Bulgaria, Republic of

สาธารณรัฐบัลแกเรีย




     สาธารณรัฐบัลแกเรีย เป็นประเทศขนาดเล็กในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งเคยตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) เป็นเวลาเกือบ๕๐๐ ปี และเป็นประเทศเอกราชใน ค.ศ. ๑๙๐๘ เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมน้ำหอมที่ทำจากกุหลาบซึ่งมีชื่อเสียงของโลก เพราะเมืองคาซานลุก(Kazanluk) เป็นแหล่งปลูกกุหลาบนานาพันธุ์ และมีหุบเขาแห่งกุหลาบ (Valley ofRoses) ที่มีชื่อเสียงซึ่งทุกปีระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะมีงานเทศกาลดอกกุหลาบที่รู้จักกันว่า Bulgarian Rose International Meeting of Journalsเพราะนักข่าวกว่า ๓๐๐ ประเทศทั่วโลกจะมาชุมนุมเพื่อชมขบวนคานิวาลกุหลาบและร่วมฉลองประเพณีการเก็บกุหลาบแรกแย้มของบัลแกเรีย
     ดินแดนบัลแกเรียในอดีตประกอบด้วย ๒ มณฑลใหญ่คือมณฑลเทรซ(Thrace) และมีเชีย (Moesia) และเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเทรโก-อิลลิเรียน (Thraco-IIIyrians) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่แทบจะไม่เป็นที่รู้จักกัน ทั้งสองมลฑลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน และพวกโรมันจะใช้เส้นทางที่ตัดแบ่งมณฑลทั้งสองส่วนเป็นเส้นทางค้าขายติดต่อกับดินแดนตะวันออกใกล้ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างทางหลวงคร่อมเส้นทางเดิมเรียกว่าทางหลวงสายอี ๕ (E-V) เป็นทางหลวงใหญ่ที่เชื่อมติดต่อระหว่างกรุงโซเฟียกับกรุงเบลเกรดของเซอร์เบีย และกรุงอิสตันบูลของตุรกีตลอดจนประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๖ ชนเผ่าสลาฟอพยพเข้ามาในบัลแกเรียและอาจขับไล่ชาวพื้นเมืองดังกล่าวออกไปหรืออาจหลอมกลืนเข้ากับกลุ่มของตน ต่อมา ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๗ พวกบัลการ์ (Bulgar)เชื้อสายเติร์กจากเอเชียตอนกลางเข้ารุกรานบริเวณแม่น้ำดานูบตอนใต้และยึดครองบางส่วนของมณฑลมีเชียซึ่งขณะนั้นทั้งเทรซและมีเชียเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) พวกบัลการ์ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าพลเมืองที่ตนปกครองได้รับเอาวัฒนธรรมประเพณีของพวกสลาฟและผสมกลืนกับพวกสลาฟจนกลายเชื้อชาติเป็นพวกสลาฟในเวลาต่อมา ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๘ บัลแกเรียโดยการนำของข่านครุม (Khan Krum) สามารถแยกตัวออกจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ และจัดตั้งอาณาจักรที่เข้มแข็งขึ้นในบริเวณคาบสมุทรบอลข่านและแม่น้ำดานูบตอนใต้ตลอดจนยอมรับคริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ทอดอกซ์เป็นศาสนาของอาณาจักร ระหว่าง ค.ศ. ๘๙๓-๙๒๗ บัลแกเรียขยายอำนาจและอิทธิพลไปยังดินแดนใกล้เคียงจนจัดตั้งเป็นจักรวรรดิขึ้นได้ แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในเกี่ยวกับการแย่งชิงราชบัลลังก์และการถูกรุกรานจากพวกแมกยาร์ (Magyar) หรือพวกฮังการี อย่างต่อเนื่องก็มีผลให้จักรวรรดิบัลแกเรียอ่อนแอลงจนตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์อีกครั้งใน ค.ศ. ๑๐๑๘ ต่อมา เมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์เสื่อมอำนาจ บัลแกเรียก็เห็นเป็นโอกาสแยกตัวเป็นอิสระและจัดตั้งเป็นจักรวรรดิที่เข้มแข็งได้อีกครั้งหนึ่งระหว่างค.ศ. ๑๑๘๕-๑๓๓๐ แต่ใน ค.ศ. ๑๓๙๖ ก็ถูกพวกเติร์กรุกรานและเข้ายึดครองเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันเป็นเวลาเกือบ ๕๐๐ ปี
     ในช่วง ๕ ศตวรรษ (ค.ศ. ๑๓๙๖-๑๘๗๘) ของการตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน นักประวัติศาสตร์บัลแกเรียถือว่าเป็นยุคของการกดขี่ทางประชาชาติและยุคมืดทางด้านศิลปวิทยาการ ช่วงสมัยดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกที่รู้จักกันทั่วไปว่าสมัย “แอกของพวกเติร์ก” (Turkish yoke) ชาวบัลแกเรียที่ไม่ยอมนับถือศาสนาอิสลามจะถือเป็นพลเมืองชั้นสองที่มีหน้าที่ต้องรับใช้และตอบสนองความต้องการของนายชาวมุสลิม พวกเขาต้องเสียภาษีอย่างหนักและมีชีวิตอยู่ใต้กฎระเบียบทางสังคมอันเข้มงวด นอกจากนี้ ในทุก ๕ ปี เด็กและผู้ชายคริสต์ทุก ๑ใน ๔ คนที่มีอายุระหว่าง ๑๐-๒๐ ปี จะถูกคัดเลือกให้เป็นข้าราชการของรัฐพวกเขาจะถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาและถูกส่งไปศึกษาอบรมตามโรงเรียนพิเศษต่าง ๆเพื่อจะให้สามารถปฏิบัติงานเป็นนายทหารในกองทัพหรือทำงานในระบบราชการได้ประเพณีปฏิบัติดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นและเกลียดชังอย่างมากให้กับครอบครัวชาวคริสต์ที่ต้องสูญเสียบุตรชายไป ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อจักรวรรดิออตโตมันเริ่มเสื่อมอำนาจและถูกประเทศมหาอำนาจตะวันตกเข้ารุกรานทั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจเสื่อมถอยและความวุ่นวายทางการเมืองภายใน พวกบัลแกเรียก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะถูกบังคับให้ทำงานหนักมากขึ้นเพื่อผลิตอาหารและวัตถุดิบตอบสนองความต้องการของเมืองหลวงและกองทัพ ขณะเดียวกันหน่วยกองทัพของขุนนางท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระจากการปกครองของส่วนกลางก็ฉวยโอกาสในช่วงที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะวุ่นวายบุกปล้นสะดมทรัพย์สินและฆ่าฟันผู้คนในดินแดนของบัลแกเรียจนพลเมืองลดจำนวนลงอย่างมากและบ้านเมืองก็ได้รับความพินาศเสียหายอย่างหนัก
     ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อเกิดสงครามอิสรภาพกรีก (Greek War ofIndependence) ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ ซึ่งนำไปสู่การแยกตัวเป็นอิสระของกรีซ จากจักรวรรดิออตโตมันและการเกิดปัญหาตะวันออก (Eastern Question) ที่ทำให้จักรวรรดิออตโตมันขาดเสถียรภาพทางการเมืองจนได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยของยุโรปชัยชนะของกรีซ ในสงครามดังกล่าวมีส่วนกระตุ้นให้ปั ญญาชนบัลแกเรียเริ่มก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมเพื่อปลุกจิตสำนึกของความรักชาติในหมู่ประชาชนเพื่อเตรียมการกู้เอกราช ผู้นำคนสำคัญคือวาซิล เลฟสกี(Vasil Levsky) ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาติ เลฟสกีเน้นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการรณรงค์ฟื้นฟูงานด้านศิลปวรรณคดีและประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดความรักและความภูมิใจในชาติ ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวจัดตั้งองค์การทางการเมืองเพื่อสร้างเอกภาพทางความคิดและการจะรวมพลังของกลุ่มรักชาติต่าง ๆ ขบวนการชาตินิยมบัลแกเรียจึงเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ เมื่อพวกสลาฟในมณฑลบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Herzegovina) ก่อกบฏต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันรัสเซีย ได้แสดงท่าทีจะสนับสนุนการก่อกบฏดังกล่าว ขบวนการชาตินิยมบัลแกเรียซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจด้วยจึงก่อกบฏต่อจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. ๑๘๗๖ แต่กองทัพสุลต่านบุกปราบปรามอย่างทารุณและเด็ดขาดอาคารบ้านเรือน หมู่บ้านและศาสนสถานจำนวนมากถูกเผาผลาญทำลายอย่างย่อยยับ พลเมืองชายหญิงและเด็กถูกเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหดประมาณ ๑๒,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ คน ทั้งหน่วยจรยุทธ์บัลแกเรียตามเขตป่าเขาก็ถูกปราบปรามอย่างทารุณด้วยข่าวการสังหารอย่างทารุณดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นทั่วไปโดยเฉพาะในรัสเซีย ซึ่งพลเมืองมีความอาทรเห็นใจพวกสลาฟด้วยกัน ในอังกฤษ วิลเลียมอีวาร์ตแกลดสโตน (William Ewart Gladstone) ผู้นำคนสำคัญของพรรคฝ่ายค้านได้เขียนจุลสารเกี่ยวกับการสังหารโหดชนกลุ่มน้อยในจักรวรรดิออตโตมัน เขาเรียกร้องให้รัสเซีย บุกคาบสมุทรบอลข่านเพื่อช่วยเหลือพวกสลาฟโดยไม่ใส่ใจต่อรัฐบาลอังกฤษโดยการนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli) แห่งพรรคทอรีหรือพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) ซึ่งดำเนินนโยบายต่อต้านรัสเซีย และสนับสนุนตุรกีอยู่
     เมื่อรัสเซีย บุกโจมตีตุรกี ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามรัสเซีย -ตุรกี(Russo-Turkish War ค.ศ. ๑๘๗๗-๑๘๗๘) ประเทศมหาอำนาจอื่น ๆก็เริ่มเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันมิให้รัสเซีย ขยายอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่านอังกฤษส่งกองทัพเรือไปยังช่องแคบบอสฟอรัส (Bosphorus) และดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)เพื่อยับยั้งการรุกคืบหน้าของรัสเซีย สงครามระหว่างรัสเซีย กับตุรกีจึงสิ้นสุดลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาซานสเตฟาโน (Treaty of San Stefano) เมื่อวันที่ ๓มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ในสนธิสัญญาฉบับนี้บัลแกเรียได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐเอกราชที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ครอบคลุมตั้งแต่ทะเลอีเจียนจนถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของมาซิโดเนีย ประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ต่างต่อต้านสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นภัยต่อดุลอำนาจและความมั่นคงของประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ทั้งเปิ ดโอกาสให้รัสเซีย ใช้บัลแกเรียซึ่งจะเป็นรัฐบริวารของตนเป็นช่องทางขยายอำนาจเข้าครอบครองคาบสมุทรบอลข่าน อังกฤษเรียกร้องให้มีการประชุมชาติมหาอำนาจในยุโรปเพื่อพิจารณาทบทวนสนธิสัญญาซานสเตฟาโน เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto vonBismarck) อัครมหาเสนาบดีเยอรมนี จึงโน้มน้าวรัสเซีย ให้เข้าร่วมการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin) ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓ มิถุนายนถึงวันที่ ๑๓กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ต่อมา รัสเซีย กับตุรกีต่างยอมลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่คือสนธิสัญญาเบอร์ลิน (Treaty of Berlin) เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ บัลแกเรียมีฐานะเป็นรัฐกึ่งเอกราชใต้การปกครองตุรกีและมีอาณาเขตลดน้อยลงโดยอีสเทิร์นรูมีเลีย (Eastern Rumelia) ซึ่งเป็นดินแดนตอนใต้ถูกแยกออกเป็นดินแดนอิสระและให้ข้าหลวงชาวคริสต์ปกครอง มาซิโดเนีย กลับไปอยู่ใต้อำนาจของตุรกีตามเดิม นอกจากนี้ บัลแกเรียยังต้องสูญเสียมณฑลดอบรูจาเหนือ (Northern Dobruja) ให้แก่โรมาเนีย ด้วย อย่างไรก็ตาม บัลแกเรียซึ่งถูกบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขของสนธิสัญญาเบอร์ลินไม่พอใจอย่างมากต่อข้อตกลงใหม่ที่ประเทศมหาอำนาจกำหนดจึงยังคงกล่าวอ้างตลอดเวลาว่าเส้นเขตแดนที่ถูกต้องของตนคือเส้นเขตแดนที่เคยกำหนดไว้ในสนธิสัญญาซานสเตฟาโน
     ใน ค.ศ. ๑๘๗๙ สภาแห่งบัลแกเรียเห็นชอบให้อัญเชิญอะเล็กซานเดอร์แห่งบัทเทนบูร์ก (Alexander of Battenburg) เจ้าชายเยอรมันซึ่งเป็นพระภาติยะของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II) แห่งรัสเซีย เป็นประมุขอะเล็กซานเดอร์จึงทรงเป็นประมุขพระองค์แรกของรัฐบัลแกเรียใหม่ ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ เมื่ออีสเทิร์น-รูมีเลียก่อกบฏเพื่อรวมเข้ากับบัลแกเรีย อะเล็กซานเดอร์ทรงเป็นผู้นำของการเคลื่อนไหวครั้งนี้และพระองค์ทรงได้รับการยอมรับให้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงแห่งอีสเทิร์นรูมีเลียด้วยอย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในและการต่อต้านของรัสเซีย ได้นำไปสู่การก่อรัฐประหารของกองทัพในเวลาต่อมาซึ่งทำให้อะเล็กซานเดอร์ถูกบีบบังคับให้สละราชย์ เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ (Ferdinand)แห่งราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Saxe-Coburg-Gotha) ได้รับเลือกให้เป็นประมุขสืบแทน ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์บอสเนีย (Bosnia Crisis)อันสืบเนื่องจากจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี ผนวกมณฑลบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนาบัลแกเรียก็เห็นเป็นโอกาสประกาศตนเป็นเอกราชจากตุรกีเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๐๘ โดยมีพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ เป็นประมุข แต่ตุรกียอมรับความเป็นเอกราชของบัลแกเรียในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๙
     เมื่อเกิดสงครามบอลข่าน (Balkan War) ครั้งแรกขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๙๑๒ บัลแกเรียมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรสันนิบาตบอลข่าน (BalkanLeague) ขึ้นซึ่งประกอบด้วยกรีซ เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร เพื่อรวมกำลังทำสงครามจนมีชัยชนะต่อตุรกี แต่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแบ่งสรรดินแดนที่ได้รับทำให้บัลแกเรียไม่พอใจ บัลแกเรียจึงก่อสงครามกับประเทศพันธมิตรสันนิบาตบอลข่านและกับโรมาเนีย และตุรกีซึ่งนำไปสู่สงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๓ ในสงครามครั้งนี้ บัลแกเรียพ่ายแพ้อย่างยับเยินและต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (Treaty of Bucharest) ค.ศ. ๑๙๑๓ โดยสูญเสียดินแดนเกือบทั้งหมดในมาซิโดเนีย และเทรซให้กับเซอร์เบีย และกรีซ ทั้งต้องยกมณฑลดอบรูจาใต้ (Southern Dobruja) ให้แก่โรมาเนีย ด้วย เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ บัลแกเรียจึงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)เพื่อหวังจะได้ดินแดนที่สูญเสียไปตั้งแต่สงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ กลับคืน แต่ความปราชัยของฝ่ายมหาอำนาจกลางทำให้บัลแกเรียถูกฝ่ายสัมพันธมิตรบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาเนยยี(Treaty of Neuilly) เมื่อวันที่ ๒๗พฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๑๙ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยสูญเสียดินแดนที่เคยได้รับในช่วงสงครามบอลข่าน ทั้งถูกลดกำลังทหารและกำลังอาวุธตลอดจนต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามประมาณ ๔๔๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (แต่ต่อมามีการยกเลิกค่าปฏิกรรมสงครามลงร้อยละ ๗๕) นอกจากนี้ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ยังต้องสละราชย์และพระราชโอรสได้ขึ้นครองบัลลังก์สืบแทนเป็นพระเจ้าบอริสที่ ๓(Boris III) ซึ่งต่อมาทรงอภิเษกสมรสกับราชธิดาของพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III) แห่งอิตาลี และทรงปกครองบัลแกเรียจนถึงค.ศ. ๑๙๔๓
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๙ บัลแกเรียดำเนินนโยบายปฏิรูปการเมืองและสังคมให้เป็นประชาธิปไตยและปรับความสัมพันธ์กับประเทศในคาบสมุทรบอลข่านแต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในอย่างรุนแรงระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียกับพรรคชาวนาบัลแกเรีย (Bulgarian Agrarian Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลทำให้กลุ่มชนชั้นสูงกับกองทัพร่วมมือกันก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล แต่ต่อมาพระเจ้าบอริสที่ ๓ ก็ทรงก่อรัฐประหารอีกครั้งและทรงปกครองประเทศในระบอบเผด็จการ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ บัลแกเรียเข้าร่วมสงครามกับเยอรมนี และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ได้ร่วมลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น(Anti-Comintern Pact) แม้พระเจ้าบอริสที่ ๓ จะทรงสนับสนุนเยอรมนี แต่พระองค์ก็ปฏิเสธที่จะทรงปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนี ในการดำเนินนโยบายกวาดล้างชาวยิวบัลแกเรีย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.๑๙๔๓ ฮิตเลอร์พยายามบีบบังคับให้บัลแกเรียประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตแต่พระเจ้าบอริสที่ ๓ ทรงแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย เพราะบัลแกเรียต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับสหภาพโซเวียตไว้ทั้งถือว่าเป็นชนชาติสลาฟเช่นเดียวกับตน ต่อมาอีก๓ วันหลังจากที่พระองค์เดินทางไปเจรจาหารือกับฮิตเลอร์ที่ปรัสเซีย ตะวันออกพระองค์ก็ิส้นพระชนม์ลงอย่างมีเงื่อนงำ พระเจ้าซิเมโอนที่ ๒ (Simeon II)พระราชโอรสวัย ๖ ชันษาเสด็จขึ้นครองราชย์โดยมีผู้สำเร็จราชการและรัฐบาลที่สนับสนุนนาซีทำหน้าที่ปกครองประเทศ อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคการเมืองอื่น ๆ ตลอดจนปัญญาชนผู้รักชาติก็ได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการต่อต้านนาซีซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าองค์การแนวร่วมเพื่อปิตุภูมิ (Fatherland Front) ขึ้นในค.ศ. ๑๙๔๒ ต่อมา สหภาพโซเวียตซึ่งต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปในกรีซ และตุรกีโดยเดินทัพผ่านบัลแกเรียได้ประกาศสงครามกับบัลแกเรียในวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ.๑๙๔๔ องค์การแนวร่วมเพื่อปิตุภูมิจึงร่วมมือและประสานงานกับสหภาพโซเวียตอย่างใกล้ชิดในการต่อต้านนาซีเยอรมัน กองทัพแดง (Red Army) ของโซเวียตซึ่งบุกเข้ายึดครองบัลแกเรียจึงสนับสนุนให้องค์การแนวร่วมเพื่อปิ ตุภูมิยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงรัฐบาลจัดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสินรูปแบบการปกครองประเทศในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ประชาชนร้อยละ ๙๒ ไม่ต้องการระบบกษัตริย์พระเจ้าซิเมโอนที่ ๒ จึงสละราชสมบัติและเสด็จลี้ภัยไปต่างประเทศ บัลแกเรียก็ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาชนบัลแกเรีย (Peopleûs Republicof Bulagaria) เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๖ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖
     ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ปรากฏว่าองค์การแนวร่วมเพื่อปิ ตุภูมิได้รับเลือก ๓๖๔ ที่นั่งซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีพรรคคอมมิวนิสต์รวมอยู่ด้วย ๒๗๗ ที่นั่ง ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ ได้ ๑๐๑ ที่นั่งพรรคคอมมิวนิสต์จึงได้อำนาจปกครองประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมาโดยมีเกออร์กีดิมีทรอฟ (Georgi Dimitrov) เลขาธิการองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (ThirdInternational) หรือโคมินเทิร์น (Comintern) และผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๙ ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ได้ดำเนินการกวาดล้างพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนเกือบหมดยกเว้นพรรคสหภาพชาวนาแห่งชาติบัลแกเรีย (Bulgarian Agrarian NationalUnion - BANU) ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรที่ร่วมกันก่อตั้งองค์การแนวร่วมเพื่อปิตุภูมินโยบายกวาดล้างดังกล่าวมีส่วนทำให้บัลแกเรียซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญญาชนเป็นจำนวนน้อยอยู่แล้วยิ่งลดน้อยลงไปอีก สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ในเวลาต่อมาโดยเฉลี่ยมักจะมีการศึกษาไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หลังอสัญกรรมของโจเซฟ สตาลิน(Joseph Stalin) ผู้นำสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๕๓ บัลแกเรียซึ่งดำเนินนโยบายตามสหภาพโซเวียตอย่างเคร่งครัดก็ยกเลิกนโยบายจับกุมและกวาดล้าง ทั้งปรับแนวนโยบายทางการเมืองให้มีลักษณะยืดหยุ่นและผ่อนปรนมากขึ้น หลัง ค.ศ. ๑๙๕๖เป็นต้นมา ประชาชนที่เคยถูกจับขังและต้องโทษหนักในค่ายกักกัน (ConcentrationCamps) ก็เริ่มได้รับการกู้เกียรติให้กลับสู่สถานภาพเดิมทางสังคม
     ในช่วง ๑๐ ปีแรกของการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ บัลแกเรียจัดรูปแบบการปกครองประเทศตามแบบสหภาพโซเวียตทุกประการ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๖ ของสหภาพโซเวียต รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับดิมีทรอฟ เนื่องจากเขามีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์เป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองประเทศ และเป็นแกนนำทางสังคมและเศรษฐกิจ มีการจัดตั้งหน่วยตำรวจลับเพื่อคอยสอดส่องควบคุมประชาชนและเพื่อขจัดศัตรูของพรรค ตลอดจนมีการสร้างค่ายกักกันแรงงาน นอกจากนี้ มีการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางและกำหนดใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจทุก ๕ ปี โดยเน้นความสมดุลของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรมเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของรายได้ระหว่างเมืองกับชนบทและให้นำระบบนารวมมาใช้อย่างกว้างขวางในภาคเกษตรกรรม ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้สัดส่วนระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรม ทำให้บัลแกเรียไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ทั้งมีเสถียรภาพที่มั่นคงทางการเมืองและสังคมด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ยังจัดโครงการสวัสดิการทางสังคมด้านต่าง ๆ และสนับสนุนให้สตรีมีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำสหภาพโซเวียตเริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-stalinization) และปรับนโยบายต่างประเทศกับกลุ่มรัฐบริวารโซเวียต (Soviet bloc) ด้วยการยอมรับแนวทางอันหลากหลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกในการสร้างและพัฒนาประเทศบนเส้นทางสังคมนิยม บัลแกเรียโดยการนำของโทดอร์ ชิฟคอฟ(Todor Zhivkov ปกครองระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๘๙) ก็ปรับนโยบายต่างประเทศให้มีลักษณะยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์ทางการทู ตกับประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน และกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นกับประเทศสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization - WTO) และองค์การโคเมคอน (Comecon) พรรคคอมมิวนิสต์ยังผ่อนปรนความเข้มงวดทางการเมืองและสังคมด้วยการยุบค่ายกักกันแรงงานและนโยบายการปราบปรามกวาดล้างอย่างรุนแรง ทั้งให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารประเทศด้วย ขณะเดียวกันก็เน้นนโยบายด้านสวัสดิการสังคมมากขึ้น เป็นต้นว่า โครงการสร้างที่อยู่อาศัยเป็นระยะอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน การปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้พลเมืองทุกคนอ่านออกเขียนได้และกำหนดการศึกษาภาคบังคับสำหรับพลเมืองวัย๖-๑๗ ปี การเพิ่มบริการด้านสุขภาพอนามัยและอื่น ๆ บรรยากาศเสรีที่ครอบคลุมทั่วประเทศตลอดระยะเวลา ๓๕ ปีของสมัยการปกครองของโทดอร์ ชิฟคอฟจึงมีส่วนทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมไม่รุนแรงเหมือนประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของปัญญาชนจึงเกือบจะหยุดนิ่งยกเว้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ ที่ปัญญาชนก่อการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนกลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77) ซึ่งเป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนในประเทศเชโกสโลวะเกีย(Czechoslovakia) แต่รัฐบาลก็ปราบปรามได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สอดคล้องกับสหภาพโซเวียตและการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตทางการค้า ก็ทำให้สหภาพโซเวียตเชื่อมั่นและไว้วางใจบัลแกเรีย บัลแกเรียจึงไม่มีกองทหารโซเวียตประจำการอยู่ในประเทศเหมือนประเทศในยุโรปตะวันออกอื่น ๆ
     ในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เมื่อประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (MikhailGorbachev) ผู้นำสหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายกลาสนอตส์-เปเรสตรอยกา(Glasnost-Perestroika) หรือนโยบายเปิ ด-ปรับ เพื่อปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและผ่อนคลายการควบคุมประเทศยุโรปตะวันออก นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้ประชาชนในประเทศยุโรปตะวันออกเห็นเป็นโอกาสก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มล้างอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์และแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต แม้บัลแกเรียในระยะแรก ๆ จะพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหภาพโซเวียตไว้ แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆที่เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolution of 1989) ได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในประเทศจนทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์ต้องหมดอำนาจลงในเวลาต่อมา การเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียซึ่งก่อตัวขึ้นที่กรุงโซเฟียในต้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๘๙ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ ชนวนเหตุของการต่อต้านที่สำคัญประการหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายบังคับให้เป็นบัลแกเรีย (Bulgarianization) ของพรรคคอมมิวนิสต์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๔-๑๙๘๙ ซึ่งทำให้ชาวบัลแกเรียเชื้อสายตุรกีกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คนถูกเนรเทศไปตุรกี การใช้นโยบายดังกล่าวมีสาเหตุจากในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ มีชาวตุรกีจำนวนมากอพยพเข้ามาเป็นแรงงานภายในประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จึงหวาดระแวงว่าแรงงานอพยพดังกล่าวจะมีส่วนทำให้พลเมืองเชื้อสายตุรกีที่เป็นชนกลุ่มน้อยถูกโน้มน้าวหรือหลอมกลืนให้ยอมรับอำนาจและอิทธิพลของตุรกีรัฐบาลจึงบังคับให้พลเมืองเชื้อสายตุรกีเปลี่ยนบัตรประจำตัวและชื่อที่มีสำเนียงอิสลามให้เป็นภาษาบัลแกเรีย และห้ามประกอบกิจกรรมทางศาสนา มาตรการบังคับดังกล่าวทำให้พลเมืองเชื้อสายตุรกีก่อการเคลื่อนไหวประท้วงโดยได้รับการหนุนช่วยจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และองค์การนิรโทษกรรมสากล (AmnestyInternational) รัฐบาลตอบโต้ด้วยการจับคุมขังและเนรเทศ และห้ามการจับกลุ่มชุมนุมในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ความขัดแย้งภายในพรรคด้านแนวนโยบายระหว่างกลุ่มปฏิรูปกับกลุ่มหัวอนุรักษ์ซึ่งนำไปสู่การปลดผู้นำคนสำคัญของกลุ่มปฏิรูปออกจากพรรคก็สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นทั่วไป ขณะเดียวกันสภาวะเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยและกระแสการวิพากษ์โจมตีพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงและต่อเนื่องก็ทำให้การชุมนุมต่อต้านของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเริ่มจากกลุ่มต่อต้านมลภาวะสิ่งแวดล้อมและเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ก็มีพลังและขยายตัวมากขึ้น จนท้ายที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑๐พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙พรรคคอมมิวนิสต์ก็สามารถยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองลงได้เมื่อประกาศปลดโทดอร์ ชิฟคอฟซึ่งปกครองประเทศถึง ๓๕ ปีออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศและขับไล่ออกจากพรรค โดยแต่งตั้งเปตูร์ มลาเดนอฟ (Petur Mladenov) ผู้นำหัวปฏิรูปให้ดำรงตำแหน่งแทน ทั้งประกาศนโยบายปฏิรูปประเทศตามแนวทางประชาธิปไตยโดยยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองและกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ต่อมา ิชฟคอฟถูกจับดำเนินคดีข้อหาทุจริตและฉ้อฉลระหว่างอยู่ในอำนาจ และในกลาง ค.ศ. ๑๙๙๒ แม้เขาจะถูกตัดสินจำคุก ๘ ปีแล้ว แต่ก็ยังคงถูกพิจารณาคดีอีกด้วยข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ
     ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ สภาแห่งชาติบัลแกเรียมีมติให้แก้ไขและยุบเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๗๑ จำนวน ๒๑ มาตราที่ระบุการค้ำประกันสิทธิและอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองประเทศและเป็นแกนนำทางเศรษฐกิจและสังคม มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกาศใช้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ สาระสำคัญคือการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่และสิทธิเสรีภาพของพลเมือง เสรีภาพในการนับถือศาสนา และการกำหนดให้ประธานาธิบดีซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน ๕ ปี และคุณสมบัติสำคัญของผู้จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปีและมีภูมิลำเนาอยู่ในบัลแกเรียติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๕ ปี การกำหนดคุณสมบัติบางประการดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้พระเจ้าซิเมโอนที่ ๒ ที่ทรงลี้ภัยต่างประเทศตั้งแต่ค.ศ. ๑๙๔๖ ได้มีโอกาสกลับมาปกครองประเทศอีก นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐบัลแกเรียและให้นำเพลงประจำชาติและธงชาติที่ใช้มาก่อนค.ศ. ๑๙๔๗ กลับมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอีกครั้งหนึ่ง
     ระหว่างปลาย ค.ศ. ๑๙๘๙ ถึงกลาง ค.ศ. ๑๙๙๐ บัลแกเรียประสบกับปัญหายุ่งยากทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการถอนตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐิจ ขณะเดียวกันการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นในกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๐ ก็ทำให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ เน้นความสนใจเฉพาะหน้าไปที่การเตรียมการเลือกตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์ได้ปรับโครงสร้างการบริหารและเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมนิยมบัลแกเรีย(Bulgarian Socialist Party - BSP) ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ นั้นพรรคที่โดดเด่นมากที่สุดคือพรรคสหภาพแห่งพลังประชาธิปไตย (Union of Democratic Forces -UDF) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มฝ่ายค้านต่าง ๆ กว่า ๑๐ กลุ่มโดยมีพรรคสหภาพชาวนาบัลแกเรียในอดีตเป็นแกนนำอย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกปรากฏว่าพรรคสังคมนิยมบัลแกเรียซึ่งมีนโยบายปฏิรูปได้รับชัยชนะและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศ ชัยชนะดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรคมีฐานเสียงที่แข็งแกร่งตามเขตชนบทและหัวเมือง ทั้งพรรคการเมืองอื่น ๆ ขาดประสบการณ์ทางการเมือง แต่ปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาลผสมและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยึดเยื้อซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้พรรคสังคมนิยมบัลแกเรียต่อมาต้องลาออก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๑ พรรคสหภาพแห่งพลังประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากเป็นอันดับสองจึงได้จัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์บริหารประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๖ โดยมีเชลูย์เชเลฟ (Zhelyu Zhelev) ผู้นำพรรคเป็นประธานาธิบดีแต่ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๔-๑๙๙๖พรรคสังคมนิยมบัลแกเรียได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง เพราะประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนอย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๙๖-๒๐๐๑พรรคสหภาพแห่งพลังประชาธิปไตยก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ
     ในกลาง ค.ศ. ๑๙๙๑ แม้องค์การโคเมคอนและองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจะถูกยุบเลิก แต่บัลแกเรียยังคงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดทางการค้าและการทูตกับสหพันธรัฐรัสเซีย และกลุ่มอดีตประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ขณะเดียวกันบัลแกเรียก็ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตและร่วมมือกับประเทศยุโรปตะวันตกมากขึ้นโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีใน ค.ศ. ๑๙๙๒ บัลแกเรียเป็นสมาชิกสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) และภาคีสมาชิกของสหภาพยุโรปตะวันตก(Associate Partner of Western European Union - WEU) รวมทั้งสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) ตลอดจนธนาคารโลก นอกจากนี้ บัลแกเรียยังร่วมมือกับ ๖ ประเทศในเครือรัฐเอกราช(Commonwealth of Independent States - CIS) และประเทศยุโรปอื่น ๆ รวม๑๐ ประเทศลงนามกติกาสัญญาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเขตทะเลดำ (BlackSea Economic Co-operation Pact) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค และเพื่อเสริมการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของประชาคมยุโรป (European Community - EC) ต่อมาบัลแกเรียยังเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตในฐานะภาคีเพื่อสันติภาพ (Nato-Partnership for Peace)ด้วย
     ในทศวรรษ ๑๙๙๐ บัลแกเรียเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสังคมนิยมเป็นระบอบประชาธิปไตยและตลาดเสรีเช่นเดียวกันกับประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีอุปสรรคนานัปการ รัฐบาลผสมที่บริหารประเทศแต่ละชุดพยายามผลักดันนโยบายการแปรรูปที่ดินและวิสาหกิจอุตสาหกรรมตลอดจนแก้ปัญหาการว่างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งประสบความสำเร็จไม่มากนัก มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยครั้ง และปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็มีมาก อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ.๑๙๙๗ รัฐบาลเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น เพราะยอมปรับแนวนโยบายเศรษฐกิจตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทั้งได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา สภาวะเงินเฟ้อร้อยละ ๒๔๒.๗ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๗ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๑.๗ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ และหนี้สินจากต่างประเทศก็ลดลง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๐ รัฐบาลเริ่มโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นครั้งที่สอง และดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจทางด้านต่าง ๆ ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ทั้งยังกู้ยึมเงินจากธนาคารโลกและสหภาพยุโรป (European Union) จำนวนกว่า ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐมาพัฒนาประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์คอซอวอ (Kosovo Crisis) บัลแกเรียสนับสนุนองค์การนาโตในการใช้กำลังโจมตีทางอากาศต่อเซอร์เบีย ทั้งยอมให้เครื่องบินของนาโตใช้น่านฟ้าของประเทศได้ การสนับสนุนดังกล่าวมีส่วนทำให้สหรัฐอเมริกาสนับสนุนบัลแกเรียให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโตในเวลาต่อมา
     ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ซิเมโอนที่ ๒อดีตกษัตริย์ของบัลแกเรียซึ่งลี้ภัยออกนอกประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเข้าประเทศได้ซิเมโอนที่ ๒ ในวัย ๕๙ ปี ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่งและได้เปลี่ยนชื่อเป็นซิเมโอนซัคสโคบูร์กกอตสกี (Simeon Sakskoburggotski) ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นโดยมีชื่อว่าพรรคขบวนการแห่งชาติ (National Movement Party) ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๑ พรรคขบวนการแห่งชาติของซิเมโอนได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ ชัยชนะของพรรคขบวนการแห่งชาติมาจากตัวของซิเมโอนเองเพราะประชาชนต่างชื่นชมเขา และเชื่อมั่นว่าพรรคการเมืองเขาที่ยังไม่มีประวัติด่างพร้อยทางการเมืองจะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงได้ ซิเมโอนได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ และเขาดำเนินนโยบายผลักดันให้บัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโตได้สำเร็จใน ค.ศ. ๒๐๐๔และการจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปใน ค.ศ. ๒๐๐๗ เขาประกาศว่าจะไม่ืร้อฟื้นระบอบกษัตริย์ และจะผลักดันบัลแกเรียให้เจริญก้าวหน้าเท่าเทียมประเทศยุโรปอื่น ๆรวมทั้งทำให้บัลแกเรียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ต่อมา ใน ค.ศ. ๒๐๐๗บัลแกเรียก็ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของสหภาพยุโรปซึ่งนับเป็นประเทศสมาชิกใหม่ล่าสุดร่วมกันกับโรมาเนีย ในสหภาพยุโรป.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐบัลแกเรีย (Republic of Bulgaria)
เมืองหลวง
โซเฟีย (Sofia)
เมืองสำคัญ
บูร์การ์ (Burgar) วาร์นา (Varna) และคานซานลุก (Kanzanluk)
ระบอบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๑๑๐,๙๑๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศโรมาเนีย ทิศตะวันออก : ทะเลดำ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ : ประเทศตุรกีทิศใต้ : ประเทศกรีซ ทิศตะวันตก : ประเทศเซอร์เบีย และประเทศมาซิโดเนีย
จำนวนประชากร
๗,๓๒๒,๘๕๘ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
บัลแกเรียร้อยละ ๘๓.๙ เติร์กร้อยละ ๙.๔ และอื่น ๆ ร้อยละ ๖.๗
ภาษา
บัลแกเรีย
ศาสนา
คริสต์นิกายบัลแกเรียออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๘๒.๖ อิสลามร้อยละ ๑๒.๒ และอื่น ๆ ร้อยละ ๕.๒
เงินตรา
เลฟ (lev)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป