ไหว้ครู

การทำพิธีเพื่อแสดงกตเวทิตาต่อครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ทั้งครูที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ล่วงลับไปแล้ว รวมไปถึงเทพเจ้าที่ถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ด้วย การประกอบพิธีไหว้ครูต้องทำในวันพฤหัสบดีเท่านั้นเพราะถือว่าพระพฤหัสบดีเป็นครูทั่วทุกวิชา บ้านใดมีเครื่องปี่พาทย์ มีผู้บรรเลงเป็นหมู่คณะ มักจะประกอบพิธีไหว้ครูเป็น ประจำทุกปี ส่วนสถาบันต่าง ๆ มีวงดนตรีไทย เช่น มหาวิทยาลัย ธนาคาร จะเลือก ทำตามโอกาสที่อำนวย

 พิธีไหว้ครูมักจะเริ่มด้วยพิธีสงฆ์ คือ ในวันพุธตอนเย็นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ รุ่งเช้าวันพฤหัสบดีถวายภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้วจึงเริ่มพิธีไหว้ครู แต่พิธีสงฆ์นี้ไม่ได้อยู่ในระเบียบว่าจะต้องมี บ้านใดหรือคณะใดไม่สะดวกจะไม่มีก็ได้ คือ เริ่มด้วยการไหว้ครูในวันพฤหัสบดีทีเดียว ซึ่งต้องทำในตอนเช้า สถานที่ประกอบพิธีไหว้ครูควรมีที่กว้างพอที่ศิษยานุศิษย์และผู้ร่วมพิธีจะนั่ง เครื่องตั้งแต่งใน พิธีต้องมีที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชาไว้ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งจัดตั้งเครื่องดนตรีไทยต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบสวยงาม โดยไม่ต้องจัดเป็นวง และต้องมีตะโพนลูกหนึ่งตั้งอยู่ด้วย เพราะในทางดนตรีไทยถือว่าตะโพนเป็นสิ่งสมมุติแทนองค์พระประคนธรรพ ถ้าจะมีหน้าโขนตั้งด้วย หน้าโขนที่ควรตั้งคือหน้าฤๅษี พระประคนธรรพ พระวิสสุกรรม พระปัญจสีขร พระพิราพ และจะเพิ่มหน้าพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระคเณศ อีกด้วยก็ได้

 ส่วนเครื่องบูชาและเครื่องสังเวย มีดอกไม้ ธูป เทียน หัวหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ปลา บายศรีปากชาม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลไม้ ต่าง ๆ หากพิธีนั้นไหว้พระพิราพด้วยก็จะต้องมีเครื่องดิบอีกชุดหนึ่งเหมือนกับเครื่องสุกดังที่ได้กล่าวแล้ว เครื่องสังเวยเหล่านี้จะมีเป็นคู่หรือเพิ่มเติมอย่างไรก็ได้ นอกจากนั้นยังมีขันกำนน ซึ่งเป็นขันล้างหน้าใส่ดอกไม้ธูปเทียน ผ้าขาวหรือผ้าเช็ดหน้าสีขาว และเงินกำนนซึ่งโบราณใช้ ๖ บาท ถ้ามีปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบด้วยก็จะต้องมีขันกำนนเช่นเดียวกันให้แก่ผู้บรรเลงปี่พาทย์ทุกคนทั้งวง ครูผู้ทำพิธีต้องนุ่งขาวห่มขาว เมื่อได้จุดธูปเทียนบูชาเสร็จแล้ว ครูจะทำน้ำมนต์ ในขณะนั้นศิษย์และผู้ร่วมพิธีจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานตามแต่จะประสงค์ แล้วครูผู้ทำพิธีเริ่มกล่าวโองการนำให้ผู้ร่วมพิธีว่าตามซึ่งเริ่มด้วยคำบูชาพระรัตนตรัย และไหว้ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ขอพรต่าง ๆ ตามแบบแผนซึ่งครูแต่ละท่านอาจกล่าวผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แล้วปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตามที่ครูผู้กระทำพิธีนั้นจะเรียก จากนั้นก็กล่าวถวายเครื่องสังเวยแล้วเว้นระยะสักครู่หนึ่งจึงกล่าวลาเครื่องสังเวย ต่อจากนั้นครูผู้กระทำพิธีจะประพรมน้ำมนต์และเจิมเครื่องดนตรีและหน้าโขนต่าง ๆ จนครบถ้วน แล้วจึงประพรมน้ำมนต์และเจิมให้แก่ศิษย์และผู้ร่วมพิธี เป็นอันเสร็จการไหว้ครู หลังจากพิธีไหว้ครูแล้วจึงถึงพิธีครอบซึ่งจะทำติดต่อกันไป

 การที่ได้ประกอบพิธีไหว้ครูถูกต้องตามประเพณีย่อมบังเกิดประโยชน์หลายประการคือ

 ๑. ได้รักษาประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมของไทยไว้ให้ยืนยงต่อไป

 ๒. ได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีอันเป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นแบบอย่างส่งเสริมให้ศิษย์รุ่นต่อ ๆ ไปรู้สึกกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์

 ๓. เป็นการบำรุงขวัญแก่ผู้ที่ได้ร่วมในพิธีไหว้ครูและพิธีครอบ เพราะเมื่อได้กระทำพิธีต่าง ๆ ครบถ้วนตามแบบแผนแล้ว เวลาที่ปฏิบัติก็จะมีจิตใจมั่นคงและมีขวัญดี

 ๔. เป็นการเชื่อมความสามัคคีระหว่างดุริยางคศิลปินด้วยกัน เพราะในการประกอบพิธีไหว้ครูนั้น บรรดานักดนตรีทั้งหลายแม้จะอยู่คนละคณะ ก็มักจะมาร่วมในพิธีไหว้ครูด้วยกัน ได้พบปะสังสรรค์กันเป็นอันดี