ซอชนิดหนึ่งของไทย (ดู ซอ ประกอบ) มีเสียงทุ้มกังวาน ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับ ซอด้วง หากแต่ส่วนประกอบบางส่วนเท่านั้นที่มีรูปร่างและใช้วัสดุต่างกัน (ดู ซอด้วง ประกอบ)
ลักษณะทั่วไปของซออู้มีส่วนประกอบดังนี้
๑. กะโหลก คือ ส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงให้มีเสียงกังวาน ทำด้วยกะลามะพร้าวตัดส่วนที่กว้างใกล้กับขั้วให้พูทั้ง ๓ อยู่ด้านบน เป็นพูข้าง ๒ พู และพูหลัง ๑ พู พูด้านหลังถือว่าเป็นพูสำคัญที่จะต้องมีกระพุ้งยื่นออกอย่างสวยงาม ปลายพูด้านหลังฉลุเป็นลวดลายงดงามเพื่อให้เสียงโปร่งชัดเจน กะลามะพร้าวที่จะทำกะโหลกซออู้ต้องเป็นมะพร้าวพันธุ์พิเศษเช่นเดียวกับกะโหลกซอสามสาย (ดู ซอสามสาย ประกอบ) กะโหลกซอตรงที่ตัดนั้นต้องมีวัสดุบางขึงเป็นหน้า ซึ่งนิยมใช้หนังแพะหรือหนังลูกวัวกะโหลกซออู้จากหน้าซอถึงที่แกะสลักมีขนาดลึกประมาณ ๑๕-๑๗.๕ เซนติเมตร หน้าซอกว้างประมาณ ๑๒.๕ เซนติเมตร สูงตามที่สอดคันซอประมาณ ๑๒ เซนติเมตร
๒. คันซอ แบ่งเรียกเป็น ๒ ช่วง คือ ตั้งแต่ใต้ลูกบิดขึ้นไปจนถึงปลายคันเรียกว่า “ทวนบน” นับตั้งแต่ใต้ลูกบิดลงมาเรียกว่า “ทวนล่าง” คันซอยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ทวนบนมีขนาดกว้างประมาณ ๔.๕ เซนติเมตร ทวนล่างกว้างประมาณ ๑.๒ เซนติเมตร คันซอนี้ทำด้วยไม้หรืองาช้างกลึงกลมตลอดคัน มีลวดหรือลูกแก้วคั่นเป็นระยะตามที่เห็นงาม บางทีมีส่วนพิเศษทำด้วยไม้ประดับมุกอยู่ตอนกลางของคันซอเพื่อความสวยงาม คันซออู้มีลักษณะกลมเรียวยาว ด้านล่างเล็ก และค่อย ๆ โตขึ้นไปทีละน้อย ๆ ปลายทวนล่างสอดทะลุกะโหลกลงไปประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร เพื่อคล้องสายซอทั้ง ๒ เส้น
๓. ลูกบิด มี ๒ ลูก เสียบอยู่กับทวนบน ปลายลูกบิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอเพื่อขึงให้ตึงตามความประสงค์ของผู้สี สายซอมี ๒ สาย ทำด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียวหรือทำด้วยเอ็น ผูกคล้องปลายทวนล่างสุด (ใต้กะโหลก) ขึงผ่านหน้าซอขึ้นไปตามคันซอ ปลายสายข้างบนผูกพันกับปลายลูกบิดลูกละสาย ลูกบนสำหรับสายที่มีเสียงต่ำ เรียกว่า “สายทุ้ม” ลูกล่างสำหรับสายที่มีเสียงสูง เรียกว่า “สายเอก”
๔. รัดอก คือ บ่วงเชือกสำหรับรั้งสายซอ อยู่ต่ำกว่าลูกบิดลูกล่างประมาณ ๑๓ เซนติเมตร นิยมใช้ขนาดเดียวกับสายเอก ผูกรั้งสายซอทั้ง ๒ เข้ากับคันซอ พันรอบคันซอประมาณ ๒-๓ รอบ เพื่อให้ได้คู่เสียงของสายเปล่าที่ชัดเจน
๕. หมอน คือ วัสดุที่วางหนุนระหว่างหน้าซอกับสายซอเพื่อทำให้เสียงดังกังวานชัดเจน นิยมใช้กระดาษม้วนให้แน่นแล้วพันหุ้มด้วยผ้า ๑ รอบ หมอนยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร หนาประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ตำแหน่งที่จะวางหมอนโดยประมาณ อยู่ตอนกลางค่อนไปทางส่วนบนของหน้าซอ หมอนนี้บางทีก็เรียกว่า “หย่อง”
๖. คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นรูปโค้งเล็กน้อย ขนาดความยาวใกล้เคียงกับคันชักของซอด้วง ขึงเส้นหางม้าประมาณ ๒๕๐ เส้นให้ตึงพอดี หางม้านี้สอดเข้าระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม เดิมหยดยางสนไว้กับกะโหลกตรงตำแหน่งที่สายหางม้าผ่าน แต่เนื่องจากจะทำให้กะโหลกซอขาดความสวยงาม ในปัจจุบันจึงนิยมใช้ยางสนถูหางม้า
การเทียบเสียงซออู้ สายเอกมีระดับเสียงตรงกับเสียงสายทุ้มของซอด้วงสายทุ้มมีเสียงต่ำกว่าสายเอก ๕ เสียง
การฝึกหัดมีวิธีฝึกเช่นเดียวกับซอด้วง แต่มีแนวการบรรเลงที่แตกต่างกัน คือ ต้องใช้กำลังนิ้วมือมากกว่า การแปรทางเป็นลูกล้อลูกขัดจะพิสดารกว่าซอด้วง ใส่อารมณ์ สนุกสนาน ครึกครื้น ยั่วเย้า ได้เช่นเดียวกับระนาดทุ้ม
หน้าที่สำคัญของซออู้ คือ ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ มีหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองเพลงกระตุ้นอารมณ์ ให้สนุกสนาน โดยเฉพาะในการบรรเลงประกอบการแสดงหุ่นกระบอก ซออู้มีหน้าที่สีเคล้าไปกับการร้องทำนองสังขารา (เรียกเป็นสามัญว่า ทำนองหุ่นกระบอก) และในการแสดงแอ่วเคล้าซอก็ต้องสีเคล้าไปกับการร้องแอ่ว ให้สอดประสานกลมกลืนกัน