กลองสองหน้าขนาดเล็กชนิดหนึ่ง (ดู กลอง ประกอบ) คำว่า “บัณเฑาะว์” มาจากคำบาลีว่า “ปณว” ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “ปฺรณว” ไทยคงจะได้เครื่องดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย ดังปรากฏในรูปพระศิวนาฏราช ซึ่งพระหัตถ์ขวาข้างหนึ่งทรงถือกลอง “ทมรุ” คือบัณเฑาะว์
บัณเฑาะว์ของไทย ตัวกลองทำด้วยไม้จริง ขนาดเล็กพอมือถือ หัวและท้ายใหญ่ ตรงกลางคอด หน้ากว้างประมาณ ๑๔ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๖ เซนติเมตร มีสายโยงเร่งเสียงใช้เชือกร้อยโยงห่าง ๆ มีสายรัดอกตรงคอด และตรงสายรัดอกนั้นมีหลักยาวอันหนึ่ง รูปเหมือนหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ทำด้วยไม้หรืองายาวประมาณ ๑๓ เซนติเมตร ตรงปลายหลักมีเชือกผูก ปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกลูกตุ้ม ในการบรรเลงใช้มือถือบัณเฑาะว์ไกวคือพลิกข้อมือกลับไปกลับมาให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมากระทบตรงหนังหน้ากลองทั้ง ๒ ข้าง บางครั้งใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว บางครั้งใช้ ๒ ลูกไกวพร้อมกัน ๒ มือ มือละลูก เป็นจังหวะในการบรรเลงประกอบขับไม้ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญ