วิธีการบรรเลงดนตรีหรือขับร้องคนละเสียงในเพลงเดียวกันและพร้อม ๆ กัน อาจเป็นเครื่องดนตรีกับเครื่องดนตรี ขับร้องกับขับร้อง หรือเครื่องดนตรีกับขับร้องก็ได้ เสียงของดนตรีหรือเสียงขับร้องที่แยกกันเป็นคนละทางย่อมมีเสียงที่ตกจังหวะเป็นคนละเสียงบ้าง รวมเป็นเสียงเดียวกันบ้าง เช่นเดียวกับการประสานเสียง (harmony) แบบหนึ่งของดนตรีสากล เช่น การขับร้องเพลงช้าประสมเสียงระฆังในละครดึกดำบรรพ์เรื่องอิเหนา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ในดนตรีไทยนั้น การประสานเสียงอาจเกิดขึ้นโดยผู้บรรเลงคนเดียว บรรเลงเครื่องดนตรีชิ้นเดียว แต่ใช้มือ ๒ ข้างบรรเลงต่างโน้ตกัน หรือผู้ประพันธ์เปิดโอกาสให้ผูบรรเลงเครื่้ องดนตรีแต่ละชิ้นสามารถใช้สติปัญญาในการคิดทางประสานเสียงเมื่อร่วมวงบรรเลงด้วยกัน การประสานเสียงของดนตรีไทยซึ่งเน้นการแปรทางของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดที่บรรเลงร่วมกันเป็นหลักสำคัญ เรียกว่า วิวิธศัพท์ (heterophony) ลักษณะการประสานเสียงแบบนี้มีความคล้ายคลึงกันในกลุ่มของดนตรีเอเชีย เช่น ลาว เขมร จีน อินโดนีเซีย