ถอน

การบรรเลงโดยลดพยางค์ของการดำเนินทำนองลงครึ่งหนึ่งในขณะจังหวะยืนคงที่อยู่ เช่น การบรรเลงเพลงเชิด จาก ๒ ชั้นเป็นชั้นเดียว และเพลงฉิ่ง ๒ ชั้นออกชั้นเดียว การปฏิบัติก่อนที่จะถอนนั้น ดำเนินทำนอง “เก็บ” ได้จังหวะละ ๘ พยางค์ (ดู เก็บ ประกอบ) เมื่อถอนแล้วก็ลดการดำเนินทำนองเก็บนั้นลงให้เหลือจังหวะละ ๔ พยางค์ หัวต่อระหว่างที่ใช้ ๘ พยางค์กับ ๔ พยางค์นี้เรียกว่า “ถอน” หลักเกณฑ์เพื่อใช้ บรรเลงเกี่ยวกับการถอน คือ

 ๑. เพื่อเปลี่ยนอัตราให้ลดลง เช่น เชิด ๒ ชั้นเป็นชั้นเดียว

 ๒. เพื่อให้เหมาะสมกับท่ารำ เช่น เพลงช้าไปเพลงเร็ว

 ๓. เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ของการบรรเลงมิให้ซ้ำซาก จืดชืด เช่น จากเพลงเข้าม่านออกเพลงปฐมในโหมโรงเย็น