แตรงอน

แตรชนิดหนึ่ง (ดู แตร ประกอบ) เรียกชื่อตามรูปร่างลักษณะที่ลำแตรโค้งงอนปลายบาน เข้าใจว่าไทยได้แบบอย่างมาจากอินเดีย เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้ใช้เป่าเป็นสัญญาณในกระบวนแห่และในงานพระราชพิธี เรียกแตรชนิดนี้ตามภาษาสันสกฤตว่า “ศฤงคะ” และภาษาบาลีว่า “สิงคะ” แปลว่า เขาสัตว์ ซึ่งแต่ก่อนคงจะทำด้วยเขาสัตว์ แตรงอนที่ใช้อยู่ในพระราชพิธีของไทยทำด้วยโลหะชุบเงิน ทำเป็น ๒ ท่อนสวมต่อกัน ท่อนแรกเป็นหลอดสำหรับเป่าลม โค้งเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๒๒ เซนติเมตร ปากตรงที่เป่าทำบานรับริมฝีปาก เรียกว่า “กำพวด” มีขนาดกว้างประมาณ ๓ เซนติเมตร ท่อนปลายเป็นลำโพงยาวประมาณ ๒๘ เซนติเมตร ปากกว้างประมาณ ๗ เซนติเมตร มีเส้นเชือกหรือริบบิ้นผูกโยงท่อนเป่ากับท่อนลำโพงไว้ด้วยกัน