ระนาดทอง

ระนาดชนิดหนึ่ง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเลียนแบบระนาดเอกที่เป็นเครื่องไม้ (ดู ระนาด, ระนาดเอก ประกอบ) ลูกระนาดทำด้วยทองเหลืองจึงเรียกกันว่า “ระนาดทอง” นิยมใช้บรรเลงในวงมโหรี

 ระนาดทองมีลูกระนาดจำนวน ๒๐ ถึง ๒๑ ลูก ลูกต้นยาวประมาณ ๒๓.๕ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๕ เซนติเมตร ลูกยอดยาวประมาณ ๑๙ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๔ เซนติเมตร ลูกต้น ๆ ขูดโลหะตอนกลางด้านล่างจนบางเพื่อให้ได้ระดับเสียงที่ต้องการ แต่ลูกใกล้ ๆ ลูกยอดตลอดจนลูกยอดคงเนื้อโลหะไว้จนหนากว่า ๑ เซนติเมตร ใช้วางเรียงบนรางไม้ ซึ่งทำเป็นหีบรูปสี่เหลี่ยมยาวประมาณ ๑ เมตร ปากรางแคบกว่าความยาวของลูกระนาด คือ กว้างประมาณ ๑๘ เซนติเมตร แต่มีชานยื่นออกไปทั้ง ๒ ข้างราง และมีขอบกันหัวท้ายลูกระนาด มีผ้าพันไม้หรือใช้ไม้ระกำพาดไปตามขอบรางสำหรับรองหัวท้ายลูกระนาดแทนการร้อยเชือกผูกแขวนอย่างลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ คงจะเนื่องจากลูกระนาดมีน้ำหนักมาก ถ้าร้อยเชือกแขวนกำลังของโขน ๒ ข้าง อาจทานน้ำหนักไม่อยู่ เบื้องล่างของรางทำเท้ารอง ๔ เท้า ติดลูกล้อเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย ใช้ไม้ตี ๒ อัน ถือตีมือละอัน ปลายไม้ตอนที่ใช้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบตัดเป็นวงกลมเจาะรูกลางแล้วเอาไม้ด้ามเสียบลงในรูกลางแผ่นหนังนั้น วงแผ่นหนังและด้ามถือของไม้ตีระนาดทอง จะเล็กกว่าของไม้ตีระนาดทุ้มเหล็ก