วงบัวลอย

วงดนตรีไทยแบบหนึ่งที่ใช้ประโคมในงานศพ เดิมเอาแบบอย่างมาจากวงกลองชนะที่ ใช้ประโคมพระบรมศพและพระศพ ประกอบด้วย ปี่ชวา ๑ เลา กลองมลายู ๔ ใบ และฆ้องเหม่ง ๑ ใบ เรียกว่า “กลองสี่ปี่หนึ่ง” ซึ่งหมายถึง ปี่ชวา ๑ เลา เป่าเข้าจังหวะกับกลองมลายู ๔ ใบ ภายหลังได้ลดจำนวนกลองมลายูลงเหลือเพียง ๒ ใบ และเรียกวงลักษณะนี้ว่า “วงบัวลอย” เพราะใช้เพลงบัวลอยเป็นหลักสำคัญในการบรรเลง

 เพลงบัวลอยที่นิยมบรรเลงมี ๒ ทาง คือ

 ๑. ทางพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เรียงลำดับเพลงดังนี้

๑. รัว ๓ ลา
๒. บัวลอย
๓. นางหน่าย
๔. รัวลาเดียว
๕. ไฟชุม
๖. เพลงเร็ว
๗. รัวลาเดียว
๘. นางหงส์

 ๒. ทางที่ ๒ (ไม่ทราบชื่อและที่มา) เรียงลำดับเพลงดังนี้

๑. รัว ๓ ลา
๒. บัวลอย
๓. นางหน่าย
๔. รัวลาเดียว
๕. กระดีดี่
๖. แร้งกระพือปีก
๗. รัวลาเดียว
๘. กาจับปากโลง
๙. นางหงส์

 วงบัวลอยบางวงอาจไม่บรรเลงเพลงเรียงลำดับตามนี้ และอาจเพิ่มบางเพลงเข้าไปอีก เช่น เพลงไต่ลวด เพลงชักฟืนสามดุ้น เพลงเชิดแขก อย่างไรก็ตาม โดยประเพณีเมื่อจบรัว ๓ ลา แล้วจะต้องต่อด้วยเพลงบัวลอยและลงท้ายด้วยเพลงนางหงส์เสมอไป

 ปัจจุบัน วงบัวลอยที่ใช้ประโคมในงานศพ เวลาประชุมเพลิง โดยปรกตินักดนตรีจะเริ่มบรรเลงเมื่อผู้เป็นประธานขึ้นจุดไฟศพเป็นคนแรก โดยเริ่มจากเพลงรัว ๓ ลา เพลงบัวลอย และเพลงอื่น ๆ ตามลำดับดังกล่าวแล้ว ทำนองของปี่ชวาและจังหวะหน้าทับของกลองมลายูที่ตีประกอบทำให้ฟังเยือกเย็น เศร้า บางตอนก็เร่งเร้าน่าฟังอย่างยิ่ง

 กล่าวกันว่า แต่ก่อนนิยมใช้วงบัวลอยบรรเลงในงานศพบุคคลสำคัญโดยเฉพาะครูดนตรีไทยเป็นต้น ต่อมามีการอนุโลมให้ใช้ในงานศพของบุคคลธรรมดาได้ด้วย