หน้าทับ

เสียงตีเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนัง จำพวกที่เลียนเสียงมาจากทับ (โทน) เช่น ตะโพน กลองแขก ซึ่งมีบัญญัติเป็นแบบแผนสำหรับตีประจำทำนองเพลงต่าง ๆ ใช้บอกสัดส่วนและประโยคของเพลงนั้น ๆ ผู้บรรเลงหน้าทับนอกจากต้องตีกำกับจังหวะให้ถูกต้องกับประโยคเพลงแล้ว ยังต้องตีให้กลมกลืนกับทำนองเพลงร้องหรือดนตรีด้วย ส่วนเสียงตีเครื่องหนังซึ่งไม่ได้เลียนเสียงจากทับ เช่น กลองทัด กลองมริกัน ไม่เรียกว่า “หน้าทับ” แต่เรียกว่า “ไม้กลอง” (ดู ไม้กลอง ประกอบ)

 ในการขับร้องและบรรเลงดนตรี ผู้ขับร้องและผู้บรรเลงต้องยึดหน้าทับเป็นสำคัญ ถ้าขับร้องหรือบรรเลงไม่ตรงกับหน้าทับถือว่าเพลงนั้นผิด เพราะขาดหรือเกิน หน้าทับจึงเป็นเสมือนผู้กำกับสำคัญของการขับร้องและบรรเลงดนตรี

 หน้าทับแบ่งออกเป็น

 ๑. หน้าทับสามัญ เป็นหน้าทับที่ใช้กับเพลงต่าง ๆ มี ๒ อย่าง คือ

 ๑.๑ หน้าทับสองไม้ มีทำนองจังหวะหน้าทับค่อนข้างสั้น เพื่อสะดวกและเหมาะสมกับทำนองเพลงที่มีประโยคสั้น ๆ เพลงที่มีทำนองพลิกแพลง หรือเพลงที่กำหนดความยาวไม่แน่นอน

   หน้าทับสองไม้นี้ ครูดนตรีไทยในสมัยโบราณได้คิดขยายขึ้นจากทำนองการตีเครื่องหนังของหน้าทับเพลงเร็วอีกเท่าตัว (เป็น ๒ ชั้น) สำหรับตีประกอบกับการร้องด้นสองไม้ (ดู ด้นสองไม้ ประกอบ) การร้องด้นสองไม้นี้ ผู้ร้องจะร้องพลิกแพลงไปต่าง ๆ และมีความยาวไม่แน่นอน (ซึ่งในการแสดงละครนอก เพลงฉ่อย แอ่วและลิเก ยังนำมาใช้ร้องในเวลาที่ต้องการรวบรัดและดำเนินเรื่องอยู่ในปัจจุบันนี้) จึงเรียกว่า หน้าทับสองไม้ แม้ในสมัยที่เกิดทำนองอัตรา ๓ ชั้นขึ้น หน้าทับนี้ก็ขยายขึ้นไปด้วยตามส่วนแต่ยังคงเรียกหน้าทับสองไม้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นอัตรา ๓ ชั้น ๒ ชั้น หรือชั้นเดียว หน้าทับสองไม้ ๒ ชั้นเป็นมูลเหตุให้มีการดิษฐ์หน้าทับอื่น ๆ ขึ้นอีก เช่น หน้าทับเซ่นเหล้า หน้าทับเจ้าเซ็น หน้าทับลาว

 ๑.๒ หน้าทับปรบไก่ มีทำนองจังหวะหน้าทับค่อนข้างยาว คือ ทุก ๆ อัตรามีความยาวเป็น ๒ เท่าของหน้าทับสองไม้ ใช้กับเพลงที่มีทำนองดำเนินประโยควรรคตอนเป็นระเบียบ

   หน้าทับปรบไก่นี้ ครูดนตรีไทยสมัยโบราณได้คิดอัตรา ๒ ชั้นขึ้นก่อน โดยแปลงจากเสียงร้องของลูกคู่ในการร้องเพลงปรบไก่ซึ่งเป็นเพลงพื้นเมืองอย่างหนึ่งมาเป็นวิธีตีตะโพน คำรับและทำนองร้องของลูกคู่เพลงปรบไก่นั้นร้องว่า “ฉ่า ฉ่า ฉ่า ช้า ชะฉ่า ไฮ้” เปลี่ยนมาเป็นเสียงตะโพนคือ “พรึง ป๊ะ ตุ๊บ พรึง พรึง ตุ๊บ พรึง” ดังนี้

   หน้าทับปรบไก่เมื่อขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น หรือตัดลงเป็นชั้นเดียว ก็ยังคงเรียกว่าหน้าทับปรบไก่เช่นเดิม หน้าทับปรบไก่เป็นมูลเหตุให้มีการประดิษฐ์หน้าทับอื่น ๆ ขึ้นอีก เช่น หน้าทับเขมร หน้าทับสดายง

 ๒. หน้าทับภาษา เป็นหน้าทับที่ใช้กับเพลงภาษาต่าง ๆ เช่น หน้าทับเขมรหน้าทับแขก หน้าทับจีน หน้าทับพม่า หน้าทับลาว หน้าทับสดายง

 ๓. หน้าทับเฉพาะประเภท เป็นหน้าทับที่กำหนดว่าจะต้องบรรเลงเฉพาะประเภทเพลงนั้น ๆ เช่น หน้าทับตระ หน้าทับสมิงทอง หน้าทับลงสรง

 ๔. หน้าทับเฉพาะเพลง เป็นหน้าทับที่ต้องบรรเลงเฉพาะกับเพลงนั้น ๆ เท่านั้น เช่น หน้าทับเพลงสาธุการ หน้าทับเพลงบาทสกุณี (ดู จังหวะ ประกอบ)