คู่เสียง

เสียง ๒ เสียงที่อาจบรรเลงให้ดังพร้อมกันก็ได้ หรือให้ดังคนละทีก็ได้ วิธีนับคู่เสียงให้นับจากมือซ้ายเป็นเสียงที่ ๑ ถ้ามือขวาอยู่เสียงที่ ๒ เรียกว่า คู่ ๒ ถ้าอยู่เสียงที่ ๓ เรียกว่า คู่ ๓ เป็นต้น คู่เสียงที่สำคัญ เช่น

 คู่ ๒ ในการตีฆ้องวงใหญ่ ถ้าปฏิบัติโดยวิธีการกรอ เรียกว่า “เทียว” (ดู กรอ ประกอบ)

 คู่ ๓ ใช้บรรเลงเพลงสำเนียงต่าง ๆ และเดี่ยวฆ้องวงใหญ่

 คู่ ๔ เมื่อปฏิบัติพร้อมกันทั้ง ๒ เสียง เรียกว่า “โถ่ง” (ดู โถ่ง ประกอบ)

 คู่ ๕ ในกรณีการตีฆ้อง ถ้ามือขวายืนอยู่ลูกที่ ๑๑ มือซ้ายยืนอยู่ลูกที่ ๗ ปฏิบัติพร้อมกัน เรียกว่า “โคล้ง” หรือมือขวายืนอยู่ลูกที่ ๗ มือซ้ายยืนอยู่ลูกที่ ๓ ปฏิบัติพร้อมกัน เรียกว่า “โขล่ง”

 คู่ ๖ ใช้ในกรณีที่ลูกยอดของฆ้องวงใหญ่ไม่มีเสียงคู่ ๘ ของลูกที่มือตีอยู่ลักษณะนี้เรียกว่า “ทดมือ” หรือ “ทดเสียง” แทนคู่ ๘ บางครั้งก็เรียกว่า “เสี้ยวมือ”

 คู่ ๗ ไม่ใช้บรรเลง เนื่องจากเสียงไม่เท่ากัน

 คู่ ๘ ถ้าเป็นเครื่องตีต้องปฏิบัติทั้ง ๒ มือ เรียกว่า เสียงคู่ ๘ หรือ เสียงซ้ำ แต่ลูกต่ำห่างกัน ๘ เสียง