ตะโพน

เครื่องตีประเภทเครื่องหนัง ตัวตะโพนเรียกว่า “หุ่น” ยาวประมาณ ๔๘ เซนติเมตร ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง ๒ หน้า หน้าที่ขึ้นหนังทั้ง ๒ ข้างสอบ ตรงกลางป่อง หน้าหนึ่งใหญ่ กว้างประมาณ ๒๕ เซนติเมตร เรียกว่า “หน้าเทิ่ง” หรือ “หน้าเท่ง” ปรกติอยู่ทางขวามือ ตรงกลางหน้าเท่งทายางรักไว้เป็นวงกลมและติดข้าวตะโพน อีกหน้าหนึ่งเล็ก กว้างประมาณ ๒๒ เซนติเมตร เรียกว่า “หน้ามัด” ตรงกลางใช้ยางรักทาไว้เป็นวงกลมเช่นเดียวกัน ใช้สายหนังเรียกว่า “หนังเรียด” โยงเร่งเสียงระหว่างหน้าเทิ่งกับหน้ามัด ตรงรอบขอบหนังขึ้นหน้าทั้ง ๒ ข้าง ถักด้วยหนังตีเกลียวเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า “ไส้ละมาน” ใช้หนังเรียดร้อยใส่ในช่องของไส้ละมานทั้ง ๒ หน้านี้โยงเรียงไปโดยรอบจนแลไม่เห็นไม้หุ่น แล้วใช้หนังเรียดพันตอนกลางหุ่นโดยรอบ เรียกว่า “รัดอก” ตรงรัดอกด้านบนทำเป็นหูหิ้วตะโพนวางนอนอยู่บนเท้าซึ่งทำด้วยไม้ใช้ฝ่ามือซ้ายขวาตีทั้ง ๒ หน้า ตะโพนใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ

 นักดนตรีไทยซึ่งเคารพนับถือพระประคนธรรพว่าเป็นครูใหญ่ทางดนตรี และถือว่าตะโพนเป็นเครื่องควบคุมจังหวะที่สำคัญที่สุด จึงถือเอาตะโพนเป็นเครื่องแทนองค์พระประคนธรรพ ในการทำพิธีไหว้ครูก็ดี หรือโดยปรกติก็ดี ถ้าจะเคารพบูชาครูก็จะบูชาที่ตะโพน แม้ในพิธีนั้นจะมีหน้าพระประคนธรรพ (หน้าโขน) ตั้งอยู่และก็ต้องตั้งตะโพนไว้ในที่บูชาอีกด้วย อนึ่ง เพลงสาธุการซึ่งเป็นเพลงเคารพบูชา และเพลงตระพระประคนธรรพซึ่งเป็นเพลงเฉพาะพระประคนธรรพ ผูตี้ ตะโพนจะเริ่มบรรเลงขึ้นต้นก่อนโดยเฉพาะเพลงตระพระประคนธรรพนั้น นอกจากตะโพนจะบรรเลงขึ้นต้นก่อนแล้วกลองทัดจะต้องตีขึ้น ๑ ไม้ แล้วเครื่องดนตรีอื่น ๆ จึงเริ่มบรรเลง นับได้ว่าตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่ดุริยางคศิลปินไทยเคารพนับถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด