จะเข้

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากมอญ ทำเป็นรูปร่างเหมือนจระเข้ทั้งตัว ต่อมาจึงได้มีการดัดแปลงจนเป็นรูปร่างของจะเข้อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

 ในสมัยโบราณ วงมโหรีของไทยมีเครื่องบรรเลงเพียง ๔ อย่างคือ ซอสามสายกระจับปี่ ทับ (โทน) และกรับพวง (ซึ่งผู้ขับร้องเป็นผู้ตี) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้นำเอาจะเข้เข้ามาผสมแทนกระจับปี่ เพราะมีเสียงดีกว่าดีดได้สะดวกกว่า และการบรรเลงทำนองก็คล่องแคล่วกว้างขวางกว่า จะเข้จึงได้เข้ามาร่วมอยู่ในวงมโหรีและวงเครื่องสายจนปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม ไทยเรารู้จักใช้จะเข้เป็นเครื่องบรรเลงอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยอยุธยา และคงจะเล่นกันอย่างบรรเลงเดี่ยวเท่านั้น แต่อาจจะนิยมเล่นกันแพร่หลายมาก จึงถึงกับมีบัญญัติไว้ในกฎมนเทียรบาลว่า “อนึ่ง ในท่อน้ำในสระแก้ว ผู้ใดขี่เรือคฤ...ร้องเพลงเรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ยสีซอดีดจะเข้กระจับปี่ตีโทนทับ...ทั้งนี้ไอยการขุนสนมห้าม...”

 จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่วางดีดตามแนวนอน ทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงอยู่ภายใน นิยมใช้ไม้แก่นขนุนเพราะให้เสียงกังวานดี ด้านล่างเป็นพื้นไม้ โดยมากมักใช้ไม้ฉำฉา เจาะรูไว้ให้เสียงออกดีขึ้น มีขาอยู่ตอนหัว ๔ ขา ตอนท้าย ๑ ขา รวมเป็น ๕ ขา


มีสาย ๓ สาย คือ สายเอก (เสียงสูง) สายกลาง (เสียงทุ้ม) บางท่านเรียก สายทุ้ม ทั้ง ๒ สายนี้ทำด้วยเอ็นหรือไหมฟั่นเป็นเกลียว สายลวด (เสียงต่ำ) ทำด้วยลวดทองเหลืองทั้ง ๓ สายขึงจากหลักตอนหัวผ่าน “โต๊ะ” (กล่องทองเหลืองกลวง) ไปพาดกับ “หย่อง” แล้วสอดลงไปพันกับก้านลูกบิด (ซึ่งนิยมทำด้วยไม้หรืองา) สายละลูก โต๊ะนี้ทำหน้าที่ขยายเสียงของจะเข้ให้คมชัดขึ้น และมีส่วนช่วยทำให้เกิดเสียงอย่างที่เรียกกันว่า “กินแหน” โดยใช้ชิ้นไม้ไผ่เล็ก ๆ แบน ๆ เรียกว่า “แหน” สอดเข้าไประหว่างสายจะเข้กับผิวด้านบนของโต๊ะให้พอดีได้ส่วนกันด้วย สายเอกกับสายกลางใช้แหนอันเดียวกันส่วนสายลวดใช้แหนอีกอันหนึ่งต่างหาก ระดับความสูงของโต๊ะควรต่ำกว่าหย่องเล็กน้อยเมื่อใช้แหนหนุนสายแล้วก็จะพอดี แต่ถ้าโต๊ะมีระดับสูงกว่าหย่อง จะต้องใช้ชิ้นไม้มาแทรกในร่องของหย่องเพื่อหนุนสายให้สูงขึ้นกว่าโต๊ะ จึงจะทำให้ปรับแต่งเสียงของแหนได้ดี (ดู แหน ประกอบ) ระหว่างรางด้านบนกับสายจะเข้จะมีชิ้นไม้เล็ก ๆ ทำเป็นสันหนาเรียกว่า “นม” จำนวน ๑๑ นม วางเรียงไปตามแนวยาวเพื่อรองรับการกดจากนิ้วมือขณะที่บรรเลง นมนี้จะมีขนาดสูงต่ำลดหลั่นกันไป นมที่ทำให้เกิดเสียงสูงจะอยู่ค่อนไปทางด้านหัวของจะเข้หรือทางด้านขวามือของผู้บรรเลง เรียงลำดับไปจนถึงนมที่ทำให้เกิดเสียงต่ำสุดซึ่งอยู่ด้านท้ายหรือทางด้านซ้ายมือ (ดู นม ประกอบ) เวลาดีดจะใช้ไม้ดีดที่ทำด้วยงาหรือเขาสัตว์กลึงเป็นท่อนกลม ปลายเรียวแหลมมน ดีดปัดสายไปมา ไม้ดีดนี้จะต้องพันติดกับนิ้วชี้ในมือขวาให้แน่นขณะที่ดีด ส่วนมือซ้ายใช้สำหรับกดนิ้วลงบนสายจะเข้ถัดจากนมไปข้างซ้ายเล็กน้อยเพื่อเปลี่ยนให้เกิดเสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ

 ในการบรรเลง จะเข้จะดำเนินทำนองเก็บแทรกแซงไปกับทำนองเพลงบ้าง รัวให้เป็นเสียงยาวอย่างกรอบ้าง และกระทุงสอดให้้ เกิดความสนุกสนานในทำนองเพลงบ้างซึ่งได้ทั้งหมู่ (ผสมวง) และเดี่ยว การบรรเลงเดี่ยวก็สามารถเดี่ยวได้ทุก ๆ เพลง แต่ที่เป็นเพลงเดี่ยวเฉพาะและเหมาะสมของจะเข้ คือ เพลงลาวแพน และ เพลงขิมใหญ่