รำมะนา

กลองชนิดหนึ่ง ขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองที่ขึ้นหนังบานผายออก หุ่นกลองสั้น รูปร่างคล้ายกะละมัง (ดู กลอง ประกอบ) สันนิษฐานว่าได้แบบอย่างจากเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของมลายู ที่เรียกว่า เรบานา (Rébana) ซึ่งมีสำเนียงคล้ายกัน รำมะนา มี ๒ ชนิด คือ รำมะนาสำหรับวงมโหรีและรำมะนาสำหรับวงลำตัด

 รำมะนาสำหรับวงมโหรีมีขนาดเล็ก หน้ากว้างประมาณ ๒๖ เซนติเมตร หุ่นกลองสูงประมาณ ๗ เซนติเมตร หนังที่ขึ้นตรึงด้วยหมุดโดยรอบ ไม่มีสายโยงเร่งเสียงแต่มีเชือกเส้นหนึ่งเรียกว่า “สนับ” สำหรับใช้หนุนข้างในโดยรอบหน้ากลองเมื่อหน้ากลองหย่อนเพื่อช่วยให้เสียงสูงและไพเราะได้ ใช้มือตี บรรเลงในวงมโหรีและวงเครื่องสายคู่กับโทนมโหรี มักจะสร้างอย่างสวยงาม เช่น ทำด้วยงาฝังไม้ หรือไม้ฝังงา เป็นการสลับสี

 รำมะนาสำหรับวงลำตัดมีขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ ๔๘ เซนติเมตร หุ่นกลองสูงประมาณ ๑๓ เซนติเมตร หนังที่ขึ้นใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก ซึ่งรัดรอบขอบล่างของตัวกลองและใช้ลิ่มตอกเร่งเสียง รำมะนาชนิดนี้แต่เดิมใช้ในการร้องเพลงบันตน สันนิษฐานว่าได้แบบอย่างมาจากชวาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาใช้ในการเล่นลำตัดและลิเก ลำตัดวงหนึ่งจะใช้รำมะนากี่ลูกก็ได้ คนตีนั่งล้อมวงและร้องเป็นลูกคู่ไปด้วย