Finland, Republic of

สาธารณรัฐฟินแลนด์




     สาธารณรัฐฟินแลนด์เป็นประเทศที่เชื่อมต่อระหว่างกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย(Scandinavia) กับรัสเซีย ในอดีตเป็นดินแดนที่สวีเดน และรัสเซีย ต่างช่วงชิงเพื่อยึดครองระหว่างสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) ซาร์แห่งรัสเซีย ได้อำนาจปกครองฟินแลนด์ต่อจากสวีเดน เป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปีในฐานะเป็นแกรนด์ดุ็ก (grand duke)ระหว่างการปฏิวัติรัสเซีย ฟินแลนด์ได้ถือโอกาสแยกตัวจากอำนาจปกครองของซาร์และรัสเซีย แต่ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์และสงครามกลางเมืองต่อไปอีกเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่รัสเซีย จะยอมรับพรมแดนของฟินแลนด์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฟินแลนด์ได้ถูกกดดันให้เข้ากับฝ่ายเยอรมนี ทำสงครามกับรัสเซีย แต่พ่ายแพ้และต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนให้แก่รัสเซีย ปัจจุบันรัฐบาลยึดถือนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม
     ฟินแลนด์มีชื่อเรียกในภาษาฟินน์ว่า สวอมี (Suomi) มีหลักฐานว่าได้มีผู้คนอาศัยมาแล้วมากกว่า ๘,๐๐๐ ปี แต่บรรพบุรุษของชาวฟินน์ในปัจจุบันได้อพยพมาตั้งรกรากในดินแดนฟินแลนด์เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ปี โดยเดินทางจากลุ่มแม่น้ำวอลกา(Volga) และเทือกเขายูราล (Ural) ในดินแดนรัสเซีย เข้ามาสู่ภาคตะวันออก ต่อมาได้ตั้งรกรากที่บริเวณคาเรเลีย (Karelia) เมื่อประมาณ ค.ศ. ๘๐๐ ขณะเดียวกันชนเชื้อสายบอลโต-ฟินนีหรือฟินโน-อูกาเรียน (Balto Finnie/Finno-Ugarian) เข้ามาสมทบในบริเวณเดียวกันนี้ด้วย มีผลให้พวกแลปป์(Lapp) ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ต้องละทิ้งถิ่นฐานและอพยพหนีขึ้นไปทางเหนือและตั้งรกรากใหม่ในบริเวณแลปแลนด์(Lapland)
     ในระยะแรกของประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ ชาวฟินน์มีการแบ่งแยกเป็นเผ่าต่าง ๆ นอกจากพวกคาเรเลีย (Karelian) ในเขตคาเรเลียแล้วยังมีกลุ่มอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ พวกสวอมาไลเซต (Suomalaiset) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อประเทศว่าสวอมีตามภาษาฟินน์ และพวกทาวัสเตีย (Tavastian) แต่ละเผ่าหรือกลุ่มต่างมีหัวหน้าของตนเองและมักจะสู้รบกันเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่อยู่เนือง ๆ ทำให้ชาวฟินน์ไม่สามารถรวมตัวกันหรือจัดตั้งเป็นรัฐที่เข้มแข็งเช่นดินแดนอื่น ๆ ในระยะเวลาเดียวกัน
     ในสมัยกลางเมื่อคริสตจักรเรืองอำนาจและมีบทบาทสำคัญในดินแดนต่าง ๆในทวีปยุโรป คณะนักบวชนิกายโรมันคาทอลิกได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในฟินแลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ต่อมาสันตะปาปาเอเดรียนที่ ๔ (Adrian IV)ทรงสนับสนุนให้พระเจ้าเอริกที่ ๙ (Eric IX ค.ศ. ๑๑๕๐-๑๑๖๐) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสวีเดน ยกกองทัพไปปราบปรามชาวฟินน์ใน ค.ศ. ๑๑๕๐ และบีบบังคับให้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาและเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการปกครอง แต่สวีเดน ก็ได้รับชัยชนะเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาชาวฟินน์ก็สามารถหลุดพ้นจากการปกครองของสวีเดน อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๑๕๔ ได้มีการจัดตั้งการปกครองแบบสังฆมณฑลขึ้นในดินแดนฟินแลนด์ โดยมีเฮนรี บิชอปแห่งอุปป์ซาลา (Bishop of Uppsala) ในสวีเดน เป็นบิชอปองค์แรกของฟินแลนด์
     ในกึ่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ สวีเดน ได้เข้ารุกรานฟินแลนด์และทำสงครามศาสนากับชาวฟินน์ีอกครั้ง เอิร์ลบิร์เยอร์ (Earl Birger) สามารถยึดดินแดนทาวัสเตีย (Tavastia) ของพวกทาวัสเตียได้สำเร็จในราว ค.ศ. ๑๒๓๘ (หรือ ๑๒๔๙?)และสร้างป้อมเพื่อสกัดกั้นการแผ่อำนาจของรัสเซีย ที่พยายามขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนฟินแลนด์ ใน ค.ศ. ๑๒๙๒ เจ้านครนอฟโกรอด (Novgorod) ในดินแดนรัสเซีย ได้ส่งกองทัพเข้ารุกรานทาวัสเตียที่อยู่ในอำนาจของสวีเดน สวีเดน ตอบโต้โดยถือโอกาสส่งทหารไปบุกคาเรเลียซึ่งนครนอฟโกรอดเข้าไปมีอิทธิพลและเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ สวีเดน กับนอฟโกรอดได้ทำสงครามยืดเยื้อกันเป็นเวลาหลายปี เพื่อช่วงชิงทาวัสเตีย สงครามสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๓๒๓ เมื่อคู่สงครามยินยอมทำสนธิสัญญาสันติภาพเนิทบอร์ก (Peace of Noteborg) โดยแบ่งดินแดนทาวัสเตียออกเป็น ๒ ส่วนและต่างเข้าไปปกครอง
     ดังนั้น นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมา ฟินแลนด์ได้ตกอยู่ใต้ปกครองของสวีเดน และค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสวีเดน จนถึงค.ศ. ๑๘๐๘ ในช่วงระยะเวลาเกือบ ๕๐๐ปีนี้ ชาวสวีเดน จำนวนมากได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในฟินแลนด์ และมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดวัฒนธรรมสวีเดน ให้แก่ชาวฟินน์รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นรากเหง้าของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียในฟินแลนด์ ใน ค.ศ. ๑๓๖๒ ชาวฟินน์ได้รับสิทธิในการเลือกตั้งกษัตริย์สวีเดน เช่นเดียวกับชาวสวีเดน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งรัฐสภาสวีเดน -ฟินแลนด์ (Swedish-Finnish Parliament) และสหภาพคาลมาร์ (Kalmar Union)ในเวลาต่อมา อีกทั้งฟินแลนด์ก็มีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งของสวีเดน ที่มีสิทธิทัดเทียมมณฑลอื่น ๆด้วย
     ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ดินแดนทั้งหมดของฟินแลนด์มีฐานะเป็น
     fief ที่มีขุนนางสวีเดน เป็นเจ้าของและผู้ปกครอง ชาวฟินน์ถูกบังคับให้จ่ายภาษีในอัตราที่สูง แต่ขณะเดียวกันการปกครองของสวีเดน ก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ชาวฟินน์เผ่าต่าง ๆ รวมตัวกันได้และประสบความสำเร็จในการสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมกัน โดยมีบิชอปแห่งตูร์กู (Bishop of Turku) หลายรุ่น ซึ่งเป็นผู้นำของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในฟินแลนด์ให้การสนับสนุนและส่งเสริม บิชอปแห่งตูร์กูส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีพื้นการศึกษาดีจากประเทศผู้นำทางด้านศิลปวัฒนธรรมของยุโรป โดยหลายคนได้จบการศึกษาจากซอร์บอน มหาวิทยาลัยปารีส และบางคนเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดี บิชอปแห่งตูร์กู ที่สำคัญคือมีกาเอล อากริคอลา(Michael Agricola ค.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๕๗) ซึ่งเป็นผู้คิดสร้างภาษาในการประพันธ์(literary language) ให้แก่ฟินแลนด์ที่ทำให้ชาวฟินน์สามารถสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมทางวรรณกรรมของตนเองได้ในเวลาต่อมา
     ในสมัยการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ สวีเดน ซึ่งมีพระเจ้ากุสตาฟที่ ๑ วาซา (Gustav I Vasa ค.ศ. ๑๕๒๓-๑๕๖๐) เป็นประมุขได้แยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกและหันมานับถือนิกายลูเทอรัน (Lutheranism)ที่ดินจำนวนมากและสมบัติของคริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ถูกยึดและตกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระเจ้ากุสตาฟที่ ๑ วาซาทรงส่งเสริมให้ชาวฟินน์ขยับขยายที่ทำกินไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งต่อมาก่อให้เกิดข้อพิพาทและสงครามกับรัสเซีย อย่างต่อเนื่อง
     ใน ค.ศ. ๑๕๘๑ พระเจ้าจอห์นที่ ๓ (John III ค.ศ. ๑๕๖๘-๑๕๙๒) ทรงยกฐานะฟินแลนด์ให้เป็นราชรัฐชั้นแกรนด์ดัชชี(grand duchy) ต่อมาพระเจ้ากุสตาวัสอดอล์ฟ (Gustavas Adolph ค.ศ. ๑๖๑๑-๑๗๒๕) พระราชทานสิทธิการปกครองตนเองระดับท้องถิ่น (local autonomy) ให้แก่ฟินแลนด์ และโปรดให้จัดตั้งรัฐสภา(Riksdag) ขึ้นที่เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ใน ค.ศ. ๑๖๑๖ ในรัชสมัยนี้สวีเดน ก็ได้เข้าสู่สงครามกับรัสเซีย อีกครั้ง สงครามยุติลงใน ค.ศ. ๑๖๑๗ ด้วยสนธิสัญญาสันติภาพสตอลโบวา (Peace of Stolbova) โดยรัสเซีย ยินยอมให้สวีเดน ขยายพรมแดนด้านตะวันออกจนถึงทะเลสาบลาโดกา (Ladoga) และมณฑลอิงเกรีย(Ingria) ที่มีคริสต์ศาสนิกชนกรีกออร์ทอดอกซ์อาศัยอยู่ หลังจากประสบความสำเร็จในการขยายพรมแดนในด้านทิศตะวันออกดังกล่าวแล้ว พระเจ้ากุสตาวัส อดอล์ฟทรงเข้าร่วมในสงครามสามสิบปี (Thirty Years, War ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘) ในดินแดนเยอรมัน ซึ่งสร้างความหายนะในด้านเศรษฐกิจและกำลังพลให้แก่สวีเดน รวมทั้งฟินแลนด์ซึ่งส่งทหารเกณฑ์เข้าร่วมรบเป็นจำนวนมากด้วย
     ในรัชสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ ๑๒ (Charles XII ค.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๒๑) สวีเดน สูญเสียบทบาทในฐานะมหาอำนาจของยุโรป ระหว่างสงครามเหนือครั้งใหญ่ (GreatNorthern War) รัสเซีย ซึ่งมีซาร์ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๕)เป็นประมุข สามารถยึดครองฟินแลนด์และปกครองอย่างเข้มงวดเป็นเวลา ๘ ปี(ค.ศ. ๑๗๑๓-๑๗๒๑) สร้างความหายนะและความขมขื่นให้แก่ชาวฟินน์เป็นอันมากชาวฟินน์ได้จดจำเหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวและขนานนามในเวลาต่อมาว่า “ความแค้นเคืองครั้งใหญ่” (Great Wrath) เมื่อสงครามเหนือครั้งใหญ่ยุติลงสวีเดน ต้องสูญเสียดินแดนในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฟินแลนด์และดินแดนแถบทะเลบอลติกให้แก่รัสเซีย ตามสนธิสัญญานูสตัด (Treaty of Nystad ค.ศ. ๑๗๒๑)เพื่อแลกเอาดินแดนฟินแลนด์ทั้งหมดที่เหลือกลับคืน
     ในสงครามสวีเดน -รัสเซีย ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๓ ซารีนาเอลิซาเบท (Elizabethค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๖๒) ทรงพยายามโน้มน้าวให้ชาวฟินน์เข้ากับฝ่ายรัสเซีย โดยทรงให้สัญญาว่าจะจัดตั้งฟินแลนด์เป็นรัฐอิสระในความคุ้มครองของรัสเซีย แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง นอกจากรัสเซีย จะไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้วยังผนวกดินแดนบางส่วนของฟินแลนด์เข้าไว้ด้วย
     การพ่ายแพ้ในสงครามของสวีเดน ดังกล่าว โดยเฉพาะเหตุการณ์ “ความแค้นเคืองครั้งใหญ” ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๑๓-๑๗๒๑ ทำให้ชาวฟินน์ตระหนักว่าการอยู่ร่วมกับสวีเดน ต่อไปย่อมไม่เป็นผลดีและอาจนำอันตรายมาสู่ฟินแลนด์ได้ ทั้งยังก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยอีกต่อไปด้วย นอกจากนี้ ชาวฟินน์จำนวนมากยังเกิดความรู้สึกร่วมกันถึงอัตลักษณ์และความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมฟินน์กับสวีเดน ส่วนหนึ่งมาจากข้อคิดและงานเขียนของเฮนริก กาเบรียลพอร์ทัน (HenrikGabriel Porthan ค.ศ. ๑๗๓๙-๑๘๐๔) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยตูร์กูที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดชาตินิยมที่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นในขณะนั้นดังนั้น เมื่อสวีเดน กับรัสเซีย ก่อสงครามระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๘-๑๗๙๐ ได้มีนายทหารฟินน์บางคนพยายามแสวงหาความร่วมมือจากรัสเซีย เพื่อปลดปล่อยให้ฟินแลนด์เป็นอิสระจากการปกครองของสวีเดน
     ความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างฟินแลนด์กับสวีเดน ที่ดำเนินมาเกือบ ๖ศตวรรษได้สิ้นสุดลงในสงครามนโปเลียน กล่าวคือในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๐๕จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔) ทรงกดดันให้ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)ยกกองกำลังรัสเซีย บุกและเข้ายึดครองฟินแลนด์ ทั้งนี้ เพื่อจะบีบบังคับให้สวีเดน ยกเลิกนโยบายสนับสนุนอังกฤษและปฏิบัติตามระบบภาคพื้นทวีป (Continental System) ที่มุ่งหวังทำลายเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างเคร่งครัด ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๙ ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงเรียกประชุมสภาไดเอต (Diet) ของฟินแลนด์ที่เมืองพอร์วอ (Porvoo) และทรงให้คำมั่นสัญญาที่จะให้ฟินแลนด์ได้รับอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง โดยรัสเซีย จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือสถาบันต่าง ๆ ของฟินแลนด์ต่อมา ในวันที่ ๑๗ กันยายน ค.ศ. ๑๘๐๙ สวีเดน ได้ยินยอมทำสนธิสัญญาฮามีนา(Treaty of Hamina) เพื่อสงบศึกกับรัสเซีย โดยสวีเดน ยอมยกฟินแลนด์และหมู่เกาะโอลันด์ (Aland) ให้แก่รัสเซีย ดังนั้น ฟินแลนด์จึงมีฐานะเป็นแกรนด์ดัชชีของÌจักรวรรดิรัสเซีย อย่างเป็นทางการ และซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงเป็นแกรนด์ดุ็กของฟินแลนด์แทนกษัตริย์สวีเดน แต่ขณะเดียวกันฟินแลนด์ก็มีอำนาจในการปกครองตนเองและมิได้ถูกผนวกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย ใน ค.ศ.๑๘๑๑ รัสเซีย ได้ยินยอมคืนดินแดนแถบคาเรเลียซึ่งยึดครองได้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ให้แก่ฟินแลนด์ และใน ค.ศ. ๑๘๑๒ ได้มีการตั้งเมืองเฮลซิงกิเป็นนครหลวงของฟินแลนด์แทนกรุงตูร์กู
     ในการปกครองฟินแลนด์ ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่เป็นผู้แทนพระองค์ที่มีอำนาจบริหารสูงสุด บุคคลแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ได้แก่ยูรัน มังนูส สเปรงต์พอร์เทน (Goran Magnus Sprengtporten ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๘๑๙) อดีตนายทหารฟินน์ที่เอาใจออกห่างจากสวีเดน และเข้ากับฝ่ายรัสเซีย เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้ฟินแลนด์ในปลายทศวรรษ ๑๗๘๐
     อย่างไรก็ดี แม้ฟินแลนด์จะเป็นอิสระจากสวีเดน แต่ความผูกพันทางด้านวัฒนธรรมยังคงมีต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภาษา เพราะภาษาสวีเดน ยังคงเป็นภาษาราชการ และเป็นภาษาที่ใช้ในวงการกฎหมายและการศึกษาของชาวฟินน์แต่ในช่วงทศวรรษ ๑๘๒๐ เมื่อกระแสของลัทธิชาตินิยมได้หลั่งไหลเข้าไปในฟินแลนด์ ชาวฟินน์จำนวนมากจึงเริ่มเรียกร้องให้มีการใช้ภาษาฟินน์แทนภาษาสวีเดน ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังจากมีการจัดพิมพ์มหากาพย์เรื่อง Kalevala ใน ค.ศ. ๑๘๓๕ ซึ่งเป็นผลงานการรวบรวมวรรณกรรมพื้นบ้านของเอลยาส โลนน์รอต (Elias Lonnrot) หลังจากนั้นยูฮัน วิลเฮล์ม สเนลล์มัน (JohanVilhelm Snellman ค.ศ. ๑๘๐๖-๑๘๘๑) นักปรัชญาและนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง(ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในฐานะรัฐบุรุษของฟินแลนด์) ได้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้ชาวฟินน์หันมาใช้และสนับสนุนให้ภาษาฟินน์เป็นภาษาราชการและภาษาในวงการศึกษา ปัญญาชนจำนวนหนึ่งได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของเขา แต่ชาวฟินน์ส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษาสวีเดน ต่อไป ประเด็นปัญหาในเรื่องภาษาดังกล่าวนี้จึงแบ่งชาวฟินน์ออกเป็น ๒ กลุ่ม และมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวและพัฒนาการทางด้านการเมืองของฟินแลนด์เป็นอันมาก หลังจากมีการเรียกประชุมสภาไดเอตของฟินแลนด์อย่างสมำเสมออ่ ีกครั้งนับแต่ ค.ศ. ๑๘๖๓ เป็นต้นมา (สภาไดเอตประชุมครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. ๑๘๐๙) พรรคการเมืองต่าง ๆ ของฟินแลนด์ก็ก่อรูปและแบ่งกลุ่มกันอย่างชัดเจนตามนโยบายภาษาที่พรรคสนับสนุน พรรคที่ให้การสนับสนุนภาษาฟินน์ได้ประสบความสำเร็จเป็นลำดับในการผลักดันให้มีการใช้ภาษาฟินน์ในโรงเรียน วงการศิลปวัฒนธรรม และหน่วยราชการ และในที่สุดก็สามารถยกฐานะของภาษาฟินน์ให้เท่าเทียมกับภาษาสวีเดน อย่างเป็นทางการได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๐๒
     ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ฟินแลนด์เริ่มประสบกับปัญหาการขยายอิทธิพลและการแทรกแซงของรัสเซีย ทั้งนี้เพราะซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ.๑๘๙๔-๑๙๑๗) ทรงมีนโยบายที่จะกลืนชาติฟินแลนด์และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย ตามนโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นรัสเซีย (Russification)ทรงออกแถลงการณ์ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๙ ว่าพระองค์ทรงมีพระราช-อำนาจที่จะยกเลิกกฎหมายใด ๆ ของฟินแลนด์ได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาไดเอตหากกฎหมายดังกล่าวนั้นมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัสเซีย นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ยังบังคับให้ใช้ภาษารัสเซีย เป็นภาษาราชการของฟินแลนด์ และในปีต่อมาก็มีการออกพระราชกฤษฎีกาให้ชายฉกรรจ์ชาวฟินน์รับราชการทหารในกองทัพรัสเซีย อีกทั้งให้ยุบเลิกกองกำลังของฟินแลนด์อีกด้วย การออกกฎหมายต่าง ๆดังกล่าวนี้ได้สร้างแรงกดดันและความโกรธแค้นให้แก่ฟินแลนด์เป็นอันมาก และก่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมอย่างรุนแรงที่จะแยกตัวเองออกจากการปกครองของซาร์ การต่อต้านรัสเซีย เริ่มก่อตัวขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การปฏิเสธที่จะรับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัสเซีย การไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาโดยหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารการสะสมกำลังอาวุธและการเตรียมการเพื่อก่อการปฏิวัติ
     อย่างไรก็ดี การกลืนชาติฟินแลนด์ตามนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย ที่รัสเซีย มุ่งปฏิบัติในฟินแลนด์ได้ผ่อนคลายลงภายหลังความพ่ายแพ้ของรัสเซีย ในสงครามรัสเซีย -ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕) และการปฏิวัติค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905) ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ฟินแลนด์ได้ปฏิรูประบบรัฐสภาโดยยกเลิกระบบผู้แทนฐานันดรและให้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแก่พลเมืองทั้งชายและหญิงที่มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป แต่การปฏิรูปการเมืองดังกล่าวก็มิอาจช่วยฟินแลนด์ให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญหน้ากับรัสเซีย ได้ เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในรัสเซีย ได้ พระองค์ก็ทรงเริ่มมาตรการเข้มงวดกับฟินแลนด์อีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๐๘ และใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ชาวฟินน์ก็ถูกบีบบังคับให้ยอมรับกฎหมายสิทธิเท่าเทียมกัน (Equal Rights Law) ที่ให้สิทธิแก่พลเมืองรัสเซีย ในฟินแลนด์เท่ากับชาวฟินน์ทุกประการ
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ แม้รัสเซีย จะเข้ามาตั้งกองทหารประจำการในฟินแลนด์ แต่ฟินแลนด์ก็มิได้เข้าร่วมในสงครามโดยตรง ความหายนะและภัยจากสงครามที่มีต่อรัสเซีย ทำให้ชาวฟินน์เห็นเป็นโอกาสที่จะปฏิวัติแยกตัวเป็นอิสระได้ดังนั้นแนวคิดที่จะใช้กำลังเพื่อปลดแอกตนเองก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มนิิสตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งก่อการเคลื่อนไหวเพื่อเป็นแกนนำในการต่อสู้กับรัสเซีย อย่างไรก็ดี ชายฉกรรจ์เหล่านี้ก็ขาดการฝึกฝนวิชาทหารและทักษะการใช้อาวุธและการต่อสู้ ทั้งนี้เพราะกองทัพฟินแลนด์ได้ถูกซาร์ดำเนินการยุบไประหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๐๕ดังนั้น เพื่อให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จ นิิสตนักศึกษาชายจำนวนมากได้พากันหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อเดินทางไปรับการฝึกวิชาทหารในกองทัพเยอรมัน
     อย่างไรก็ดี ก่อนที่ชาวฟินน์จะลุกฮือขึ้นต่อสู้กับรัสเซีย ได้เกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution) ขึ้นในรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของซาร์ เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรฟินแลนด์ที่เพิ่งเลือกตั้งสมาชิกใหม่ลงมติยึดอำนาจของ “ซาร์แกรนด์ดุ็ก” ในเดือนพฤศจิกายนค.ศ. ๑๙๑๗ และต่อมาก็ประกาศให้ฟินแลนด์เป็นประเทศเอกราชในวันที่ ๖ ธันวาคมหลังประกาศเอกราชเแล้ว ฟินแลนด์ต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ แม้รัฐบาลบอลเชวิค(Bolsheviks) ของสหภาพโซเวียตจะยอมรับรองเอกราช แต่ทหารรัสเซีย จำนวนมากก็ยังคงประจำการอยู่ในประเทศต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลฟินแลนด์ต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงาน ความอดอยาก ตลอดจนความแตกแยกของประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันด้วย คือระหว่างกลุ่มพิทักษ์ขาว (White Guard)ที่ต่อต้านลัทธิสังคมนิยมกับกลุ่มพิทักษ์แดง (Red Guard) ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปสังคมตามลัทธิมากซ์ (Marxism) เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มทั้งสองเกิดขึ้นเมื่อแพร์ เอวินด์ สวีนฮุฟวุด (Pehr Evind Svinhufvud) ผู้นำรัฐบาลได้ออกคำสั่งให้นายพลคาร์ล กุสทาฟ มันเนอร์ไฮม์ (Carl Gustaf Mannerheim) ผลักดันกองทัพรัสเซีย ทางตะวันตกของฟินแลนด์ออกนอกประเทศ กลุ่มพิทักษ์แดงจึงตอบโต้ด้วยการก่อ “การปฏิวัติแดง”(Red Revolution) ทั่วทั้งประเทศและสามารถยึดอำนาจทางตอนใต้ได้สำเร็จ รัฐบาลฟินแลนด์ต้องย้ายที่ทำการจากกรุงเฮลซิงกิไปยังเมืองวาซา(Vaasa) ความพยายามจะทำสงครามปลดแอกจากสหภาพโซเวียตของชาวฟินน์จึงกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่าง “ฝ่ายแดง” กับ “ฝ่ายขาว” ในฟินแลนด์ด้วย ฝ่ายแดงได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ส่วนฝ่ายขาวจากเยอรมนี และกลุ่มแยเกอร์ (Jager) ซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ชาวฟินน์ที่ได้รับการฝึกทหารในเยอรมนี สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ด้วยชัยชนะของฝ่ายขาว หลังจากนั้น สวีนฮุฟวุดและมันเนอร์ไฮม์ได้ร่วมกันปกครองฟินแลนด์ในฐานะผู้สำเร็จราชการ ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ สภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐฉบับใหม่ และคาร์ลอ ยูฮอ สตอลเบิร์ก (KaarloJuho Stahlberg) ซึ่งมีนโยบายที่จะประนีประนอมกับทั้งฝ่ายขาวและฝ่ายแดงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ
     ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส ที่ประชุมไม่ได้ปฏิบัติต่อฟินแลนด์ในฐานะเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่พ่ายแพ้ในสงคราม ฟินแลนด์ได้แยกทำสนธิสัญญาสงบศึกกับสหภาพโซเวียตที่เมืองตาร์ตูหรือดอร์พัต (Tartu; Dorpat)เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยสหภาพโซเวียตยอมรับรองพรมแดนของฟินแลนด์และยอมให้ฟินแลนด์มีฉนวน (corridor) ออกสู่มหาสมุทรอาร์กติกที่เมืองเพตซาโม (Petsamo) ต่อมา ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ฟินแลนด์ก็เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) เมื่อสวีเดน เรียกร้องที่จะผนวกหมู่เกาะโอลันด์ต่อองค์การสันนิบาตชาติ โดยอ้างความต้องการของคนท้องถิ่นที่จะรวมตัวกับสวีเดน ที่ประชุมได้ตัดสินให้สวีเดน แพ้ แต่ย้ำให้รัฐบาลฟินแลนด์ให้สิทธิปกครองตนเองในระดับหนึ่งแก่คนท้องถิ่นที่อาศัยในหมู่เกาะโอลันด์ซึ่งส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวสวีเดน ทำให้ในเวลาต่อมาประชากรเชื้อสายสวีเดน ในอาณาบริเวณดังกล่าวนี้สามารถใช้ธงของตนเองอย่างเป็นทางการที่แตกต่างจากธงประจำชาติของฟินแลนด์ โดยทำเป็นรูปไม้กางเขนสีเหลืองทองและมีรูปไม้กางเขนสีแดงพาดซ้อนอยู่ภายใน วางบนพื้นสีฟ้าเข้มด้วย ธงนี้ได้รับอนุญาตให้ใช้ประดับในหมู่เกาะเท่านั้น และห้ามใช้ประดับบนเรือ หากประดับในสถานที่ราชการจะมีขนาดเล็กกว่าและต้องติดต่ำกว่าธงประจำชาติด้วย
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ฟินแลนด์ได้ประกาศตนเป็นกลาง แต่ต้องเข้าสู่ “สงครามฤดูหนาว” (Winter War) กับสหภาพโซเวียตเนื่องจากปฏิเสธที่จะยกดินแดนบางส่วนให้สหภาพโซเวียตครอบครองเพื่อป้องกันพรมแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย จากการรุกรานของเยอรมัน กองทัพโซเวียตได้บุกโจมตีฟินแลนด์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และต่อมาได้จัดตั้งคณะรัฐบาลหุ่นขึ้นซึ่งประกอบด้วยชาวฟินน์ที่นิยมลัทธิสังคมนิยมและได้ีล้ภัยไปอยู่สหภาพโซเวียตตั้งแต่สงครามกลางเมืองใน ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยมีออตโตวิลเฮลโมวิชคูซีเนน (Otto Vilhelmovich Kuusinen) เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลอย่างไรก็ดีพลเมืองและทหารฟินน์ซึ่งมีนายพลมันเนอร์ไฮม์เป็นผู้นำทหารได้ร่วมมือกันต่อต้านทหารโซเวียตอย่างเข้มแข็ง หน่วยทหารสกีเครื่อง (mobile ski troop) สามารถโจมตีกองทัพโซเวียตได้อย่างมีประสิทธิภาพจนกองทัพโซเวียตไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในฟินแลนด์ได้ กอปรกับเกรงว่าอังกฤษและฝรั่งเศส จะให้ความช่วยเหลือแก่กองทัพเยอรมัน สหภาพโซเวียตจึงยอมยุติสงครามกับฟินแลนด์เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ และสามารถบังคับให้ฟินแลนด์ยอมรับสนธิสัญญาสงบศึกที่ให้ประโยชน์แก่สหภาพโซเวียตเป็นอันมาก ฟินแลนด์ต้องสูญเสียดินแดนในเขตคาเรเลียตอนใต้และเมืองวีบอร์ก (Vyborg) ให้แก่รัสเซีย รวมทั้งประชากรอีกร้อยละ ๑๒ นอกจากนี้ ชาวฟินน์ยังต้องอพยพออกจากคาบสมุทรฮังกอ (Hanko)ซึ่งสหภาพโซเวียตบังคับเช่าเพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือด้วย
     หลังสงครามฤดูหนาว ฟินแลนด์ยังคงได้รับแรงกดดันจากสหภาพโซเวียตอย่างต่อเนื่องจนทำให้รัฐบาลฟินแลนด์ต้องแสวงหาพันธมิตรจากเยอรมนี เพื่อป้องกันประเทศ และต่อมาได้อนุญาตให้กองทัพเยอรมันเคลื่อนพลในเขตแลปแลนด์ได้ เมื่อกองทัพเยอรมันบุกโจมตีสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ฟินแลนด์ได้ประกาศตนเป็นกลาง สหภาพโซเวียตจึงตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทางอากาศเข้าโจมตีเมืองต่าง ๆ ทางตอนใต้ของฟินแลนด์ ซึ่งทำให้รัฐสภาฟินแลนด์ต้องประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน และส่งกองทัพเข้าโจมตีสหภาพโซเวียต พร้อม ๆ กันนั้นกองทัพเยอรมันก็โจมตีสหภาพโซเวียตด้วย โดยฟินแลนด์หวังจะยึดดินแดนที่สูญเสียในสงครามฤดูหนาวคืนมา อังกฤษประกาศสงครามกับฟินแลนด์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฟินแลนด์ด้วย
     ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะสิ้นสุดลง ฟินแลนด์ได้ยินยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกกับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ โดยเสียดินแดนทางตอนใต้ของเขตคาเรเลียและดินแดนตามชายแดนด้านตะวันออก รวมทั้งฉนวนลงสู่มหาสมุทรอาร์กติก นอกจากนี้ยังต้องให้สิทธิการเช่าคาบสมุทรพอร์กคาลา (Porkkala)ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเฮลซิงกิเพียง ๓๒ กิโลเมตรแก่สหภาพโซเวียตเพื่อใช้เป็นฐานทัพเป็นเวลา ๕๐ ปี โดยแลกคืนกับคาบสมุทรฮังกอ และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงิน ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งฟินแลนด์สามารถจ่ายครบจำนวนในค.ศ. ๑๙๕๒ อีก ๓ ปีต่อมาสหภาพโซเวียตได้คืนคาบสมุทรพอร์กคาลาแก่ฟินแลนด์เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๖
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฟินแลนด์พยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีและแสวงหาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต โดยยินยอมให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ได้ทำกติกาสัญญาว่าด้วยความร่วมมือสมานฉันท์และช่วยเหลือกันระหว่างฟินแลนด์-โซเวียต(Finno-Soviet Pact of Friendship Cooperation and Mutual Assistance) ซึ่งมีนัยให้สหภาพโซเวียตสามารถชี้แนะฟินแลนด์ได้เมื่อเกิดปัญหาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับฟินแลนด์ หรือให้ฟินแลนด์สนับสนุนเมื่อผลประโยชน์ของสหภาพโซเวียตถูกขัดขวาง อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์ก็มิได้เป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต การดำเนินนโยบายเป็นกลางแต่โน้มเอียงไปทางสหภาพโซเวียตดังกล่าวซึ่งพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ที่ได้อำนาจบริหารมาโดยตลอดยึดถือเป็นนโยบายสำคัญ ทำให้บรรดาสื่อมวลชนต่างประเทศเรียกนโยบายนี้ว่า“Finlandization” และกลายเป็นคำศัพท์ทางการเมืองที่หมายถึงการดำเนินนโยบายผ่อนปรนของประเทศที่อ่อนแอกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีอำนาจมากกว่า ฟินแลนด์ได้ดำเนินการต่อกติกาสัญญาดังกล่าวนี้จนถึง ค.ศ. ๑๙๘๓
     ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ฟินแลนด์ต้องพึ่งพิงตลาดการค้าของสหภาพโซเวียตอย่างมาก การค้าระหว่างฟินแลนด์กับสหภาพโซเวียตมีลักษณะเป็นการค้าแบบตอบแทนกัน กล่าวคือ ฟินแลนด์ส่งสินค้าอุตสาหกรรมประเภทเหล็กและสิ่งทอไปแลกเปลี่ยนกับน้ำมันดิบจากสหภาพโซเวียต โดยมีการกำหนดราคาที่ตายตัว ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาการผันผวนทางด้านราคาซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในการทำการค้ากับตลาดยุโรปตะวันตก แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงใน ค.ศ. ๑๙๙๑ การค้าแบบตอบแทนจึงถูกยกเลิกซึ่งมีผลกระทบต่อฟินแลนด์เป็นอันมาก อีกทั้งในต้นทศวรรษ๑๙๙๐ ฟินแลนด์ยังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน อันเป็นผลจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยขยับตัวสูงขึ้น หนี้สินภาครัฐก็ขยายตัวอย่างมาก จำนวนคนว่างงานสูงถึงร้อยละ ๒๐ อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายเข้มงวดในการแก้ไขปัญหา โดยการลดค่าเงินและตัดทอนรายจ่ายต่าง ๆ ลง ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ เศรษฐกิจของฟินแลนด์จึงเริ่มฟื้นตัว โดยสามารถเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ บริษัทโนเกีย(Nokia) ที่ปรับตัวจากการผลิตกระดาษที่เป็นสินค้าหลักมาเป็นการผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์โทรคมนาคม ๆ
     แม้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฟินแลนด์จะตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต แต่ด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ฟินแลนด์ก็ยังคงดำรงสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรสแกนดิเนเวียต่อไปโดยในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภานอร์ดิก(Nordic Council) ที่ประกอบด้วยสมาชิกอื่น ๆ คือ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ และเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๑ ได้เป็นภาคีสมทบของสมาคมการค้าเสรียุโรปหรือเอฟตา (European Free Trade Association - EFTA) ต่อมาในวันที่ ๑ มกราคมค.ศ. ๑๙๗๔ ได้ตกลงทำการค้าเสรีสินค้าอุตสาหกรรมกับกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจยุโรป [(European Economic Community - EEC) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นประชาคมยุโรปหรืออีซี(European Community - EC) และสหภาพยุโรปหรืออียู(European Union - EU) ตามลำดับ] โดยยังคงรักษานโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางอย่างเคร่งครัด และนโยบายเป็นกลางของฟินแลนด์ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปฟินแลนด์จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเฮลซิงกิ(Helsinki Conference) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างสันติภาพของนานาประเทศในยุโรประหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม ๓๕ ประเทศ
     ในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ เมื่อสหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perostroika) หรือนโยบายเปิด-ปรับ เพื่อปฏิรูปประเทศให้เป็นไปในแนวทางประชาธิปไตย อีกทั้งได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศนั้น บรรยากาศความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างฟินแลนด์กับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็เริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ และทวีขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. ๑๙๙๑ โดยรัฐบาลผสมของฟินแลนด์ซึ่งปราศจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในรอบ ๒๕ ปี ได้ยึ่นความจำนงเพื่อสมัครเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรปเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ ที่ประชุมประชาคมยุโรปได้กำหนดให้ฟินแลนด์จัดการประชุมรัฐสภาเพื่อลงคะแนนเสียงและให้ชาวฟินน์ตัดสินใจโดยลงประชามติเพื่อเข้าเป็นสมาชิกภายใน ค.ศ. ๑๙๙๔ ผลปรากฏว่าชาวฟินน์ส่วนใหญ่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๙๓ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพยุโรป ฟินแลนด์ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๕ การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปทำให้ฟินแลนด์สามารถขยายตลาดการค้าและการลงทุนรวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงาน ฟินแลนด์เป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มแรกที่ดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการคลังเพื่อจะเข้าร่วมในสหภาพเศรษฐกิจและการเงินหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union - EMU)และเริ่มใช้เงินยูโร (Euro) เป็นกลุ่มประเทศแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙โดยยุติการใช้เงินมาร์กกา (Markha) ที่ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๐ ผลในทางบวกก็คือทำให้เศรษฐกิจของฟินแลนด์เข้มแข็งขึ้นและลดอัตราเสี่ยงต่อการผันผวนของค่าเงินอันเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพราะคู่ค้าสินค้าสำคัญส่วนใหญ่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและใช้เงินสกุลเดียวกัน แต่ผลในทางลบก็คือฟินแลนด์ไม่สามารถลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นภาคส่งออกดังที่เคยปฏิบัติมา อีกทั้งยังทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นและเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในตลาดภายในประเทศมากขึ้นด้วย ส่วนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ฟินแลนด์ยังเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่ม “สมาชิกแกนนำ”ที่ยังไม่เข้าเป็นสมาชิก เนื่องจากถูกสหพันธรัฐรัสเซีย หรืออดีตสหภาพโซเวียตพยายามกดกัดและขัดขวาง
     รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ฟินแลนด์มีระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๒๐๐ คนจากการเลือกตั้งทั่วไป อำนาจนิติบัญญัติเป็นของสภาผู้แทนราษฎร (Eduskunta) และประธานาธิบดี ประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งเลือกตั้งและเป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุด มีวาระในตำแหน่ง ๖ปี ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรกในฟินแลนด์เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๔ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใช้วิธีเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) มาร์ีตอาห์ติซารี(Martii Ahtisaari)ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกในระบบการเลือกตั้งใหม่นี้.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐฟินแลนด์ (Republic of Finland)
เมืองหลวง
เฮลซิงกิ(Helsinki)
เมืองสำคัญ
เอสโป (Espoo) ตัมเปเร (Tampere) ตูร์กู (Turku) และวันตา (Vantaa)
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐ
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๓๓๘,๑๔๕ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศนอร์เวย์ทิศตะวันออก : ประเทศรัสเซีย ทิศใต้ : ประเทศรัสเซีย และทะเลบอลติกทิศตะวันตก : ประเทศสวีเดน
จำนวนประชากร
๕,๒๓๘,๔๖๐ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
ฟินน์ร้อยละ ๙๓.๔ สวีเดนร้อยละ ๕.๗ และอื่น ๆ ร้อยละ ๐.๙
ภาษา
ฟินน์ และสวีเดน
ศาสนา
คริสต์นิกายลู เทอรันร้อยละ ๘๔.๒ อื่น ๆ ร้อยละ ๒.๓ และ ไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๑๓.๕
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป
เป็นรากศัพท์ของ feudalism หมายถึงที่ดินซึ่งกษัตริย์หรือขุนนางครอบครองและสามารถสืบทอดให้แก่ทายาทตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัล