ปี่พาทย์

วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครื่องเป่า คือ ปี่ ผสมกับเครื่องตี ได้แก่ ระนาดและฆ้องวงชนิดต่าง ๆ เป็นหลัก และยังมีเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัด กลองแขก และกลองสองหน้า ปี่พาทย์นี้บางสมัยเรียกว่า “พิณพาทย์”

 วงปี่พาทย์มี ๘ แบบ คือ

 ๑. วงปี่พาทย์เครื่องห้า เป็นวงปี่พาทย์ที่เป็นวงหลัก มีจำนวนเครื่องดนตรีน้อยชิ้นที่สุด ดังนี้

ปี่ใน ๑ เลา
ระนาดเอก ๑ ราง
ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง
กลองทัด ๒ ลูก
ตะโพน ๑ ลูก
ฉิ่ง ๑ คู่
ในบางกรณีอาจใช้ฉาบ กรับ โหม่งด้วย

 ๒. วงปี่พาทย์เครื่องคู่ เป็นวงปี่พาทย์ที่ประกอบด้วยเครื่องทำทำนองเป็นคู่เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยูหั่ ว ได้มีผูคิ้ ดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ ระนาดทุ้มกับฆ้องวงเล็ก และนำเอาปี่นอกซึ่งใช้ในการบรรเลงปี่พาทย์ สำหรับการแสดงหนังใหญ่สมัยโบราณมารวมเข้ากับวงปี่พาทย์เครื่องห้าที่มีอยู่เดิม

วงปี่พาทย์เครื่องคู่มีเครื่องดนตรีดังนี้
ปี่ ๑ คู่ คือ ปี่ในและปี่นอก
ระนาด ๑ คู่ คือ ระนาดเอกและระนาดทุ้ม
ฆ้องวง ๑ คู่ คือ ฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก
กลองทัด ๑ คู่
ตะโพน ๑ ลูก
ฉิ่ง ๑ คู่
ฉาบเล็ก ๑ คู่
ฉาบใหญ่ ๑ คู่
โหม่ง ๑ ใบ
กลองสองหน้า ๑ ลูก (บางทีใช้กลองแขก ๑ คู่ แทน)
ในบางกรณีอาจใช้กรับด้วย

 ๓. วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ คือ วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่เพิ่มระนาดเอกเหล็กกับระนาดทุ้มเหล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น กลายเป็นวงปี่พาทย์ที่มีระนาด ๔ ราง โดยตั้งระนาดเอกเหล็กที่ริมด้านขวามือและตั้งระนาดทุ้มเหล็กที่ริมด้านซ้ายมือ ซึ่งนักดนตรีนิยมเรียกกันว่า “เพิ่มหัวท้าย” วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบางวงก็เพิ่มกลองทัด รวมเป็น ๓ ใบบ้าง ๔ ใบบ้าง ส่วนฉาบใหญ่นำมาใช้ในวงปี่พาทย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 วงปี่พาทย์ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ ถ้ามีการบรรเลงเพลงภาษาจะใช้เครื่องดนตรีกำกับจังหวะของภาษานั้น ๆ ด้วย เช่น

ภาษาเขมร ใช้ โทน
ภาษาจีน ใช้ กลองจีน กลองต๊อก แต๋ว
ภาษาฝรั่ง ใช้ กลองมริกัน (อเมริกัน) หรือกลองแตร็ก
(side drum, snare drum)
ภาษาพม่า ใช้ กลองยาว
ภาษามอญ ใช้ ตะโพน เปิงมาง

 ๔. วงปี่พาทย์นางหงส์ คือ วงปี่พาทย์ธรรมดาซึ่งใช้บรรเลงทั่วไป แต่เมื่อนำมาใช้ประโคมในงานศพ จะนำวงบัวลอยซึ่งประกอบด้วยปี่ชวา ๑ เลา กลองมลายู ๑ คู่ และเหม่ง ๑ ใบ ที่ใช้ประโคมในงานศพเข้ามาผสม (ดู วงบัวลอย ประกอบ) โดยตัดปี่ใน ตะโพน และกลองทัด ออก ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนและกลองทัด ส่วนเหม่งนั้นมีเสียงไม่เหมาะกับวงปี่พาทย์จึงไม่นำมาใช้ ใช้แต่โหม่งซึ่งมีอยู่เดิม เรียกว่า “วงปี่พาทย์นางหงส์”

   วงปี่พาทย์นางหงส์ใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพมาแต่โบราณก่อนวงปี่พาทย์มอญ สาเหตุที่เรียกว่าปี่พาทย์นางหงส์ ก็เพราะใช้เพลงเรื่องนางหงส์ ๒ ชั้น เป็นหลักสำคัญในการบรรเลง นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการไปใช้บรรเลงเพลงภาษาต่าง ๆ เรียกว่า “ออกภาษา” ด้วย

 ๕. วงปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ได้อิทธิพลมาจากมอญ เช่น ฆ้องมอญ ปี่มอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก ปัจจุบันวงปี่พาทย์มอญมี ๓ ขนาด ได้แก่

   ๕.๑ วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ประกอบด้วยปี่มอญ ระนาดเอก ฆ้อง มอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง

   ๕.๒ วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า แต่เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องมอญวงเล็ก

   ๕.๓ วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ แต่เพิ่มระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็ก

   วงปี่พาทย์มอญนั้นที่จริงแล้วใช้บรรเลงในโอกาสต่าง ๆ ได้ทั้งงานมงคล เช่น งานฉลองพระแก้วมรกตในสมัยธนบุรี และงานอวมงคล เช่น งานศพ แต่ต่อมานิยมบรรเลงในงานศพ เนื่องจากท่วงทำนองเพลงมอญมีลีลาโศกเศร้า โหยหวน ซึ่งเหมาะกับบรรยากาศของงาน จนบางท่านนึกว่าปี่พาทย์มอญใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น

 ๖. วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือ วงปี่พาทย์ประสมชนิดหนึ่ง มีต้นเค้าสืบเนื่องมาจากละครดึกดำบรรพ์ ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ร่วมกันปรับปรุงขึ้นโดยอาศัยแนวอุปรากร (opera) ของตะวันตกเข้าประกอบ ละครนี้ได้ชื่อตามโรงละครซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ตั้งชื่อว่า “โรงละครดึกดำบรรพ์” ละครก็เรียกว่า “ละครดึกดำบรรพ์” ด้วย วงปีพาทย์่ ที่บรรเลงในการเล่นละครนี้จึงมีชื่อว่า “ปีพาทย์่ ดึกดำบรรพ์” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงคัดเลือกเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มนุ่มนวลประสมเข้าด้วยกันให้เหมาะสมกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์ คือ

ระนาดเอก (ใช้ไม้นวม)
ระนาดทุ้ม
ระนาดทุ้มเหล็ก
ฆ้องวงใหญ่
ฆ้องหุ่ย ๗ ใบ มีเสียงเรียงลำดับกัน ๗ เสียง
ขลุ่ยเพียงออ
ตะโพน
กลองตะโพน
ฉิ่ง
ซออู้ (เพิ่มขึ้นภายหลังเมื่อแสดงเรื่องสังข์ศิลปชัย ได้ทรงบรรจุเพลงสังขาราซึ่งต้องใช้ซออู้สีประกอบ)
ขลุ่ยอู้ (มีผู้คิดเพิ่มในภายหลัง)

 วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นี้นอกจากจะเปลี่ยนแปลงการประสมเครื่องดนตรีต่างไปจากวงปี่พาทย์เดิมแล้ว ยังได้เปลี่ยนแปลงวิธีตั้งเครื่องดนตรีอีกด้วย โดยตั้งระนาดเอกไว้กลาง ระนาดทุ้มอยู่ขวา ระนาดทุ้มเหล็กอยู่ซ้าย ฆ้องวงใหญ่อยู่หลังระนาดเอก ส่วนระเบียบวิธีการบรรเลงนั้นก็มีแบบแผนเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับการบรรเลงในการแสดงโขนละครโดยทั่วไปซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ

 ๑. การบรรเลงทั่วไป เหมือนวงปี่พาทย์ชนิดอื่น ใช้บรรเลงเพลงต่าง ๆ ตามประสงค์และตามกาลเทศะ แต่ลักษณะการบรรเลงนั้นย่อมแตกต่างไปบ้าง ในเรื่องของแนวการบรรเลงซึ่งอยู่ในแนวช้า ไม่รวดเร็วดังเช่นปี่พาทย์เสภาและปี่พาทย์นางหงส์นอกจากนี้วิธีการบรรเลงก็ไม่รุกเร้า โลดโผน เกรี้ยวกราด หรือสนุกสนานเต็มที่ แต่จะดำเนินทำนองไปโดยเรียบเย็น นุ่มนวล ผสมเสียงฆ้องหุ่ยดังอุ้มวงอยู่ห่าง ๆ ได้ บรรยากาศเย็น สงบ และกลมกล่อม

 ๒. การบรรเลงในละครดึกดำบรรพ์ใช้บรรเลงตามแบบแผนที่ผู้ประพันธ์เพลงได้แต่งไว้เป็นการเฉพาะ เช่น เพลงโหมโรงมีลักษณะคล้ายการเล่าเรื่องก่อนการแสดง ดังเช่นโหมโรงฉากแรกในเรื่องคาวี ตอนเผาพระขรรค์ ประกอบไปด้วยเพลงบาทสกุณี เพลงแผละ เพลงเชิด เพลงโอด เพลงเร็ว เพลงลา เพลงโลม เพลงเสมอ เพลงรัว หมายถึง พระคาวีเสด็จมาปราบนกอินทรี จนได้พบนางจันทร์สุดา และได้นางเป็นชายา นอกจากนี้เพลงแต่ละเพลงในการแสดงละครดึกดำบรรพ์ยังมีทำนองเชื่อมให้ฟังกลมกลืนเข้ากัน โดยเฉพาะเพลงที่มีสำเนียงหรือเสียงต่างกันก็ต่อเชื่อมได้สนิทในรายละเอียดของเนื้อหาดนตรีก็ยังได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม หรือตัดทอนให้แตกต่างไปจากเพลงเดิมที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปอีกด้วย

 ๗. วงปี่พาทย์ไม้นวม คือ วงปี่พาทย์ที่ใช้ไม้ตีระนาดเอกเปลี่ยนจากไม้แข็งเป็นไม้นวม คือ ไม้ตีจะพันผ้าและด้ายรัดหลาย ๆ รอบจนแน่น เมื่อใช้ตีจะมีเสียงนุ่มนวลเพิ่มซออู้อีก ๑ คัน และใช้ขลุ่ยเพียงออแทนปี่ ใช้กลองแขกตีเป็นเครื่องกำกับจังหวะ

 ๘. วงปี่พาทย์เสภา คือ วงปี่พาทย์ซึ่งใช้กลองสองหน้ากำกับจังหวะหน้าทับแทนตะโพนและกลองทัด เริ่มนำมาบรรเลงร่วมกับการเล่นเสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย