เดนมาร์ก เป็นราชอาณาจักรที่มีขนาดเล็กที่สุดในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือในด้านภูมิศาสตร์ เดนมาร์กเป็นดินแดนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเยอรมนี มากที่สุดเพราะเป็นประเทศเดียวที่มีพรมแดนร่วมกัน แต่ในด้านประวัติศาสตร์และการเมืองเดนมาร์กกลับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (Scandinavia)อันประกอบด้วย สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ และเคยอยู่ใต้การปกครองของพระประมุขเดียวกัน ในอดีตเดนมาร์กเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงยุโรปกลางกับคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย และเป็นประตูของยุโรปตะวันตกที่เปิดกว้างสู่ทะเลบอลติกและเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและความเจริญของภาคพื้นทวีปยุโรปไปยังคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย
เดนมาร์กซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากทะเลบอลติก แต่เดิมในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองที่ต่อมาคือ พวกเดน (Dane) แต่เรื่องราวของการตั้งรกรากและความเป็นมาไม่เป็นที่รับรู้กันมากนัก จนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๘-๑๐ เมื่อพวกไวกิ้ง(Viking) หรือนอร์สแมน (Norseman) ได้เข้ารุกราน ในสมัยที่พวกไวกิ้งเรืองอำนาจระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๙-๑๑ นั้น เดนมาร์กเป็นประเทศแรกในสแกน-ดิเนเวียที่สามารถรวมตัวกันภายใต้การปกครองในระบบกษัตริย์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ กษัตริย์ของเดนมาร์กหันมานับถือคริสต์ศาสนาเป็นพระองค์แรกและทรงมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง ได้ครอบครองคาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland) เกาะซีแลนด์(Zealand) ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด [ไม่นับเกาะกรีนแลนด์ (Greenland)] และต่อมาเป็นที่ตั้งของกรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen) เมืองหลวงและดินแดนทางตอนใต้ของสวีเดน ต่อมา ในสมัยพระเจ้าคนุตมหาราช (Canute the Great ค.ศ.๑๐๑๔-๑๐๓๕) เดนมาร์กอังกฤษ และนอร์เวย์ ได้รวมกันเป็นราชอาณาจักรเดียวกันความสัมพันธ์นี้ได้ยึนยาวจนถึงสิ้นรัชกาล หลังพระเจ้าคนุตมหาราชสิ้นพระชนม์เดนมาร์กเผชิญกับปัญหาการเมืองภายใน ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองแต่ในรัชสมัยพระเจ้าวาลเดมาร์ที่ ๑ (Waldemar I ค.ศ. ๑๑๕๗-๑๑๘๒) เดนมาร์กก็กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง ใน ค.ศ. ๑๒๑๙ เดนมาร์กได้ใช้ธงประจำชาติที่มีลักษณะเป็นรูปไม้กางเขนสีขาววางในแนวนอนบนพื้นสีแดงและนับเป็นธงประจำชาติที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก
ใน ค.ศ. ๑๒๘๒พวกขุนนางซึ่งมีบทบาทสูงในการปกครองสามารถบังคับให้พระเจ้าอิิรกที่ ๕ (Eric V ค.ศ. ๑๒๔๔-๑๒๘๖)พระราชทานกฎบัตรทำนองเดียวกับแมกนาคาร์ตา (Magna Carta ค.ศ. ๑๒๑๕) ของอังกฤษ โดยให้กฎบัตรจำกัดพระราชอำนาจราชาธิปไตยของกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย และจัดตั้งรัฐสภาแห่งชาติ(Danehof) เพื่อเป็นองค์กรสำคัญในการบริหารประเทศ
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ อำนาจการปกครองได้กลับมาสู่พระหัตถ์ของกษัตริย์ีอกครั้งหนึ่งในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเทอที่ ๑ [(Margrethe Iค.ศ. ๑๓๘๗-๑๓๙๗) สวรรคตใน ค.ศ. ๑๔๑๒ ในฐานะผู้สำเร็จราชการของสหภาพคาลมาร์ (Union of Kalmar)] เดนมาร์กเป็นมหาอำนาจในคาบสมุทรสแกนดิเนเวียและมีอำนาจปกครองนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ หมู่เกาะแฟโร (Faeroe)และกรีนแลนด์ ซึ่งรวมกันเรียกว่า สหภาพคาลมาร์ จัดตั้งใน ค.ศ. ๑๓๙๗ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๒๓ สวีเดน และฟินแลนด์ สามารถแยกตัวเป็นเอกราชจากเดนมาร์กได้สำเร็จและสวีเดน กลายเป็นประเทศคู่แข่งขันทางการค้าและท้าทายอำนาจของเดนมาร์กในเขตทะเลบอลติก ประเทศทั้งสองได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันเป็นเวลานาน ในที่สุดเดนมาร์กก็ได้สูญเสียเกาะต่าง ๆ ในทะเลบอลติกและดินแดนทางตอนใต้ของคาบสมุทรสแกนดิเนเวียให้แก่สวีเดน ตามสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Peace ofWestphalia ค.ศ. ๑๖๔๘) และสนธิสัญญารอสกิลด์ (Treaty of Roskildeค.ศ. ๑๖๕๘) ต่อมา เมื่อฝรั่งเศส ขยายอำนาจเข้าปกครองประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) เดนมาร์กดำเนินนโยบายสนับสนุนฝรั่งเศส จนในที่สุดก็ต้องสูญเสียนอร์เวย์ ให้แก่สวีเดน ตามสนธิสัญญาคีล (Treaty of Kiel) ใน ค.ศ. ๑๘๑๔
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อแนวความคิดลัทธิเสรีนิยม (Liberalism)ได้หยั่งรากลึกเข้าไปในจิตใจของประชาชนชาวเดนมาร์ก ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องอำนาจการปกครองจากรัฐในทศวรรษ ๑๘๓๐ ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ หลังจากเกิดการปฏิวัติค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848) ทั่วยุโรป เดนมาร์กได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๖๔ เดนมาร์กได้ทำสงครามกับปรัสเซีย และออสเตรีย เพื่อสิทธิครอบครองแคว้นชเลสวิก (Schleswig) และโฮลชไตน์ (Holstein) ซึ่งเป็นดินแดนที่ติดต่อกับปรัสเซีย แต่พ่ายแพ้และต้องเสียชเลสวิกและโฮลชไตน์แก่ปรัสเซีย การสูญเสียแคว้นดังกล่าวซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมันทำให้เดนมาร์กมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นเพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเดนมาร์กนอกจากนี้ นับแต่ ค.ศ. ๑๘๖๔ เป็นต้นมา เดนมาร์กก็ดำเนินนโยบายเป็นกลางและพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาระหว่างประเทศ
ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่สภาสูง (Landsting)มากกว่าสภาสามัญ (Folketing) และรัฐบาลหันมาสนใจการพัฒนาประเทศอย่างจริงจังในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ประเทศได้เจริญก้าวหน้าตามแนวตะวันตกเป็นอันมากมีการขยายตัวทางด้านการค้า การต่อเรืออุตสาหกรรม เกษตรกรรม ตลอดจนการปฏิรูปสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดรัฐสวัสดิการในปัจจุบัน
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙พรรคสังคมประชาธิปไตยได้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวให้ชนชั้นกรรมาชีพเรียกร้องประชาธิปไตย ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเป็นพลังสำคัญทางการเมือง ซึ่งมีผลให้พรรคอนุรักษนิยมต้องสูญเสียบทบาทและอำนาจ และเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลที่มาจากพรรคเสรีนิยมกลุ่มต่าง ๆ ได้
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ เดนมาร์กยังคงยึดถือนโยบายเป็นกลางแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ในค.ศ. ๑๙๑๕ ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิในการออกเสียงเพื่อเลือกสมาชิกสภาสูงและสมาชิกสภาสามัญแก่ประชาชนทั้งเพศชายและเพศหญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๒๕ ปีขึ้นไป ทั้งนี้โดยประกาศยกเลิกข้อกำหนดของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการครอบครองทรัพย์สินหรือการมีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ใน ค.ศ.๑๙๑๗ เดนมาร์กยังต้องขายหมู่เกาะเวอร์ิจน (Virgin) ในหมู่เกาะเวสต์อินดีสให้แก่สหรัฐอเมริกา และในปีต่อมา เดนมาร์กประกาศยอมรับรองอิสรภาพของไอซ์แลนด์ แต่เดนมาร์กยังคงมีอำนาจในการควบคุมนโยบายการต่างประเทศ และกษัตริย์ของเดนมาร์กก็ยังทรงมีฐานะเป็นพระประมุขของไอซ์แลนด์ ต่อไป หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง เดนมาร์กได้แคว้นชเลสวิกกลับคืนตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย(Treaty of Versailles) ที่เยอรมนี ทำกับประเทศสัมพันธมิตรแต่มีเงื่อนไขว่าจะให้มีการลงประชามติเพื่อเลือกกำหนดการปกครองตนเอง ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ตามข้อตกลงของสนธิสัญญาแวร์ซายว่าด้วยการลงประชามติในแคว้นชเลสวิก เดนมาร์กได้ครอบครองตอนเหนือของแคว้นชเลสวิกที่สูญเสียไปใน ค.ศ. ๑๘๖๔ เพราะประชาชนขอเข้ารวมกับเดนมาร์ก ส่วนตอนใต้นั้น ประชาชนลงประชามติที่จะขออยู่กับเยอรมนี ต่อไป
ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นานนัก เดนมาร์กได้ทำกติกาสัญญาไม่รุกรานต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปีกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนี แต่ในปี ต่อมา เดนมาร์กกลับถูกกองทัพนาซีเข้ายึดครองเพื่อใช้เป็นฐานทัพที่สำคัญทางยุโรปตอนเหนือ การรุกรานของกองทัพเยอรมันในเดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๔๐ดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิิรยาต่อต้านจากชาวเดนมาร์กผู้รักสันติภาพเป็นอันมากได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นและประชาชนทุกฝ่ายได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลในการรักษาอำนาจอธิปไตยของรัฐ ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๒ คริสต์มาส โมลเลอร์(Christmas Moller) นักการเมืองคนสำคัญได้ปลุกระดมต่อต้านเยอรมนี ด้วยการออกหนังสือพิมพ์ใต้ดินชื่อ First Denmarkพร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนใช้วิธีการรุนแรงต่อต้านผู้รุกราน และในเดือนพฤษภาคมนั้นเอง เขาหลบหนีไปประเทศอังกฤษและได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาพลัดถิ่นของเดนมาร์กในกรุงลอนดอน หน่วยวินาศกรรมจากอังกฤษจึงถูกส่งเข้ามาเพื่อทำงานประสานกับกลุ่มต่อต้านภายในประเทศ
ระหว่างที่สงครามกำลังดำเนินอยู่นั้น ไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรตั้งแต่ ค.ศ. ๑๓๘๐ ก็ประกาศตนเป็นประเทศเอกราชโดยสมบูรณ์ในค.ศ. ๑๙๔๔ ในปี เดียวกันนั้นเอง เมื่อทหารเยอรมันใช้วิธีการรุนแรงเข้าปราบปรามกลุ่มต่อต้าน ได้เกิดการประท้วงทั่วไปในกรุงโคเปนเฮเกนทำให้เหตุการณ์ึตงเครียดเป็นเวลาหลายวัน ในที่สุด ฝ่ายเยอรมนี ยอมประนีประนอมโดยการถอนกองทัพออกจากเมืองหลวง แต่ต่อมาเมื่อทหารเยอรมันเข้าปราบปรามและจับกุมตำรวจชาวเดนมาร์กด้วยข้อกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านและส่งตัวเข้าค่ายกักกัน(Concentration Camp) ประชาชนทั่วประเทศได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านพวกนาซีด้วยวิีธการอันรุนแรง มีการวางระเบิดสถานที่สำคัญ ๆ ของฝ่ายเยอรมันอาทิสำนักงานใหญ่ของเกสตาโป (Gestapo) ในเมืองออร์ฮู สและโอเดนเซ นอกจากนี้ชาวเดนมาร์กยังต่อต้านนโยบายการกวาดล้างชาวยิวและช่วยเหลือชาวยิวกว่า๘,๐๐๐ คน ให้หลบหนีไปสวีเดน ได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา เดนมาร์กได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศโดยให้ความสนใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นเดนมาร์กได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ(United Nations) ใน ค.ศ. ๑๙๔๕และต่อมาได้ประกาศยกเลิกนโยบายเป็นกลางโดยเข้าร่วมในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ในด้านการฟื้นฟูประเทศเดนมาร์กได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาตามแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan) เป็นจำนวนเงิน ๓๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการบูรณะประเทศที่เสียหายยับเยินในระหว่างสงครามความช่วยเหลือดังกล่าวนี้จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจนกระทั่งสหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิในการตั้งฐานทัพในเกาะกรีนแลนด์เพื่อใช้เป็นหน้าด่านที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในการป้องกันการโจมตียุโรปตะวันตกจากสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ เดนมาร์กยังมีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นทางด้านสังคมการเมือง และเศรษฐกิจกับประเทศไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภานอร์ดิก (Nordic Council) และใน ค.ศ. ๑๙๗๓เดนมาร์กได้แสดงความสนใจต่อปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของยุโรปตะวันตกโดยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การตลาดร่วมยุโรป (European EconomicCommunity - EEC)ยังผลให้เดนมาร์กอยู่ในฐานะที่จะทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกลุ่มนอร์ดิกกับองค์การตลาดร่วมยุโรปในการแสวงหาผลประโยชน์และความมั่นคงร่วมกัน
ในด้านการเมืองภายในประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยุบสภาสูงคงเหลือแต่เพียงสภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งทั่วไปรวม ๑๗๙ คน และให้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับที่กำหนดในรัฐธรรมนูญการปกครองของสหรัฐอเมริกา หัวหน้ารัฐบาลได้แก่นายกรัฐมนตรี ส่วนประมุขของประเทศคือพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีนาถ (มีการแก้ไขกฎหมายให้ราชนารีสืบราชสมบัติได้) ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของรัฐสภา ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้แก่ชาวเดนมาร์กทุกคนที่มีอายุ ๒๔ ปีขึ้นไป(ปัจจุบันเหลือแค่ ๑๘ ปี)
ใน ค.ศ. ๑๙๗๒ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเทอที่ ๒ (Margrethe IIประสูติเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งวันพระราชสมภพของพระองค์ถือเป็นวันชาติของประเทศ) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๙(Frederich IX ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๗๒) เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคมค.ศ. ๑๙๗๒ นับว่าพระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์แรกที่ได้ปกครองประเทศในฐานะประมุขที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถมาร์-เกรเทอที่ ๑ ทรงปกครองเดนมาร์กและสหภาพคาลมาร์ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๘๔-๑๔๑๒นั้น มิได้ทรงอยู่ในฐานะพระบรมราชินีนาถที่ถูกต้องตามราชประเพณี อีกทั้งไม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะในขณะนั้นเดนมาร์กไม่มีกฎมนเทียรบาลหรือกฎหมายฉบับใด ๆ ที่รับรองสิทธิสตรีในการสืบราชบัลลังก์
ในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ เดนมาร์กปรับปรุงนโยบายการให้สวัสดิการสังคมด้วยการกระจายอำนาจการบริหารและการดำเนินการจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนที่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐได้รับความสะดวกมากขึ้น มีการออกพระราชบัญญัติความช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance Act) ใน ค.ศ. ๑๙๗๔เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พลเมืองทุกคนที่ประสงค์จะขอรับสวัสดิการทางสังคมโดยรัฐจะกำหนดจำนวนเงินช่วยเหลือแต่ละกรณีในอัตราที่แน่นอนแทนการจ่ายให้เป็นรายบุคคลตามเหตุผลและความจำเป็น นโยบายดังกล่าวมีผลให้งบรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมสูงขึ้นและประชาชนต้องเสียภาษีและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณประโยชน์มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันรัฐก็วางโครงการปรับปรุงด้านสวัสดิการเป็นระยะในช่วงเวลา ๘ ปี แนวนโยบายรัฐสวัสดิการของเดนมาร์กต่อมาได้เป็นแม่แบบที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารประเทศ
นอกจากความก้าวหน้าทางด้านสวัสดิการสังคมแล้ว เดนมาร์กยังสนับสนุนให้พลเมืองสตรีมีบทบาทและสถานภาพทางสังคมที่มั่นคง ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ รัฐบาลออกพระราชบัญญัติค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน (Equal Pay Act) โดยกำหนดให้หญิงและชายที่ทำงานประเภทเดียวกันได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน และใน ค.ศ. ๑๙๗๘ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยโอกาสที่เท่าเทียมกัน (Equal Opportunity Act) กำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างหญิงและชายอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านเพศ พระราชบัญญัติดังกล่าวทำให้ขบวนการสิทธิสตรีในเดนมาร์กมีบทบาทเด่นในสังคมมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเหนือ
ใน ค.ศ. ๑๙๗๙ เดนมาร์กให้สิทธิการปกครองตนเองแก่กรีนแลนด์ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและของโลก แต่รัฐบาลเดนมาร์กยังคงควบคุมด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงตลอดจนด้านตุลาการและยังคงถือว่ากรีนแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอยู่ ทั้งยังจัดสรรเงินงบประมาณให้ในรูปของเงินช่วยเหลือเป็นก้อน (Block Grant) เมื่อกรีนแลนด์ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การตลาดร่วมยุโรปใน ค.ศ. ๑๙๘๒ เดนมาร์กก็ไม่คัดค้านและยังสนับสนุนให้กรีนแลนด์ได้สิทธิในการขายปลาแก่ประเทศสมาชิกองค์การตลาดร่วมยุโรปโดยไม่ต้องเสียภาษีเขตแดนระหว่างประเทศ
ในทศวรรษ ๑๙๘๐ เดนมาร์กมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประกันความมั่นคงร่วมกันระหว่างชาติด้วยการส่งกำลังเข้าร่วมประจำในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเพื่อประจำในเขตวิกฤตการณ์ตามส่วนต่าง ๆ ของโลกตลอดจนสนับสนุนเงินทุนจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในค.ศ. ๑๙๘๖ เดนมาร์กจัดการลงประชามติที่จะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป (EuropeanUnion) และประชาชนร้อยละ ๕๖.๒ เห็นด้วย ในปีเดียวกัน เดนมาร์กก็เปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับแอฟริกาใต้ใหม่ หลังจากที่ไม่ติดต่อกันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๒และเมื่อเนลสัน มันเดลา (Nelson Mandela) ผู้นำชาวผิวดำในแอฟริกาใต้ซึ่งได้รับอิสรภาพใน ค.ศ. ๑๙๙๐ กลับมามีบทบาททางการเมืองใหม่ เดนมาร์กก็เริ่มปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับแอฟริกาใต้ีอกครั้งหนึ่ง
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๓ เดนมาร์กสร้างความโกลาหลในกลุ่มประชาคมยุโรป (European Community - EC) เมื่อชาวเดนมาร์กร้อยละ ๕๐.๗ลงประชามติเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายนปฏิเสธไม่ให้สัตยาบันสนธิสัญญามาสตริกต์(Maastricht) ซึ่งเป็นสนธิสัญญารวมประชาชาติยุโรป ๑๒ ประเทศเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียว (single market) ทางเศรษฐกิจและการเงิน สหภาพยุโรปจึงผ่อนปรนเงื่อนไขของการเข้ารวมด้วยการยอมให้เดนมาร์กมีสิทธิที่จะไม่เข้ารวมทางด้านนโยบายการป้องกันร่วมกัน การมีกองกำลังตำรวจ ฯลฯ การผ่อนปรนที่มีความยึดหยุ่นดังกล่าวทำให้เดนมาร์กยอมให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญามาสตริกต์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ และเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในที่สุด ในต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ เดนมาร์กดำเนินนโยบายสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามกับอิรัก และเป็น ๑ ใน ๕ ประเทศ (อังกฤษ สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย และโปแลนด์ )ที่ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามด้วย.