดสโตนเป็นนายกรัฐมนตรี(ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๙๘)อย่างไรก็ดีร่างพระราชบัญญัติการปกครองของไอร์แลนด์ ฉบับ ค.ศ. ๑๙๑๒ ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาขุนนาง ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติสภา ค.ศ. ๑๙๑๑ร่างพระราชบัญญัติปกครองตนเองของไอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๙๑๒ สามารถประกาศเป็นกฎหมายได้หลังจากเวลาผ่านไป ๒ ปีคือ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ แต่เนื่องจากใน ค.ศ. ๑๙๑๔ อังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกเลื่อนประกาศต่อไปอีก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวไอริชชาตินิยมเป็นอันมาก
ระหว่างสงครามโลก ไอร์แลนด์ ถือโอกาสเคลื่อนไหวก่อการจลาจลเพื่อแยกตัวเป็นอิสระ และได้ประกาศอิสรภาพใน ค.ศ. ๑๙๑๙อังกฤษได้ใช้กองกำลังที่เรียกว่า “Black and Tans”เข้าปราบปราม แต่ท้ายที่สุด ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๑รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George) เป็นผู้นำก็ต้องยินยอมลงนามทำสนธิสัญญาอังกฤษ-ไอร์แลนด์ (Anglo-Irish Treaty) กับอาร์เทอร์ กริฟฟิท(Arthur Griffith) และไมเคิล คอลลินท์ (Michael Collins) ผู้แทนของพรรคชินน์เฟน(Sinn Fein) ให้ไอร์แลนด์ ใต้ ๒๖ มณฑลซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกจัดตั้งเสรีรัฐไอร์แลนด์ ขึ้นพร้อมโดยมีสิทธิปกครองตนเอง แต่มีฐานะเป็นอาณาจักร (dominion) ของอังกฤษ ส่วนไอร์แลนด์ เหนือ ๖ มณฑลซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์ยังคงอยู่ในการปกครองของอังกฤษต่อไปและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. ๑๙๔๙ รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติไอร์แลนด์ (Ireland Bill) กำหนดให้ไอร์แลนด์ เหนือยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ซึ่งต่อมามีชื่อเรียกใหม่ว่า “สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เหนือ” ส่วนเสรีรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นแอราใน ค.ศ. ๑๙๓๗และเป็นรัฐเอกราชที่มีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์และแยกตัวออกจากเครือจักรภพในค.ศ. ๑๙๔๙ เรียกว่า “ไอร์แลนด์ ”
ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕) แม้ว่าอังกฤษจะเป็นประเทศผู้นำในการต่อต้านลัทธินาซี (Nazism) ของเยอรมนี แต่ก็พยายามประนีประนอมกับเยอรมนี มาโดยตลอด ในสมัยรัฐบาลอนุรักษนิยมซึ่งมีอาเทอร์ เนวิลล์เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain) เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy) เพื่อรักษาสันติภาพกับเยอรมนี และอิตาลี แต่ล้มเหลวจนต้องประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี เมื่อกองทัพเยอรมนี บุกโปแลนด์ ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒อังกฤษได้ถูกฝ่ายเยอรมนี โจมตีอย่างรุนแรง กรุงลอนดอนและเมืองอุตสาหกรรมอื่นๆถูกระเบิดได้รับความเสียหายอย่างหนักในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle ofBritain ค.ศ. ๑๙๔๐) แต่อังกฤษซึ่งมีเซอร์ิวนสตัน เลนเนิร์ด สเปน เซอร์ เชอร์ชิลล์(Sir Winston Leonard Spencer Churchill) เป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการรบก็สามารถนำประเทศฟันฝ่าวิกฤตการณ์ได้ ทั้งพระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VIค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๕๒) และพระราชวงศ์ก็มิได้ทรงละทิ้งประเทศ ทรงแสดงพระทัยห่วงใยประชาชนและเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างใกล้ชิดในเขตหายนะต่าง ๆทั้งในกรุงลอนดอนและเขตปริมณฑล ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนเป็นอันมาก เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแม้อังกฤษจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ก็ต้องสูญเสียสถานภาพของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่ง อีกทั้งไม่สามารถจะรักษาความเป็นจักรวรรดิได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้สูญเสียประเทศอาณานิคมทั้งในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกาเกือบทั้งหมด ทำให้อังกฤษขาดทรัพยากรธรรมชาติและตลาดสินค้าที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของชาติให้เจริญรุดหน้า อย่างไรก็ดี อังกฤษก็ยังคงรักษาบทบาทผู้นำของกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมหรือเป็นดินแดนที่อยู่ในปกครองของอังกฤษได้ โดยประเทศหรือดินแดนเหล่านี้ได้รวมกันเป็นกลุ่มเครือจักรภพ มีกษัตริย์อังกฤษ [ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒(Elizabeth II ค.ศ. ๑๙๕๒)] ทรงเป็นสัญลักษณ์ในฐานะองค์ประมุข
นอกจากนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒พรรคแรงงาน (Labour Party) โดยการนำของเคลเมนต์ ริชาร์ด แอตต์ลี (Clement Richard Attlee) ซึ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ได้ดำเนินนโยบายประกันสังคมและสร้างอังกฤษให้เป็นรัฐสวัสดิการ (welfare state) แม้ชาวอังกฤษเป็นจำนวนมากจะเกรงว่าพรรคแรงงานจะนำการปกครองแบบสังคมนิยมมาใช้ในอังกฤษอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พระเจ้าจอร์จที่ ๖ ก็ทรงให้การสนับสนุนด้วยดีและทำให้การสร้างอังกฤษเป็นรัฐสวัสดิการมาประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา
นับแต่ทศวรรษ ๑๙๕๐ เป็นต้นมาพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงานได้ผลัดเปลี่ยนกันจัดตั้งรัฐบาลมาโดยตลอด ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปลายทศวรรษ๑๙๖๐ ทำให้พรรคอนุรักษนิยมได้กลับเข้าบริหารประเทศอีกใน ค.ศ. ๑๙๗๐ และนายกรัฐมนตรีเอดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath) ก็สามารถผลักดันให้อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรป (European Community-EC) สำเร็จ หลังจากถูกฝรั่งเศส กีดกันมาเป็นเวลานานซึ่งมีผลให้เศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องขึ้น ต่อมาในค.ศ. ๑๙๗๙ พรรคอนุรักษนิยมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอีก ทำให้หัวหน้าพรรคคือมาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ และยังเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทวีปยุโรปอีกด้วยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๙-๑๙๙๗ พรรคอนุรักษนิยมได้สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองให้แก่อังกฤษนับตั้งแต่สมัยสงครามนโปเลียน โดยสามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกัน ๔ สมัยและครองอำนาจทางการเมืองเป็นเวลา ๑๘ ปี มีแทตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๙-๑๙๙๐ และจอห์น เมเจอร์ (JohnMajor) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๐-๑๙๙๗
หลังเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทตเชอร์ได้พยายามแก้ไขภาวะเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่อังกฤษเผชิญอยู่ในขณะนั้น โดยระงับโครงการต่าง ๆรวมทั้งลดการกู้เงินจากต่างประเทศ นโยบายดังกล่าวทำให้ภาวะเงินเฟ้อร้อยละ ๑๘ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๓ ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ อย่างไรก็ดี ภาวะคนว่างงานก็ยังคงอยู่ในระดับสูงคือ ร้อยละ ๑๔ ตลอดทศวรรษ ๑๙๘๐
ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๒ อังกฤษได้ทำสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falkland Islands War) กับอาร์เจนตินาเพื่อชิงอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะนี้หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าหมู่เกาะมาลบีนาส (Malvinas) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากอาร์เจนตินาไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๔๘๐ กิโลเมตร ผลของการปฏิบัติการทำให้อังกฤษสามารถยึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ได้ใน ๓ สัปดาห์ สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้แก่รัฐบาลแทตเชอร์จนพรรคอนุรักษนิยมได้รับการเลือกตั้งอีกเป็นครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๘๓ หลังจากนั้น รัฐบาลอนุรักษนิยมซึ่งมีแทตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นวาระที่ ๒ ก็เริ่มใช้นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนถือครอง โดยขายทรัพย์สินต่าง ๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของตั้งแต่บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือบริษัทบริตออยล์ (Britoil) และบริติชก๊าซ (BritishGas) จนถึงอาคารชุดขนาดเล็ก ทำรายได้ให้แก่รัฐบาลเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๖ รัฐสภาก็เริ่มนโยบายลดภาษีต่าง ๆ ซึ่งทำให้ภาษีรายได้บุคคลที่มีผู้เคยเสียสูงถึงร้อยละ ๙๘ ลดลงเหลือร้อยละ ๔๐เท่านั้น ส่วนในด้านการต่างประเทศอังกฤษได้ตกลงกับจีนที่จะคืนเกาะฮ่องกงและอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะฮ่องกงให้แก่ีจนใน ค.ศ. ๑๙๙๗ หลังจากที่อังกฤษได้เช่าและปกครองเป็นเวลา ๙๙ ปี
ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นวาระที่ ๓ แม้แทตเชอร์จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของอังกฤษจนมีผู้เรียกขานว่า“การปฏิวัติแทตเชอร์” (Thatcher Revolution) แต่บางภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในเขตเมืองอุตสาหกรรมเก่าทางตอนเหนือกลับไม่ได้รับผลพวงของเศรษฐกิจเฟืòองฟูนี้ นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลกระทบจากสงครามอ่าวเปอร์เซียก็ทำให้ความนิยมในตัวแทตเชอร์ลดน้อยลง กอปรกับการดำเนินนโยบายแข็งกร้าวของรัฐบาลกับประชาคมยุโรป แทตเชอร์จึงถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๐ และเปิดโอกาสให้จอห์น เมเจอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมและนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษ ในการเลือกตั้งทั่วไปในค.ศ. ๑๙๙๒ เมเจอร์สามารถนำพรรคอนุรักษนิยมชนะพรรคแรงงาน ๒๑ ที่นั่งทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี อีก ๑๓ เดือนต่อมาผลของการสำรวจความนิยมในตัวเมเจอร์ก็ลดลงถึงร้อยละ ๒๑ นอกจากนี้สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมยังเกิดความคิดไม่ลงรอยกันอีกในข้อกำหนดบางประการของสนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht) ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ เพื่อก่อตั้งสหภาพยุโรป (European Union - EU) ยิ่งไปกว่านั้นใน ค.ศ. ๑๙๙๔ พรรคอนุรักษนิยมยังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการรับสินบนในการขายอาวุธแก่อิรักและมาเลเซียรวมทั้งการดำเนินนโยบายผิดพลาดของเมเจอร์เมื่อเกิดข่าวเรื่องโรควัวบ้าจากการบริโภคเนื้อวัวอังกฤษจนทำให้สหภาพยุโรประงับการนำเข้าเนื้อวัวอังกฤษ อันเป็นผลเสียอย่างมหันต์ต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวของประเทศ
ดังนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ พรรคอนุรักษนิยมจึงพ่ายแพ้แก่พรรคแรงงานอย่างยับเยินในรอบ ๙๑ ปีด้วยคะแนนเสียง๑๖๕ : ๔๑๗ พรรคอนุรักษนิยมสูญเสียสมาชิกสภาสามัญไป ๑๗๑ ที่นั่งและไม่มีอดีตสมาชิกสภาสามัญที่สังกัดพรรคอนุรักษนิยมคนใดได้รับเลือกตั้งอีกทั้งในสกอตแลนด์และเวลส์ แอนโทนีชาลส์ ลินตัน แบลร์ (Anthony Charles LyntonBlair) หัวหน้าพรรคแรงงานวัย ๔๓ ปีได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นการสิ้นสุดบทบาทของพรรคอนุรักษนิยมที่ได้อำนาจปกครองติดต่อกันเป็นเวลา ๑๘ปี และเป็นการเปิดยุคใหม่ทางการเมืองของอังกฤษที่พรรคแรงงานสามารถหวนกลับมา บริหารประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง
ชัยชนะส่วนหนึ่งของแบลร์คือการประกาศนโยบายการเพิ่มพูนบทบาทผู้นำของอังกฤษในสหภาพยุโรป หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาได้ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเยอรมนี และฝรั่งเศส เพื่อแสดงท่าทีของรัฐบาลอังกฤษอย่างชัดเจนที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรป และให้ความร่วมมืออย่างดีกับจีนในการส่งมอบเกาะฮ่องกงในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๗
ส่วนภายในสหราชอาณาจักรนั้น แบลร์ก็จัดให้มีการลงประชามติในสกอตแลนด์และเวลส์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๙๗ เพื่อให้ชาวสกอตและชาวเวลส์ตัดสินใจมีรัฐสภา (Parliament) และสภา (Assembly) ของตนเองตามลำดับ ในปีต่อมา รัฐบาลอังกฤษได้ทำข้อตกลงกู๊ดฟรายเดย์ (Good Friday Agreement) กับไอร์แลนด์ เหนือในความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาและความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ เหนือซึ่งชาวไอริชชาตินิยมพยายามจะแยกไอร์แลนด์ เหนือออกจากสหราชอาณาจักร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในพระราชพิธีเปิดรัฐสภาเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ ทรงอ่านข้อกราบบังคมทูลเสนอของรัฐบาลแบลร์ให้ยกเลิกสิทธิบรรดาขุนนางสืบยศในการออกเสียงในสภาขุนนาง และแต่งตั้งขุนนางใหม่ที่ไม่มีการสืบยศ (life peer) จากสมาชิกพรรคแรงงานจำนวน ๕๐ คนเพื่อเข้าไปนั่งในสภาขุนนาง นอกจากนี้ ยังให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ๑ ชุด เพื่อหาลู่ทางและวิีธการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและกลไกรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่แทนสภาขุนนางอีกด้วย นับเป็นแนวคิดปฏิวัติระบบรัฐสภาของอังกฤษ ต่อมา ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น สกอตแลนด์และเวลส์ก็จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาสกอตแลนด์และสภาเวลส์ขึ้นเป็นครั้งแรก พรรคแรงงานประสบชัยชนะทั้งในสกอตแลนด์และเวลส์ โดยสามารถร่วมมือกับพรรคเสรีนิยมจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมในสกอตแลนด์และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีของเวลส์
นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ อังกฤษยังประสบกับปัญหาการพยายามแยกตัวของออสเตรเลียที่เป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษและเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระราชินีนาถแห่งออสเตรเลียด้วย แต่ผลของประชามติในการแยกตัวจากอังกฤษและการจัดตั้งระบอบปกครองแบบสาธารณรัฐเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนค.ศ. ๑๙๙๙ ล้มเหลว ส่วนในแคนาดาในเวลาไม่กี่ปีต่อมาก็มีการลงประชามติทำนองเดียวกันนี้ แม้ผลจะออกมาว่าชาวแคนาดามากกว่าครึ่งยังคงต้องการให้พระองค์เป็นพระประมุขหรือสมเด็จพระราชินีนาถแห่งแคนาดาต่อไป แต่ก็แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงปัญหาของอังกฤษที่ต้องเผชิญต่อไปในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ในการรักษาสถานภาพและการรวมตัวของสมาชิกของเครือจักรภพ ตลอดจนสมาชิกของสหราชอาณาจักรที่อาจแยกตัวต่อไป โดยเฉพาะไอร์แลนด์ เหนือที่กองกำลังแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republic Army - IRA) ซึ่งเป็นหน่วยรบของพรรคชินน์เฟน พยายามที่จะใช้ความรุนแรงโดยการลอบสังหารบุคคลสำคัญและการวางระเบิดสถานที่ราชการและอื่น ๆ เพื่อผลักดันให้อังกฤษยินยอมให้ไอร์แลนด์ เหนือรวมตัวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑อังกฤษอาจต้องเสียบทบาทประเทศผู้นำอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการแยกตัวของกลุ่มประเทศอาณานิคมและการสูญเสียจักรวรรดิภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
เมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๑ โดยขบวนการอัลกออิดะห์(Al Qaida) ซึ่งเป็นองค์กรก่อการร้ายที่มีเครือข่ายทั่วโลกที่มีอุซามะห์ บิน ลาดิน(Usama bin Laden) เป็นผู้นำและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจี้เครื่องบินโดยสารสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ (American Airline) สองลำพุ่งชนอาคารแฝดเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center) บนเกาะแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาและทำให้ประธานาธิบดีจอร์จดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ประกาศนโยบายต่อต้านขบวนการก่อการร้ายและการทำสงครามในอัฟกานิสถานเพื่อติดตามจับอุซามะห์ บิน ลาดินอังกฤษได้ประกาศสนับสนุนนโยบายของสหรัฐอเมริกาและเข้าร่วมทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายด้วย ทั้งใน ค.ศ. ๒๐๐๓ นายกรัฐมนตรีแบลร์ยังนำอังกฤษเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรอื่นๆ ในการทำสงคราม“ปฏิบัติการปลดปล่อยอิรักให้เป็นอิสระ”(Operation Iraqi Freedom) และการค้นหาจับกุมประธานาธิบดีซัดดาม ฮุสเซน (Suddum Hussein) ที่ปกครองอิรักด้วยระบบเผด็จการและสนับสนุนการก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อชาติตะวันตก โดยอังกฤษอ้างว่าการครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของอิรักยังเป็นภัยต่อความมั่นคงและคุกคามสันติภาพของโลก ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป แม้อังกฤษจะสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรป (Single European Market)แต่ก็คงใช้สกุลเงินเดิมโดยไม่ยอมใช้เงินยูโร (Euro) อย่างไรก็ดี อังกฤษก็ให้การสนับสนุนการขยายตัวรับสมาชิกใหม่ โดยเฉพาะการขยายตัวเพื่อรับสมาชิกใหม่จำนวน๑๐ ประเทศใน ค.ศ. ๒๐๐๔ เพิ่มจากจำนวน ๑๕ ประเทศที่มีก่อนหน้านี้เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษและสหภาพยุโรปโดยรวม ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเงินรัฐบาลของแบลร์ให้ความสำคัญกับการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญแห่งยุโรป (Constitution for Europe) ทั้งยังประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้โรมาเนีย และบัลแกเรีย เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปในค.ศ. ๒๐๐๗ด้วย
ปัจจุบันรัฐสภาแห่งเวสต์มินสเตอร์ (Parliament at Westminster) ณกรุงลอนดอนทำหน้าที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เหนือ สภาสามัญมีสมาชิก ๖๕๑ คนประกอบด้วยผู้แทนจากอังกฤษ ๕๒๔ คน เวลส์ ๓๘ คน สกอตแลนด์ ๗๒ คนและไอร์แลนด์ เหนือ ๑๗ คน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีณ กรุงลอนดอนทำหน้าที่เป็นคณะผู้บริหารสูงสุด สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ ทรงเป็นพระประมุขและดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เหนือ ส่วนเจ้าชายฟิลิปพระราชสวามี(Philip, the Prince Consort) ทรงได้รับสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เหนือ(Prince of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland).