กระจับปี่

พิณชนิดหนึ่ง (ดู พิณ ประกอบ) มี ๔ สาย กระพุ้งพิณของกระจับปี่มีลักษณะเป็น กล่องแบน หนาประมาณ ๗ เซนติเมตร รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู มุมมน ทางด้านหน้า ทำเป็นช่องให้เสียงออกกังวาน วัดตามด้านยาวของกระพุ้งพิณประมาณ ๔๔ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ทวนทำเป็นก้านเรียวยาวและมีลักษณะกลมกลึง ตอน ปลายมีลักษณะแบนและงอนโค้งออกไปด้านหลัง ยาวประมาณ ๑๓๘ เซนติเมตร ตรง ปลายทวนมีลิ่มสลักเป็นลูกบิดไม้สำหรับขึ้นสาย ๔ ลูก สายของกระจับปี่ส่วนมากมัก ทำด้วยสายเอ็นหรือลวดทองเหลือง ตลอดแนวทวนด้านหน้าทำเป็น “สะพาน” หรือ “นม” มักทำด้วยไม้ เขาสัตว์ หรือกระดูกสัตว์ สำหรับหนุนสาย ๑๑ นม บนหน้ากระ- พุ้งพิณมีชิ้นไม้หรือชิ้นโลหะรองสายไว้เรียกว่า “หย่อง” ทำหน้าที่ถ่ายทอดแรงสะเทือน จากการดีดสายลงมาสู่ตัวกระพุ้งพิณ เวลาบรรเลงใช้นิ้วจับไม้ดีดเขี่ยสายเพื่อให้เกิด เป็นเสียง ไม้ดีดของกระจับปี่มักทำด้วยงาช้าง เขาสัตว์ หรือวัสดุที่มีลักษณะแบนและ บาง

 กระจับปี่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทที่เรียกว่า “ตตะ” ของอินเดีย ซึ่งมีสายสำหรับดีดให้เกิดเสียง มีต้นกำเนิดมาจากการดีดสายธนู แต่เนื่องจากการดีด สายธนูมีเสียงไม่ค่อยดัง จึงหาวัสดุที่มีลักษณะกลวงตามธรรมชาติมาทำเป็นกระพุ้งพิณ เพื่อให้มีเสียงดังกังวานมากขึ้น ตตะชนิดหนึ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นนั้น ได้แก่ “พิณ” หรือ “วีณา” ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ประเภท ตามลักษณะของการเกิดเสียง คือ

 ๑. ประเภทที่เสียงเกิดจากการใช้นิ้วดึงสาย

 ๒. ประเภทที่เสียงเกิดจากการใช้ไม้ดีดสาย

 ๓. ประเภทที่เสียงเกิดจากการใช้คันชัก

 กระจับปี่เป็นพิณประเภทที่ ๒ ที่ต้องใช้ไม้ดีดสายเพื่อให้เกิดเสียง มีชื่อเรียก กันหลายชื่อ เช่น ถ้ากระพุ้งพิณมีรูปร่างคล้ายกับหน้าวัว เรียกว่า “โคมุขะ” ถ้าส่วนยอด ทำเป็นรูปนกยูง เรียกว่า “มยุรี” เช่น พิณของพระสุรัสวดี

 คำว่า กระจับปี่ น่าจะมีต้นเค้ามาจากคำบาลีว่า กจฺฉโป และสันสกฤตว่า กจฺฉป ซึ่งแปลว่า เต่า ทั้งนี้โดยสันนิษฐานว่าแต่เดิมนั้นกระพุ้งพิณคงทำด้วยกระดองเต่า หรือทำเป็นรูปนูนคล้ายกระดองเต่านั่นเอง ในภาษาชวาและมลายูก็มีคำเรียกเครื่องดนตรี ชนิดเดียวกันนี้ว่า กะจาปี (kéhapi) ส่วนเขมรเรียกว่า จาปี (อ่านว่า จาเป็ย)

 ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีกระจับปี่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ กรมศิลปากรได้สร้างกระจับปี่ขึ้นชุดหนึ่ง โดยรักษารูปทรงไว้อย่างเดิม แต่สร้างด้วยไม้ที่มีน้ำหนักเบา ทั้งตัวกระจับปี่และทวนเจาะรูที่ด้านหน้าเล็กน้อยพอ ให้มีช่องระบายอากาศ ทำให้มีเสียงกังวานดีขึ้น การสร้างนี้สร้างเป็น ๔ ขนาด คือ ขนาดใหญ่เท่ากับของเดิม แล้วย่อส่วนให้เล็กลงไปตามลำดับอีก ๓ ขนาด เทียบเสียง ให้สูงขึ้นตามความยาวของทวนและหน้าของกระจับปี่ขนาดนั้น ๆ ทำให้ยืนหรือเดิน บรรเลงได้สะดวก กระจับปี่ชุดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ กรมศิลปากรได้เคยนำไปบรรเลงใน คราวที่คณะทูตวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมนำคณะนาฏศิลป์ไปแสดง ณ กรุง ย่างกุ้ง สหภาพพม่า เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘