โอดพัน

วิธีบรรเลงดนตรีอย่างหนึ่ง ซึ่งมีทั้งทางโอด (ดู ทางโอด ประกอบ) และทางพัน (ดู ทางพัน ประกอบ) คือ การบรรเลงนั้นมีทั้งโหยหวน แช่มช้า ปลอบประโลม โศกซึ้ง และเก็บแทรกแซงเสียงให้ถี่ ๆ อาจสลับกันเป็นอย่างละตอนหรืออย่างละเที่ยวก็ได้

 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้ความเห็นเรื่องโอดพันไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ฉบับวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ว่า “เพลงที่มีเนื้อเหมือนกันแต่ทำสูงทีหนึ่ง ต่ำทีหนึ่ง” เช่นที่ปรากฏในเพลงเขมรใหญ่ท่อน ๓ และท่อน ๔

 เมื่อพิจารณาตามหลักดุริยางคศิลป์ โอดพันก็คือการเปลี่ยนบันไดเสียงชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่เปลี่ยนเฉพาะบันไดเสียง ไม่ได้เปลี่ยนท่วงทำนองด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความเห็นว่า โอดควรเทียบกับเสียงสูง พันควรเทียบกับเสียงต่ำ ความข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนในท้ายท่อนที่ ๒ ของ เพลงแขกลพบุรี ๓ ชั้น ของครูช้อย สุนทรวาทิน

 วิธีบรรเลงดนตรีอย่างโอดพันนี้ให้ประโยชน์ในทางดุริยางคศิลป์หลายประการ คือ

 ๑. ช่วยให้มีการเหลื่อมบันไดเสียง ทั้งการบรรเลงและขับร้อง เช่น ในเพลงเขมรใหญ่ จึงทำให้มีการใช้เสียงมากกว่า ๕ เสียง จนอาจครบ ๗ เสียงในที่สุด

 ๒. เป็นการฝึกมือฝึกนิ้วของนักดนตรี เพราะถึงแม้ท่วงทำนองจะคงเดิม แต่ผลการเปลี่ยน “ทาง” ไปนั้นเป็นเหตุให้นักดนตรีต้องหาวิธีบรรเลงให้เหมาะสมกับขอบเขตเสียงของเครื่องดนตรีของตน

 ๓. เปิดโอกาสให้เครื่องดนตรีแต่ละชนิดที่ใช้บรรเลงได้มีทางแสดงความไพเราะงดงามเฉพาะตัวออกมาอย่างเด่นชัด แสดงคุณลักษณะเฉพาะของเสียงของเครื่องดนตรีนั้น ๆ ได้ทั่วถึง เพราะถ้ายืนอยู่ที่บันไดเสียงเดียวอาจมีเครื่องดนตรีบางชนิดไม่ได้ใช้กลุ่มเสียงที่แสดงคุณลักษณะของเครื่องดนตรีได้เต็มที่