ระนาดชนิดหนึ่ง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เลียนแบบระนาดเอก (ดู ระนาด, ระนาดเอก ประกอบ) ลูกระนาดทำด้วยไม้ไผ่บง แต่เหลาให้มีขนาดกว้างและยาวกว่าลูกระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน ๑๗ ถึง ๑๘ ลูก ลูกต้น ยาวประมาณ ๔๒ เซนติเมตร กว้าง ๖ เซนติเมตร ลูกต่อมาก็ลดหลั่นลงจนถึงลูกยอดมีขนาดยาว ๓๔ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร รางระนาดทุ้มมีรูปร่างต่างจากรางระนาดเอกด้วยคือรูปคล้ายหีบไม้แต่เว้ากลาง มีโขนเปิดทางด้านหัวและด้านท้าย วัดจากปลายโขนด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งยาวประมาณ ๑๒๔ เซนติเมตร ปากรางกว้างประมาณ ๒๒ เซนติเมตร มีเท้าเตี้ย ๆ รอง ๔ มุมราง อาจติดลูกล้อที่เท้าทั้ง ๔ นั้นเพื่อให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย ไม้ตีก็ประดิษฐ์แตกต่างออกไปจากไม้ตีระนาดเอก โดยตอนปลายที่ใช้ตีนั้นพันผ้าพอกให้โตและนุ่มเพื่อตีให้เกิดเสียงทุ้มเป็นคนละเสียงกับระนาดเอก
ระนาดทุ้มใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ทั่วไป มีวิธีการบรรเลงเป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากระนาดเอก คือ ไม่ได้ยึดการบรรเลงคู่ ๘ เป็นหลัก การดำเนินทำนองที่ล้อขัดกับระนาดเอกทำให้เกิดความสนุกสนานน่าฟังยิ่งขึ้น