ฆ้องเหม่ง

ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะ (ดู ฆ้อง ประกอบ) มีขนาดเล็กกว่าฆ้องโหม่ง กว้างประมาณ ๑๘ เซนติเมตร มีความหนากว่าฆ้องธรรมดามาก มีเชือกร้อยรูทั้ง ๒ ที่ใบฉัตรห้อยแขวนกับไม้คานสำหรับถือ ไม้ตีใช้ไม้เนื้อแข็งไม่พันผ้า ยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๓ เซนติเมตร เมื่อตีจะมีเสียงดัง “เหม่ง-เหม่ง” จึงเรียกว่า “ฆ้องเหม่ง” การที่ตีได้เสียงดังเหม่งนั้น เพราะเอาไม้ไปตีกับโลหะโดยไม่มีขี้ผึ้งผสมตะกั่วถ่วงเสียงติดที่ใต้ปุ่มฆ้อง ฆ้องเหม่งใช้ตีเป็นเครื่องกำกับจังหวะอยู่ในวงบัวลอย (ดู วงบัวลอยประกอบ) ซึ่งการผสมวงแต่โบราณมีกลองมลายู ๔ ลูก ปี่ชวา ๑ เลา และฆ้องเหม่ง ๑ ลูก เรียกว่า “กลองสี่ปีหนึ่่ ง” สำหรับประโคมในงานศพของเจ้านาย ขุนนาง หรือข้าราชการที่มีศักดิ์ไม่ถึงที่จะใช้กลองชนะ ภายหลังลดกลองมลายูลงเหลือเพียง ๒ ลูก ใช้ประโคมในงานศพสามัญชน