เพลงกราว

เพลงที่ใช้บรรเลงในการแสดงโขนละครหรือการแสดงชนิดอื่น ๆ เพื่อแสดงกิริยาว่าเกิดเสียงโห่ร้องอึกทึกหรือการไปมา แต่จะต้องต่อท้ายชื่อเพลงเพื่อเป็นที่หมายรู้ว่าบรรเลงเพื่อการใด

 กราวนอก ดำเนินทำนองไปในทางเสียงสูงที่เรียกว่า “ทางนอก” มีทำนองและจังหวะไม้กลองค่อนข้างกระชั้น ใช้บรรเลงในการยกทัพตรวจพลเทวดา มนุษย์หรือวานร และการไปมาของวานรในบางโอกาส

 กราวใน ดำเนินทำนองไปในทางเสียงต่ำที่เรียกว่า “ทางใน” มีทำนองและจังหวะไม้กลองห่างและหนักแน่น ใช้บรรเลงในการยกทัพตรวจพลของยักษ์และการไปมาของยักษ์ในบางโอกาส บางครั้งใช้บรรเลงในพิธีเมื่อพระเทศน์จบหรือสวดมนต์จบด้วย โดยปรกติบรรเลงรวมอยู่ในชุดเพลงโหมโรงเย็น

 กราวกลาง ใช้บรรเลงในการเต้นวีรชัยของทหาร ครูมนตรี ตราโมท แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงละครเรื่องมโนราห์ ของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นครั้งแรก บางครั้งใช้บรรเลงแทนเพลงกราวนอก

 กราวรำ ใช้บรรเลงในการแสดงกิริยารื่นเริง แสดงการเยาะเย้ย หรือบรรเลงเป็นสัญญาณบอกว่าเลิกงานหรือลาโรง

 การบรรเลงเลียนสำเนียงเพลงออกสิบสองภาษาโดยไม้กลองยังคงตีแบบกราวนอก ก็จะเรียกชื่อกราวตามสำเนียงนั้น ๆ เช่น กราวกระแซ (บางครั้งเรียกว่ากระแตเล็ก) กราวมอญ กราวเขมร กราวจีน กราวเงาะ

 นอกจากนี้ยังมีการนำทำนองและไม้กลองของเพลงกราวนอกมาใช้เกี่ยวกับกีฬาเรียกว่า เพลงกราวกีฬา ซึ่งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้แต่ง