มโหระทึก

กลองชนิดหนึ่ง เป็นกลองหน้าเดียว หล่อด้วยโลหะทั้งลูก ไม่ขึงหน้ากลองด้วยหนัง เหมือนกลองทั่ว ๆ ไป (ดู กลอง ประกอบ) โลหะที่ใช้หล่อประกอบด้วยทองแดง ตะกั่ว และดีบุก หลอมให้เข้ากันแล้วเทลงในแบบที่ทำเตรียมไว้

 มโหระทึกมีมาตั้งแต่สมัยโลหะตอนปลาย หรือประมาณ ๒,๕๐๐-๑,๙๐๐ ปี มาแล้ว ตรงกับสมัยสัมฤทธิ์ช่วงสุดท้ายของเวียดนาม ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า สมัยวัฒนธรรมดงซอนหรือดงเซิน (Dong Sonian culture) พบในหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยและแหล่งที่พบ แต่โดยทั่วไปจะมีรูปทรงกระบอกแต่คอดตรงกลาง จึงทำให้แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ตัวกลองและฐานกลอง

 ตัวกลองมีหน้ากลองแบนกว้าง เท่าที่พบลูกที่มีขนาดใหญ่หน้ากลองกว้างประมาณ ๘๐ เซนติเมตร และสูงประมาณ ๔๒-๖๓ เซนติเมตร มีการจำหลักลวดลายทั้งภายในและภายนอกตัวกลอง แต่บางลูกก็มีเฉพาะภายนอกเท่านั้น บริเวณตรงกลางหน้ากลองนิยมทำเป็นรูปดาว และมีลวดลายอื่น ๆ ประกอบอยู่ด้วย เช่น รูปคน สัตว์ชนิดต่าง ๆ ลายเรขาคณิต และลวดลายแบบจีน ริมหน้ากลองจะมีรูปกบ หอย หรือสัตว์อื่น ๆ ประจำอยู่ ๔ ทิศ ด้านข้างของตัวกลองมักจำหลักลวดลายต่าง ๆ ด้วย สำหรับฐานกลองเป็นรูปทรงกระบอกกลวง ส่วนใหญ่จะมีหู ๔ หู หล่อติดอยู่ใต้ตัวกลองสำหรับร้อยเชือกหาม หรือแขวนกับหลักที่ปักตรึงไว้เวลาตี ด้านข้างของฐานกลองมักจะมีลวดลายจำหลักไว้เช่นเดียวกับตัวกลอง

 ในการตีจะวางมโหระทึกตั้งเอาหน้ากลองขึ้น ใช้ไม้ตี ๒ อัน ทำด้วยไม้รวกหรือไม้เนื้อแข็งเหลาให้กลม กว้างประมาณ ๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ตรงปลายที่ใช้ตีพันด้วยผ้าให้แน่นแล้วผูกเคียนหรือถักด้วยเส้นด้าย เพื่อไม่ให้ผ้าที่พันไว้หลุดลุ่ยขณะตี

 ชาวไทยใช้มโหระทึกมาแต่โบราณ ในสมัยสุโขทัยมีกล่าวถึงในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ตอนหนึ่งว่า ประชาชนรื่นเริงสนุกสนานบรรเลงดนตรีดีดสีตีเป่า “พื้นฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมโหระทึกกึกก้องทำนุกดี” ต่อมาในสมัยอยุธยามีกำหนดไว้ในกฎมนเทียรบาลให้เป็นหน้าที่ของขุนดนตรีตีมโหระทึกในงานพระราชพิธี ดังความว่า “อินโทรตี อินทเภรี ศรีเกดตีฆ้องไชย ขุนดนตรีตีหรทึก” และยังใช้ประโคมร่วมกับแตรสังข์ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ตลอดมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ มโหระทึกเป็นเครื่องประโคมร่วมกับแตรสำหรับพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์ในการเสด็จออกขุนนางหรือนำเสด็จพระราชดำเนินกระบวนน้อย นอกจากนั้นยังใช้ประโคมในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกในงานพระราชพิธีและรัฐพิธี และใช้บรรเลงร่วมกับกลองชนะในงานเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคและในกระบวนอื่น ๆ โดยมีเจ้าพนักงานทำหน้าที่หาม ๔ คน ตี ๑ คน ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นการพิเศษแก่วัด ๓ วัด ให้มีการประโคมมโหระทึกขณะพระภิกษุสงฆ์ประชุมทำวัตรสวดมนต์ คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม