พิณน้ำเต้า

พิณชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นพิณสายเดียว (ดู พิณ ประกอบ) สันนิษฐานว่าชาวอินเดียนำมาเล่นแพร่หลายอยู่ในดินแดนอินโดจีนนี้ก่อน ที่เรียกชื่อว่า “พิณน้ำเต้า” เพราะใช้เปลือกผลน้ำเต้ามาตัดครึ่งลูกเอาทางจุกหรือทางขั้วไว้ คันพิณซึ่งเรียกว่า “ทวน” ทำด้วยไม้ยาวประมาณ ๗๘ เซนติเมตร เหลาให้ปลายข้างหนึ่งเรียวงอนโค้งขึ้นสำหรับผูกสาย โคนทวนเจาะรูแล้วเอาไม้อีกอันหนึ่งมาเหลาทำลูกบิดยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร สอดเข้าไปในรูให้ปลายโผล่ยื่นออกมา สำหรับบิดสายให้ตึงหรือหย่อนเพื่อให้เสียงสูงต่ำ กะโหลกน้ำเต้านั้นตรึงติดเข้ากับคันทวนค่อนไปทางโคน สายพิณมีสายเดียว แต่เดิมใช้เส้นหวายทำสาย ต่อมาใช้เส้นไหม ปัจจุบันใช้ลวดทองเหลืองข้างหนึ่งผูกกับปลายทวนด้านโค้งงอน อีกข้างหนึ่งผูกกับปลายลูกบิดที่สอดโผล่ขึ้นมาจากโคนทวน รั้งสายให้ตึงด้วยเชือกอีกเส้นหนึ่งคล้องสายพิณผูกโยงไว้กับทวนตรงใกล้กับที่ติดจุกน้ำเต้า เรียกว่า “รัดอก” ปลายทวนที่โค้งงอนนั้นนิยมแกะสลักเป็นกระหนกหัว นาคหรือหางนาคอย่างสวยงาม ไม้ลูกบิดนั้นบางทีก็กลึงเป็นลูกแก้วลดหลั่นกัน

 วิธีดีดพิณน้ำเต้า โดยปรกติผู้ดีดจะต้องไม่สวมเสื้อ ใช้มือซ้ายจับทวนแล้วเอากะโหลกพิณประกบติดกับเนื้อตรงอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น ใช้มือขวาดีดสาย ผู้ดีดที่ชำนาญจะขยับกะโหลกน้ำเต้าเปิดปิดอยู่ตรงทรวงอก เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ และใช้นิ้วมือซ้ายช่วยกดหรือเผยอเพื่อให้สายตึงหรือหย่อน ดีดประสานกับเสียงขับร้องของผู้ดีดเองด้วยความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ในคำเก่าใช้กิริยาว่า “ดึงพิณ”