ลูกบท

เพลงเล็ก ๆ ที่บรรเลงต่อจากเพลงใหญ่ซึ่งถือว่าเป็น “แม่บท” เพลงเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ลูกบท” อาจเป็นเพลงในอัตรา ๒ ชั้น ชั้นเดียว ครึ่งชั้น หรือเพลงภาษาต่าง ๆ ก็ได้

 ในสมัยโบราณ เมื่อบรรเลงเพลงอัตรา ๓ ชั้นเพลงใดเพลงหนึ่งจบลงแล้วก็บรรเลงเพลง “ลูกหมด” (ดู ลูกหมด ประกอบ) แสดงว่าจบ แล้วบรรเลงเพลงเล็ก ๆ อัตรา ๒ ชั้นหรือชั้นเดียวอีกเพลงหนึ่ง และบรรเลงเพลงลูกหมดปิดท้ายให้เห็นว่าจบจริง ๆ อีกครั้งหนึ่ง เพลงเล็ก ๆ อัตรา ๒ ชั้น หรือชั้นเดียวที่บรรเลงต่อท้ายนี้คือเพลงที่ เรียกว่า “ลูกบท” แต่เกณฑ์นี้อาจเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องมีเพลง “ลูกหมด” คั่นก็ได้ คือ พอจบเพลงอัตรา ๓ ชั้น ซึ่งเป็นประธาน หรือแม่บทแล้ว ก็บรรเลงเพลงเล็ก ๆ ซึ่งเป็นลูกบทติดต่อไปทีเดียว และจะจบลงโดยมีเพลงลูกหมดหรือไม่มีก็ได้ แล้วแต่ผู้ประดิษฐ์และผู้บรรเลงจะเห็นสมควรเป็นเพลง ๆ ไป เพลงลูกบทจะมีขับร้องด้วยก็ได้ หรืออาจมีหลาย ๆ เพลงต่อกันก็ได้ แต่ต้องมีอัตราต่ำกว่าเพลงที่เป็นแม่บท เช่น เมื่อขับร้องและ บรรเลงเพลงจระเข้หางยาว ๓ ชั้น จบแล้วออก “ลูกหมด” แล้วขับร้องและบรรเลงเพลง จีนขิมเล็กต่อ เสร็จแล้วก็ออก “ลูกหมด” อีกครั้งหนึ่ง เพลงจีนขิมเล็กนี้คือ “ลูกบท” เพลงลูกบทนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีก็เพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้แก่เพลง

 นอกจากนั้นการบรรเลงลูกบทยังเป็นต้นแบบให้เกิดการแสดงลิเกลูกบทขึ้นอีกด้านหนึ่งด้วย ลูกบทนี้บางทีก็เรียกว่า หางเครื่อง