เพลงโหมโรง

เพลงเริ่มต้นของการบรรเลงหรือการแสดง มีความมุ่งหมายเพื่อบอกให้ทราบว่า พิธีหรืองานนั้น ๆ ได้เริ่มขึ้นแล้ว และเป็นการประกาศให้คนที่อยู่ห่างไกลได้รู้ด้วย เพลง โหมโรงโดยมากจึงใช้กลองทัดเพราะกลองทัดเสียงดังไปไกล นอกจากนี้บางเพลงยังเป็นการอัญเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาประชุมสโมสรในงานเพื่อจะได้ เป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่เจ้าภาพและผู้ร่วมงาน

 เพลงโหมโรงแบ่งได้หลายชนิดตามลักษณะของงาน ลักษณะของมหรสพที่แสดง และลักษณะของการบรรเลง คือ

 ก. โหมโรงเย็นและโหมโรงเช้า

   โหมโรงเย็นใช้สำหรับงานที่มีการนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น เพลงที่ใช้โหมโรงเย็นเป็นเพลงชุดซึ่งประกอบด้วยเพลงต่าง ๆ เรียงลำดับดังนี้

๑. สาธุการ ๙. เสมอ
๒. ตระ ๑๐. รัวลาเดียว
๓. รัว ๓ ลา ๑๑. เชิด ๒ ชั้น, ชั้นเดียว
๔. ต้นเข้าม่านหรือต้นชุบ ๑๒. กลม
๕. เข้าม่าน ๑๓. ชำนาญ (ชำนัญ)
๖. ปฐม ๑๔. กราวใน
๗. ท้ายปฐม ๑๕. ต้นเข้าม่านหรือต้นชุบ
๘. ลา ๑๖. ลา

เพลงแต่ละเพลงมีความหมายต่างกันไป เช่น
เพลงสาธุการและเพลงตระ หมายถึง การบูชาและอัญเชิญเทวดามาสู่พิธี
รัว ๓ ลา หมายถึง การกราบ ๓ ครั้ง
เข้าม่าน หมายถึง เทวดาที่รับเชิญเข้าวิสูตรแต่งองค์
ปฐม หมายถึง เพลงที่ใช้สำหรับจัดขบวน
ลา หมายถึง การจัดขบวนได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
เสมอ หมายถึง เพลงที่บรรเลงแสดงกิริยาไปมาในระยะใกล้
เชิด หมายถึง เพลงที่บรรเลงแสดงกิริยาไปมาในระยะไกล รีบเร่ง
กลม หมายถึง เพลงที่บรรเลงแสดงกิริยาไปมาของเทวดาผู้สูงศักดิ์
ชำนาญ (ชำนัญ) หมายถึง เพลงสำหรับอำนวยพร
กราวใน หมายถึง เพลงที่ใช้แสดงกิริยาของเทวดาฝ่ายอสูร

 โหมโรงเช้าใช้สำหรับงานที่มีการทำบุญเลี้ยงพระ ซึ่งโดยปรกติแล้วมีลักษณะเป็นการสวดมนต์เย็น-ฉันเช้า เพลงที่ใช้โหมโรงเช้านี้เป็นเพลงชุดซึ่งบรรเลงด้วยวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับโหมโรงเย็น เพียงแต่ต้องการให้คนทราบว่าที่นี่จะมีการทำบุญเลี้ยงพระเท่านั้น เพลงต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในชุดโหมโรงเช้ามีดังนี้

๑. สาธุการ ๔. กลม
๒. เหาะ ๕. ชำนาญ (ชำนัญ)
๓. รัวลาเดียว

 ข. โหมโรงเทศน์ ใช้บรรเลงเป็นการประกาศให้ชาวบ้านทราบว่า ที่บ้านนี้หรือวัดนี้จะมีพระธรรมเทศนา กับเป็นการอัญเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาชุมนุมกันในงานอีกด้วย เพลงชุดโหมโรงเทศน์ประกอบด้วยเพลงสาธุการ กราวใน เสมอ รัว เชิด ชุบ ลา จะบรรเลงกี่เที่ยวก็ได้

 ค. โหมโรงการแสดงมหรสพและโหมโรงกลางวัน

   โหมโรงการแสดงมหรสพใช้บรรเลงเป็นการประกาศให้ชาวบ้านทราบว่าที่นี่จะมีการแสดงมหรสพ และเป็นการอัญเชิญศักดิ์สิทธิ์มาชุมนุมกันให้เป็นสิริมงคลด้วย การโหมโรงนี้มีทั้งตอนเช้า กลางวัน เย็น (หรือค่ำ) แล้วแต่เวลาที่มหรสพจะแสดงเพลงโหมโรงการแสดงมหรสพเช้าและเย็นนั้น มีการเรียงลำดับเพลงเหมือนกับโหมโรงเย็นของงานสวดมนต์เย็น เพียงแต่ตัดเพลงสาธุการออก เริ่มบรรเลงตั้งแต่เพลงตระเป็นต้นไป และเมื่อมหรสพจะลงโรงจึงบรรเลงเพลงวา เพื่อเป็นเครื่องหมายว่ากำลังจะเริ่มแสดงแล้ว

   ส่วนโหมโรงกลางวันใช้โหมโรงหลังจากการแสดงหยุดพักเที่ยงและจะเริ่มแสดงต่อไปใหม่ในตอนบ่าย

   การโหมโรงโขนนั้นพิเศษกว่าโหมโรงละคร ในตำราของเก่าจัดระเบียบการโหมโรงโขนไว้ดังนี้

   ๑. โหมโรงเช้า มี ๘ เพลง คือ

๑. ตระสันนิบาต-รัว ๓. เสมอ-รัว
๒. เข้าม่าน-ลา ๔. เชิด
๕. กลม ๗. กราวใน
๖. ชำนาญ (ชำนัญ) ๘. ชุบ

๒. โหมโรงกลางวัน มี ๑๐ เพลง คือ
๑. กราวใน ๖. ตะคุกรุกร้น-รัว
๒. เสมอข้ามสมุทร ๗. ใช้เรือ-รัว
๓. เชิด ๘. ปลูกต้นไม้-รัว
๔. ชุบ-แล้วลงลา ๙. ตระสันนิบาต
๕. กระบองกัน-รัว ๑๐. เชิด-ปฐม-รัว

๓. โหมโรงเย็น มี ๑๔ เพลง คือ
๑. สาธุการ ๘. เชิด
๒. ตระ ๙. กลม
๓. รัว ๓ ลา ๑๐. ชำนาญ (ชำนัญ)
๔. เข้าม่าน ๑๑. กราวใน
๕. ปฐม ๑๒. ต้นเข้าม่านหรือต้นชุบ
๖. ลา ๑๓. ลา
๗. เสมอ (รัวลาเดียว) ๑๔. วา

การโหมโรงกลางวันของละครมีเพลงต่าง ๆ ในชุดโหมโรงกลางวันดังนี้
๑. กราวใน ๖. กระบองกัน-รัว
๒. เสมอข้ามสมุทร ๗. ปลูกต้นไม้-รัว
๓. รัว ๓ ลา ๘. ใช้เรือ-รัว
๔. เชิด ๙. เหาะ-รัว
๕. ลา ๑๐. โล้-รัว

   ส่วนการโหมโรงโขนและหนังใหญ่จะเริ่มด้วยเพลงสาธุการทุกครั้ง

 ง. โหมโรงเสภา ในสมัยโบราณจะไม่ใช้ปี่พาทย์บรรเลงโหมโรงเสภา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าพาทย์ในการแสดงกิริยาตัวละครเท่านั้น ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ร้องอย่างละคร ทำให้โหมโรงเสภาเหมือนกับโหมโรงละคร คือ เริ่มบรรเลงตั้งแต่เพลงตระไปจนถึงกราวใน แล้วลงลาเมื่อจะเริ่มขับเสภา จากนั้นจึงบรรเลงเพลงวา ซึ่งทำให้ช้ามาก จึงได้ตัดเพลงต่าง ๆ ออกหมดเหลือแต่เพลงวาเพลงเดียว ต่อมาเพื่อมิให้เล่นซ้ำอยู่เพลงเดียวจึงหาเพลงอื่นซึ่งเป็นเพลงประเภทเดียวกับเพลงวามาบรรเลง แล้วลงท้ายอย่างเพลงวา

 การโหมโรงเสภาในปัจจุบัน ประกอบด้วยเพลง ๒ เพลง คือ

 ๑. เพลงรัวประลองเสภา ยังไม่ใช่เป็นตัวเพลงโหมโรง เหตุที่ต้องมีรัวขึ้นต้นในการโหมโรงเสภาก็เพื่ออุ่นข้อให้คล่องจะได้บรรเลงเพลงอื่นต่อไปได้สะดวก เพื่อตรวจดูลูกระนาดลูกฆ้องว่าลูกใดติดขัด จะได้แก้ไขให้เรียบร้อย และเพื่อให้ฟังตื่นเต้นเร้าใจ เพลงรัวประลองเสภานี้ตัดมาจากเพลงรัว ๓ ลา โดยตัดเอาเฉพาะลาที่ ๒ มาใช้สำหรับขึ้นต้นนำเพลงโหมโรง

 ๒. เพลงโหมโรง จะเป็นเพลงเดียว เช่น เพลงไอยเรศ เพลงสะบัดสะบิ้งหรือจะนำ ๒-๓ เพลงมาบรรเลงติดต่อกันเป็นชุดสั้น ๆ เช่น เพลงครอบจักรวาลออกม้าย่อง หรือเพลงนางกรายออกสะบัดสะบิ้ง ก็ได้ แต่ต้องไม่ยาวมาก และเมื่อจะจบเพลงโหมโรงต้องลงท้ายแบบเพลงวาเท่านั้น

 จ. โหมโรงมโหรี มโหรีเดิมเป็นของผู้หญิงเล่น ผู้ชายเพิ่งจะเล่นเมื่อไม่นานมานี้การโหมโรงมโหรีแต่ก่อนใช้เพลงทะแย ปัจจุบันใช้วิธีเดียวกับโหมโรงเสภา แต่ไม่มีเพลงรัวประลองเสภาขึ้นต้น

 ฉ. โหมโรงหุ่นกระบอก การแสดงหุ่นกระบอกนั้น ปี่พาทย์ต้องโหมโรงเป็นชุดเดียวกันกับการแสดงอย่างอื่น เพลงชุดที่ใช้โหมโรงนี้คือ ชุดโหมโรงเย็นที่กล่าวมาข้างต้น ผิดกันแต่ว่าเมื่อจบโหมโรงและลงเพลงวาแล้วร้องและบรรเลงเพลงช้าปี่นอกปีนตลิ่งนอก รัว ๓ ลา เมื่อหุ่นเข้า ซออู้จะบรรเลงเพลงทำนองสังขารา พร้อมเครื่องกำกับจังหวะแบบจีนสำหรับหุ่นกระบอกอีก ๑ เพลง ต่อจากนั้นปี่พาทย์จึงทำเพลงเสมอเพื่อดำเนินเรื่องหุ่นกระบอกต่อไป

 ช. โหมโรงหนังใหญ่ ใช้เพลงชุดโหมโรงเย็น แต่บรรเลงทางกลาง (คือใช้ปี่กลางประกอบเพื่อให้เสียงดังเพราะแสดงกลางสนาม) เพลงในชุดโหมโรงเย็นที่นำมาบรรเลงเริ่มตั้งแต่เพลงสาธุการจนถึงเพลงเสมอ ต่อมานั้นจึงดำเนินเรื่องหนังใหญ่เลย