จับ

คำเรียกแทนคำว่า “ท่อน” ของเพลงเชิดนอก (ดู ท่อน; ตัว ประกอบ)

 โดยปรกติเพลงเชิด เช่น เพลงเชิดใน เพลงเชิดฉิ่ง เพลงเชิดฉาน หรือเพลงเชิดจีน เรียกการแบ่งส่วนเป็นท่อนหนึ่ง ๆ ว่า “ตัว” ทั้งนั้น ยกเว้นเพลงเชิดนอกเพลงเดียวที่เรียกการแบ่งส่วนท่อนหนึ่ง ๆ ว่า “จับ” ที่เป็นดังนี้ก็เนื่องมาจากการบรรเลงประกอบการแสดงหนังใหญ่ในสมัยโบราณในตอนที่แสดงเบิกโรงด้วยชุดจับลิงหัวค่ำซึ่งมีลิงขาวกับลิงดำรบกัน การแสดงหนังใหญ่ตอนนี้ ปี่จะต้องเป่าเดี่ยวเพลงเชิดนอกและเมื่อผู้เชิดหนังนำหนังที่มีภาพต่อสู้กันด้วยท่าต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า “หนังจับ” ออกมาปี่ก็จะต้องเป่าให้เป็นเสียง “จับให้ติด ตีให้ตาย” หรือ “ฉวยตัวให้ติด ตีให้แทบตาย” หรืออื่น ๆ ทำนองนี้ เรียกกันว่า “เป่าจับ” และประเพณีการแสดงหนังใหญ่ในตอนนี้ จะต้องนำหนังขับออกมา ๓ ครั้ง (ครั้งหนึ่ง ๆ มีท่าต่าง ๆ กัน) ปี่ก็ต้องเป่าจับ ๓ หน และถือกันเป็นแบบแผนมาว่าเพลงเชิดนอกที่บริบูรณ์จะต้องมี ๓ จับ และคำเรียก “ท่อน” หรือ “ตัว” ของเพลงเชิดนอกจึงเรียกว่า “จับ” สืบมาจนปัจจุบันนี้