ระดับเสียงของเพลงที่บรรเลงซึ่งกำหนดชื่อเรียกเป็นที่หมายรู้กันทุก ๆ เสียง จำแนก เรียงลำดับขึ้นไปทีละเสียงดังต่อไปนี้
๑. ทางเพียงออล่าง (หรือ ทางในลด) เรียกตามชื่อลูกฆ้องวงใหญ่ ลูกที่ ๑๐ (นับจากลูกที่มีเสียงต่ำที่สุด) ลูกฆ้องลูกนี้เรียกว่า “ลูกเพียงออ” อนุโลมเทียบกับเสียงของดนตรีสากลตรงกับเสียง ฟา (F) เพราะเมื่อบรรเลงทางนี้เสียงฆ้องลูกนี้จะเป็นเสียงหลัก ทางนี้ใช้บรรเลงในการแสดงละครดึกดำบรรพ์หรือละครอื่น ๆ ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม เดิมเรียกการบรรเลงทางนี้ว่า “ทางเพียงออ” แต่เมื่อมีทางบรรเลงของวงมโหรีและวงเครื่องสายซึ่งเรียกว่า “ทางเพียงออ” เหมือนกัน จึงต้องแยกเป็น “ทางเพียงออล่าง” และ “ทางเพียงออบน” ที่เรียกทางนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “ทางในลด” นั้น หมายถึงว่า บรรเลงลดจากทางในลงมา ๑ เสียง
๒. ทางใน เสียงหลักของทางในสูงกว่าทางเพียงออล่าง ๑ เสียง เทียบได้กับเสียง ซอล (G) ที่เรียกว่า “ทางใน” นี้ เรียกชื่อตาม “ปี่ใน” ที่ใช้เป่าในวงปี่พาทย์ประจำกับเสียงนี้ ซึ่งเป่าได้ถนัดและสะดวกที่สุด ทางนี้ใช้บรรเลงในการแสดงละครในเพลงเรื่อง และเพลงพิธีกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันใช้บรรเลงในการแสดงละครนอกและโขนด้วย
๓. ทางกลาง เสียงหลักของทางกลางสูงกว่าทางใน ๑ เสียง เทียบได้กับเสียงลา (A) ที่เรียกว่า “ทางกลาง” นี้ เรียกตามชื่อ “ปี่กลาง” ซึ่งใช้เป่าในวงปี่พาทย์ประจำกับเสียงนี้ได้ถนัดและสะดวกที่สุด ทางนี้ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังใหญ่และโขนในสมัยโบราณ
๔. ทางเพียงออบน (หรือ ทางนอกต่ำ) เสียงหลักของทางเพียงออบนสูงกว่าทางกลาง ๑ เสียง เทียบได้กับเสียง ซีแฟลต (Bb) ที่เรียกว่า “ทางเพียงออบน” นี้ เรียกตามชื่อ “ขลุ่ยเพียงออ” ซึ่งใช้เป่าประจำกับเสียงนี้ และเพื่อให้แตกต่างกับทางเพียงออล่างจึงเรียกว่า “ทางเพียงออบน” ทางนี้บางทีเรียกว่า “ทางนอกต่ำ ” ตามชื่อ “ปี่นอกต่ำ” ซึ่งเป่าประจำกับเสียงนี้ได้ถนัดและสะดวกที่สุด ทางนี้ใช้บรรเลงประจำกับวงมโหรีและวงเครื่องสาย
๕. ทางกรวด (หรือ ทางนอก หรือ ทางแหบ) เสียงหลักของทางกรวดสูงกว่าทางเพียงออบน ๑ เสียง เทียบได้กับเสียง โด (C) ที่เรียกว่า “ทางกรวด” เนื่องจากเป็นทางที่มีเสียงสูงที่สุดของการบรรเลงปี่พาทย์ แต่ที่เรียกว่า “ทางนอก” นั้นเรียกตามชื่อ “ปี่นอก” ซึ่งเป่ากับเสียงนี้ได้ถนัดและสะดวกที่สุด โดยใช้นิ้วอย่างเดียวกันกับปี่ในเป่าทางใน ทางกรวดหรือทางนอกนี้ใช้บรรเลงประกอบการขับเสภา หรือ บรรเลงปี่พาทย์รับร้องโดยปรกติ และใช้บรรเลงในการแสดงละครนอกในสมัยโบราณ
๖. ทางกลางแหบ เสียงหลักของทางกลางแหบสูงกว่าทางกรวด ๑ เสียง เทียบได้กับเสียง เร (D) ที่เรียกว่า “ทางกลางแหบ” ก็ด้วยเมื่อบรรเลงทางนี้ ปี่กลาง จะต้องเป่าแหบโดยมาก เหมือนอย่างปี่ในเป่าทางนอก ทางนี้มิได้ใช้ประจำกับการแสดงอะไร มักจะแทรกอยู่ในการบรรเลงเพลงที่เป็นทางในเมื่อย้ายระดับเสียง เช่น เพลงทยอยใน เพลงทยอยเขมร
๗. ทางชวา (หรือ ทางเครื่องสายปี่ชวา) เสียงหลักของทางชวาสูงกว่าทางกลางแหบ ๑ เสียง เทียบได้กับเสียง มี (E) ที่เรียกว่า “ทางชวา” ก็เรียกตามชื่อ “ปี่ชวา” ซึ่งเป่าประจำกับเสียงนี้ได้ถนัดและสะดวกที่สุด ทางนี้ใช้ประจำกับการบรรเลงที่มีปี่ชวา เช่น วงเครื่องสายปี่ชวา ยกเว้นการบรรเลงปี่พาทย์นางหงส์ ซึ่งแม้จะผสมปี่ชวาก็ไม่บรรเลงทางชวา หากแต่บรรเลงทางเพียงออบนหรือทางนอกต่ำ เพื่อสะดวกแก่การ บรรเลงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ในวงปี่พาทย์
ทางทั้ง ๗ เสียงนี้ มิใช่ว่าเมื่อบรรเลงทางซึ่งเป็นระดับเสียงใด จะต้องคงอยู่ในทางนั้นเสมอไป เพราะเพลงบางเพลงท่านผู้แต่งได้ย้ายระดับเสียงอยู่ในตัว หรือบาง เพลงก็มีประเพณีกำหนดให้เปลี่ยนระดับเสียง ก็ต้องบรรเลงเปลี่ยนทางไปตามความ เหมาะสมของเพลงนั้น ๆ