Belarus, Republic of

สาธารณรัฐเบลารุส




     สาธารณรัฐเบลารุสเป็นประเทศเล็กที่สุดในกลุ่มประเทศสาธารณรัฐสลาฟอันประกอบด้วยสหพันธรัฐรัสเซีย ยู เครน (Ukraine) และเบลารุส เป็นดินแดนที่ไม่มีทางออกทะเลและเคยอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย มาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ แต่ประกาศเป็นเอกราชช่วงสั้น ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ สหภาพโซเวียตก็เข้ายึดครองเบลารุสอีกครั้งหนึ่งอย่างไรก็ตามในทศวรรษ ๑๙๙๐ เบลารุสประกาศเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๕สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ และในเดือนกันยายนก็เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐเบลารุสทั้งร่วมก่อตั้งกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of IndependentStates - CIS) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑
     เบลารุสเป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคหินเก่า และนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๖ ชนเผ่าสลาฟตะวันออกซึ่งอพยพมาจากยุโรปตอนกลางเข้ามาตั้งรกรากอย่างถาวร และจัดตั้งชุมชนการค้าและเมืองขึ้นตามบริเวณลุ่มแม่น้ำ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๙พวกสลาฟรวมตัวจัดตั้งเป็นราชอาณาจักรขึ้นโดยมีราชอาณาจักรที่สำคัญคือราชอาณาจักรโปตอตสค์ (Pototsk Kingdom) ซึ่งปัจจุบันมีการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ถึงอารยธรรมอันเก่าแก่ของเบลารุสและหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเมืองโปตอตสค์เป็นเมืองโบราณเก่าที่รุ่งเรืองซึ่งสร้างขึ้นใน ค.ศ. ๘๖๒ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ เบลารุสยอมสวามิภักดิ์ ต่อราชอาณาจักรเคียฟ (Kiev Rus)ของชาวรัสเซีย เพื่อให้ปกป้องตนจากการรุกรานของศัตรูภายนอก และในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ เบลารุสก็หันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายออร์ทอดอกซ์ (Orthodox) ซึ่งทำให้มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) และมีส่วนทำให้งานศิลปวัฒนธรรมของเบลารุสพัฒนาเจริญขึ้นเมื่อราชอาณาจักรเคียฟเสื่อมอำนาจและล่มสลายลงใน ค.ศ. ๑๒๔๐อันเป็นผลจากปัญหาความแตกแยกทางการเมืองภายในและการรุกรานของพวกมองโกล เบลารุสก็ถูกแกรนด์ดัชชีลทัวเนีย (Grand Duchy of Lithuania) เข้ายึดครอง
     แม้เบลารุสจะอยู่ใต้การปกครองของลิทัวเนีย เป็นเวลาเกือบ ๔๐๐ ปี แต่ก็มีอำนาจการปกครองภายในของตนเอง ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมของลิทัวเนีย ให้เจริญขึ้นเป็นต้นว่าระบบการเงินและกฎหมายจารีตนิยม ภาษาราชการ และรูปแบบความสัมพันธ์ทางการทูต นักประวัติศาสตร์ชาวเบลารุสปัจจุบันจึงมักกล่าวอ้างว่าลิทัวเนีย ไม่ได้เป็นผู้ปกครองเบลารุสอย่างแท้จริงแต่ทั้ง ๒ รัฐต่างปกครองร่วมกันในลักษณะรัฐคู่ (dual state) ที่เรียกว่าลิทัวเนีย -เบลารุส ต่อมาเมื่อลิทัวเนีย ขยายอาณาเขตครอบคลุมถึงรัฐเคียฟ พลเมืองของเบลารุสได้ผสมผสานกับพวกเคียฟจนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในลิทัวเนีย ภาษารูทีเนีย (Ruthenian) ของเบลารุสจึงกลายเป็นภาษาราชการ และคริสต์ศาสนานิกายออร์ทอดอกซ์ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของพวกสลาฟก็มีอิทธิพลในสังคมลิทัวเนีย เมืองวิลนีอุส (Vilnius) เมืองหลวงของลิทัวเนีย กลายเป็นเมืองสำคัญและศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของเบลารุสด้วย เบลารุสในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จึงมีชื่อเรียกใหม่อีกชื่อหนึ่งว่าไวต์รุส (White Rus) หรือไวต์รูทีเนีย (White Ruthenia)ซึ่งหมายถึงพวกรัสเซีย ขาวที่สืบสายวัฒนธรรมมาจากพวกสลาฟ-รัสเซีย เครื่องแต่งกายประจำชาติเป็นสีขาว และเคยเป็นไทจากการครอบครองของพวกตาร์ตาร์ (Tartar)ตลอดจนนับถือคริสต์ศาสนาเช่นเดียวกับพวกแบล็กรัสเซีย (Black Russia) หรือสลาฟตะวันตก
     การขยายอำนาจของราชอาณาจักรมอสโกวี (Kingdom of Moscovy)เข้าไปในดินแดนยุโรปตะวันออก ในรัชสมัยซาร์อีวานที่ ๔ (Ivan IV ค.ศ. ๑๕๓๓-๑๕๘๔)หรืออีวานผู้เหี้ยมโหด (Ivan the Terrible) ทำให้ลิทัวเนีย ซึ่งถูกคุกคามได้สถาปนาความสัมพันธ์กับโปแลนด์ และหันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก เบลารุสพยายามขัดขวางความสัมพันธ์ดังกล่าวแต่ล้มเหลว ใน ค.ศ. ๑๕๖๙ ลิทัวเนีย และโปแลนด์ ทำข้อตกลงทางการเมืองในสนธิสัญญาสหภาพแห่งลูบิน (Treaty Union ofLublin) จัดตั้งการปกครองแบบสมาพันธรัฐที่เรียกว่าเครือจักรภพโปแลนด์ -ลิทัวเนีย (Polish-Lithuanian Commonwealth) ขึ้น แต่ปัญหาการเมืองภายในลิทัวเนีย เปิดโอกาสให้โปแลนด์ เข้าผนวกลิทัวเนีย เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนในเวลาต่อมาทั้งโปแลนด์ ยังพยายามขยายอำนาจการปกครองและอิทธิพลทางวัฒนธรรมในดินแดนเบลารุสด้วย แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนักเพราะเบลารุสต่อต้านอย่างแข็งแกร่งด้วยการสนับสนุนส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรมของตนอย่างมากเพื่อปลุกเร้าความรักชาติไม่ให้โปแลนด์ มีอิทธิพลทางวัฒนธรรม ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวัฒนธรรมเบลารุส มีการจัดพิมพ์หนังสือที่เขียนเป็นภาษาเบลารุสออกเผยแพร่ ศิลปิน สถาปนิก และจิตรกรชาวเบลารุส ล้วนมีชื่อเสียงและผลงานของพวกเขาเป็นที่ต้องการทั่วไปในดินแดนต่าง ๆของยุโรป นอกจากนี้ การค้าที่พัฒนาเจริญขึ้นทำให้จำนวนชาวยิวที่เป็นพ่อค้าและช่างฝีมือเพิ่มมากขึ้นและมีบทบาทสำคัญในสังคม ชาวยิวดังกล่าวได้ช่วยพัฒนาเส้นทางการค้า การคมนาคม และการสื่อสารจากกรุงวอร์ซอ (Warsaw) โปแลนด์ หรือเมืองวิลนีอุสลิทัวเนีย ผ่านกรุงมินสก์ (Minsk) เข้าไปรัสเซีย ที่เมืองสโมเลนสค์(Smolensk) และต่อไปยังกรุงมอสโกได้สะดวกมากขึ้น เบลารุสจึงกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างยุโรปทางตะวันออกกับตะวันตก ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I, ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) แห่งฝรั่งเศส ได้ใช้เส้นทางที่ผ่านเบลารุสดังกล่าวบุกโจมตีกรุงมอสโกใน ค.ศ. ๑๘๑๒ และใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนี ก็บุกกรุงมอสโกโดยใช้เส้นทางเดียวกันนี้ด้วย
     แม้เบลารุสจะแยกตนเป็นอิสระจากลิทัวเนีย ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕และพยายามต่อต้านการขยายอำนาจทางการเมืองของโปแลนด์ แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ โปแลนด์ ก็สามารถครอบครองเบลารุสได้ โปแลนด์ ดำเนินนโยบายกดขี่เบลารุสด้วยการยกเลิกการใช้ภาษาเบลารุสเป็นภาษาประจำราชสำนักและในวงราชการ และห้ามพลเมืองที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายออร์ทอดอกซ์มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งในส่วนท้องถิ่น ตลอดจนบังคับให้นิกายออร์ทอดอกซ์ขึ้นต่อสันตะปาปาอีกทั้งยังสั่งปิดศาสนสถานของพวกออร์ทอดอกซ์ และให้ชาวยิวเข้ามาเช่าใช้ประโยชน์แทน ความเจริญทางวัฒนธรรมของเบลารุสจึงหยุดชะงักลงและชาวเบลารุสจำนวนไม่น้อยลี้ภัยไปอยู่ทางตอนใต้ของรัฐยู เครน และบ้างก็ติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย ต่อมา เมื่อโปแลนด์ อ่อนแอลงและถูกปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซีย เข้าครอบครองและแบ่งแยกดินแดนรวม ๓ ครั้ง ใน ค.ศ. ๑๗๗๒,ค.ศ. ๑๗๙๓ และ ค.ศ. ๑๗๙๕ ซึ่งมีผลให้โปแลนด์ ทั้งประเทศสูญหายไปจากแผนที่ของยุโรป เบลารุสก็ถูกผนวกรวมเข้ากับจักรวรรดิรัสเซีย ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘
     รัสเซีย ใช้นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย (Russianization) ในการปกครองเบลารุสและควบคุมการเคลื่อนไหวของปัญญาชนอย่างเข้มงวด ในค.ศ. ๑๘๓๙ รัฐบาลรัสเซีย บังคับให้องค์การศาสนจักรของเบลารุสรวมเข้ากับนิกายออร์ทอดอกซ์รัสเซีย และระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๙-๑๙๐๖ ก็ห้ามใช้ภาษาเบลารุสในโรงเรียนและการดำเนินกิจกรรมทางสังคม นโยบายดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมของเบลารุสหยุดชะงักลง นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะ ล้าหลัง ชาวรัสเซีย ยิว และชาวโปลซึ่งกุมอำนาจทางเศรษฐกิจจึงเป็นประชากรหลักที่มีบทบาทสำคัญทางสังคมในเมืองและชนบท ในขณะที่ชาวเบลารุสส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวนา และยากจน การเคลื่อนไหวของปัญญาชนเพื่อปลุกจิตสำนึกทางการเมืองและกระตุ้นความรักชาติในหมู่ประชาชนจึงแทบจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักอย่างไรก็ตาม ในช่วง ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๘๖๔ ปัญญาชนสามารถโน้มน้าวให้ชาวนาก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซีย ได้สำเร็จ และนับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ ผลกระทบที่สำคัญคือในช่วงทศวรรษ ๑๘๗๐ มีการก่อตั้งองค์การลับทางการเมืองของปัญญาชนรักชาติชาวเบลารุสในรัสเซีย ขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) และออกนิตยสารการเมือง Gomon เพื่อเผยแพร่แนวนโยบายองค์การดังกล่าวต่อมามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากรัสเซีย
     เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution) ค.ศ. ๑๙๑๗ในรัสเซีย ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov) สิ้นอำนาจทางการเมืององค์การการเมืองของปัญญาชนรักชาติชาวเบลารุสและกลุ่มนักสังคมนิยมจึงเห็นเป็นโอกาสร่วมกันจัดตั้งสภาแห่งชาติ(Rada) ขึ้นและประกาศอำนาจอธิปไตยเป็นสาธารณรัฐประชาชนเบโลรัสเซีย (Belorussian People Republic) แต่หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซีย พรรคบอลเชวิค(Bolsheviks) ได้ส่งกองทัพแดง (Red Army) บุกกรุงมินสก์และล้มอำนาจสภาแห่งชาติลง อย่างไรก็ตาม เมื่อรัสเซีย ถอนตัวจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ และถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk) กับประเทศมหาอำนาจกลาง (Central Powers) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ดินแดนส่วนใหญ่ของเบลารุสตกเป็นของเยอรมนี แต่เมื่อเยอรมนี พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เบลารุสได้ประกาศตนเป็นเอกราชเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ แต่ก็เป็นช่วงเวลาอันสั้นเพราะในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ สหภาพโซเวียตก็เข้ายึดครองเบลารุสอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนสถานภาพเป็นสาธารณรัฐในสังกัดสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republic - USSR) และเรียกชื่อประเทศเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบโลรัสเซีย หรือบิเอโลรัสเซีย (Belorussia(Byelorussia) Soviet Socialist Republic) เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ เบโลรัสเซีย ได้เข้าร่วมกับลิทัวเนีย ประเทศเพื่อนบ้านจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลิทัวเนีย -เบโลรัสเซีย (Lithuanian-BelorussianSoviet Socialist Republic) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ลิตเบล”(Litbel)
     เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย กับโปแลนด์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙โปแลนด์ บุกเข้ายึดครองทั้งลิทัวเนีย และเบลารุส แต่ต่อมากองทัพแดงสามารถยึดกรุงมินสก์คืนได้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ซึ่งนำไปสู่การประกาศแยกตัวเป็นเอกราชของลิทัวเนีย และการลงนามในสนธิสัญญาแห่งริกา (Treaty of Riga) ระหว่างรัสเซีย กับโปแลนด์ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาดังกล่าวดินแดนส่วนที่เป็นเบลารุสตะวันตกถูกรวมเข้ากับโปแลนด์ และเบลารุสตะวันออกรวมเข้ากับรัสเซีย ซึ่งทำให้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบโลรัสเซีย ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมา เบโลรัสเซีย ยู เครน และกลุ่มสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคเซีย (Transcaucasian Socialist Federal SovietRepublics) ตลอดจนสหพันธรัฐรัสเซีย ก็ร่วมกันจัดตั้งเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และค.ศ. ๑๙๒๖ สหภาพโซเวียตก็คืนอำนาจการปกครองดินแดนเบลารุสตะวันออกให้แก่สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบโลรัสเซีย
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๘ สหภาพโซเวียตส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและให้เสรีภาพทางวัฒนธรรมแก่เบลารุสเพื่อเสริมสร้างความนิยมในระบอบการปกครองของโซเวียต เบลารุสจึงเริ่มพัฒนาเป็นรัฐอุตสาหกรรมและภาษาเบโลรัสเซีย ก็มีบทบาทสำคัญทางการศึกษา สิ่งพิมพ์ และในวงราชการอีกครั้งหนึ่ง ประมาณว่าระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๓๘ จำนวนหนังสือที่เผยแพร่เป็นภาษาเบโลรัสเซีย เพิ่มปริมาณจาก ๑.๓ ล้านเล่มเป็น ๑๒.๓ ล้านเล่ม และจำนวนคนอ่านออกเขียนได้ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อโจเซฟ สตาลิน (JosephStalin) ผู้นำสหภาพโซเวียตสืบต่อจากวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) เริ่มบังคับใช้นโยบายการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) และดำเนินการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges) ในทศวรรษ ๑๙๓๐ นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การต่อต้านและการก่อจลาจลของชาวนาเบลารุสอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลโซเวียตก็ปราบปรามอย่างรุนแรง และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙ ปัญญาชนและชาวเบลารุสผู้รักชาติถูกกำจัดเป็นจำนวนมาก
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหภาพโซเวียตร่วมลงนามเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-SovietNon-aggression Pact) เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ กติกาสัญญาดังกล่าวเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตในเงื่อนไขตามความตกลงลับ ค.ศ. ๑๙๓๙ บุกเข้ายึดครองเบลารุสตะวันตกของโปแลนด์ และดินแดนสามรัฐบอลติก (Baltic States) ซึ่งประกอบด้วย ลัตเวีย เอสโทเนีย และลิทัวเนีย ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ต่อมา เมื่อเยอรมนี ละเมิดกติกาสัญญาไม่รุกรานกันด้วยการบุกโจมตีสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายนค.ศ. ๑๙๔๑ โดยเดินทัพผ่านเบลารุสบุกโจมตีกรุงมอสโก เบลารุสกลายเป็นสมรภูมิที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก พลเมืองเบลารุสจัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านนาซีอย่างแข็งแกร่ง จนเยอรมนี ต้องใช้นโยบายกวาดล้างด้วยการเผาทำลายหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ และสังหารพลเมืองอย่างทารุณ รวมทั้งกวาดต้อนไปค่ายกักกัน(Concentration Camp) ประมาณว่า ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๔ ที่เยอรมนี ยึดครองเบลารุสพลเมืองเบลารุสโดยเฉพาะชาวยิวถูกสังหารกว่า ๒.๕ ล้านคน เบลารุสจึงเป็นเพียงประเทศเดียวที่สูญเสียพลเมืองชาวยิวในระหว่างสงครามมากกว่าสาธารณรัฐโซเวียตอื่น ๆ
     อย่างไรก็ตาม ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๔ สหภาพโซเวียตก็สามารถปลดปล่อยเบลารุสจากการยึดครองของเยอรมนี ได้สำเร็จ ในการประชุมยัลตา (YaltaConference) ระหว่างวันที่ ๔-๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยอมรับข้อเสนอของสหภาพโซเวียตเป็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับการแบ่งเขตอิทธิพลในยุโรป รวมทั้งแนวพรมแดนโปแลนด์ -สหภาพโซเวียตโดยกำหนดให้ใช้แนวพรมแดนเคอร์เซิน (Curzon Line) ซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่เป็นแนวพรมแดนระหว่าง ๒ ประเทศ ทำให้การรวมเบลารุสตะวันตกเข้ากับเบลารุสตะวันออกของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นทางการนอกจากนี้ สหภาพโซเวียตซึ่งต้องการเสียงสนับสนุนในองค์การสหประชาชาติ(United Nations) ที่นานาประเทศร่วมกันจัดตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามยังเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกยอมให้เบลารุสเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งมีผลให้เบลารุสกลายเป็น ๑ ใน ๕๑ ประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายนค.ศ. ๑๙๔๕ด้วย
     ในทศวรรษ ๑๙๕๐ ถึง ๑๙๗๐ เบลารุสมุ่งบูรณะฟื้นฟูประเทศโดยส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักและยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปีของสหภาพโซเวียตเป็นแนวทางการพัฒนาระบอบเศรษฐกิจ ในเวลาอันสั้นเบลารุสก็พัฒนาเป็นศูนย์อุตสาหกรรมและการผลิตในภูมิภาคตะวันตกของสหภาพโซเวียต ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวรัสเซีย จำนวนมากอพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศจนกลายเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่แทนที่พวกยิวที่ถูกกวาดล้างในระหว่างสงคราม และเริ่มมีบทบาททางสังคมและการเมืองมากขึ้น เมื่อสหภาพโซเวียตใช้นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียต(Sovietnization)พลเมืองชาวรัสเซีย ก็กลายเป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ ชนที่มีอิทธิพลในสังคมและต่อมามีการห้ามใช้ภาษาเบโลรัสเซีย ในวงการศึกษาและวัฒนธรรม ภาษารัสเซีย กลายเป็นภาษาราชการ และพลเมืองที่เติบโตช่วงหลังสงครามเริ่มลืมภาษาเบโลรัสเซีย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันเฉพาะในเขตชนบทหัวเมืองและในกลุ่มคนรุ่นเก่า แม้เบลารุสจะมีปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมแต่ประเทศก็พัฒนาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหนึ่งในสาธารณรัฐโซเวียตที่เจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียตและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าสาธารณรัฐโซเวียตอื่น ๆ เพราะมีสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลายและเพียงพอกับความต้องการของพลเมือง ความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจดังกล่าวยังส่งผลให้จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ เมื่อประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)ผู้นำสหภาพโซเวียตเริ่มนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika)หรือนโยบายเปิด-ปรับ เพื่อปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยทุก ๆด้าน และให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้นแก่สาธารณรัฐโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นรัฐบริวารโซเวียต ปัญญาชนและนักเขียนเบลารุสได้ใช้เงื่อนไขทางการเมืองที่ผ่อนคลายดังกล่าวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์เบลารุสปฏิรูปประเทศทางการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้ใช้ภาษาเบโลรัสเซีย ในวงการศึกษาโดยเฉพาะตามเขตเมืองต่าง ๆ เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่เชียร์โนบีล (ChernobylAccident) ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐยู เครนในปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๘๖ ละอองกัมมันตภาพรังสีที่แพร่กระจายไปในอากาศไม่เพียงเฉพาะพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุและบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของเบลารุสที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ๒.๕ ล้านคนด้วย ปัญญาชนจึงเคลื่อนไหวโจมตีสหภาพโซเวียตและรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เบลารุสอย่างหนักและเรียกร้องให้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและกำหนดมาตรการความช่วยเหลือที่รัฐต้องเร่งดำเนินการและอื่น ๆ การเคลื่อนไหวของปัญญาชนและนักเขียนดังกล่าวจึงนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวสำคัญ ๒ กลุ่มคือ สมาคมภาษาเบโลรัสเซีย (Belorussian Language Association) และสหภาพนิเวศวิทยาเบโลรัสเซีย (Belorussian Ecological Union) ซึ่งในเวลาต่อมาสมาชิกของทั้ง ๒ กลุ่มได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาชนเบโลรัสเซีย (Belorussian Popular Front - BPF) ขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ กลุ่มแนวร่วมประชาชนเบโลรัสเซีย จึงกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในสังคม และเมื่อมีการค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่ที่เมืองคูราปาตี (Kurapaty) ซึ่งมีซากกระดูกคนกว่า ๒๕๐,๐๐๐ ซาก กลุ่มที่ต่อต้านโซเวียตก็กล่าวหาว่าสหภาพโซเวียตในสมัยสตาลินได้กวาดล้างชาวเบลารุสเพื่อมุ่งทำลายเบลารุส เบลารุสจึงจำเป็นต้องแยกตัวออกจากโซเวียต ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีส่วนปลุกเร้าความรักชาติและความต้องการเป็นเอกราช ในต้น ค.ศ.๑๙๙๐ กลุ่มแนวร่วมประชาชนเบโลรัสเซีย สามารถผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายประกาศให้ภาษาเบลารุสเป็นภาษาประจำชาติได้สำเร็จโดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๙๐
     ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ เบลารุสสนับสนุนร่างสนธิสัญญาร่วมสหภาพใหม่ (Treaty of New Union) ของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟที่จะแก้ปัญหาการแยกตัวออกของสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ จากสหภาพโซเวียตโดยยินยอมให้รัฐบาลระดับสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ มีอำนาจอธิปไตยในการดำเนินการภายในอย่างอิสระและจะยังคงร่วมอยู่ในเครือสหภาพโซเวียตต่อไป ต่อมา ในกลางเดือนสิงหาคม เมื่อกองทัพและกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์ก่อรัฐประหารในสหภาพโซเวียตเพื่อล้มอำนาจของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ พรรคคอมมิวนิสต์เบลารุสประกาศสนับสนุนกลุ่มคอมมิวนิสต์โซเวียตหัวอนุรักษ์ที่ก่อรัฐประหาร นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านของประชาชน อย่างไรก็ตาม การก่อรัฐประหารในสหภาพโซเวียตซึ่งกินเวลาเกือบสัปดาห์ก็ล้มเหลว ผลกระทบสำคัญต่อการเมืองภายในของเบลารุสคือรัฐสภาสูงสุด (Supreme Council) แห่งเบลารุสเห็นเป็นโอกาสประกาศเป็นเอกราชเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ และห้ามพรรคคอมมิวนิสต์เบลารุสเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมกับให้สอบสวนความผิดในการสนับสนุนการก่อรัฐประหาร ตลอดจนให้โอนทรัพย์สินทั้งหมดของพรรคเป็นของรัฐ ต่อมา ในวันที่๑๙ กันยายน รัฐสภาสูงสุดก็ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐเบลารุส(Republic of Belarus) และใช้ธงประจำชาติใหม่ ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑เบลารุส สหพันธรัฐรัสเซีย และยู เครน สามประเทศเชื้อสายสลาฟได้จัดประชุมกันที่กรุงมินสก์และร่วมกันลงนามจัดตั้งกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ผู้นำสาธารณรัฐโซเวียต ๑๑ ประเทศก็ประชุมกันที่เมืองอัลมา-อาตา [(Alma-Ata) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอัลมาตี(Almaty)] นครหลวงของคาซัคสถาน (Kazakhstan)ยืนยันความตกลงการจัดตั้งเครือรัฐเอกราชของ ๓ ประเทศเชื้อสายสลาฟเมื่อวันที่ ๘ธันวาคม และประกาศความตกลงร่วมกันอีกครั้งในการก่อตั้งเครือรัฐเอกราช และเห็นชอบให้กรุงมินสก์เป็นศูนย์กลางการบริหารของเครือรัฐเอกราช ซึ่งเบลารุสจะได้รับประโยชน์อย่างมากทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การก่อตั้งเครือรัฐเอกราชมีผลให้ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟต้องประกาศลาออกเมื่อวันที่ ๒๕ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ และนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในที่สุด
     การล่มสลายของสหภาพโซเวียตมีผลให้เบลารุสซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่ครั้งรวมอยู่กับสหภาพโซเวียตกลายเป็นรัฐนิวเคลียร์โดยปริยาย แต่รัฐบาลเบลารุสประกาศยืนยันว่าเบลารุสจะดำเนินนโยบายเป็นกลางและเป็นรัฐปลอดนิวเคลียร์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ เบลารุสลงนามร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย ในสนธิสัญญาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty of Non-Proliferation of Nuclear Weapon)โดยมีสาระสำคัญว่าเบลารุสจะโอนคืนอาวุธนิวเคลียร์ในความครอบครองทั้งหมดแก่รัสเซีย อย่างช้าที่สุดภายใน ค.ศ. ๑๙๙๙ และเมื่อถึงเวลานั้นกองทหารรัสเซีย ที่ตั้งมั่นอยู่ในเบลารุสเพื่อควบคุมป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ก็ต้องถอนตัวออกไปด้วยต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๓ รัฐสภาสูงสุดได้ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาดังกล่าวและยังให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงลดกำลังอาวุธทางยุทธศาสตร์(Strategic Arms Reduction Treaty - STAT I) ฉบับแรกที่เบลารุสลงนามร่วมกับสหรัฐอเมริกาด้วย โดยสหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและการเงินในการช่วยถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส นโยบายด้านนิวเคลียร์ดังกล่าวยังมีส่วนทำให้เบลารุสได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ในฐานะภาคีเพื่อสันติภาพ(NATO-Partnership for Peace) ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ด้วย
     นอกจากการเป็นภาคีสมาชิกองค์การนาโตแล้ว เบลารุสพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับนานาประเทศโดยเฉพาะสมาชิกประเทศกลุ่มเครือรัฐเอกราช ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ เบลารุสลงนามร่วมกับประเทศเครือรัฐเอกราช ๕ ประเทศในสนธิสัญญาการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Treaty on Collective Security) ซึ่งเน้นความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทางเศรษฐกิจ ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ เบลารุสยังลงนามในข้อตกลงกับสหพันธรัฐรัสเซีย ที่จะปรับระบบการเงินให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF)ธนาคารโลก รวมทั้งธนาคารแห่งยุโรปเพื่อการพัฒนาและพื้นฟู (European Bank forReconstruction and Development - EBRD) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๗ เบลารุสได้ลงนามในสนธิสัญญาเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย แต่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ ทำให้ความร่วมมือของทั้ง ๒ ประเทศไม่พัฒนามากนัก
     ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ เบลารุสประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี และอาศัยอยู่ในเบลารุสไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ทั้งต้องได้เสียงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง๑๐๐,๐๐๐ คน และจากสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า ๗๐ เสียง จากจำนวน ๑๒๐ คนส่วนสมาชิกรัฐสภาต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของผู้ที่มาออกเสียงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๔อัลยัคซันเดียร์ ลูคาเชนโค (Alyaksandr Lukashenko) ซึ่งมีนโยบายต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงในรัฐบาล และสนับสนุนการร่วมมือกับสหพันธรัฐรัสเซีย ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ ในช่วง ๑๐๐ วันแรกของการปกครอง ประธานาธิบดีลู คาเชนโคพยายามใช้ขั้นตอนประชาธิปไตยทำการรวบอำนาจการปกครองประเทศแบบเผด็จการด้วยการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่ต่อต้านเขา และใช้กำลังตำรวจทำร้ายสมาชิกรัฐสภาที่เคลื่อนไหวประท้วงนโยบายของเขาตลอดจนขู่ที่จะยุบสภา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ลูคาเชนโคกำหนดให้ประชาชนลงประชามติเพื่อสนับสนุนเขาโดยเน้นประเด็นเรื่องการจะผนึกรวมกับรัสเซีย ทางเศรษฐกิจ การจะใช้ภาษารัสเซีย เป็นภาษาราชการในเบลารุส การจะใช้ธงชาติเดิมแทนธงชาติใหม่ และการให้อำนาจประธานาธิบดีที่จะยุบสภาได้เมื่อมีเหตุจำเป็นประชาชนร้อยละ ๖๔.๗ ลงประชามติเห็นชอบกับแนวนโยบายของเขาทั้งหมด
     หลังการลงประชามติในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ลูคาเชนโคดำเนินนโยบายสนับสนุนและร่วมมือกับรัสเซีย อย่างเต็มที่ และเขาเปรียบเทียบตนเองกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนี ในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงทางสังคมให้แก่ประเทศและการจะนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง ในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๖ ลูคาเชนโคกำหนดให้ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งให้อำนาจเขาอย่างมากคือการคงอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีก ๕ ปี โดยไม่มีการเลือกตั้ง (รวมวาระแรกด้วยเป็น๗ ปี) และมีสภาสูงซึ่งมีอำนาจร่วมกับประธานาธิบดีในการจะยับยั้งร่างกฎหมายของสภาล่าง และประธานาธิบดีมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม ประธานาธิบดีมีสิทธิยุบสภาล่าง ในกรณีที่สภาล่างลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และ/หรือหลังจากที่ยังยืนยันไม่อนุมัติตัวบุคคลที่ประธานาธิบดีเสนอให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ ๒ ก่อนวันลงประชามติเล็กน้อย ลูคาเชนโคลงนามในกฤษฎีกาเพื่อให้การลงประชามติของประชาชนมีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่ฝ่ายค้านและประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งสหพันธรัฐรัสเซีย ต่อต้านอย่างมากจนลูคาเชนโคต้องยอมผ่อนปรนให้ผลของการลงประชามติเป็นเพียงแนวนโยบายที่ไม่ผูกมัดรัฐบาลในการลงประชามติเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๖ ประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงร้อยละ ๘๔.๒ ลงประชามติรับร่างธรรมนูญใหม่ถึงร้อยละ ๗๐.๕ ซึ่งสร้างความผิดหวังอย่างมากให้แก่กลุ่มพรรคฝ่ายค้านและสมาชิกสภาล่างจำนวนหนึ่งการต่อสู้เพื่ออำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตยในเบลารุสระหว่างประธานาธิบดีกับฝ่ายค้านจึงกลายเป็นปัญหาการเมืองสำคัญที่มีส่วนบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาล
     อย่างไรก็ตาม การที่สื่อมวลชนและประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนประธานาธิบดีลู คาเชนโกอย่างมากเพราะเขาดำเนินนโยบายประชานิยมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนก็ทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านประธานาธิบดีทั้งในสภาและนอกสภาขาดพลังและมักล้มเหลว ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีจะหมดวาระการบริหารประเทศ ลูคาเชนโกได้ใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญจัดการลงประชามติเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นและให้เขามีอำนาจดำรงตำแหน่งสืบต่อไปประชาชนส่วนใหญ่ก็ออกเสียงสนับสนุนข้อเสนอของเขา ต่อมา ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๒๐๐๑ และ ค.ศ. ๒๐๐๖ ลูคาเชนโกยังคงได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นทั้ง ๒ ครั้ง เพราะเขาใช้กลไกอำนาจรัฐขัดขวางการหาเสียงเลือกตั้งของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และกำจัดสื่อมวลชนอิสระและกลุ่มปัญญาชนที่ต่อต้านเขา ตลอดจนโหมประชาสัมพันธ์นโยบายที่เอาอกเอาใจผู้คนระดับล่างนอกจากนี้ เขายังเสนอแนวความคิดที่จะนำเบลารุสเข้ารวมกับสหพันธรัฐรัสเซีย อีกครั้งซึ่งประชาชนส่วนมากสนับสนุนเพราะเห็นว่าจะทำให้เบลารุสมีสถานภาพทางการเมืองที่มั่นคงและมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอย่างไรก็ตาม ประเทศตะวันตกต่อต้านนโยบายปกครองแบบเผด็จการของลูคาเชนโกและสภาแห่งยุโรป(Council of Europe) ปฏิเสธที่จะให้เบลารุสเข้าเป็นสมาชิกและโจมตีการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของเบลารุสโดยเฉพาะการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และการกดขี่ข่มเหงชนชาติส่วนน้อย รวมทั้งปัญญาชนที่มีความคิดเห็นอิสระ นอกจากนี้เบลารุสและแอลเบเนีย ยังคงเป็นเพียง ๒ ประเทศในทวีปยุโรปที่มีการตัดสินประหารชีวิตในคดีอาชญากรรม
     ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ สภาแห่งยุโรปรณรงค์โจมตีเบลารุสอย่างต่อเนื่องในการที่รัฐบาลเบลารุสขัดขวางการไต่สวนสืบคดีของปัญญาชนที่มีชื่อเสียง ๔ คนซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลใน ค.ศ. ๑๙๙๙ และ ๒๐๐๐ และหายสาบสูญ ต่อมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ขึ้นบัญชีดำเบลารุสว่าเป็น ๑ ใน ๖ ประเทศซึ่งยังคงปกครองด้วยเผด็จการ การต่อต้านดังกล่าวทำให้เบลารุสต้องโดดเดี่ยวจากประเทศตะวันตกมากขึ้นและดำเนินนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับสหพันธรัฐรัสเซีย อย่างแน่นแฟ้น.
     


     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐเบลารุส (Republic of Belarus)
เมืองหลวง
มินสก์ (Minsk)
เมืองสำคัญ
มินสก์ และฮอเมียล (Homyelû)
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐ
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๒๐๗,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศลัตเวีย และประเทศรัสเซีย ทิศตะวันออก : ประเทศรัสเซีย ทิศใต้ : ประเทศยูเครน ทิศตะวันตก : ประเทศโปแลนด์ และประเทศลิทัวเนีย
จำนวนประชากร
๙,๗๒๔,๗๒๓ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
เบลารุสร้อยละ ๘๑ รัสเซียร้อยละ ๑๑.๔ อื่น ๆ ร้อยละ ๗.๖
ภาษา
เบลารัสเซีย และรัสเซีย
ศาสนา
คริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๘๐ อื่น ๆ ร้อยละ ๒๐
เงินตรา
รูเบิลเบลารุส (Belarusian ruble)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป